Skip to main content

กฎหมายมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศใช้ 

กฎหมายที่มีผลร้ายห้ามมีผลย้อนหลัง  การออกกฎหมายมาลงโทษการกระทำที่เกิดขึ้นในอดีตจะทำไม่ได้ 

กฎหมายสิ้นผลเมื่อประกาศยกเลิก 

มีผู้สอบถามเข้ามาว่า เมื่อเกิดการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปแล้ว  จะมีกฎหมายหรือกรอบกติกาใดอีกบ้างที่ยังมีผลอยู่?
เพราะดูเหมือนว่า เมื่อมีการรัฐประหารแล้ว ประเทศไทยมีเพียงประกาศคณะรัฐประหาร คำสั่งฯ และกฎอัยการศึก เป็นกฎหมายสูงสุด 

ตอบอย่างง่ายดาย คือ มีอีกมากมาย!     
นั่นก็คือ กฎหมายอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกประกาศยกเลิก  ก็จะมีผลบังคับใช้อยู่ เพราะไม่ถูกยกเลิกเพิกถอน หรือถูกประกาศทับโดยคำสั่งของคณะรัฐประหารในเรื่องเดียวกัน   ตัวอย่างของกฎหมายที่ยังมีผลอยู่ คือ ประมวลกฎหมายหลักทั้ง 4 ของประเทศไทย ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์    นอกจากนี้ พระราชบัญญัติทั้งหลายก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่เกือบจะครบถ้วน   กฎหมายเหล่านี้ก็ยังคงใช้ต่อไปเรื่อยๆ

กฎหมายที่มีลักษณะเป็นกรอบกติกาทางการเมืองและรับรองสิทธิพลเมือง ที่คนจำนวนมากหลงลืม รวมถึงเหล่านักกฎหมายเองก็ตามก็คือ กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งมีสถานะเป็นพระราชบัญญัติหนึ่งในระบบกฎหมายไทย เนื่องจากรัฐสภาไทยได้ให้สัตยาบันและมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยแล้วตั้งแต่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๐ เพราะมีการอนุวัติการเป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้มีผลนั่นเอง

 

ข้อ 4 ของกติกาฯ ได้ให้กรอบเกี่ยวกับสถานการณ์พิเศษไว้ว่า


1) รัฐจะจำกัดสิทธิบางประการได้ก็ด้วยเหตุแห่ง “ภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของรัฐ” และจำกัดสิทธิเท่าที่ “จำเป็น” และ “ไม่เลือกประติบัติ” ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง           

หากปรับใช้กับสถานการณ์รัฐประหารจะเห็นได้ว่าการประกาศ “กฎอัยการศึก” นั้นมิได้ตั้งอยู่ในภาวะ “ภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของรัฐ” เนื่องจากไม่มีความขัดแย้งแบบสงครามที่มีการปะทะและยึดพื้นที่ของกองกำลังติดอาวุธตามเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยสงคราม

 

2) แม้ในยามฉุกเฉิน ก็มีสิทธิจำนวนหนึ่งที่ละเมิดหรือจำกัดมิได้ พูดง่ายๆ ไม่ว่าเวลาใด ก็ห้ามยกเลิกสิทธิเหล่านี้ คือ
- สิทธิในการมีชีวิต   ไม่ถูกฆ่า ประหัตประหารตามอำเภอใจ เว้นการประหารชีวิตตามคำพิพากษาศาล

- สิทธิในเนื้อตัวร่างกายไม่ถูกทรมาน    ไม่มีการซ้อมทรมานไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆทั้งสิ้น

- สิทธิในการไม่ถูกกระทำเยี่ยงทาส   

- สิทธิไม่ถูกจำคุกจากการเป็นหนี้สัญญา

- สิทธิที่จะไม่ถูกลงโทษด้วยโทษทางอาญาที่ไม่ได้เขียนไว้ล่วงหน้า รวมถึงห้ามออกโทษอาญาใหม่ไปใช้กับการกระทำในอดีต    โทษทางอาญาต่างๆ ที่คณะรัฐประหารจะนำมาใช้จะต้องระบุในกฎอัยการศึก หรือประมวลกฎหมายอาญา หรือพระราชบัญญัติที่ประกาศไว้ตั้งแต่แรก   คณะรัฐประหารจะคิดความผิดฐานใหม่ๆ หรือเพิ่มโทษไปจากกรอบกฎหมายเดิมมิได้

- สิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายในทุกแห่งหน   คณะรัฐประหารจะประกาศให้บางพื้นที่เป็นแดนสนธยา เป็นแดนเถื่อนไร้กฎหมาย ไม่มีการคุ้มครองสิทธิประชาชนไม่ได้

- เสรีภาพทางความคิด มโนธรรม และศาสนา

 

3) รัฐต้องแจ้งการจัดกัดสิทธิในกติกาฯ ต่อเลขาธิการสหประชาชาติว่า จะระงับสิทธิใดบ้าง และจะยุติการจำกัดสิทธิเมื่อใด

คณะรัฐประหารต้องแจ้งให้สหประชาชาติทราบว่า จะยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการประกาศกฎอัยการศึกลงเมื่อไหร่   เนื่องจากการไม่แจ้ง ไม่ประกาศว่าจะยุติเมื่อใด สร้างความไม่มั่นใจให้ประชาชนว่าจะหลุดออกจากภาวะเสี่ยงต่อการถูกจำกัดสิทธิลงเมื่อใด   ดังนั้นต้องมีการประกาศอย่างชัดเจนว่ายกเลิกเคอร์ฟิว ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกลงเมื่อไหร่   ซึ่งเป็นที่สงสัยว่าคณะรัฐประหารได้แจ้งหรือไม่ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้บอกให้คณะรัฐประหารแจ้งแล้วหรือไม่
 

นี่คือ กรอบกฎหมายที่มีผลอยู่เสมอ   แต่นักกฎหมายไทยจำนวนมากเข้าใจผิดว่ากฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชนไม่มีผลในระบบกฎหมายไทย   แต่แท้จริงแล้วกติกาฯ นี้มีผลบังคับในรัฐไทยเพราะได้อนุวัติการเป็นกฎหมายภายในแล้วตั้งแต่ 30 มกราคม พ.ศ.2540 และยังมีผลบังคับอยู่ในฐานะ “พระราชบัญญัติหนึ่ง” แม้จะมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไปแล้วก็ตาม


ประเด็นถัดมา คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ยังมีผลบังคับใช้ได้อยู่หรือไม่?

หากตอบตามเจตนารมณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็ถือว่า “ยังมีผลบังคับใช้อยู่” เพียงแต่ต้องแสดงให้เห็นว่า “เป็นจริง” โดยการฟ้องไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ใช้อำนาจตาม ม.68 ให้ “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ”  ดังที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจน   และประชาชนทั่วไปก็มีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตาม ม.69 โดยสามารถใช้สิทธิรักษารัฐธรรมนูญจากการทำลายของคณะผู้ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ปลอดจากการรับผิดและบังคับโทษของกฎอัยการศึก   แต่องค์กรที่สร้างขึ้นมาเพื่อทำให้ มาตราต่างๆของรัฐธรรมนูญมีชีวิตมีผลบังคับใช้จริง ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ นั่นเอง

สรุปง่ายๆ คือ รัฐธรรมนูญ 2550 จะมีผลบังคับต่อไปหรือไม่ ก็อยู่ที่ ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญไว้ดังที่เจตนารมณ์ที่ตั้งขึ้นมาหรือไม่?  ถ้าไม่! ก็เป็นที่น่าฉงนว่า ตั้งขึ้นมาเพื่อการใด?  และเมื่อเทียบกับความกระตือรือร้นของศาลรัฐธรรมนูญในการตัดสินตามมาตรา 68 ในช่วงก่อนหน้านี้ ก็ชวนให้นักกฎหมายทั้งประเทศเข้าใจเจตนารมณ์ของ “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ยากขึ้นเรื่อยๆ

 

มีการกำหนดความผิดของการทำรัฐประหารหรือไม่?

ประมวลกฎหมายอาญาก็ได้กล่าวถึงการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ ทำลายอำนาจฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติไว้อย่างชัดเจน ใน กฎหมายอาญา มาตรา 113   โดยความผิดฐานกบฏในราชอาณาจักรนี้ มีความผิดสูงสุด คือ ประหารชีวิต

การบังคับให้ผู้กระทำการรัฐประหารได้รับผลตามมาตรา 113 จะต้องมีการดำเนินคดีอาญาในศาลยุติธรรม   โดยเจ้าพนักงานของรัฐทั้งหลายสามารถริเริ่มคดีได้เองโดยมิพักต้องรอให้ประชาชนต้องแจ้งความร้องทุกข์แต่ประหารใด    คำถามคือ มีใครกล้าริเริ่มการดำเนินคดีกับคณะรับประหารหรือไม่ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง จะเลือกดำเนินการอย่างไร ในเมื่อถูกบังคับให้ปฏิบัติงานภายใต้อำนาจคณะรัฐประหารที่กุมอำนาจทหาร และการใช้กำลังไว้ที่ฝ่ายทหารโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยกาศึก และการออกคำสั่งต่างของคณะรัฐประหาร ซึ่งมีการยอมรับสถานะทางกฎหมายโดยศาลไทยเสมอมา   

คณะรัฐประหารจึงกลายเป็นรัฐาธิปัตย์ด้วยการยอมรับของเจ้าหน้าที่ของรัฐและกระบวนการยุติธรรมไทยนั่นเอง   เสมือนเป็นการยืนยันว่า อำนาจทหารเป็นที่มาของความชอบธรรมของกฎหมาย

 

ประชาชนทั่วไป กับ ศาลทหารในภาวะอัยการศึก

แม้ได้บอกไปข้างต้นแล้วว่า การกำหนดโทษทางอาญาขึ้นใหม่จะทำไม่ได้ ก็จริง  ซึ่งคณะรัฐประหารทำได้มากสุด คือ ออกคำสั่งกำหนดฐานความผิดและโทษได้ไม่เกินที่มีอยู่ใน กฎอัยการศึก ดูเหมือนน้อย แต่ก็มาก  เพราะเมื่อเอากฎอัยการศึก บวกกับ ประมวลกฎอาญาหมวดความมั่นคง ที่คณะรัฐประหารประกาศให้อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารด้วย   นั้นมีความร้ายแรงมาก   เพราะความผิดและโทษตามประมวลกฎหมายอาญา หมวดความมั่นคง ก็มีโทษสูงสุด คือ ประหารชีวิต หากบุคคลใดถูกตัดสินว่าเป็น “กบฏ” 

ภาวะปัจจุบันสุ่มเสี่ยงมาก เนื่องจากใช้กระบวนการพิสูจน์ความผิดแบบพิเศษ คือ ใช้ศาลทหาร ซึ่งต่างจากศาลยุติธรรมทั่วไป แม้จะอนุญาตให้จำเลยหาทนายมาได้เอง  แต่ผู้ที่ทำหน้าที่ในศาลทหาร ไม่ว่าจะเป็นองค์คณะตุลาการ อัยการทหาร ล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งอยู่ภายใต้โครงสร้างของกองทัพนั่นเอง  

สิ่งที่เกิดขึ้นจากคดีความมั่นคงอีกประการ คือ ผู้ต้องหาจะถูกกระทำในฐานะผู้ก่อการร้ายที่คุกคามความมั่นคงของชาติ   เช่น การกำหนดกรอบการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่ออกมาสู่คดีนอกคุก (การประกันตัว) ก็ต่างจากผู้ต้องหาในสถานการณ์ปกติมาก   กล่าวคือ มักไม่ได้รับการอนุญาตปล่อยตัว 

 

การกระทำนอกกรอบ และไร้วินัยของเจ้าหน้าที่

ปัญหาที่ใหญ่มากอีกประการ คือ การกระทำนอกคำสั่งคณะรัฐประหาร เช่น เจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ข่มขู่ คุกคาม โดยการติดตาม สะกดรอย หรือเรียกให้ไปรายงานตัว โดยไม่มีการประกาศจากคณะรัฐประหาร   การควบคุมตัวโดยไม่มีกฎหมายรองรับ หรือ “การอุ้มหาย” ถือเป็น อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ เพราะการบังคับให้บุคคลสาบสูญ ถือเป็นความผิดร้ายแรงตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศซึ่งมีผลบังคับกับทุกรัฐ   คดีแบบนี้จะเป็นความผิดที่ไม่มีอายุความ และติดตามตัวผู้กระทำผิดไปทุกหนทุกแห่ง  เนื่องจากเป็นความผิดที่อยู่ในเขตอำนาจสากล (Universal Jurisdiction) ผู้กระทำผิดอาจถูกดำเนินคดีในศาลใด เมื่อไหร่ก็ได้

เนื่องจาก มาตรา 16 แห่งกฎอัยการศึก ให้การคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายเท่านั้น การใช้อำนาจนอกกฎหมาย ไม่อยู่ในกรอบการคุ้มครองของกฎอัยการศึก   เช่น ในยามสงคราม หากมีทหารนอกแถวยิงพลเรือนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามตาย การข่มขืนพลเรือน หรือการปล้นสะดม ทำลายทรัพย์สิน ก็ถือเป็น อาชญากรรมสงคราม  แม้จะเป็น “ภาวะสงคราม” และมีการ “ประกาศกฎอัยการศึก” อย่างเต็มรูปแบบก็ตาม  การก่ออาชญากรรมสงคราม ถือเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศที่ผิดเสมอผิดทุกที่และไม่มีอายุความ     

การใช้อำนาจ "นอก" กฎอัยการศึกของเจ้าหน้าที่ จึงไม่ได้ตัดสิทธิของประชาชนในการเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย

 

หากการรัฐประหารผิด ทำไมก่อนหน้านี้ผู้ก่อการไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย?

ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร จะมีการปิดฉากด้วยการนิรโทษกรรม ไม่ว่าจะเป็นการออกพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด คำสั่งคณะรัฐประหาร หรือมีมาตราในรัฐธรรมนูญ ระบุให้การกระทำที่เกี่ยวข้องการรัฐประหารไม่มีโทษ หรือมีผลต่อไป ลบล้างผลของการกระทำไม่ได้  

ซึ่งการนิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหาร นั้นได้ผลในศาลภายในประเทศไทย ซึ่งมีจารีตในการรับรองผลทางกฎหมายของคำสั่งคณะรัฐประหาร   มาอย่างต่อเนื่อง เสมือนเสาหลักค้ำยันการรัฐประหาร   หากมองจากมุมมองสากลโลก คือ รับไทยให้ความสำคัญกับ หลัก De Facto ของรัฐบาลทหารที่มีอำนาจ   มากกว่าการคำนึงถึง “ความชอบธรรมตามกฎหมาย” (De Jure) ของรัฐบาลที่จะต้องมีที่มาตามวิถีทางของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
 

หมดหวัง หมดสิ้นหนทางแล้วหรือ?

การนิรโทษกรรมใดๆ ก็มีผลแต่เพียงระบบกฎหมายภายในประเทศ แต่ไม่มีผลกับกฎหมายระหว่างประเทศ   หากประชาชนฟ้องเรียกร้องสิทธิใดๆ ในศาลไทยไม่ได้ เนื่องจาก ม.16 ของกฎอัยการศึกห้ามไว้   ก็ถือได้ว่า   เงื่อนไขของประชาชนที่จะเรียกร้องสิทธิระหว่างประเทศเกิดครบถ้วนแล้ว ที่จะใช้กลไกระหว่างประเทศทันที ตามหลัก “การใช้กลไกเยียวยาภายในให้หมดสิ้นเสียก่อน” (Exhaustion of Domestic/Local Remedy) หากไปฟ้องครบทุกศาลทุกองค์กรและไม่สำเร็จ   แต่อาจจะฟ้องร้องได้ทันที หากเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าฟ้องในศาลภายในไปก็ไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างแน่แท้ โดยอาศัยหลัก “การปฏิเสธความยุติธรรม” (Denial of Justice) ในการเรียกร้องต่อองค์การระหว่างประเทศทันที โดยไม่ต้องไปเสียเวลาในกระบวนการยุติธรรมภายใน
            การนิรโทษกรรมภายในประเทศ จึงทำให้เกิดสิทธิในการเรียกร้องต่อกลไกระหว่างประเทศทันที

 

การเรียกร้องสิทธิในระดับโลกทำได้ง่ายไหม?

            การทำรัฐประหารเป็นการตัดสิทธิทางการเมืองของประชาชนก็จริง แต่การบีบบังคับหรือลงทารัฐบาลทหารนั้นยาก ส่วนใหญ่จะเป็นการกดดันหรือลงโทษทางการทูตหรือตัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ   แต่การฟ้องร้องให้ผู้ก่อการรับผิดในกลไกระหว่างประเทศนั้นไม่ง่าย เพราะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า มีการ “ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศ” อย่างร้ายแรงและเป็นระบบ
            ดูเหมือนว่า กองทัพไทยมีที่ปรึกษาทางกฎหมายที่เก่งกาจ และพยายามเลี้ยงตัวไม่ให้ละเมิดกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ จนต้องเป็นภาระติดตามตามตัว   เนื่องจากมีการประกาศคำสั่งตามกฎอัยการศึกอย่างละเอียด และใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกอย่างรัดกุม

ความยุ่งยากที่ประชาชนชาวไทยต้องเผชิญอีกประการ คือ รัฐไทยยังมิได้ให้สัตยาบันธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ แม้จะลงนามไว้นานนับสิบปีแล้ว   แม้มีการประหัตประหารประชาชนเกิดขึ้นประชาชนจะฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศให้รับคดีทันทีมิได้ ต้องร้องต่ออัยการและขอมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้รับคดีเข้าไปพิจารณา ซึ่งมักต้องเป็นกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงมาก เช่น ตายกันหลักพัน มีการอุ้มหาย ทรมานอย่างแพร่หลาย   ตัวอย่างกรณีซูดาน กว่าจะรับคดีก็ตายกันนับหมื่น คณะมนตรีความมั่นคงจึงจะเริ่มมีบทบาท

 

แล้วจะทำอย่างไรต่อไปในอนาคต?

เมื่อมีรัฐบาลพลเรือนชั่วคราว หรือรัฐบาลจากการเลือกตั้ง   ประชาชนก็ควรผลักดันให้รัฐบาลรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศทันที   หรือรอจนกว่ามีสภานิติบัญญัติ หรือรัฐสภาจากการเลือกตั้งมาให้สัตยาบันธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ   ซึ่งภาคประชาชนต้องใช้พลังอย่างมากในการเรียกร้อง แต่ก็มีความชอบธรรมเพราะรัฐบาลชวน หลีกภัย ที่มาจากการชนะเลือกตั้งหลังพฤษภาทมิฬ เป็นผู้ลงนามในธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศไว้อย่างยาวนานแล้ว

หากรัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลชั่วคราว จะดำเนินการส่วนนี้ ก็จะยินดี และเป็นการแสดงความจริงใจต่อประชาชน และประชาคมโลกด้วยว่า   ไม่ว่ารัฐบาลใดหรือใคร ก็จะไม่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อประชาชนชาวไทยได้อีกต่อไป

 

เรื่องถัดมาคือ การให้สัตยาบันอนุสัญญาต่อต้านการอุ้มหายฯ ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดควบคู่กับ ภาวะฉุกเฉิน ภาวะอัยการศึก ในหลายประเทศ ที่มีการใช้อำนาจในการบังคับบุคคลต่างๆให้คายข้อมูลต่างๆ หรือรับสารภาพโดยไม่ได้อยู่บน “ความจริง” แต่เกิดเพราะความกลัว หรือเจ็บปวดทรมาน

 

ถ้ารัฐบาลไทยเข้าร่วมกฎหมายระหว่างประเทศที่ว่าไว้แล้ว ต่อมาขอจะออกจากภาคีสนธิสัญญาเสียเฉยๆได้หรือไม่ ?

ก็ตอบเลยว่าไม่ได้ เนื่องจากเคยมีบรรทัดฐานจากกรณีประเทศเกาหลีเหนือพยายามจะออกจากการเป็นสมาชิกกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีมติไม่อนุญาต เพราะถือว่าสิทธิใดเกิดขึ้นแล้วจะยกเลิกเสียมิได้ (สิทธิจากการเข้าร่วมสนธิสัญญาต้องพัฒนายิ่งขึ้นเรื่อยๆ ห้ามเพิกถอน)

 

อย่างไรก็ดี องค์การระหว่างประเทศ และมิตรประเทศไม่อาจแก้ปัญหาทั้งหมดให้กับประเทศไทยได้   สิ่งที่คนไทย และนักกฎหมายไทยต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไขภายในประเทศไทย ได้แก่

1)      การลบผลของคำสั่งคณะรัฐประหาร โดยการทำหน้าที่ของศาล เช่น ศาลยุติธรรม ศาลปกครองไม่รับรองสถานะทางกฎหมายของคำสั่งคณะรัฐประหาร และศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนการกระทำต่างๆที่มีผลร้ายต่อรัฐธรรมนูญที่ตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา เช่น การตีความให้การนิรโทษกรรมไร้ผล

2)      การลบผลพวงของการรัฐประหาร โดยร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ทำให้การล้มล้างรัฐธรรมนูญไม่มีผล และมีกลไกลในการทำงานเพื่อลบล้างคำสั่งต่างๆของคณะรัฐประหารในอดีตทั้งหมด  ดังที่ รัฐธรรมนูญ 2550 ได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายขึ้นมาเพื่อปรับปรุงกฎหมายต่างๆไม่ให้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ

3)      การปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับ คือ กฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉินฯ และ พรบ.ความมั่นคงฯ จะด้วยการฟ้องเพิกถอนในศาล หรือ การผลักดันผ่านรัฐสภา ก็แล้วแต่

 

โดยต้องไม่ลืมว่า การรัฐประหารเป็นสิ่งผิดกฎหมายตลอดเวลาตามที่กฎหมายอาญากำหนด แม้ผู้ก่อการจะบอกว่า ถูกเวลาก็ตาม... อยู่ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะรักษากฎหมายหรือไม่ และจะเริ่มทำตามกฎหมายเมื่อใดเท่านั้นเอง

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
การพัฒนาสิทธิแรงงานรับจ้างอิสระ (Freelancer) ต้องยึดโยงกับหลักกฎหมายสำคัญเรื่องการประกันสิทธิของแรงงานอันมีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน (Human Rights-Based Approach – HRBA) ไว้ เพื่อเป็นรากฐานทางกฎหมายในการอ้างสิทธิและเสนอให้ภาครัฐสร้างมาตรการบังคับตามสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การประกันรายได้รูปแบบ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของปัจเจกชนจากการเก็บข้อมูลและประมวลผลโดยบรรษัทเอกชนจำต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลตามมาตรฐานที่กำหนดหน้าที่ของผู้ควบคุมระบบตามกฎหมายด้วย เนื่องจากบุคคลหรือกลุ่มองค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเจ้าของข้อมูลในหลายรูปแบบ อาทิ การให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพปั
ทศพล ทรรศนพรรณ
บุคคลแต่ละคนย่อมมีทุนที่แตกต่างกันไปทั้ง ทุนความรู้ ทุนทางเศรษฐกิจ ทำให้การตัดสินใจนั้นตั้งอยู่บนข้อจำกัดของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นการไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี ขาดความรู้ทางการเงิน ไปจนถึงขาดการตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพตนเองและผู้อื่นในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้นรัฐไทยยังมีนโยบายที่มิได้วางอยู่บนพื้นฐานข
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทบัญญัติกฎหมายที่ใช้เป็นรากฐานในการอ้างสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น จะพบว่ารัฐไทยได้วางบรรทัดฐานทางกฎหมายที่รับสิทธิของประชาชนในการรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากหลักการพื้นฐานสำคัญที่เชื่อมโยงเรื่องสิทธิม
ทศพล ทรรศนพรรณ
เทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เข้ามามีอิทธิพลแทบจะทุกมิติของชีวิต ส่งผลให้พฤติกรรมด้านการปฏิสัมพันธ์ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีประชาชนจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีในการหา “คู่” หรือแสวง “รัก” ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระทำความผิดที่เรียกว่า Romance Scam หรือ “พิศวาสอาชญากรรม”&
ทศพล ทรรศนพรรณ
เมื่อถามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนว่าอยากเห็นสังคมไทยเป็นเช่นไรในประเด็นการมีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ หรือมีความคาดหวังให้รัฐไทยปรับปรุงอะไรเพื่อส่งเสริมการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของกลุ่มเสี่ยง   นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยได้ฉายภาพความฝัน ออกมาดังต่อไปนี้
ทศพล ทรรศนพรรณ
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้คร่ำหวอดอยู่ในสนามมายาวนานได้วิเคราะห์สถานการณ์การคุกคามผ่านประสบการณ์ของตนและเครือข่ายแล้วแสดงทัศนะออกมาในหลากหลายมุมมอง ดังนี้
ทศพล ทรรศนพรรณ
สถานการณ์ในด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศนั้น มีความสัมพันธ์กับหลายปัจจัยที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการละเมิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศที่เกิดจากข้อค้นพบจากกรณีศึกษา มีปัจจัยดังต่อไปนี้1. สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับบริบทภายในประเทศ
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทวิเคราะห์ที่ได้จากการถอดบทสัมภาษณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากประสบการณ์ ในหลากหลายภูมิภาคไปจนถึงความแตกต่างของการทำงานกับกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสิทธิแตกต่างกันไป   เป็นที่ชัดเจนว่าเขาเหล่านั้นมีชีวิตและอยู่ในวัฒนธรรมแตกต่างไปจากมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและนิติรัฐที่ปรากฏในสังคมตะวันตก ซึ่งสะ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ถูกรับรองไว้โดยพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ให้ความสำคัญประกอบจนก่อให้เกิดอนุสัญญาเฉพาะสำหรับกลุ่มเสี่ยงนั้น ๆ ประกอบไปด้วย สตรี, เด็ก, เชื้อชาติ และ แรงงานอพยพ รวมถึง ผู้พิการ โดยกลุ่มเสี่ยงมีสิทธิที่ถูกระบุไว้ในปฏิญญาว่าด้วย
ทศพล ทรรศนพรรณ
แนวทางในการสร้างนโยบาย กฎหมาย และกลไกเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนจากการสอดส่องโดยรัฐมาจาการทบทวนมาตรฐานและแนวทางตามมาตรฐานสากลเพื่อสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายครอบคลุม 2 ประเด็นหลัก คือ
ทศพล ทรรศนพรรณ
ต้นปี 2563 หลังจากการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ถูกกดไว้มาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 ก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง เกิดการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลกระจายไปทั่วทุกจังหวัดในรัฐไทย จุดสำคัญและเป็นเรื่องที่ไม่ปรากฏขึ้นมาก่อนในหน้าประว