Skip to main content

 อ่านเรื่องสายลับพม่ากันมาสองตอนแล้ว คนที่เคยเดินทางไปเที่ยวพม่าตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังต่าง ๆ อย่างเจดีย์ชเวดากอง หรือพระธาตุอินทร์แขวนอาจบอกว่า ไม่เห็นเคยเจอสายลับติดตามเลย  ผู้เขียนอาจเป็นพวก "คิดไปเอง" หรือเปล่า  อันที่จริง ถ้าผู้เขียนไม่ได้เดินทางไปพม่าในฐานะ "นักข่าว" ที่ต้องการเก็บข้อมูลปัญหาในพม่าออกเผยแพร่  ผู้เขียนก็คงจะเดินทางอย่างไร้กังวล ไม่ต้องเป็นโรคหวาดระแวงอย่างที่เห็น เพราะตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังจะไม่มีสายลับมาติดตามหรือถ้ามีสายลับอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวเพราะตราบใดที่ยังไม่มี "พฤติกรรมนอกกรอบ" นักท่องเที่ยว  พวกสายลับก็จะไม่สนใจเฝ้าติดตาม

แต่ถ้าคุณมีนิสัยชอบซักถามข้อมูลและถ่ายภาพที่ "ไม่พึงประสงค์" ในสายตาของรัฐบาลพม่า เช่น ถ่ายภาพที่ทำการพรรคเอ็นแอลดีของนางอองซาน ซูจี หรือพูดคุยกับขอทานข้างถนน  ชาวบ้านในสลัม เป็นต้น  พฤติกรรมแบบนี้จะเป็นที่จับตามองของบรรดาสายลับพม่าซึ่งมักแฝงตัวรวมกับคนทั่วไป โดยเฉพาะร้านน้ำชา ซึ่งมีอยู่ทั่วทุกมุมเมือง อาทิ ร้านน้ำชาฝั่งตรงข้ามที่ทำการพรรคเอ็นแอลดี  ว่ากันว่า บรรดาสายลับพม่าจะต้องนั่งประจำการอยู่ที่นี่เพื่อเก็บข้อมูลคนเข้า
-ออก  หากมีนักท่องเที่ยวคนไหนยกกล้องขึ้นมาถ่ายรูปที่ทำการพรรคแห่งนี้ละก็  บรรดาสายลับก็จะปฏิบัติงานทันที

ผู้เขียนเคยเข้าพักที่โรงแรม Yusana ห่างจากที่ทำการพรรคเอ็นแอลดีแบบเดินถึงภายในห้านาที  เวลาเดินผ่านหน้าที่ทำการพรรคฯ ขนาดไม่ได้ยกกล้องขึ้นมาถ่ายรูป เพียงแค่ยืนมองป้ายด้านหน้าเฉย ๆ  สายตาหลายคู่จากร้านน้ำชาฝั่งตรงข้ามยังเปล่งรัศมีข้ามมาถึงจนทำให้ต้องรีบเดินจ้ำอ้าวผ่านไปเร็ว ๆ  ถ้าขืนยกกล้องขึ้นมา งานนี้สวรรค์คงไม่เมตตาแน่ ๆ เพราะหาเรื่องใส่ตัวเอง  ผู้เขียนได้แต่แกล้งทำทีซ่อนกล้องไว้ในกระเป๋าสะพายให้เลนส์โผล่ขึ้นมาเล็กน้อย เวลาเดินผ่านเป้าหมายก็กดชัตเตอร์มั่วๆ ไปโดยไม่ยกกล้องขึ้นมา  ผลปรากฎว่า มองไม่เห็นอะไรเลยเพราะรีบเดินจ้ำอ้าวเร็วเกินไป!

เพื่อนช่างภาพชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขาถูกสันติบาลพม่าติดตามหลายครั้งในระยะกระชั้นชิดและรู้แน่ชัดว่าถูกติดตาม  เขาจึงแกล้งไปสถานที่ทั่ว ๆ ไป เช่น ร้านน้ำชา พอเห็นสันติบาลมานั่งโต๊ะติดกันบ่อย ๆ ในที่สุด เขาก็หันไปยิ้มให้แล้วชักชวนให้มานั่งด้วยกันเสียเลยดีไหม  เขาบอกกับสันติบาลคนนั้นว่า "ผมเข้าใจดีว่า คุณกำลังทำตามหน้าที่ อยากตามก็ตามเถอะ"  อีกเหตุการณ์หนึ่ง เพื่อนชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่งเล่าว่า เธอนัดคุยกับชาวพม่าท้องถิ่นเรื่องการพานักข่าวมาอบรมนอกประเทศพม่าที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง  เวลาคุยกัน  เด็กเสิร์ฟน้ำชามักจะมายืนใกล้ ๆ แล้วคอยบริการเติมน้ำชาให้กับเธอบ่อย ๆ เหมือนต้องการแอบฟังเรื่องราวที่คุยกัน ถึงขนาดที่ว่า เธอเพิ่งจิบน้ำพร่องไปนิดเดียว เด็กหนุ่มก็รีบเข้ามาเติมชาให้เต็มแก้วทันที  ฟังแล้ว.. บางคนอาจท้วงว่าเพื่อนคนนี้ขี้ระแวงมากไปหรือเปล่า เพราะนี่อาจเป็นบริการสุดประทับใจที่ทางภัตตาคารมอบให้ลูกค้าทุกคนก็เป็นได้
!


นอกจากร้านน้ำชาแล้ว  ร้านอินเทอร์เน็ตจัดเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่สายลับพม่ามักวนเวียนอยู่แถวนั้น  เพราะถือเป็นเครื่องมือสื่อสารสู่โลกภายนอก  เมื่อสมัยที่ผู้เขียนเดินทางเข้าพม่าแปดปีก่อน ยุคนั้นรัฐบาลพม่ายังไม่อนุญาตให้ใช้ฟรีอีเมลใด ๆ ทั้งสิ้น  หากต้องการส่งอีเมลจะต้องใช้อีเมลของร้านอินเตอร์เน็ตที่ขึ้นทะเบียนเปิดขอใช้อีเมลกับทางการเท่านั้น  ดังนั้น เวลาส่งเมลมาหาเพื่อนหรือญาติที่เมืองไทย ชื่อที่ปรากฎบนอีเมลของผู้ส่งจะเป็นชื่อของร้านอินเทอร์เน็ตนั้น ๆ
 

ผู้เขียนจำได้ว่า ตอนนั้นส่งเมลมาหาเพื่อนและต้องใส่ข้อความในชื่อเรื่องว่า "ถึง (ชื่อเพื่อน) นี่ฉันเอง (ชื่อตัวเอง)" เพราะกลัวเพื่อนคิดว่าเป็นเมลขยะแล้วลบทิ้ง แล้วค่าส่งอีเมลไม่ได้นับเป็นชั่วโมง  แต่คิดตามความยาวหน้ากระดาษ คือ "เขียนน้อยจ่ายน้อย เขียนมากจ่ายมาก"  แล้วเวลาจะส่งต้องเรียกพนักงานร้านมาส่งให้เพื่อทำการจัดเก็บข้อความของผู้ใช้บริการส่งให้หน่วยข่าวกรอง  ดังนั้น  ใครหาญกล้าเขียนข้อความล่อแหลมวิจารณ์รัฐบาลก็คงจะได้เข้าไปนอนในคุกแน่ ๆ เพราะหลักฐานมีให้เห็นอยู่โต้ง ๆ

ล่าสุดที่ผู้เขียนเดินทางไปพม่าปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา  อินเทอร์เน็ตเข้าถึงเมืองใหญ่หลายเมืองแล้ว  โดยรัฐบาลพม่าอนุญาตให้ใช้ฟรีอีเมลของ
gmail ได้  ส่วน hotmail และ yahoo ยังคงถูกบล็อคไว้  รวมทั้งเว็บไซต็ข่าวต่างประเทศหลายสำนักข่าวก็ถูกบล็อคเช่นกัน  แต่ถึงแม้ประชาชนจะมีฟรีอีเมลใช้ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เสรีภาพในการส่งข้อมูลข่าวสารจะมากขึ้นตามไปด้วย  เพราะร้านอินเทอร์เน็ตที่ไปใช้ต้องขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลและคนที่ไปใช้บริการก็ไม่มีความเป็นส่วนตัวในการพิมพ์ข้อความสักเท่าใดนัก เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ร้านเดินไปเดินมาตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ ถ้าใครส่งอีเมลที่มีข้อความ "ต้องห้าม" หรือ "น่าสงสัย" ก็อาจนำมาภัยมาสู่ตัวได้ง่าย เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสาละวินโพสต์ซึ่งถูกจับได้หลังเก็บข้อมูลและถ่ายภาพผู้ประสบภัยนาร์กิสเมื่อปีที่ผ่านมา

เรื่องราวจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามอ่าน "สายลับพม่า (ตอนจบ)" ในครั้งต่อไปนะคะ

บล็อกของ บก.สาละวินโพสต์

บก.สาละวินโพสต์
ความเดิมตอนที่แล้ว ผู้เขียนเล่าถึงภัยที่อาจเกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตในพม่าแบบไม่ระมัดระวังเพราะที่ร้านอินเทอร์เน็ตอาจมีสายลับเฝ้าสังเกตบุคคลที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยแล้วส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองติดตามบุคคลนั้น ในตอนนี้ ผู้เขียนอยากถ่ายทอดบทเรียนความผิดพลาดจากการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บข้อมูลในพม่าให้ผู้อ่านรับรู้ไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์และเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นหากต้องการเข้าไปเก็บข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือสร้างภาพพจน์เชิงลบให้รัฐบาลทหาร (ถ้าเก็บข้อมูลเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวจะไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลทหารได้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว)
บก.สาละวินโพสต์
 อ่านเรื่องสายลับพม่ากันมาสองตอนแล้ว คนที่เคยเดินทางไปเที่ยวพม่าตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังต่าง ๆ อย่างเจดีย์ชเวดากอง หรือพระธาตุอินทร์แขวนอาจบอกว่า ไม่เห็นเคยเจอสายลับติดตามเลย  ผู้เขียนอาจเป็นพวก "คิดไปเอง" หรือเปล่า  อันที่จริง ถ้าผู้เขียนไม่ได้เดินทางไปพม่าในฐานะ "นักข่าว" ที่ต้องการเก็บข้อมูลปัญหาในพม่าออกเผยแพร่  ผู้เขียนก็คงจะเดินทางอย่างไร้กังวล ไม่ต้องเป็นโรคหวาดระแวงอย่างที่เห็น เพราะตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังจะไม่มีสายลับมาติดตามหรือถ้ามีสายลับอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวเพราะตราบใดที่ยังไม่มี "พฤติกรรมนอกกรอบ" นักท่องเที่ยว …
บก.สาละวินโพสต์
หลังจากผู้เขียนถูกสายลับพม่าติดตามครั้งแรกทำให้ผู้เขียนเริ่มระวังตัวมากขึ้นในการเดินทางไปพม่าครั้งต่อมา  ประสบการณ์ทำงานประเด็นพม่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ผู้เขียนเริ่มเข้าใจวิธีการทำงานของสายลับพม่ามากขึ้น  ถ้าจะลองแบ่งประเภทสายลับพม่าจากประสบการณ์ที่เคยพบก็พอจะแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ  (เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน กรุณาอย่านำไปใช้อ้างอิงทางวิชาการ) คือ สายลับแบบทำงานเต็มเวลา (full- time) กับสายลับแบบชั่วครั้งชั่วคราว (Part-time)สายลับประเภทแรกอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งตามภาษาบ้านเราว่า "สันติบาล"   …
บก.สาละวินโพสต์
ในแวดวงคนทำงานประเด็นพม่าต่างคุ้นหูกับเรื่องราวของ "สายลับพม่า" กันเป็นอย่างดี เพราะรัฐบาลทหารพม่าให้ความสำคัญกับหน่วยข่าวกรองมากและหน่วยข่าวกรองพม่าก็มีอำนาจมากจนเทียบเท่ากับอีกสามเหล่าทัพ (ทัพบก ทัพเรือ และทัพอากาศ) เลยทีเดียว สายลับพม่าไม่ได้ทำงานในเขตประเทศพม่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่ง "สาย" ข้ามฝั่งมาทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศพม่า หน้าที่ของสายลับพม่า คือ การเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวของบุคคลที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาลทหาร
บก.สาละวินโพสต์
    วันที่ 3 พฤษภาคมนี้เป็นวันครบรอบหนึ่งปีหลังไซโคลนนาร์กีสถล่มภาคอิรวดีของพม่า  หนึ่งปีที่ล่วงผ่านมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น  ซึ่งทำให้เราได้รู้จักและเข้าใจเพื่อนบ้านติดพรมแดนตะวันตกของเรามากขึ้น