Skip to main content
เช้ามา...เปิดคอม เปิดเนต เช็คตารางนัด เช็คเมล ตอบเมล ล็อคอินเข้า MSN เอาไว้คุยกับเพื่อน หาข้อมูลจาก Google และ Wikipedia เข้าไปดูว่าเพื่อนๆทำอะไรกันบ้าง พร้อมกับอัพเดตของมูลตัวเองบน MySpace, Hi5 หรือ Facebook เข้าไปอ่านข่าว บทความ หรือกระทู้ จากแหล่งข้อมูลเฉพาะด้าน จาก Blog หรือสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่สนใจ เข้าไปดูวิดีโอแปลกๆ หรืออัพโหลดวิดีโอฝีมือตนเองบน Youtube เข้าไปอัพเดตรูปตัวเองหรือหารูปสวยๆบน Flickr และโทรหาใครหลายคน ไม่ว่าอยู่มุมไหนของโลกผ่าน Skype

ชีวิตที่ดำเนินไปข้างต้น คงมีส่วนคล้ายกับชีวิตใครหลายคนในปัจจุบัน ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า
30 ลงไป

หากลองสังเกตดู จะตระหนักได้ว่าคนกลุ่มนี้ มีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตไกลออกมา จากสื่อกระแสหลักไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ สถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุ และเลือกบริโภคข้อมูลจากสื่อเหล่านี้น้อยลงทุกที โดยเลือกแสวงหาแหล่งข้อมูลเพื่อบริโภค จากแหล่งข้อมูลทางเลือกใหม่ๆบนอินเตอร์เนต อีกทั้งยังอิงความคิดของตน กับเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ตนเลือกเข้าร่วมเองมากขึ้น มากกว่าจากสื่อกระแสหลักซึ่งถือเป็นการโดนยัดเยียด
สถานการณ์ข้างต้น มีสาเหตุหลักจากการที่ข้อจำกัดในการติดต่อสื่อสาร และการเลือกแหล่งข้อมูลเพื่อบริโภค ได้ถูกทำลายลง ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของอินเตอร์เนต การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีเว็บยุค 2.0 และการเติบโตของเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ

นอกจากนี้ ความรักอิสระในการเลือกทำสิ่งต่างๆ ของแต่ละปัจเจกบุคคล ยังเป็นอีกหนึ่งเหตุปัจจัย ของสถานการณ์ดังกล่าว

การที่แต่ละปัจเจกบุคคล เลือกที่จะเข้าร่วมกับสังคมออนไลน์ใดๆ ด้วยตนเอง และการที่กลุ่มคนภายใต้สังคมออนไลน์เดียวกัน ร่วมกันสร้างมูลค่าให้กับสังคมนั้นๆ พร้อมทั้งการเชื้อเชิญบุคคลอื่นๆ เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่เพิ่มเติม คือกลไกแห่งความสำเร็จ ของการเกิดขึ้นของสังคมออนไลน์ และการเติบโตของเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ

ความผูกพัน การเชื่อมโยง และความสัมพันธ์ของสังคมในลักษณะนี้ ถูกเรียกว่า “เครือข่ายสังคมบริหารตัวเอง” หรือ
Self-Organizing Community

จุดเด่นของเครือข่ายสังคมบริหารตัวเอง คือการที่สมาชิกแต่ละคน เต็มใจอุทิศเวลาและทรัพยากรส่วนตัว สร้างและเพิ่มมูลค่าให้กับเครือข่าย เป็นการร่วมมือกันแบบหลวมๆ
(Loosely Coupled) โดยไม่มีการควบคุมหรือสั่งการ และได้รับผลตอบแทนในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ค่าตอบแทนการว่าจ้าง เช่น การบรรลุผลประโยชน์สูงสุดร่วมกัน การได้รับการยอมรับนับถือจากสมาชิกในเครือข่าย การได้รู้จักคนเพิ่มขึ้นผ่านเครือข่าย และการได้ใช้ผลิตภัณฑ์หรือความสามารถของเครือข่าย

ลักษณะของเครือข่ายสังคมบริหารตัวเอง เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ในปี
1991 เมื่อ Linus Torvalds ผู้ให้กำเนิดระบบปฏิบัติการ Linux ได้นำโปรแกรมต้นแบบ ที่ตนได้เริ่มพัฒนา ขึ้นไปแบ่งปันไว้บนอินเตอร์เนต เพื่อให้ผู้ที่มีความสนใจ ร่วมพัฒนาและนำไปใช้ โดยกำหนดมาตรฐานสำคัญไว้ว่า ทุกคนมีเสรีภาพในการนำไปใช้และพัฒนาต่อยอด และขอให้แบ่งปันส่วนที่พัฒนาต่อยอดแล้ว ให้ผู้อื่นต่อไปด้วย

ผลที่ตามมาคือ ระบบปฏิบัติการ
Linux ได้รับการพัฒนาให้มีความเสถียร มีระบบการพัฒนาที่มีมาตรฐาน และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกวัน เนื่องจากมีผู้ต้องการร่วมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นจำนวนมาก อีกทั้งผู้ต้องการนำไปใช้ ก็มีจำนวนมากเช่นกัน เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

โดยในเครือข่ายสังคมบริหารตัวเอง
Linux สมาชิกแต่ละคนสร้างหรือเพิ่มมูลค่าให้กับเครือข่าย พร้อมทั้งได้รับผลตอบแทน ในลักษณะต่างกันไป โดย

ผู้ใช้สร้างมูลค่า ด้วยการเป็นเสมือนหนึ่งผู้ทดลองใช้ระบบ ซึ่งช่วยรายงานความผิดพลาด กลับมาอย่างเต็มใจ โดยไม่ต้องการการว่าจ้างใดๆ อีกทั้งยังช่วยทำให้คนอื่น รู้จักโปรแกรม
Linux เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นการทำการตลาดอย่างหนึ่ง โดยได้รับผลตอบแทนคือ การได้ระบบปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพไปใช้

ผู้ร่วมพัฒนา สร้างมูลค่าด้วยการทำให้
Linux มีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น หรือมีระบบการพัฒนาที่มีมาตรฐาน โดยได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของ การได้รู้จักนักพัฒนาโปรแกรมที่มีความสามารถเพิ่มขึ้น และการได้รับการยอมรับจากนักพัฒนาโปรแกรมคนอื่นๆ

การเกิดขึ้นและเป็นที่นิยมของโครงการ
Linux ทำให้ในปัจจุบัน มีโครงการพัฒนา Open Source Software อื่นๆ และโครงการประเภทต่างๆ ที่มีประโยชน์มหาศาลต่อโลก ซึ่งใช้ลักษณะของการบริหารจัดการแบบ เครือข่ายสังคมบริหารตัวเอง ได้เกิดขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไป เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา สร้างประโยชน์ และใช้ประโยชน์จากทุนทางความรู้ต่างๆ ตัวอย่างโครงการที่สำคัญเช่น โครงการ Open Source Software ต่างๆ (http://sourceforge.net) โครงการ Wiki ต่างๆ (http://www.wikipedia.org) โครงการ FightAIDS@home (http://fightaidsathome.scripps.edu) และ
โครงการ
MIT Open Course Ware (http://ocw.mit.edu/OcwWeb/web/about/stories/index.htm)

นอกจากโครงการข้างต้น ซึ่งไม่แสวงหาผลกำไรแล้ว แนวความคิดของเครือข่ายสังคมบริหารตัวเอง ยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ โดยการใช้สร้างสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น
Youtube, Flickr หรือ Digg หรือว่าจะเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น MySpace Hi5 หรือ Facebook ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้

โดยลักษณะการสร้างมูลค่า และรูปแบบของผลประโยชน์ ที่สมาชิกได้รับ อาจมีความแตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่ในระดับหลักการแล้วมีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือสมาชิกสร้างมูลค่าให้กับเครือข่าย โดยการอัพเดตข้อมูลของตนเอง และการติดต่อสื่อสารกับสมาชิกในเครือข่าย และการชักชวนคนเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น และสมาชิกจะได้รับผลประโยชน์ จากความหลากหลายของข้อมูล ที่นำมาแบ่งปันในชุมชม จากปริมาณสมาชิกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และการขยายวงสังคมของตนเองออกไป

หากแต่เครือข่ายสังคมบริหารตัวเองข้างต้น จะสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจ ให้กับกลุ่มผู้ก่อตั้งเครือข่าย ในลักษณะของรายได้จากการขายพื้นที่โฆษณา และการขายบริการหรือความสามารถเพิ่มเติมต่างๆให้กับสมาชิก โดยถือผลตอบแทนการลงทุน ที่ผู้ก่อตั้งลงทุนสร้างระบบและพัฒนาโปรแกรม ซึ่งมีความสามารถในการจัดการ ค้นหา และจัดลำดับความนิยมของข้อมูล เชื่อมโยงผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องกัน และเอื้อประโยชน์ให้สมาชิก สามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับวงสังคมของตน

ไม่ว่าจะถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ หรือในลักษณะไม่แสวงหากำไร แนวความคิดของเครือข่ายสังคมบริหารตัวเอง กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้านให้กับโลกใบนี้ โดย

ทำให้แต่ละปัจเจกบุคคลกับคนรู้จัก ที่เป็นสมาชิกภายใต้เครือข่ายเดียวกัน สามารถรับรู้ความเคลื่อนไหวของกันและกัน ทำให้ไม่ขาดหายการติดต่อ
...เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารทางเลือกใหม่

เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสาร ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเฉพาะด้าน ซึ่งอยู่ในความสนใจของสมาชิกในเครือข่าย และมีเครือข่ายเป็นเครื่องมือ ควบคุมคุณภาพข้อมูลและสมาชิกในเครือข่าย
...เป็นสื่อทางเลือกใหม่ซึ่งอิงมาตรฐานสังคม

เป็นแหล่งพบปะ แลกเปลี่ยน และต่อสู้ทางความคิด เป็นแหล่งสั่งสมข้อมูล ความรู้ และแนวความคิดเฉพาะด้าน รวมทั้งเป็นแหล่งสนับสนุน การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดหลักของเครือข่าย
...เป็นเครื่องมือทางเลือกใหม่ ในการสร้างการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง

เป็นเครื่องมือที่ใช้สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างบริษัทผู้ผลิตกับลูกค้า เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้า ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสินค้า เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้หลายบริษัท สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับแหล่งทรัพยากรบุคคลภายนอก เพื่อการนำเอาความรู้ ความสามารถ และมุมมอง ที่หลากหลายกว่าที่มีอยู่ภายในองค์กร ทั้งในแง่ของกำลังคน และองค์ความรู้ภายใน เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนา เรื่องคุณภาพการดำเนินงาน และประสิทธิภาพในการแข่งขัน
...เป็นแหล่งผลิตนวัตกรรมใหม่

ถูกใช้เป็นแนวการบริหารจัดการองค์กร ที่หลายองค์กรนำไปใช้ เพื่อการมีโครงสร้างองค์กร และการบริหารทรัพยากรที่ยืดหยุ่น ซึ่งช่วยให้องค์กรรับมือกับความเปลี่ยนแปล่งต่าง ได้เป็นอย่างดี โดยมีความเหมาะอย่างยิ่งกับองค์กร ซึ่งต้องการทรัพยากรบุคคลประเภท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือพนักงานผู้มีความรู้ความสามารถดี กระตือรือล้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ และชอบความท้าทายใหม่ๆ
...เป็นรูปแบบจัดการองค์กรสมัยใหม่

เปลี่ยนแปลงแนวทางการบริหารสิทธิประโยชน์ จากองค์ความรู้ ลิขสิทธิ์และนวัตกรรม ซึ่งถูกปิดกั้นและเรียกรับผลประโยชน์ โดยผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย ที่มีทุน และสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มาสู่การเปิดให้คนส่วนใหญ่ได้ร่วมกันพัฒนา ใช้ประโยชน์ และเป็นเจ้าของร่วมกัน
...เป็นทางเลือกใหม่ในการจัดการเรื่องลิขสิทธิ์และสิทธิประโยชน์

จะเห็นได้ว่า แนวความคิดเครือข่ายสังคมบริหารตัวเอง กำลังถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อประโยชน์ในหลากหลายแง่มุม ซึ่งการเจริญเติบโตของแนวความคิดนี้ในทางปฏิบัติ กำลังตั้งคำถามสำคัญที่ว่า มาตรฐานในทางปฏิบัติในอดีตที่ผ่านมา ในหลายๆด้านซึ่งแนวความคิดนี้กำลังเติบโตนั้น ยังคงเหมาะสมกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ในปัจจุบันอยู่หรือไม่อย่างไร

องค์กรใหญ่ๆ ซึ่งได้รับความมั่งคั่ง จากการเรียกรับผลประโยชน์ จากทุนทางความรู้ของตน ต้องตระหนักถึงภาพการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น

ภาพที่ความมั่งคั่งขององค์กรเช่น
Microsoft กำลังถูกสั่นคลอนโดย Open Source Software เช่น Linux และการให้บริการแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายของบริการ online ต่างๆ จาก Google

ภาพที่ Wikipedia ได้รับความนิยม ได้รับการยอมรับ และเริ่มคนส่วนใหญ่เริ่มใช้มันมาทดแทน การใช้งานสารานุกรมมาตรฐานเดิมต่างๆ เช่น Encyclopaedia Britannica

ภาพที่ประชาชนเริ่มเสื่อมความนิยมในสื่อกระแสหลัก และหันไปให้ความสนใจกับสื่อทางเลือกใหม่ ซึ่งตนสามารถเลือกบริโภคข้อมูลข่าวสาร จากสังคมข่าวสารต่างๆ ได้อย่างเสรีและหลากหลาย อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกำหนดมาตรฐานและทิศทางของสังคมข่าวสารนั้นๆ

การเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานต่างๆในครั้งนี้ กำลังจะเป็นบททดสอบสำคัญ ที่สะท้อนความคิดที่ว่า มาตรฐานทางสังคมนั้น สังคมซึ่งหมายถึงคนส่วนมาก น่าจะเป็นผู้ร่วมกำหนดมาตรฐาน มากกว่าที่จะเป็นแค่คนไม่กี่กลุ่ม ซึ่งสามารถเข้าถึงทุน หรือทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด อย่างเช่นในอดีต

 

 

บล็อกของ SenseMaker

SenseMaker
Digital Divide คือ คำในภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกสภาวะ ที่ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ICT เป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้ช่องว่างและความแตกต่างในสังคมเกิดขึ้นและขยายตัวในขณะที่ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับ ICT ในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเห็นได้จากแนวนโยบายของรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก ที่มุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทาง ICT เพื่อให้บริการต่างๆของภาครัฐ ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า“รัฐบาลอิเลคทรอนิค” หรือ e-government ทั่วโลกก็กำลังเผชิญหน้ากับการขยายตัวของปัญหา ช่องว่างและความแตกต่างในสังคม ไปพร้อมกัน
SenseMaker
ปัจจุบันความก้าวหน้าทาง ICT อนุญาตให้ประชาชนทุกคน สามารถแสดงออกทางความคิดเห็น ได้อย่างกว้างขวาง ผ่านความหลากหลายของช่องทางการติดต่อสื่อสาร และความอุดมสมบูรณ์ของสื่อ ไม่เพียงเท่านั้น ICT ยังอนุญาตให้เราสามารถ จัดการกับข้อมูลและเนื้อหาของการแสดงออกทางความคิด เพื่อใช้สำหรับการเข้าถึงในวงกว้างโดยผู้คนอื่นต่อไปได้อีกด้วยด้วยความสามารถของ ICT ข้างต้น ทำให้ประชาชนเริ่มมองเห็น และตระหนักในศักยภาพ ของการนำICT มาใช้เพื่อสะท้อนสภาพปัญหาที่แต่ละบุคคลประสบ มองหาผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน และมองหาผู้อื่นที่เต็มใจให้ความช่วยเหลือ เพื่อร่วมคิด แสดงความเห็น ให้คำปรึกษา และช่วยกันหาทางบรรเทาหรือแก้ไขปัญหานั้นๆ…
SenseMaker
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของโครงการจัดทำ แผนแม่บททางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารฉบับที่ 2 ของประเทศไทย เพื่อประกาศใช้ระหว่าง พ.ศ. 2552 – 2556 ยังอยู่ในระหว่างการเร่งจัดทำร่าง เพื่อประกาศใช้ให้ทันการเริ่มต้นใช้งานในปีหน้าข้าพเจ้ามีโอกาสได้อ่านแผนแม่บทฉบับร่างดังกล่าว ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เตรียมเพื่อใช้ประกอบการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ระหว่างวันที่ 4-13 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะเป็นฉบับล่าสุด ที่กระทรวงฯเปิดเผยและประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะ (ท่านผู้อ่านสามารถอ่านข้อมูลของโครงการจัดทำแผ่นแม่บทนี้ เพิ่มเติม รวมทั้ง download เอกสารประกอบต่างๆได้ที่ http…
SenseMaker
หากท่านผู้อ่านได้อ่านบทความก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นบทความเรื่อง “การเข้าถึงเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความแตกต่างทางสังคม และสังคมในแนวขนาน” หรือเรื่อง “เว็บยุค2.0 สื่อพลเมือง และการท้าทายกระแสหลัก” และเรื่อง “ICT ตัวการแห่งการเปลี่ยนแปลง และผลลัพท์ทางสังคมที่ย้อนแย้ง” ข้าพเจ้าเชื่อว่าบทความเหล่านี้ จะทำให้ทุกท่านที่อ่านเริ่มตระหนัก ข้อเท็จจริงที่ว่า ICT เป็นตัวแปรต้นของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ว่า สังคมของเราทุกวันนี้ มีความหลากหลายทางระบบความคิด ความเชื่อ และมีความแตกต่างทางด้านค่านิยมมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมข้างต้น แน่นอนว่าไม่ได้ถูกผลักดัน ด้วยความก้าวหน้าทางด้าน ICT…
SenseMaker
“คนไทยลืมง่าย” คือคำนิยามหนึ่งที่อธิบายลักษณะความคิดและนิสัยของคนไทย ได้เป็นอย่างดี คนไทยเรามักเลือกที่จะลืมและให้อภัย กับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทุกๆเรื่อง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะสร้างความเดือดร้อนใหญ่หรือเล็กเพียงใดหลายคนแสดงความเห็นว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยเรามีอุปนิสัยเช่นนี้ เนื่องจากคนไทยเราส่วนใหญ่ ได้รับอิทธิพลทางด้านความคิดจากพุทธศาสนา ซึ่งปลูกฝังให้คนเรารู้จักให้อภัยกันและกัน ทำให้คนในสังคมของเรา อยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยและเกื้อกูลกัน ซึ่งนี้คือสิ่งที่หลายคนเห็นว่า “การลืมง่าย” ก่อให้เกิดผลดีกับบ้านเมืองของเราอย่างไรก็ดีธรรมชาติของเหรียญย่อมต้องมีสองด้าน...…
SenseMaker
เป็นความตั้งใจของข้าพเจ้า ที่ปล่อยให้บทความที่แล้ว ยึดพื้นที่คอลัมน์ยาวกว่าปกติสักหน่อย เพื่อดึงความสนใจจากผู้อ่าน และอยากให้ทุกท่านตระหนักว่า แนวโน้มการ Outsourcing ขององค์กรต่างๆ กำลังส่งผลกระทบสำคัญ กับแนวทางการดำเนินชีวิตของทุกคน บทความวันนี้ ให้ความสนใจกับปัญหาความล้มเหลวของโครงการด้าน ICT ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่องค์กรต่างๆกำลังเผชิญหน้าอยู่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อมุ่งค้นหาส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งสามารถช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จ ในการดำเนินโครงการด้าน ICT
SenseMaker
ต้องขอโทษท่านผู้อ่าน ที่ติดตามคอลัมน์กรองกระแส ICT ที่บทความสำหรับอาทิตย์นี้ต้องล่าช้าสักหน่อย เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ใคร่สบายเล็กน้อย ในช่วงวันเวลาที่จัดไว้สำหรับเขียนบทความในบทความที่แล้ว ข้าพเจ้าพยายามชี้ให้ทุกท่านเห็น ปรากฏการณ์ที่ว่า ICT เป็นตัวแปรต้นที่สำคัญ ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย ให้กับองค์กรต่างๆ ทั้งในบริบทของผลกระทบจากภายนอกองค์กร ในรูปแบบของ การทำให้สภาพแวดล้อมในการแข่งขันเปลี่ยนแปลง และในบริบทของผลกระทบที่เกิดภายในองค์กร ในลักษณะของการทำให้ รูปแบบการทำงานและแนวการบริหารทรัพยากรองค์กร ต้องเปลี่ยนไปบทความในวันนี้…
SenseMaker
ICT ตัวแปรต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร ที่ไม่ควรถูกมองข้าม ก่อนเข้าสู่บทความอาทิตย์นี้ ข้าพเจ้าขอประณามการกระทำ ของผู้ที่ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย อยู่ในขณะนี้ เนื่องจากข้าพเจ้าถือว่า ใครก็ตามที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมือง ไม่มีความรักชาติอย่างจริงจัง และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม หากทุกคน เล็งเห็นความสงบสุขและประโยชน์ ของประเทศเป็นสำคัญ จะต้องใช้วิธีประนีประนอม เพื่อหาหนทางแก้ปัญหา ความขัดแย้งทางความคิด ร่วมกัน มากกว่าการยึดเอาความคิดของตนเป็นใหญ่ มองความคิดของอีกฝ่ายว่าไม่ถูกต้อง และมุ่งล้มล้างฝ่ายตรงข้าม…
SenseMaker
หลังจากที่ได้ขีดๆเขียนๆบทความ ในด้านที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับสังคมไทย และอยู่ในความสนใจของตัวเอง เป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ข้าพเจ้ารู้สึกว่า เป็นเวลาอันสมควร ที่ควรจะทำความเข้าใจ กับผู้ให้ความกรุณาแวะเวียนเข้ามาอ่าน ทั้งขาประจำและขาจร ซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่ง ถึงที่มาของคอลัมน์ “กรองกระแส ICT”จุดเริ่มต้นของคอลัมน์นี้ เกิดจากการที่ข้าพเจ้ามีความสนใจ และมีโอกาสศึกษาหาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ Information Technology (IT) และ ทางด้านระบบข้อมูลสารสนเทศ หรือ Information System (IS) ประกอบกับประสบการณ์ในการทำงาน ในอุตสหกรรมโทรคมนาคม จนถือได้ว่า ข้าพเจ้าโชคดีที่มีความคุ้นเคยกับ ICT…
SenseMaker
บทความในวันนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจาก การได้รับทราบสองข่าว ซึ่งในความเห็นของข้าพเจ้า เป็นข่าวที่ไม่ได้อยู่ในกระแสความสนใจ ของคนไทยทั่วไปแต่อย่างไร แต่เป็นข่าวที่ข้าพเจ้า อยากเรียกร้องให้ทุกคน หันมาตระหนักถึงความน่ากลัว ของการถูกคุกคามโดย "Identity thief"Identity thief คือ กลุ่มคนที่มุ่งขโมยข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่ใช้แสดงตัวตน ของบุคคลต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อ ใช้ข้อมูลดังกล่าวปลอมแปลงตนเป็นบุคคลผู้นั้น เพื่อหาประโยชน์อื่นๆต่อไปข่าวแรกที่เกิดขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่ผู้หญิงคนหนึ่ง ถูกวิ่งราวกระเป๋าสตางค์ ภายหลังจากเกิดเรื่อง ซึ่งข้าพเจ้าเจ้าจำได้ไม่แน่นอนว่านานเท่าไหร่…
SenseMaker
“คู่แข่งกำลังลงทุนในเทคโนโลยี... เราจะรอช้าอยู่ไม่ได้ ต้องรีบดำเนินการผลักดันโครงการแบบเดียวกัน ให้เกิดขึ้นในทันที เพื่อตามให้ทัน และไม่ให้เราสูญเสียโอกาสทางการแข่งขัน"“เทคโนโลยี... กำลังได้รับความนิยมในตลาดโลก สร้างประโยชน์มากมายให้กับ ประเทศนั้นประเทศนี้ หรือองค์กรนั้นองค์กรนี้ ดังนั้นเราจึงควรลงทุนในเทคโนโลยีดังกล่าว อย่างเร่งด่วน”เหตุผลในทำนองข้างต้น เป็นเหตุผลที่ข้าพเจ้าได้ยินอยู่เป็นประจำ จากผู้มีอำนาจตัดสินใจในระดับนโยบาย ขององค์กรระดับต่างๆในประเทศไทย เพื่อนำเทคโนโลยีอันทันสมัย เข้ามาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีทางด้าน ICT
SenseMaker
เช้ามา...เปิดคอม เปิดเนต เช็คตารางนัด เช็คเมล ตอบเมล ล็อคอินเข้า MSN เอาไว้คุยกับเพื่อน หาข้อมูลจาก Google และ Wikipedia เข้าไปดูว่าเพื่อนๆทำอะไรกันบ้าง พร้อมกับอัพเดตของมูลตัวเองบน MySpace, Hi5 หรือ Facebook เข้าไปอ่านข่าว บทความ หรือกระทู้ จากแหล่งข้อมูลเฉพาะด้าน จาก Blog หรือสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่สนใจ เข้าไปดูวิดีโอแปลกๆ หรืออัพโหลดวิดีโอฝีมือตนเองบน Youtube เข้าไปอัพเดตรูปตัวเองหรือหารูปสวยๆบน Flickr และโทรหาใครหลายคน ไม่ว่าอยู่มุมไหนของโลกผ่าน Skypeชีวิตที่ดำเนินไปข้างต้น คงมีส่วนคล้ายกับชีวิตใครหลายคนในปัจจุบัน ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 30…