วันนี้อยากชวนสนทนาถึงศัพท์คำว่า “การเข้าถึงเทคโนโลยี” ซึ่งในทัศนะส่วนตัวคือสภาวะที่บุคคล องค์กร หรือประเทศหนึ่งสามารถได้มาซึ่งความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่และจำเป็นต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบันแนวทางการพัฒนาของเศรษฐกิจโลก เป็นไปในลักษณะที่เทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการการผลิต และเทคโนโลยีอื่นๆอีกมากมายเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจโลก ย่อมมีความสำคัญกับทุกประเทศอย่างที่สุด
หนึ่งเทคโนโลยีซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก และเป็นด้านที่ SenseMaker ให้ความสนใจวิพากษ์ถึงอย่างรอบด้านบนเวทีความคิดแห่งนี้คือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology; ICT) ซึ่งต่อไปจะขอใช้คำว่า ICT เพื่อความกระชับ
ICT เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่เปลี่ยนแปลงลักษณะของเศรษฐกิจโลก ในระยะยี่สิบปีหลังมานี้ ทั้งในแง่ของตัวตลาดเองที่เคลื่อนที่เข้าสู่ตลาดในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งเกิดจากความก้าวหน้าของ ICT เช่นตลาดธุรกรรมออนไลน์ เป็นต้น รวมทั้งในแง่ของตัวระบบข้อมูลข่าวสารด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับตลาด ด้วยเหตุนี้การเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้ จึงสามารถถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความแตกต่างทางสังคม
ในด้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงตลาดรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งเกิดจากความก้าวหน้าของ ICT เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่า ผู้ที่เข้าถึงตลาดใหม่ๆได้ ย่อมเป็นผู้ที่ได้เปรียบในการขยายตลาด และเก็บเกี่ยวความเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นและก่อนหน้าผู้ที่เข้าถึงล้าหลังกว่า
อีกหนึ่งตัวอย่างที่สำคัญคือ ผู้ที่สามารถเข้าถึงระบบข้อมูลข่าวสารและตัวข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับตลาดได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และสมบูรณ์กว่า ย่อมเป็นผู้ที่มีโอกาสที่จะตัดสินใจดำเนินการด้านต่างๆที่จำเป็นได้อย่างรัดกุม ถูกต้อง และรวดเร็วกว่า ซึ่งจุดนี้ถือได้ว่าเป็นความได้เปรียบในแง่ของการใช้โอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากการประยุกต์ใช้ ICT จะมีผลต่อเศรษฐกิจแล้ว ตัวอุตสาหกรรม ICT เองในปัจจุบัน ก็ถือได้ว่ามีผลโดยตรงต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมซึ่งสร้างรายได้อย่างมหาศาล และเป็นหนึ่งในกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของหลายๆประเทศ
ในบริบทแห่งความแตกต่างทางสังคม ICT ถือเป็นตัวนำชั้นดี ที่อนุญาตให้สมาชิกในหน่วยย่อยต่างๆของแต่ละสังคม เรียนรู้และรับเอาแนวความคิดและวัฒนธรรมจากสังคมอื่นๆได้อย่างไร้พรมแดน ซึ่งในที่สุดก่อให้เกิดมีความหลากหลายทางด้านพื้นฐานความคิด และความแตกต่างในเรื่องของ คติ ความเชื่อ และค่านิยมทางสังคม
นอกจาก ICT เป็นตัวนำชั้นดีแล้ว ICT ยังเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ดีอีกด้วย คือทำให้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นไปด้วยความรวดเร็วและอย่างความรุนแรง โดยในบริบทนี้ ICT ถูกมองว่าเป็นสื่อสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน คือทิศทางการใช้เว็บเทคโนโลยียุค 2.0 เช่น Youtube, Weblog (Blog), และ RSS (จะขอสนทนาถึงในโอกาสต่อไป) สร้างสื่อพลเมือง (เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่จะขอสนทนาถึงในอนาคต) ซึ่งอนุญาติให้สมาชิกแต่ละบุคคลในสังคมสามารถทำตัวเป็นสื่อ และสร้างช่องทางการสื่อสารสองทางระหว่างกันได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นสื่อทางเลือกใหม่ ที่ทำให้ผู้ที่มีความเข้าใจ สามารถใช้เทคโนโยโลดังกล่าวนี้ชี้นำทางความคิด และสร้างกระแสต่างๆได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย หากแต่มีผลกระทบกับสังคมในระดับที่รุนแรงและเป็นวงกว้าง
ลึกลงไปในเหตุและปัจจัยของความแตกต่างทางสังคมที่เกิดขึ้นข้างต้น อันที่จริงนั้น ICT ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ที่ SenseMaker ขอเรียกว่า “สังคมในแนวขนาน”
สังคมในแนวขนาน คือการที่สภาพแวดล้อมทางความคิด ของแต่ละปัจเจกบุคคลมีความแตกต่าง ทำให้เกิดการมองเห็นโลกและเข้าใจการการดำเนินไปของสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ในมุมมองที่แตกต่างกันไปในแต่ละสังคม
สังคมในแนวขนานเกิดจากการที่แต่ละปัจเจกบุคคล มีภาวะการรับรู้และกรอบความคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัยเช่น การมีพื้นฐานการศึกษาที่แตกต่างกัน การมาจากสังคมที่แตกต่างกัน การได้รับรู้ข่าวสารที่แตกต่างกัน และความเชื่อหรือค่านิยมส่วนบุคคล ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้สมาชิกแต่ละคนภายในสังคมเดียวกัน สามารถมองเห็นหรือเข้าใจเหตุการณ์อย่างเดียวกัน ได้แตกต่างกันไป
อันที่จริงแล้วปรากฏการณ์สังคมในแนวขนาน เกิดขึ้นและมีอยู่ควบคู่กับการมีอยู่ของมนุษย์และสังคมมาอย่างช้านาน หากแต่ในปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าของ ICT ทำให้ปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ถี่ หลากหลาย รวดเร็ว และในวงกว้างมากขึ้น
ปรากฏการณ์สังคมในแนวขนานไม่ใช่สิ่งไกลตัว หากมองในระดับสังคมที่เรียกว่าครอบครัว หมายถึงการที่แต่ละสมาชิกอยู่ในสังคมในแนวขนานที่ต่างกัน หมายความว่าสามีอาจเข้าไม่ถึงสังคมในแนวขนานของภรรยา บิดามารดาไม่อาจจะรู้ได้ว่าสังคมในแนวขนานของบุตรธิดาเป็นอย่างไร และจะรับรู้ได้อย่างไรว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างข้างในนั้น ซึ่งในท้ายที่สุดจะส่งผลให้ครอบครัวมีหัวข้อสนทนาร่วมกันลดน้อยลง ไม่สามารถให้คำแนะนำให้แก่กัน และไม่สามารถเข้าใจกันและกันได้
เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน สามารถเกิดขึ้นได้กับสังคมในระดับที่ใหญ่ขึ้น เช่นในระดับชาติ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นย่อมมีวงกว้างและรุนแรงมากขึ้น
ดังนั้นแต่ละสังคมควรที่จะมองผลกระทบจาก ICT อย่างรอบด้าน เพื่อการมีวิสัยทัศน์และแนวนโยบายที่คลอบคลุม เพื่อพลักดันให้สังคมของตนสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ รวมทั้งเข้าใจและป้องกันผลกระทบที่เกิดจากการประยุกต์ใช้ ICT ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ
โดยสรุปแล้ว ทุกระดับสังคม ควรที่กระตือรือร้นให้สังคมของตนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะส่งผลให้สังคมของตนสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มี เมื่อเปรียบเทียบกับกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันสังคมนั้นๆควรที่จะตระหนักถึง ผลกระทบซึ่งเทคโนโลยี ICT ทำให้เกิดความแตกต่างทางสังคม และยังส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์สังคมในแนวขนานได้ถี่ หลากหลาย รวดเร็ว และในวงกว้างมากขึ้น
อย่างไรก็ดีการที่สังคมหนึ่งๆ จะสามารถรับมือกับทั้งประโยชน์ และผลกระทบที่เกิดจากการประยุกต์ใช้ ICT ได้อย่างรอบด้านและรอบคอบนั้น คงไม่สามารถโยนหน้าที่ความรับผิดชอบ ให้กับใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่ผู้นำหรือผู้ที่ต้องรับผิดชอบในระดับนโยบาย จะต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกล อีกทั้งยังต้องสามารถแปลงวิสัยทัศน์ ให้เกิดเป็นผลลัพท์ที่เป็นรูปธรรมได้
พร้อมกันนั้นผู้นำทางความคิดในทุกระดับของสังคม ควรที่จะรับทราบและเข้าใจถึงแนวนโยบายดังกล่าว ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นกลจักรสำคัญที่ส่งผลให้สังคมหนึ่งๆ สามารถปรับเปลี่ยนและประสบความสำเร็จตามแนวนโยบายนั้นๆได้อย่างรวดเร็ว
กระนั้นก็ดี สมาชิกในสังคมแต่ละคนเอง ก็ไม่ควรรอหรือฝากความหวังให้ผู้นำทางสังคมเป็นผู้ชี้นำแนวทาง การรับมือการเปลี่ยนแปลงของ ICT หากแต่ตนเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งแห่งตน ในยุคที่ ICTมีอิทธิพลต่อทุกสังคมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขอให้ทุกท่านรับมือกับการพัฒนาทาง ICT อย่างรอบคอบและรอบด้าน