Skip to main content

20080214 ป้ายป่าชุมชนบ้างแม่เหียะใน

เมื่อไม่นานมานี้ ฉันไปร่วมงาน เปิดตัวหนังสืออาหารบ้านฉัน ที่บ้านแม่เหียะใน

หัวหน้าอุทยานดอยสุเทพ มาเปิดงาน ฉันฟังเสียงของท่านไม่ค่อยได้ยิน เพราะว่ายืนไกลและที่บ้านแม่เหียะใน ไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้เครื่องปั่นไฟ เสียงเครื่องปั่นไฟดังมาก จึงไปถามชาวบ้านที่ตั้งใจไปฟังใกล้ ๆ ว่าท่านพูดอะไร

แน่นอนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่อุทยานเขาต้องตั้งใจฟังทุกอย่างที่เจ้าหน้าที่อุทยานพูด เพราะว่าชีวิตขึ้นอยู่กับอุทยานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  หรือเรียกว่าอยู่ภายใต้กฎหมายอุทยาน
“ท่านพูดว่า ท่านเข้าใจว่าที่ทำหนังสือเล่มนี้ทำขึ้นมาเพราะต้องการที่อยู่ที่กิน” หญิงสาวคนหนึ่งบอกว่าท่านพูดเช่นนั้น และเธอรู้สึกดีใจมาก
“อือ...แสดงว่าท่านเข้าใจ” ฉันแสดงความคิดเห็น
ฉันคิดว่าเพียงแค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและชาวบ้าน

เมืองไทยเราเรื่องพื้นที่อุทยานกับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่อุทยานมีปัญหาจริง ๆ เคยคุยกับเจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ พวกเขาบอกว่า พวกเขารับหน้าที่ในการดูแลป่า ดูแลพื้นที่ป่าภายใต้กฎหมาย เขาต้องรักษาป่าไว้ให้มากที่สุด

แต่ในเมืองไทยเรานั้น มีผู้คนอาศัยอยู่ในป่ามากมาย หรือเรียกว่าทุกแห่งนั่นแหละ ข้อหนึ่งที่ถกเถียงกันอยู่เสมอคือ ชาวบ้านบอกว่ามาอยู่ก่อนที่อุทยานจะประกาศพื้นที่  การพิสูจน์การเข้ามาอยู่ก่อนหลังจึงเป็นข้อเสนอหนึ่ง แต่ดูเหมือนกับว่าการพิสูจน์แบบนี้ก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เพราะว่าคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นไม่ว่าจะมาก่อนหรือหลัง ส่วนใหญ่เขาก็ไม่อยากย้ายออกจากบ้านที่เคยอยู่  หรือถ้าย้ายก็ต้องเป็นที่ซึ่งทำมาหากินได้  ปลูกผักปลูกข้าวได้ หรือหาของป่า เท่าที่ฉันไปเที่ยวดูจากที่ต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ของชนเผ่า ในพื้นที่อุทยานและไม่ใช่คนชนเผ่า พวกเขาจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นป่าใช้สอยพื้นที่ทำกิน ป่าอนุรักษ์  ถ้าเป็นชนเผ่าก็มีป่าที่ใช้สำหรับพิธีกรรมด้วย เท่าที่รู้ป่าพิธีกรรมเขาจะไม่ตัดไม้อยู่แล้ว และได้ไปดูพื้นที่ที่ถูกย้ายออกมา และกำลังจะถูกย้าย ที่ถูกย้ายออกมานั้น ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องที่ทำกิน คือที่ซึ่งย้ายออกมาทำกินไม่ได้ แห้งแล้ง มีที่เพียงนิดเดียว ที่ซึ่งฉันไปดูมาชื่อบ้านลีซูหัวน้ำ แม่อาย อันนี้ย้ายลงมารวมกันข้างล้างและมีปัญหาไม่มีที่ทำกิน อดอยาก  กับอีกแห่งหนึ่งที่ไปดูมา คือบ้านนาอ่อน ช่วงที่ไปนั้นพวกเขากำลังจะถูกย้าย แต่ยังไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหนดี ทั้งสองแห่งเป็นที่อยู่ของชนเผ่า

ส่วนที่บ้านแม่เหียะในนั้น ก็เหมือนกัน อยู่ในพื้นที่อุทยานเหมือนกัน แต่ต่างที่ไม่ใช่ชนเผ่าไม่ใช่ชาวเขา และพื้นที่ป่าบ้านแม่เหียะเป็นพื้นที่ใกล้เมืองมาก ๆ หรือเรียกว่าผืนป่าที่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่มากที่สุด  

ที่บ้านแม่เหียะในมันเป็นหลายเรื่องหลายกรณีมาก ๆ  มีจำนวนมากที่เป็นคนเก่าแก่ดั้งเดิมคืออยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย แต่มีอยู่จำนวนหนึ่งมาอยู่ใหม่ และบางคนถูกหลอกมา เขาหลอกว่าไม่นานก็จะได้เอกสารสิทธิ์หรือว่าไม่มีใครเขามาไล่หรอก อยู่ไปเถอะ อย่างนี้เป็นต้น

ยังมีปัญหาเรื่องขายที่ดินซ้ำซ้อน ทั้งที่ไม่มีสิทธิ์ขาย คือขายคนหนึ่งแล้วไปขายอีกคนหนึ่ง เพราะการซื้อขายไม่มีหลักฐานใด ๆ ซื้อขายแบบไปชี้ ๆ เอามา  ดังนั้นเมื่อมีเรื่องราวก็ไปฟ้องร้องเอาผิดกันไม่ได้  นอกจากฟ้องร้องฉ้อโกงกันเท่านั้น

20080214 ภาพถนน มีต้อไม้เต็มสองข้างทาง

เห็นไหมเมื่อเข้าไปดูรายละเอียดมันมีเรื่องมากมาย และคนแบบนี้แหละที่ทำให้ส่วนรวมเสีย การที่จะต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐในที่อยู่อาศัยก็ยากขึ้น หรือไม่สามารถทำได้

การจัดการป่าในเมืองไทยเป็นเรื่องยากมากจริง ๆ จัดการตามหลักกฎหมายอย่างเดียวก็ไม่ได้ ครั้งจะเรียกร้องให้คนดูแลป่า ก็ต้องมาดูรายละเอียดกันว่า คนของเราหรือประชาชนเราพร้อมหรือยัง

เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า เธอมีเพื่อนเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และยืนยันว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายดี ทำงานอย่างตั้งใจ เรียกว่ามือสะอาด เขาบอกว่า ชาวบ้านยังไม่พร้อม

แต่ก็มีบางแห่งที่พร้อม ดังนั้นก็ต้องพิจารณาเป็นกรณี  ๆ อย่างเช่นบางชุมชนชาวบ้านเข้มแข็ง จัดการป่าได้จริง เขามีกฎระเบียบของหมู่บ้าน และพิสูจน์แล้วว่า ทำได้อยู่ได้อย่างยาวนาน อย่างน้อยก็ห้าปีสิบปี ของจริงของปลอมมันพิสูจน์กันได้ และหากว่า ต่อไปไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ได้ก็เพิกถอนสิทธิ์ได้ อย่างนี้เป็นต้น แต่สิทธิในการซื้อขายคงจะไม่ได้ แต่มีสิทธิในการครอบครองชั่วลูกหลาน เป็นมรดกตกทอดได้ เพราะเมื่อสิทธิในการซื้อขายเกิดขึ้น ทันทีที่กลุ่มทุนเข้าไป วอดวายแน่ โครงการยักษ์ใหญ่นี่แหละน่ากลัวมาก  เพื่อนบอกอย่างนี้

ส่วนที่บ้านแม่เหียะนั้น จากการพูดคุยกับชาวบ้าน เขาบอกว่า “พื้นที่อุทยานดอยสุเทพนั้น ไนท์ซาฟารีเอาพื้นที่ไปใช้เท่าไหร่ พืชสวนโลกเอาไปเท่าไหร่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอาไปใช้เท่าไหร่ รวมแล้วส่วนอื่นขอใช้พื้นที่ได้นับพันนับหมื่นไร่ ชาวบ้านทั้งที่อยู่ก่อนและอยู่ใหม่ขอใช้พื้นที่อยู่อาศัยไม่ได้หรือ  ทำไมมารังเกียจชาวบ้าน ถ้าจะจัดการก็ต้องจัดการให้เหมือนกัน ดูเถอะในพื้นที่เดียวกัน ส่วนอื่นมีไฟฟ้าใช้ แต่ส่วนของชาวบ้านไม่มี พื้นที่ใกล้ ๆ อย่างไนท์ซาฟารีก็มีไฟฟ้าใช้ ส่วนที่มหาวิทยาลัยก็มีไฟฟ้าใช้”  เออ...ก็จริงของเขาเหมือนกัน
 
บ้านแม่เหียะในเป็นหมู่บ้านลับตาจริง ๆ หากว่าไม่มีโครงการพืชสวนโลกกับไนท์ซาฟารี บ้านแม่เหียะในก็ไม่ได้ถูกเปิดตัวขึ้นมาแน่นอน

ฉันรู้จักบ้านแม่เหียะในครั้งแรก จากโครงการอุทยานช้าง ที่เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการไนซาฟารี ฉันเข้าไปเพราะถูกชวนไปปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ต่อมามีการคัดค้านอุทยานช้าง ชาวบ้านในพื้นที่แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ทั้งที่เห็นด้วยอยากได้อุทยานช้าง เพราะเชื่อว่าหากมีอุทยานช้างเข้ามาพวกเขาจะได้ทำมาค้าขายกับนักท่องเที่ยว และความเจริญต่าง ๆที่เข้ามา แต่บางคนบางกลุ่มก็กลัวว่า จะไม่ได้ใช้ประโยชน์กับการท่องเที่ยวจริง อาจจะมีการประมูลมาจากข้างนอก และไม่แน่ใจว่า พวกเขาจะถูกย้ายออกจาพื้นที่หรือไม่เมื่อมีโครงการใหญ่ใช้พื้นที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งกลัวเรื่องขี้ช้างจำนวนมากที่อาจจะทำให้อากาศเสีย หรือน้ำเสีย  

ตอนนี้โครงการนี้หยุดลง แต่ไม่แน่ว่าจะกลับมาในรัฐบาลชุดใหม่ ยุคนายสมัคร สุนทรเวชหรือไม่ และชาวบ้านต้องการโครงการเหล่านั้นจริงหรือไม่ 

บล็อกของ แพร จารุ

แพร จารุ
ถ้าฉันพูดว่า อย่าเอาดอกไม้มาให้ฉันถ้าเธอไม่ได้ปลูกเอง เธออย่าโกรธฉันนะ ฉันจะเล่าให้เธอฟัง วันหนึ่งก่อนฤดูฝน ฉันเดินทางไปหมู่บ้านหลังดอยอินทนนท์  ฉันพบผู้ชายคนหนึ่ง เขาพูดว่า"เอาดอกไม้ของฉันออกจากหน้าอกเธอ"หนุ่มใหญ่คนหนึ่งพูดขึ้น หญิงสาวมีสีหน้าแปลกใจคงสงสัยว่าเธอทำอะไรให้เขาไม่พอใจ จึงไม่ยอมเอาดอกไม้ออกจากกระเป๋าเสื้อ "เอาออกเถอะ" เขายืนยันอีกครั้ง แต่หญิงสาวยังไม่ทำตาม ยังคงเอาดอกไม้เหน็บในกระเป๋าเสื้อตรงหน้าอกต่อ ในที่สุดเขาก็บอกว่า " มันอันตราย ดอกไม้ฉันมีแต่ยา"
แพร จารุ
หมู่บ้านหายโรงเรียนร้าง เดือนก่อนฉันเดินทางไปที่หมู่บ้านหนึ่ง แถวเชียงดาว ไกลเข้าไปในป่า พบโรงเรียนร้างไม่มีเด็ก ไม่มีครู โรงเรียนถูกปิดเพราะไม่มีเด็กเรียน และไม่ใช่แค่โรงเรียนร้างเท่านั้น หมู่บ้านก็หายไปด้วย  ผู้ชายคนหนึ่งเล่าให้ฉันฟังว่าหมู่บ้านนี้ถูกซื้อไปแล้ว "จริงเหรอ เหมือนโฆษณาเลย โฆษณาอะไรนะ ที่ผู้ชายคนหนึ่งถามซื้อเกาะให้ผู้หญิง" ใครคนหนึ่งพูดขึ้น"ไม่ใช่แค่โฆษณาหรอก ละครโทรทัศน์ก็มีเหมือนกัน ชายหนุ่มคนหนึ่งเขาซื้อเกาะให้หญิงสาวเป็นของขวัญหากเธอแต่งงานกับเขา" ฉันบอกพวกเขา
แพร จารุ
แปลกใจใช่ไหมค่ะ ต้นไม้ใหญ่ อ่างเก็บน้ำและหมีแพนด้า  มันเกี่ยวกันอย่างไร  เรื่องมันเป็นอย่างนี้ค่ะ  เดือนฉันก่อนไปศาลากลางมา  ที่หน้าศาลากลางมีคนมากมาย มีชาวบ้านมาประท้วงเรื่องการสร้างอ่างเก็บน้ำ 
แพร จารุ
ในขณะที่ผู้คนที่มาดูต้นไม้ ต่างตื่นเต้นกับต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ใหญ่ที่สุดที่นี่คือต้นจามจุรีหรือต้นก้ามปูที่สโมสรเชียงใหม่ยิมคานา เป็นสนามกอล์ฟเก่า เขาเล่ากันว่าต้นไม้นี้มีอายุมากกว่าร้อยปี ส่วนสูง 15 เมตร ผ่านการประกวดต้นไม้ใหญ่ที่ได้รับรางวัลของเทศบาลมาแล้ว
แพร จารุ
"ที่ซึ่งหนุ่มสาวหอบฝันมาทิ้ง" ฉันบอกเพื่อน ฟังดูน่าตกใจและดูจะเป็นคนใจร้ายไปสักหน่อย และหากว่าน้อง ๆ หนุ่มสาวที่นี่ได้ยินฉันพูดทำนองนี้ พวกเธออาจเสียกำลังใจ เพราะการเดินทางครั้งนี้เราพบหนุ่มสาวพวกที่ฉันคิดว่าเป็นพวก"หอบความฝัน"มากมายหลายคนทีเดียว
แพร จารุ
"ปายแบบเมื่อก่อนจะไม่กลับมาอีกแล้ว เรามาค้นหาคุณค่าใหม่กันเถอะ" เพื่อนคงรำคาญที่ฉันพร่ำเพ้อถึงความหลังครั้งก่อน (ฉันเขียนมาถึงตอนนี้เมื่อฉบับที่แล้ว )  เราได้เพื่อนใหม่ทันที เธอชื่อเนเน่ เธอบอกว่า เธอเดินทางมาที่นี่ปีละหลาย ๆ ครั้ง และแม้ปายจะเปลี่ยนไปอย่างไรเธอก็ยังชอบปาย เธอมาเพื่อหาที่นั่งอ่านหนังสือสบาย ๆ ช่วง เย็น ๆ ก็ออกเดินเล่นไปตามถนน เดินคุยกับคนโน้นคนนี้เพราะผู้คนส่วนมากเป็นมิตร
แพร จารุ
  1 ปาย เปลี่ยนไปมาก และที่ฉันไม่กล้าไปปายก็เพราะกลัวความเปลี่ยนแปลง กลัวจะเสียใจกับความเปลี่ยนแปลงก็เลยพยายามจะลืมปายทำเหมือนหนึ่งว่าไม่เคยมี ไม่เคยไป
แพร จารุ
"ป้าไฟไหม้ ไฟไหม้ " หลานสาวส่งเสียงอยู่หน้าบ้าน "ไฟไหม้ที่ไหน" ฉันถาม เดี๋ยวนี้อาการตื่นกลัวเรื่องไฟไหม้ป่าหลังบ้านลดลงไปแล้ว หากเป็นเมื่อสองปีก่อน ฉันจะกลัวมาก กลัวจนตัวสั่นและรีบโทรศัพท์ไปแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายทันที และบางครั้งก็ลงมือดับไฟเองก่อนที่รถดับเพลิงจะมา พร้อมกับบ่นด่าคนที่ทำไฟไหม้ คนที่มาเก็บของกินในสวนร้างแต่ไม่เคยสนใจหน้าแล้งยามที่ไม่ค่อยมีอะไรเก็บกิน และเจ้าของสวนที่ทิ้งสวนตัวเองไว้แล้วไม่มาดูแล  รวมถึงดับเพลิงที่มาช้าไม่ทันใจ
แพร จารุ
"อย่าลืมเอาถุงผ้าไปซื้อของ" ฉันเคยบอกใครต่อใครจนเขาเบื่อหน่ายกันแล้ว "อย่าเอาถุงพลาสติกเข้าบ้านถ้าไม่จำเป็น"และทุกครั้งที่ฉันเห็นถุงพลาสติกที่ใส่อาหารแล้ววางทิ้งไว้บนโต๊ะ ก็จะรู้สึกโกรธขึ้นมาทันทีและรีบเก็บแต่ถุงพลาสติกก็ไม่เคยหมดไปจากบ้านฉัน มันวางอยู่ตรงโน้นตรงนี้เสมอ ๆ
แพร จารุ
ผู้ชายคนหนึ่งนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เขาขยันมาก นั่งทำงานทุกวัน เขามีเมียขี้คร้านกับหมาพุดเดิ้ลตัวเล็ก ๆ ที่ส่งเสียงเห่าแหลมเล็กทั้งวันทั้งคืน เสียงหมาเห่าดังมาก  แต่เขายังนั่งทำงานอย่างไม่สนใจ  เมียเขานอกจากขี้คร้านแล้วขี้รำคาญด้วย เธอจึงลุกขึ้นไปที่ประตูอย่างหงุดหงิดรำคาญใจเพราะเธอกำลังนอนอ่านหนังสืออย่างสำราญอยู่ ประตูบ้านยังไม่ปิด บ้านนี้ประตูจะไม่ปิดจนกว่าเจ้าของบ้านจะนอน  ลักษณะพิเศษคือเจ้าของบ้านไม่ชอบปิดประตู เปิดไว้ทั้งวันทั้งคืน
แพร จารุ
 หน้าร้อนใคร ๆ ก็ไม่อยากมาเชียงใหม่ อย่าว่าแต่นักท่องเที่ยวเลย คนที่อยู่เชียงใหม่ที่พอออกจากเมืองได้ก็จะพากันออกจากเมืองไปพักผ่อนที่อื่นฉันเป็นคนหนึ่งที่หนีออกจากเมืองเชียงใหม่ในช่วงหน้าร้อนเสมอ ให้เหตุผลกับตัวเองว่า ถือโอกาสกลับใต้ เป็นการกลับบ้านปีละครั้ง
แพร จารุ
“บ้านฉันไม่ได้อยู่ใกล้สถานบันเทิงเลยค่ะ แต่หนวกหูมากเหมือนกัน” ฉันบอกเพื่อนที่โทรศัพท์มาปรึกษาเรื่องที่บ้านของเธออยู่ใกล้สถานบันเทิง หลังจากที่ ฟังเธอบ่นปรับทุกข์ เรื่องเสียงเพลงหนวกหูจากสถานบันเทิง เธอเล่าว่าย้ายบ้านจากกรุงเทพฯ มาอยู่ต่างจังหวัดได้ไม่นาน ร้านอาหารคาราโอเกะก็มาเปิดข้างบ้าน