Skip to main content

เวลาคนทะเลาะกัน จะหาทางออกอย่างไร ? 

หากไม่คิดอะไรมากมาย ก็ต่อยกัน สู้กันให้ยอมแพ้กันไปข้าง แต่มันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำอาจกลับไปหาพรรคพวกมาเอาคืน เมื่อเกิดความสูญเสียก็จะเกิดความแค้นฝังแน่นในใจ หากมีลูกหลานมาเห็นพ่อแม่ตายต่อหน้าต่อตาก็คงกอดศพแล้วร้องว่า   ใครฆ่าพ่อข้า ใครฆ่าแม่ข้า!   แล้วใช้ชีวิตที่เหลือเพื่อล้างแค้น

คุ้นกันใช่ไหมครับ ที่คือ จุดกำเนิดของวรรณกรรมสุดคลาสสิก ทั้งไทย จีน และเทศ ที่สามารถสร้างภาคต่อไปได้ไม่สิ้นสุด เพราะความแค้นเป็นเชื้อเพลิงในการดิ้นรนมีชีวิตเพื่อเอาคืน แต่มันไม่จบแค่นั้นเพราะอีกฝ่ายที่สูญเสียก็จะกลับมาฆ่าฟัน   แล้วความสงบสุขและสันติภาพจะเกิดได้อย่างไร   มีเพียงสังคมที่เปราะบางรอวันแตกหักก็เท่านั้น

สันติภาพที่แท้จริง จึงต้องเกิดจากการดับแค้น ซึ่งประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความโกรธเกลียดชังจะบรรเทาได้ก็ต่อเมื่อได้รับ ความยุติธรรมและเยียวยาเสียก่อน   จนกว่าฝ่ายที่เสียหายจะรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมจึงจะผ่อนคลายความคับแค้นและให้อภัยกับผู้ที่ก่ออาชญากรรมแก่คนที่ตนรัก   แต่สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้น คือ “การยอมรับผิด” และ “ขอโทษ”   ของผู้กระทำผิด

หากแต่ในความเป็นจริง ยากยิ่งที่ผู้กระทำผิดจะยอมรับในสิ่งที่ตนทำไว้ เพราะจะต้องได้รับโทษทัณฑ์ตามมามากมาย   ดังนั้น   การสร้างรัฐขึ้นมา ก็เพื่อสร้างระบบพิสูจน์ว่า ใครถูก ใครผิด แล้วตัดสินลงทัณฑ์คนทำผิด พร้อมทั้งกำหนดการชดเชยความเสียหายให้กับเหยื่อ

ศาลและตุลาการ จึงมีความสำคัญมากในการ “ดับวงจรแห่งความแค้น” ที่จะสร้างความรุนแรงสั่นคลอนสังคมต่อไป   เอาง่ายๆ ครับ ถ้าคนที่สั่งฆ่าประชาชนยังไม่ได้รับโทษทางอาญา ญาติผู้เสียชีวิตยังไม่ได้รับการเยียวยา   เรื่องมันจะจบหรือไม่ครับ   กระบวนการยุติธรรมจึงเป็นกุญแจถอดสลักความขัดแย้งที่ยั่งยืนครับ   ศาลและตุลาการจึงมีความสำคัญมาก บทบาทของศาลและตุลาการจึงเป็นที่จับตามองจากสังคม

เราลองมาดูกันนะครับว่า ศาลจะลดความร้อนแรงของความขัดแย้งลงได้ไหม และสังคมจะยอมรับผลของการตัดสินได้อย่างไร

 

ความยุติธรรมที่มาช้าคือความอยุติธรรม: ระยะเวลาดำเนินคดี

                สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ ระยะเวลาในการดำเนินคดีต่างๆ   หากฝ่ายหนึ่งกระทำความผิดแล้วได้อยู่นอกคุกลอยนวลเป็นเวลานาน แต่อีกฝ่ายถูกควบคุมตัวล่วงหน้าแล้วส่งไปดำเนินคดีในศาลทันที   ถึงขนาดที่ว่าฝ่ายหนึ่งถูกจำคุกจนออกมาแล้ว แต่อีกฝ่ายยังไม่ถูกดำเนินคดีในชั้นศาลเลย   แล้วอย่างนี้จะให้สังคมคิดเห็นอย่างไรกับ ความล่าช้า   เพราะความยุติธรรมที่มาช้าก็คือสาเหตุของความรู้สึกไม่เป็นธรรมนั่นเอง

 

อาวุธที่เท่าเทียมกัน: กระบวนการดำเนินคดีที่ดี

                ในการต่อสู้คดี จริงอยู่ที่ผิดถูกอยู่ที่การวินิจฉัยชี้ขาดของตุลาการ   แต่สิ่งที่ศาลต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน คือ สิทธิในการต่อสู้คดี เช่น ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกไปเตรียมตัวสู้คดี การให้เวลาในการเตรียมสำนวน และแสวงหาพยานหลักฐานอย่างเพียงพอ และโอกาสในการแสวงหาทนายความที่ดี   หากพบว่า มีเพียงฝ่ายหนึ่งที่ได้รับการปล่อยตัว ทั้งที่คดีซึ่งทั้งสองฝ่ายเผชิญเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงเหมือนกัน หรือเป็นโทษทางอาญาฐานเดียวกัน แต่อีกฝ่ายโดนขังไว้เพราะบอกว่ากลัวหลบหนีจนตายคาเรือนจำ แต่อีกฝ่ายกลับสบายตัวอยู่นอกคุกทั้งที่ต้องข้อกล่าวหาประเภทเดียวกัน   แล้วสังคมจะรู้ได้อย่างไรว่า “ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย” นั้นมีจริง ในเมื่อศาลมิได้หยิบยื่นเครื่องมือที่เท่าเทียมกันให้กับทุกฝ่าย

 

สองมาตรฐาน: ผลคำพิพากษาในคดีประเภทเดียวกัน แต่ดำเนินคดีกับคนละกลุ่ม

                สิ่งที่โหดร้ายเกินกว่ารับได้ที่สุด เห็นจะเป็นผลคำตัดสนในคดีแบบเดียวกัน มีเนื้อหาและการกระทำแบบเดียวกัน  แต่มีเพียงฝ่ายหนึ่งได้รับผลร้าย  ส่วนอีกฝ่ายลอยนวลไปอย่างไร้กังวล   ความเจ็บแค้นต่อคำตัดสินที่เห็นได้ชัดว่า ตุลาการมิได้ให้ “คำตอบ” เดียวกันกับ “คำถาม” แบบเดิม   ย่อมทำให้หัวใจของฝ่ายที่เสียประโยชน์พุพองเป็นหนอง ยากจะเยียวยาได้   มีเพียงการสร้างบรรทัดฐานการตัดสินคดีที่สม่ำเสมอ มีมาตรฐานตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ล่วงหน้า ถึงขนาดที่คาดเดาได้ว่า ถ้ากระทำการแบบเดียวกันจะได้ผลลัพธ์เหมือนกัน เท่านั้นที่จะทำให้ ความมั่นคงทางสังคมกลับคืนมา และเสถียรภาพทางการเมืองจึงจะเกิด

 

อคติบังตา: การกำหนดธงคำพิพากษาล่วงหน้า

                สืบเนื่องจากเรื่องคำพิพากษา มีบางคดีที่ข้อเท็จจริงแทบไม่ต่างกัน แต่ปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งถูกพิพากษาให้ล่มจมไป ส่วนอีกฝ่ายกลับหลุดรอดไปได้ จนชวนสงสัยว่า กฎหมายมันบิดพลิ้วไปได้เรื่อยๆหรือ    ขอย้ำว่า กฎหมายต้องได้คำตอบเดิมเสมอหากข้อเท็จจริงเหมือนกัน หากยังใช้กฎหมายเดิม   แต่เรากลับพบ “ความลับ” แห่งจักรวาลว่า สาเหตุที่คำตัดสินไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานเดิม เพราะมีคลิปออกมาว่า ตุลาการวาง “ธงคำตอบ” ไว้ล่วงหน้า   ทั้งที่กฎหมายบอกเสมอว่า ต้องให้วิธีการนำมาซึ่ง “ผล”   มิใช่กำหนด “ผล” แล้วจึงไปชักแม่น้ำทั้งห้ามาสนับสนุน   มิเช่นนั้นนักกฎหมายและตุลาการก็จะถูกสังคมเหยียดหยามว่าเป็น คนกะล่อนปลิ้นปล้อนแบบ ศรีธนญชัย  

 

ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง: จริยธรรมของผู้พิพากษา กับ เรื่องอื้อฉาว

สิ่งสำคัญเป็นอย่างมากในการดำรงสถานะอันสูงส่งของ ศาล และผู้พิพากษา คือ การครองตนเป็นผู้ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เอาตำแหน่งแห่งที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์   เพราะคนจะกล่าวหาเอาได้ว่า ความซื่อตรงเป็นไม้บรรทัดนั้นถูกหักงอ กลายเป็นคดในข้อ งอในกระดูก  กรณี ตุลาการบางคนที่ดำรงตำแหน่งสูงเข้าไปพัวกัน กับ จดหมายน้อยที่ติดต่อประสานงานให้คนรู้จักได้เลื่อนตำแหน่ง โดยอาศัยอำนาจบารมีที่มาจากบารมีนั้น ทำลายความเชื่อมั่นของสังคมต่อวงการตุลาการเป็นอันมาก   หากแต่ต้องชื่นชมตุลาการคนตรงทั้งหลายที่ไม่ยอมให้ใครมาทำลายเกียรติ ด้วยการยืนหยัดตรวจสอบและรักษาหลักการแม้จะต้องเสี่ยงต่อภัยที่มองไม่เห็น   การพยายามล้มกระบวนการสอบสวน โดยจะแอบอิงอำนาจของคณะรัฐประหารเพื่อยุติการหาความจริง อาจทำให้ “ตุลาการผู้นั้น” รอดตัว  แต่ทำให้สถานะตุลาการและศาลเสื่อมเพราะคนคนนั้น

 

คนคุ้นเคยกันทั้งนั้น: ที่มาของผู้พิพากษาไทย กับ เครือข่ายชนชั้นนำ

ความอิสระ ไม่ข้องเกี่ยวมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับใครหน้าไหนทั้งสิ้น ดุจดั่ง เปาบุ้นจิ้นที่ตัดสินคดีโดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ย่อมส่งผลให้คนที่ได้รับผลร้ายผลเสียจากคำพิพากษาเถียงไม่ออก เพราะศาลบอกได้ว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใคร   แต่ตุลาการที่เป็นผู้สร้างกฎหมาย ในฐานะ สสร. รธน.2550  ซึ่งมาจากการแต่งตั้งด้วยคณะรัฐประหาร 2549 แล้วเข้ามาเป็นตุลาการศาล ตามรธน. 2550 นั้นย่อมทำให้ประชาชนเห็นเครือข่ายที่โยงใยกันไม่มากก็น้อย   ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ถูกสร้างมาปกป้องรัฐธรรมนูญ ตาม ม.68 รธน.2550 แต่ศาลรัฐธรรมนูญพิสูจน์จนถึงบัดนี้แล้วว่ามิได้พิทักษ์รัฐธรรมนูญจากรัฐประหาร แถมยังคงรับบุญคุณด้วยการดำรงตำแหน่งและรับสิทธิประโยชน์เต็มต่อไปแม้ ยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้ว เท่ากับเป็นการยอมรับการทำลายรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เคยใช้มาตรา 68 ชี้ว่า การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้มี ส.ว.เลือกตั้ง เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ    ประชาชนผู้เสียภาษีเพื่อหล่อเลี้ยงศาล คงคิดเรื่องความคุ้มค่าในราคาแพงมหาศาลต่อไป

 

ฤายศจะล่มแล้ว: อำนาจและบทบาทที่เพิ่มขึ้น กับ ความชอบธรรมที่ลดลง

                บรรพตุลาการทั้งหลายที่ได้รักษาสถานะของศาลไทยให้ปลอดจากภัยแม้ต้องเผชิญกับคลื่นลมแรงของการเมืองไทยมานับร้อยปี ก็เนื่องด้วยจัดวางตนให้พ้นไปจากวังวนของอำนาจทางการเมือง   แต่จะด้วยสถานการณ์พลิกผัน ทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 ชักนำคนในวงการตุลาการเข้าสู่องค์กรอิสระที่มาตัดสินคดีทางการเมือง และนำคดีที่เกี่ยวข้องกับส่วนได้เสียทางการเมืองสาดซัดเข้าหาศาลเป็นอันมาก   ย่อมชี้ให้เห็นแล้วว่า  แนวทางที่ปูชณียบุคคลในองค์กรตุลาการวางไว้นั้น น่าจะนำกลับมาพิจารณาและสมาทานกันอีกครั้ง   เพราะเมื่อมีเสียครหาต่อศาลและตุลาการท่านใด ศาลใด ย่อมทำให้ภาพลักษณ์ของศาลเสื่อมทรามไปทั้งระบบ   แม้มีผู้พิพากษาบางส่วนไม่เห็นด้วยกับความไม่ถูกต้อง และเรียกร้องให้ผู้ที่สุ่มเสี่ยงว่าจะสร้างความเสียหายต่อองค์กรศาลออกมาแสดงความรับผิดชอบ   แต่ก็เป็นเพียงกรณีหนึ่งซึ่งไม่ควรนอนใจว่า หากโครงสร้างของศาลยังถูกลากเข้ามาในความขัดแย้งทางการเมืองจะต้องถูกคลื่นโหมซัดอีกเท่าไหร่   การวางตนให้เป็นอิสระ หลุดพ้นไปจากการเมือง ย่อมเป็นแนวทางที่ปลอดภัยกว่า


ความกลัวทำให้เสื่อม: ศาลกับการยึดโยงกับประชาชน ด้วย ข้อหาหมิ่นฯศาล ละเมิดอำนาจศาล

                เมื่อศาลมีบทบาทมาก และการทำหน้าที่ทำให้มีคนได้รับผลร้ายจากคำพิพากษา ความเจ็บปวดเสียหายที่ตามมาย่อมผลักดันให้คนเหล่านั้น ระบายความทรมานออกมาก่อนที่อกแตกตาย   แต่สิ่งที่ได้รับ คือ ข้อหาหมิ่นฯศาล แม้สังคมเสนอว่า ศาลไม่มีองค์กรใดตรวจสอบการทำงาน มีเพียงเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ศาลเท่านั้นที่จะช่วยตรวจสอบการทำงานศาลได้  ประชาชนและสังคมขอแสดงความคิดเห็นบ้าง   แต่ข้อควรระวัง คือ ข้อหาละเมิดอำนาจศาล ที่บันดาลให้เกิดความเงียบ   แต่เป็นความเงียบที่เซ็งแซ่   ความสงบราบคาบที่เดือดระอุ   และยังไม่นับรวมการปล่อยให้ประชาชนพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหารอีกประการ   ศาลยุติธรรมควรแสดงความกล้าหาญในการออกมาปกป้องสิทธิของประชาชน และไม่ยอมให้ใครพรากสิทธิธรรมในการอำนวยความยุติธรรมไป

 

อย่างที่เรารู้ว่า ผู้ตัดสินที่ตลกและทำให้เกิดการลุ้นและความมันส์ในการติดตาม คือ กรรมการมวยปล้ำ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่ทันเกมส์  ชักช้า หรือที่เลวร้ายมาก คือ เข้าข้างฝ่ายอธรรม ทำให้ฝ่ายธรรมะต้องพ่ายแพ้ไปอย่างค้านสายตาผู้ชม   ทำให้ผู้คนคิดว่าไม่ต้องมีกรรมการเสียเลยดีกว่า หากต้องการชัยชนะ ให้ใช้กำลังแย่งชิงมาเสียเลย  

 

แต่สังคมจริง หากมีการใช้กำลังช่วงชิงชัยชนะกันเสียแล้ว   ความสูญเสีย ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่พ้น  และทำให้วังวนแห่งความคั่งแค้นฝังลึก ผลิตคนรุ่นใหม่ออกมาขับวงล้อแห่งการแก้แค้นสืบไปในอนาคต

บล็อกของ ทศพล ทรรศนกุลพันธ์

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
การพัฒนาสิทธิแรงงานรับจ้างอิสระ (Freelancer) ต้องยึดโยงกับหลักกฎหมายสำคัญเรื่องการประกันสิทธิของแรงงานอันมีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน (Human Rights-Based Approach – HRBA) ไว้ เพื่อเป็นรากฐานทางกฎหมายในการอ้างสิทธิและเสนอให้ภาครัฐสร้างมาตรการบังคับตามสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การประกันรายได้รูปแบบ
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของปัจเจกชนจากการเก็บข้อมูลและประมวลผลโดยบรรษัทเอกชนจำต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลตามมาตรฐานที่กำหนดหน้าที่ของผู้ควบคุมระบบตามกฎหมายด้วย เนื่องจากบุคคลหรือกลุ่มองค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเจ้าของข้อมูลในหลายรูปแบบ อาทิ การให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพปั
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
บุคคลแต่ละคนย่อมมีทุนที่แตกต่างกันไปทั้ง ทุนความรู้ ทุนทางเศรษฐกิจ ทำให้การตัดสินใจนั้นตั้งอยู่บนข้อจำกัดของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นการไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี ขาดความรู้ทางการเงิน ไปจนถึงขาดการตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพตนเองและผู้อื่นในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้นรัฐไทยยังมีนโยบายที่มิได้วางอยู่บนพื้นฐานข
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
บทบัญญัติกฎหมายที่ใช้เป็นรากฐานในการอ้างสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น จะพบว่ารัฐไทยได้วางบรรทัดฐานทางกฎหมายที่รับสิทธิของประชาชนในการรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากหลักการพื้นฐานสำคัญที่เชื่อมโยงเรื่องสิทธิม
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
เทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เข้ามามีอิทธิพลแทบจะทุกมิติของชีวิต ส่งผลให้พฤติกรรมด้านการปฏิสัมพันธ์ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีประชาชนจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีในการหา “คู่” หรือแสวง “รัก” ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระทำความผิดที่เรียกว่า Romance Scam หรือ “พิศวาสอาชญากรรม”&
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
เมื่อถามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนว่าอยากเห็นสังคมไทยเป็นเช่นไรในประเด็นการมีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ หรือมีความคาดหวังให้รัฐไทยปรับปรุงอะไรเพื่อส่งเสริมการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของกลุ่มเสี่ยง   นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยได้ฉายภาพความฝัน ออกมาดังต่อไปนี้
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้คร่ำหวอดอยู่ในสนามมายาวนานได้วิเคราะห์สถานการณ์การคุกคามผ่านประสบการณ์ของตนและเครือข่ายแล้วแสดงทัศนะออกมาในหลากหลายมุมมอง ดังนี้
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
สถานการณ์ในด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศนั้น มีความสัมพันธ์กับหลายปัจจัยที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการละเมิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศที่เกิดจากข้อค้นพบจากกรณีศึกษา มีปัจจัยดังต่อไปนี้1. สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับบริบทภายในประเทศ
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
บทวิเคราะห์ที่ได้จากการถอดบทสัมภาษณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากประสบการณ์ ในหลากหลายภูมิภาคไปจนถึงความแตกต่างของการทำงานกับกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสิทธิแตกต่างกันไป   เป็นที่ชัดเจนว่าเขาเหล่านั้นมีชีวิตและอยู่ในวัฒนธรรมแตกต่างไปจากมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและนิติรัฐที่ปรากฏในสังคมตะวันตก ซึ่งสะ
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ถูกรับรองไว้โดยพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ให้ความสำคัญประกอบจนก่อให้เกิดอนุสัญญาเฉพาะสำหรับกลุ่มเสี่ยงนั้น ๆ ประกอบไปด้วย สตรี, เด็ก, เชื้อชาติ และ แรงงานอพยพ รวมถึง ผู้พิการ โดยกลุ่มเสี่ยงมีสิทธิที่ถูกระบุไว้ในปฏิญญาว่าด้วย
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
แนวทางในการสร้างนโยบาย กฎหมาย และกลไกเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนจากการสอดส่องโดยรัฐมาจาการทบทวนมาตรฐานและแนวทางตามมาตรฐานสากลเพื่อสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายครอบคลุม 2 ประเด็นหลัก คือ
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
ต้นปี 2563 หลังจากการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ถูกกดไว้มาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 ก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง เกิดการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลกระจายไปทั่วทุกจังหวัดในรัฐไทย จุดสำคัญและเป็นเรื่องที่ไม่ปรากฏขึ้นมาก่อนในหน้าประว