เรื่องราวความสัมพันธ์ของชายหญิงคู่หนึ่งที่ได้อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันแต่ประการใด หลังจากนั้นมีปัญหาเรื่องมือที่สามเข้ามา ทำให้ครอบครัวฝ่ายชายมาปรึกษาเพราะกลัวว่าจะถูกหลอกและปอกลอกทรัพย์สินไปจนหมด
ชายคนนี้ได้แต่งงานตามประเพณีกับผู้หญิงที่มีลูกติด 1 คน โดยระหว่างอยู่กินร่วมกันนั้นทั้งคู่ไม่มีลูกด้วยกันเพิ่มเติมแต่อย่างใด ส่วนสาเหตุที่ไม่จดทะเบียนสมรสนั้นก็เนื่องจากฝ่ายชายเห็นว่าเดี๋ยวจะมีความยุ่งยากในการทำธุรกิจ เนื่องจากฝ่ายชายนั้นมีการหมุนเวียนเงินในธุรกิจส่วนตัวเป็นจำนวนมากและในบางครั้งก็อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการล้มละลาย หรือเป็นคดีฟ้องร้องกันจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เกรงว่าฝ่ายหญิงจะติดร่างแหไปด้วยเมื่อมีคดีความขึ้นมา เลยตัดปัญหาโดยการอยู่ด้วยกันโดยให้ครอบครัวทั้งสองฝ่ายรับรู้แต่ไม่ต้องมีภาระหน้าที่ทางกฎหมายติดพันตามมาด้วย ทั้งนี้ฝ่ายชายก็ได้เลี้ยงดูส่งเสียหญิงและบุตรอย่างต่อเนื่อง
เมื่อแต่งงานกันมาได้ 3 ปี ฝ่ายชายได้ไปทำงานต่างประเทศจึงต้องห่างภรรยาไปไม่สามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด แต่เขาก็ไม่ได้ทิ้งขว้างภรรยาไปโดยได้ส่งเงินกลับบ้านให้ภรรยาจ้างคนดูแลสวน ทำการต่อเติมบ้าน และส่งเสียลูกเรียนหนังสือ มาตลอดไม่เคยบกพร่อง
แต่ด้วยความไว้ใจแต่ไม่สามารถให้ความใกล้ชิด ทำให้ผู้หญิงมีชายคนใหม่เข้ามาเทียวไล้เทียวขื่อจนสุดท้ายได้พาชายคนนั้นเข้ามาอยู่ที่บ้านกลางค่ำกลางคืนในหลายวันๆ ที่ทางญาติของฝ่ายชายไปเห็น ซ้ำหญิงนั้นก็ได้นำเงินแบ่งให้ชายคนดังกล่าว จนไม่สามารถนำเงินไปใช้ทำงานตามภารกิจต่อเติมบ้านตามที่สั่งไว้ โดยเงินที่ชายคนนั้นส่งกลับมาบ้านให้มีปริมาณร่วมหลักล้านบาท
เหตุการณ์เริ่มบานปลาย เนื่องจากมีญาติฝ่ายชายเตือนผู้ชายเกี่ยวกับพฤติกรรมของภรรยาแล้ว แต่ผู้ชายกลับไม่เชื่อ แต่เมื่อหมดสัญญาทำงานในต่างประเทศ ชายดังกล่าวกลับมาพบว่าภรรยาไม่ได้ทำตามที่ให้จัดการจริง จึงมีปากเสียงทะเลาะเบาะแว้งกันเพราะชายเริ่มเห็นคล้อยตามไปกับคำที่ญาติว่าไว้ จึงซักไซ้ไร่เรียงถึงที่มาที่ไปของเงินว่า หญิงเอาไปใช้ทำอะไรตั้งมากมายแต่ไม่ได้เอาไปต่อเติมบ้านตามที่สัญญากันเอาไว้ เพราะเงินที่เสียไปก็มากกว่าล้านบาท
ก่อนที่เรื่องจะบรรเทาลงเมื่อ ฝ่ายหญิงได้ตกลงกับสามี ว่าจะเลิกพฤติกรรมดังกล่าว โดยญาติมารู้ภายหลังว่านอกจากไม่เลิกร้างกันไปแล้วหญิงยังชักจูงให้สามีโอนบ้านพร้อมที่ดินให้เป็นชื่อฝ่ายหญิงเสียด้วย และฝ่ายสามีก็ตกลงตามนั้นโดยที่ไม่มีญาติคนใดหรือใครจะคัดค้านได้ ทำให้สถานะทางทรัพย์สมบัติตอนนี้ของชายนอกจากเงินสดติดตัวในบัญชีธนาคารแล้วก็มีเพียงรถยนต์เท่านั้น ไม่มีบ้านเป็นชื่อของตัวเองอีกต่อไป ทั้งที่ได้สร้างเนื้อสร้างตัวมานับสิบปี
หลังจากนั้นพฤติกรรมของภรรยาก็ไม่ได้เปลี่ยนไปแต่อย่างใดเพราะยังคงมีคนเห็นเธอไปมาหาสู่คบชู้คนเดิมอยู่เนืองๆ แม้จะพยายามไม่ให้เรื่องหนักข้อไปถึงการพามาอยู่กันที่บ้าน แต่ฝ่ายชายก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก เนื่องจากฝ่ายชายยังคงต้องเดินทางเพื่อไปทำธุรกิจ และรับจ้างสารพัดรูปแบบเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว รวมถึงต่อเติมบ้านให้เสร็จเรียบร้อยดังที่หวังไว้
หลังจากทนไม่ไหวกับพฤติกรรมของฝ่ายหญิง และรู้สึกถึงความสูญเปล่าของความรักความปรารถนาดีที่ทุ่มเทลงไปแต่ไม่เคยได้รับความไว้วางใจกลับมา สามีจึงได้มาปรึกษาญาติพี่น้อง ซึ่งทุกคนยอมที่จะช่วยเหลือฝ่ายชายอย่างเต็มที่ โดยตกลงกันว่าจะนำเรื่องขึ้นฟ้องต่อศาลเพื่อนำทรัพย์สินทั้งหมดของฝ่ายชายกลับคืนมาให้ได้
แต่คืนก่อนไปศาลนัดแรก ฝ่ายหญิงมาอ้อนวอนขอพบฝ่ายชายเพื่อที่จะคุยโดยบอกทุกคนว่าขอเวลาเพื่อว่าจะแก้ไขปัญหาทุกอย่างโดยไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล โดยญาติๆเข้าใจว่า หญิงคงไม่อยากขึ้นศาลจึงอาจมีขอยอมความแล้วไปจัดการทรัพย์สินก่อนจะแยกย้ายกันไป แต่หลังจากที่คุยกันเสร็จ ฝ่ายชายกลับมาบอกญาติว่าจะล้มคดี และจะโอนรถยนต์ให้กับฝ่ายหญิงอีกด้วย ซึ่งบุคคลที่จะให้ความช่วยเหลือก็งงไปตามกัน
ปัจจุบันผู้หญิงก็ยังไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรม โดยที่ฝ่ายชายก็ไม่ได้ว่ากล่าวแต่อย่างใด เรื่องนี้ได้สร้างความมึนงงกับญาติฝ่ายชายเป็นอย่างมากว่าคืนที่ฝ่ายหญิงมาคุยกับฝ่ายชายเกิดอะไรขึ้นทำไมฝ่ายชายจึงได้เปลี่ยนใจอย่างกะทันหัน และพอมีทางใดที่ญาติจะสามารถช่วยไม่ให้ชายคนนั้นโดนหลอกและตกเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัวในบั้นปลายชีวิตทั้งที่เป็นคนขยันขันแข็งมาตลอด
วิเคราะห์ปัญหา
1. การอยู่กินกันของหญิงชายคู่นี้มีสถานะทางกฎหมายอย่างไร ผลในเรื่องความสัมพันธ์ และทรัพย์สินระหว่างคนทั้งคู่นั้นมีข้อผูกพันกันด้วยประการใด
2. การมีชู้หรือมีบุคคลที่สามเข้ามาในความสัมพันธ์จะมีผลอย่างไร ฝ่ายชายจะเรียกร้องค่าเสียหายหรือฟ้องร้องบุคคลที่สามได้หรือไม่
3. ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดู และค่าต่อเติมบ้านที่ชายให้หญิงแต่ไม่มีการนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ตกลงกันไว้จะเรียกคืนได้หรือไม่ และเรียกเงินคืนจากบุคคลที่สามซึ่งหญิงเอาเงินไปปรนเปรอได้ไหม
4. ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายยกให้กับหญิงเพื่อให้เป็นภรรยาที่ดีของตน แต่หญิงไม่ปฏิบัติตนตามที่ตกลงนั้น ชายจะทวงคืนทรัพย์สินมาจากหญิงได้หรือไม่
5. ข้อพิพาทเหล่านี้จะมีวิธีจัดการอย่างไร ญาติพี่น้องจะเข้าไปช่วยดำเนินการได้หรือไม่ หากต้องฟ้องร้องต้องฟ้องไปยังศาลใดกันแน่
การนำกฎหมายมาแก้ไข
1. กฎหมายครอบครัวจะคุ้มครองคู่สมรสที่เป็นชายหญิงซึ่งได้จดทะเบียนสมรสกันต่อหน้าเจ้าพนักงานเท่านั้น การอยู่กินกันในทางพฤตินัยไม่มีผลใดๆในทางกฎหมาย แต่ถ้ามีลูกชายอาจเซ็นรับรองบุตรได้ แต่กรณีนี้ไม่มี หญิงชายคู่นี้จึงไม่มีสถานะและคู่ผูกพันทางกฎหมายทั้งสิทธิหน้าที่ต่อกันฉันท์คู่สมรส
2. เมื่อทั้งสองมิใช่สามีภรรยากันตามกฎหมาย ชายจึงไม่อาจฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากชายชู้ ต่างจากคู่ที่จดทะเบียนสมรสซึ่งเรียกค่าเสียหายทางแพ่งฯได้ฐานละเมิด
3. ค่าใช้จ่ายนั้นอาจมีข้อยุ่งยากในการเรียกคืนเนื่องจากมิได้มีวัตถุประสงค์เชิงเป้าหมายอย่างชัดเจนให้ยกเป็นข้อเรียกร้องว่าได้ทำผิดสัญญา แต่ค่าต่อเติมบ้านนั้นมีวัตถุประสงค์ชัดเจนจึงอาจฟ้องเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ทางอาญาและเรียกเงินคืนได้เพราะไม่นำเงินไปใช้ตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งเรื่องเงินที่ชายชู้ได้ไปหากสืบทราบได้ว่าเป็นจำนวนเท่าใดก็เรียกจากชายได้ หรือถ้าจะให้ง่ายกว่าก็ฟ้องเอาจากหญิงแล้วให้หญิงนั้นรับภาระเป็นคนไล่เบี้ยเอาเอง
4. ทรัพย์สินที่ชายยกให้หญิงจึงมิใช่สินสมรสแต่เป็นการยกทรัพย์สินของชายให้หญิงไปตามหลักการให้โดยเสน่หา ซึ่งกฎหมายแพ่งฯได้มีเงื่อนไขให้เรียกทรัพย์คืนได้หากผู้รับกระทำการอกตัญญู ซึ่งก็ต้องไปนำสืบให้ศาลประจักษ์ในชั้นศาลต่อไป
ช่องทางเรียกร้องสิทธิ
1. เนื่องจากกรณีนี้มิใช่คู่สมรสตามกฎหมายและไม่มีประเด็นเกี่ยวกับบุตร จึงไม่อาจฟ้องร้องคดีไปยังศาลคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษแต่อย่างใด คดีจึงเป็นเรื่องที่ต้องฟ้องไปยังศาลยุติธรรมทั่วไป
2. การฟ้องให้หญิงรับผิดทางอาญาฐานยักยอกทรัพย์อาจเริ่มจากการแจ้งความไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วให้อัยการสั่งฟ้องไปที่ศาลอาญาและเรียกทรัพย์ที่ยักยอกพร้อมดอกเบี้ยมาพร้อมกันได้เลย
3. การฟ้องเรียกร้องทรัพย์ที่ยกให้โดยเสน่หา จำต้องตั้งทนายขึ้นฟ้องไปยังศาลแพ่งฯ เพื่อบังคับให้ทรัพย์กลับคืนผ่านคำสั่งศาล
4. หากชายมิได้ตั้งญาติเป็นตัวแทนก็ต้องดำเนินการเอง ญาติมิอาจเข้าไปแทรกแซงจัดการแทน ญาติพี่น้องจะดำเนินการแทนได้ก็ต่อเมื่อชายได้ตั้งให้เป็นตัวแทน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องคดีเฉพาะตัว
สรุปแนวทางแก้ไข
ใช้หลักกฎหมายครอบครัว นิติกรรมและทรัพย์ รวมถึงกระบวนการทางแพ่งเป็นหลัก ซึ่งกรณีนี้เป็นเรื่องทางแพ่งทั้งสิ้นจึงขึ้นอยู่กับผู้เสียหายหรือคู่ความที่จะตกลงระงับข้อพิพาทกันอย่างไร ยิ่งถ้าไม่มีการแต่งงานเป็นการจดทะเบียนตามหลักนิตินัย ยิ่งทำให้ทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของแต่ละฝ่าย ใช้ได้เพียงหลักการให้โดยเสน่หามาปรับใช้และเรียกคืนทรัพย์เมื่อผู้รับเนรคุณต่อผู้ให้เท่านั้น แต่อย่างไรก็แล้วแต่ก็เป็นเรื่องทรัพย์ขึ้นอยู่กับผู้เป็นเจ้าของจะจัดการอย่างไรก็แล้วแต่การแสดงเจตนา เว้นกรณียักยอกทรัพย์ที่แจ้งความเป็นคดีอาญาและเรียกทรัพย์ที่ยักยอกคืนมาได้