เว็บยุค 2.0 สื่อพลเมือง และการท้าทายกระแสหลัก

หน้าเว็บไซท์ที่ได้รับความนิยมสูง ในช่วงระยะห้าปีที่ผ่านมา หากไม่นับรวมเว็บไซท์ขายของออนไลน์ ส่วนมากยังคงมีลักษณะคล้ายคลึงกับยุคก่อนหน้านี้ นั่นคือ เป็นเว็บไซท์ที่พยายามสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผ่านการเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้ เข้ามาสร้างหัวข้อและบทสนทนาร่วมกัน สร้างกิจกรรมระหว่างกลุ่มผู้ใช้ และเป็นช่องทางให้ผู้ใช้ทำความรู้จักกัน

วัตถุประสงค์ของเว็บไซท์ดังกล่าว คือเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้ ที่มีความสนใจหรือความต้องการคล้ายๆกัน ซึ่งทำให้ในขณะที่ ผู้ใช้ได้รับประโยชน์ ในรูปแบบของการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และการมีคนรู้จักเพิ่มมากขึ้น ผู้จัดทำเว็บไซท์ก็ได้ประโยชน์ ผ่านการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางอ้อม จากเครือข่ายสังคม ซึ่งก็คือตลาดในอีกลักษณะหนึ่ง ที่ตัวเองได้เริ่มสร้างขึ้น

แต่ส่วนที่แตกต่างออกไป จากเว็บไซท์ประเภทเดียวกันในยุคก่อน คือมีการนำรูปแบบของวีดีโอหรือสื่อผสมที่หลากหลาย มากกว่าการใช้เพียงแค่ตัวหนังสือประกอบกับรูปภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหวง่ายๆ เพื่อสื่อสารระหว่างผู้จัดทำเว็บกับผู้ใช้งาน หรือระหว่างผู้ใช้งานด้วยกัน อีกทั้งยังมีระบบที่สามารถช่วยสร้าง เชื่อมโยง และขยายความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้ใช้ และเปิดโอกาสให้ กลุ่มผู้ใช้ร่วมกันผลิตเนื้อหาภายในเว็บไซท์ มากกว่าการใช้เนื้อหา ซึ่งผลิตโดยผู้จัดทำเว็บเป็นหลัก เพื่อดึงดูดผู้ใช้

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากสาเหตุหลัก 2 ประการ โดยประการแรกคือ การที่ต้นทุนทางเทคโนโลยีดิจิตอลและอิเลคทรอนิคถูกลง ทำให้ประชากรโลกสามารถอุปโภคอุปกรณ์เหล่านี้ ซึ่งได้แก่ กล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายวิดีโอ คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่นเพลงแบบพกพา และรวมถึงอุปกรณ์บันทึกข้อมูลดิจิตอลในรูปแบบต่างๆ ได้ในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดความต้องการบันทึกและเข้าถึงข้อมูลที่ถูกบันทึก ทั้งในรูปแบบของภาพ ภาพเคลื่อนไหว และเสียงมากขึ้น

ประการที่สอง ซึ่งจะเป็นหัวข้อสนทนาในวันนี้ นั่นคือการเกิดขึ้นและขยายตัวของ"เว็บยุค2.0" ซึ่งช่วยให้ประชากรโลกสามารถนำข้อมูลต่างๆที่บันทึกไว้ มาแบ่งปันหรือมาใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป เว็บยุค2.0 ถูกให้คำนิยาม โดยเว็บไซท์ http://www.wikipedia.org (เว็บสารานุกรมออนไลน์ ที่เปิดให้ผู้ใช้งานอินเตอร์เนตทุกคนใช้งานฟรี) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเว็บไซท์ยุค2.0ที่สำคัญ ดังนี้

"เว็บยุค2.0 คือ เว็บไซท์ที่มีแนวโน้มในการใช้เทคโนโลยีเว็บและการออกแบบเว็บ เพื่อสนับสนุนความคิดสร้างสรร การแบ่งปันข้อมูล และการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ใช้ ซึ่งที่สุดนำไปสู่การปฏิวัติรูปแบบการพัฒนาชุมชนบนอินเตอร์เนต และบริการเช่าพื้นที่เพื่อให้บริการเว็บไซท์ เช่น เว็บไซท์เครือข่ายสังคม เว็บต่างๆภายใต้โครงการ "wiki" การให้บริการเช่าพื้นที่สร้าง Blog..." [web2.0, http://en.wikipedia.org/wiki/Web_2]

ความแตกต่างระหว่างเว็บยุค2.0 กับเว็บยุคก่อนหน้า ที่อาจจะถูกเรียกว่าเว็บยุค1.0 สามารถถูกมองได้จากสองบริบทได้แก่บริบทของหลักการและบริบทของเทคโนโลยี

ในบริบทของหลักการ เว็บยุค2.0 มุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของผู้ใช้งาน ในลักษณะของการร่วมกันผลิตเนื้อหาและข้อมูลภายในเว็บ และในลักษณะการร่วมกันสร้าง ขยาย และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้ด้วยกัน อีกทั้งยังมุ่งเน้นให้ผู้ใช้ เข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วและในรูปแบบที่แต่ละบุคคลต้องการมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ในบริบทของเทคโนโลยี เว็บยุค2.0 สามารถจัดการกับข้อมูลได้หลากหลายมากขึ้น ทั้งในแง่ของประเภทข้อมูล (Data and File Formats) ในแง่ของการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้ใช้ ลักษณะการใช้งาน และข้อมูลที่ต้องการ และในแง่ของรูปแบบการส่งผ่านข้อมูลไปยังผู้ใช้ที่ต้องการ ซึ่งความสามารถและคุณลักษณะเหล่านี้ ก่อให้เกิดรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของหลักการ

ตัวอย่างของเว็บยุค 2.0 ได้แก่ เว็บประเภท information, image and video web hosting ต่างๆเช่น http://www.wikipedia.org/, http://www.flickr.com/ และ http://www.youtube.com/ ตามลำดับ ซึ่งให้บริการพื้นที่จัดเก็บเพื่อการแบ่งปันข้อมูล ในรูปแบบของ สารานุกรม ภาพ และภาพเคลื่อนไหว ตามลำดับ หรือจะเป็นเว็บประเภท social boomarking ต่างๆเช่น http://www.del.icio.us/ ซึ่งให้บริการจัดเก็บ ค้นหา และแบ่งปันที่อยู่ของหน้าเว็บซึ่งถูกจัดเก็บไว้โดยผู้ใช้แต่ละคน

อีกสองประเภทตัวอย่างของเว็บ2.0 ได้แก่เว็บประเภท social news ต่างๆ เช่น http://www.digg.com/ และ http://www.reddit.com/ ซึ่งเปิดให้ผู้ใช้เข้ามาแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งออกความคิดเห็น และลงคะแนน เพื่อสนับสนุนหรือต่อต้าน ข้อมูลข่าวสารหนึ่งๆ และอีกประเภทคือเว็บเครือข่ายสังคมหรือ social networking ต่างๆเช่น http://www.facebook.com/, http://www.hi5.com/ และ www.myspace.com ซึ่งให้บริการจัดเก็บข้อมูลส่วนตัว ที่ผู้ใช้ต้องการนำเสนอกับกลุ่มคนรู้จัก พร้อมทั้งความสามารถ ในการขยายวงสังคมของผู้ใช้ ด้วยการแนะนำตัว ผ่านโครงข่ายสังคม ของคนรู้จักต่อๆกันไป

เมื่อส่วนประกอบทางหลักการ และเทคโนโลยี ข้างต้นลงตัว จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ ที่แต่ละปัจเจกบุคคล มีความสามารถในการจัดทำและตีแผ่ข้อมูล ซึ่งตนเป็นผู้ผลิตออกสู่สังคม ทั้งเพื่อการแบ่งปัน เพื่อการขยายวงสังคม และเพื่อการแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีผลกระทบในวงกว้างต่อสังคม ปรากฏการณ์นี้ คือการปรากฏขึ้นอย่างแพร่หลาย ของสิ่งที่เรียกว่า "สื่อพลเมือง" บนอินเตอร์เนต

สื่อพลเมือง โดยคำจำกัดความจากเว็บ http://www.wikipedia.org/ คือ "รูปแบบการสื่อสารมวลชน ที่นำเสนอข่าวสารข้อมูลที่ถูกจัดทำขึ้นโดยประชาชนทั่วไป ซึ่งมิใช่นักสื่อสารมวลชนโดยอาชีพ..." [citizen media, http://en.wikipedia.org/wiki/Citizen_media]

สื่อพลเมืองบนอินเตอร์เนต ได้กลายเป็นอีกหนึ่งรูปแบบ หรือช่องทางแห่งการสื่อสารมวลชนที่มีศักยภาพ กล่าวคือมีอิทธิพลในวงกว้าง ทันเหตุการณ์ ด้วยขั้นตอนที่ง่ายขึ้น และด้วยต้นทุนการผลิตที่ถูกลง เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดตั้งและบริหาร วิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นสื่อพลเมืองในยุคก่อน

ผลจากการขยายตัว ของสื่อพลเมืองบนอินเตอร์เนต คือ การที่ประชานชนมีเสรีภาพ ในการบริโภคข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้น โดยถือว่า สื่อพลเมืองบนอินเตอร์เนต เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารทางเลือก นอกเหนือจากสื่อมวลชนกระแสหลัก ซึ่งได้แก่สื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ในปัจจุบัน นอกจากนั้น สื่อพลเมืองบนอินเตอร์เนต ยังนำเสรีภาพในการแสดงและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างผู้ผลิตสื่อกับผู้บริโภคสื่อ และระหว่างผู้บริโภคสื่อด้วยกัน ได้อย่างทันเหตุการณ์ อีกด้วย

อย่างไรก็ดี จากเสรีภาพและโอกาสที่เปิดกว้าง โดยสื่อพลเมืองบนอินเตอร์เนต ทำให้ความขัดแย้งทางความคิด ในสังคมต่างๆ ย่อมปรากฏชัดขึ้น และในอัตราที่ถี่และสูงขึ้น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหากมองความขัดแย้งในเชิงสร้างสรรค์ การเปิดเวทีทางความคิด เพื่อให้ความเห็นที่เกี่ยวข้องและเกี่ยวเนื่องกับประเด็นหนึ่งๆ จากหลายมุมมอง ได้ส่งเสริม หักล้าง และตกผลึก ย่อมเป็นสิ่งที่ควรกระทำและส่งเสริม ซึ่งผลที่ตามมา จะทำให้ได้มาซึ่ง สังคมที่เจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ

หากแต่ความขัดแย้ง หากเกิดขึ้นโดยความปรารถนาที่จะทำลายล้าง และมุ่งไปที่การแสวงหาประโยชน์ส่วนตน มากกว่าการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้ได้มาซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางสังคมส่วนรวม อย่างแท้จริง ก็จะมีผลทำให้สัมคมเกิดความแตกแยก และล่มสลายไปในที่สุด

อย่างไรก็ดี เว็บยุค2.0 และ สื่อพลเมืองบนอินเตอร์เนต ไม่เพียงนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ดังที่ได้กล่าวมาข้าต้น แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไป ถือได้ว่าทั้งสองสิ่ง เป็นฟันเฟืองสำคัญ ที่ทำให้เกิด "การท้าทายกระแสหลัก"

กระแสหลัก ในทัศนะส่วนตัว หมายถึง สิ่งที่ถูกยอมรับกันโดยกว้างขวาง โดยคนในสังคมหนึ่งๆ ว่าเป็นรูปแบบหลัก ของสิ่งที่กำลังพูดถึงอยู่ ซึ่งเป็นได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ตัวอย่างเช่น เมื่อพูดถึงสื่อมวลชนสื่อกระแสหลัก ในปัจจุบัน สังคมก็จะอ้างอิงถึงสถานีวิทยุ โทรทัศน์ และ สำนักหนังสือพิมพ์ ต่างๆ หรือเมื่อพูดถึง กระแสหลักเกี่ยวกับค่านิยมในการดำเนินชีวิต  จะหมายความถึง รูปแบบการดำเนินชีวิตของคนส่วนใหญ่ ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ถูกเชื่อ โดยสังคม ว่าเป็นมาตรฐานที่ดีในการดำเนินชีวิต

การท้าทายกระแสหลักเกิดขึ้น เนื่องจากพลวัตรของสังคม ถูกเปลี่ยนทิศทาง โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและความเชื่อของประชาชนในสังคม ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมในสังคม และก่อให้การเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต

การท้าทายกระแสหลัก สามารถเกิดขึ้นได้สองรูปแบบด้วยกัน โดยรูปแบบแรก มีสาเหตุสำคัญมาจากการเกิดขึ้น การขยายตัว และการเจริญเติบโตของสังคมต่างๆบนอินเตอร์เนต ทำให้ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากการทำธุรกรรมต่างๆ ของผู้ดำเนินธุรกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชน และผู้บริโภค เริ่มที่จะพิจารณาสังคมต่างๆบน อินเตอร์เนต ว่าเป็นฐานลูกค้า เป็นช่องทางการจัดจำหน่าย และเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่สำคัญ ทำให้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม เริ่มหลั่งไหลเข้าสู่โลกอินเตอร์เนตมากขึ้นทุกที ซึ่งตรงจุดนี้เป็นการท้าทายรูปแบบความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความเจริญเติบโตทางสังคมกระแสหลักเดิม

รูปแบบที่สองคือ การใช้อินเตอร์เนต เป็นช่องทางติดต่อสื่อสาร เพื่อการ ชี้นำ กระตุ้น และกระจายแนวความคิดใหม่ๆ ซึ่งนำไปสู่สร้างกลุ่มทางสังคม ที่มีความสนใจในแนวความคิดร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อหารือหรือเพื่อถกประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับแนวความคิดนั้น ไปจนถึงเพื่อการสร้างการเคลื่อนไหวทางสังคม บนพื้นฐานของแนวความคิดร่วมดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าว ย่อมนำไปสู่การท้าทายกระแสหลักต่างๆ ในสังคม ต่อไป ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว

เมื่อมองถึงการท้าทายกระแสหลักทั้งสองรูปแบบ ถือได้ว่าทั้งเว็บยุค2.0 และสื่อพลเมืองบนอินเตอร์เนต เป็นกลจักรสำคัญ ที่ทำให้เกิดเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของสังคมบนอินเตอร์เนต ซึ่งตอกย้ำการท้าทายกระแสหลักในรูปแบบแรก ยิ่งกว่านั้น ทั้งสองสิ่งยังเป็นช่องทางสื่อสารมวลชนทางเลือก ซึ่งผู้ที่ต้องการท้าทายกระแสหลักในรูปแบบที่สอง สามารถนำมาใช้งาน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน

เว็บยุค2.0 และสื่อพลเมืองบนอินเตอร์เนต เปรียบเสมือนเครื่องมืออันทรงพลัง ขึ้นอยู่กับสำนึกและความปรารถนาของผู้นำมาใช้ ว่าจะสร้างสรรค์หรือทำลาย ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง ที่สังคมต้องมีการศึกษาถึงประโยชน์ และผลกระทบ อย่างรอบคอบ รอบด้าน อย่างเร่งด่วน และอย่างจริงจัง เพื่อสร้างกลไกการบริหารและจัดการอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้สังคมหนึ่งๆ สามารถมั่นใจได้ว่า เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพนี้ ถูกใช้งาน โดยผู้มีสำนึกเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม อย่างแท้จริง

ไม่ได้อย่างใจ...เชื่อได้มั้ยอ่ะ

น้ำมาถึงไหนแล้วหว่า...บ้านฉันน้ำจะท่วมมั้ยเนี่ย...จะหาข้อมูลที่จำเป็นได้จากที่ไหนบ้างหว่า...เวลาเดือดร้อนจะต้องแจ้งใคร...ทำไมโทรไป 1111 กด 5 แล้วถามอะไรไปก็ตอบไม่ได้...

........ใครก็ได้ช่วยบอกทีเหอะว่าฉันกับครอบครัวต้องทำยังไงบ้าง.......ข้อมูลประกอบการตัดสินใจอะไรๆก็ไม่มี ที่มีก็ไม่รู้จะเชื่อได้มากขนาดไหน เชื่อได้รึเปล่า.........

การสร้างความร่ำรวยทางข้อมูล

ขอสวัสดีปีใหม่แด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยจงอวยพรให้ทุกท่าน สุขกาย สบายใจมีเงินทองใช้ไม่ขาดมือ และมีสติในการดำเนินชีวิตอยู่เสมอ

แรงผลักดัน 3G ไทย ที่ (ไม่ได้) มาจากผู้บริโภค

 

จากที่สัญญาว่าในบทความนี้ ข้าพเจ้าจะมาต่อยอดบทความจากครั้งที่แล้วในหัวข้อ “ความร่ำรวยข้อมูล” ด้วยการวิเคราะห์ความจำเป็น ที่เราจักต้องพัฒนาทั้ง 3 ส่วนประกอบสำคัญ อันได้แก่ ความอุดมทางด้านข้อมูล ความยากง่ายในการเข้าถึงข้อมูล และมุมมองที่มีในการวางแผนโครงสร้างข้อมูลบนเว็บ ไปพร้อมๆกัน เพื่อทำให้ทุกท่านเข้าใจประเด็นดังกล่าวนี้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ความร่ำรวยข้อมูล

เป็นอีกครั้งที่ข้าพเจ้าไม่สามารถส่งบทความเข้ามาได้ตามกำหนด โดยคราวนี้ทิ้งระยะไปนานมาก จนทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกผิดต่อผู้อ่านและผู้บริหาร blogazine เป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

การใช้ชีวิตผ่านเทคโนโลยี และ ชีวิตที่สูญเสียการควบคุม

ต่อเนื่องจากบทความที่แล้วในหัวข้อ ความเป็นส่วนตัวของคุณราคาเท่าไหร่ ข้าพเจ้าอยากชวนท่านผู้อ่านคิดต่อไปอีกนิดว่า ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่า ข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ที่ท่านเปิดเผยไว้บนพื้นที่ออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social network sites) ต่างๆ เช่น Facebook และ MySpace จะไม่ทำให้ท่านสูญเสียอะไร หรือเสียใจในอนาคต