Skip to main content

กฎหมายไซเบอร์กับสังคมดิจิทัล

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้โลกไซเบอร์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านอุตสาหกรรม ด้านการศึกษา และด้านอื่นๆ อีกมากมายซึ่งมีการใช้งานผ่านโลกไซเบอร์ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวข้องกับโลกไซเบอร์ทั้งสิ้น และด้วยความที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายนี้เองจึงทำให้โลกไซเบอร์มีอิทธิพลต่อผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก

เงินสดอันเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่ผู้คนในสังคมยอมรับและใช้มาอย่างเนิ่นนานก็เช่นเดียวกันที่ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้มาเป็นในรูปแบบ FinTech (Financial Technology) หรือ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเงินมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น แอปพลิเคชัน ตู้ ATM หรือ E-payment ซึ่งล้วนแล้วเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทั้งสิ้น

ในบทความ “หรือเงินสดกำลังจะหายไปจากโลก ?” ได้กล่าวถึงผลสำรวจและแนวโน้มของสังคมทั่วโลกที่จะมีใช้เงินสดน้อยลงสืบเนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและโมบายแอปพลิเคชัน บวกกับการมาถึงของธุรกิจ FinTech การทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์กลายเป็นเรื่องง่ายและทำได้ทุกที่ทุกเวลา (ข้อมูลอ้างอิง:https://themomentum.co/successful-datalab-cashless-society/)

จากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันช่องทางการใช้เงินมีหลากหลายซึ่งผู้คนส่วนมามักใช้การทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์ที่เพียงแค่มีโทรศัพท์เครื่องเดียวก็เสมือนมีตู้เอทีเอ็มเคลื่อนที่ตามไปด้วยทุกที่ อีกทั้งหลายธนาคารเริ่มมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมบนช่องทางดิจิทัลซึ่งกระตุ้นให้ผู้คนใช้ช่องทางดังกล่าวมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ดีย่อมมีผู้ไม่หวังดีนำประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดังกล่าวมาหาช่องทางโจรกรรมและก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใช้งานได้

การเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของโลกอินเตอร์เน็ตจึงส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมายแบบเดิมที่จะนำมาบังคับไม่ได้ในทุกกรณีอีกต่อไป เฉกเช่นเดียวกับการบังคับใช้กฎหมายที่ควรมีการกำหนดควบคุมไว้โดยเฉพาะเนื่องจากนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ทั่วไปนั้นแตกต่างกับโลกไซเบอร์เพราะมีข้อจำกัดมากมายรวมถึงการตีความต่างๆ ที่แตกต่างกัน กฎหมายที่ใช้บังคับจึงต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆโดยเฉพาะเพื่อก้าวให้ทันต่อกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

นภัสสร์   ฟ้าสะท้อน

 

 

กฎหมายไซเบอร์กับสังคมดิจิทัล

ปัจจุบันนี้เราท่านจะเห็นได้ว่าโลกใบเดิมของเราได้ก้าวผ่านเหตุการณ์ต่างๆแต่ละยุคแต่ละสมัยเรื่อยมา จนถึงทุกวันนี้ ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นยุคสมัยแห่งดิจิทัล หรือ อีกคำหนึ่งที่ได้ยินกันหนาหูก็คือ                    ยุคโลกาภิวัตน์ อันเป็นยุคที่คนทั้งโลก ไม่ใช่เพียงภายในเขตการปกครองเดียวกัน หรือ รัฐเดียวกัน หากแต่ทั่วทั้งโลกใบนี้ สามารถก้าวผ่านความยากลำบากในการติดต่อสื่อสาร โดยมีอินเทอร์เน็ตเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะเชื่อมการติดต่อสื่อสารหรือการส่งผ่านข้อมูล จากซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซีกโลกหนึ่ง ด้วยความรวดเร็วในพริบตา เพียงเราท่านมีอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

แต่ในความสะดวกนี้ย่อมเปรียบเสมือนดาบสองคม เนื่องจากที่ผ่านมา เราจะเห็นการแชร์ข้อมูลข่าวสารต่างๆเกิดขึ้นมากมายบนหน้าฟีดข่าวสารตามแอพพลิเคชั่นต่างๆ หรือ แม้กระทั่งตามเว็บไซต์ที่ท่านค้นหาข้อมูล คำถามคือ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ข้อมูลที่ปรากฎนั้น เป็นข้อมูลจริงหรือข้อมูลเท็จ และยิ่งในสมัยของการแชร์ข้อมูลข่าวสารไปยังบุคคลอื่นนอกเหนือจากคู่สนทนาเหมือนดังสมัยเดิม ทำได้ง่ายดายเช่นนี้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จะถูกนำมายกเป็นข้ออ้างสามัญที่คนทำผิดมักอ้างอีกต่อไปได้หรือไม่ เนื่องจากว่าข้อมูลข่าวสารปลอมในสมัยนี้นั้น เรียกได้ว่าแทบจะโคลนนิ่งมาจากสำนักข่าวจริงๆเลยก็ว่าได้ ทั้งตราโลโก้สำนักข่าว ชื่อของสำนักข่าว ชื่อผู้เขียน เรียกได้ว่าหากไม่สังเกตจริงๆ ก็ดูไม่ออกว่าเป็นสำนักข่าวเทียม การบังเกิดของสำนักข่าวเทียมเช่นนี้ก่อให้มีข้อมูลเท็จมากมายบนโลกไซเบอร์ ส่งผลกระทบให้เป็นการสร้างความสับสนวุ่นวายในสังคมไซเบอร์ หรือแม้กระทั่งอาจจะใช้เป็นเครื่องมือสังหารโจมตีผู้ใดก็ได้ที่สำนักข่าวเทียมเหล่านั้นอยากจะเล่นงาน และที่สำคัญมีคนจำนวนไม่น้อยด้วยที่หลงเชื่อกับข้อมูลข่าวสารปลอมเหล่านั้น จนนำไปสู่การแชร์ไปยังบุคคลอื่น ซึ่งแน่นอนว่าผู้แชร์อาจจะไม่ได้มีเจตนาในทางที่ไม่ดีเหมือนต้นสังกัดที่สร้างข่าวปลอม หากแต่เพียงว่าเห็นแล้วถูกใจ หรือ ตกใจ กับข้อมูลเหล่านั้น และด้วยความหวังดี อยากจะส่งต่อไปให้บุคคลอื่นๆที่ตนรักหรือรู้จักได้รับรู้ด้วย เช่น ข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพ ข่าวสารเกี่ยวกับการเมืองหรือการกระทำของรัฐบาลต่างๆ เป็นต้น และดังที่กล่าวไปในข้างต้นว่ายุคสมัยนี้เป็นยุคสมัยแห่งความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร ดังนั้น ข่าวต่างๆที่แพร่ออกไป ย่อมกระจายอย่างรวดเร็วภายในพริบตา และนี่เอง ที่อาจจะเป็นอีกคมหนึ่งของดาบที่เราต้องตระหนักกันด้วย ว่าเหรียญย่อมมีสองด้านฉันใด อินเทอร์เน็ตก็ย่อมมีด้านทั้งสองฉันนั้น งานหนักอาจจะตกไปอยู่ที่รัฐบาลหรือฝ่ายปกครองผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลเกี่ยวกับสังคมดิจิทัลนี้ ว่าจะมีนโยบายหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไร จึงจะลดหรือขจัดข้อมูลข่าวสารเทียมเหล่านี้ไปได้ ในยุคที่ข้อมูลส่งผ่านแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วเช่นนี้

ข้อมูลอ้างอิง: http://www.bbc.com/thai/thailand-41438401

เอกวุฒิ   ทองโสภา

 

 

บทนำเข้าสู่กฎหมายไซเบอร์กับสังคมดิจิทัล

ข่าว OnePlus แอบเก็บข้อมูลส่วนตัวและยังไม่มีการแจ้งกับผู้ใช้งาน ถูกค้นพบโดยนาย Christopher Moore ซึ่งไปเจอปัญหานี้เข้าตอนงานแข่ง Hack Challenge แล้วบังเอิญไปเจอก้อนข้อมูลขนาดใหญ่ที่ส่งไปที่โดเมนของ OnePlus ข้อมูลที่ถูกส่งไปนั้นไม่มีการปิดบังเลยแม้แต่น้อย OnePlus ได้ให้ความเห็นว่าเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาซอฟต์แวร์และการบริการให้ดีขึ้นซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ในกรณี OnePlus เป็นการแอบเก็บข้อมูลผู้ใช้งานโดยไม่ได้รับความยินยอม และทางบริษัทไม่มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่มีการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้บริการ กระทบต่อการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนผู้ใช้บริการทำให้ผู้อื่นอาจเข้าถึงได้อย่าง่ายดาย อาจนำข้อมูลของผู้ใช้งานดังกล่าวไปใช้หาผลประโยชน์ส่วนตัว และอาจส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของทางบริษัทได้ เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจากการที่ไม่มีกฎหมายเฉพาะในการเอาผิดผู้ให้บริการที่ละเลยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการหรือการนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการไปหาผลประโยชน์โดยไม่ได้รับความยินยอมทำให้ผู้ให้บริการเอาเปรียบผู้ใช้บริการอยู่ตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่ากฎหมายยังไม่สามารถเอาผิดกับผู้กระทำความผิดทุกคนหรือทุกกรณีที่เกิดขึ้นในโลกไซเบอร์ได้ ในกรณีนี้ Christopher Moore ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 5 และ 7 เนื่องจากเป็นการเข้าถึงระบบและข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้มีการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลโดยเฉพาะ เป็นข้อมูลที่มีไว้เปิดเผยแก่สาธารณชนมิได้มีไว้สำหรับตน และการเจอข้อมูลโดยบังเอิญเป็นการไม่มีเจตนาในการเข้าถึงโดยมิชอบและการขโมยข้อมูล จึงสรุปได้ว่าการกระทำของ Moore ไม่เป็นความผิดฐานจารกรรมข้อมูลทางคอมพิวเตอร์

ข้อมูลอ้างอิง: https://droidsans.com/oneplus-found-collecting-personal-data/

นภาวรรณ   พิมสวน

 

บทนำเข้าสู่กฎหมายไซเบอร์กับสังคมดิจิทัล

            จากข่าว อัยการศาลทหาร สั่งฟ้อง 8 แอดมินเพจ 'เรารักพล.อ.ประยุทธ์' ฐานกระทำผิด พรบ.คอมฯ มาตรา 116 ได้มีการตั้งข้อสงสัยมากมายว่า การกระทำของทางเพจเรารักพลเอกประยุทธ์นั้นได้เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 116 ตามที่ได้รับข้อกล่าวหาจริงหรือ

โดยใจความสำคัญของมาตรา 116 นั้นจะเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นความผิดอาญา โดยมุ่งที่จะกำกับการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะไม่ให้เป็นการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นได้ว่าการนำเอา มาตรา 116 มาเอาผิดบุคคลนั้น ก่อนเกิดการรัฐประหารไม่ได้ถูกนำมาใช้เท่าไรนัก แต่หลังจากเกิดการรัฐประหารครั้งล่าสุด โทษของมาตรา 116 ได้มีการนำมาใช้เพิ่มมากขึ้น และมีผู้ต้องโทษอยู่หลายคน หนึ่งในนั้นคือเหล่าแอดมินเพจ เรารักพล.อ.ประยุทธ์

            ก่อนอื่นต้องมาพิจารณาก่อนว่าการกระทำของเหล่า แอดมิน เพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” นั้นเข้าตามความผิดของมาตรา 116 อย่างไร การที่มีการใช้อำนาจของทาง คสช. ในการบังคับใช้กฎหมายในการเอาผิดผู้ที่มีการแสดงความคิดเห็นต่อการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต่อต้านการทำงาน แสดงถ้อยคำล้อเลียน หรือเสียดสี การเอาผิดกับการกระทำเหล่านี้ โดยส่วนมากคดีเหล่านี้จะมีมีการยกฟ้องเนื่องจากศาลถือว่าการแสดงความเห็นโดยสุจริต ไม่ได้มีเจตนาในการปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบหรือเป็นเหตุต่อความมั่นคงแต่อย่างใด

            แต่ในการตั้งข้อหากับแอดมินเพจ ซึ่งโดยเนื้อหาที่ทางเพจได้มีการเผยแพร่ออกไป เป็นในรูปแบบภาพตัดต่อล้อเลียนคำพูดหรือการกระทำต่างๆของท่านนายกเอง การกระทำนี้ก็เหมือนกันแสดงความคิดเห็นทั่วๆไป การแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐนั้นก็ถือเป็นเรื่องปกติ ที่มีมานานและทั่วไปในหลายประเทศ และก็สามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ ซึ่งไม่ได้สร้างความเสียหายมากมายจนกระทบถึงความมั่นคงของรัฐ

            การตั้งข้อหาที่รุนแรงว่าเป็นการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ กับการกระทำของเหล่าแอดมินเพจ เรารักพล.อ.ประยุทธ์นั้น จึงอาจดูขัดกันกับใจความสำคัญของตัวมาตรา 116 เอง เพียงข้อความ เสียดสีหรือล้อเลียน แสดงความคิดเห็น นั้นก็ไม่สามารถปลุกปั่นทำให้เกิดความไม่สงบภายในรัฐได้ หากมองว่าเป็นการใช่สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จำนวนผู้ติดตามของเพจก็ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าได้ว่าประชาชนทั้งหมดนั้นจะทำการไม่สงบให้กับรัฐ การตั้งข้อหาเช่นนี้ทำให้ดูเหมือนว่าข้อความของกฎหมายเจาะจงที่จะคุ้มครองตัวผู้นำมากกว่าตัวของรัฐเอง อีกทั้งเนื้อความที่ทางเพจได้มีการโพสลงในเพจนั้นก็เป็นการแสดงความคิดเห็นต่อบุคคล หากจะเป็นการเอาผิดตามพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในมาตรา 16 ที่เกี่ยวกับการ ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์รูปภาพของบุคคลอื่นด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ดูจะเป็นการเอาผิดที่เข้ากับการกระทำของทางเพจมากกว่า

            ดังนั้นการตั้งให้โทษแอดมินเพจ เรารักพล.อ.ประยุทธ์ ทั้ง 8 ฐานกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 116 อาจดูเป็นการตั้งข้อหาที่ขัดกับความเป็นจริงและเจตนารมย์ของตัวกฎหมายเองและอาจจะมีกฎหมายเอาผิดในลักษณะอื่นที่เข้าและไม่ขัดแย้งกับตัวกฎหมายเช่นเดียวกับมาตรา 116 นี้

(ข้อมูลอ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2016/04/65509)

อรกมล   อรุณปรีย์

 

 

ในปัจจุบันโลกที่เป็นสังคมยุคดิจิทัล ส่งผลในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม เครือข่ายสังคมนี้ทำให้รัฐบาลต่างต้องการความมั่นคงในโลกออนไลน์ ไม่ได้มองสังคมออนไลน์แค่เป็นสังคมเพื่อความบันเทิง จรรโลงใจ สื่อสังคมออนไลน์ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบันการค้าขายออนไลน์ และการทำธุรกิจผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มีมากขึ้น เนื่องจากมันอำนวยความสะดวกสบาย และรวดเร็วในการทำงาน อย่างเช่น SMEs สร้างธุรกิจเทคโนโลยี  ทำธุรกิจค้าขายออนไลน์ เป็นต้น เป็นต้น จึงทำให้รัฐเองพยายามจะผลักดันและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ทันต่อการขับเคลื่อนของโลกสมัยใหม่ โดยเนื้อหาที่อยู่ในกฎหมายชุดนี้ เน้นไปในด้านความมั่นคงที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง โดยเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนได้ด้วยเหตุผลเพื่อความมั่นคงของชาติ  เพราะรัฐต้องการเร่งผลักดันประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลให้  โดยหัวใจของกฎหมายชุดนี้คือ ต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลจริง รัฐก็ต้องให้ความคุ้มครองด้านข้อมูลข่าวสาร สร้างระบบที่มีเสถียรภาพและความปลอดภัย รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องไม่ถูกดักฟังหรือเข้าถึงได้ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการเองก็ไม่ต้องการให้ข้อมูลของลูกค้าตกอยู่ในอันตราย นอกจากนี้ รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันของผู้ประกอบการอย่างโปร่งใส สร้างมาตรฐานความปลอดภัยของระบบและต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างรัฐกับเอกชน
             กฎหมายไซเบอร์นี้ที่รัฐร่างขึ้น เพื่อผลักดันด้านเศรษฐกิจในสังคมยุคดิจิทัลนี้ทำให้รัฐบาลเองมีความพยายามที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่รัฐจะได้ โดยผู้เล่นไม่มีแค่ภายในรัฐ แต่รัฐเองยังมองปัจจัยภายนอก ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มองว่ารัฐเองพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อยกระดับพื้นที่พิเศษสู่ SMART CITY  เพื่อบูรณาการให้เกิดเมืองที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และเป็นเมืองที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ จึงใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เชื่อมโยงเทคโนโลยีและเชื่อมโยงพื้นที่ สร้างความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ ตามบริบทสังคมจริง เช่น การสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจในอาเซียน ที่มีความคิดหรือแนวทางเดียวกันในความต้องการขยายเศรษฐกิจและผลักดันให้เศรษฐกิจในภูมิภาคมีเสถียรภาพ โดยมีความพยายามที่จะผลักดันนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจในภูมิภาค เป็นต้น

ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามิติกฎหมายไซเบอร์เกิดขึ้นมาเพื่อควบคุมและสร้างเสถียรภาพให้โลกสังคมออนไลน์ ในเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัลนี้เป็นผลมาจากสังคมที่เป็นยุคดิจิทัล โดยกฎหมายไซเบอร์ในยุคนี้ควรคำนึงถึงความมั่นคงในโลกออนไลน์  เพราะเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลที่อาศัยเครือข่ายทางอินเทอร์เน็ตยังคงมีช่องว่างในการก่ออาชญากรรม  กฎหมายไซเบอร์จึงเป็นกรอบควบคุมกำกับดูแลและปกป้องความปลอดภัยของทุกภาคส่วน

ข้อมูลอ้างอิง:https://thaipublica.org/2015/01/dangers-new-cyber-laws/

ข้อมูลอ้างอิง:https://thainetizen.org/2015/10/national-cybersecurity-bill-analysis-sarawut/

ณัฐริณี   กิตติเมธีกุล

 

 

 

บทนำเข้าสู่กฎหมายไซเบอร์กับสังคมดิจิทัล

Do we need a new Cybercrime Treaty?

                        วันที่  17 เมษายน ค.ศ. 2015 นาย บิชอป รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของออสเตรเลียได้กล่าวในที่ประชุม  (Major Cyber Security Conference) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ว่า ออสเตรเลียจะแสดงจุดยืนไม่สนับสนุนสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับใหม่ ที่ควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ต โดยระบุว่า สนธิสัญญา Budapest Convention เป็นสนธิสัญญาที่ให้การป้องกันที่เหมาะสมแล้ว

            โดยนายบิชอบได้พยายามชี้ให้เห็นว่าในปัจจุบันโลกของเรามีสนธิสันญาที่ให้การป้องกันในเรื่องอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เหมาะสมแล้ว อีกทั้งยังมีความกังวลว่าถ้าหากมีสนธิสัญญาในลักษณะคล้ายกันหลายฉบับจะทำให้เกิดความคลุมเครือในการตีความกฎหมาย และความสับสนในการประสานงานระหว่างองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้อง

            คำกล่าวข้างต้นของนายบิชอปนั้น นำไปสู่ประเด็นที่น่าขบคิดหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นสำคัญที่ว่าโลกเรามีสนธิสัญญาในกับการรับมือกับอาชญากรรมทางไซเบอร์เพียงพอแล้วจริงหรือ?

             ความมีพลวัฒน์นั้น คือลักษณะที่สำคัญของโลกไซเบอร์ กล่าวคือด้วยการเกิดขึ้นของปรากฎการณ์โลกาภิวัตน์ จึงทำให้พื้นที่ทางไซเบอร์นั้นเป็นพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ก็มีผลกระทบต่อโลกในหลายหลายมิติ ไม่ว่าจะมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง วัฒนธรรม สังคม หรือมิติทางด้านกฎหมาย

            ซึ่งแน่นอนว่าประโยชน์ของการที่โลกออนไลน์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาก็คือ ทำให้โลกเกิดการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ไม่มีที่สิ้นสุด แต่การไม่มีที่สิ้นสุดตรงนี้เอง คือข้อเสียของโลกออนไลน์ เพราะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความไร้ซึ่งเสถียรภาพ จึงเกิดคำถามที่ตามมาว่ากฎหมายที่มีอยู่นั้นเพียงพอและมีเสถียรภาพขนาดไหนในการจัดการกับปัญหาอาชญากรทางไซเบอร์

            จากกรณีในข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ด้วยความที่โลกออนไลน์นั้นมีความเป็นพลวัฒน์  ดังนั้นกฎหมายที่จะสามารถใช้จัดการกับโลกออนไลน์ได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาควบคู่ไปพร้อมกับพลวัตน์ของพื้นที่ไซเบอร์ด้วย ตรงตามแนวคิดการศึกษาสังคมหลังสมัยใหม่ (Post-Modernism) ที่ได้เน้นถึงวิธีการตีความกฎหมายโดยเชื่อมโยงกับบริบททางสังคม ประวัติศาสตร์ (Historical/Archaeology) และศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง (Genealogy) เพื่อต้องการนำไปสู่บทสรุปที่ว่าควรจะตีความกฎหมายตามเจตนารมณ์เดิมหรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเสียใหม่

            เพราะฉะนั้นรัฐจึงไม่ควรปฎิเสธกฎหมายใหม่ที่มุ่งบูรณาการเพื่อให้สามารถรับมือกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิธิภาพมากขึ้น เพราะในฐานะที่รัฐเป็นตัวแสดงหลักที่สำคัญ มีอำนาจอธิปไตยที่ประชาชนมอบให้ ดังนั้นรัฐจึงควรคำนึงถึงบทบาทหน้าที่ในการคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน และป้องกันไม่ให้สิทธิของประชาชนนั้นโดนละเมิดจากการคุกคามทางไซเบอร์โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่งมือหลัก และกฎหมายนั้นก็ควรพัฒนาควบคู่ไปกับโลกไซเบอร์เช่นเดียวกัน

            ข้อมูลอ้างอิง: https://www.theaustralian.com.au/national-affairs/foreign-affairs/bishop-we-dont-support-a-new-cyber-crime-treaty/news-story/75faf78acce6951e0d6ef35241066689

ณัฐวรา   เทพเกษร

 

 

 

 

มาดูหนังห้องเราไหม? ความหลากหลายของการนัดยิ้มในยุค 4.0

            เนื้อหาของบทความได้กล่าวถึงประเด็นของ เซ็กซ์ ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับเรื่องความรักเพียงอย่างเดียว แต่มันยังมีเรื่องสุนทรียะเข้ามาร่วมด้วย ใช่ว่าคนไร้รักจะไม่ต้องการความตื่นเต้นในชีวิต พวกเขาจึงใช้เทคโนโลยีในโลกยุค 4.0 ที่มีช่องทาง ‘นัดยิ้ม’ อยู่หลากหลาย กลุ่มคนที่อยากนัดกันไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง ก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งช่องทางอันทันสมัยที่ดูหลากหลาย ก็เหมือนยังจะตอบสนองพวกเขาได้ไม่มากพอ

            โดยเนื้อหามาจากการสัมมนาของเจ้าของเพจในโลกออนไลน์ (Facebook Page) ‘เจ้าแม่’ ที่ชอบนำเสนอเรื่องบนเตียงและผู้ทำวิจัยเรื่อง ‘นัดยิ้ม…ผ่านทวิตเตอร์’ ซึ่งบทความได้พูดถึงการเปิดเผยเรื่องทางเพศมากขึ้นบนโลกออนไลน์ แต่ในประเทศไทยก็ยังคงเคอะๆ เขินๆ ในการพูดคุยเรื่องทางเพศ ซึ่งตัววิทยากรทั้งสองท่านต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การที่คนไทยยังไม่กล้าพูดเรื่องเพศในฐานะกิจกรรมหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องพบพาน นั้นทำให้คนไทยขาดความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่เหมาะที่ควร และเมื่อไม่กล้าคุยเรื่องนี้กันแบบเปิดเผย ก็ทำให้คนที่ขาดความรู้ส่วนนี้มีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดปัญหาการคุกคามทางเพศได้ อย่างที่มีการยกตัวอย่างในงานสัมมนาว่า เด็กผู้ชายที่ศึกษาเรื่องเพศกันเองผ่านหนังโป๊ต่างๆ มีโอกาสสูงที่จะไม่สนใจว่าการช่วยตัวเองเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคล และอาจไปจับเพื่อนนักเรียนชายที่มีท่าทางตุ้งติ้งมาทำการสำเร็จความใคร่ เพราะคิดว่าฝ่ายตรงข้ามจะชื่นชอบ หรืออาจเพราะอยากให้เพื่อนสนุกเฉยๆ และถ้าขนาดการช่วยเหลือตัวเองยังถูกละเมิดสิทธิ์ได้ การก้าวข้ามเกินเลยไปยังการคุกคามแบบอื่นๆ ก็ย่อมเกิดได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นการที่เราจะพูดเรื่อง ‘นัดยิ้ม’ เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่าโลกมันหมุนไปตามยุคสมัย และในสังคมของการนัดยิ้มนั้นก็มีอะไรที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

            วิวัฒนาการการนัดยิ้มนัดอาจมีมานานและหลากหลายวิธีในการขอสานความสัมพันธ์ที่มุ่งเน้นเรื่องเซ็กซ์เป็นหลัก ซึ่งในบทความได้รวบรัดมายังยุคที่ยังใช้จดหมายเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารกันอยู่ วัยรุ่น วัยเปลี่ยว ยุคนั้นอาจส่งจดหมายไปหาคอลัมน์จับคู่ชู้รักในหนังสือพิมพ์หรือในนิตยสารต่างๆ แล้วก็ลุ้นว่าชื่อกับภาพของตัวเอง จะขึ้นตีพิมพ์เมื่อไหร่ จากนั้นจึงค่อยลุ้นว่าจะมีใครเขียนจดหมายตอบกลับมาเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กันในเวลาต่อไป ซึ่งในยุคจดหมายแบบนี้กว่าเราจะได้ยิ้มกันก็กินเวลายาวนานพอสมควร

            พอมาถึงยุคที่โทรศัพท์เริ่มเข้ากันทั่วถึง ก็มีคนเปิดให้บริการนัดบอดผ่านโทรศัพท์ โดยเก็บค่าบริการโทรศัพท์ที่ออกจะแพงอยู่สักหน่อยแต่ก็ทำให้สื่อสารกันฉับไวมากขึ้น

            พอข้ามมายุคที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึง หลายๆ คนก็ขยับมานัดยิ้มกันใน IRC บ้าง ICQ บ้าง หรือช่วงหนึ่ง MSN ก็เป็นที่นิยมอยู่เหมือนกัน ติดอยู่ตรงที่ว่าการนัดยิ้มตามเน็ตแบบนั้นต้องรู้จักห้องแชทสำหรับนัด หรือไม่งั้นก็ต้องไปโพสต์อีเมลโพสต์เบอร์แบบเปิดเผยก่อน หลายครั้งก็มีความน่าละเหี่ยใจตรงคนที่เราทักไปไม่ยอมคุยด้วย หรือคนที่มาคุยด้วยดันไม่ใช่เป้าหมายที่เราเล็งอยู่ ซึ่งยุคนี้ก็มีคนส่วนหนึ่งมองว่าการนัดยิ้มนั้นเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง

            เข้ามาถึงยุคปัจจุบัน การนัดยิ้ม 4.0 นั้นทำได้ง่าย สะดวก และปลอดภัยขึ้นกว่ายุคก่อนหน้า ด้วยความที่ว่าเว็บนัดเดต หรือ นัดยิ้มกันตรงๆ นั้นต้องให้ผู้ใช้ทุกคนโพสต์รูปส่วนตัวก่อนที่จะเข้าไปใช้บริการแล้ว ซึ่งต่อให้ใช้รูปปลอมก็จะโดนสังคมมวลรวมตัดเครดิตไปเอง แถมแอพพลิเคชั่นยังมีหลากหลายแบบ หลายสไตล์แล้วแต่ความนิยมและกลุ่มเป้าหมายซึ่งเราจะลงรายละเอียดกันต่อไป แต่การนัดยิ้มแบบสามัญบ้านๆก็ยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน เช่น การไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์ ไม่ก็เดินเที่ยวงานวัด งานท่องเที่ยวที่จัดตอนกลางคืน แล้วเดินแกร่วหาคนที่ถูกใจมาพูดตกลงกันว่าคืนนี้จะไปยิ้มต่อกันที่ไหน เป็นต้น

            การนัดยิ้มในยุค 4.0 แสดงให้เห็นว่าโลกของเราเปิดกว้างมากขึ้นในเรื่องของกิจกรรมบนเตียง ที่มีช่องทางหลากหลายจากแอพพลิเคชั่นนัดยิ้มต่างๆให้ทุกคนหาโหลดได้ง่ายๆ ทางสมาร์ทโฟนแล้วเพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศและอำนวยความสะดวกที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนที่เร่งรีบตลอดเวลา แม้กระทั่งเรื่องเซ๊กซ์ก็ยังจำเป็นที่จะต้องใช้โลกออนไลน์มาสร้างความสุขให้กับโลกออฟไลน์

            นอกจากนี้ บทความเรื่องนี้ทำให้เห็นสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นต้นกำเนิดหลักของการนัดยิ้มแบบ 4.0 นั้นคือ การพัฒนาของเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ที่ทำให้คนที่มีความชอบ ความสนใจ ในเรื่องเดียวกันสามารถเข้ามารวมกลุ่มกันหรือพูดคุยกันผ่านแอพพลิเคชั่นที่สามารถทำให้ Time & Space ถูกย่อลงให้เสมือนว่าว่าแต่ละคนอยู่ใกล้กันมากขึ้น แต่การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเมื่อโลกเข้าสู่กระแสของดิจิทัลหรือกระแสของโลกที่ถูกเรียกว่า ยุค 4.0 ที่มีแอพลิเคชั่นที่มีฟังก์ชั่นที่ง่ายต่อการใช้งานและสะดวกมากมากขึ้นต่อการรับ-ส่ง Big Data จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง หรือ จากคนหนึ่งไปยังอีกหลายๆคนในเวลาเดียวกับ อีกทั้งการทำงานของเทคโนโลยีหรือแอพพลิเคชั่นในโลกไซเบอร์ที่ทันสมัยจนสามารถเสนอและเริ่มคิดแทนคนจากการใช้ประวัติข้อมูลการค้นหาของแต่ละบุคคลมาตอบสนองความต้องการของบุคคลนั้นได้อย่างง่าย ถือเป็นการเปิดกว้างและสร้างความสะดวกในการใช้งานของแอพพลิเคชั่น อย่างแอพพลิเคชั่นหาคู่เดตหรือแอพพลิเคชั่นที่ถูกเรียกว่าแอพพลิเคชั่นนัดยิ้มก็เข้าข่ายการให้บริการที่เป็นปัญญาประดิษฐ์จนสามารถสรรหาคู่เดตหรือคู่ยิ้มที่ถูกใจผู้ใช้บริการ แต่ในทางกลับกันยิ่งผู้ใช้บริการมีความการค้นหาหรือสนใจคู่เดตในลักษณะที่เหมือนเดิมๆ แอพพลิเคชั่นก็จะตอบสนองรสนิยมแบบเดิมๆให้กับผู้ใช้บริการเหล่านั้น นอกจากนี้ประโยชน์ของแอพพลิเคชั่นนัดยิ้มในยุค 4.0 สามารถสร้างสังคมเสมือนจริงในโลกไซเบอร์ให้คนได้เกิดการตัดสินใจเลือกคู่เดตจากการที่แต่ละฝ่ายต่างโพสต์ภาพและประวัติส่วนตัวลงไป แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่ผู้ใช้บริการอาจถูกหลอกได้ เพราะการเปิดข้อมูล รูปร่างหน้าตาและจุดเช็คอินของผู้ใช้บริการอาจเป็นข้อมูลสำคัญต่ออาชญากรที่แฝงตัวในแอพพลิเคชั่นหลอกลวงผู้ใช้บริการอื่นๆขูดรีดทรัพย์ได้ แต่หากมองในทางกฎหมายการกระทำของอาชญากรและผู้ใช้บริการแอพพลิเคชั่นอาจเป็นการสมยอมเพราะต่างฝ่ายต่างเต็มใจ และลักษณะของแอพพลิเคชั่นที่ออกแบบมาเพื่อการนัดยิ้มโดยเฉพาะ อาจทำให้อำนาจการควบคุมทางกฎหมายรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้บริการไม่ทั่วถึง

ข้อมูลอ้างอิง: https://thematter.co/rave/open-application-and-chill/46651

ณัฐวรา   เนียมแก้ว

 

 

 

จากข่าวเรื่อง ผู้ให้กำเนิดอินเทอร์เน็ตไทย เตือนความเหลื่อมล้ำในยุค 4.0 ที่พูดถึงการที่แม้ว่าประเทศไทยปัจจุบันนั้นจะมีการเจริญก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจเครื่องมือสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและสังคมดิจิทัลกลายเป็นปัจจัยที่ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ในยุคที่ถูกเรียกว่า 4.0 หรือยุคที่ถูกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมที่เทคโนโลยีสารสนเทศสามารถคำนวณความชอบของกลุ่มลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ได้รับผลตอบรับที่ดี ที่ก้าวกระโดดต่างจากที่ผ่านมา

จากบทความข้างต้นสื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมที่ให้ความสำคัญกับโลกไซเบอร์แต่กลับเป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่าประเด็นทางสิทธิเสรีภาพในทางไซเบอร์ ความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนในโลกไซเบอร์เสียมากกว่า ซึ่งรัฐได้เห็นถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้นโยบายรัฐให้ความสนใจกับโลกไซเบอร์มากขึ้น และถึงแม้ว่าทางเศรษฐกิจที่ภาคธุรกิจเล็งเห็นถึงอิทธิพลของโลกไซเบอร์จึงได้มุ่งประเด็นพัฒนาทางเศรษฐกิจไปที่สังคมดิจิทัลมากขึ้น

จากบทความนี้สามารถนำมาวิเคราะห์ได้กับประเด็นการศึกษาโลกออนไลน์ในมิติทางสังคมได้ดังนี้

1.เรื่อง/ประเด็น คือ การที่ประเทศไทยเข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ตในยุค 4.0

2.เวลากับพื้นที่ คือ กระแสยุคโลกาภิวัตน์ที่อินเตอร์เน็ตถูกให้ความสำคัญ

3.กฎ กติกา คือ รัฐไทยได้กำหนดประกาศกระทรวงดิจิตอลและพรบ.คอมเพื่อควบคุมโลกไซเบอร์

4.ผู้เล่น คือ รัฐบาลเป็นหลัก ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ผู้ใช้บริการ (ประชาชน)

5.ผลประโยชน์ที่แย่งชิงกัน คือ เสรีภาพในโลกไซเบอร์ การควบคุมโลกไซเบอร์

6.ความสัมพันธ์/เครือข่าย คือ รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและบริษัทเอกชน (ผู้ให้บริการต่อประชาชน) ที่มีต่อประชาชน

7.เป้าหมายสุดท้าย คือ การคงไว้ซึ่งอำนาจ

8.รางวัลและโทษทัณฑ์ คือ อำนาจ เสรีภาพ และความเหลื่อมที่เกิดจากการให้ความสำคัญกับโลกไซเบอร์ในทางการเมือง มากกว่าการพัฒนาในระดับรากหญ้า

9.การระงับข้อพิพาท คือ มาตรการทางกฎหมาย

10.การสื่อสารและข้อมูล คือ การสื่อออกมาผ่านทางชนชั้นรากหญ้าที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ

แต่ประเด็นก็คือการที่กลับเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมค่อนข้างมากแม้จะมีการพัฒนาทางดิจิทัล ซึ่งในส่วนของการพัฒนานั้นระดับรากหญ้าไม่ได้ถูกให้ความสนใจมากนักและยังไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง เพราะว่าในการเข้าถึงทางอินเตอร์เน็ตนั้นจะอยู่ในชุมชนเมือง หรือเมืองศูนย์กลางใหญ่ๆ ซึ่งรัฐนั้นกลับให้ความสนใจกับการจำกัดเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกทางการเมืองในโลกไซเบอร์แทนที่จะให้ความสนใจกับการพัฒนาในระดับอื่นๆที่สังคมชนบทหรือพื้นที่ทุรกันดาร การเข้าถึงทางอินเตอร์เป็นไปได้น้อย ไฟฟ้าสาธารณูปโภคต่างๆก็ยังมีไม่เท่าที่ควรจึงแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในเรื่องของสังคมดิจิทัล

ข้อมูลอ้างอิง: ฐิติพล ปัญญาลิมปนันท์, ผู้ให้กำเนิดอินเทอร์เน็ตไทย เตือนความเหลื่อมล้ำในยุค 4.0, BBC ไทย: http://www.bbc.com/thai/thailand-41316885.

อาภัสรา   รุ่งอรุณนิติรักษ์

 

 

 

กฎหมายไซเบอร์กับสังคมดิจิทัล

            ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์ด้วยกันนี้นอกจากที่จะเกิดตามปกติธรรมดาในโลกทางกายภาพแล้ว เทคโนโลยีซึ่งเข้ามามีบทบาทในการสร้างโลกเสมือนแห่งใหม่หรือที่เรียกว่าโลกไซเบอร์ขึ้น ซึ่งการปฏิสัมพันธ์ในโลกไซเบอร์ของคนนั้นแม้ภายนอกจะดูเหมือนกับการปฏิสัมพันธ์กันในโลกกายภาพเช่นการแชทคุยกัน แต่มันมิได้มีความคล้ายคลึงกันถึงขนาดที่จะสามารถนำกฎหมายที่มีอยู่บนโลกกายภาพนั้นมาปรับใช้ได้ทันกับสถานการณ์ทางเทคโนโลยีในโลกไซเบอร์ที่มีความพัฒนาอยู่เรื่อยๆ

            ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในโลกไซเบอร์แต่ยังไม่สามารถหากฎหมายจากโลกกายภาพมาทำการปรับใช้ได้ เช่น Cyberbullying โดยการกระทำความผิดดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งเชิงหยอกล้อหรือในระดับที่นำไปสู้ความรุนแรงจนอาจทำให้เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบนั้นนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

            กรณีที่ทำให้ประเด็น Cyberbullying ถูกนำไปเป็นประเด็นที่เกิดการแก้ไขกฎหมายทางกายภาพนั้นคือกรณีคดีของ เมแกน เทย์เลอร์ ไมเออร์ ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการสร้างความตระหนักในเรื่องการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์เข้าไปสู่ความผิดทางอาญาของกฎหมายสหรัฐ

            นอกจากประเด็นการกลั่นแกล้งทางออนไลน์แล้วยังมีประเด็นอื่นที่กฎหมายทางกายภาพนั้นไม่สามารถบังคับใช้กับการกระทำดังกล่าวได้ เช่น การจู่โจมระบบทางไซเบอร์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นการแฮค สแปม หรือส่งมัลแวร์เข้าไปในระบบ

            จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้จึงต้องมีการกำหนดกฎหมายเฉพาะขึ้นมาใช้กับการกระทำบนโลกไซเบอร์เนื่องจากกฎหมายบนโลกทางกายภาพเช่นกฎหมายอาญานั้นไม่ได้มีบทบัญญัติที่ครอบคลุมจากกรณีที่เกิดขึ้นจึงทำให้การกระทำที่อาจผิดหลักจริยธรรมแต่กลับอาศัยช่องว่างของกฎหมายหลุดลอดไปได้

 

ข้อมูลอ้างอิง: Cyberbullying :การกลั่นแล้งบนโลกไซเบอร์และ โศกนาฏกรรมของเมแกน ไมเออร์

พสธร   อ่อนนิ่ม

 

 

 

 

 

 

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนกุลพันธ์

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
การพัฒนาสิทธิแรงงานรับจ้างอิสระ (Freelancer) ต้องยึดโยงกับหลักกฎหมายสำคัญเรื่องการประกันสิทธิของแรงงานอันมีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน (Human Rights-Based Approach – HRBA) ไว้ เพื่อเป็นรากฐานทางกฎหมายในการอ้างสิทธิและเสนอให้ภาครัฐสร้างมาตรการบังคับตามสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การประกันรายได้รูปแบบ
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของปัจเจกชนจากการเก็บข้อมูลและประมวลผลโดยบรรษัทเอกชนจำต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลตามมาตรฐานที่กำหนดหน้าที่ของผู้ควบคุมระบบตามกฎหมายด้วย เนื่องจากบุคคลหรือกลุ่มองค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเจ้าของข้อมูลในหลายรูปแบบ อาทิ การให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพปั
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
บุคคลแต่ละคนย่อมมีทุนที่แตกต่างกันไปทั้ง ทุนความรู้ ทุนทางเศรษฐกิจ ทำให้การตัดสินใจนั้นตั้งอยู่บนข้อจำกัดของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นการไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี ขาดความรู้ทางการเงิน ไปจนถึงขาดการตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพตนเองและผู้อื่นในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้นรัฐไทยยังมีนโยบายที่มิได้วางอยู่บนพื้นฐานข
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
บทบัญญัติกฎหมายที่ใช้เป็นรากฐานในการอ้างสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น จะพบว่ารัฐไทยได้วางบรรทัดฐานทางกฎหมายที่รับสิทธิของประชาชนในการรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากหลักการพื้นฐานสำคัญที่เชื่อมโยงเรื่องสิทธิม
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
เทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เข้ามามีอิทธิพลแทบจะทุกมิติของชีวิต ส่งผลให้พฤติกรรมด้านการปฏิสัมพันธ์ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีประชาชนจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีในการหา “คู่” หรือแสวง “รัก” ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระทำความผิดที่เรียกว่า Romance Scam หรือ “พิศวาสอาชญากรรม”&
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
เมื่อถามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนว่าอยากเห็นสังคมไทยเป็นเช่นไรในประเด็นการมีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ หรือมีความคาดหวังให้รัฐไทยปรับปรุงอะไรเพื่อส่งเสริมการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของกลุ่มเสี่ยง   นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยได้ฉายภาพความฝัน ออกมาดังต่อไปนี้
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้คร่ำหวอดอยู่ในสนามมายาวนานได้วิเคราะห์สถานการณ์การคุกคามผ่านประสบการณ์ของตนและเครือข่ายแล้วแสดงทัศนะออกมาในหลากหลายมุมมอง ดังนี้
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
สถานการณ์ในด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศนั้น มีความสัมพันธ์กับหลายปัจจัยที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการละเมิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศที่เกิดจากข้อค้นพบจากกรณีศึกษา มีปัจจัยดังต่อไปนี้1. สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับบริบทภายในประเทศ
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
บทวิเคราะห์ที่ได้จากการถอดบทสัมภาษณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากประสบการณ์ ในหลากหลายภูมิภาคไปจนถึงความแตกต่างของการทำงานกับกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสิทธิแตกต่างกันไป   เป็นที่ชัดเจนว่าเขาเหล่านั้นมีชีวิตและอยู่ในวัฒนธรรมแตกต่างไปจากมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและนิติรัฐที่ปรากฏในสังคมตะวันตก ซึ่งสะ
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ถูกรับรองไว้โดยพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ให้ความสำคัญประกอบจนก่อให้เกิดอนุสัญญาเฉพาะสำหรับกลุ่มเสี่ยงนั้น ๆ ประกอบไปด้วย สตรี, เด็ก, เชื้อชาติ และ แรงงานอพยพ รวมถึง ผู้พิการ โดยกลุ่มเสี่ยงมีสิทธิที่ถูกระบุไว้ในปฏิญญาว่าด้วย
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
แนวทางในการสร้างนโยบาย กฎหมาย และกลไกเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนจากการสอดส่องโดยรัฐมาจาการทบทวนมาตรฐานและแนวทางตามมาตรฐานสากลเพื่อสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายครอบคลุม 2 ประเด็นหลัก คือ
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
ต้นปี 2563 หลังจากการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ถูกกดไว้มาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 ก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง เกิดการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลกระจายไปทั่วทุกจังหวัดในรัฐไทย จุดสำคัญและเป็นเรื่องที่ไม่ปรากฏขึ้นมาก่อนในหน้าประว