ข่าวต่างๆทางด้าน ICT ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นผลกระทบของ “การโลกาภิวัฒน์ (Globalisation)” ที่มีต่อมนุษย์ทุกคน เนื่องจากอิทธิพลของการมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีแบบเดียวทั่วโลก จะลดทอนความหลากหลายของวิถีชีวิตมนุษยชาติ ก่อให้เกิดตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนข้ามชาติ แต่ในขนะเดียวกัน ปัญหาลักษณะเดียวกัน จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ เป็นวงกว้าง หากแต่จะเกิดผลกระทบแตกต่างกันไป ตามบริบทของสังคมนั้น
ข่าวแรกที่อยากนำเสนอ คือการเกิดขึ้นของ “ปฏิญญากรุงเทพ” ซึ่งถูกจัดทำขึ้นระหว่างการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค หรือ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) ทางด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ โดยมีสาระสำคัญคือ การผลักดันให้ทุกประเทศสมาชิก พัฒนา ICT เพื่อใช้เป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ที่ประชุมชี้ชัดว่า เงื่อนไขความสำเร็จดังกล่าว อยู่ที่การผลักดันให้บริการ Broadband internet เข้าถึงทุกครัวเรือนในทุกประเทศสมาชิก (เป้าหมายภายในปี 2558) และพัฒนาอุตสาหกรรม ICT โดยเน้นไปที่ 5 ประเด็นหลักคือ การสร้างขีดความสามารถด้าน ICT, การส่งเสริมให้มีบริการอย่างทั่วถึง, กรอบการกำกับดูแลที่สนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด, การสร้างความมั่นคงและความเชื่อมั่นด้านไอซีที, และการยกระดับกิจกรรมด้านความมั่นคงปลอดภัยบนโลก Cyber
เมื่อมองที่ 5 ประเด็นหลักข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า APEC เร่งสร้างความเชื่อมั่น ให้กับประชาชนในประเทศสมาชิก ว่าความปลอดภัยของตลาดบนโลก Cyber อยู่ในระดับที่ไว้วางใจได้ เพื่อมุ่งขยายตลาดบนโลก Cyber
ข่าวดังกล่าวตอกย้ำ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจโลก ที่ยังคงมุ่งสู่การโลกาภิวัฒน์ โดย ICT กลายเป็นกลจักรสำคัญ ที่ช่วยเร่งให้เกิดการพัฒนาในทิศทางดังกล่าว อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า วิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับประเทศ ทางด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ ยังมอง ICT จากมุมของการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เพียงด้านเดียว
ท่านผู้อ่านอาจแย้งว่า แนวนโยบายดังกล่าว ออกมาจากการประชุมด้านเศรษฐกิจ จึงมีสาระสำคัญเช่นนั้น แต่ประเด็นที่อยากจะชี้ให้เห็นคือ ผู้ที่กำหนดแนวนโยบายดังกล่าว คือผู้นำทางด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ ซึ่งจักต้องคำนึงถึง ประโยชน์และผลกระทบของ ICT ที่มีต่อทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มสังคมหนึ่ง สามารถเจิรญก้าวหน้าอย่างมั่นคง
SenseMaker เชื่อว่า ภาคเศรษฐกิจ ไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน หากภาคสังคม ไม่สามารถคงอยู่ได้อย่างผาสุข นั่นหมายถึง ภายใต้แนวนโยบาย ซึ่งเน้นไปที่การเติบโต ทางภาคเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่มีต่อภาคสังคม ย่อมไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ อย่างมั่นคง
ประเด็นข้างต้น สามารถวิพากษ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยสองข่าว ที่เกี่ยวกับ “เว็บเครือข่ายสังคม (Social Network)” ซึ่งข่าวแรกเกี่ยวกับ ผลสำรวจจากสหรัฐและแคนาดา เกี่ยวกับการจัดหางานชี้ ผู้บริหารระดับสูง มองเว็บเครือข่าย และเว็บชุมชนออนไลน์ (เช่น Hi5, MySpace, และ Facebook) จะถูกใช้เป็นแหล่งจัดหางาน ในระดับคุณภาพในอีก 3 ปีข้างหน้า และข่าวที่สองซึ่งนำเสนอ กระแสการใช้เว็บ Hi5 ในทางลามกอนาจาร เช่น ใช้เป็นแหล่งเผยแพร่ภายโป๊ หรือเป็นแหล่งติดต่อกลาง สำหรับผู้ที่ชอบสับเปลี่ยนคู่นอน (swinging sex)
เว็บเครือข่ายสังคม คือตัวอย่าง ICT ที่สามารถถูกใช้ประโยชน์ ในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังเช่นการถูกใช้เป็นแหล่งหางาน ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับการว่าจ้าง ทำให้มีรายได้ใช้จ่าย องค์กรต่างๆได้บุคคลากร ที่มีคุณภาพตามต้องการไปใช้งาน ทำให้องค์กรทางเศรษฐกิจเติบโต
ขณะเดียวกันก็สามารถก่อให้เกิด ผลกระทบเชิงลบทางสังคม ดังเช่นการถูกใช้ไปในทางลามกอนาจาร ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสังคม เช่นความตกต่ำด้านศีลธรรมในสังคม และการแพร่กระจายของโรคติดต่อร้ายแรงทางเพศ
จากข่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังก้าวไปข้างหน้า สังคมอาจกำลังถูกคุกคาม ถูกทำให้เสื่อม ตกต่ำ หรือถูกทำลาย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลจากเทคโนโลยีเดียวกัน
ความพยายามผลักดัน ให้เทคโนโลยี ICT เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากจะก่อปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังก่อให้เกิดภาวะปัญหาที่เรียกว่า “ภัยคุกคามทางเทคโนโลยี” ซึ่งหมายถึง สถานการณ์ซึ่งความไม่เท่าทันเทคโนโลยี ของประชาชนหรือผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นผู้ใช้ปลายทางของเทคโนโลยี ถูกใช้ประโยชน์โดยอาชญากร ในการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีต่างๆ
ไม่เพียงเท่านั้น อาชญากรยังใช้ประโยชน์จากความไม่เท่าทันเทคโนโลยี ของผู้ที่มีหน้าที่ออกกฎหมาย หรือของผู้มีหน้าที่ดูแลผลกระทบ ที่มีต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม จากการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน ทำให้ภาคสังคมขาดซึ่งกฎหมาย และกระบวนการป้องปรามอาชญากรทางเทคโนโลยี ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะถูกใช้ควบคุมและป้องปราม ภัยคุกคามทางเทคโนโลยี
ผลที่ตามมา ทำให้ผู้มีหน้าที่ออกกฎหมาย และ ผู้มีหน้าที่ดูแลผลกระทบ จากการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน ไม่สามารถควบคุมดูแลภาคสังคม ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที และก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง
ปัญหาดังกล่าว ถูกสะท้อนผ่านข่าวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ข่าวการสร้างหน้าเว็บไซท์ ธนาคารพาณิชย์ปลอม เพื่อดักข้อมูลชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน ที่ใช้ทำธุรกรรมออนไลน์ ของผู้เคราะห์ร้าย เพื่อใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์ กับบัญชีของเหยื่อต่อไป หรือเป็นการทำทีว่าติดต่อมาจาก ศูนย์บัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเหยื่อมีบัญชีอยู่ แจ้งให้เหยื่อทราบว่า เกิดความผิดปกติด้านความปลอดภัย ของระบบบัตรเครดิต จึงขอให้เหยื่อ แจ้งยืนยันข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญ พร้อมทั้งรหัสผ่านเดิม เพื่อยืนยันว่าเป็นเจ้าของบัตรตัวจริง เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงข้อมูลด้านความปลอดภัยใหม่ ซึ่งภายหลังอาชญากร ก็จะนำข้อมูลเหล่านั้น ไปปลอมแปลงบัตร และนำไปใช้งาน เนื่องจากได้รหัสผ่านจากเหยื่อแล้ว
สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น สามารถสะท้อนให้เห็นว่า การนำเทคโนโลยี ICT มาใช้ประโยชน์ ไม่อาจเกิดขึ้น เพียงเพราะความต้องการจากภาคเศรษฐกิจแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ภาคสังคมจะต้องถูกปกป้อง ด้วยการตระหนักถึงผลกระทบต่อภาคสังคมไปพร้อมกับการคำนึงถึงผลประโยชน์ที่มีต่อภาคเศรษฐกิจ โดยการสร้างและกระจายความรู้เท่าทันเทคโนโลยีอย่างเพียงพอและทันท่วงทีให้กับผู้ที่มีหน้าที่ออกและบังคับใช้กฎหมายให้กับผู้ที่ดูแลผลกระทบที่มีต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม และให้กับประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้งานเทคโนโลยี
SenseMaker เอาใจช่วย ขอให้ภาคเศรษฐกิจและภาคสังคม ของประเทศไทย เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้ประโยชน์และรู้เท่าทันเทคโนโลยี ICT ไปพร้อมๆกัน