Skip to main content

ตั้งแต่มีหนังสือพิมพ์ ชาวอังกฤษแสดงความเห็นกันว่า ภาษาอังกฤษอยู่ในภาวะ “วิกฤต” โดยอ้างว่า ผู้ใช้ภาษาอังกฤษมีการออกเสียงไม่ถูกต้อง หรือมีการสะกดผิดมากมาย แนวคิดแบบนี้มีอยู่ในเกือบทุกภาษา ผู้ใช้ของภาษาใดภาษาหนึ่ง โดยเฉพาะบรรดาเจ้าของภาษาที่หวังดีกับภาษาของตน เป็นห่วงกับ “คุณภาพการใช้ภาษา” ในสังคม ซึ่งตามสายตาของพวกเขา มีแต่การเสื่อมในเรื่องการออกเสียง การสะกดหรือการใช้คำที่พากเขามองว่า “ไม่ถูกต้อง”

สิ่งที่น่าสังเกตคือ แม้ว่ามีคนที่เป็นห่วงกับคุณภาพของภาษาอังกฤษลดลงและอยู่ในวิกฤตตลอด แต่ภาษาดังกล่าวก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงมีฐานะเปรียบเสมือน “ภาษาราชการแห่งโลก” ก็ว่าได้ ประเทศที่ใหญ่ที่สุดที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในโลกไม่ใช่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของภาษานี้ แต่เป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษที่ “ไม่ถูกต้อง” ตามจากบรรทัดฐานของระเทศอังกฤษ ทั้งในการออกเสียง การสะกดของคำศัพท์หลายๆ คำ และไวยากรณ์บางเรื่อง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาษาอังกฤษได้พัฒนาเป็นภาษาโลกไม่ได้อยู่ที่การรักษามาตรฐานอย่างเข้มงวด แต่การยอมรับความหลากหลายของการใช้ภาษา

ทางสำนักข่าว BBC ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นแม่แบบของการใช้ภาษาอังกฤษ (ดังนั้น การออกเสียงภาษาอังกฤษมาตรฐาน บางครั้งก็เรียกว่า BBC English) มีการบรรยายประจำปีที่มีชื่อว่า Reith Lectures (รายละเอียดขอดูลิงค์ต่อไป: http://www.bbc.co.uk/programmes/articles/4ZTNLKgrG2mSzfgC1ZYlNmV/about-the-reith-lectures) โดยเชิญบุคคลสำคัญระดับโลกเพื่อทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการส่งเสริมชีวิตทางปัญญาและวัฒนธรรม ตั้งแต่เริ่มต้นการบรรยายในปี ค.ศ. 1948 โดยมี Bertrand Russell เป็นผู้บรรยาย บุคคลที่ได้รับเชิญส่วนใหญ่เป็นเจ้าของภาษาอังกฤษ แต่ยังมีการเชิญบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าของภาษามากขึ้น ดังเช่น Edward Said (1993), Vilayanur S. Ramachandran (2003), Daniel Barenboim (2006), Aung San Suu Kyi (2011) บางท่านมีสำเนียนภาษาต่างประเทศอย่างชัดเจน แต่ผู้ฟังทุกคนก็สามารถเข้าใจเนื้อหา (ที่น่าสนใจ) ได้อย่างดี การเชิญบุคคลเหล่านี้ก็บ่งบอกถึงความเปิดกว้างของสังคมอังกฤษที่ยอมรับการใช้ภาษาอังกฤษที่มีความหลากหลายเพราะเน้นเนื้อหาสาระ  

ภาษาที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลกคือ ภาษาจีน โดยมีผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็อยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งใช้ตัวอักษรตัวย่อ (ไม่ใช่ตัวเต็ม) ข้อดีของตัวย่อคือจำง่าย แต่ตัวย่อหลายๆ ตัวแตกต่างไปจากตัวเต็มที่ยังใช้กันอยู่ในฮ่องกงหรือไต้หวัน จนถึงเดาไม่ออกว่า อักษรเดิม (ตัวเต็ม) ของอักษรเหล่านี้คือตัวไหน ดังนั้น ตอนนี้ภาษาจีนก็มีระบบเขียนสองระบบ ได้แค่อักษรตัวย่อกับอักษรตัวเต็ม (ซึ่งระหว่างฮ่องกงกับไต้หวันก็ยังมีข้อแตกต่างบ้าง) แต่ไม่ได้หมายความว่า ระบบใดระบบหนึ่งเป็นระบบที่ “ไม่ถูกต้อง”

ผู้ใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งมักจะมองว่า การที่มีการสะกดผิดหรือการออกเสียงที่ไม่ถูกต้องนั้นเป็นวิกฤตของภาษา เนื่องจากภาษาเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่สำคัญที่สุดประเภทหนึ่งสำหรับมนุษย์ การที่มีมาตรฐานในการสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ภาษาที่มีชีวิตทุกภาษา (หรือ ภาษาที่ยังมีสังคมผู้ใช้) ก็ต้องอยู่กับความเปลี่ยนแปลง ที่นี่ เราควรเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภาษาก็ไม่ใช่ความเสื่อมของคุณภาพ

วิกฤตอันแท้จริงของภาษาคือ สถานการณ์ที่คนในสังคมใช้ภาษาโดยปราศจากความคิด เพื่อการหลอก การล้างสมอง การสร้างภาพและการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งคนในสังคมไม่สามารถใช้ภาษาอีกต่อไปเพื่อถ่ายทอดความคิดเห็นหรือเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ความคิดของตน

คนไทยมักจะตัดสินใจความฉลาดของคนต่างชาติด้วยการออกเสียงภาษาไทย แน่นอนว่าการออกเสียงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของระบบภาษา แต่ยังมีประเด็นสำคัญอีกมากมายในระบบที่เราเรียกว่า “ภาษา” การออกเสียงที่ดีและลายมือที่สวยแค่ไหนก็ไม่มีความหมาย ในขณะที่เนื้อหาที่จะถ่ายทอดนั้นไม่มีเนื้อหาสาระ  

  

บล็อกของ Shintaro Hara

Shintaro Hara
1. เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วในเมื่อประเทศสยามยังอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณสิทธิราช ความเหมาะสมของกฎหมายฉบับนี้ในยุคนี้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเป็นประเด็นที่ควรมีการถกเถียงกัน
Shintaro Hara
ณ ประเทศญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง  มีคำศัพท์คำที่ใช้กันทั่วไปเพื่อด่าคนอื่น ซึ่งก็คือ “ฮีโคคูมิน” ซึ่งหมายถึง “คนที่ไม่ใช่ประชาชนของประเทศ” เมื่อคนใดคนหนึ่งวิจารณ์รัฐบาลที่กำลังนำประเทศไปสู่สงคราม คนนั้นจะถูกเรียกว่าเป็น ฮีโคคูมิน ทั้งๆ ที่คนนั้นอาจจะมองเห็นวินาศกรรมที่จะเกิดขึ้นจากภ
Shintaro Hara
ไม่มีภูมิภาคใดในประเทศไทยที่มีประสบการณ์ (แต่ไม่เคยชิน) เกี่ยวกับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก
Shintaro Hara
ประเทศญี่ปุ่นมีผลการเรียนของเด็กนักเรียน/นักศึกษาที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี แต่มันไม่ได้หมายความว่า ผลการเรียนนั้นเกิดขึ้นจากระบบการศึกษาที่ดี เพราะ “ผลการเรียน” กับ “ระบบการศึกษา” เป็นคนละประเด็นกัน ถึงแม้ว่าระบบการศึกษาที่ดีจะสามารถสร้างผลการเรียนที่ดีก็ตาม จริงๆ
Shintaro Hara
มีหลายคนเคยถามผู้เขียนว่า ถ้าพวกกำนัน/