สวัสดีนักท่องเที่ยว
ระหว่างทางนักท่องเที่ยวเจออะไรมาบ้าง ฉันมาอยู่เชียงใหม่สิบกว่าปี แต่บ่อยครั้งที่รู้สึกว่า ตัวเองเหมือนนักท่องเที่ยว
ฉันจะเล่าให้ฟังว่า ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ วันที่ 19 ธันวาคม ฉันไปงานคอนเสิร์ตเปิดฝักหรือจะเรียกว่าคอนเสิร์ตเมล็ดพันธุ์ ฉันซื้อข้าวของซึ่งเป็นอาหารอินทรีย์ พวกผักอินทรีย์ต่าง ๆ มัดละห้าบาท ถั่วเหลืองลิตรละสามสิบบาทเพื่อเอาไปทำน้ำเต้าหู้ และยังมีเมล็ดพันธุ์แจกในงานด้วย
ในงานนี้ไม่มีใครใช้โฟมสำหรับใส่อาหาร ไม่มีขยะมากมายเหมือนงานอื่น ๆ แสดงว่า การจัดงานที่มีผู้คนมารวมกันอยู่มากมาย หรือกินกันตลอดนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องมีขยะพลาสติกหรือโฟมกองโตก็ได้ ที่นี่เขาขายขนมจีนกันแต่ใช้จานที่กินแล้วเอาไปล้าง เขาขายของปิ้งย่างแต่ใช้จานกระดาษและใบตอง แสดงว่าผู้คนมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำขยะน้อย ๆ หรือไม่ทำขยะเลยก็ได้ เขาจัดกันที่ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นงานที่ให้เกียรติและเคารพสถานที่
สัปดาห์ต่อมา วันที่ 24 - 27 ธันวาคม ฉันไปงาน "MICT สร้างคน สร้างชาติเทคโนโลยี" ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เขาว่างานนี้ให้คนทั่วไปได้เรียนรู้และเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสาร
เดินดูในงาน เสียงดังตลอดงาน ฉันว่าเขาใช้เสียงมากเกินไปจนไม่มีสมาธิที่จะดูอะไรเหมือนแข่งกันขายของ และที่อยากจะบอกก็คือ งานนี้ไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมใด ๆ แค่น้ำขวดเล็ก ๆ ที่เอามาแจกตลอดเวลา อาหารทุกซุ้มขายด้วยโฟม และช้อนพลาสติก ทำขยะได้หลายตันทีเดียว สโลแกนสร้างคนสร้างชาติอย่างนี้ฟังเท่ดี
ในช่วงหนาวนี้ ใครต่อใครต่างพากันมาเชียงใหม่ เชียงใหม่จะรับภาระหนักอีกครั้งในการรับขยะจากนักท่องเที่ยว วันหนึ่งคุยกับเพื่อนเรื่องขยะ เพื่อนถามว่าเมืองเชียงใหม่กำจัดขยะด้วยวิธีไหน มีโรงงานกำจัดขยะหรือเปล่า
ฉันบอกเพื่อนว่า เคยได้ยินว่า มีโรงงานกำจัดขยะแถวดอยสะเก็ดแต่ยังไมได้เปิดใช้ แต่รู้มาว่าช่วงที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ ๆ ต้องถ่ายขยะไปไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น อมก๋อย และป่าอื่น ๆ ไปซุกซ่อนเอาไว้นั้นเอง และคิดดูเถอะว่าเมื่อฝนตกลงมาน้ำจากที่สูงไหลลงจากที่ต่ำ ผ่านขยะบนเปื้อนมากมาย และอย่าได้คิดว่า ไม่ใช่คนเชียงใหม่แล้วจะปลอดภัย ไม่ปลอดภัยหรอกแต่จะได้เป็นขั้น ๆ เป็นชั้น ๆ ไป เพราะอย่างไรน้ำก็ไหลลงสู่แม่น้ำสาขาต่าง ๆ และแม่น้ำปิงก็ไหลไปสู่เจ้าพระยาอยู่ดี
ยังมีขยะที่ถูกซุกไว้ตามที่ต่าง ๆ และถูกเผาเมื่อมีไฟไหม้ในช่วงหน้าร้อน นั่นก็เกิดมลพิษต่างในอากาศกันอย่างทั่วถึงนั่นแหละ
ต้องขอโทษนักท่องเที่ยวด้วยจริง ๆ ที่ต้องต้อนรับท่านด้วยเรื่องนี้ ขยะเป็นเรื่องน่ากลัวจริง ๆ และไม่มีใครต้องการด้วยค่ะ แค่รถขยะผ่านก็ถูกทำท่ารังเกียจ ถังขยะล้มใครก็เดินถอยห่าง
คุยกันแบบนักท่องเที่ยวนะคะ ความจริงแค่เราตระหนักว่า เมื่อจะซื้อก็คิดก่อนว่า เราทำขยะแต่ไหน กินอาหารหนึ่งอิ่มแต่ทิ้งขยะไว้เท่าไหร่ รวมทั้งเอาขยะขึ้นดอยก็ควรเอาลงกลับมาด้วยเท่านั้น แค่นี้ก็คงช่วยได้เยอะแล้ว
เพื่อนที่ทำเรื่องขยะมีข้อเสนอนักท่องเที่ยวอย่างนี้ด้วย ให้นักท่องเที่ยวเอากระบอกน้ำติดตัวไปด้วยทุกแห่ง ใช้วิธีเติมน้ำแทนซื้อน้ำขวดหรือน้ำเป็นแก้ว ๆ รวมทั้งเตรียมกล่องพลาสติกไว้หนึ่งชุด สำหรับซื้ออาหารแทนกล่องโฟม
แรก ๆ อาจจะรู้สึกไม่คุ้นเคย รู้สึกมีภาระ และอาจจะรู้สึกแปลก ๆ ที่มีคนมองหรือมีแม่ค้าไม่ยอมขาย เช่นต่อรองว่า ถ้าใส่กล่องของเราแล้วเขาจะตักไม่ถูก กะไม่ได้ว่าเท่าไหร่ แต่เราต้องยืนยันไว้ เมื่อเวลาผ่านไปเราจะรู้สึกดีกับสิ่งที่ทำและเป็นความเคยชิน กินแล้วก็ล้างไม่ต้องเอาขยะลงมาทิ้งด้วย ส่วนที่ล้างนั้นหาได้ไม่ยาก ที่ไหน ๆ ก็มีก๊อกน้ำ
ฉันเขียนเรื่องขยะบ่อย ๆ จนดูเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่หน้าบ้านฉันก็ยังเต็มไปด้วยขยะ โดยเฉพาะทางเข้าบ้านตรงหลังโรงเรียนบ้านทุ่งเสี้ยว บอกจริง ๆ ว่าอายเพื่อน อายผู้อ่านเลยแหล่ะ นอกจากขยะหนึ่งกองที่ไม่เคยหมดไปแล้วยังมีถุงพลาสติกขาวโพลนเต็มถนนหลังโรงเรียน มองไกล ๆ เหมือนดอกไม้ปลิว ๆ อยู่ มันเป็นที่ๆ มีผู้คนเอาขยะมาทิ้งกัน
สองวันก่อนตัดสินใจไปเก็บตรงทางเข้าบ้าน ในขณะเก็บผู้คนผ่านไปมา พวกเขาหยุดถามว่าเอาไปไหน บอกว่าขยะพวกนี้ขายได้ค่ะ ถุงพลาสติกขายได้หมดเลย และบอกเขาว่า ดูไม่สวยงามเพื่อน ๆ ญาติ ๆ มาบ้านช่วงปีใหม่อายเขา
ฟังแล้วก็เดินผ่านไป บางคนแนะนำว่า ต้องเผาเลย
มาถึงบรรทัดนี้ ผู้อ่านอาจจะพูดในใจว่า บ้านตัวเองยังทำไม่ได้เลย
ใช่...บ้านตัวเองยังยากเลย
อย่างไรก็ตาม ถ้านักท่องเที่ยวมาอ่านเจอก็ลองเริ่มต้นดูนะคะ แรก ๆ ทำได้บ้างไม่ได้บ้างก็ไม่เป็นไร เพราะเราไม่เคยชิน คนเขียนเองก็ยังทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ทุกครั้งที่ได้ทำจะรู้สึกดีกับตัวเองจริง ๆ