Skip to main content

หลังจากผู้เขียนถูกสายลับพม่าติดตามครั้งแรกทำให้ผู้เขียนเริ่มระวังตัวมากขึ้นในการเดินทางไปพม่าครั้งต่อมา  ประสบการณ์ทำงานประเด็นพม่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ผู้เขียนเริ่มเข้าใจวิธีการทำงานของสายลับพม่ามากขึ้น  ถ้าจะลองแบ่งประเภทสายลับพม่าจากประสบการณ์ที่เคยพบก็พอจะแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ  (เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน กรุณาอย่านำไปใช้อ้างอิงทางวิชาการ) คือ สายลับแบบทำงานเต็มเวลา (full- time) กับสายลับแบบชั่วครั้งชั่วคราว (Part-time)

สายลับประเภทแรกอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งตามภาษาบ้านเราว่า
"สันติบาล"    สายลับประเภทนี้จะแต่งกายแบบชาวบ้านทั่วไปเพื่อไม่ให้เป็นที่จับตามอง   สิ่งที่สังเกตได้ว่าพวกเขากำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ก็คือ "พฤติกรรมแปลก ๆ" เช่น การเดินตามผู้เขียนในรัศมีที่มองเห็นหรือสัมผัสได้ว่ามีใครบางคน (บางทีก็หลายคน) ติดตามอยู่  การยืนจับกลุ่มกันจ้องมองมาทางผู้เขียนในทิศทางเดียวกันหมด  หรือการนั่งจับกลุ่มกันเงียบ ๆ ในรัศมีใกล้ชิดกับผู้เขียนเพื่อแอบฟังบทสนทนาระหว่างผู้เขียนและเพื่อนร่วมเดินทาง  เช่น เมื่อครั้งเดินทางไปเมืองเมาะละแหม่ง (เมาะลำไย) ทางภาคใต้ของพม่า ผู้เขียนและเพื่อนร่วมทางรวมห้าคนถูกสันติบาลพม่าสามคนตามมาที่โรงแรม

สิ่งที่สังเกตได้คือ ชายทั้งสามคนแต่งกายด้วยชุดโสร่ง ไม่มีกระเป๋าเดินทางเหมือนแขกทั่วไป และคอยจ้องมองมาทางพวกเราตลอดเวลา
  ถ้าพวกเราไปนั่งกินข้าวเช้าในห้องอาหารของโรงแรม  พวกเขาก็จะมานั่งโต๊ะติดกันแบบเงียบสนิท ไม่มีใครพูดอะไรเลย เหมือนกำลังตั้งใจฟังสิ่งที่พวกเราคุยกัน  พวกเราจึงสันนิษฐานว่าชายกลุ่มนี้น่าจะเป็นสันติบาลที่คอยติดตามนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มากับกรุ๊ปทัวร์ โดยทางโรงแรมคงทำหน้าที่ "ส่งข่าว" ให้เหมือนที่เคยเจอเมื่อครั้งไปรัฐฉานครั้งแรก   และเพื่อความปลอดภัย พวกเราจึงใช้ "รหัสลับ" ที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ในการพูดคุยกันเวลาอยู่ต่อหน้าสันติบาลพม่า  เช่น ใช้คำว่า "สัปปะรด" เวลาต้องการพูดถึง "สันติบาล" หรือใช้คำว่า "พ่อหลวง" แทน "รัฐบาลทหารพม่า"  เป็นต้น 

อ่านมาถึงตอนนี้ หลายคนอาจเกิดคำถามว่า ทำไมต้องใช้รหัสลับในการพูดคุย เพราะสันติบาลพม่าจะเข้าใจภาษาไทยได้อย่างไร
  คำตอบก็คือ สันติบาลจะต้องเรียนภาษาท้องถิ่นในพื้นที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ เช่น เมืองที่อยู่ใกล้ชายแดนไทยก็มักจะมีสันติบาลพม่าที่ฟังภาษาไทยออก  หรือเมืองที่มีประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยอยู่ สันติบาลที่อยู่ประจำพื้นที่นั้นก็จะต้องเรียนรู้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นหากสามารถฟังภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ หรือบางครั้งสันติบาลก็อาจเป็นคนจากกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ เองก็มี  

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเดินทางไปรัฐฉานครั้งแรก
 ผู้เขียนเคยคุยกับครูสอนภาษาไทยใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งถูกบังคับให้เป็นครูสอนภาษาไทยใหญ่ให้กับทหารพม่าที่มาประจำเมืองนั้น เนื่องจากเวลาที่คนไทยใหญ่มีประชุมทางวัฒนธรรมเกินกว่า 5 คนจะต้องยื่นขออนุญาตทางการพม่าก่อนและจะมีสันติบาลเข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง

จากประสบการณ์ของผู้เขียน  หากสันติบาลเป็นชาวพม่าแท้ที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่น  คนที่ถูกติดตามจะสังเกตได้ง่ายเพราะมีความแตกต่างกันทางสีผิวและสำเนียงพูด แต่ในกรณีที่สันติบาลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ เลย  อันนี้น่ากลัว...เพราะหลายคนอาจเผลอไว้ใจ  ไม่ทันระวังคำพูด และอาจถูกจับได้ง่ายกว่า

ผู้เขียนเคยรู้สึกเสียวสันหลังวาบหลังจากที่พูดคุยกับคุณลุงชาวไทยใหญ่ท่านหนึ่งและเผลอไปซักถามเกี่ยวกับเสรีภาพของชาวไทยใหญ่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ  ชาวไทยใหญ่ท่านนั้นหันมาทำหน้าขรึมและพูดว่า "คุณรู้ไหมว่าถ้าอยู่ในพม่า อย่าถามคำถามประเภทนี้กับใคร ไม่ว่าคุณจะสนิทกับคนนั้นหรือไม่ เพราะคุณจะไม่มีวันรู้ว่า คนนั้นเป็นสายลับให้รัฐบาลพม่าหรือเปล่า  และคุณรู้ไหมว่า ถ้าผมเกิดเป็นสายลับให้รัฐบาลพม่าขึ้นมา  คุณจะเป็นอย่างไร...."

ฟังจบ ผู้เขียนรู้สึกใจเต้นตึกตักพาลจะเป็นลม เพราะหากชายตรงหน้าเป็นสายลับพม่าเข้าจริง ๆ   คงถูกส่งเข้าซังเตพม่าแน่ ๆ  ผู้เขียนยกมือไหว้ขอบคุณที่ได้รับคำตักเตือนและขอบคุณสวรรค์ที่ยังเมตตาให้คุณลุงไทยใหญ่ท่านนี้ไม่ใช่สายลับของทางการพม่า

เฮ้อ...หวิดเข้าคุกพม่าอีกแล้วสิเรา      

 

บล็อกของ บก.สาละวินโพสต์

บก.สาละวินโพสต์
ความเดิมตอนที่แล้ว ผู้เขียนเล่าถึงภัยที่อาจเกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตในพม่าแบบไม่ระมัดระวังเพราะที่ร้านอินเทอร์เน็ตอาจมีสายลับเฝ้าสังเกตบุคคลที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยแล้วส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองติดตามบุคคลนั้น ในตอนนี้ ผู้เขียนอยากถ่ายทอดบทเรียนความผิดพลาดจากการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บข้อมูลในพม่าให้ผู้อ่านรับรู้ไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์และเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นหากต้องการเข้าไปเก็บข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือสร้างภาพพจน์เชิงลบให้รัฐบาลทหาร (ถ้าเก็บข้อมูลเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวจะไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลทหารได้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว)
บก.สาละวินโพสต์
 อ่านเรื่องสายลับพม่ากันมาสองตอนแล้ว คนที่เคยเดินทางไปเที่ยวพม่าตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังต่าง ๆ อย่างเจดีย์ชเวดากอง หรือพระธาตุอินทร์แขวนอาจบอกว่า ไม่เห็นเคยเจอสายลับติดตามเลย  ผู้เขียนอาจเป็นพวก "คิดไปเอง" หรือเปล่า  อันที่จริง ถ้าผู้เขียนไม่ได้เดินทางไปพม่าในฐานะ "นักข่าว" ที่ต้องการเก็บข้อมูลปัญหาในพม่าออกเผยแพร่  ผู้เขียนก็คงจะเดินทางอย่างไร้กังวล ไม่ต้องเป็นโรคหวาดระแวงอย่างที่เห็น เพราะตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังจะไม่มีสายลับมาติดตามหรือถ้ามีสายลับอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวเพราะตราบใดที่ยังไม่มี "พฤติกรรมนอกกรอบ" นักท่องเที่ยว …
บก.สาละวินโพสต์
หลังจากผู้เขียนถูกสายลับพม่าติดตามครั้งแรกทำให้ผู้เขียนเริ่มระวังตัวมากขึ้นในการเดินทางไปพม่าครั้งต่อมา  ประสบการณ์ทำงานประเด็นพม่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ผู้เขียนเริ่มเข้าใจวิธีการทำงานของสายลับพม่ามากขึ้น  ถ้าจะลองแบ่งประเภทสายลับพม่าจากประสบการณ์ที่เคยพบก็พอจะแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ  (เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน กรุณาอย่านำไปใช้อ้างอิงทางวิชาการ) คือ สายลับแบบทำงานเต็มเวลา (full- time) กับสายลับแบบชั่วครั้งชั่วคราว (Part-time)สายลับประเภทแรกอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งตามภาษาบ้านเราว่า "สันติบาล"   …
บก.สาละวินโพสต์
ในแวดวงคนทำงานประเด็นพม่าต่างคุ้นหูกับเรื่องราวของ "สายลับพม่า" กันเป็นอย่างดี เพราะรัฐบาลทหารพม่าให้ความสำคัญกับหน่วยข่าวกรองมากและหน่วยข่าวกรองพม่าก็มีอำนาจมากจนเทียบเท่ากับอีกสามเหล่าทัพ (ทัพบก ทัพเรือ และทัพอากาศ) เลยทีเดียว สายลับพม่าไม่ได้ทำงานในเขตประเทศพม่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่ง "สาย" ข้ามฝั่งมาทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศพม่า หน้าที่ของสายลับพม่า คือ การเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวของบุคคลที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาลทหาร
บก.สาละวินโพสต์
    วันที่ 3 พฤษภาคมนี้เป็นวันครบรอบหนึ่งปีหลังไซโคลนนาร์กีสถล่มภาคอิรวดีของพม่า  หนึ่งปีที่ล่วงผ่านมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น  ซึ่งทำให้เราได้รู้จักและเข้าใจเพื่อนบ้านติดพรมแดนตะวันตกของเรามากขึ้น