เป็นอีกครั้งที่ข้าพเจ้าไม่สามารถส่งบทความเข้ามาได้ตามกำหนด โดยคราวนี้ทิ้งระยะไปนานมาก จนทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกผิดต่อผู้อ่านและผู้บริหาร blogazine เป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
\\/--break--\>
บทความวันนี้เกิดขึ้น จากประสบการณ์ตรงที่ข้าพเจ้าประสบ ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าเห็นความแตกต่างทางสังคม ระหว่างประเทศสองประเทศ ในเรื่องของความร่ำรวยข้อมูล ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนประกอบสำคัญ นั่นคือ ความอุดมทางข้อมูล ความยากง่ายในการเข้าถึงข้อมูล และมุมมองที่มีในการวางแผนโครงสร้างข้อมูลบนเว็บ
ประเทศแรกคือ หนึ่งในประเทศที่ได้รับการยอมรับ ว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำทางด้านเศรษฐกิจโลก นั่นคือประเทศ อังกฤษ ส่วนอีกหนึ่งประเทศที่ข้าพเจ้าต้องการเปรียบเทียบ คือ ประเทศที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเราๆท่านๆ นั่นคือ ประเทศไทย โดยการเปรียบเทียบครั้งนี้ อ้างอิงจากการหาข้อมูลบนอินเตอร์เนต ผ่านเว็บไซท์ค้นหาข้อมูลเช่น google รวมถึงการเข้าค้นข้อมูลในและการติดต่อกับเว็บไซท์ต่างๆภายในประเทศทั้งสอง
เรื่องแรกที่อยากพูดถึงคือ เรื่องของความอุดมทางด้านข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าสัมผัสได้ถึงความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุด
การได้มีโอกาสหาข้อมูลเพื่อการใช้ชีวิตในทั้งสองประเทศ ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจถึงสถานการณ์ความอุดมของข้อมูล ในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตในสังคมนั้น ซึ่งข้าพเจ้าพบว่า ในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศชั้นนำของโลก มีความอุดมทางด้านข้อมูลเป็นอย่างมาก นั่นหมายถึง หากท่านสงสัยเกี่ยวกับอะไรก็ตามที ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลบริการของหน่วยงานของรัฐ ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการต่างๆของภาคเอกชน ข้อมูลข่าวสารทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ และรวมถึงข้อมูลที่เป็นเสียงสะท้อนของประชาชนคนอื่นๆในเรื่องต่างๆ ท่านสามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย
ซึ่งตรงนี้เองมีประโยชน์มหาศาลต่อประชาชน เพราะความอุดมทางด้านข้อมูล ทำให้ประชาชนสามารถทราบถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งในที่สุดอำนวยให้ประชาชน สามารถทำการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ทันท่วงที และด้วยทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น
การตัดสินใจต่างๆในชีวิต เช่น การเลือกสถานศึกษาและสายอาชีพของลูกหลาน การเลือกอาชีพและการสมัครงาน การเลือกซื้อที่อยู่อาศัย รวมถึงการตัดสินใจลงทุนทางธุรกิจต่างๆ คือการตัดสินใจและการลงทุน ครั้งใหญ่ที่สำคัญมาก บางครั้งถึงมากที่สุดในชีวิตของใครหลายๆคน ซึ่งความอุดมทางด้านข้อมูล เป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจและการลงทุนเหล่านี้ เนื่องจากการตัดสินใจเหล่านี้ เป็นการตัดสินใจที่เปลี่ยนชีวิตของประชาชนคนหนึ่งเลยที่เดียว ดังนั้นการมีข้อมูลที่เพียบพร้อมกว่า ย่อมทำให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าการตัดสินใจโดยมีข้อมูลไม่เพียงพอ
ในทรรศนะของข้าพเจ้า สังคมที่มีความอุดมทางด้านข้อมูล ย่อมมีแนวโน้มที่จะมีการพัฒนาไปในทางที่ดีและรวดเร็วกว่า สังคที่ขาดซึ่งความอุดมทางด้านข้อมูล อย่างไรก็ดีความอุดมทางด้านข้อมูลนี้ ไม่สามารถถูกพลักดันให้เกิดขึ้น จากความพยายามของภาครัฐเพียงเท่านั้น หากแต่อยู่ที่การที่ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของสภาวะนี้ และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสภาวะนี้ขึ้นมา
เรื่องที่สองที่ขอพูดถึง คือ ความยากง่ายในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันให้ ข้อมูลที่มีอยู่ของประเทศนั้นไม่ว่าจะอุดมหรือไม่ สามารถถูกนำไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากถึงแม้ว่าสังคมหรือประเทศหนึ่งจะมีความอุดมทางข้อมูลสูง หากประชาชนมีความยากในการเข้าถึงข้อมูล ก็จักทำให้ข้อมูลที่มีอยู่ ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้าง
อย่างไรก็ดีในปัจจุบัน อินเตอร์เนตได้กลายเป็นสื่อสำคัญ ที่ช่วยให้ประชาชนในประเทศต่างๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นและด้วยราคาที่ถูกลง และเมื่อมองจากมุมของความยากง่ายในการเข้าถึงข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลบนอินเตอร์เนต เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกว่า เมื่อเปรียบกับประเทศไทยของเรา ซึ่งทำให้ประชาชนของเค้า สามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความอุดมสูง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่างๆนั้น ได้อย่างเต็มที่
ตามทรรศนะของข้าพเจ้า ความอุดมทางด้านข้อมูลกับความยากง่ายในการเข้าถึงข้อมูล มีความสอดคล้องและใกล้ชิดกันอย่างแยกไม่ออก คล้ายกับความสัมพันธ์ของไก่กับไข่ ในลักษณะที่ว่าไม่มีไก่ก็ไม่มีไข่ แต่ในขณะเดียวกัน ไม่มีไข่ก็ไม่มีไก่ นั่นคือ หากการเข้าถึงข้อมูลนั้นทำได้ยาก ก็จักทำให้ประชาชนในทุกภาคส่วน ผู้ซึ่งเป็นกลจักรสำคัญ ที่ทำให้ข้อมูลบนอินเตอร์เนตมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ทำหน้าที่ของตน ในการร่วมกันสร้างข้อมูลต่างๆ ซึ่งในที่สุดก็จักทำให้ความอุดมทางด้านข้อมูลไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ในขณะเดียวกันหากไม่มีความอุดมทางด้านข้อมูลแล้ว ประชาชนก็ไม่คิดถึงและไม่ต้องการที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ข้อมูลเหล่านี้ ต่อให้การเข้าถึงข้อมูลจะมีความง่ายเพียงใด เนื่องจากประชาชนเข้าใจว่า พวกเค้าไม่สามารถหวังพึ่งพาแหล่งข้อมูลเหล่านี้ได้ ผลที่ตามมาก็คือ แหล่งข้อมูลบนอินเตอร์เนตจักไม่เป็นแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป และไม่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อดำเนินการให้การเข้าถึงข้อมูล มีความง่ายมากขึ้นและในราคาที่ย่อมเยาขึ้น
ดังนั้น หากประเทศใดต้องการได้ประโยชน์จากสภาวะความอุดมทางด้านข้อมูล โดยเฉพาะบนอินเตอร์เนต ปฏิเสธไม่ได้ว่าจักต้องมีการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน เพิ่มบทบาทในการร่วมกันสร้างข้อมูลบนอินเตอร์เนต ไปพร้อมกับการสนับสนุนให้ ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดายขึ้นและด้วยราคาถูกลง
ประการสุดท้ายที่อยากพูดถึงวันนี้ นั่นคือ เรื่องของ มุมมองที่มีในการวางแผนโครงสร้างข้อมูลบนเว็บ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนถึงความสามารถ ในเรื่องของการตีโจทย์การสร้างเว็บของแต่ละประเทศ
จากการที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาส ท่องไปในเว็บต่างๆของทั้งประเทศอังกฤษ และประเทศไทย เพื่อหาข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในทั้งสองประเทศ ข้าพเจ้ารับรู้ได้ว่า เว็บในประเทศอังกฤษ มีความเข้าใจในการจัดโครงสร้างข้อมูลบนเว็บ ที่มุ่งสนองตอบความต้องการของผู้ใช้งาน มากกว่าสนองตอบความต้องการของเจ้าของเว็บ ที่สร้างเว็บเพื่อการนำเสนอข้อมูลที่ตนเองต้องการ ตามรูปแบบตัวเองต้องการ ซึ่งการมีมุมมองที่ดีในการวางแผนโครงสร้างข้อมูลบนเว็บนี้เอง ที่ช่วยให้เว็บมีโครงสร้างข้อมูล ที่ง่ายต่อผู้ใช้แต่ละกลุ่ม และมีข้อมูลครบถ้วนตามที่ลูกค้าแต่ละกลุ่มต้องการ
หากเปรียบการวางเป้าหมายชีวิต คือวางเป้าหมายในการขับรถ ความร่ำรวยข้อมูลคงเปรียบเสมือนการมีแผนที่ที่มีคุณภาพ ที่ช่วยให้การขับรถเดินทางครั้งนี้ สามารถไปถึงยังเป้าหมาย ได้อย่างถูกต้องและใช้เวลาน้อยที่สุด และเมื่อเข้าใจว่า ความอุดมทางด้านข้อมูล ความยากง่ายในการเข้าถึงข้อมูล และมุมมองที่มีในการวางแผนโครงสร้างข้อมูลบนเว็บ คือสามส่วนประกอบสำคัญ ที่ทำให้เกิดความร่ำรวยข้อมูล
ความอุดมทางด้านข้อมูล คงเปรียบได้กับ การมีแผนที่ซึ่งถูกต้อง ครบถ้วน ครอบคลุม และสอดคล้องกับการเดินทางในครั้งนี้
ความยากง่ายในการเข้าถึงข้อมูล คงเปรียบได้กับ การที่เราสามารถหยิบแผนที่ที่ต้องการนี้ ขึ้นมาใช้ได้ในทุกครั้งที่
ต้องการได้หรือไม่
มุมมองที่มีในการวางแผนโครงสร้างข้อมูลบนเว็บ คงเปรียบได้กับ การที่แผนที่ที่เรามีนั้น ได้ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับผู้ใช้อย่างเราหรือไม่ หรือถูกออกแบบมาให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจหรือไม่
ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จักช่วยให้ท่าน มองเห็นในภาพกว้าง และรับรู้ถึงความสำคัญ ของการเป็นประเทศร่ำรวยข้อมูล และในบทความหน้า ข้าพเจ้าจะมาต่อยอดบทความในวันนี้ ด้วยการวิเคราะห์ความจำเป็น ที่เราจักต้องพัฒนาทั้ง 3 ส่วนประกอบสำคัญ อันได้แก่ ความอุดมทางด้านข้อมูล ความยากง่ายในการเข้าถึงข้อมูล และมุมมองที่มีในการวางแผนโครงสร้างข้อมูลบนเว็บ ไปพร้อมๆกัน เพื่อทำให้ทุกท่านเข้าใจประเด็นดังกล่าวนี้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกๆท่าน จักช่วยกันผลักดันให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่ร่ำรวยข้อมูลมากขึ้นต่อไป