Skip to main content

สวัสดีนักท่องเที่ยว

ระหว่างทางนักท่องเที่ยวเจออะไรมาบ้าง ฉันมาอยู่เชียงใหม่สิบกว่าปี แต่บ่อยครั้งที่รู้สึกว่า ตัวเองเหมือนนักท่องเที่ยว

ฉันจะเล่าให้ฟังว่า  ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ วันที่ 19 ธันวาคม ฉันไปงานคอนเสิร์ตเปิดฝักหรือจะเรียกว่าคอนเสิร์ตเมล็ดพันธุ์  ฉันซื้อข้าวของซึ่งเป็นอาหารอินทรีย์ พวกผักอินทรีย์ต่าง ๆ มัดละห้าบาท ถั่วเหลืองลิตรละสามสิบบาทเพื่อเอาไปทำน้ำเต้าหู้ และยังมีเมล็ดพันธุ์แจกในงานด้วย


ในงานนี้ไม่มีใครใช้โฟมสำหรับใส่อาหาร ไม่มีขยะมากมายเหมือนงานอื่น ๆ แสดงว่า การจัดงานที่มีผู้คนมารวมกันอยู่มากมาย หรือกินกันตลอดนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องมีขยะพลาสติกหรือโฟมกองโตก็ได้ ที่นี่เขาขายขนมจีนกันแต่ใช้จานที่กินแล้วเอาไปล้าง  เขาขายของปิ้งย่างแต่ใช้จานกระดาษและใบตอง แสดงว่าผู้คนมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำขยะน้อย ๆ หรือไม่ทำขยะเลยก็ได้ เขาจัดกันที่ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นงานที่ให้เกียรติและเคารพสถานที่

สัปดาห์ต่อมา วันที่ 24 - 27 ธันวาคม ฉันไปงาน  "MICT สร้างคน สร้างชาติเทคโนโลยี" ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เขาว่างานนี้ให้คนทั่วไปได้เรียนรู้และเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสาร



เดินดูในงาน เสียงดังตลอดงาน ฉันว่าเขาใช้เสียงมากเกินไปจนไม่มีสมาธิที่จะดูอะไรเหมือนแข่งกันขายของ และที่อยากจะบอกก็คือ งานนี้ไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมใด ๆ แค่น้ำขวดเล็ก ๆ ที่เอามาแจกตลอดเวลา อาหารทุกซุ้มขายด้วยโฟม และช้อนพลาสติก ทำขยะได้หลายตันทีเดียว สโลแกนสร้างคนสร้างชาติอย่างนี้ฟังเท่ดี

ในช่วงหนาวนี้ ใครต่อใครต่างพากันมาเชียงใหม่ เชียงใหม่จะรับภาระหนักอีกครั้งในการรับขยะจากนักท่องเที่ยว วันหนึ่งคุยกับเพื่อนเรื่องขยะ เพื่อนถามว่าเมืองเชียงใหม่กำจัดขยะด้วยวิธีไหน มีโรงงานกำจัดขยะหรือเปล่า

ฉันบอกเพื่อนว่า เคยได้ยินว่า มีโรงงานกำจัดขยะแถวดอยสะเก็ดแต่ยังไมได้เปิดใช้  แต่รู้มาว่าช่วงที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ ๆ ต้องถ่ายขยะไปไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น อมก๋อย และป่าอื่น ๆ  ไปซุกซ่อนเอาไว้นั้นเอง และคิดดูเถอะว่าเมื่อฝนตกลงมาน้ำจากที่สูงไหลลงจากที่ต่ำ ผ่านขยะบนเปื้อนมากมาย และอย่าได้คิดว่า ไม่ใช่คนเชียงใหม่แล้วจะปลอดภัย ไม่ปลอดภัยหรอกแต่จะได้เป็นขั้น ๆ เป็นชั้น ๆ ไป เพราะอย่างไรน้ำก็ไหลลงสู่แม่น้ำสาขาต่าง ๆ และแม่น้ำปิงก็ไหลไปสู่เจ้าพระยาอยู่ดี

ยังมีขยะที่ถูกซุกไว้ตามที่ต่าง ๆ และถูกเผาเมื่อมีไฟไหม้ในช่วงหน้าร้อน นั่นก็เกิดมลพิษต่างในอากาศกันอย่างทั่วถึงนั่นแหละ

ต้องขอโทษนักท่องเที่ยวด้วยจริง ๆ ที่ต้องต้อนรับท่านด้วยเรื่องนี้  ขยะเป็นเรื่องน่ากลัวจริง ๆ และไม่มีใครต้องการด้วยค่ะ แค่รถขยะผ่านก็ถูกทำท่ารังเกียจ ถังขยะล้มใครก็เดินถอยห่าง

คุยกันแบบนักท่องเที่ยวนะคะ ความจริงแค่เราตระหนักว่า เมื่อจะซื้อก็คิดก่อนว่า เราทำขยะแต่ไหน กินอาหารหนึ่งอิ่มแต่ทิ้งขยะไว้เท่าไหร่ รวมทั้งเอาขยะขึ้นดอยก็ควรเอาลงกลับมาด้วยเท่านั้น แค่นี้ก็คงช่วยได้เยอะแล้ว

เพื่อนที่ทำเรื่องขยะมีข้อเสนอนักท่องเที่ยวอย่างนี้ด้วย ให้นักท่องเที่ยวเอากระบอกน้ำติดตัวไปด้วยทุกแห่ง ใช้วิธีเติมน้ำแทนซื้อน้ำขวดหรือน้ำเป็นแก้ว ๆ รวมทั้งเตรียมกล่องพลาสติกไว้หนึ่งชุด สำหรับซื้ออาหารแทนกล่องโฟม

แรก ๆ อาจจะรู้สึกไม่คุ้นเคย รู้สึกมีภาระ และอาจจะรู้สึกแปลก ๆ ที่มีคนมองหรือมีแม่ค้าไม่ยอมขาย เช่นต่อรองว่า ถ้าใส่กล่องของเราแล้วเขาจะตักไม่ถูก กะไม่ได้ว่าเท่าไหร่ แต่เราต้องยืนยันไว้ เมื่อเวลาผ่านไปเราจะรู้สึกดีกับสิ่งที่ทำและเป็นความเคยชิน กินแล้วก็ล้างไม่ต้องเอาขยะลงมาทิ้งด้วย ส่วนที่ล้างนั้นหาได้ไม่ยาก ที่ไหน ๆ ก็มีก๊อกน้ำ

ฉันเขียนเรื่องขยะบ่อย ๆ จนดูเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่หน้าบ้านฉันก็ยังเต็มไปด้วยขยะ โดยเฉพาะทางเข้าบ้านตรงหลังโรงเรียนบ้านทุ่งเสี้ยว บอกจริง ๆ ว่าอายเพื่อน อายผู้อ่านเลยแหล่ะ นอกจากขยะหนึ่งกองที่ไม่เคยหมดไปแล้วยังมีถุงพลาสติกขาวโพลนเต็มถนนหลังโรงเรียน มองไกล ๆ เหมือนดอกไม้ปลิว ๆ อยู่ มันเป็นที่ๆ มีผู้คนเอาขยะมาทิ้งกัน

สองวันก่อนตัดสินใจไปเก็บตรงทางเข้าบ้าน ในขณะเก็บผู้คนผ่านไปมา พวกเขาหยุดถามว่าเอาไปไหน บอกว่าขยะพวกนี้ขายได้ค่ะ ถุงพลาสติกขายได้หมดเลย และบอกเขาว่า ดูไม่สวยงามเพื่อน ๆ ญาติ ๆ มาบ้านช่วงปีใหม่อายเขา

ฟังแล้วก็เดินผ่านไป บางคนแนะนำว่า ต้องเผาเลย
มาถึงบรรทัดนี้ ผู้อ่านอาจจะพูดในใจว่า บ้านตัวเองยังทำไม่ได้เลย
ใช่...บ้านตัวเองยังยากเลย

อย่างไรก็ตาม ถ้านักท่องเที่ยวมาอ่านเจอก็ลองเริ่มต้นดูนะคะ แรก ๆ ทำได้บ้างไม่ได้บ้างก็ไม่เป็นไร เพราะเราไม่เคยชิน คนเขียนเองก็ยังทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ทุกครั้งที่ได้ทำจะรู้สึกดีกับตัวเองจริง ๆ

 

บล็อกของ แพร จารุ

แพร จารุ
นี้ไม่ใช่เรื่องสั้นหรือเรื่องแต่งแต่เป็นเรื่องจริง และนี้เป็นเรื่องน่าเศร้า ไม่ใช่เรื่องตลกแต่ถ้าคุณจะหัวเราะก็มีสิทธิที่จะทำได้ เพราะฉันก็หัวเราะไปแล้ว  เรื่องจริงที่จะเล่าให้ฟัง ...เรื่องมันเป็นอย่างนี้ค่ะ  ที่เชียงใหม่ ยามค่ำคืน มีหญิงสาวคนหนึ่งขับรถโฟล์คสีบานเย็น อยู่บนถนนสายหางดงเชียงใหม่ ในขณะขับรถไปนั้น น้ำมันหมด เพราะที่วัดระดับน้ำมันเสีย เธอรีบโทรศัพท์ไปหาน้องสาว บอกเส้นทางที่ตัวเองอยู่ แต่โทรศัพท์แบต หมดก่อนที่จะทันคุยกันรู้เรื่อง
แพร จารุ
"สงสารท่านผู้นำ" นาน ๆ ฉันถึงจะได้ยินคำพูดแบบนี้ ฉันจึงหยุดมองเธอคนพูด และเห็นว่าในมือของเธอถือหนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์ที่หน้าปกมีรูปท่านผู้นำของเธอ "ทำไมถึงสงสาร" ฉันเสี่ยงถาม "ก็เขาไม่ได้กลับบ้าน"ฉันพยักหน้ารับคำแบบสงวนท่าที่ ไม่ผลีผลามแสดงความคิดเห็น แต่ก็รู้สึกประทับใจในเหตุผล เพราะไม่ว่าจะเป็นใครที่ไม่ได้กลับบ้านน่าสงสารทั้งนั้น ฉันเองก็เป็นหนึ่งคนที่ไม่ได้กลับบ้านในช่วงปีใหม่ คนไม่ได้กลับบ้านน่าสงสารจริงๆ ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไรมาก
แพร จารุ
เมื่อฉันดูข่าวสารบ้านเมืองในปัจจุบันนี้ ทำให้นึกถึงเหตุการณ์เมื่อวัยเยาว์ และอยากจะเล่าเอาไว้ เพราะพฤติกรรมของผู้ใหญ่ส่งผลต่อเด็กจริง ๆ ค่ะ ใครบางคนอาจจะไม่ทันคิดว่า การแสดงพฤติกรรมบางอย่างของผู้ใหญ่ เป็นได้มากกว่าการสอนเด็ก ๆ พฤติกรรมของผู้ใหญ่บางอย่างอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเด็กในอนาคตได้
แพร จารุ
ไนท์ซาฟารีที่อยู่ของสัตว์กลางคืน ฉันไม่เคยไปที่นั่นสักครั้งเดียว แม้ว่าจะมีงานเปิดอย่างยิ่งใหญ่ ใครต่อใครก็เดินทางไปที่นั่น และฉันถูกถามบ่อยๆ ว่า “ไปไนท์ซาฟารีมาหรือยัง” “ทำไมไม่ไป” ฉันได้แต่ยิ้มๆ ไม่ได้ตอบอะไร นอกจากว่า คนถามมีเวลาจริง ๆ ฉันก็จะอธิบายให้เขาฟังว่า ที่ไม่ไปเพราะไม่เห็นด้วยกับการสร้างไนท์ซาฟารีตั้งแต่ต้นและเห็นด้วยกับกลุ่มคัดค้านมาโดยตลอด ไปประชุมสัมมนากับเขาเสมอ
แพร จารุ
ธันวาคมเป็นเดือนที่มีญาติพี่น้องผองเพื่อนเดินทางมาเที่ยวบ้าน ดังนั้นเราจะไม่ไปไหนคือตั้งรับอยู่ที่บ้าน พวกเขามักจะมาพักหนึ่งคืนแล้วไปเที่ยวกันต่อ บางกลุ่มก็วกกลับมาอีกครั้งก่อนเดินทางกลับ พวกเขาจะค้างกันอย่างมากก็สองคืน  เรามีบ้านหลังเล็กมากๆ แต่มีบ้านพ่อหลังใหญ่ บ้านที่พ่อสามีทิ้งไว้เป็นสมบัติส่วนกลาง แรกเราคิดว่าจะให้เพื่อนๆ ไปพักชั้นบนของบ้านหลังนั้น แต่เอาเข้าจริงสองปีที่ผ่านมา ไม่มีใครไปพักหลังนั้นเลย
แพร จารุ
คราวนี้เสียงจากคนเชียงใหม่จริง ๆ ค่ะ เธอเขียนมาถึงดิฉัน พร้อมกับจดหมายสั้น ๆ ว่า ขอร่วมเขียนแถลงการณ์คัดค้าน การสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำปิงด้วยค่ะ เธอแนะนำตัวมาสั้นๆ ว่าเป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด บ้านอยู่ข้างสถานีรถไฟ ข้ามสะพานนวรัตน์ เห็นฝายพญาคำมาตั้งแต่เล็ก ต้องขอโทษด้วยที่ทำจดหมายของเธอตกค้างอยู่นานนับเดือน กว่าจะได้เอามาลงให้ เชิญอ่านได้เลยค่ะ
แพร จารุ
 ฤดูฝนที่ผ่านมา ชาวบ้านตีนผาบ้านในหุบเขา ได้ปลูกต้นไม้บนดอย ครั้งนี้เป็นการปลูกเพื่อเป็นแนวกั้นระหว่างพื้นที่ทำกินกับเขตอุทยาน  เป็นการการทำแนวรั้วต้นไม้ในเช้าวันที่มีการปลูกต้นไม้สำหรับเป็นแนวเขตรั้ว ชาวบ้านตีนผาพร้อมเพรียงและจริงจัง ตั้งแต่เช้า กินข้าวแล้วเตรียมพร้อม มารวมตัวกันอยู่ที่หน้าโบสถ์ เพื่อขนกล้าไม้ไปปลูก มีทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนและเด็กเล็ก ๆ ในหมู่บ้าน  ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานและเจ้าหน้าที่มากันพร้อม ผู้ใหญ่บ้าน นายวรเดช กล่าวว่า"การทำแนวรั้วเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพื้นฟูรักษาป่านั่นแหละ"
แพร จารุ
 วันนี้ ฉันพบดอกไม้บนดอยสูงมากมาย ดอกไม้เล็ก ๆ เหมือนดาว กระจายอยู่ทั่วหุบเขา หลากสีสดใส ทั้งเหลือง ส้ม และสีม่วง หลายครั้งที่ผ่านทางมา เรามาด้วยความเร็วมาก จุดหมายอยู่ที่หลังดอย หมู่บ้านเล็ก ๆ หมู่บ้านหนึ่ง ความเร็วความรีบเร่งทำให้เราไม่ได้เห็นอะไรมากนักระหว่างทาง  ความหมายไม่ได้อยู่ที่ปลายทางแต่อยู่ที่ระหว่างทางที่ได้พบเจอ การได้ชื่นชมกับบรรยากาศระหว่างทาง นั่นเอง การเดินทางมาครั้งนี้เรามากับทีมช่างภาพสองคนและผู้ติดตามเป็นหญิงสาวน่ารักอีกหนึ่งคน มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯเป็นชายหนุ่มสองคน
แพร จารุ
  วิถีชีวิตกับไม้ไผ่คู่กัน เมื่อลุงมาบอกว่า วิถีชีวิตปกาเก่อญอกับไม้ไผ่นั่นคู่กัน วันนี้คนรุ่นพะตี(ลุง) จึงต้องสอนให้ลูกหลานรู้จักจักสาน เพราะว่าเด็ก ๆ รุ่นใหม่ ไม่ค่อยรู้เรื่องจักสานแล้ว พะตีมาบอกว่า ถ้าไม่ได้สอนไว้หมดรุ่นพะตีแล้วก็จะหมดรุ่นไปเลย ทั้งที่วิถีปกาเก่อญอกับไม้ไผ่นั่นคู่กัน ฟังพะตีว่า ลูกหลานปกาเก่อญอไม่รู้จักการใช้ไม่ไผ่ ฉันคิดถึงลุงที่บ้านแกว่าลูกชาวเลทำปลากินไม่เป็น ไม่ใช่หาปลามากิน แต่ทำปลากินไม่เป็นนั่นคือเขาหามาให้แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะทำกินอย่างไร ขูดเกล็ดปลาออกจากตัวปลาไม่เป็น ดึงขี้ปลาออกไม่เป็น เป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร…
แพร จารุ
อยู่อย่างมีสิทธิและศักดิ์ศรี“สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ ชุมชนจะต้องเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ ลดการพึ่งพาภายนอก ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และอยู่อย่างมีสิทธิและศักดิ์ศรี”แต่นั่นแหละ คำพูดเพราะๆ เช่นนี้จะเป็นจริงไปได้อย่างไร ในปัจจุบันนี้ หมู่บ้านเล็กๆ ในชุมชนหลายแห่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ การดำเนินชีวิตขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก เช่น ขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตที่ถูกกำหนดโดยตลาดทุนจากพืชเศรษฐกิจ 
แพร จารุ
พื้นที่ป่าในประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะชุมชนชาวเขาทั้งหลายที่อาศัยก่อน ต่อมาพื้นที่ป่าก็ถูกประกาศเป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ หลายแห่งที่พยายามเอาคนออกจากป่า ตัวอย่างการย้ายคนออกจากพื้นที่เดิมมีอยู่หลายแห่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนที่ถูกย้ายและสังคมโดยรวมเป็นอย่างมาก เพราะทำให้เกิดปัญหาการย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมือง การอพยพแรงงาน และปัญหาอื่นๆ ติดตามมาอีกมากมาย ทางออกหนึ่งก็คือการสนับสนุนให้คนที่อยู่ในป่าได้อยู่ในพื้นที่เดิมและดูแลป่าด้วยดังนั้น การทำความเข้าใจ ให้คนอยู่กับป่าได้และดูแลป่า น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี มีคำถามว่า…
แพร จารุ
ฉันเพิ่งกลับมาจากหมู่บ้านหลังดอยค่ะ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่ได้คุยกับใครนอกพื้นที่ แต่ทันทีที่ลงมาจากดอย เปิดเมลพบว่ามีรูป ฯพณฯ ท่าน "สมชาย วงศ์สวัสดิ์ " ที่มีหน้าเปื้อนสีเลือดส่งเข้ามา ใต้ภาพเขียนว่า “คนบ้านเดียวกันกับคุณ-งานหน้าไม่ล่ะ” ฉันลบภาพทิ้งทันที และรีบไปที่ก๊อกน้ำล้างหน้า แต่ความรู้สึกสลดหดหู่ไม่ได้จางหาย มันหดหู่จริง ๆ “คนบ้านเดียวกัน” กับ “เสื้อสีเดียวกัน” นอกจากแยกเสื้อแดงเสื้อเหลืองแล้ว ยังแยกคนลูกบ้านไหนกันด้วย