Skip to main content

ความเดิมตอนที่แล้ว ผู้เขียนเล่าถึงภัยที่อาจเกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตในพม่าแบบไม่ระมัดระวังเพราะที่ร้านอินเทอร์เน็ตอาจมีสายลับเฝ้าสังเกตบุคคลที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยแล้วส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองติดตามบุคคลนั้น ในตอนนี้ ผู้เขียนอยากถ่ายทอดบทเรียนความผิดพลาดจากการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บข้อมูลในพม่าให้ผู้อ่านรับรู้ไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์และเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นหากต้องการเข้าไปเก็บข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือสร้างภาพพจน์เชิงลบให้รัฐบาลทหาร (ถ้าเก็บข้อมูลเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวจะไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลทหารได้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว)

เหตุการณ์ความผิดพลาดครั้งนี้เกิดขึ้นหลังพายุนาร์กิสถล่มภาคอิรวดีของพม่าได้หนึ่งเดือน คือ ประมาณเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ผู้เขียนต้องการเข้าไปเก็บข้อมูลผู้ประสบภัยนาร์กิสเพื่อมาตีพิมพ์ในนิตยสารสาละวินโพสต์ แต่เนื่องจากในช่วงเวลานั้นรัฐบาลพม่าไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าไปพื้นที่ลุ่มอิรวดีได้ง่าย โดยตั้งด่านตรวจตลอดเส้นทาง ความช่วยเหลือจากนานาชาติจึงเข้าไปถึงในพื้นที่ยากมาก รัฐบาลพม่าต้องการเงินบริจาคมากกว่าสิ่งของหรือเจ้าหน้าที่กู้ภัยจากต่างประเทศ ดังนั้น กลุ่มคนที่สามารถเข้าไปถึงพื้นที่ประสบภัยจึงมีเฉพาะประชาชนชาวพม่าที่มีบัตรประชาชนพม่าและพูดภาษาพม่าได้อย่างคล่องแคล่ว เนื่องจากผู้เขียนไม่มีบัตรประชาชนพม่าและไม่สามารถพูดภาษาพม่าได้อย่างคล่องแคล่ว การผ่านด่านตรวจต่าง ๆ เข้าไปถึงพื้นที่เป้าหมายจึงทำได้ยาก ผู้เขียนจึงตัดสินใจส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นชาวพม่าเข้าไปเก็บข้อมูลในพื้นที่แทน
เจ้าหน้าที่คนนี้ทำงานอยู่ในประเทศไทยโดยมีพาสปอร์ตเดินทางเข้า-ออกประเทศพม่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งมีบัตรประชาชนพม่าสำหรับการเดินทางในพม่า สาเหตุที่ผู้เขียนไม่ได้ใช้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพม่าเก็บข้อมูลเรื่องนี้ เพราะว่าหากได้ข้อมูลมาแล้วก็จะไม่ได้สามารถส่งข้อมูลและภาพถ่ายจากพม่ากลับมาที่เมืองไทยได้ง่ายนัก เพราะจะส่งทางอินเทอร์เน็ตก็ยากลำบาก ทางไปรษณีย์ยิ่งอันตราย เพราะจดหมายที่ส่งออกต่างประเทศมักถูกเปิด ผู้เขียนจึงเลือกส่งเจ้าหน้าที่ชาวพม่าที่สามารถเดินทางเข้า-ออกพม่าได้เพื่อนำข้อมูลมาให้ผู้เขียนที่เมืองไทยด้วยตนเอง

แต่ทว่า สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเนื่องจากเจ้าหน้าที่คนนี้ลืมนำบัตรประชาชนพม่า ซึ่งเก็บไว้ที่เมืองไทยกลับเข้าพม่าด้วย และเขาเพิ่งรู้ตัวว่าลืมบัตรประชาชนพม่าก่อนเครื่องบินออกจากเมืองไทยไม่กี่นาที พอรู้ตัวก็รีบบอกให้เพื่อนส่งแฟกซ์สำเนาบัตรประชาชนไปให้ที่สนามบิน นั่นความหมายความว่า เขาจะต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนในการผ่านด่านตรวจต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นจุดที่ทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสงสัยว่าเขาเป็นใครเพราะเป็นเรื่องไม่ปรกตินักที่ประชาชนพม่าจะพกสำเนาบัตรประชาชนแทนตัวจริง

ในช่วงห้าวันแรกของการเดินทางจากกรุงย่างกุ้งเข้าไปในพื้นที่ลุ่มอิรวดี เจ้าหน้าที่คนนี้สามารถถ่ายภาพมากกว่า 200 ภาพและสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยได้หลายคน หลังจากนั้นเขาได้กลับมาที่กรุงย่างกุ้งอีกครั้งหนึ่ง ด้วยความประมาททำให้เขาไม่ทันระมัดระวังการเขียนอีเมลถึงผู้เขียน ซึ่งเป็นเหตุให้เขาต้องถูกสายลับติดตามและจับกุมตัวได้ในที่สุด เพราะเขาได้ส่งข้อความต่อไปนี้มาให้กับผู้เขียน (ข้อความที่ส่งเป็นภาษาอังกฤษ ด้านล่างเป็นใจความสำคัญที่ผู้เขียนแปลมาให้อ่าน)

“ผมอยากอีเมลมาบอกว่า ผมทำงานเก็บข้อมูลและถ่ายภาพผู้ประสบภัยนาร์กิสในพื้นที่ลุ่มอิรวดีได้จำนวนมากทีเดียว ผมวางแผนว่าวันพรุ่งนี้จะเข้าไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมที่พื้นที่ประสบภัยรอบกรุงย่างกุ้ง หลังจากนั้นก็จะเดินทางกลับเมืองไทย”

วินาทีที่ผู้เขียนได้อ่านอีเมลฉบับนี้ ผู้เขียนรู้สึกใจเต้นระส่ำเพราะข้อความที่ปรากฎบนจอคอมพิวเตอร์เป็นข้อความที่อาจทำให้เขาตกอยู่ในอันตราย และเนื่องจากผู้เขียนไม่สามารถอีเมลตักเตือกตอบกลับไปได้ เพราะในเวลาที่เขาอ่านเมล อาจมีคนมาร่วมอ่านด้วย นั่นอาจทำให้เขาตกอยู่ในอันตรายมากขึ้น

ในที่สุด สิ่งที่วิตกกังวลก็กลายเป็นความจริง เมื่อสองวันต่อมา มีอีเมลข้อความสั้น ๆ จากเจ้าหน้าที่คนเดิมส่งกลับมาว่า“ผมถูกจับได้และต้องรีบเดินทางออกนอกประเทศภายใน 24 ชั่วโมง”
ผู้เขียนรอคอยการกลับมาของเขาด้วยใจระทึกและเต็มไปด้วยคำถามว่าเขาถูกจับได้อย่างไร ในใจคิดถึงอีเมลฉบับนั้นว่าอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เขาถูกติดตามตัว

หลังจากซักถามกันโดยละเอียดแล้ว ผู้เขียนได้ข้อสรุปว่า ความผิดพลาดครั้งนี้เกิดขึ้นหลายขั้นตอน ตั้งแต่การลืมบัตรประชาชนพม่าไว้ที่เมืองไทยทำให้ต้องใช้แฟกซ์สำเนาบัตรในการเดินทาง ซึ่งเป็นเหตุให้เขาถูกจับตามองเป็นพิเศษ เมื่อเขาเข้าไปใช้อีเมล เมลของเขาอาจถูกสายลับคอยจับตาดูอยู่ และเมื่อเขาเดินทางไปในพื้นที่ประสบภัยครั้งหลัง เขาจึงถูกจับได้อย่างง่ายได้ โดยเขาเล่าให้ฟังว่า หนึ่งในสายลับที่ทำให้เขาถูกจับก็คือ คนขับรถแท็กซี่ซึ่งพาเขาไปส่งที่พื้นที่ประสบภัย เพราะหลังจากนั้นไม่กี่นาที คนขับคนนี้ก็กลับมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง
หลังจากถูกจับ เขาถูกนำตัวไปสอบสวนเป็นเวลา 24 ชั่วโมงแบบไม่ได้หลับได้นอน โดยต้องเซ็นชื่อรับรองว่าจะไม่ทำงานในลักษณะแบบนี้อีก รวมทั้งสารภาพข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ทำงานและรายละเอียดต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เมืองไทย นอกจากนี้ยังถูกค้นกระเป๋าและถูกลบภาพถ่ายกว่าสองร้อยภาพในกล้องดิจิตอลทิ้ง (แต่ภายหลังกลับเมืองไทยสามารถกู้คืนภาพกลับมาได้) รวมทั้งถูกเรียกเงินสินบนสำหรับการปล่อยตัว ไม่เช่นนั้นเขาจะต้องถูกส่งเข้าไปอยู่ในคุก เขามอบเงินหลายร้อยดอลลาร์ให้เจ้าหน้าที่และขอเหลือเงินติดตัวกลับมาเมืองไทยนิดหน่อย หลังจากรับเงินสินบนไปแล้ว เจ้าหน้าที่สั่งให้เขาออกนอกประเทศพม่าภายใน 24 ชั่วโมงและนับจากนี้ไป ชื่อของเขาจะถูกขึ้นบัญชีดำของหน่วยข่าวกรอง ซึ่งหมายความว่า ถ้าเขากลับเข้ามาไปในพม่าอีกครั้ง เขาจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ

เหตุการณ์นี้ทำให้เจ้าหน้าที่คนนี้ตัดสินใจลาออกจากงานนักข่าวและหางานทำที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองพม่าอีกต่อไป เพราะนั่นหมายถึงเสรีภาพในชีวิตของเขาจะต้องยุติลงหากเดินทางกลับเข้าพม่าอีกครั้ง

เรื่องราวที่เล่ามานี้นับเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผู้เขียนในการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานในพม่า ถ้าหากเจ้าหน้าที่คนนี้ต้องติดคุก ผู้เขียนเองก็คงรู้สึกเสียใจมากเช่นกัน เพราะเขาเดินทางเข้าไปทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่ของสาละวินโพสต์ สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทำให้ผู้เขียนตระหนักมากขึ้นว่า การเดินทางในพม่าต้องอาศัยไหวพริบ ปฏิภาณ และความรอบคอบ อย่าประมาทและไว้ใจใครอย่างเด็ดขาด

บล็อกของ บก.สาละวินโพสต์

บก.สาละวินโพสต์
ความเดิมตอนที่แล้ว ผู้เขียนเล่าถึงภัยที่อาจเกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตในพม่าแบบไม่ระมัดระวังเพราะที่ร้านอินเทอร์เน็ตอาจมีสายลับเฝ้าสังเกตบุคคลที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยแล้วส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองติดตามบุคคลนั้น ในตอนนี้ ผู้เขียนอยากถ่ายทอดบทเรียนความผิดพลาดจากการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บข้อมูลในพม่าให้ผู้อ่านรับรู้ไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์และเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นหากต้องการเข้าไปเก็บข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือสร้างภาพพจน์เชิงลบให้รัฐบาลทหาร (ถ้าเก็บข้อมูลเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวจะไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลทหารได้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว)
บก.สาละวินโพสต์
 อ่านเรื่องสายลับพม่ากันมาสองตอนแล้ว คนที่เคยเดินทางไปเที่ยวพม่าตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังต่าง ๆ อย่างเจดีย์ชเวดากอง หรือพระธาตุอินทร์แขวนอาจบอกว่า ไม่เห็นเคยเจอสายลับติดตามเลย  ผู้เขียนอาจเป็นพวก "คิดไปเอง" หรือเปล่า  อันที่จริง ถ้าผู้เขียนไม่ได้เดินทางไปพม่าในฐานะ "นักข่าว" ที่ต้องการเก็บข้อมูลปัญหาในพม่าออกเผยแพร่  ผู้เขียนก็คงจะเดินทางอย่างไร้กังวล ไม่ต้องเป็นโรคหวาดระแวงอย่างที่เห็น เพราะตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังจะไม่มีสายลับมาติดตามหรือถ้ามีสายลับอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวเพราะตราบใดที่ยังไม่มี "พฤติกรรมนอกกรอบ" นักท่องเที่ยว …
บก.สาละวินโพสต์
หลังจากผู้เขียนถูกสายลับพม่าติดตามครั้งแรกทำให้ผู้เขียนเริ่มระวังตัวมากขึ้นในการเดินทางไปพม่าครั้งต่อมา  ประสบการณ์ทำงานประเด็นพม่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ผู้เขียนเริ่มเข้าใจวิธีการทำงานของสายลับพม่ามากขึ้น  ถ้าจะลองแบ่งประเภทสายลับพม่าจากประสบการณ์ที่เคยพบก็พอจะแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ  (เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน กรุณาอย่านำไปใช้อ้างอิงทางวิชาการ) คือ สายลับแบบทำงานเต็มเวลา (full- time) กับสายลับแบบชั่วครั้งชั่วคราว (Part-time)สายลับประเภทแรกอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งตามภาษาบ้านเราว่า "สันติบาล"   …
บก.สาละวินโพสต์
ในแวดวงคนทำงานประเด็นพม่าต่างคุ้นหูกับเรื่องราวของ "สายลับพม่า" กันเป็นอย่างดี เพราะรัฐบาลทหารพม่าให้ความสำคัญกับหน่วยข่าวกรองมากและหน่วยข่าวกรองพม่าก็มีอำนาจมากจนเทียบเท่ากับอีกสามเหล่าทัพ (ทัพบก ทัพเรือ และทัพอากาศ) เลยทีเดียว สายลับพม่าไม่ได้ทำงานในเขตประเทศพม่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่ง "สาย" ข้ามฝั่งมาทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศพม่า หน้าที่ของสายลับพม่า คือ การเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวของบุคคลที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาลทหาร
บก.สาละวินโพสต์
    วันที่ 3 พฤษภาคมนี้เป็นวันครบรอบหนึ่งปีหลังไซโคลนนาร์กีสถล่มภาคอิรวดีของพม่า  หนึ่งปีที่ล่วงผ่านมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น  ซึ่งทำให้เราได้รู้จักและเข้าใจเพื่อนบ้านติดพรมแดนตะวันตกของเรามากขึ้น