Skip to main content

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งในเมืองและต่างจังหวัด เนื่องจากในบางเส้นทางจะมีด่านตรวจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อถูกกักตัวหรือขอตัวค้นรถตอนถึงด่าน   ทั้งยังสงสัยกับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตรงด่านว่าใช่ตำรวจหรือไม่ มีอำนาจหน้าที่อะไรมาซักไซ้ถามเส้นทางการสัญจรของเรา หรือใหญ่เข้าก็อาจมีเรื่องขึ้นมาเช่นกรณีที่มีน้องคนหนึ่งได้โทรศัพท์เข้ามาทีคลินิกโดยเล่าว่า

“พี่ชายผมและพี่สะใภ้เดินทางไปบ้านญาติที่อยู่ในซอยค่อนข้างเปลี่ยวแต่ไม่ไกลจากชุมชนมากนัก ซึ่งพบด่านคล้ายด่านของตำรวจจึงหยุดให้ตรวจตามปกติ        เจ้าหน้าที่คนหนึ่งได้ขอตรวจค้นรถ และพบหนังสือพิมพ์กีฬาฉบับหนึ่งเขาจึงถามว่าเล่นพนันฟุตบอลหรือไม่ พี่ชายผมปฏิเสธไป   เค้าดูหัวเสียแต่จะคาดคั้นเอาให้ได้ว่าพี่ชายผมเล่นการพนันไม่ก็เป็นเจ้ามือ หรือคนเดินโพย แต่เพราะไม่มีหลักฐานอื่นที่หามาปรักปรำได้ จึงคว้าบัตรประชาชนและใบขับขี่ไปแล้วถอยออกไปคุยกับเจ้าหน้าที่อีกคนที่อยู่หลบมุมต้นไม้ข้างทางอยู่   ก่อนที่จะเดินกลับมายังรถยนต์ของพี่ชาย

เขาเปลี่ยนประเด็นใหม่ และบอกว่าพี่ชายเป็นบุคคลต้องสงสัยมีประวัติเคยค้ายาเสพติดเพราะลองเช็คกับฐานข้อมูลดูแล้วตรงกับชื่อในบัตรประชาชน    พี่ชายและพี่สะใภ้ผมจึงปฏิเสธอีกครั้ง  ขณะเดียวกันพี่ชายผมกำลังโทรศัพท์กลับมาที่บ้านเพื่อบอกให้แม่ได้ทราบ

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ดึงโทรศัพท์ออกและรุมทำร้ายพี่ชายผม พร้อมกับพูดว่า “มึงหัวหมอนักหรือ” จากนั้นเอาโทรศัพท์ไปคุย   และแนะนำตัวว่าเป็น สารวัตรกำนัน   และบอกแม่ผมว่าพี่ชายถูกจับเพราะมากับผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติด   ซึ่งแม่ได้ปฏิเสธไป จากนั้นเจ้าหน้าที่คนนั้นรับปากทางโทรศัพท์ว่าจะช่วยดูแลพี่ชายผม ซึ่งจริงๆแล้วได้ทำร้ายพี่ชายผมไปแล้วจากนั้นก็ได้ปล่อยตัวพี่ชายผมและพี่สะใภ้ผมกลับมา

หลังจากเห็นท่าไม่ดี แม่จึงรีบไปแจ้งความที่ สภอ.เมืองฯ เพื่อให้เรื่องไม่ลุกลามไปใหญ่โต เพราะกลัวว่าจะมีคนมาตามว่าเป็นผู้ค้ายาเสพย์ติดอีกรึเปล่า แต่เมื่อไปถึงทาง สภอ.เมืองฯ กลับให้ไปแจ้งความที่ สน.ท้องที่    เมื่อไปถึงที่ท้องที่กลับบอกว่าไม่มีการตั้งด่านที่นั้น หากมีการตั้งด่านจะมีแต่บริเวณหน้า สภอ.เมืองฯ เท่านั้น  ซึ่งก่อนกลับได้ไปแวะที่เกิดเหตุหลังจากเดิมประมาณ 3 ชม. ก็ไม่พบการตั้งด่านใดๆ 

เมื่อกลับไปที่ สภอ.เมืองอีกครั้ง จึงได้ลงบันทึกประจำวัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้พูดปัดความรับผิดชอบว่าคนทำร้ายเป็นสารวัตรกำนันไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ อบต. ถ้าจะฟ้องร้องก็ให้ไปเอาผิดที่นั่นเอง   เช้าวันรุ่งขั้นแม่จึงโทรศัพท์ติดต่อไปที่ อบต. แต่ถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธและพูดเชิงดูถูกถากถางอีกเช่นเคย   แม่จึงโทรไปหากำนันท้องที่ ซึ่งกำนันคนนั้นก็พูดและถามด้วยความรำคาญทั้งยังเยาะเย้ยและดูถูกโดยไม่สนใจแต่อย่างใด  

หลังจากนั้นแม่จึงโทรศัพท์ไปที่ อบต.อีกครั้ง และได้พบนายกฯอบต.แม่จึงเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ฟัง ซึ่งเขายอมรับฟังเหตุผลและสนทนาด้วยพร้อมกับรับปากว่าจะตักเตือนเจ้าหน้าที่ในสังกัด และกล่าวขอโทษแม่  แม่จึงยอมยุติเรื่องไว้เท่านี้ แต่ส่วนผมเห็นว่าเป็นการกระทำที่ใช้อำนาจที่มิชอบควรจะทำอะไรบ้าง ไม่อย่างนั้นพี่ชายหรือผมอาจโดนดักกลั่นแกล้งซ้ำเพราะไปแจ้งความให้เขาเดือดร้อน”

เรื่องทำนองนี้ยังมีอีกหลายกรณีที่เคยปรึกษาเข้ามาว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนหนึ่งได้ใช้อำนาจของตนใช้ในทางที่มิชอบ กล่าวคือ มีการตั้งด่านตรวจรถและเรียกรับค่าปรับจากผู้ขับขี่

โดยลักษณะการตั้งด่านตั้งตรวจในทางโค้งบ้าง ในมุมมืดมุมอับบ้าง ไม่มีป้ายบอกว่ามาจาก สน.ท้องที่ไหน ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าจะต้องตั้งในทางตรงที่สามารถมองเห็นได้ และต้องมีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรดูแลควบคุมด้วย   ในหลายกรณีก็มีคนที่ไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจมาปะปนหรือตั้งด่านขอตรวจค้นและข่มขู่อยู่เป็นระยะ

ประชาชนที่แจ้งเข้ามาจำนวนหนึ่งก็มักจะถูกเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเรียกค่าปรับในกรณีขับขี่รถโดยที่ไม่มีใบอนุญาต หรือไม่สวมหมวกกันน็อก  ซึ่งชาวบ้านก็ไม่รู้คิดว่าตนผิด จึงยอมจ่ายค่าปรับตรงนั้น และมีหลายครั้งที่แจ้งว่าการจ่ายดังกล่าวเป็นการจ่ายโดยที่ไม่มีการออกเอกสารใดๆ ให้ และเสียตรงจุดเกิดเหตุ    และในระยะหลังมีการพูดถึงการปฏิบัติตัว ณ ด่านตรวจแอลกอฮอล์เข้ามามาก

รวมถึงด่านที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจค้นแรงงานผิดกฎหมายที่เรียกรถโดยสารที่มีพี่น้องชาติพันธุ์เดินทางมากับรถสาธารณะ หรือขับรถส่วนตัวมา   เมื่อพบว่าเลขประจำตัวประชาชนมิได้ขึ้นต้นด้วยเลข 3 หรือเลข 1 ก็จะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ หรือเมื่อพูดภาษาไทยไม่ชัดก็จะโดนบังคับให้ลงจากรถเพื่อตรวจค้นตัวค้นรถอย่างละเอียด แม้บางคนเป็นคนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยถูกกฎหมายก็ยังโดนกักตัวไว้นานทำให้เสียเวลาในการทำงานไปมากเช่นกัน
                ลักษณะการกระทำข้างต้นพี่น้องที่แจ้งเข้ามากันมาไม่น้อยก็เพราะเห็นว่าเป็นช่องทางหาผลประโยชน์ที่มิชอบของเจ้าพนักงาน และเป็นการให้ประชาชนเสียเวลาและอารมณ์มากทีเดียว

วิเคราะห์ปัญหา

1.การตั้งด่านจราจรและด่านตรวจจะกระทำตามอำเภอใจและให้เจ้าหน้าที่ระดับใดจะมาตั้งตรวจและใช้อำนาจในการตรวจค้นได้หรือไม่

2.การใช้อำนาจในการขอดูใบขับขี่ บัตรประจำตัวประชาชน และตรวจค้นรถจะต้องมีขั้นตอนอย่างไร สามารถยึดบัตรและเอกสารของประชาชนไปทันทีได้หรือไม่  

3.การตั้งข้อหาเกี่ยวกับความผิดตามกฎหมายจราจรและการเปรียบเทียบปรับจะต้องทำเช่นไร หากเจอด่านตรวจแอลกอฮอล์ต้องทำอย่างไร

4.การตั้งข้อหาร้ายแรงกับประชาชนจะกระทำได้หรือไม่ ประชาชนมีสิทธิในกระบวนการกล่าวหาปรักปรำเหล่านี้อย่างไร

5.การเพ่งเล็งประชาชนกลุ่มใดเป็นพิเศษด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา สถานะ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

6.การพูดจาข่มขู่ และทำร้ายร่างกายประชาชนมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่

7.หากเกิดการละเมิดสิทธิโดยเจ้าพนักงานจะมีกระบวนการเรียกร้องสิทธิอย่างไร

การนำกฎหมายมาแก้ไข

1.การตั้งด่านจราจรหรือด่านตรวจของเจ้าพนักงานรัฐ จะต้องมีเจ้าหน้าที่สัญญาบัตรประจำด่านอย่างน้อยหนึ่งคน โดยป้ายด่านจะต้องมีการะบุถึงสังกัดที่มาตั้งด่านตรวจรวมถึงชื่อของร้อยเวรผู้ควบคุม   โดยจะต้องตั้งในจุดที่มองเห็นได้ มิใช่จุดอับจุดอันตราย   หากเป็นด่านเถื่อน ด่านลอย ประชาชนไม่ต้องหยุดรถให้ตรวจ และสามารถแจ้งให้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ตั้งดานลอยได้

2.เจ้าพนักงานที่มีอำนาจในการตรวจนั้นจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ที่มีการแต่งตั้งตามกฎหมายเท่านั้น   การขอดูบัตรและเอกสารจะกระทำได้แต่เจ้าพนักงานไม่มีอำนาจยึดไว้ทันทีต้องมีการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและ พรบ.จราจรทางบกฯ เสียก่อน   การตรวจค้นตัวและรถจะต้องทำในที่สว่างและมีพยานชัดเจนและประชาชนรวมถึงเจ้าของรถมาร่วมตรวจได้

3.การตั้งข้อหาหรือเปรียบเทียบปรับจะต้องเป็นไปตามกฎหมายจราจรเท่านั้น ซึ่งจะมีข้อหาที่ชัดเจนและมีโทษระบุไว้อย่างละเอียด   การเปรียบเทียบปรับต้องกระทำที่สถานีตำรวจที่ด่านระบุ หรือถ้าเป็นตำรวจทางหลวงอาจมีสำนักงานอยู่ใกล้จุดตรวจก็เสียค่าปรับ ณ จุดตั้งด่านได้   ในกรณีมีด่านตรวจแอลกอฮอล์ ประชาชนต้องให้ความร่วมมือในการตรวจ กฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ไม่ให้ความร่วมมือ คือ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ

4.เจ้าพนักงานจะควบคุมตัวและตั้งข้อหาร้ายแรงกับประชาชนได้ต่อเมื่อพบการกระทำความผิดซึ่งหน้า เช่นพบหลักฐานเป็น วัตถุผิดกฎหมาย หรือวัตถุเชื่อได้ว่ามีไว้เพื่อกระทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน   ซึ่งประชาชนก็มีสิทธิโต้แย้งสิทธิและขอพบตัวแทนทางกฎหมาย และติดต่อญาติพี่น้อง ที่ปรึกษากฎหมายได้ทันทีเช่นกัน   ซึ่งจะมีไม่มีการตัดสินว่าผิด ณ จุดตรวจ ต้องมีการดำเนินคดีไปจนถึงศาล

5.การใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานในการตรวจค้นโดยเหตุแห่งความแตกต่างทางสถานภาพบางประการจะกระทำไม่ได้ เพราะเป็นการเลือกประติบัติด้วยเหตุที่ไม่เป็นธรรม  เว้นแต่มีหลักฐานที่ชัดเจนเช่นการรายงานจากสายข่าวว่ามีบุคคลใดที่ต้องสงสัยผ่านมา จึงจะสามารถใช้อำนาจตามวิธีพิจารณาความอาญาเข้าไปขอตรวจค้นและหากพบหลักฐานจึงจะนำตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

6.การพูดจาข่มขู่และทำร้ายร่างกายประชาชน ถือเป็นความผิดวินัย และเป็นความผิดทางอาญาฐานทำร้ายร่างกาย รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าพนักงาน

ช่องทางเรียกร้องสิทธิ

1.กระบวนการตาม พรบ.การจราจรทางบกฯ เป็นวิธีการใช้อำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คดีความทั้งหลายจึงอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลอาญา รวมไปถึงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมทั้งหลาย

2.การตั้งข้อหา การเปรียบเทียบปรับ หรือการฟ้องร้องทั้งหลาย จึงเริ่มที่ตำรวจ ส่งสำนวนไปที่อัยการ สั่งฟ้องไปที่ศาลอาญา   หากเป็นความผิดที่โทษไม่สูงสามารถเปรียบเทียบปรับที่ สน. ได้เลยไม่ต้องขึ้นศาล   ในกรณีความผิดร้ายแรง เช่น เมาแล้วขับต้องไปขึ้นศาลเพื่อฟังคำพิพากษาและรับโทษหรือมาตรการเพื่อความปลอดภัยต่อไป เช่น รายงานตัวและบำเพ็ญประโยชน์

3.หากมีกรณีเจ้าพนักงานเลือกประติบัติ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ให้ร้องเรียนไปยังต้นสังกัดของเจ้าพนักงาน เช่น นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ เรื่อยไปถึงผู้กำกับสถานีตำรวจดังกล่าว   หากเรื่องไม่คืบหน้าและยังไม่มีการเยียวยา อาจร้องไปยัง ปปช. ได้  รวมถึงการร้องเรียนองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ตรวจการแผ่นดิน

4.หากต้องการฟ้องร้องให้เจ้าพนักงานรับผิดทางอาญาและชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งต้องแจ้งความให้อัยการฟ้องไปยังศาลอาญาให้ลงโทษและสั่งชดใช้ค่าเสียหาย   หากตำรวจไม่รับแจ้งความหรืออัยการสั่งไม่ฟ้อง ก็ยังตั้งทนายฟ้องเองได้เช่นกัน  เมื่อศาลสั่งลงโทษทางอาญาก็จะสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งพร้อมกันไปเลยได้ตามค่าเสียหายที่นำสืบได้ตามสำนวน

สรุปแนวทางแก้ไข

                ใช้หลักการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานต้องกระทำตามกรอบของกฎหมาย และความผิดต่อร่างกายทางอาญา   ซึ่งกรณีนี้มีการตั้งด่านลอยโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ร้อยเวรประจำการ ซึ่งกรณีนี้ไม่มีนายตำรวจร้อยเวร และมีการปรับ ณ จุดเกิดเหตุ ย่อมเป็นการกระทำผิดกฎหมาย สามารถร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชา และ ปปช. รวมถึงฟ้องศาลอาญาในคดีเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

กรณีมีการใช้กำลังทำร้ายร่างกายหรือเลือกปฏิบัติ ใช้หลักการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานต้องกระทำตามกรอบของกฎหมาย และความผิดต่อตำแหน่งของเจ้าพนักงานเป็นการกระทำผิดอาญาสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ หากคดีไม่คืบหน้าอาจร้องเรียนไปยัง ปปช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รวมถึงฟ้องศาลอาญาให้รับโทษอาญาและชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งฯ

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
การพัฒนาสิทธิแรงงานรับจ้างอิสระ (Freelancer) ต้องยึดโยงกับหลักกฎหมายสำคัญเรื่องการประกันสิทธิของแรงงานอันมีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน (Human Rights-Based Approach – HRBA) ไว้ เพื่อเป็นรากฐานทางกฎหมายในการอ้างสิทธิและเสนอให้ภาครัฐสร้างมาตรการบังคับตามสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การประกันรายได้รูปแบบ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของปัจเจกชนจากการเก็บข้อมูลและประมวลผลโดยบรรษัทเอกชนจำต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลตามมาตรฐานที่กำหนดหน้าที่ของผู้ควบคุมระบบตามกฎหมายด้วย เนื่องจากบุคคลหรือกลุ่มองค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเจ้าของข้อมูลในหลายรูปแบบ อาทิ การให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพปั
ทศพล ทรรศนพรรณ
บุคคลแต่ละคนย่อมมีทุนที่แตกต่างกันไปทั้ง ทุนความรู้ ทุนทางเศรษฐกิจ ทำให้การตัดสินใจนั้นตั้งอยู่บนข้อจำกัดของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นการไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี ขาดความรู้ทางการเงิน ไปจนถึงขาดการตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพตนเองและผู้อื่นในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้นรัฐไทยยังมีนโยบายที่มิได้วางอยู่บนพื้นฐานข
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทบัญญัติกฎหมายที่ใช้เป็นรากฐานในการอ้างสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น จะพบว่ารัฐไทยได้วางบรรทัดฐานทางกฎหมายที่รับสิทธิของประชาชนในการรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากหลักการพื้นฐานสำคัญที่เชื่อมโยงเรื่องสิทธิม
ทศพล ทรรศนพรรณ
เทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เข้ามามีอิทธิพลแทบจะทุกมิติของชีวิต ส่งผลให้พฤติกรรมด้านการปฏิสัมพันธ์ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีประชาชนจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีในการหา “คู่” หรือแสวง “รัก” ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระทำความผิดที่เรียกว่า Romance Scam หรือ “พิศวาสอาชญากรรม”&
ทศพล ทรรศนพรรณ
เมื่อถามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนว่าอยากเห็นสังคมไทยเป็นเช่นไรในประเด็นการมีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ หรือมีความคาดหวังให้รัฐไทยปรับปรุงอะไรเพื่อส่งเสริมการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของกลุ่มเสี่ยง   นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยได้ฉายภาพความฝัน ออกมาดังต่อไปนี้
ทศพล ทรรศนพรรณ
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้คร่ำหวอดอยู่ในสนามมายาวนานได้วิเคราะห์สถานการณ์การคุกคามผ่านประสบการณ์ของตนและเครือข่ายแล้วแสดงทัศนะออกมาในหลากหลายมุมมอง ดังนี้
ทศพล ทรรศนพรรณ
สถานการณ์ในด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศนั้น มีความสัมพันธ์กับหลายปัจจัยที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการละเมิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศที่เกิดจากข้อค้นพบจากกรณีศึกษา มีปัจจัยดังต่อไปนี้1. สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับบริบทภายในประเทศ
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทวิเคราะห์ที่ได้จากการถอดบทสัมภาษณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากประสบการณ์ ในหลากหลายภูมิภาคไปจนถึงความแตกต่างของการทำงานกับกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสิทธิแตกต่างกันไป   เป็นที่ชัดเจนว่าเขาเหล่านั้นมีชีวิตและอยู่ในวัฒนธรรมแตกต่างไปจากมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและนิติรัฐที่ปรากฏในสังคมตะวันตก ซึ่งสะ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ถูกรับรองไว้โดยพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ให้ความสำคัญประกอบจนก่อให้เกิดอนุสัญญาเฉพาะสำหรับกลุ่มเสี่ยงนั้น ๆ ประกอบไปด้วย สตรี, เด็ก, เชื้อชาติ และ แรงงานอพยพ รวมถึง ผู้พิการ โดยกลุ่มเสี่ยงมีสิทธิที่ถูกระบุไว้ในปฏิญญาว่าด้วย
ทศพล ทรรศนพรรณ
แนวทางในการสร้างนโยบาย กฎหมาย และกลไกเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนจากการสอดส่องโดยรัฐมาจาการทบทวนมาตรฐานและแนวทางตามมาตรฐานสากลเพื่อสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายครอบคลุม 2 ประเด็นหลัก คือ
ทศพล ทรรศนพรรณ
ต้นปี 2563 หลังจากการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ถูกกดไว้มาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 ก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง เกิดการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลกระจายไปทั่วทุกจังหวัดในรัฐไทย จุดสำคัญและเป็นเรื่องที่ไม่ปรากฏขึ้นมาก่อนในหน้าประว