อาภัสสร สมบุลย์วัฒนากุล
เสียงเพลงเดือนเพ็ญจากการขับร้องของฉันจบลง ท่ามกลางเสียงปรบมือของผู้เข้าร่วมงานสามร้อยกว่าคน ที่หอประชุมในมหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่ เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา งานนี้ร่วมจัดโดยเพื่อนพ้องจากพม่าที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และเพื่อนพ้องคนไทย เพื่อช่วยระดมทุนไปให้พี่น้องชาวพม่าผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนนาร์กิส ฉันบอกพวกเขาว่าฉันไม่ใช่นักร้อง แต่อยากมาร้องเพลง...เพื่อร่วมเป็นกำลังใจให้ทั้งผู้ประสบภัย และเพื่อนชาวพม่าที่อยู่ในไทย ให้สู้ต่อไปอย่างมีความหวัง
คืนนั้น ฉันได้เพื่อนใหม่อีกมากมาย นับตั้งแต่วันแรกที่เราไปจัดดนตรีเปิดหมวกที่ถนนคนเดินเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม แทบไม่น่าเชื่อว่าระยะเวลาเพียงสามชั่วโมงจะมีผู้ร่วมบริจาคกับเราถึงสองหมื่นห้าพันบาท ซึ่งได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เรา จัดกิจกรรมสืบเนื่องกันมาในภายหลัง
ภารกิจต่อมาในคืนนั้น คือนำข่าวสารจากคณะทำงานที่ตั้งขึ้น หลังจากการจัดเวที “เพื่อนพม่า” เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่หอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปให้กับทีมทำงานที่คลินิกแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แม้จำนวนเงินที่เราระดมไปช่วยเหลือ ประมาณหนึ่งแสนแปดหมื่นบาทจะน้อยนิด เมื่อเทียบกับองค์กรต่างประเทศที่ขนมาเป็นกองทัพ แต่พลังใจและพลังความคิดจากเพื่อนๆมากมายหลายองค์กร จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระยะยาวในภายหลัง
ค่ำคืนนั้นจบลง ที่หลังรถกระบะพร้อมกับเพื่อนร่วมทางที่แทบไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เสียงเพลงที่หอประชุมพายัพยังก้องอยู่ในหัว พอที่จะเป็นกำลังใจให้ตัวเองในช่วงเวลาอันเหนื่อยล้ามานานกว่าสองอาทิตย์ ฉันบอกตัวเองว่า...ฉันคงไม่ตายหรอก แต่คนอีกนับแสนนับล้านที่พม่า กำลังจะตายลงทุกวันๆ ...
พวกเราไปถึงแม่สอดประมาณตีสี่ ฉันอาบน้ำจิบกาแฟอ่านข่าวสารและรายงานต่างๆจากหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่า รอเวลาที่เราได้รับคำบอกว่า เราจะต้องไปงานศพที่ฝั่งพม่าในตอนเช้า ซึ่งหมอซินเทียร์จากคลินิกแม่ตาวคงจะไปร่วมงานด้วย ฉันไม่ได้ถามซักอะไรมาก คิดเแต่เพียงว่า คงเป็นเพื่อนสักคนของเขาที่จากไป และเราควรไปแสดงความเคารพเพื่อจะได้สานไมตรีกับเพื่อนใหม่ๆ อีก
เวลาผ่านไปเพื่อนร่วมทางเริ่มทยอยตื่น เรื่องราวและรายละเอียดเกี่ยวกับ “งานศพ” เริ่มกระจ่างขึ้นมาเรื่อยๆ สถานที่ที่เรากำลังจะไปคือกองบัญชาการของ KNU และผู้ที่เสียชีวิตคือ Saw Ba Thin ซึ่งก็เปรียบเหมือนประธานประเทศของรัฐกระเหรี่ยงนั่นเอง ฉันแอบอึ้งอยู่เงียบ ๆ เมื่อรู้ว่าเพื่อนใหม่ของฉันวันนี้ คือกองทัพที่ฉันได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ ถึงการต่อสู้เพื่อปกป้องเผ่าชนของเขาจากรัฐบาลทหารพม่า ภาพความตายและความน่ากลัวของสงคราม ลอยเข้ามาในห้วงคิดคำนึงเป็นระยะๆ จากนั้นฉันก็ไม่รู้อะไรเลย...
รถของเราผ่านไปทางอำเภอทางสองยาง และศูนย์ลี้ภัยแม่หละ ที่เต็มไปด้วยกระท่อมมุงหญ้าคากระจายอยู่บนดอยสูงหลายลูก ฉันจำได้คลับคล้ายคลับคลา...ว่าฉันเคยโบกรถผ่านมาที่นี่ เมื่อเกือบสิบปีก่อนสมัยยังเป็นเด็กนักศึกษา
ตอนนั้นฉันกับเพื่อนนั่งอยู่ข้างหลังรถกระบะ ฉันเข้าใจว่าตัวเองมองเห็นทิวเขาสีน้ำเงินสดอยู่ลิบๆ แต่เมื่อเข้าไปใกล้จึงได้รู้ว่า ที่แท้เป็นเต็นท์พักชั่วคราวของผู้อพยพจากฝั่งพม่า
เมื่อรถข้างหน้าเริ่มติดขัดทำให้รถของเราช้าลง ผู้คนนับร้อยนับพันที่อยู่ข้างทาง ได้เดินสวนรถของเรามา ภาพใบหน้าที่แบกความทุกข์หนัก...เหมือนคนแบกโลกไว้ทั้งโลกของพวกเขา ยังติดตาฉันมาจนทุกวันนี้ ฉันได้เรียนรู้ต่อมาอีกหลายปีให้หลัง ว่าทำไมพวกเขาต้องหนีตายข้ามมาฝั่งไทย ได้รู้ถึงความโหดร้ายทารุณของรัฐบาลทหารพม่า...ที่ฆ่าคนได้ไม่เลือก แต่สิ่งที่ฉันรู้นั้น...เทียบไม่ได้กับสิ่งที่เพื่อนมนุษย์ในพม่า-ต้องทนทุกข์มานานกว่าห้าสิบปี
เรือหางยาวพาพวกเราข้ามฟากฝั่งของแม่น้ำเมยไปสู่บริเวณงาน ฉันแปลกใจเล็กน้อยที่เขาไม่ได้ตรวจกระเป๋าฉันเลย และแปลกใจมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเพื่อนใหม่ที่ฉันอาศัยร่วมทางมาด้วยได้รับการทายทักจากเพื่อนชาว KNU ไปตลอดทาง ซึ่งนับจากริ้วรอยประสบการณ์บนใบหน้าแล้ว พวกเขาเหล่านั้นน่าจะมีตำแหน่งสูงๆ กันแทบทุกคน ฉันเองก็ได้รับการแนะนำไปตลอดทาง ว่าเป็นส่วนหนึ่งของทีมร่วมจัดงานระดมทุนช่วยผู้ประสบภัย เป็นใบเบิกทางที่ประกันว่าฉันมาดี ไม่ได้มีเลศนัยใดๆแอบแฝง และสังเกตเห็นว่า มีคนมาถ่ายรูปฉันเป็นระยะๆ ในใจแอบคิดว่า...คงได้ขึ้นแบล็คลิสท์ของรัฐบาลทหารพม่าเป็นแน่
ฉันอยากถ่ายรูปทหาร เคี้ยวหมาก แบกปืน ที่ยืนอยู่ทั่วไป ตัดกับภาพช่อดอกกุหลาบมากมาย ที่ประดับอยู่ทั่วงาน...
ตลอดวันนั้น ฉันได้พูดคุยกับเพื่อนใหม่มากมายหลายคน นอกจากการต่อสู้และวีรกรรมของพวกเขาแล้ว ฉันได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ ได้ยินเสียงหัวเราะพูดคุยยามเขาหยอกล้อกัน ฉันดีใจที่ได้เห็นเขามีความสุขกันบ้าง แม้จะเป็นเวลาเพียงน้อยนิด เพื่อนร่วมทางของฉันบอกว่าเขาไม่ได้เจอเพื่อนเก่าเหล่านี้มากว่าสิบปี ฉันดีใจมากที่ได้มาร่วมรับรู้ถึงความรู้สึกของพวกเขา และยิ่งทำให้ฉันตระหนักมากขึ้นไปอีกว่า เขาก็เป็นคนเหมือนกับเรา..
ในที่สุดเราได้พบหมอซินเทียร์ ใบหน้าสงบงามของหมอท่ามกลางแดดบ่ายอันแผดเผา ช่วยทำให้ฉันมีพลังได้อย่างประหลาด ฉันได้รับการบอกเล่าว่าหมอเป็นนักศึกษาแพทย์ที่หนีออกมาจากพม่าตั้งแต่ปี 1988 ที่มีการลุกขึ้นต่อต้านเผด็จการของนักศึกษา หมอและเพื่อนได้มาเปิดคลินิกที่แม่ตาวที่รักษาคนไม่เลือกว่าเป็นชาติหรือศาสนาใด จนได้รับการยอมรับจากทั้งทางรัฐบาลไทยและต่างประเทศ หมอได้รับรางวัลแมกไซไซ ด้วยความดีและความเป็นมนุษย์ที่แท้ของหมอ
คุณหมอยินดีที่จะร่วมงานกับทีมของเรา ซึ่งหมอบอกว่าช่วงนี้ที่คลินิกยังไม่มีปัญหาในเรื่องงบประมาณ แต่ความต้องการเฉพาะหน้าคือความรู้ในการฟื้นฟูจิตใจของผู้ประสบภัยที่เริ่มอพยพหนีตายออกมากันเรื่อยๆ คุณหมอจะนัดประชุมทีมในวันรุ่งขึ้นซึ่งเราสามารถเข้าร่วมประชุมกับทีมของหมอได้ ฉันโล่งใจไปหนึ่งเปลาะ เพราะอย่างน้อยเงินน้อยนิดของเราจะสามารถกระจายไปให้กับองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือใต้ดินในพม่าอื่นๆ ที่ยังไม่มีชื่อเสียงได้ด้วย
ตอนเย็นเราข้ามฟากแม่น้ำเมยกลับมาด้วยความเบิกบานใจ
รุ่งขึ้นอีกวัน ฉันรู้สึกปวดเมื่อยไปทั้งตัว เพราะแรงกระแทกกับรถกระบะมาตลอดคืน เพื่อนๆ ที่เชียงใหม่ทยอยโทรมาถามข่าวคราว ด้วยความตื่นเต้นระคนตกอกตกใจและเป็นห่วง ว่าเราข้ามไปถึงฝั่งพม่าได้อย่างไร แถมยังเป็นกระเหรี่ยง KNU เสียอีก ฉันแอบภูมิใจอยู่เล็กๆ ว่าอย่างน้อยชาตินี้ ฉันก็ได้สัมผัสกับพวกเขาแล้ว
เราไปถึงแม่ตาวคลินิกในตอนเกือบเที่ยง เพื่อนร่วมทางของฉันบอกว่าสภาพคลินิกแออัดกว่าปกติ ผู้คนเดินเข้าเดินออกกันตลอดเวลา ภาพชายหนุ่มนุ่งโสร่งกับใบหน้าคล้ำคมคายที่มีแป้งสีเหลืองปะอยู่ตามใบหน้า เริ่มชินตาฉันมากขึ้นเรื่อยๆ ฉันได้รับการเชื้อเชิญอย่างสุภาพ ให้เข้าไปในห้องประชุม ที่ให้การต้อนรับด้วยรอยยิ้มอันอบอุ่น แม้ใบหน้าเหล่านั้นจะปนเปื้อนไปด้วยความอ่อนล้า...
“มีจุดตรวจของทหารอยู่แทบทุกไมล์ ถ้าเราขนของไปมากๆ ก็จะถูกยึด แล้วพวกเขาก็จะบอกเราว่า เขาจะเอาไปแจกเอง เราต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้พวกทหารพม่าไปตลอดทาง จะมีคนมายืนรอรับของอยู่ข้างถนน เขาไม่มีบ้าน ไม่มีที่กำบังฝน มีทั้งเด็กและคนท้อง”
พี่ๆ บอกเล่าเรื่องราวข้างในให้พวกเราฟัง ฉันพยายามขบคิดว่าสองมือของฉันจะทำอะไรได้บ้าง
“ พวกเราไว้ใจรัฐบาลทหารพม่าไม่ได้ ถึงแม้พวกเขาจะให้คำสัญญาว่าจะรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ก็ไม่ได้หมายความว่าเงินเหล่านั้นจะไม่เข้ากระเป๋าพวกเขาเอง คนที่สูญเสียทุกอย่างจะข้ามมาฝั่งไทยมากขึ้น แต่การข้ามมาฝั่งไทยไม่ใช่การแก้ปัญหา เราต้องเปลี่ยนแปลงจากในพม่าให้ได้” เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งที่ KNU บอกฉัน
การเดินทางจากแม่สอดของฉันจบลงบนรถทัวร์มุ่งหน้าสู่เชียงใหม่ ฟ้ายังครึ้มดำไปด้วยเมฆหม่น ปรอยฝนยังคงโปรยปรายมาเป็นระยะ ฉันหวังว่าพรุ่งนี้-คงจะมีฟ้าสีทองของวันใหม่ สาดส่องมาให้ผืนแผ่นดินและผู้คนอีกครั้ง
“คนพม่ารู้มานานแล้วว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่ใช่คน แต่ไซโคลนนาร์กิส เพิ่งทำให้คนทั้งโลกได้รู้ว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่ใช่คน-ในวันนี้นี่เอง ! ”
........................
(แม้ว่าเวลาจะผ่านมาเกือบสองเดือนแล้ว แต่สถานการณ์ข้างในพม่าแทบจะไม่แตกต่างไปเลย การช่วยเหลือและฟื้นฟูยังมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนต่อไป ปัจจุบันพวกเราได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่ม “ เพื่อนเชียงใหม่เพื่อฟื้นฟูผู้ประสบภัยนาร์กิส” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักศึกษา อาสาสมัคร กลุ่มประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันวิชาการ ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อช่วยกันระดมทุนและรณรงค์เกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า ซึ่ง เราจะจัดกิจกรรมเวทีสาธารณะและคอนเสิร์ตระดมทุนกันอีกครั้งในชื่องาน “60 วันหลังนาร์กิส” วันที่ 11 กรกฎาคม 2551 ที่หอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เวลา 13.00- 21.00 น.)