ขอสวัสดีปีใหม่แด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยจงอวยพรให้ทุกท่าน สุขกาย สบายใจมีเงินทองใช้ไม่ขาดมือ และมีสติในการดำเนินชีวิตอยู่เสมอ
\\/--break--\>
หลังจากวิพากษ์ประเด็นร้อนเรื่องโทรศัพท์ยุค 3G ไปในบทความที่แล้ว ข้าพเจ้าขอกลับมาต่อประเด็นเรื่องความร่ำรวยข้อมูล ซึ่งข้าพเจ้าค้างไว้ก่อนหน้านี้ โดยจากครั้งก่อนข้าพเจ้าชี้ให้เห็นว่าความร่ำรวยข้อมูล มีความสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศ และความร่ำรวยทางด้านข้อมูลประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ ความอุดมทางด้านข้อมูล ความยากง่ายในการเข้าถึงข้อมูล และมุมมองที่มีในการวางแผนโครงสร้างข้อมูลบนเว็บ (อ่านบทความเดิม http://blogazine.prachatai.com/user/sensemaker/post/2666)
ในบทความเดิมข้าพเจ้าส่งสัญญาให้กับท่านผู้อ่านว่าความร่ำรวยข้อมูลไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการดำเนินการของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว หากแต่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้น นั่นคือภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้ประเทศของเรามีความร่ำรวยทางข้อมูล
ประเด็นที่ข้าพเจ้าขอมาวิเคราะห์ต่อในวันนี้ นั่นคือ แล้วประเทศไทยจะสร้างความร่ำรวยด้านข้อมูลให้เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยจะขอวิเคราะห์แยกตามส่วนประกอบสำคัญทั้งสามส่วน
ในส่วนของความอุดมทางด้านข้อมูล ทุกภาคส่วนควรเร่งสนับสนุนให้กิจกรรมต่างๆของภาคส่วนตนสามารถดำเนินการผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและผ่านเครือข่ายอินเตอร์เนต เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลและเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ตลอดเวลาโดยผู้เกี่ยวข้องทุกคนกับภาคส่วนนั้นๆ อีกทั้งอนุญาตให้ข้อมูลที่สามารถเปิดเผยสู่สาธารณะได้เข้าถึงได้โดยประชาชนทุกคน เพื่ออำนวยประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการติดต่อหรือต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับภาคส่วนนั้น และเปิดโอกาสให้สังคมได้รับประโยชน์จากการมีข้อมูลในด้านต่างๆเพิ่มมากขึ้น
ภาครัฐควรใช้กลไกต่างๆที่มีผลักดันให้การเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีความสำคัญต่อการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและรวดเร็วในทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้ทุกภาคส่วนเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งส่งผลให้ทุกคนในสังคมแน่ใจได้ว่า ข้อมูลต่างๆที่เข้าถึงเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสบายใจ
นอกเหนือจากการดำเนินการข้างต้น สิ่งสำคัญอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ คือการผลักดันส่งเสริมให้คนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการแบ่งปันข้อมูลรูปแบบต่างๆในระดับโลกเช่น Wikipedia เพื่อให้ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับประเทศไทยได้รับการจัดทำโดยคนไทยและถูกตีแผ่ออกไปในวงกว้างเพื่อให้ผู้คนทั่วโลกเข้าถึงได้ หรือเพื่อให้ข้อมูลเรื่องต่างๆได้รับการจัดทำเป็นภาคภาษาไทย เพื่อให้คนไทยในวงกว้างสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ความสามารถต่างๆของโครงการนั้นๆ
ในส่วนของความยากง่ายในการเข้าถึงข้อมูล ภาครัฐเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ทั่วประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการเข้าถึงข้อมูลอย่างทั่วถึง และในราคาที่คนส่วนใหญ่ของประเทศสามารถจ่ายได้ เพื่อทำให้ช่องว่างหรือความแตกต่างทางสังคมอันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีในยุคดิจิตอล (digital divide)
นอกจากนี้ภาครัฐยังต้องสนับสนุนให้ตลาดผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงข้อมูลไม่ว่าจะเป็น ตลาดผู้ให้บริการอินเตอร์เนต ตลาดผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ตลาดผู้ให้บริการสื่อวิทุยโทรทัศน์ มีการแข่งขันในที่เป็นธรรมและครอบคลุมทุกท้องถิ่น พร้อมกับการให้ความช่วยเหลือกับภาคส่วนในสังคมที่มีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลไม่ทัดเทียมกับมาตรฐานของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่ในถิ่นธุรกันดาร ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่ารายได้มาตรฐานประเทศ ผู้ด้อยโอกาสอันเนื่องมาจากความพิการ และอันเนื่องมาจากขาดความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอันทันสมัยต่างๆ
นอกเหนือจากหน้าที่สำคัญของภาครัฐข้างต้น ภาคส่วนอื่นๆมีหน้าที่สำคัญที่ต้องดำเนินการพัฒนาภายในภาคส่วนของตนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ภาคส่วนของตนมีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลเท่าทันมาตรฐานของประเทศทั้งในส่วนของการมีและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอันทันสมัยต่างๆ และการพัฒนาบุคลากรของตนให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอันทันสมัยดังกล่าว
ในส่วนของมุมมองที่มีในการวางแผนโครงสร้างข้อมูลบนเว็บ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าทุกภาคส่วนต้องพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมุมมองที่มีในการวางแผนโครงสร้างข้อมูลบนเว็บ และปรับปรุงให้โครงสร้างข้อมูลและการออกแบบเว็บสะท้อนเป้าหมายการดำรงอยู่ของภาคส่วนตน และจำเป็นต้องสะท้อนความต้องการที่เปลี่ยนแปลอยู่เสมอของทุกผู้เกี่ยวข้องกับภาคส่วนของตนในฐานะของผู้ใช้งานข้อมูล
ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเข้าใจเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการดำรงอยู่ของภาคส่วนของตนว่าคืออะไร เพราะนั่นคือเหตุผลสูงสุดของการจัดทำเว็บและการสนับสนุนข้อมูลผ่านเว็บ อีกทั้งต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์ความต้องการของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวกข้องกับภาคส่วนทุกคน เพื่อให้เว็บสามารถสนับสนุนข้อมูลและมีความสามารถต่างๆซึ่งสอดคล้องและทันกับความต้องการของผู้เกี่ยวข้องทุกคน
บทความวันนี้เป็นเพียงการชี้ให้เห็นแนวทางกว้างๆซึ่งประเทศของเราสามารถนำไปดำเนินการ เพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นประเทศที่มีความร่ำรวยข้อมูลเพิ่มขึ้น ผู้ต้องการนำแนวทางดังกล่าวไปปฏิบัติจำต้องมีการประยุกต์ให้เข้ากับบริบท เงื่อนไข ข้อจำกัด และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในแต่ละขั้นตอนของการดำเนินการต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนผู้มีส่วนผลักดันให้ความร่ำรวยข้อมูลเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยของเรา
ติดตามบทความทั้งหมดได้ที่ www.thesensemaker.org หรือติดต่อข้าพเจ้าได้ที่ sensemaking.writer at gmail dot com