........ใครก็ได้ช่วยบอกทีเหอะว่าฉันกับครอบครัวต้องทำยังไงบ้าง.......ข้อมูลประกอบการตัดสินใจอะไรๆก็ไม่มี ที่มีก็ไม่รู้จะเชื่อได้มากขนาดไหน เชื่อได้รึเปล่า.........
เชื่อว่าประโยคต่างๆ ข้างต้นคงคุ้นหูใครหลายคนอยู่ในเวลานี้ และเชื่อว่าใครอีกหลายคนคงสบถประโยคเหล่านี้กับตัวเอง ทั้งแบบอยู่ในใจ หรือ แบบเสียงดังฟังชัด
วิกฤตอุทกภัยครั้งนี้ถือว่าหนักหนาสาหัสมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงในวงกว้างต่อชีวิตคนไทยทุกคน นอกจากนั้น...อุทกภัยในครั้งนี้ยังสอนให้เราๆท่านๆ ประจักษ์ถึงอีกหนึ่งวิกฤตที่เกิดขึ้นและเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยเหมือนกัน นั่นคือ “การบริหารจัดการสารสนเทศในช่วงภัยพิบัติอย่างเบาปัญญา”
ตลอดช่วงวิกฤตครั้งนี้...ในขณะที่ประชาชนทุกคนต้องการข้อมูลที่รอบด้านและเชื่อถือได้อย่างมาก เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจวางแผนดูแลชีวิตและทรัพย์สินของสมาชิกในครอบครัว คนที่รัก และของตนเอง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า...ประชาชนในวงกว้างกลับจำเป็นต้องตั้งคำถามถึงความชักช้าและไม่น่าเชื่อถือของข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากภาครัฐ จนทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความสงสัยเคลือบแคลงความสามารถในการแก้ปัญหาของรัฐบาล และนำมาซึ่งความรู้สึกที่ไม่อาจไว้วางใจในแนวทางซึ่งทางรัฐบาลเลือกใช้ในการบริการจัดการวิกฤตในครั้งนี้
และยิ่งถ้าใครได้รู้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีระบบสารสนเทศภาครัฐที่มีการออกแบบ พัฒนา และใช้งานแบบบูรณาการ (อย่างที่ภาครัฐกล่าวอ้าง) แล้ว ยิ่งต้องตั้งคำถามอย่างหนักว่า ความล้มเหลวในการบริหารจัดการสารสนเทศในยามวิกฤตเช่นนี้เกิดจาก 1) ความไร้ประสิทธิภาพของระบบสารสนเทศภาครัฐ หรือ 2) เกิดจากการไร้ซึ่งความรู้ ความสามารถ และความเข้าใจในการบริหารสารสนเทศในยามวิกฤต
ทำไมสื่อสารอะไรมาให้กับประชาชนก็ไม่ชัดเจน...ทำไมการวางแผนจัดการและรับมือกับมวลน้ำในระยะต่างๆ จึงดูไร้ซึ่งความเข้าใจในสถานการณ์อย่างแท้จริง และทำไมการดำเนินการประเมินสถานการณ์ต่างๆ ก็ดูผิดไปหมด
เชื่อได้ว่า...ทั้งหมดทั้งสิ้นที่เกิดขึ้นนี้น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องและไร้ประสิทธิภาพของทั้งสองส่วนข้างต้นไปพร้อมกัน
เชื่อได้ว่า...หากระบบสารสนเทศภาครัฐมีการบูรณาการอย่างแท้จริง การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นต่อการวางแผนจัดการต่างๆ ของรัฐบาลอย่างรวดเร็ว ครบถ้วน และรอบด้าน ย่อมต้องส่งเสริมให้รัฐบาลสามารถตัดสินใจดำเนินการและไม่ดำเนินการใดๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้แน่นอน
ที่ผ่านมาเชื่อว่า ประชาชนไม่เคยได้รับการสื่อสารที่ชัดเจนจากภาครัฐว่า พื้นที่ใดบ้างจะได้รับผลกระทบ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับผลกระทบอย่างไรและนานขนาดไหน จะเข้าถึงข้อมูลสำคัญเฉพาะแต่ละพื้นที่ เช่น หน่วยงานกู้ภัยในพื้นที่ สถานที่อพยพฉุกเฉิน หรือแม้แต่ข้อมูลน้ำท่วมในพื้นที่ของตนได้อย่างไร
ทั้งยังไม่อาจรับรู้ได้ถึงการให้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกลุ่มต่างๆ ในช่วงวิกฤต ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น กลุ่มผู้ยังไม่ประสบภัย กลุ่มที่กำลังประสบภัย และกลุ่มผู้ประสบภัยแล้ว ว่าแต่ละกลุ่มต้องการข้อมูลอะไรและเมื่อใด
ซ้ำยังไม่มีการจัดให้มีสถานีวิทยุเฉพาะกิจเพื่อสื่อสารข้อมูลสำคัญต่างๆเกี่ยวกับภัยพิบัติในครั้งนี้ ให้กับประชาชนในวงกว้าง ทั้งที่สื่อวิทยุเป็นเพียงสื่อเดียวเท่านั้นในขณะนี้ ที่ประชนชนในทุกพื้นที่ของประเทศสามารถเข้าถึงได้
จนทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ...ผู้คนในวงกว้างที่รู้จักและเข้าถึงสื่อใหม่หรือสื่อสังคม (New/Social Media) รวมถึงสื่อทางเลือกจากภาคเอกชน...หันไปพึ่งสื่อต่างๆเหล่านี้ แทนที่จะใส่ใจและให้ความสำคัญกับสื่อจากภาครัฐ
หากภาครัฐตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ (ซึ่งข้าพเจ้าขอให้เกิดขึ้นเถิด)...นี่จะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ...และนำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญที่ว่า
“ทำไมกลไกในการสื่อสารกับประชาชนและภาคส่วนต่างๆ
ในระหว่างภัยพิบัติของภาครัฐจึงล้มเหลว”
และ
“ทำไมรัฐบาลจึงบริหารจัดการวิกฤตในครั้งนี้อย่างไร้ประสิทธิภาพ”