สัมภาษณ์-เรียบเรียง : บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล
รศ.ดร.กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมณ์
เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเชี่ยวชาญภาษาทิเบต ทำวิจัยเรื่องทิเบตมานานนับ 10 ปี เคยเดินกราบอัษฎางคประดิษฐ์ (เดิน 3 ก้าว ก้มกราบ 1 ครั้ง) บนเส้นทางของนักแสวงบุญอันเก่าแก่ทุรกันดาร ณ เขาไกรลาสเป็นระยะทางกว่า 80 กม. ปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิพันดารา (Thousand Stars) ซึ่งเป็นองค์กรสร้างการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องพุทธศาสนาแบบวัชรยานในสังคมไทย และยังคงเดินทางไปทิเบตอยู่เสมอ
มิว เยินเต็น
บวชเรียนใต้ร่มกาสาวพัตร์ของพุทธศาสนาวัชรยานในบ้านเกิดที่ทิเบตมานาน 27 ปี เป็นผู้ติดตาม อ.กฤษดาวรรณ ในการเดินเท้าแสวงบุญบนเขาไกรลาส ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิพันดารา
อาจารย์กฤษดาวรรณ
มิวเยินเต็ม
ขอให้อาจารย์อธิบายเริ่มต้นอย่างสั้นๆ ว่า เครื่องดนตรีมีบทบาทอย่างไรในพุทธศาสนาแบบวัชรยาน
อ.กฤษดาวรรณ : ถามว่าเครื่องดนตรีมีบทบาทอย่างไรในวัชรยาน บทบาทก็คือเป็นส่วนหนึ่งของการทำพิธีในการปฏิบัติธรรม เครื่องดนตรีที่ใช้เป็นหลักคือกระดิ่งและวัชระ ทั้ง 2 สิ่งนี้เป็นของคู่กัน คือ กระดิ่งแทนปัญญา (wisdom) และวัชระแทนความกรุณา หรือบางทีเราจะเรียกความกรุณานั้นว่า “วิธี” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า method คนทั่วไปแม้แต่ชาวทิเบตโดยทั่วไปก็อาจไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ เพราะเขาไม่ค่อยได้สัมผัสกับเครื่องดนตรี แล้วก็ไม่ใช่ทุกนิกายจะใช้เครื่องดนตรีเยอะ ในบางนิกายผู้ปฏิบัติธรรมหรือชาวบ้านทั่วไปใช้ เช่น นิงมา กับ เพิน ส่วนเกลุกปะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมที่ไม่ใช่พระภิกษุหรือสามเณรี ปรกติจะไม่ใช้เครื่องดนตรี
แล้วคนทิเบตจะรู้ได้อย่างไรว่า ใครใช้เครื่องดนตรีชนิดใดได้ และใช้ได้ตอนไหนบ้าง
อ.กฤษดาวรรณ : คือจะมีระบุเอาไว้ในคัมภีร์ ยกตัวอย่างเช่น ในส่วนที่เป็นบทสรรเสริญอานิสงส์ของการสวดมนตร์ถึงพระแม่ตารา กำหนดไว้ว่าในการสวดต้องใช้กระดิ่ง หรือระฆังเล็กๆ ภาษาทิเบตเรียกว่า ฉื่อโป แต่ห้ามใช้บันเดาะอย่างนี้เป็นต้น ผู้ปฏิบัติธรรมที่ไม่ใช่พระ แต่สวดคัมภีร์เป็นก็สามารถใช้เครื่องดนตรีได้ ชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ใช่บรรพชิต ไม่ใช่พระอาจารย์ก็สามารถใช้เครื่องดนตรีได้ แต่ต้องอ่านคัมภีร์เป็น เข้าใจในการปฏิบัติ และมีครูควบคุม
ทราบมาว่า ในทางตะวันตกตอนนี้มีการใช้เครื่องดนตรีในการสวดมนตร์มากขึ้น ผู้ปฏิบัติธรรมในอเมริกานิยมใช้บันเดาะ ลักษณะเป็น “ดามาหรุ” จะมี 2 หน้า มีตุ้ม ใช้เคาะ แกว่ง ซึ่งปรกติจะใช้บันเดาะในการสวดบางประเภท อย่างเช่น การสวดถึง “ฑากินี” หรือการสวดอุทิศร่างกายที่เรียกว่า body offering แต่การสวดบทสรรเสริญจะไม่ใช้ ต้องอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่าเครื่องดนตรีแต่ละประเภทใช้แบบไหน ผู้ปฏิบัติก็จะทราบ หลายๆ นิกายจะใช้กระดิ่งกับวัชระในการสวดมนตร์ทั่วๆ ไป ในนิกายเพิน จะมีพิเศษอีกอันหนึ่งเรียกว่า “ซือเนียน”
เยินเต็น : หรือการรำหน้ากากก็จะมีเครื่องดนตรีอีกแบบหนึ่ง แต่ละอย่างจะมีการกำหนดเครื่องดนตรีเฉพาะแบบเอาไว้ และการใช้เครื่องดนตรีประกอบการสวดจะมีเทคนิค ซึ่งอยู่ๆ จะทำส่งเดชไม่ได้ ต้องศึกษา เมื่อศึกษาแล้วจึงจะสวดได้
สำหรับชาวบ้านทั่วไปที่ไม่สามารถใช้เครื่องดนตรีได้ เขาจะมีวิธีอย่างอื่นไหม
อ.กฤษดาวรรณ : ชาวบ้านทิเบตจะมีกงล้อมนตร์ที่ใช้มือปั่นเป็นอุปกรณ์ในชีวิตประจำวัน แล้วเป็นการปฏิบัติธรรม บางทีเขาเอากงล้อไปทำกังหันลมกระดาษ พอลมพัดมนตร์ก็ปั่น คือเขาทำทุกวิธีเพื่อให้มนตร์อยู่ในอากาศ เคยมีภิกษุณีมาอยู่ที่บ้านแล้วพยายามเอาบทสวดมนตร์ คาถา ไปแปะไว้ที่พัดลม เวลาพัดลมเปิดมนตร์ก็ได้สวด คือเป็นเทคนิคหลายๆ อย่างเพื่อให้มนตร์ได้รับการสวดไม่รู้จบ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ประกอบเป็นวัชรยาน หัวใจหลักคือเสียงสวดมนตร์และเสียงจากเครื่องดนตรี เพราะเขามองว่าดนตรีเป็นเครื่องบูชาถวายแด่พระพุทธเจ้า แด่ธรรมบาล
กงล้อมนตร์
อาจารย์พูดถึงนิกายต่างๆ หลายครั้ง ช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่าพุทธศาสนาในทิเบตมีกี่นิกาย
อ.กฤษดาวรรณ : แล้วแต่การแบ่ง ถ้าเราแบ่งตามองค์ดาไลลามะ ท่านบอกว่ามี 5 นิกาย คือ เกลุกปะ เป็นนิกายใหม่สุดและเป็นนิกายที่มีอิทธิพลมากในทิเบตสมัยหลัง โดยนับตั้งแต่องค์ดาไลลามะที่ 1 เป็นต้นมา ฝรั่งเรียกว่า นิกายหมวกเหลือง แต่คนไทยเราน่าจะเรียก เกลุกปะ เพราะชาวทิเบตไม่เคยเรียกตัวเองว่าหมวกอะไร
นิกายสาเกียปะ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคำว่าศากยะวงศ์แต่อย่างใด แล้วก็ กาจูปะ บางคนจะเขียนว่า กา-กยูปะ เป็นนิกายของท่านมิลาเรปะ สาเกียปะเป็นนิกายใหม่ต่อจากกาจูปะ นิกายต่อมาคือ นิงมาปะ เป็นนิกายแรกที่เกิดขึ้นเมื่อพุทธศาสนาจากอินเดียเข้าไปเผยแผ่ในทิเบต แล้วก็มีนิกายดั้งเดิมเรียกว่า เพิน องค์ดาไลลามะถือว่าเป็น 1 ใน 5 นิกายใหญ่ของพุทธศาสนาในทิเบต แต่ฝรั่งบางคนเขียนถึง เพิน ในเชิงลบ มองว่าไม่ใช่พุทธ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด คนไทยไม่เข้าใจไปอ่านตามภาษาอังกฤษแล้วก็ไปเรียกว่า “บอน” (Bon) จริงๆ ออกเสียงว่า “เพิน” เป็นพุทธศาสนาที่กำเนิดในทิเบต จะต่างจากอีก 4 นิกายซึ่งกำเนิดมาจากอินเดีย ได้รับอิทธิพลจากสันสฤต ส่วนของเพินนั้นจะมีอีกภาษาหนึ่งเรียกว่า ภาษาชังชง เป็นพระไตรปิฎกที่แยกออกมา แต่คำสอนไม่ต่างกัน เป็นคำสอนที่เน้นเรื่องอริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท เน้นเรื่องความเมตตากรุณา และเรียกว่าตัวเองเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน
เพิน เกิดก่อนนิกายอื่นๆ แต่คนไม่ค่อยเข้าใจแล้วไปมองว่า คนที่บูชายัญ คนที่นับถือภูตผีปิศาจ คนเหล่านั้นถือว่าเป็นเพิน เหมือนกับการที่ฝรั่งเข้ามาในเมืองไทย เห็นคนไทยที่เรียกตัวเองว่าพุทธมีการบูชาวัตถุเต็มไปหมด กราบไหว้ต้นไม้ แล้วบอกว่าคนไทยไม่ใช่พุทธแต่เป็นพวกนับถือผี มันเป็นความเข้าใจผิดในลักษณะเดียวกัน แต่ทำไมเพินจึงเป็นปัญหาหลักในขณะที่พุทธแบบไทยเราไม่เป็น เพราะว่ามีเรื่องการเมืองของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง สมัยที่พุทธศาสนาจากอินเดียเข้ามานั้น เป็นการที่ของใหม่เข้ามาแทนที่ของเก่า จึงเกิดการต่อต้านจากคนเดิม การที่มีการต่อต้านเพราะว่าจิตของมนุษย์ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจ แม้แต่ผู้ปฏิบัติธรรมบางคนก็ไม่เข้าใจ เมื่อมีการต่อต้านก็เลยกลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างนิกาย หลังจากนั้นก็เกิดปัญหาขึ้น แม้แต่เกลุกปะ กับนิงมาปะ หรือสาเกียปะก็มีปัญหา ในสมัยองค์ดาไลลามะที่ 5 มีคนในรัฐบาลทำลายวัดกาจูปะ วัดสาเกียปะ นิงมาปะ ด้วยการเผา คือจะให้ทุกอย่างเปลี่ยนเป็นเกลุกปะหมด ประวัติศาสตร์ของทิเบตกับเรื่องศาสนานั้นไปด้วยกัน แล้วเมื่อพระมีอำนาจหรือมีเรื่องของอำนาจเข้าไปอยู่ในศาสนจักรก็ทำให้เกิดปัญหา จากมุมมองของพวกเรา รวมทั้งชาวทิเบตที่ทำเรื่องทิเบต พูดกันเสมอว่า การที่ทิเบตแตกมันมีเรื่องของการเมืองภายในด้วย ไม่ใช่แค่อิทธิพลจากการบุกรุกของจีนเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการที่คนภายในประเทศไม่สามัคคีกัน
นอกจาก 5 นิกายที่พูดไปแล้ว ยังมีนิกายย่อยๆ องค์ดาไลลามะท่านเขียนเสมอว่า สำหรับท่านนิกายใหญ่มี 5 นิกาย แล้วยังมีนิกายย่อยอีก เช่น โจนังปะ แต่ไม่มีใครพูดถึง
กลับมาที่เรื่องดนตรี เสียงสวดมนตร์และเสียงดนตรีในพิธีกรรมมีความสำคัญต่อชีวิตชาวทิเบตอย่างไร และเสียงเหล่านี้มีผลต่อสภาวะจิตของผู้ปฏิบัติธรรมอย่างไร
เยินเต็น : ปรกติในชีวิตของเรา เราถวายเครื่องบูชาแด่พระพุทธเจ้าด้วยกาย วาจา ใจ ในการปฏิบัติธรรมเราก็ทำด้วยกาย วาจา ใจเหมือนกัน อย่างเช่น การถวายดอกไม้ถือว่าเป็นการถวายเครื่องบูชาทางกาย คือในทางรูปธรรม ส่วนเสียงดนตรีหรือเสียงมนตร์นั้นถือเป็นการถวายทางวาจา
เสียงที่สวดกับเสียงที่มาจากเครื่องดนตรี ถ้าใช้เป็นจริงๆ จะสามารถทำให้กลายเป็นเครื่องบูชา ถ้าเป็นการปฏิบัติทางเสียงจริงๆ ก็จะให้ผลที่มหัศจรรย์ แต่ถ้าใช้ไม่เป็นก็เป็นเพียงแค่การสวด หรือการใช้เครื่องดนตรีในการทำพิธีกรรมเท่านั้น ไม่ได้มีผลใดๆ ต่อจิต แต่ถ้าทำได้ดีจะมีผลต่อจิต
คนทั่วไปเวลาได้ยินเสียงดนตรีจากการปฏิบัติธรรม หรือมาดูการแสดงการตีกลอง หรือตีฉิ่งฉาบแบบทิเบต อาจจะชมว่าคุณแสดงได้ดีหรือประเมินว่าคุณแสดงเป็นอย่างไรบ้าง โดยที่เขาแค่ดูแล้วก็พิจารณา แต่ผู้ที่ปฏิบัติจริงๆ เขาไม่ได้แค่แสดงให้เราดูแล้วบอกว่าดีหรือไม่ดี แต่เขากำลังดูจิตของตัวเองว่าในขณะที่สวดนั้น จิตของเขาเป็นยังไง เขากำลังเข้าถึงศูนยตาที่มีความชัดใสหรือเปล่า หรือเขาแค่แสดงออกมาให้ไปพร้อมกับเสียงสวดมนตร์เพียงเท่านั้น หรือเขาไปได้ไกลกว่านั้น เขาได้เข้าถึงสภาวะธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน จริงๆ แล้วไม่ได้มีความสำคัญเลยว่าจะมีคนดูหรือไม่ หัวใจหลักก็คือเขาต้องการเข้าถึงสภาวะจิตของตัวเอง
อ.กฤษดาวรรณ : ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ ไม่ว่าจะกิน จะนอน หรือจะคุยกับใคร ไม่ว่าเราจะมีความสุขที่สุดหรือความทุกข์ที่สุด หัวใจหลักก็คือเราต้องการดูสภาวะจิตของเรา ว่าจิตของเราเป็นอย่างไรเมื่อเราเลวร้ายที่สุด เมื่อโกรธที่สุดเราเป็นอย่างไร เมื่อเรามีความสุขที่สุดเราเป็นอย่างไร การแสดงดนตรีก็ไม่ได้ต่างกัน ไม่ควรใช้คำว่าว่าแสดง ควรใช้คำว่าเมื่อเราใช้เครื่องดนตรีในการสวดมนตร์หรือปฏิบัติธรรม เราต้องการดูจิตของเรา แล้วจิตนั้นเป็นจิตที่ไม่แบ่งแยกจากศูนยตา ซึ่งเป็นสภาวะที่เป็นธรรมชาติที่สุด แล้วศูนยตานี้ไม่ใช่เป็นศูนยตาที่ว่างๆ ไม่มีอะไร แต่เป็นศูนยตาที่มีความชัดใส ไม่ใช่ศูนยตาที่มัวหมอง หรือเงียบเฉา ความชัดใสเป็นหัวใจของการปฏิบัติแบบทิเบต อย่างเวลานั่งสมาธิตั้งนิมิตถึงพระพุทธเจ้า จริงๆ พระพุทธเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของศูนยตา แต่เวลาตั้งนิมิตเราตั้งนิมิตถึงความชัดใสราวกับว่ามีอยู่จริง เราเห็นรายละเอียดทุกๆ อย่าง เห็นเครื่องเพชรทุกเม็ดทุกชิ้นที่ประดับอยู่ที่องค์ท่าน
เครื่องดนตรีที่ใช้ในการภาวนา
ทำไมเครื่องดนตรีหรือเสียงสวดมนตร์ของทิเบตเท่าที่ได้ยินมาจึงมีเสียงทุ้มใหญ่
เยินเต็น : ที่จริงมีเสียงหลายประเภทมาก การปฏิบัติแต่ละอย่างก็มีเสียงที่แตกต่างกันไป อาจเป็นเพราะว่าพระไม่ใช่ผู้หญิง เวลาสวดเสียงก็จะทุ้มใหญ่
อ.กฤษดาวรรณ : ท่านมิลาเรปะ ตลอดชีวิตท่านไม่ได้เครื่องดนตรีเลย ท่านมีแต่เสียง ท่านขับคีตาอยู่ตลอดเวลา เป็นเหมือนบทกวีทางธรรม เปล่งออกมาเป็นกลอน ซึ่งไม่สามารถพูดออกมาเป็นประโยคได้ แล้วลามะสำคัญของทิเบตหลายๆ คนก็จะเป็นอย่างนี้
พูดถึงลามะ มีอาจารย์สายวัชรยานที่เคยเป็นลามะหลายคน เช่น ท่านเชอเกียม ตรุงปะ นำพุทธศาสนาวัชรยานไปเผยแผ่ในโลกซีกตะวันตก ท่านมีวิธีการสอนอย่างไรท่ามกลางวัฒนธรรมที่แตกต่าง
อ.กฤษดาวรรณ : ท่านเชอเกียม ตรุงปะ ริมโปเช สอนเรื่องชัมบาลา ตัวเองมองว่าคำสอนของท่านเกี่ยวกับ ซกเชน แต่ท่านมีเทคนิคในการสอนที่ทำให้คนมีความรู้สึกว่าเป็นหนึ่งเดียวกันโดยใช้แนวคิดเรื่องชัมบาลา ซึ่งเป็นแนวคิดโบราณของชาวพุทธแต่ดั้งเดิม ท่านสอนโดยเน้นบริบทตะวันตก ซึ่งในสมัยที่ท่านสอนนั้นคนเป็นฮิปปี้ มีวงดนตรี Woodstock คนกำลังต่อต้านสงครามเวียดนาม อยู่ๆ จะให้คนมานั่งสมาธิถึงพระอวโลกิเตศวร คนนั่งไม่ได้หรอก คนกำลังมีความโกรธแค้นอยู่ในใจ ทำอย่างไรจะให้เขาหายโกรธ ทำอย่างไรจะทำให้เขาเข้าถึงสภาวะจิตของตัวเอง ท่านก็เลยนำเสนอรูปแบบที่ไม่ขัดต่อวัฒนธรรมตะวันตกมากนัก ท่านประยุกต์มาก อย่างเช่นท่านไปใช้ชีวิตกับพวกฮิปปี้ ท่านก็ต้องเป็นฮิปปี้ด้วย คือ ใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปเพื่อให้พวกเขาเห็นว่าจริงๆ ท่านไม่ได้ต่างไปจากเขา
มีบางคนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องภาพลักษณ์ของท่านอยู่พอสมควร
อ.กฤษดาวรรณ : ตรงนี้บางทีเราไปดึงประเด็นมาว่ากลุ่มนี้สอนแบบนี้ แต่เราไม่ได้ดูว่ามันเริ่มมาอย่างไร บางคนไปดูแค่ว่าท่านปฏิบัติตัวไม่ค่อยน่าเคารพเลื่อมใส ตรงนี้คนไม่ค่อยเข้าใจ หรือบางทีคนไทยมองว่าพระทิเบตฉันอาหาร 3 มื้อ หรือพระทิเบตทำไมกินเนื้อสัตว์ พระไทยก็กินนะ แต่เราไม่พูด แล้วชีวิตในทิเบตกับเมืองไทยก็ไม่เหมือนกัน
คือปรกติจิตมนุษย์ยังไม่เข้าถึงธรรมะที่ถ่องแท้ บางครั้งเรายังยึดติดกับการเปรียบเทียบ การแบ่งแยก พอเราเห็นอะไรสักหนึ่งอย่าง เราอดประเมินค่าไม่ได้ การที่เราประเมินค่าชี้ให้เห็นว่าจิตเรายังอยู่ในสังสารวัฏ อย่างเช่น เราได้ดอกไม้มาดอกหนึ่ง แทนที่จะพิจารณาดอกไม้ดอกนี้อย่างถ่องแท้ กลับคิดว่าดอกไม้ดอกนี้กับดอกที่เรามีอยู่อันไหนสวยกว่ากัน ดอกที่เราเห็นอยู่นี้ดูสวยแต่มันมีปัญหา ดอกที่เรามีอยู่ดีกว่า มีการเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา ทำให้เราไม่ได้พิจารณาสิ่งนั้นอย่าง
จิตดั้งเดิมไม่ได้เป็นจิตที่มีอารมณ์ แต่อารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมชาติ เราเพิ่งเชิญพระอาจารย์ท่านหนึ่งมาจากสิกขิม ท่านสอนว่าจิตเป็นเหมือนทะเล อารมณ์เป็นเหมือนคลื่น คลื่นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแต่มันไม่เคยทำร้ายทะเล มันไม่เคยทำให้ทะเลมัวหมอง เหมือนกับอารมณ์เกิดแล้วก็หมดไป ให้เรารู้ว่ามันเป็นธรรมดา มันเกิดแล้วมีวันหมด แต่บางคนกลับไปยึดติดในอารมณ์ว่าเมื่อโกรธแล้วจะโกรธอยู่อย่างนั้น ซึ่งไม่ใช่ความจริง ความโกรธจะหมดไป หรือบางคนเสียใจที่ญาติพี่น้องตายไป ก็จะเศร้าโศก แต่ความเศร้าจริงๆ มันหมดไป มันเป็นสภาวะธรรมดา
ปัญหาของเราก็คือ เราชอบไปนึกถึงอดีต ถ้าเราไม่นึกถึงอดีต ลองอยู่กับปัจจุบันจริงๆ คิดว่าอารมณ์เหล่านั้นกระเทือนเราน้อยมาก มันเข้ามาก็จริงแต่จะหมดไป สมมติว่าอยู่ๆ มีคนมาต่อยหน้าเรา เราอาจจะโกรธ แต่โกรธสักพักหนึ่งพอหน้าหายเจ็บแล้วเราอาจจะลืม แต่ถ้าเรามานั่งคิดใหม่เราก็โกรธใหม่ อารมณ์มันกลับมา ก็เป็นปัญหา
จะขอนอกประเด็นอีกหนึ่งคำถาม อาจารย์ช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับวัชรยานและตันตรยานว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
อ.กฤษดาวรรณ : ตันตรยานเป็นส่วนหนึ่งของวัชรยาน แต่ต้องเข้าใจว่าตันตระในวัชรยานไม่ใช่ตันตระแบบฮินดู ตันตระของวัชรยานเป็นไปเพื่อการหลุดพ้น เพื่อสัตว์ทั้งหลายโดยมีโพธิจิตเป็นรากฐาน
คำว่า ตันตระ หมายถึงคัมภีร์ เป็นชื่อคัมภีร์ และหมายถึงการปฏิบัติเพื่อประสานจิตเป็นหนึ่งเดียวกับพระพุทธเจ้า การปฏิบัติที่ประสานจิตเป็นหนึ่งเดียวกับครูเรียกว่า “คุรุโยคะ” ซึ่งเป็นตันตระอย่างหนึ่ง มีคัมภีร์บทหนึ่งชื่อว่า ตาราตันตระ ก็คือการประสานจิตเป็นหนึ่งเดียวกับพระแม่ตารา ทำอย่างไรจึงจะประสานเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ก็คือการเปลี่ยนจิตเรา สวดคาถาของพระองค์ ตั้งนิมิตของพระองค์ จนกระทั่งรู้สึกว่าเรากับพระองค์ไม่แยกจากกัน นี่คือตันตระ
ตันตระ คือการปฏิบัติอย่างหนึ่งในวัชรยาน เราเรียกว่าการปฏิบัติในสายพระสูตร คือปฏิบัติตามคัมภีร์พระไตรปิฎก ส่วนใหญ่แล้วผู้ปฏิบัติตามสายพระสูตรจะเป็นบรรพชิต และปฏิบัติตันตระเสริมเข้าไป เพราะฉะนั้นเขาก็ปฏิบัติทั้งสายพระสูตรและตันตระ บางคนที่ไม่ได้บวชอาจเน้นตันตระเป็นหลัก อ่านหรือสวดพระสูตรบ้าง แล้วปฏิบัติตามลำดับขั้น เพราะตันตระมีหลายประเภทแยกย่อย ผู้ที่เป็นโยคีจะเน้นการปฏิบัติตันตระซึ่งไม่จำเป็นจะต้องออกจากครัวเรือน สามารถครองเรือน และจะมีสายปฏิบัติที่เรียกว่า ซกเชน ซึ่งเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของตันตระก็ได้ เป็นคำสอนสูงสุด หรือเรียกว่าเป็นสายที่แยกออกมาก็ได้ เพราะบางคนอาจจะไม่สนใจปฏิบัติตั้งนิมิตถึงพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์เลย ตั้งจิตถึงตรัสรู้เลย ก็คือเน้นการทำกรรมฐาน การนั่งสมาธิ แต่กว่าจะไปตรงนั้นได้จะยากมาก
พระอาจารย์ทิเบตจึงมักสอนให้เราบูชาพระโพธิสัตว์องค์ใดองค์หนึ่งเป็นพิเศษ เพราะจิตของมนุษย์ปรุงแต่งตลอดเวลา ซึ่งอันตรายมากที่อยู่ๆ เราหลับตาหรือลืมตานั่งสมาธิแล้วจะให้เข้าถึงจิตตรัสรู้เลย มันไม่เข้า บางคนอาจได้พบแสงสว่างที่เป็นร่องรอยของจิตตรัสรู้ แต่มันมาแค่แวบเดียว ถ้าไม่อยู่กับเรา 24 ชั่วโมงเป็นเวลา 365 วัน ก็แสดงว่าเรายังไม่ถึง แล้วถ้าจิตของเรามีการปรุงแต่งคิดเรื่องนู้นเรื่องนี้ ก็แสดงว่าเรายังเข้าไม่ถึง เพราะฉะนั้นทิเบตจึงบอกว่าต้องอาศัยการทำบุญบารมีเยอะ ก็มีการนำตันตระเข้ามาช่วย แต่ว่าซกเชน ก็ไม่ใช่ของทุกนิกาย อย่างเกลุกปะก็ไม่พูดถึงซกเชน ไม่เน้นว่าจะต้องตรัสรู้ภายในชาติเดียว แต่เน้นแบบค่อยเป็นค่อยไป Greaten part of Enlightenment ให้อยู่บนวิถีที่มีครูสอนแล้วค่อยเป็นค่อยไป สั่งสมบุญบารมีไป เมื่อเวลามาถึงอาจจะหลายภพหลายชาติก็จะถึงการตรัสรู้ธรรม
แต่ของนิกายอย่างเพิน หรือนิงมา หัวใจอยู่ที่การตรัสรู้ภายในชาติเดียว จะมีแรงจูงใจที่ต่างกันเล็กน้อย ต้องตรัสรู้เยอะเพราะสัตว์โลกมีจำนวนมาก แล้วตันตระเป็นหนทางวิถีทางที่ทำให้เราได้เข้าถึงการตรัสรู้ธรรมอย่างรวดเร็ว
พระแม่ตารา
คำถามสุดท้าย อาจารย์มีข้อแนะนำสำหรับคนที่เริ่มหันมาสนใจพุทธศาสนาแบบทิเบตอย่างไรบ้าง
อ.กฤษดาวรรณ : เนื่องจากพุทธศาสนาแบบทิเบตมีเรื่องเครื่องดนตรีเข้ามา แล้วทำให้คนเกิดยึดติดกับเปลือกข้างนอกของทิเบตมากกว่าจะเข้าไปสู่แก่น งานของมูลนิธิมักจะบอกคนเสมอว่า การปฏิบัติของทิเบตไม่ได้อยู่ที่สีสัน คนปฏิบัติแบบทิเบตไม่ต้องลุกขึ้นมาใส่สร้อยลูกประคำยาวๆ ไม่ต้องมาใส่หินทิเบต ไม่ต้องแต่งอะไรที่ทำให้ดูประหลาด แต่ให้เป็นไปตามสภาวะธรรมชาติของเรา เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าไปอยู่ในทิเบตก็เป็นแบบหนึ่ง มาอยู่ในไทยก็จะต้องกลาย แต่แก่นแท้ของวัชรยานจะไม่เปลี่ยน แล้วควรจะมุ่งไปที่แก่น ไม่ใช่ว่าคนที่มาปฏิบัติแบบทิเบตแล้วจะต้องลุกขึ้นมาแต่งตัวแบบทิเบต หรือมายึดอยู่กับสีสันของเครื่องดนตรี แล้วไม่เข้าใจว่าคำสอนจริงๆ คืออะไร ถ้าเราใช้เครื่องดนตรีไม่เป็นมันเป็นเรื่องลวง เราจะต้องเข้าใจคำสอน ตรงนี้คิดว่าชาวบ้านทิเบตทั่วไปเขาไม่สนใจ เขาไม่คิดจะมาสั่นกระดิ่งให้เป็น แต่ว่าเขาเข้าใจคำสอน เคยมีฝรั่งคนหนึ่งมาขอให้ภิกษุณีทิเบตสอนการใช้กระดิ่งกับวัชระ ตัวเองมองว่าเขาน่าจะมุ่งไปที่คำสอนมากกว่า บางทีรูปแบบก็ดูน่าตื่นตาตื่นใจ แต่จริงๆ แล้วมันกลับไม่ใช่สิ่งที่สำคัญมากนัก
**บทสัมภาษณ์นี้จัดทำโดย โครงการธรรมสังคีต มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป