Skip to main content
เช้ามา...เปิดคอม เปิดเนต เช็คตารางนัด เช็คเมล ตอบเมล ล็อคอินเข้า MSN เอาไว้คุยกับเพื่อน หาข้อมูลจาก Google และ Wikipedia เข้าไปดูว่าเพื่อนๆทำอะไรกันบ้าง พร้อมกับอัพเดตของมูลตัวเองบน MySpace, Hi5 หรือ Facebook เข้าไปอ่านข่าว บทความ หรือกระทู้ จากแหล่งข้อมูลเฉพาะด้าน จาก Blog หรือสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่สนใจ เข้าไปดูวิดีโอแปลกๆ หรืออัพโหลดวิดีโอฝีมือตนเองบน Youtube เข้าไปอัพเดตรูปตัวเองหรือหารูปสวยๆบน Flickr และโทรหาใครหลายคน ไม่ว่าอยู่มุมไหนของโลกผ่าน Skype

ชีวิตที่ดำเนินไปข้างต้น คงมีส่วนคล้ายกับชีวิตใครหลายคนในปัจจุบัน ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า
30 ลงไป

หากลองสังเกตดู จะตระหนักได้ว่าคนกลุ่มนี้ มีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตไกลออกมา จากสื่อกระแสหลักไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ สถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุ และเลือกบริโภคข้อมูลจากสื่อเหล่านี้น้อยลงทุกที โดยเลือกแสวงหาแหล่งข้อมูลเพื่อบริโภค จากแหล่งข้อมูลทางเลือกใหม่ๆบนอินเตอร์เนต อีกทั้งยังอิงความคิดของตน กับเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ตนเลือกเข้าร่วมเองมากขึ้น มากกว่าจากสื่อกระแสหลักซึ่งถือเป็นการโดนยัดเยียด
สถานการณ์ข้างต้น มีสาเหตุหลักจากการที่ข้อจำกัดในการติดต่อสื่อสาร และการเลือกแหล่งข้อมูลเพื่อบริโภค ได้ถูกทำลายลง ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของอินเตอร์เนต การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีเว็บยุค 2.0 และการเติบโตของเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ

นอกจากนี้ ความรักอิสระในการเลือกทำสิ่งต่างๆ ของแต่ละปัจเจกบุคคล ยังเป็นอีกหนึ่งเหตุปัจจัย ของสถานการณ์ดังกล่าว

การที่แต่ละปัจเจกบุคคล เลือกที่จะเข้าร่วมกับสังคมออนไลน์ใดๆ ด้วยตนเอง และการที่กลุ่มคนภายใต้สังคมออนไลน์เดียวกัน ร่วมกันสร้างมูลค่าให้กับสังคมนั้นๆ พร้อมทั้งการเชื้อเชิญบุคคลอื่นๆ เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่เพิ่มเติม คือกลไกแห่งความสำเร็จ ของการเกิดขึ้นของสังคมออนไลน์ และการเติบโตของเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ

ความผูกพัน การเชื่อมโยง และความสัมพันธ์ของสังคมในลักษณะนี้ ถูกเรียกว่า “เครือข่ายสังคมบริหารตัวเอง” หรือ
Self-Organizing Community

จุดเด่นของเครือข่ายสังคมบริหารตัวเอง คือการที่สมาชิกแต่ละคน เต็มใจอุทิศเวลาและทรัพยากรส่วนตัว สร้างและเพิ่มมูลค่าให้กับเครือข่าย เป็นการร่วมมือกันแบบหลวมๆ
(Loosely Coupled) โดยไม่มีการควบคุมหรือสั่งการ และได้รับผลตอบแทนในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ค่าตอบแทนการว่าจ้าง เช่น การบรรลุผลประโยชน์สูงสุดร่วมกัน การได้รับการยอมรับนับถือจากสมาชิกในเครือข่าย การได้รู้จักคนเพิ่มขึ้นผ่านเครือข่าย และการได้ใช้ผลิตภัณฑ์หรือความสามารถของเครือข่าย

ลักษณะของเครือข่ายสังคมบริหารตัวเอง เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ในปี
1991 เมื่อ Linus Torvalds ผู้ให้กำเนิดระบบปฏิบัติการ Linux ได้นำโปรแกรมต้นแบบ ที่ตนได้เริ่มพัฒนา ขึ้นไปแบ่งปันไว้บนอินเตอร์เนต เพื่อให้ผู้ที่มีความสนใจ ร่วมพัฒนาและนำไปใช้ โดยกำหนดมาตรฐานสำคัญไว้ว่า ทุกคนมีเสรีภาพในการนำไปใช้และพัฒนาต่อยอด และขอให้แบ่งปันส่วนที่พัฒนาต่อยอดแล้ว ให้ผู้อื่นต่อไปด้วย

ผลที่ตามมาคือ ระบบปฏิบัติการ
Linux ได้รับการพัฒนาให้มีความเสถียร มีระบบการพัฒนาที่มีมาตรฐาน และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกวัน เนื่องจากมีผู้ต้องการร่วมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นจำนวนมาก อีกทั้งผู้ต้องการนำไปใช้ ก็มีจำนวนมากเช่นกัน เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

โดยในเครือข่ายสังคมบริหารตัวเอง
Linux สมาชิกแต่ละคนสร้างหรือเพิ่มมูลค่าให้กับเครือข่าย พร้อมทั้งได้รับผลตอบแทน ในลักษณะต่างกันไป โดย

ผู้ใช้สร้างมูลค่า ด้วยการเป็นเสมือนหนึ่งผู้ทดลองใช้ระบบ ซึ่งช่วยรายงานความผิดพลาด กลับมาอย่างเต็มใจ โดยไม่ต้องการการว่าจ้างใดๆ อีกทั้งยังช่วยทำให้คนอื่น รู้จักโปรแกรม
Linux เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นการทำการตลาดอย่างหนึ่ง โดยได้รับผลตอบแทนคือ การได้ระบบปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพไปใช้

ผู้ร่วมพัฒนา สร้างมูลค่าด้วยการทำให้
Linux มีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น หรือมีระบบการพัฒนาที่มีมาตรฐาน โดยได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของ การได้รู้จักนักพัฒนาโปรแกรมที่มีความสามารถเพิ่มขึ้น และการได้รับการยอมรับจากนักพัฒนาโปรแกรมคนอื่นๆ

การเกิดขึ้นและเป็นที่นิยมของโครงการ
Linux ทำให้ในปัจจุบัน มีโครงการพัฒนา Open Source Software อื่นๆ และโครงการประเภทต่างๆ ที่มีประโยชน์มหาศาลต่อโลก ซึ่งใช้ลักษณะของการบริหารจัดการแบบ เครือข่ายสังคมบริหารตัวเอง ได้เกิดขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไป เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา สร้างประโยชน์ และใช้ประโยชน์จากทุนทางความรู้ต่างๆ ตัวอย่างโครงการที่สำคัญเช่น โครงการ Open Source Software ต่างๆ (http://sourceforge.net) โครงการ Wiki ต่างๆ (http://www.wikipedia.org) โครงการ FightAIDS@home (http://fightaidsathome.scripps.edu) และ
โครงการ
MIT Open Course Ware (http://ocw.mit.edu/OcwWeb/web/about/stories/index.htm)

นอกจากโครงการข้างต้น ซึ่งไม่แสวงหาผลกำไรแล้ว แนวความคิดของเครือข่ายสังคมบริหารตัวเอง ยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ โดยการใช้สร้างสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น
Youtube, Flickr หรือ Digg หรือว่าจะเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น MySpace Hi5 หรือ Facebook ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้

โดยลักษณะการสร้างมูลค่า และรูปแบบของผลประโยชน์ ที่สมาชิกได้รับ อาจมีความแตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่ในระดับหลักการแล้วมีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือสมาชิกสร้างมูลค่าให้กับเครือข่าย โดยการอัพเดตข้อมูลของตนเอง และการติดต่อสื่อสารกับสมาชิกในเครือข่าย และการชักชวนคนเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น และสมาชิกจะได้รับผลประโยชน์ จากความหลากหลายของข้อมูล ที่นำมาแบ่งปันในชุมชม จากปริมาณสมาชิกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และการขยายวงสังคมของตนเองออกไป

หากแต่เครือข่ายสังคมบริหารตัวเองข้างต้น จะสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจ ให้กับกลุ่มผู้ก่อตั้งเครือข่าย ในลักษณะของรายได้จากการขายพื้นที่โฆษณา และการขายบริการหรือความสามารถเพิ่มเติมต่างๆให้กับสมาชิก โดยถือผลตอบแทนการลงทุน ที่ผู้ก่อตั้งลงทุนสร้างระบบและพัฒนาโปรแกรม ซึ่งมีความสามารถในการจัดการ ค้นหา และจัดลำดับความนิยมของข้อมูล เชื่อมโยงผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องกัน และเอื้อประโยชน์ให้สมาชิก สามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับวงสังคมของตน

ไม่ว่าจะถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ หรือในลักษณะไม่แสวงหากำไร แนวความคิดของเครือข่ายสังคมบริหารตัวเอง กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้านให้กับโลกใบนี้ โดย

ทำให้แต่ละปัจเจกบุคคลกับคนรู้จัก ที่เป็นสมาชิกภายใต้เครือข่ายเดียวกัน สามารถรับรู้ความเคลื่อนไหวของกันและกัน ทำให้ไม่ขาดหายการติดต่อ
...เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารทางเลือกใหม่

เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสาร ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเฉพาะด้าน ซึ่งอยู่ในความสนใจของสมาชิกในเครือข่าย และมีเครือข่ายเป็นเครื่องมือ ควบคุมคุณภาพข้อมูลและสมาชิกในเครือข่าย
...เป็นสื่อทางเลือกใหม่ซึ่งอิงมาตรฐานสังคม

เป็นแหล่งพบปะ แลกเปลี่ยน และต่อสู้ทางความคิด เป็นแหล่งสั่งสมข้อมูล ความรู้ และแนวความคิดเฉพาะด้าน รวมทั้งเป็นแหล่งสนับสนุน การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดหลักของเครือข่าย
...เป็นเครื่องมือทางเลือกใหม่ ในการสร้างการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง

เป็นเครื่องมือที่ใช้สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างบริษัทผู้ผลิตกับลูกค้า เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้า ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสินค้า เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้หลายบริษัท สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับแหล่งทรัพยากรบุคคลภายนอก เพื่อการนำเอาความรู้ ความสามารถ และมุมมอง ที่หลากหลายกว่าที่มีอยู่ภายในองค์กร ทั้งในแง่ของกำลังคน และองค์ความรู้ภายใน เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนา เรื่องคุณภาพการดำเนินงาน และประสิทธิภาพในการแข่งขัน
...เป็นแหล่งผลิตนวัตกรรมใหม่

ถูกใช้เป็นแนวการบริหารจัดการองค์กร ที่หลายองค์กรนำไปใช้ เพื่อการมีโครงสร้างองค์กร และการบริหารทรัพยากรที่ยืดหยุ่น ซึ่งช่วยให้องค์กรรับมือกับความเปลี่ยนแปล่งต่าง ได้เป็นอย่างดี โดยมีความเหมาะอย่างยิ่งกับองค์กร ซึ่งต้องการทรัพยากรบุคคลประเภท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือพนักงานผู้มีความรู้ความสามารถดี กระตือรือล้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ และชอบความท้าทายใหม่ๆ
...เป็นรูปแบบจัดการองค์กรสมัยใหม่

เปลี่ยนแปลงแนวทางการบริหารสิทธิประโยชน์ จากองค์ความรู้ ลิขสิทธิ์และนวัตกรรม ซึ่งถูกปิดกั้นและเรียกรับผลประโยชน์ โดยผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย ที่มีทุน และสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มาสู่การเปิดให้คนส่วนใหญ่ได้ร่วมกันพัฒนา ใช้ประโยชน์ และเป็นเจ้าของร่วมกัน
...เป็นทางเลือกใหม่ในการจัดการเรื่องลิขสิทธิ์และสิทธิประโยชน์

จะเห็นได้ว่า แนวความคิดเครือข่ายสังคมบริหารตัวเอง กำลังถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อประโยชน์ในหลากหลายแง่มุม ซึ่งการเจริญเติบโตของแนวความคิดนี้ในทางปฏิบัติ กำลังตั้งคำถามสำคัญที่ว่า มาตรฐานในทางปฏิบัติในอดีตที่ผ่านมา ในหลายๆด้านซึ่งแนวความคิดนี้กำลังเติบโตนั้น ยังคงเหมาะสมกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ในปัจจุบันอยู่หรือไม่อย่างไร

องค์กรใหญ่ๆ ซึ่งได้รับความมั่งคั่ง จากการเรียกรับผลประโยชน์ จากทุนทางความรู้ของตน ต้องตระหนักถึงภาพการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น

ภาพที่ความมั่งคั่งขององค์กรเช่น
Microsoft กำลังถูกสั่นคลอนโดย Open Source Software เช่น Linux และการให้บริการแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายของบริการ online ต่างๆ จาก Google

ภาพที่ Wikipedia ได้รับความนิยม ได้รับการยอมรับ และเริ่มคนส่วนใหญ่เริ่มใช้มันมาทดแทน การใช้งานสารานุกรมมาตรฐานเดิมต่างๆ เช่น Encyclopaedia Britannica

ภาพที่ประชาชนเริ่มเสื่อมความนิยมในสื่อกระแสหลัก และหันไปให้ความสนใจกับสื่อทางเลือกใหม่ ซึ่งตนสามารถเลือกบริโภคข้อมูลข่าวสาร จากสังคมข่าวสารต่างๆ ได้อย่างเสรีและหลากหลาย อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกำหนดมาตรฐานและทิศทางของสังคมข่าวสารนั้นๆ

การเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานต่างๆในครั้งนี้ กำลังจะเป็นบททดสอบสำคัญ ที่สะท้อนความคิดที่ว่า มาตรฐานทางสังคมนั้น สังคมซึ่งหมายถึงคนส่วนมาก น่าจะเป็นผู้ร่วมกำหนดมาตรฐาน มากกว่าที่จะเป็นแค่คนไม่กี่กลุ่ม ซึ่งสามารถเข้าถึงทุน หรือทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด อย่างเช่นในอดีต

 

 

บล็อกของ SenseMaker

SenseMaker
ในบทความที่แล้ว ข้าพเจ้าได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับคุณลักษณะสำคัญของอุปกรณ์ ICT ที่ถูกนำมาใช้เป็นกระดานโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร รวมถึงแนวความคิดในการเลือกกระดานโต้คลื่นฯ ที่เหมาะสมกับแต่ละปัจเจกบุคคล ในบทความนี้เรามาพิจารณาว่า...เมื่อเราได้กระดานโต้คลื่นฯที่เหมาะสมมาแล้ว เราจะใช้กระดานโต้คลื่นฯของเราอย่างไรให้คุ้มค่าต่อการลงทุน แล้วความรู้และความสามารถประเภทไหนและอะไรบ้างที่ถือได้ว่า เป็นทักษะที่จำเป็นในการโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร ในการวิเคราะห์นี้ “เวลา” และ “รายได้” สองสิ่งที่ทวีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์มากขึ้นทุกที ยังคงเป็นสองตัวแปรหลัก ที่ข้าพเจ้าใช้ประกอบการพิจารณา…
SenseMaker
  หลังจากเขียนบทความ ในหัวข้อโลกยุคหลังอุตสาหกรรม กับสภาวะข้อมูลท่วมโลก เสร็จเมื่อสองอาทิตย์ก่อน ได้เกิดหนึ่งคำถามขึ้นกับข้าพเจ้า นั่นคือ หากมนุษย์ต้องดิ้นรน เพื่ออยู่รอดบนโลกใบนี้ ในยุคที่คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร โถมกระหน่ำใส่ประชาคมโลกอย่างรุนแรง และได้ทำให้กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และในทิศทางที่ยากจะคาดเดา มากขึ้นทุกที เราต้องทำอย่างไรบ้างในทัศนะของข้าพเจ้า ผู้ที่สามารถโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร พาตนเองขึ้นไปอยู่บนยอดคลื่น และเป็นผู้กำหนดทิศทางชีวิตของตนเอง คือ ผู้ที่สามารถอยู่รอด และนี่จึงเป็นที่มาของชื่อบทความในตอนนี้และตอนถัดไปข้าพเจ้าขอเริ่มต้นด้วย…
SenseMaker
หัวข้อวิพากษ์วันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ในการประยุกต์ใช้ ICT ขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือภาคเอกชน และไม่ว่าจะเป็นองค์กรแสวงหากำไรหรือไม่ โดยข้าพเจ้าเจาะจงไปที่ ทัศนะของผู้บริหารองค์กร ที่ต้องการนำ ICT เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ในลักษณะของการลดต้นทุนแรงงานคน กระชับขบวนการทำงาน และเพิ่มความถูกต้องแม่นยำ ให้กับขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ โดยเฉพาะกับทัศนะองค์กรที่ว่า “ประสิทธิภาพในการทำงานของ ICT สูงกว่ามนุษย์”หรือที่ว่า ”ICT สามารถทำงานทดแทนมนุษย์ได้” สาเหตุสำคัญที่ทำให้ ความคิดในลักษณะดังกล่าวแพร่หลาย สืบเนื่องมาจาก…
SenseMaker
“โลกยุคหลังอุตสาหกรรม (Post industrial Age)” คือชื่อเรียกขานโลกในยุคปัจจุบัน เนื่องด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจ มีความแตกต่างไปจากยุคก่อนหน้าหรือ ยุคอุตสาหกรรม (Industrial Age) ซึ่งเป็นยุคที่โลกของเราถูกผลักดัน ด้วยการแข่งขันของแต่ละปัจเจกบุคคลหรือองค์กร ผ่านการพัฒนาความสามารถและเทคโนโลยีทางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเพื่อความมั่งคั่งในที่สุดอย่างไรก็ดี โลกยุคหลังอุตสาหกรรม แต่ละปัจเจกบุคคลหรือองค์กร ยังคงดิ้นรนต่อสู่ เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเพื่อความมั่งคั่งในบั้นปลายเช่นเดิม หากแต่ความสำเร็จดังกล่าว กลับถูกขับเคลื่อน…
SenseMaker
เมื่อพูดถึงเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ บนโลกนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเทคโนโลยีคือตัวการอันดับต้นๆ โดยในช่วงหนึ่งศตวรรษหลังสุด ICT ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์ในทุกสังคม และในวงกว้างไล่มาตั้งแต่การเกิดขึ้นของ ICT ยุคแรกๆ ซึ่งได้แก่โทรเลข ตามมาด้วยโทรศัพท์ มาจนถึง ICT ในยุคปัจจุบัน นั่นคือโทรศัพท์มือถือ และ อุปกรณ์ต่อเชื่อมอินเตอร์เนตต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือคอมพิวเตอร์พกพาขนาดต่างๆความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏการณ์ชัดเจน คือ การที่ ICT ทำให้สังคมมนุษย์ มีรูปแบบการติดต่อสื่อสาร และรูปแบบการเข้าถึง ประมวลผล…
SenseMaker
หน้าเว็บไซท์ที่ได้รับความนิยมสูง ในช่วงระยะห้าปีที่ผ่านมา หากไม่นับรวมเว็บไซท์ขายของออนไลน์ ส่วนมากยังคงมีลักษณะคล้ายคลึงกับยุคก่อนหน้านี้ นั่นคือ เป็นเว็บไซท์ที่พยายามสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผ่านการเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้ เข้ามาสร้างหัวข้อและบทสนทนาร่วมกัน สร้างกิจกรรมระหว่างกลุ่มผู้ใช้ และเป็นช่องทางให้ผู้ใช้ทำความรู้จักกันวัตถุประสงค์ของเว็บไซท์ดังกล่าว คือเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้ ที่มีความสนใจหรือความต้องการคล้ายๆกัน ซึ่งทำให้ในขณะที่ ผู้ใช้ได้รับประโยชน์ ในรูปแบบของการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และการมีคนรู้จักเพิ่มมากขึ้น ผู้จัดทำเว็บไซท์ก็ได้ประโยชน์ ผ่านการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางอ้อม…
SenseMaker
ข่าวต่างๆทางด้าน ICT ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นผลกระทบของ “การโลกาภิวัฒน์ (Globalisation)” ที่มีต่อมนุษย์ทุกคน เนื่องจากอิทธิพลของการมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีแบบเดียวทั่วโลก จะลดทอนความหลากหลายของวิถีชีวิตมนุษยชาติ ก่อให้เกิดตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนข้ามชาติ แต่ในขนะเดียวกัน ปัญหาลักษณะเดียวกัน จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ เป็นวงกว้าง หากแต่จะเกิดผลกระทบแตกต่างกันไป ตามบริบทของสังคมนั้นข่าวแรกที่อยากนำเสนอ คือการเกิดขึ้นของ “ปฏิญญากรุงเทพ” ซึ่งถูกจัดทำขึ้นระหว่างการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค หรือ APEC (Asia-…
SenseMaker
แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีในช่วงสิบปีหลัง เป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า “convergence” หมายถึงแต่ละเทคโนโลยี พยายามรวบรวมความสามารถของเทคโนโลยีอื่นๆ เข้าไว้ในตัวเอง ดังจะเห็นได้ชัดจากการเกิดขึ้นของกระแสของศัพท์คำว่า ICT ซึ่งสะท้อนถึง การที่เทคโนโลยีเพียงหนึ่งเดียว แต่สามารถให้บริการทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) และ เทคโนโลยีทางการสื่อสาร (Communication Technology) ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในระดับ โครงข่ายสื่อสารและระดับสินค้าอุปโภคทางเทคโนโลยี
SenseMaker
วันนี้อยากชวนสนทนาถึงศัพท์คำว่า “การเข้าถึงเทคโนโลยี” ซึ่งในทัศนะส่วนตัวคือสภาวะที่บุคคล องค์กร หรือประเทศหนึ่งสามารถได้มาซึ่งความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่และจำเป็นต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้องปัจจุบันแนวทางการพัฒนาของเศรษฐกิจโลก เป็นไปในลักษณะที่เทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการการผลิต และเทคโนโลยีอื่นๆอีกมากมายเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจโลก…