เมื่อไม่นานมานี้ ฉันไปร่วมงาน เปิดตัวหนังสืออาหารบ้านฉัน ที่บ้านแม่เหียะใน
หัวหน้าอุทยานดอยสุเทพ มาเปิดงาน ฉันฟังเสียงของท่านไม่ค่อยได้ยิน เพราะว่ายืนไกลและที่บ้านแม่เหียะใน ไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้เครื่องปั่นไฟ เสียงเครื่องปั่นไฟดังมาก จึงไปถามชาวบ้านที่ตั้งใจไปฟังใกล้ ๆ ว่าท่านพูดอะไร
แน่นอนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่อุทยานเขาต้องตั้งใจฟังทุกอย่างที่เจ้าหน้าที่อุทยานพูด เพราะว่าชีวิตขึ้นอยู่กับอุทยานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือเรียกว่าอยู่ภายใต้กฎหมายอุทยาน
“ท่านพูดว่า ท่านเข้าใจว่าที่ทำหนังสือเล่มนี้ทำขึ้นมาเพราะต้องการที่อยู่ที่กิน” หญิงสาวคนหนึ่งบอกว่าท่านพูดเช่นนั้น และเธอรู้สึกดีใจมาก
“อือ...แสดงว่าท่านเข้าใจ” ฉันแสดงความคิดเห็น
ฉันคิดว่าเพียงแค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและชาวบ้าน
เมืองไทยเราเรื่องพื้นที่อุทยานกับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่อุทยานมีปัญหาจริง ๆ เคยคุยกับเจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ พวกเขาบอกว่า พวกเขารับหน้าที่ในการดูแลป่า ดูแลพื้นที่ป่าภายใต้กฎหมาย เขาต้องรักษาป่าไว้ให้มากที่สุด
แต่ในเมืองไทยเรานั้น มีผู้คนอาศัยอยู่ในป่ามากมาย หรือเรียกว่าทุกแห่งนั่นแหละ ข้อหนึ่งที่ถกเถียงกันอยู่เสมอคือ ชาวบ้านบอกว่ามาอยู่ก่อนที่อุทยานจะประกาศพื้นที่ การพิสูจน์การเข้ามาอยู่ก่อนหลังจึงเป็นข้อเสนอหนึ่ง แต่ดูเหมือนกับว่าการพิสูจน์แบบนี้ก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เพราะว่าคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นไม่ว่าจะมาก่อนหรือหลัง ส่วนใหญ่เขาก็ไม่อยากย้ายออกจากบ้านที่เคยอยู่ หรือถ้าย้ายก็ต้องเป็นที่ซึ่งทำมาหากินได้ ปลูกผักปลูกข้าวได้ หรือหาของป่า เท่าที่ฉันไปเที่ยวดูจากที่ต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ของชนเผ่า ในพื้นที่อุทยานและไม่ใช่คนชนเผ่า พวกเขาจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นป่าใช้สอยพื้นที่ทำกิน ป่าอนุรักษ์ ถ้าเป็นชนเผ่าก็มีป่าที่ใช้สำหรับพิธีกรรมด้วย เท่าที่รู้ป่าพิธีกรรมเขาจะไม่ตัดไม้อยู่แล้ว และได้ไปดูพื้นที่ที่ถูกย้ายออกมา และกำลังจะถูกย้าย ที่ถูกย้ายออกมานั้น ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องที่ทำกิน คือที่ซึ่งย้ายออกมาทำกินไม่ได้ แห้งแล้ง มีที่เพียงนิดเดียว ที่ซึ่งฉันไปดูมาชื่อบ้านลีซูหัวน้ำ แม่อาย อันนี้ย้ายลงมารวมกันข้างล้างและมีปัญหาไม่มีที่ทำกิน อดอยาก กับอีกแห่งหนึ่งที่ไปดูมา คือบ้านนาอ่อน ช่วงที่ไปนั้นพวกเขากำลังจะถูกย้าย แต่ยังไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหนดี ทั้งสองแห่งเป็นที่อยู่ของชนเผ่า
ส่วนที่บ้านแม่เหียะในนั้น ก็เหมือนกัน อยู่ในพื้นที่อุทยานเหมือนกัน แต่ต่างที่ไม่ใช่ชนเผ่าไม่ใช่ชาวเขา และพื้นที่ป่าบ้านแม่เหียะเป็นพื้นที่ใกล้เมืองมาก ๆ หรือเรียกว่าผืนป่าที่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่มากที่สุด
ที่บ้านแม่เหียะในมันเป็นหลายเรื่องหลายกรณีมาก ๆ มีจำนวนมากที่เป็นคนเก่าแก่ดั้งเดิมคืออยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย แต่มีอยู่จำนวนหนึ่งมาอยู่ใหม่ และบางคนถูกหลอกมา เขาหลอกว่าไม่นานก็จะได้เอกสารสิทธิ์หรือว่าไม่มีใครเขามาไล่หรอก อยู่ไปเถอะ อย่างนี้เป็นต้น
ยังมีปัญหาเรื่องขายที่ดินซ้ำซ้อน ทั้งที่ไม่มีสิทธิ์ขาย คือขายคนหนึ่งแล้วไปขายอีกคนหนึ่ง เพราะการซื้อขายไม่มีหลักฐานใด ๆ ซื้อขายแบบไปชี้ ๆ เอามา ดังนั้นเมื่อมีเรื่องราวก็ไปฟ้องร้องเอาผิดกันไม่ได้ นอกจากฟ้องร้องฉ้อโกงกันเท่านั้น
เห็นไหมเมื่อเข้าไปดูรายละเอียดมันมีเรื่องมากมาย และคนแบบนี้แหละที่ทำให้ส่วนรวมเสีย การที่จะต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐในที่อยู่อาศัยก็ยากขึ้น หรือไม่สามารถทำได้
การจัดการป่าในเมืองไทยเป็นเรื่องยากมากจริง ๆ จัดการตามหลักกฎหมายอย่างเดียวก็ไม่ได้ ครั้งจะเรียกร้องให้คนดูแลป่า ก็ต้องมาดูรายละเอียดกันว่า คนของเราหรือประชาชนเราพร้อมหรือยัง
เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า เธอมีเพื่อนเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และยืนยันว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายดี ทำงานอย่างตั้งใจ เรียกว่ามือสะอาด เขาบอกว่า ชาวบ้านยังไม่พร้อม
แต่ก็มีบางแห่งที่พร้อม ดังนั้นก็ต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ อย่างเช่นบางชุมชนชาวบ้านเข้มแข็ง จัดการป่าได้จริง เขามีกฎระเบียบของหมู่บ้าน และพิสูจน์แล้วว่า ทำได้อยู่ได้อย่างยาวนาน อย่างน้อยก็ห้าปีสิบปี ของจริงของปลอมมันพิสูจน์กันได้ และหากว่า ต่อไปไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ได้ก็เพิกถอนสิทธิ์ได้ อย่างนี้เป็นต้น แต่สิทธิในการซื้อขายคงจะไม่ได้ แต่มีสิทธิในการครอบครองชั่วลูกหลาน เป็นมรดกตกทอดได้ เพราะเมื่อสิทธิในการซื้อขายเกิดขึ้น ทันทีที่กลุ่มทุนเข้าไป วอดวายแน่ โครงการยักษ์ใหญ่นี่แหละน่ากลัวมาก เพื่อนบอกอย่างนี้
ส่วนที่บ้านแม่เหียะนั้น จากการพูดคุยกับชาวบ้าน เขาบอกว่า “พื้นที่อุทยานดอยสุเทพนั้น ไนท์ซาฟารีเอาพื้นที่ไปใช้เท่าไหร่ พืชสวนโลกเอาไปเท่าไหร่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอาไปใช้เท่าไหร่ รวมแล้วส่วนอื่นขอใช้พื้นที่ได้นับพันนับหมื่นไร่ ชาวบ้านทั้งที่อยู่ก่อนและอยู่ใหม่ขอใช้พื้นที่อยู่อาศัยไม่ได้หรือ ทำไมมารังเกียจชาวบ้าน ถ้าจะจัดการก็ต้องจัดการให้เหมือนกัน ดูเถอะในพื้นที่เดียวกัน ส่วนอื่นมีไฟฟ้าใช้ แต่ส่วนของชาวบ้านไม่มี พื้นที่ใกล้ ๆ อย่างไนท์ซาฟารีก็มีไฟฟ้าใช้ ส่วนที่มหาวิทยาลัยก็มีไฟฟ้าใช้” เออ...ก็จริงของเขาเหมือนกัน
บ้านแม่เหียะในเป็นหมู่บ้านลับตาจริง ๆ หากว่าไม่มีโครงการพืชสวนโลกกับไนท์ซาฟารี บ้านแม่เหียะในก็ไม่ได้ถูกเปิดตัวขึ้นมาแน่นอน
ฉันรู้จักบ้านแม่เหียะในครั้งแรก จากโครงการอุทยานช้าง ที่เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการไนซาฟารี ฉันเข้าไปเพราะถูกชวนไปปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ต่อมามีการคัดค้านอุทยานช้าง ชาวบ้านในพื้นที่แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ทั้งที่เห็นด้วยอยากได้อุทยานช้าง เพราะเชื่อว่าหากมีอุทยานช้างเข้ามาพวกเขาจะได้ทำมาค้าขายกับนักท่องเที่ยว และความเจริญต่าง ๆที่เข้ามา แต่บางคนบางกลุ่มก็กลัวว่า จะไม่ได้ใช้ประโยชน์กับการท่องเที่ยวจริง อาจจะมีการประมูลมาจากข้างนอก และไม่แน่ใจว่า พวกเขาจะถูกย้ายออกจาพื้นที่หรือไม่เมื่อมีโครงการใหญ่ใช้พื้นที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งกลัวเรื่องขี้ช้างจำนวนมากที่อาจจะทำให้อากาศเสีย หรือน้ำเสีย
ตอนนี้โครงการนี้หยุดลง แต่ไม่แน่ว่าจะกลับมาในรัฐบาลชุดใหม่ ยุคนายสมัคร สุนทรเวชหรือไม่ และชาวบ้านต้องการโครงการเหล่านั้นจริงหรือไม่