สมยศ พฤกษาเกษมสุข
23 เมษายน 2556
โลกทั้งโลกร่วมไว้อาลัยการจากไปของนางมากาเร็ต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก และคนเดียวของอังกฤษ ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคเส้นเลือดสมองอุดตันวัย 87 ปี เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีอังกฤษนายคาเมรอน สดุดีแธตเชอร์ว่าเป็นผู้กอบกู้โชคชะตาของอังกฤษ
แธตเชอร์ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1979 ครองอำนาจยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 20 ระหว่างปี 1979 – 1990 เป็นเวลา 3 สมัย ได้รับการยกย่องว่าเป็นสตรีเหล็กผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงการเมืองโลก ในยุคเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี เป็นที่กล่าวขวัญในอังกฤษว่า เป็นนักการเมืองขวาจัดของพรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งชื่นชมกับระบบทุนนิยม เปิดทางให้กับเอกชนในตลาดแข่งขันเสรี ผู้เป็นต้นแบบของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน แม้ว่าในเวลานั้นขบวนการสหภาพแรงงานได้ออกมานัดหยุดงาน ชุมนุมประท้วงตอบโต้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ก็เจอกับมาตรการแข็งกร้าวของแธตเชอร์กำหราบปราบปรามจนแปรูปรัฐวิสาหกิจสำเร็จ จนหลายประเทศเอาอย่าง ทำให้เกิดลัทธิแธตเชอร์ขั้นมาอย่างกว้างขวาง
นางแธตเชอร์มักจะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ด้วยความเด็ดเดี่ยว ไม่กลัวความขัดแย้ง พร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเอง นางแธตเชอร์เคยกล่าวไว้เป็นวลีเด็ดว่า “ที่ไหนมีความไม่ลงรอยกันที่นั่นย่อมมีความสามัคคี ที่ไหนมีความผิดพลาดที่นั่นย่อมมีความจริง ที่ไหนมีความสงสัยที่นั่นย่อมมีความศรัทธา ที่ไหนมีความสิ้นหวังที่นั่นย่อมมีความหวัง”
นางแธตเชอร์มักจะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ด้วยความเด็ดเดี่ยว ไม่กลัวความขัดแย้ง พร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเอง เป็นผู้นำชาติตะวันตกที่เข้าถึง และคบหาสมาคมกับอดีตประธานาธิบดีมิคาเอล กอร์บอซอบแห่งโซเวียต เป็นตัวเชื่อมกับประธานาธิบดีเรแกน แห่งอเมริกา จนในที่สุดทำให้สงครามเย็นสิ้นสุดลง โลกก้าวสู่ยุคทุนนิยมครอบโลกในทุกวันนี้
แธตเชอร์มีบุคลิกแข็งกร้าว ฉลาดหลักแหลม มีวินัย ยึดมั่นในหลักการเข้างวด เมื่ออาเยนติน่ายึดครองเกาะฟอล์กแลนด์ แธตเชอร์ไปบัญชาการรับด้วยตนเองในปี 1982 เป็นเวลา 9 สัปดาห์จนชนะสงครามเป็นที่ยอมรับของชาวอังกฤษให้ครองอำนาจ 3 สมัย
หันมาดูที่เมืองไทย เป็นครั้งแรกที่เรามีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกคือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อพรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงที่มีความงามสวยเด่น และมีความตั้งใจขยันทำงาน เป็นที่ยอมรับมากขึ้นตามลำดับ แต่กลับมีลักษณะที่แตกต่างไปจากแธตเชอร์ในลักษณะที่ตรงกันข้ามเป็นอย่างมาก
ในสถานการณ์ความขัดแย้งนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ มักจะหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็น ปล่อยให้คนอื่นตอบโต้แทน มุ่งเน้นการบริหารงานของรัฐบาลให้สัมฤทธิ์ผล เป็นจุดแข็งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในบางกรณีเป็นผลดี ที่ยิ่งลักษณ์ไม่ตองเผชิญกับอัตราเสี่ยงต่อการเป็นเป้าหมายการโจมตี แต่ทว่าในประเด็นสำคัญที่ต้องแสดงความคิดเห็น เป็นจุดยืนฝ่ายประชาธิปไตย ยืนยันในเจตนารมณ์ประชาชน นำพาสังคมสู่ความทันสมัยนั้น กลับหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นอันแสดงให้เห็นได้ว่านายกรัฐมนตรียังขาดความกล้าหาญในภาวะการนำทางการเมือง หรือเป็นการแสดงถึงภาวะตื้นเขินทางการเมืองได้เช่นกัน เช่น ถือเป็นการสูญเสียฐานะการนำความคิดที่ก้าวหน้าในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในหลายโอกาสด้วยกัน
ความนอบน้อมถ่อมตน เป็นคุณสมบัติที่ดีของนายกรัฐมนตรีที่จะรับฟัง และเรียนรุ้จากทุกฝ่าย แต่การหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง ไม่ใช่หนทางการปรองดอง แต่เป็นการซุกซ่อนความขัดแย้งเอาไว้
การไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆ ออกมาเลย เป็นจุดอ่อนของผู้นำการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โชคดีของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ที่มีผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่ไม่เอาไหน มีแนวความคิดอนุรักษ์นิยม หัวโบราณ รักษาผลประโยชน์ของพวกอำมาตย์ และพวกอภิสิทธิ์ชนดีแต่พูด กระช่อน เล่นลิ้น ค้านได้ดีแต่ทางเทคนิค วนเวียนอยู่กับเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ จนน่าสะอิดสะเอียน ทำให้นายกรัฐมนตรีที่พูดน้อยทำงานมากเป็นที่ยอมรับในสังคมได้ แต่ในระยะยาว ในระยะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง จะกลายเป็นจุดอ่อนที่บดบังภาวการณ์เป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลง
แธตเชอร์ เป็นสตรีเหล็กในเวทีการเมืองระดับโลก ส่วนยิ่งลักษณ์ในปัจจุบันเป็นได้แค่เพียงนายหญิงของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่ยังมีเวลาเหลืออีก 2 ปีข้างหน้า สำหรับนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยที่จะต้องแสดงบทบาทการเป็นผู้นำทางการเมือง ที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง อันเป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในขณะนี้