Skip to main content

20080214 ป้ายป่าชุมชนบ้างแม่เหียะใน

เมื่อไม่นานมานี้ ฉันไปร่วมงาน เปิดตัวหนังสืออาหารบ้านฉัน ที่บ้านแม่เหียะใน

หัวหน้าอุทยานดอยสุเทพ มาเปิดงาน ฉันฟังเสียงของท่านไม่ค่อยได้ยิน เพราะว่ายืนไกลและที่บ้านแม่เหียะใน ไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้เครื่องปั่นไฟ เสียงเครื่องปั่นไฟดังมาก จึงไปถามชาวบ้านที่ตั้งใจไปฟังใกล้ ๆ ว่าท่านพูดอะไร

แน่นอนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่อุทยานเขาต้องตั้งใจฟังทุกอย่างที่เจ้าหน้าที่อุทยานพูด เพราะว่าชีวิตขึ้นอยู่กับอุทยานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  หรือเรียกว่าอยู่ภายใต้กฎหมายอุทยาน
“ท่านพูดว่า ท่านเข้าใจว่าที่ทำหนังสือเล่มนี้ทำขึ้นมาเพราะต้องการที่อยู่ที่กิน” หญิงสาวคนหนึ่งบอกว่าท่านพูดเช่นนั้น และเธอรู้สึกดีใจมาก
“อือ...แสดงว่าท่านเข้าใจ” ฉันแสดงความคิดเห็น
ฉันคิดว่าเพียงแค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและชาวบ้าน

เมืองไทยเราเรื่องพื้นที่อุทยานกับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่อุทยานมีปัญหาจริง ๆ เคยคุยกับเจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ พวกเขาบอกว่า พวกเขารับหน้าที่ในการดูแลป่า ดูแลพื้นที่ป่าภายใต้กฎหมาย เขาต้องรักษาป่าไว้ให้มากที่สุด

แต่ในเมืองไทยเรานั้น มีผู้คนอาศัยอยู่ในป่ามากมาย หรือเรียกว่าทุกแห่งนั่นแหละ ข้อหนึ่งที่ถกเถียงกันอยู่เสมอคือ ชาวบ้านบอกว่ามาอยู่ก่อนที่อุทยานจะประกาศพื้นที่  การพิสูจน์การเข้ามาอยู่ก่อนหลังจึงเป็นข้อเสนอหนึ่ง แต่ดูเหมือนกับว่าการพิสูจน์แบบนี้ก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เพราะว่าคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นไม่ว่าจะมาก่อนหรือหลัง ส่วนใหญ่เขาก็ไม่อยากย้ายออกจากบ้านที่เคยอยู่  หรือถ้าย้ายก็ต้องเป็นที่ซึ่งทำมาหากินได้  ปลูกผักปลูกข้าวได้ หรือหาของป่า เท่าที่ฉันไปเที่ยวดูจากที่ต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ของชนเผ่า ในพื้นที่อุทยานและไม่ใช่คนชนเผ่า พวกเขาจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นป่าใช้สอยพื้นที่ทำกิน ป่าอนุรักษ์  ถ้าเป็นชนเผ่าก็มีป่าที่ใช้สำหรับพิธีกรรมด้วย เท่าที่รู้ป่าพิธีกรรมเขาจะไม่ตัดไม้อยู่แล้ว และได้ไปดูพื้นที่ที่ถูกย้ายออกมา และกำลังจะถูกย้าย ที่ถูกย้ายออกมานั้น ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องที่ทำกิน คือที่ซึ่งย้ายออกมาทำกินไม่ได้ แห้งแล้ง มีที่เพียงนิดเดียว ที่ซึ่งฉันไปดูมาชื่อบ้านลีซูหัวน้ำ แม่อาย อันนี้ย้ายลงมารวมกันข้างล้างและมีปัญหาไม่มีที่ทำกิน อดอยาก  กับอีกแห่งหนึ่งที่ไปดูมา คือบ้านนาอ่อน ช่วงที่ไปนั้นพวกเขากำลังจะถูกย้าย แต่ยังไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหนดี ทั้งสองแห่งเป็นที่อยู่ของชนเผ่า

ส่วนที่บ้านแม่เหียะในนั้น ก็เหมือนกัน อยู่ในพื้นที่อุทยานเหมือนกัน แต่ต่างที่ไม่ใช่ชนเผ่าไม่ใช่ชาวเขา และพื้นที่ป่าบ้านแม่เหียะเป็นพื้นที่ใกล้เมืองมาก ๆ หรือเรียกว่าผืนป่าที่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่มากที่สุด  

ที่บ้านแม่เหียะในมันเป็นหลายเรื่องหลายกรณีมาก ๆ  มีจำนวนมากที่เป็นคนเก่าแก่ดั้งเดิมคืออยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย แต่มีอยู่จำนวนหนึ่งมาอยู่ใหม่ และบางคนถูกหลอกมา เขาหลอกว่าไม่นานก็จะได้เอกสารสิทธิ์หรือว่าไม่มีใครเขามาไล่หรอก อยู่ไปเถอะ อย่างนี้เป็นต้น

ยังมีปัญหาเรื่องขายที่ดินซ้ำซ้อน ทั้งที่ไม่มีสิทธิ์ขาย คือขายคนหนึ่งแล้วไปขายอีกคนหนึ่ง เพราะการซื้อขายไม่มีหลักฐานใด ๆ ซื้อขายแบบไปชี้ ๆ เอามา  ดังนั้นเมื่อมีเรื่องราวก็ไปฟ้องร้องเอาผิดกันไม่ได้  นอกจากฟ้องร้องฉ้อโกงกันเท่านั้น

20080214 ภาพถนน มีต้อไม้เต็มสองข้างทาง

เห็นไหมเมื่อเข้าไปดูรายละเอียดมันมีเรื่องมากมาย และคนแบบนี้แหละที่ทำให้ส่วนรวมเสีย การที่จะต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐในที่อยู่อาศัยก็ยากขึ้น หรือไม่สามารถทำได้

การจัดการป่าในเมืองไทยเป็นเรื่องยากมากจริง ๆ จัดการตามหลักกฎหมายอย่างเดียวก็ไม่ได้ ครั้งจะเรียกร้องให้คนดูแลป่า ก็ต้องมาดูรายละเอียดกันว่า คนของเราหรือประชาชนเราพร้อมหรือยัง

เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า เธอมีเพื่อนเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และยืนยันว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายดี ทำงานอย่างตั้งใจ เรียกว่ามือสะอาด เขาบอกว่า ชาวบ้านยังไม่พร้อม

แต่ก็มีบางแห่งที่พร้อม ดังนั้นก็ต้องพิจารณาเป็นกรณี  ๆ อย่างเช่นบางชุมชนชาวบ้านเข้มแข็ง จัดการป่าได้จริง เขามีกฎระเบียบของหมู่บ้าน และพิสูจน์แล้วว่า ทำได้อยู่ได้อย่างยาวนาน อย่างน้อยก็ห้าปีสิบปี ของจริงของปลอมมันพิสูจน์กันได้ และหากว่า ต่อไปไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ได้ก็เพิกถอนสิทธิ์ได้ อย่างนี้เป็นต้น แต่สิทธิในการซื้อขายคงจะไม่ได้ แต่มีสิทธิในการครอบครองชั่วลูกหลาน เป็นมรดกตกทอดได้ เพราะเมื่อสิทธิในการซื้อขายเกิดขึ้น ทันทีที่กลุ่มทุนเข้าไป วอดวายแน่ โครงการยักษ์ใหญ่นี่แหละน่ากลัวมาก  เพื่อนบอกอย่างนี้

ส่วนที่บ้านแม่เหียะนั้น จากการพูดคุยกับชาวบ้าน เขาบอกว่า “พื้นที่อุทยานดอยสุเทพนั้น ไนท์ซาฟารีเอาพื้นที่ไปใช้เท่าไหร่ พืชสวนโลกเอาไปเท่าไหร่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอาไปใช้เท่าไหร่ รวมแล้วส่วนอื่นขอใช้พื้นที่ได้นับพันนับหมื่นไร่ ชาวบ้านทั้งที่อยู่ก่อนและอยู่ใหม่ขอใช้พื้นที่อยู่อาศัยไม่ได้หรือ  ทำไมมารังเกียจชาวบ้าน ถ้าจะจัดการก็ต้องจัดการให้เหมือนกัน ดูเถอะในพื้นที่เดียวกัน ส่วนอื่นมีไฟฟ้าใช้ แต่ส่วนของชาวบ้านไม่มี พื้นที่ใกล้ ๆ อย่างไนท์ซาฟารีก็มีไฟฟ้าใช้ ส่วนที่มหาวิทยาลัยก็มีไฟฟ้าใช้”  เออ...ก็จริงของเขาเหมือนกัน
 
บ้านแม่เหียะในเป็นหมู่บ้านลับตาจริง ๆ หากว่าไม่มีโครงการพืชสวนโลกกับไนท์ซาฟารี บ้านแม่เหียะในก็ไม่ได้ถูกเปิดตัวขึ้นมาแน่นอน

ฉันรู้จักบ้านแม่เหียะในครั้งแรก จากโครงการอุทยานช้าง ที่เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการไนซาฟารี ฉันเข้าไปเพราะถูกชวนไปปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ต่อมามีการคัดค้านอุทยานช้าง ชาวบ้านในพื้นที่แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ทั้งที่เห็นด้วยอยากได้อุทยานช้าง เพราะเชื่อว่าหากมีอุทยานช้างเข้ามาพวกเขาจะได้ทำมาค้าขายกับนักท่องเที่ยว และความเจริญต่าง ๆที่เข้ามา แต่บางคนบางกลุ่มก็กลัวว่า จะไม่ได้ใช้ประโยชน์กับการท่องเที่ยวจริง อาจจะมีการประมูลมาจากข้างนอก และไม่แน่ใจว่า พวกเขาจะถูกย้ายออกจาพื้นที่หรือไม่เมื่อมีโครงการใหญ่ใช้พื้นที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งกลัวเรื่องขี้ช้างจำนวนมากที่อาจจะทำให้อากาศเสีย หรือน้ำเสีย  

ตอนนี้โครงการนี้หยุดลง แต่ไม่แน่ว่าจะกลับมาในรัฐบาลชุดใหม่ ยุคนายสมัคร สุนทรเวชหรือไม่ และชาวบ้านต้องการโครงการเหล่านั้นจริงหรือไม่ 

บล็อกของ แพร จารุ

แพร จารุ
นี้ไม่ใช่เรื่องสั้นหรือเรื่องแต่งแต่เป็นเรื่องจริง และนี้เป็นเรื่องน่าเศร้า ไม่ใช่เรื่องตลกแต่ถ้าคุณจะหัวเราะก็มีสิทธิที่จะทำได้ เพราะฉันก็หัวเราะไปแล้ว  เรื่องจริงที่จะเล่าให้ฟัง ...เรื่องมันเป็นอย่างนี้ค่ะ  ที่เชียงใหม่ ยามค่ำคืน มีหญิงสาวคนหนึ่งขับรถโฟล์คสีบานเย็น อยู่บนถนนสายหางดงเชียงใหม่ ในขณะขับรถไปนั้น น้ำมันหมด เพราะที่วัดระดับน้ำมันเสีย เธอรีบโทรศัพท์ไปหาน้องสาว บอกเส้นทางที่ตัวเองอยู่ แต่โทรศัพท์แบต หมดก่อนที่จะทันคุยกันรู้เรื่อง
แพร จารุ
"สงสารท่านผู้นำ" นาน ๆ ฉันถึงจะได้ยินคำพูดแบบนี้ ฉันจึงหยุดมองเธอคนพูด และเห็นว่าในมือของเธอถือหนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์ที่หน้าปกมีรูปท่านผู้นำของเธอ "ทำไมถึงสงสาร" ฉันเสี่ยงถาม "ก็เขาไม่ได้กลับบ้าน"ฉันพยักหน้ารับคำแบบสงวนท่าที่ ไม่ผลีผลามแสดงความคิดเห็น แต่ก็รู้สึกประทับใจในเหตุผล เพราะไม่ว่าจะเป็นใครที่ไม่ได้กลับบ้านน่าสงสารทั้งนั้น ฉันเองก็เป็นหนึ่งคนที่ไม่ได้กลับบ้านในช่วงปีใหม่ คนไม่ได้กลับบ้านน่าสงสารจริงๆ ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไรมาก
แพร จารุ
เมื่อฉันดูข่าวสารบ้านเมืองในปัจจุบันนี้ ทำให้นึกถึงเหตุการณ์เมื่อวัยเยาว์ และอยากจะเล่าเอาไว้ เพราะพฤติกรรมของผู้ใหญ่ส่งผลต่อเด็กจริง ๆ ค่ะ ใครบางคนอาจจะไม่ทันคิดว่า การแสดงพฤติกรรมบางอย่างของผู้ใหญ่ เป็นได้มากกว่าการสอนเด็ก ๆ พฤติกรรมของผู้ใหญ่บางอย่างอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเด็กในอนาคตได้
แพร จารุ
ไนท์ซาฟารีที่อยู่ของสัตว์กลางคืน ฉันไม่เคยไปที่นั่นสักครั้งเดียว แม้ว่าจะมีงานเปิดอย่างยิ่งใหญ่ ใครต่อใครก็เดินทางไปที่นั่น และฉันถูกถามบ่อยๆ ว่า “ไปไนท์ซาฟารีมาหรือยัง” “ทำไมไม่ไป” ฉันได้แต่ยิ้มๆ ไม่ได้ตอบอะไร นอกจากว่า คนถามมีเวลาจริง ๆ ฉันก็จะอธิบายให้เขาฟังว่า ที่ไม่ไปเพราะไม่เห็นด้วยกับการสร้างไนท์ซาฟารีตั้งแต่ต้นและเห็นด้วยกับกลุ่มคัดค้านมาโดยตลอด ไปประชุมสัมมนากับเขาเสมอ
แพร จารุ
ธันวาคมเป็นเดือนที่มีญาติพี่น้องผองเพื่อนเดินทางมาเที่ยวบ้าน ดังนั้นเราจะไม่ไปไหนคือตั้งรับอยู่ที่บ้าน พวกเขามักจะมาพักหนึ่งคืนแล้วไปเที่ยวกันต่อ บางกลุ่มก็วกกลับมาอีกครั้งก่อนเดินทางกลับ พวกเขาจะค้างกันอย่างมากก็สองคืน  เรามีบ้านหลังเล็กมากๆ แต่มีบ้านพ่อหลังใหญ่ บ้านที่พ่อสามีทิ้งไว้เป็นสมบัติส่วนกลาง แรกเราคิดว่าจะให้เพื่อนๆ ไปพักชั้นบนของบ้านหลังนั้น แต่เอาเข้าจริงสองปีที่ผ่านมา ไม่มีใครไปพักหลังนั้นเลย
แพร จารุ
คราวนี้เสียงจากคนเชียงใหม่จริง ๆ ค่ะ เธอเขียนมาถึงดิฉัน พร้อมกับจดหมายสั้น ๆ ว่า ขอร่วมเขียนแถลงการณ์คัดค้าน การสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำปิงด้วยค่ะ เธอแนะนำตัวมาสั้นๆ ว่าเป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด บ้านอยู่ข้างสถานีรถไฟ ข้ามสะพานนวรัตน์ เห็นฝายพญาคำมาตั้งแต่เล็ก ต้องขอโทษด้วยที่ทำจดหมายของเธอตกค้างอยู่นานนับเดือน กว่าจะได้เอามาลงให้ เชิญอ่านได้เลยค่ะ
แพร จารุ
 ฤดูฝนที่ผ่านมา ชาวบ้านตีนผาบ้านในหุบเขา ได้ปลูกต้นไม้บนดอย ครั้งนี้เป็นการปลูกเพื่อเป็นแนวกั้นระหว่างพื้นที่ทำกินกับเขตอุทยาน  เป็นการการทำแนวรั้วต้นไม้ในเช้าวันที่มีการปลูกต้นไม้สำหรับเป็นแนวเขตรั้ว ชาวบ้านตีนผาพร้อมเพรียงและจริงจัง ตั้งแต่เช้า กินข้าวแล้วเตรียมพร้อม มารวมตัวกันอยู่ที่หน้าโบสถ์ เพื่อขนกล้าไม้ไปปลูก มีทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนและเด็กเล็ก ๆ ในหมู่บ้าน  ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานและเจ้าหน้าที่มากันพร้อม ผู้ใหญ่บ้าน นายวรเดช กล่าวว่า"การทำแนวรั้วเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพื้นฟูรักษาป่านั่นแหละ"
แพร จารุ
 วันนี้ ฉันพบดอกไม้บนดอยสูงมากมาย ดอกไม้เล็ก ๆ เหมือนดาว กระจายอยู่ทั่วหุบเขา หลากสีสดใส ทั้งเหลือง ส้ม และสีม่วง หลายครั้งที่ผ่านทางมา เรามาด้วยความเร็วมาก จุดหมายอยู่ที่หลังดอย หมู่บ้านเล็ก ๆ หมู่บ้านหนึ่ง ความเร็วความรีบเร่งทำให้เราไม่ได้เห็นอะไรมากนักระหว่างทาง  ความหมายไม่ได้อยู่ที่ปลายทางแต่อยู่ที่ระหว่างทางที่ได้พบเจอ การได้ชื่นชมกับบรรยากาศระหว่างทาง นั่นเอง การเดินทางมาครั้งนี้เรามากับทีมช่างภาพสองคนและผู้ติดตามเป็นหญิงสาวน่ารักอีกหนึ่งคน มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯเป็นชายหนุ่มสองคน
แพร จารุ
  วิถีชีวิตกับไม้ไผ่คู่กัน เมื่อลุงมาบอกว่า วิถีชีวิตปกาเก่อญอกับไม้ไผ่นั่นคู่กัน วันนี้คนรุ่นพะตี(ลุง) จึงต้องสอนให้ลูกหลานรู้จักจักสาน เพราะว่าเด็ก ๆ รุ่นใหม่ ไม่ค่อยรู้เรื่องจักสานแล้ว พะตีมาบอกว่า ถ้าไม่ได้สอนไว้หมดรุ่นพะตีแล้วก็จะหมดรุ่นไปเลย ทั้งที่วิถีปกาเก่อญอกับไม้ไผ่นั่นคู่กัน ฟังพะตีว่า ลูกหลานปกาเก่อญอไม่รู้จักการใช้ไม่ไผ่ ฉันคิดถึงลุงที่บ้านแกว่าลูกชาวเลทำปลากินไม่เป็น ไม่ใช่หาปลามากิน แต่ทำปลากินไม่เป็นนั่นคือเขาหามาให้แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะทำกินอย่างไร ขูดเกล็ดปลาออกจากตัวปลาไม่เป็น ดึงขี้ปลาออกไม่เป็น เป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร…
แพร จารุ
อยู่อย่างมีสิทธิและศักดิ์ศรี“สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ ชุมชนจะต้องเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ ลดการพึ่งพาภายนอก ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และอยู่อย่างมีสิทธิและศักดิ์ศรี”แต่นั่นแหละ คำพูดเพราะๆ เช่นนี้จะเป็นจริงไปได้อย่างไร ในปัจจุบันนี้ หมู่บ้านเล็กๆ ในชุมชนหลายแห่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ การดำเนินชีวิตขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก เช่น ขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตที่ถูกกำหนดโดยตลาดทุนจากพืชเศรษฐกิจ 
แพร จารุ
พื้นที่ป่าในประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะชุมชนชาวเขาทั้งหลายที่อาศัยก่อน ต่อมาพื้นที่ป่าก็ถูกประกาศเป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ หลายแห่งที่พยายามเอาคนออกจากป่า ตัวอย่างการย้ายคนออกจากพื้นที่เดิมมีอยู่หลายแห่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนที่ถูกย้ายและสังคมโดยรวมเป็นอย่างมาก เพราะทำให้เกิดปัญหาการย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมือง การอพยพแรงงาน และปัญหาอื่นๆ ติดตามมาอีกมากมาย ทางออกหนึ่งก็คือการสนับสนุนให้คนที่อยู่ในป่าได้อยู่ในพื้นที่เดิมและดูแลป่าด้วยดังนั้น การทำความเข้าใจ ให้คนอยู่กับป่าได้และดูแลป่า น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี มีคำถามว่า…
แพร จารุ
ฉันเพิ่งกลับมาจากหมู่บ้านหลังดอยค่ะ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่ได้คุยกับใครนอกพื้นที่ แต่ทันทีที่ลงมาจากดอย เปิดเมลพบว่ามีรูป ฯพณฯ ท่าน "สมชาย วงศ์สวัสดิ์ " ที่มีหน้าเปื้อนสีเลือดส่งเข้ามา ใต้ภาพเขียนว่า “คนบ้านเดียวกันกับคุณ-งานหน้าไม่ล่ะ” ฉันลบภาพทิ้งทันที และรีบไปที่ก๊อกน้ำล้างหน้า แต่ความรู้สึกสลดหดหู่ไม่ได้จางหาย มันหดหู่จริง ๆ “คนบ้านเดียวกัน” กับ “เสื้อสีเดียวกัน” นอกจากแยกเสื้อแดงเสื้อเหลืองแล้ว ยังแยกคนลูกบ้านไหนกันด้วย