Skip to main content

คราวนี้เราจะกล่าวถึงเรื่องใด?

ครั้งนี้ เราจะยกเรื่อง เวลาที่มีผลกับกฎหมายมาชำแหละครับ โดยเราจะมาพูดถึงเรื่อง กาละ หรือ “เวลา” ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอย่างครอบคลุม เพื่อให้เห็นว่าเวลามีผลกับกฎหมายอย่างไร หรือกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับเรื่องเวลากันไว้อย่างไรบ้าง   หลังจากที่เคยพูดเรื่อง กฎหมาย กับเวลาพิเศษ(รัฐประหาร) ไปแล้ว

แต่ ครั้งนี้จะเล่าเรื่องเบาๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของทุกท่านมากขึ้นครับ

เมื่อเริ่มเป็นคน กฎหมายก็ไปกำหนดเลยว่า สภาพบุคคลจะมีขึ้นเมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารก ครับลักษณะการกำเนิด ผมได้ยินคนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายมาท่องให้ฟังประจำเลยฮะว่า เรียนกฎหมายเบื้องต้นมาเหลืออยู่ในหัวแค่นี้ ไม่เป็นไรครับ รู้ว่าเราเป็น “บุคคล” ก็สำคัญที่สุดแล้วครับ เพราะมันจะนำมาซึ่ง “สิทธิ” และ “หน้าที่” เหมือนกับประชาชนคนอื่น   แต่จะแตกต่างกันอย่างไร อาจต้องดูเงื่อนเวลาที่จะว่าต่อไปนี้ครับ

 

วันเวลาสร้างผลทางกฎหมา

เวลากลางวัน กลางคืนนี่มีผลกับคดีทางอาญามากเลยนะครับ ความผิดบางฐานจะต้องได้รับโทษเพิ่มขึ้นเมื่อกระทำในเวลากลางคืน เช่น การบุกรุก  ก็เข้าใจได้ง่ายๆเลยนะครับ เพราะการบุกรุกในยามวิกาลเนี่ย อันตรายมันก็เยอะ ความเสี่ยงต่อเจ้าของบ้านก็สูง ใครเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ต้องรับโทษมากกว่ากลางวัน

การเข้าตรวจค้นของเจ้าพนักงานก็เหมือนกันนะครับ โดยหลักแล้วจะต้องเข้าขอตรวจค้นตามหมายศาลในเวลากลางวัน คือ ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน และหลังพระอาทิตย์ขึ้น ไม่อย่างนั้นการเข้าตรวจค้นจะไม่มีผลทางกฎหมาย และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องให้เจ้าพนักงานรับผิดเพิ่มเติมด้วย

นอกจากนี้ วันที่เรานับตามสากลตั้งแต่ 00:01-24:00 น. ก็ยังเป็นการนับจำนวนวัน 1 วัน ด้วย ไม่ใช่เริ่มที่ 6:00 น. แบบการดูดวงไทยนะครับทุกท่าน   ดังนั้นการนับวัน สัญญา จำคุก คุมขัง ที่มีระยะเวลาก็จะนับกันตามนี้

หากมีการเขียนว่า เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ก็จะครบเดือนใหม่ในวันที่ 6 ของเดือนถัดไปครับ   หากจะครบปีก็จะนับถึงวันที่ 6 เดือนเดียวกันของปีถัดไป นะครับ ก็เข้าใจกันง่ายๆอย่างนี้

 

กฎหมายมากำหนดเวลา

            วันเวลาก็เดินไปเรื่อยๆ หากไม่มีการกะเกณฑ์อะไรเลย ก็จะมีผลต่อการนับและกำหนดผลของการกระทำหลายๆอย่าง เช่น ใครจะมีอำนาจตัดสินใจเต็มในชีวิต เราจะมีเวลานานเท่าไหร่ในการตัดสินใจ หรือคู่ความจะมีเวลามากน้อยเพียงไรในการฟ้องร้องกัน   กฎหมายแต่ละประเทศจึงต้องกำหนด “เวลา” ตามแต่วัฒนธรรมของตน   แต่ก็ยังมีเวลาบางอย่างที่ทั่วโลกพยายามผลักดันให้เป็นสากล เช่น ไม่ควรมีโทษประหารชีวิตผู้เยาว์ที่อายุไม่เกิน 20 ปี เป็นต้น 

การบรรลุนิติภาวะในประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 20 ปี มีผลให้คนปลดแอกตัวเองจากพ่อแม่ผู้ปกครอง อยากจะเข้าผับดื่มเหล้าอะไรก็ได้เต็มที่ แต่ก็มีกฎหมายมากำหนดเวลาในการประกอบกิจการเหล่านั้นด้วย แต่นั่นก็เป็นเรื่องเล็กๆ   เมื่อเทียบกับกิจกรรมทั้งหลายอีกมากมายที่เปิดโอกาสให้ผู้บรรลุนิติภาวะได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง

สงสัยอยู่หน่อย คือ ทำไม  อายุ 18 ปี เลือกตั้งกำหนดอนาคตประเทศและชีวิตคนอื่นได้แต่ยังกำหนดอนาคตตนเองหลายๆ เรื่องไม่ได้ ตั้งแต่แต่งงานเอง ทำสัญญา ซึ่งเกี่ยวกับการทำมาหากินเลี้ยงชีพ

แต่ที่ต้องระมัดระวังสำหรับสุภาพบุรุษ คือ การคบหาดูใจแล้วอาจจะชักนำหญิงหายไปจากผู้ปกครอง แม้จะได้รับความยินยอมจากเจ้าตัว แต่อาจมีคดีพรากผู้เยาว์ติดตัวได้ หากอายุยังไม่เกิน 18 ปี แต่ก็เห็นคดีต่อเนื่องเกี่ยวกับเพศ ก็ยังมีการยกเหตุ “ภาพลักษณ์” เกินผู้เยาว์มาสู้อยู่เนืองๆ บอกว่าเรื่องของเรื่อง เนื้อตัวร่างกายอาจเข้าใจผิดได้ว่า อายุเกินแล้ว

 

เวลาไม่คอยท่า อย่าทำอะไรเมื่อสายเกินไป

หากอะไรต่อมิอะไรอยู่ยั้งยืนยงตลอดกาล ก็คงสับสนอลหม่านน่าดู เพราะอะไรที่ดูเป้นอดีตก้จะกลับมามีผลในปัจจุบัน ทั้งที่เจ้าตัวผู้ประกาศคำมั่นอาจจะลืมสัญญาไปเสียแล้ว

กฎหมายจึงมากำหนดระยะเวลาในการ “ให้คำมั่น” เสนอข้อสัญญา และบอกว่าจะต้องใช้โอกาสภายในวันเวลาที่เหมาะสมในการตอบสนอง  หากปล่อยเนิ่นนานไปจะมาขอทำสัญญา ก็อาจจะต้องเริ่มข้อเสนอใหม่เพื่อให้อีกฝ่ายตัดสินใจอีกครั้ง   เพราะเมื่อเวลาเปลี่ยนใจคนก็เปลี่ยนไปตามเงื่อนไขทั้งหลายที่แวดล้อมไปด้วย เช่น ต้นทุนเปลี่ยน หรือมีคนอื่นมาตัดหน้าทำสัญญาไปก่อนแล้ว

เหมือนที่ไข่ย้อยดันมาบอกว่า

“ดา กานดา ชั้นรักแกว่ะ” ในวันที่ช้าเกินไปจน เธอต้องตอบกลับไปว่า

“แล้วแกมาทำอะไรเอาตอนนี้”   เพราะว่าเธอมีแฟนไปแล้วนั่นเอง  เฮ่อออ... มาคิดได้ก็สายเกินไปไม่ทันแล้วล่ะครับ

นอกจานั้น กฎหมายยังป้องกันการเกิดคดีล้นโรงล้นศาลจนภาระงานของกระบวนการยุติธรรมมาเกินไปจนจัดการไม่ไหว ด้วยการกำหนดให้ประชาชนผู้มีปัญหา ต้องนำคดีความมาฟ้องร้องตามเงื่อนเวลาที่กฎหมายกำหนด  แม้จะเคยพูดก่อนหน้านี้ว่ามีกรณีอาชญากรรมระหว่างประเทศที่ไม่มีอายุความ ก็ด้วยเหตุที่มันเป็นการละเมิดสิทธิร้ายแรง   แต่คดีส่วนใหญ่ในโลกนี้มี “อายุความ”

กฎหมายกำหนดอายุความในหลายกฎหมาย เช่น กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มักจะบอกว่า คู่ความต้องฟ้องร้องภายใน 1 ปีนับจากวันที่รู้ หรือ 10 ปีนับแต่วันที่เหตุการณ์เกิด   หรือกฎหมายอาญาบอกว่าความผิดฐานนี้มีอายุความ 20 ปีเป็นต้น   จนมีคนนำไปแต่งเป็นนิยายขายดี ว่าด้วยนักโทษหนีคดีที่มามอบตัวในวันสุดท้ายก็มีอยู่ประจำ   เพราะถ้ามันผ่านไปกฎหมายก็ทำอะไรไม่ได้

หากมีการฟ้องร้องกันในคดีแพ่งฯ หรือมีการชำระหนี้บางส่วน หรือเริ่มชดเชยความเสียหายไปแล้วอายุความก็จะสะดุดหยุดลง หากมีปัญหาเบี้ยวกันก็เริ่มนับอายุความกันใหม่    

ถ้ามีการฟ้องร้องในคดีอาญา หรือเข้าสู่กระบวนการระงัข้อพิพาททางเลือกต่างๆทางแพ่งฯ อายุความก็จะสะดุดหยุดอยู่  ไม่ต้องนับเวลาต่อไปจนหมดอายุความนั่นเอง

ดังนั้นคดีความต่างๆ จึงต้องระมัดระวังการฟ้องร้องให้อยู่ในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดอายุความไว้

ต่างจากคดีอาชญากรรมร้ายแรงพวก ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ที่ผู้ก่ออาชญากรรมทำความผิดเมื่อไหร่ ก็ยังตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลไปตลอดกาล

 

อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

กฎหมาย เป็น กติกา ที่ต้องตกลงกันไว้ล่วงหน้า เพื่อว่าคนในสังคมจะได้รู้ว่าหากทำอะไรจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร เพื่อชั่งใจก่อนตัดสินใจกระทำ เพราะหากทำลงไปแล้ว เขาจะต้องรับผลของกฎหมายเอง   โดยเฉพาะกฎหมายที่มีผลร้าย

คนทั้งสังคมจะคาดเดาได้ล่วงหน้าว่า “อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ”   กฎหมายที่มีโทษ(ผลร้าย)ทั้งหลายจึงสร้างขึ้นไว้เพื่อที่จะบอกคนในสังคมด้วยว่า “ถ้าไม่ห้ามหรือกำหนดโทษไว้ก็ทำได้ แต่ต้องไม่ทำอะไรที่กฎหมายบอกว่าผิดและกำหนดโทษ”   ดังนั้นจึงมีสุภาษิตกฎหมายว่า “ห้ามอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย” แม้หลายกรณีอาจจะมีข้อโต้แย้งว่า ใครจะรู้กฎหมายทั้งหมดล่ะ ก็ใช่ครับ มันคือปัญหาของการแพร่ข้อมูลทางกฎหมาย

การบอกล่วงหน้าถึงผลของการกระทำตามกติกาของสังคม คือ การบอกว่านับแต่นี้เป็นต้นไปจะต้องเลี้ยงตัวอยู่ในกรอบขอบเขตแค่ไหน ซึ่งนำไปสู่การฝึกฝนขัดเกลา ปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบสังคม

ถ้าย้อนหลังไป ไม่ได้ตั้งตัว ไม่รู้ว่าเป็นความผิด แล้วเกิดความผิดติดตัว ก็ทำให้สังคมนั้นอยู่ด้วยความ "หวาดกลัว"

ดังที่เคยมีการถกเถียงกันมากว่า การกำหนดผลร้ายทางกฎหมายย้อนหลังไปสู่การการทำกระทำที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต จะเป็นธรรมกับคนที่ไม่รู้มาก่อนว่าการกระทำของตนจะมีผลร้ายขนาดนั้นหรือไม่   เช่น กรณีคณะรัฐประหาร 2549 ออก ประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 กำหนดให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบต้องเสียสิทธิในการลงรับสมัครเลือกตั้งไป 5 ปี   จึงมีข้อถกเถียงกันมากในประเด็นนี้ว่า สมควรแล้วหรือที่จะให้กฎหมายมาตัดสิทธิมีผลร้ายกับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายของคณะรัฐประหารเช่นว่า

            เปรียบเสมือนคนมีแฟนขี้หึง ที่คู่รักมักจะล้วงลึกกลับไปดึงสิ่งที่เกิดในอดีตมาไล่บี้ ชนิดที่ยังงง และสงสัยว่า อะไรที่เกิดขึ้นก่อนพบกับคุณ ทำไมมันต้องมามีผลตัดสินเราในปัจจุบันด้วย   เพราะไม่รู้จะช่วยแก้ไขให้สบายใจอย่างไร ในเมื่อตอนที่เราทำยังไม่รู้เลยว่าจะได้มาคบกับคุณ

            หลักกฎหมายสำคัญจึงบอกห้ามบังคับใช้กฎหมายที่มีผลร้ายกับการกระทำในอดีต หรือที่เรียกว่าหลัก “ห้ามใช้กฎหมายย้อนหลัง” ซึ่งเป็นกฎเหล็กที่ต้องยึดถือตลอดเวลาแม้ในยามศึกสงคราม หรือสถานการณ์ฉุกเฉินใดๆก็ตาม

หากอดีตตามมาหลอกหลอนได้ ปัจจุบันก็ต้องอยู่ด้วยความกระวนกระวาย และคงไม่มีกระจิตกระใจไปพัฒนาตัวเองต่อไปในอนาคต  
เฉพาะกฎหมายที่เป็นผลดีเท่านั้นจึงมีผลไปในอดีต เพื่อปลดแอกคนได้ เช่น การยกเลิกกฎหมายอาญาแล้วปล่อยนักโทษที่เคยทำผิดกฎหมายข้อนั้น

หรือ การนิรโทษกรรมที่เป็นธรรมกับสามัญชน ที่มีผลในการลดความขัดแย้งทางสังคมแบบ คำสั่งที่ 66/2523 เป็นต้น

 

ในช่วงบั้นปลายของชีวิต กฎหมายก็จะบอกว่าเวลาในชีวิตของบุคคลจบลงด้วยการ “ตาย” เมื่อก้านสมองไม่ทำงาน

ส่วนกฎหมายก็จะตายเมื่อยกเลิกกฎหมาย หรือมีกฎหมายเรื่องเดียวกันฉบับใหม่ออกมาทับ

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
ตลอดระยะเวลาแห่งความขัดแย้งทางการเมือง ได้มีกลุ่มต่างๆ เสนอทางออกของปัญหาด้วยการใช้กฎหมายมากมายหลายมาตรา   แต่มาตราหนึ่งซึ่งเป็นข้อถกเถียงมาก คือ การใช้รัฐธรรมนูญ ม.7 ตั้งแต่เมื่อคราวที่ยังใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เรื่อยมาจนถึง ฉบับปี 2550   คนจำนวนไม่น้อยคงสงสัยมากว่า มาตรา 7
ทศพล ทรรศนพรรณ
เอาล่ะครับ พ่อแม่พี่น้อง เรื่องถัดไปนี่คงเป็นความสนใจของเพื่อนพ้องหลายๆพื้นที่นะครับ ผมได้รับแจ้งเข้ามาว่า  เจ้าพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่หนึ่งมีการเพิกเฉย ละเลย ดูแลปัญหาความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ แถมยังมีเรื่องราวกินสินบาทคาดสินบนทำให้ชาวบ้านจนปัญญาจะหาทางแก้ไขเข้าไปอีก&n
ทศพล ทรรศนพรรณ
พลังเหนือมนุษย์ ที่จะพูดถึงในครั้งนี้ประกอบไปด้วยสองส่วน คือ พลังธรรมชาติ และพลังลี้ลับ   ซึ่งกฎหมายก็ได้พูดถึงสองสิ่งนี้อยู่ไม่น้อยทีเดียว
ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องนี้เป็นสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานในยามที่เจอกับภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ด เราคงได้ยินเสียงผู้ประกอบการบ่นให้ฟังว่า ยอดสั่งซื้อตก กำไรหด ต้องลดกำลังการผลิตเพื่อให้บริษัทอยู่รอดกันใช่ไหมครับ  แต่ทราบไหมครับว่า ทุกครั้งที่บอกว่าขาดทุนและต้องลดต้นทุนหรือกำลังการผลิตนั้น มันหมายถึงการป
ทศพล ทรรศนพรรณ
             กฎหมายสมัยใหม่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ มีสิ่งที่ต้องเข้าใจร่วมกันว่า ได้ให้อำนาจเด็ดขาดแก่รัฐในการบีบบังคับประชาชนในรัฐ และลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายโดยการใช้ความรุนแรงนับตั้งแต่ การประหารชีวิต การจำคุก การควบคุมตัว ริบทรัพย์ ในระบบกฎหมายอาญา  ไ
ทศพล ทรรศนพรรณ
ทุกท่านคงทราบกันแล้วนะครับว่าปัจจุบันกฎหมายไทยเกี่ยวกับเรื่องข่มขืนได้มีการปรับปรุงแก้ไขไปให้ทันกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เพราะมิใช่เพียง
ทศพล ทรรศนพรรณ
คงมีหลายคนสงสัยว่าทำไมนักกฎหมายมักย้ำเสมอว่าปัญหาทางกฎหมายต้องตอบในลักษณะ “หนึ่งคำถาม หนึ่งคำตอบ”    กล่าวคือ ในปัญหาเรื่องนั้นจะต้องมีคำชี้ขาดขององค์กรตุลาการหรือองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดที่ชัดเจนแน่นอนเพียงหนึ่งเดียว   ห้ามมีคำตอบแตกต่างหลากหลาย   เช่น  
ทศพล ทรรศนพรรณ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งในเมืองและต่างจังหวัด เนื่องจากในบางเส้นทางจะมีด่านตรวจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อถูกกักตัวหรือขอตัวค้นรถตอนถึงด่าน   ทั้งยังสงสัยกับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตรงด่านว่าใช่ตำรวจหรือไม่ มีอำนาจหน้าที่อะไ
ทศพล ทรรศนพรรณ
       หลายครั้งที่เราสงสัยกันว่าทำไมเรื่องที่เค้าเถียงกันแทบเป็นแทบตายไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสักที ตำรวจก็บอกว่าต้องทำตามกฎหมายข้อนี้ นักกฎหมายก็อ้างว่าไม่ได้ต้องดูกฎหมายอีกฉบับด้วย แล้วพอไปออกรายการทีวีเถียงกันก็ยังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง เพราะปัญหาเดียวกันไหงมีกฎหมายมาเกี่ยวข้องต้อง
ทศพล ทรรศนพรรณ
ปัจจุบันมีคนจำนวนมากเข้าไปทำงานตามร้านอาหารหรือสถานบริการต่างๆมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ตามจำนวนร้านรวงที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด จุดไหนมีคนทำงานหรือเรียนหนังสือเยอะๆก็จะมีร้านตั้งมาดักไว้เต็มไปหมด ก็มีคนพูดไว้เยอะว่าร้านอาหารที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นแหล่งมั่วสุมของนักศึกษาหรือว่าคนทำงานในวัยหนุ่มสาว&
ทศพล ทรรศนพรรณ
ตอนนี้เราจะมาดูกันนะครับว่า ทำไมเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นมาในสังคม เราจึงต้องใช้กฎหมายมายุติความขัดแย้ง   เหตุผลของเรื่องนี้ก็ต่อมาจากตอนที่แล้วซึ่งเราบอกว่า กฎหมาย คือ กติกา ที่สังคมกำหนดขึ้นมาร่วมกัน เพื่อชี้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆขึ้น แล้วตกลงกันไม่ได้ จะ “ยุติ” ความขัดแย้งอย่างไรใ
ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องที่ผมจะเอามาเล่าสู่กันฟังเป็นความเดือดร้อนแสนสาหัสของน้องสองคนซึ่งได้รับผลกระทบจากการประกาศภาวะฉุกเฉิน เคอร์ฟิว ในช่วงที่มีการปราบปรามและสลายการชุมนุม   ซึ่งมันเกี่ยวพันกับชีวิตคนธรรมดาอย่างเราๆท่านๆมากขึ้น เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2