Skip to main content

เรื่องที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังเป็นกรณีที่เกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของผู้อื่นที่อาจมาเคาะประตูบ้านเราได้ทั้งที่เราก็อยู่เฉยๆในบ้านไม่ได้ออกไปทำอะไรเสี่ยงภัย  แต่กลับประสบภัยจากความประมาทเลินเล่ออย่างรายแรงของผู้อื่น  ลองไปฟังเคราะห์หามยามซวยของน้องคนหนึ่งที่หวังจะใช้กฎหมายเป็นที่พึ่งหลังจากครอบครัวเขาต้องประสบกับโชคร้ายกันครับ

“ครอบครัวของข้าพเจ้าได้มีการต่อเติมบ้านเพิ่มเพื่อรองรับสมาชิกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นมานั้นคือ หลานของพี่ชายที่กำลังใกล้จะคลอดเพราะพี่สะใภ้ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 6 เดือนแล้ว   จึงได้มีการปรับขยายห้องพักด้านล่างไว้เพื่อเลี้ยงหลานและให้นมในเวลากลางวัน และต่อขยายหน้าร้านด้านนอกเพื่อเปิดเป็นที่ขายเครื่องดื่ม น้ำชากาแฟ และขนมต่างๆด้านหน้าบ้านให้ร่มรื่นเพื่อหารายได้เสริมเล็กๆน้อยๆที่บ้าน เพราะพี่สะใภ้ต้องออกจากงานเดิมมาเลี้ยงลูกที่บ้าน จะได้มีอะไรทำร่วมกับครอบครัวข้าพเจ้าเพื่อให้มีรายได้เข้ามาเพิ่มอีกทางด้วย  ซึ่งร้านนี้ก็เป็นความฝันของฉันและพี่ชายเพราะเราสองคนมีหนังสือหนังหาและการ์ตูนสะสมไว้เป็นหมื่นเล่มจะได้เอามาเป็นจุดขายในร้านขายกาแฟของเรา และฉันจะได้ทำขนมกับแม่มาขายด้วยเพราะอุตส่าห์ไปเรียนมา

กลางดึกคืนหนึ่ง หลังจากเสร็จงานก่อสร้างเพิ่มเติมแล้ว พ่อของฉันก็เตรียมถอยรถกระบะออกมาเพื่อจะได้ไปส่งคนงานกลับที่พักในแคมป์คนงานนอกตัวเมืองเหมือนเช่นเคย โดยพ่อเอาออกจอดรถอยู่ริมถนนหน้าบ้านเพื่อให้คนงานล้างไม้ล้างมือก่อนจะขึ้นรถกลับกัน ขณะที่พ่อจอดไว้และลงไปหยิบข้าวของอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆขึ้นรถเพื่อเตรียมจะออกเดินทาง ก็ได้มีรถคันหนึ่งขับเข้ามาชนท้ายรถด้วยความแรงเสียงดังสนั่นหวั่นไหว จนข้าพเจ้าและแม่ตกใจมากต้องรีบวิ่งออกมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับใคร เนื่องจากได้ยินเสียงร้องโอดโอยของคนงานดังโหยหวนออกมาด้วย พอออกมาถึงหน้าบ้านจึงเห็นว่ารถคันนั้นเข้ามาอัดท้ายรถกระบะของพ่อจนคนงานหญิงคนหนึ่งบาดเจ็บอย่างหนัก ต้องรีบพากันไปโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน หลังจากผ่าตัดพบว่าพี่คนงานบาดเจ็บสาหัสจนต้องเสียขาไป ส่วนพ่อข้าพเจ้าก็ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยเพราะไม่ได้ยืนอยู่ตรงจุดที่ระพุ่งเข้าปะทะ

โดยอาการของชายเจ้าของรถคันนั้นหลังขับรถชนแล้วก็ยังไม่ออกมาดูเหตุการณ์หรือช่วยเหลืออะไร ยังคงนั่งอยู่ในรถ พอเราเข้าไปดูก็พบว่ามีอาการเมาสุราอย่างมาก พ่อต้องพาคนงานไปโรงพยาบาลก่อนเลยให้แม่โทรเรียกตำรวจและให้พี่ชายอยู่รอตำรวจเพื่อจะได้แจ้งความและดำเนินการทางกฎหมายต่อ พอไปถึงโรงพักทางเราก็เล่ารายละเอียดและขอให้ตำรวจวัดความเมาของคนที่ขับมาชนด้วย ปรากฏว่าการวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของชายคนดังกล่าวก็สูงมาก

แต่เราสืบมาภายหลังพบว่าชายคนนี้รู้จักกับตำรวจที่โรงพัก พ่อข้าพเจ้าบอกว่าเขาได้ติดสินบนตำรวจไว้ด้วย จนพ่อข้าพเจ้ารู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามจะให้จบคดีหรือไกล่เกลี่ยโดยผลักภาระมาให้ทางครอบครัวข้าพเจ้ารับผิดชอบ โดยบอกว่ารถของพ่อมาจอดขวางทางจราจรและคนงานก็เอาข้าวของมาวางกีดขวางถนน    กระทั่งหลังจากนั้นได้มีการฟ้องร้องกัน ทั้งทางแพ่งและอาญาจากการกระทำและความเสียหายที่ชายคนดังกล่าวได้ก่อขึ้น   เนื่องจากค่าใช้จ่ายจากความเสียหายทั้งหมดจากการซ่อมรถเสียไปถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลคนงานด้วย ที่พ่อข้าพเจ้าต้องรับผิดชอบออกไปทั้งหมด โดยทางคู่กรณีเองไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายใดๆเลย เพียงแต่ศาลตัดสินเขาให้จำคุกเพียง 1 ปี

วิธีแก้ไขในตอนนั้นคือข้าพเจ้าฟ้องศาลในทางแพ่งและอาญา เพื่อเอาความผิดแก่ผู้กระทำ เรียกร้องให้ลงโทษ เพื่อให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาล แต่จำเลยไม่ยอมชำระค่าเสียหาย แต่ยอมจำคุก 1 ปีเท่านั้นจากการเมาแล้วขับ เท่านั้น ซึ่งนับว่าไม่เป็นธรรมอย่างมาก

วิเคราะห์ปัญหา

1.             การขับรถชนคนจนได้รับบาดเจ็บและทำลายทรัพย์สินเสียหายมีความผิดทางกฎหมายหรือไม่

2.             การขับรถขณะมึนเมา ถือเป็นความผิดหรือไม่และใครประมาทกว่ากันเมื่อเทียบกับการจอดรถในถนน

3.             ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ การฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายกระทำได้ด้วยกระบวนการใด

4.             หากต้องการทวงถามให้ผู้ก่อความเสียหายชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากกระทำของเขาต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

5.             การติดสินบนต่อเจ้าพนักงานและการไม่ดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมมีความผิดหรือไม่

การนำกฎหมายมาแก้ไข

1.             การขับรถชนคนจนได้รับบาดเจ็บและทำลายทรัพย์สินเสียหายมีความผิดทางอาญาฐานความผิดต่อร่างกายและมีเหตุรับโทษเพิ่มเพราะทำให้บาดเจ็บสาหัสเสียอวัยวะสำคัญ และฐานทำให้เสียทรัพย์   และถือเป็นการละเมิดในทางแพ่งฯซึ่งนำไปสู่ความรับผิดและชดเชยค่าสินไหมทดแทนด้วย

2.             การขับรถขณะมึนเมา ถือเป็นความผิดตามกฎหมายจราจรทางบก และในการพิสูจน์ทางละเมิดจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่า คนเมาแล้วขับมีความประมาท แต่ในกรณีนี้จะมีกฎหมายจราจรฯ ที่ห้ามมิให้ใครกีดขวางทางจราจรไม่ว่าจะตัวคนหรือข้าวของ เมื่อเกิดอุบัติเหตุก็ต้องเอาเข้ามาพิจารณาประกอบด้วยว่าใครประมาทกว่ากัน ซึ่งเป็นดุลยพินิจของศาลจากการนำสืบของคู่กรณีสองฝ่าย

3.             ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นใครที่ศาลวินิจฉัยว่าประมาทกว่าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ การฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายกระทำได้ด้วยอาศัยกระบวนการฟ้องทางอาญาที่พิสูจน์ว่าใครผิดเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกันไปในคราวเดียวเลย โดยผู้ฟ้องสามารถขอให้ตำรวจและอัยการกำหนดค่าเสียหายไปให้ศาลพิจารณาได้เลย

4.             หากต้องการทวงถามให้ผู้ก่อความเสียหายชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากกระทำของเขาต้องรอคำพิพากษาของศาลให้ถึงที่สุดเพื่อนำคำพิพากษาไปบังคับชำระหนี้ โดยมีกรมบังคับคดีติดตามให้ผู้ก่อความเสียหายชำระหนี้ หากไม่มีอาจมีการยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย

5.             อย่างไรก็ดีอาจต้องแก้ปัญหาเรื่องการติดสินบนต่อเจ้าพนักงานและการไม่ดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมก่อนเพราะมีผลต่อการทำสำนวนให้พลิกไปเข้าทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยในคดีนี้สำนวนทำให้เห็นว่าการขับรถขณะมึนเมาเป็นความผิดจริง แต่การกีดขวางจราจรเป็นสาเหตุสำคัญกว่า  เพราะไม่มีการร้องเรียนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตของเจ้าพนักงานแต่ต้น

ช่องทางเรียกร้องสิทธิ

1.             คดีนี้สามารถเริ่มได้ด้วยการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือสถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ  ถ้าตำรวจและอัยการสั่งไม่ฟ้อง ผู้เสียหายอาจแต่งทนายขึ้นฟ้องคดีต่อศาลเองก็ได้

2.             การฟ้องร้องจะเกิดขึ้นในศาลอาญาและเรียกค่าเสียหายทางแพ่งฯไปในคราวเดียวกันโดยไม่ต้องไปฟ้องซ้ำที่ศาลแพ่งฯอีก

3.             การติดตามให้ชำระหนี้อาจทวงถามเอง หรือรอคำพิพากษาเพื่อไปให้กรมบังคับคดีช่วยดำเนินการต่อไป

4.             การร้องเรียนเรื่องเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต้องกล่าวโทษต่อผู้บังคับบัญชา สน. นั้น หรือร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และขั้นเด็ดขาด คือ ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.

สรุปแนวทางแก้ไข

ใช้หลักการทำให้เสียทรัพย์ทางอาญาและละเมิดในทางแพ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน ส่วนกระบวนการและการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจและศาลตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาการชี้ว่าผู้ใดผิดและต้องชดเชยความเสียหายต้องดูว่าผู้ใดประมาทกว่า ซึ่งกรณีนี้ผู้มึนเมาแอลกอฮอล์จะต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าประมาทเว้นแต่ข้างเราจะมีความประมาทกว่า   ส่วนเรื่องการติดสินบนต้องแจ้งต่อผู้บังคับบัญชา หรือ ปปช. ให้ดำเนินการ   หากไม่พอใจคำตัดสินของศาลอาจทำการอุทธรณ์ต่อไปเพื่อให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งที่เกิดจากมูลละเมิด


 

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
การนำ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 205/2549 มาตราเป็นพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร  โดยแฝงนัยยะของการสร้าง “รัฐทหาร” ด้วยการขยับขยายขอบเขตอำนาจแก่เจ้าหน้าที่ กอ. รมน.
ทศพล ทรรศนพรรณ
หลังสิ้นสุดยุคสมัยสงครามเย็น หนึ่งในมรดกตกทอดจากยุคนั้น ได้แก่ หน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทยที่มีอำนาจหน้าที่อย่างเข้มข้นในการเฝ้าระวัง สอดส่อง ควบคุมการสื่อสารและการกระทำต่าง ๆ ของประชาชนที่ผู้มีอำนาจเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง และส่งผลเสียต่อการยืนหยัดสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองช่วงนั้น อาทิ กอง
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านจัดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิและด้อยโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะ สวัสดิการ และหลักประกันด้านต่าง ๆ ด้วยเหตุที่เป็นกลุ่มซึ่งต้องปะทะโดยตรงกับการพัฒนาเมืองอย่างไม่ยั่งยืนทั้งที่สาเหตุของการออกมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมอันเป็นผลลัพธ์ของนโยบายส
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านตกอยู่ในสถานะของกลุ่มเสี่ยงที่อาจต้องเผชิญจากการเหยียดหยามศักดิ์ความเป็นมนุษย์โดยตรงจากการละเมิด และยังอาจไม่ได้รับการดูและแก้ไขปัญหาเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ยุ่งยากต่าง ๆ เพราะถูกจัดให้อยู่ในสถานะต่ำต้อยเสี่ยงต่อการเลือกประติบัติจากรัฐ จนไปถึงการเพิกเฉย ละเลย ไม่ใส่จะแก้ปัญหาให้คนไร้บ้
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านเป็นเสียงที่ไม่ถูกนับ การใช้พลังในลักษณะกลุ่มก้อนทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประโยชน์จากผู้มีอำนาจให้จัดสรรทรัพยากรให้จึงเป็นเรื่องยาก ด้วยสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนไร้บ้านจำเป็นต้องยืนอยู่บนฐานของกฎหมายที่ประกันสิทธิของบุคคลโดยมิคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางสถานภาพใด ๆ แม้คนไร้บ้านจะเป็นปัจเจกชน หรือกลุ่มคนที่มีปริมาณน้อยเพียงไร รัฐก็มีพันธกรณีในการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิให้กลุ่มเสี่ยงนี้โดยเหตุแห่งความเป็นสิทธิมนุษยชนที่ร
ทศพล ทรรศนพรรณ
หากต้องกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการเข้าร่วมตลาดดิจิทัลที่มีเข้มข้นของกิจกรรมข้ามพรมแดนตลอดเวลา เพื่อแก้ไขปัญหาศักยภาพของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายขยายไปเหนือหลักเขตอำนาจศาลเหนือดินแดนของตนแบบเก่า เมื่อต้องกำกับกิจกรรมของบรรษัทข้ามชาติที่อยู่ในการบังคับของกฎหมายรัฐอื่นซึ่งมีบรรทัดฐานในหลายประเด็น
ทศพล ทรรศนพรรณ
การวิเคราะห์กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติกับรัฐ จะกระทำใน 3 ประเด็นหลัก คือ ใครเป็นเจ้าของข้อมูล ใครมีสิทธิใช้ประโยชน์จากข้อมูลมากน้อยอย่างไร หรือแบ่งปันกันอย่างไร อันเป็นการเตรียมความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูล
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทความนี้จะทำการรวบรวมข้อเสนอทางกฎหมายในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติ กับรัฐและองค์การระหว่างประเทศ อันเป็นการเตรียมความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าสามารถบริหารจัดการให
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทความนี้จะทำการทบทวนข้อกฎหมายทั้งในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติ เรื่อยมาจนถึงสำรวจความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าสามารถบริหารจัดการให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลดิจิทัลระหว
ทศพล ทรรศนพรรณ
ประเด็นพื้นฐานที่รัฐต้องคิด คือ จะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อสะสมความมั่งคั่งได้อย่างไร แล้วจึงจะไปสู่แนวทางในการแบ่งปันความมั่งคั่งให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้อมูลขึ้นมาในแพลตฟอร์ม
ทศพล ทรรศนพรรณ
Kean Birch นำเสนอปัญหาของข้อมูลส่วนบุคคลในฐานะสินค้าของตลาดนวัตกรรมเทคโนโลยีจำนวน 5 ประเด็น คือ1.ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของแพลตฟอร์มในฐานะเจ้าของข้อมูลทึ่ถูกรวบรวมโดยนวัตกรรม,