เสาร์ที่แล้ว (9 สิงหาคม 2557) หัวหน้าคณะรัฐประหาร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เอ่ยถึงคำว่าประชาธิปไตยแบบไทยอย่างน้อยสองครั้งในระหว่างการพูดเปิดงานปฎิรูปประเทศไทยซึ่งได้ถ่ายทอดสดไปทั้งประเทศ
คำถามคืออะไรคือประชาธิปไตยแบบไทยๆ? และมีอะไรเป็นไทยหรือเป็นประชาธิปไตยในประชาธิปไตยแบบไทยบ้าง?
ประยุทธ์อาจมิได้ให้คำจำกัดความว่าประชาธิปไตยแบบไทยเป็นอย่างไรกันแน่ ต่างจากประชาธิปไตยแบบตะวันตกอย่างไร แต่ผู้เขียนก็อดสงสัยมิได้ว่าประชาธิปไตยแบบไทยอาจหมายถึงการยอมรับรัฐประหารเป็นระยะๆ หรือหมายถึงระบบเลือกตั้งที่ประชาชนมีอำนาจอธิปไตยจำกัดกว่าในอดีต หรือแม้กระทั่งอาจหมายถึงการให้คนดีที่มิได้ผ่านการเลือกตั้งมาปกครองโดยมิสามารถตรวจสอบได้
หากมองให้ลึกลงไป การใช้คำว่า ‘ไทย’ ขยายความคำว่าประชาธิปไตยช่วยทำให้คำว่า ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ ดูเหมาะสมกับคนไทยยิ่งขึ้นและทำให้ระบอบกึ่งเผด็จการดูเป็นที่ยอมรับของนานาชาติมากยิ่งขึ้น
ทว่ามันไม่มีอะไรที่เป็น ‘ไทย’ ในประชาธิปไตยแบบไทยๆเพราะคนไทยเองยังตกลงกันไม่ได้เลยว่าต้องการการปกครองแบบไหน
คนไทยที่มีการศึกษาจำนวนหนึ่งชอบโมเดลกึ่งเผด็จการแบบสิงคโปร์ที่ฝายค้านถูกทำให้อ่อนปวกเปียก บ้างชอบระบอบเผด็จการทหาร แต่ก็ยังมีคนไทยอีกจำนวนมิน้อยที่ต้องการให้ยึดระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ต้องมาทนกับรัฐประหารเป็นระยะๆและเชื่อว่าควรปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยคลี่คลายปัญหาโดยตัวของมันเองเพราะหนทางประชาธิปไตยในไทยเพิ่งอายุแค่ 82 ปี
นอกจากนี้ยังมีคนไทยที่ต้องการย้อนกลับไปสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชแต่ก็มีบางคนที่ต้องการเห็นประเทศเป็นสาธารณรัฐ
ในขณะเดียวกัน แทนที่จะใช้คำว่าประชาธิปไตยแบบไทย เราอาจใช้คำว่าเผด็จการครึ่งใบหรือเผด็จการแบบไทยแทนก็ได้ แต่คำว่าเผด็จการนั้นมิน่าพิศมัยจึงเลือกใช้คำว่าประชาธิปไตยแทนดั่งคำว่า ‘ยิ้มสยาม’ ซึ่งอาจมิได้หมายถึงรอยยิ้มที่มาจากความดีใจก็เป็นได้
สังคมไทยควรเลิกหลอกตนเองเสียทีว่าอะไรคือประชาธิปไตยและอะไรคือเผด็จการโดยการใช้คำที่เคลือบแฝงสภาพความจริง
หมายเหตุ: บทความนี้ถอดความและดัดแปลงจาก ‘What makes ‘Thai-style democracy’ globally palatable?’ ซึ่งเขียนโดยผู้เขียนลงใน นสพ. The Nation ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม 2557