Skip to main content
 

หลังจากหลายบทความในคอลัมน์แห่งนี้ ข้าพเจ้าได้ใช้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่นับวันดูเหมือนว่า "เป็นการยากสำหรับประชาชน ที่จะทำความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพื่อการดำรงชีวิตอย่างเท่าทัน"

บทความวันนี้ จึงถูกเขียนขึ้นเพื่อแสดงทัศนะเกี่ยวกับกลไกทางสังคม ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน เพื่อทำหน้าที่คุ้มกันและช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบหรือถูกกระทำ จากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเหล่านี้ โดยไม่อาจป้องกันตนเองได้อย่างเท่าทัน หากขาดไปซึ่งกลไกทางสังคมที่จะขอกล่าวถึงในวันนี้

เรามาเริ่มทบทวนกันก่อนว่าความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งถูกกล่าวถึงในคอลัมน์แห่งนี้ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันในหลายเรื่อง มีอะไรบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การขยายตัวของสังคมในแนวขนาน และความแตกต่างทางสังคม จากบทความ
"การเข้าถึงเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความแตกต่างทางสังคม และสังคมในแนวขนาน" และจากบทความ "การอยู่กับความหลากหลาย" รวมถึงจากบทความ "ช่องว่างและความแตกต่างในสังคม"
หรือเรื่อง ผลกระทบทางสังคมที่ย้อนแย้ง จากบทความ
"ICT ตัวการแห่งการเปลี่ยนแปลง และผลกระทบทางสังคมที่ย้อนแย้ง"
หรือเรื่อง การเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานทางสังคม จากบทความ
"มาตรฐานใหม่...โดย เครือข่ายสังคมบริหารตัวเอง (Self-Organizing Community)"
หรือเรื่อง การเปลี่ยนไปของรูปแบบตลาดแรงงาน จากบทความ
"ICT กับแนวโน้มความนิยมการ Outsourcing ขององค์กร และการเปลี่ยนไปของตลาดแรงงาน"
หรือจะเป็นเรื่อง ความเสี่ยงในการดำรงชีวิต ในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร จากบทความ
"การโลกาภิวัฒน์ ปฏิญญากรุงเทพ เว็บเครือข่ายสังคม และภัยคุกคามทางเทคโนโลยี" และจากบทความ "Identity thief...เมื่อความเป็นฉันไม่ใช่ตัวฉัน" รวมถึงจากบทความ "ชีวิตเสี้ยววินาที"

กลไกทางสังคม ที่สามารถช่วยให้ประชาชน รับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ได้นั้น ข้าพเจ้าขอแบ่งออกเป็น
3 ระดับใหญ่ๆดังต่อไปนี้

ระดับแรกที่สำคัญมากกับประชาชนในวงกว้าง คือระดับบริหารประเทศ

ระบบรัฐบาล รัฐสภา และตุลาการ ซึ่งทำหน้าที่สำคัญ ในการร่วมกันบริหารและขับเคลื่อน กลไกการทำงานต่างๆของประเทศ จะต้องตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ และให้ความสำคัญกับการสร้างและพัฒนากลไกทางสังคม ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อย่างเท่าทัน

โดยกลไกทางสังคมในระดับประเทศ ที่สำคัญ คือกลไกซึ่งสามารถช่วยเหลือประชาชน ให้มีความรู้และปรับตัวอย่างเท่าทันความเปลี่ยนแปลงต่างๆ พร้อมกับกลไกซึ่งสามารถคุ้มครองประชาชน ไม่ให้ถูกทำร้าย ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ และให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จากการไม่สามารถปรับตัว รับความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ได้อย่างเท่าทัน

หนึ่งกลไกที่มีความสำคัญได้แก่ กลไกทางระบบการศึกษา ที่ยกระดับประชาชน ให้มีความรู้ซึ่งสอดคล้องกับยุคสมัยอย่างถ้วนหน้า เนื่องจากความรู้ที่ทันยุคสมัยนั้น เป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ที่ทำให้ประชาชนทุกคน สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงต่างๆรอบตัว และสามารถใช้ชีวิตของตนได้อย่างเท่าทัน

เนื่องจาก ภาคประชาชน คือพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ หากประชาชนสามารถใช้ชีวิต ได้อย่างรู้เท่าทันยุคสมัย แน่นอนว่า ต้องส่งผลให้ประเทศของเรา สามารถพัฒนาให้มีความเจริญก้าวหน้า ได้อย่างรวดเร็ว

อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาสังคมและความเสียหายทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการไร้ความสามารถของประชาชน ในการดำรงชีวิตอย่างรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่างๆ

ระบบการศึกษาอันทันสมัย ที่เน้นประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตได้จริง และเข้าถึงประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมเท่านั้น ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนวัคซีนที่เพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ให้รู้จักป้องกันตนเองในเบื้องต้นอย่างเท่าทัน ก่อนที่จะรู้จักและใช้ประโยชน์ จากกลไกอื่นๆที่มีไว้เพื่อช่วยเหลือเค้าเหล่านั้นต่อไป

การมีกลไกทางกฎหมาย ที่มุ่งคุ้มครองภาคประชาชน มากกว่าภาครัฐหรือภาคธุรกิจ ก็เป็นอีกหนึ่งกลไกที่มีความสำคัญต่อการดำเนินการในครั้งนี้ เนื่องจากโดยปกติแล้ว ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ มีความสามารถในการคุ้มครองตนเอง ได้มากกว่าภาคประชาชน เพราะในความเป็นจริงนั้น ภาคประชาชนมักขาดซึ่งความรู้และความเข้าใจ เกี่ยวกับกลไกทางกฎหมาย จึงถูกเอารัดเอาเปรียบ จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

กลไกทางกฎหมาย ไม่ใช่เพียงการออกและมีกฎหมาย ที่สอดคล้องตามวัตถุประสงค์นี้เท่านั้น หากแต่รวมถึง การมีกลไกอื่นๆที่สอดคล้อง เพื่อทำให้การบังคับใช้กฎหมาย เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และเท่าเทียม และยังรวมถึงการทำให้ประชาชนรับรู้ เข้าถึง และสามารถใช้ประโยชน์จากกลไกทางกฎหมายต่างๆที่มีอยู่ ได้อย่างง่ายดาย

และนั่นหมายถึง ระบบรัฐบาล รัฐสภา และตุลาการ จำเป็นต้องมีความมุ่งมั่น ทำให้กลไกทางกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองประชาชน มีความศักดิ์สิทธิ์ และสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศ ได้อย่างแท้จริง

นอกเหนือจากสองกลไกข้างต้น กลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ก็เป็นอีกหนึ่งกลไกที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากความสำเร็จของการดำเนินนโยบาย และการใช้ประโยชน์จากกลไกต่างๆที่มีอยู่ เกิดจากการผสมผสานที่ลงตัว ของ
2 ส่วนผสมด้วยกัน

ส่วนผสมแรก คือ ความพร้อมของนโยบายและกลไกทางสังคม อันจำเป็นและสอดคล้องกับยุคสมัย ซึ่งการมีวิสัยทัศน์อันยาวไกล และการมีความมุ่งมั่นช่วยเหลือและคุ้มครองประชาชน ของรัฐบาล รัฐสภาพ และตุลาการ เท่านั้นที่จะทำให้ส่วนผสมนี้เกิดขึ้น

อีกส่วนผสมหนึ่งคือ การทำให้นโยบายและกลไกทางสังคมต่างๆนั้น ประยุกต์ใช้กับประชาชนทุกภาคส่วนได้จริง ซึ่งเสียงสะท้อนจากภาคประชาชน ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนเท่านั้น ที่จะช่วยทำให้นโยบายและกลไกต่างๆ สามารถถูกปรับปรุงและปรับใช้ ได้อย่างสอดคล้องกับสิ่งที่ประชาชนต้องเผชิญหน้า อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

กลไกทางสังคมที่มีความสำคัญ ในระดับถัดมา คือระดับบริหารท้องถิ่น

อันที่จริงแล้ว ความสำคัญของการบริหารงานในระดับท้องถิ่น ที่มีต่อภาคประชาชนและต่อประเทศโดยรวม มีความสำคัญสืบเนื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หากแต่ในทัศนะของข้าพเจ้าแล้ว ประเทศของเรายังไม่สามารถทำให้ กลไกทางสังคมต่างๆในระดับท้องถิ่น ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ในท้องถิ่นนั้นๆ รวมถึงยังไม่ให้ความสำคัญกับมันเท่าที่ควร

กลไกต่างๆ ที่สนับสนุนการบริหารงานในระดับท้องถิ่น คือกลไกสำคัญ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่าง ความคิด มุมมอง และวิสัยทัศน์ของผู้ปฏิบัติงานในระดับบริหารประเทศ กับทัศนะคติ ความเห็น และความต้องการของภาคประชาชน ในแต่ละท้องถิ่น เป็นกลไกที่ช่วยทำให้นโยบายและกลไก ที่ถูกออกแบบและพัฒนามาอย่างกว้างๆ สามารถทำหน้าที่ได้ตรงกับปัญหา ในบริบทที่แตกต่างกันไปของแต่ละท้องถิ่น

นั่นหมายความว่า กลไกสังคมในระดับท้องถิ่น หากทำงานได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพแล้ว จักต้องเป็นเสมือนช่องทางสื่อสารที่โปร่งแสงและโปร่งใส ระหว่างประชาชนกับกลไกทางสังคมในระดับประเทศ รวมทั้งเป็นเสมือนฟันเฟืองกลางที่คอยขับเคลื่อนฟันเฟืองอื่นๆ เพื่อทำให้กลไกทั้งระบบนี้ ทำงานเป็นปกติ

การผลักดันให้กลไกทางสังคมในระดับท้องถิ่น สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพ นอกจากเพื่อประโยชน์ข้างต้นแล้ว ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่นต่างๆ สามารถต่อสู่เพื่อตนเอง และสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป

กลไกสังคมในระดับสุดท้าย ที่มีความสำคัญไม่แพ้กับสองระดับแรก คือระดับครอบครัว

การช่วยให้ทุกชีวิตในครอบครัว สามารถใช้ชีวิตอย่างเท่าทัน ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่างๆ ได้นั้น แต่ละครอบครัวจักต้องมีพื้นฐานอยู่บนความรักความเข้าใจ ผู้นำของแต่ละครอบครัว ต้องหมั่นติดตามข่าวสารและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อสมาชิกครอบครัว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับครอบครัว

อีกทั้งสมาชิกทุกคน จำเป็นต้องมีจิตใจที่เปิดกว้าง ยอมรับความจริงที่ว่า โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สมาชิกแต่ละคนในครอบครัว มีสังคม มุมมองชีวิต แนวความคิด และโลกที่แตกต่างกันไป การรับฟังกันและกันให้มากขึ้น การให้เวลาแก่กันมากขึ้น และการให้ความรักและความเอื้ออาทรต่อกันมากขึ้นเท่านั้น ที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้แต่ละสมาชิกในครอบครัว มีความเข้าอกเข้าใจกัน ทำให้เกิดความอบอุ่นและความสุขขึ้นในครอบครัว และทำให้ครอบครัวมีความเข้มแข้ง เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ได้อย่างเท่าทัน

นอกจากการที่สมาชิกในครอบครัว ให้ความสำคัญในการสร้างครอบครัวของตน ให้เข้มแข็ง อบอุ่น และมีความสุขแล้ว ทุกครอบครัวจักต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับอีกหนึ่งสิ่ง นั่นคือ การทำให้ท้องถิ่นและประเทศ มีความเข้มแข็ง อบอุ่น และมีความสุข ผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า
"การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน" ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่ทำอยู่ในครอบครัว หากแต่เปลี่ยนระดับสังคม ของการมีส่วนร่วมนั่นเอง

การทำให้ระบบกลไกทางสังคมต่างๆข้างต้น สามารถทำงานได้อย่างที่กล่าวมาทั้งหมด เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีความบิดเบือนทางความคิดในระดับนโยบายและแผน และมีความบิดเบี้ยวของระบบและกลไกต่างๆในระดับปฏิบัติ อาจเป็นเป้าหมายที่ต้องการการเดินทางอีกไกล แต่อย่างไรก็ดีในทัศนของข้าพเจ้า เรามีความจำเป็นที่ต้องเริ่มต้นเดินตามทางไกลนี้ ไม่ช้าก็เร็ว

น่าจะดีถ้าเราเริ่มกันตั้งแต่วันนี้

 

บล็อกของ SenseMaker

SenseMaker
น้ำมาถึงไหนแล้วหว่า...บ้านฉันน้ำจะท่วมมั้ยเนี่ย...จะหาข้อมูลที่จำเป็นได้จากที่ไหนบ้างหว่า...เวลาเดือดร้อนจะต้องแจ้งใคร...ทำไมโทรไป 1111 กด 5 แล้วถามอะไรไปก็ตอบไม่ได้... ........ใครก็ได้ช่วยบอกทีเหอะว่าฉันกับครอบครัวต้องทำยังไงบ้าง.......ข้อมูลประกอบการตัดสินใจอะไรๆก็ไม่มี ที่มีก็ไม่รู้จะเชื่อได้มากขนาดไหน เชื่อได้รึเปล่า.........
SenseMaker
ขอสวัสดีปีใหม่แด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยจงอวยพรให้ทุกท่าน สุขกาย สบายใจมีเงินทองใช้ไม่ขาดมือ และมีสติในการดำเนินชีวิตอยู่เสมอ
SenseMaker
  จากที่สัญญาว่าในบทความนี้ ข้าพเจ้าจะมาต่อยอดบทความจากครั้งที่แล้วในหัวข้อ “ความร่ำรวยข้อมูล” ด้วยการวิเคราะห์ความจำเป็น ที่เราจักต้องพัฒนาทั้ง 3 ส่วนประกอบสำคัญ อันได้แก่ ความอุดมทางด้านข้อมูล ความยากง่ายในการเข้าถึงข้อมูล และมุมมองที่มีในการวางแผนโครงสร้างข้อมูลบนเว็บ ไปพร้อมๆกัน เพื่อทำให้ทุกท่านเข้าใจประเด็นดังกล่าวนี้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
SenseMaker
เป็นอีกครั้งที่ข้าพเจ้าไม่สามารถส่งบทความเข้ามาได้ตามกำหนด โดยคราวนี้ทิ้งระยะไปนานมาก จนทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกผิดต่อผู้อ่านและผู้บริหาร blogazine เป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
SenseMaker
ต่อเนื่องจากบทความที่แล้วในหัวข้อ ความเป็นส่วนตัวของคุณราคาเท่าไหร่ ข้าพเจ้าอยากชวนท่านผู้อ่านคิดต่อไปอีกนิดว่า ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่า ข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ที่ท่านเปิดเผยไว้บนพื้นที่ออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social network sites) ต่างๆ เช่น Facebook และ MySpace จะไม่ทำให้ท่านสูญเสียอะไร หรือเสียใจในอนาคต
SenseMaker
จากบทความที่แล้วในหัวข้อ การจัดระเบียบโลกใหม่ การเมืองไทย และICT ข้าพเจ้าได้ชี้ให้เห็นว่า เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ICT ในปัจจุบัน ทำให้ความสามารถของมนุษย์ ในการจัดการและจัดเก็บข้อมูล ซึ่งหากอาศัยเพียงประสาทสัมผัสของมนุษย์ จะไม่สามารถเข้าถึงและจัดการได้ และความด้วยความก้าวหน้านี้ ทำให้มนุษย์สามารถเห็นและรับรู้ ในข้อมูลที่เคยยากที่จะเห็นและรับรู้ อีกทั้งยังทำให้เข้าใจในสิ่งที่เคยยากต่อการวิเคราะห์
SenseMaker
ความก้าวหน้าทาง ICT ในปัจจุบัน ช่วยให้เราๆท่านๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ซึ่งยากที่จะเข้าถึงในอดีต ได้ง่ายขึ้น เช่น ข้อมูลของบุคคลหรือข้อมูลขององค์กรที่เราสนใจ ข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศใดประเทศหนึ่ง รวมถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เป็นต้น
SenseMaker
หลังจากบทความที่เรียกได้ว่า บทบรรณาธิการแรก ได้ชี้แจงเป้าหมายการดำรงอยู่ ของพื้นที่ทางความคิดแห่งนี้ บัดนี้เวลาล่วงเลยมาครึ่งปี โอกาสแห่งการพูดคุย กับท่านผู้อ่านอีกครั้ง ก็มาถึงทุกๆ12 บทความ ที่ได้ทำหน้าที่ของมันผ่านพ้นไป ถือเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่ผู้เขียนกับผู้อ่านจะได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน เพื่อทำให้พื้นที่แห่งนี้ เป็นประโยชน์กับทุกๆคน อย่างแท้จริงในทัศนะของข้าพเจ้าแล้ว ICT เข้ามามีบทบาท ต่อชีวิตของเราทุกคน ในทุกวันนี้มากขึ้นทุกที แต่ละคนได้รับประโยชน์ ผลกระทบ และผลลัพธ์ ที่แตกต่างกันไป จากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว ซึ่งมี ICT เป็นปัจจัยต้นเหตุ
SenseMaker
Peer Review อาจไม่ใช่คำในภาษาอังกฤษ ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมคุ้นเคย แต่เป็นคำคุ้นเคยเป็นอย่างดีในสังคมนักวิชาการ อาจารย์ หรือ นักวิจัย เนื่องจากสังคมดังกล่าว มีวัฒนธรรมและกิจกรรมหลัก ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ด้วยการต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม ผ่านการพัฒนาผลงานวิจัยใหม่ ซึ่งการยอมรับจากสมาชิกในสังคมเดียวกัน มีความสำคัญกับผลงานวิจัยแต่ละชิ้นมาก เนื่องจากไม่ว่าผลงานดังกล่าว จะมีคุณภาพในสายตาผู้พัฒนาเพียงใด แต่หากไม่ได้รับการตอบรับจากสมาชิกในสังคม ผลงานนั้นก็ถือได้ว่า ไม่ได้สร้างคุณค่าให้กับสังคมมากนัก
SenseMaker
ในอดีต การเกิดขึ้นของสังคม มักจะถูกจำกัดด้วยเส้นขอบเขตของเวลาและสถานที่ การเป็นส่วนหนึ่งในสังคม เกิดจากการมีส่วนร่วมอยู่ในเวลาและสถานที่เดียวกัน เช่น การอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน การไปโรงเรียนหรือสถานศึกษาเดียวกัน การทำงานในบริษัทหรือสถานที่ทำงานเดียวกัน หรือ การอยู่ในกลุ่มทำกิจกรรมเดียวกัน เป็นต้นแต่ด้วยความก้าวหน้าของ ICT และการขยายตัวของอินเตอร์เนต ทำให้ในปัจจุบัน การมีและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ของเราแต่ละคน ไม่ถูกจำกัดโดยสองข้อจำกัดข้างต้น อีกต่อไป และทำให้ในปัจจุบันนั้น เราแต่ละคน มีและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่ถูกสร้างขึ้นบนอินเตอร์เนต เพิ่มมากขึ้นๆทุกที
SenseMaker
  หลังจากหลายบทความในคอลัมน์แห่งนี้ ข้าพเจ้าได้ใช้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่นับวันดูเหมือนว่า "เป็นการยากสำหรับประชาชน ที่จะทำความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพื่อการดำรงชีวิตอย่างเท่าทัน" บทความวันนี้ จึงถูกเขียนขึ้นเพื่อแสดงทัศนะเกี่ยวกับกลไกทางสังคม ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน เพื่อทำหน้าที่คุ้มกันและช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบหรือถูกกระทำ จากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเหล่านี้ โดยไม่อาจป้องกันตนเองได้อย่างเท่าทัน หากขาดไปซึ่งกลไกทางสังคมที่จะขอกล่าวถึงในวันนี้เรามาเริ่มทบทวนกันก่อนว่าความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งถูกกล่าวถึงในคอลัมน์แห่งนี้…
SenseMaker
สุขสันต์ปีใหม่แด่ทุกท่าน ผู้ซึ่งให้เกียรติแวะเวียนเข้ามาอ่านบทความในคอลัมน์แห่งนี้ ทั้งขาประจำและขาจร ขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงอำนวยอวยพรให้ทุกท่านมีความสุขกาย สบายใจ และสามารถดำรงชีวิตอย่างมีสติ (และมีสตางค์ใช้อย่างพอเพียง) ข้าพเจ้าขอเริ่มต้นปีใหม่ ด้วยอีกหนึ่งงานเขียนที่มุ่งสื่อสารให้ผู้คนในวงกว้าง ตระหนักถึงผลกระทบที่ ICT มีต่อการดำเนินชีวิตในทุกระดับ เพื่อให้ทุกท่านสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างเท่าทัน อีกทั้งสามารถประยุกต์ใช้มันอย่างมีประโยชน์