Skip to main content

ในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูมักมีการบ่นจากนายจ้างว่าหาแรงงานไม่ค่อยได้ ในทางตรงข้ามก็มีการโอดครวญจากคนทำงานว่าถูกตัดสวัสดิการ ไปจนถึงลดงาน หรือให้ออก  สลับกันไป   แต่สิ่งหนึ่งที่ไทยหรือแม้แต่ตลาดแรงงานในประเทศกำลังพัฒนากำลังเผชิญก็คือ สังคมไร้เสถียรภาพ อันมีสาเหตุจากคนในสังคมรู้สึกว่าชีวิตตนเองเสี่ยงไม่มีความมั่นคงในชีวิต เพราะอยู่ในระบบการจ้างงานที่ไม่มีความมั่นคง

แม้กระทั่งในหน่วยงานรัฐที่ลดจำนวนข้าราชการ กลับพบว่าขนาดของรัฐราชการไม่ได้เล็กลงไปด้วย เพราะปริมาณคนทำงานภาครัฐเพิ่มขึ้น  เจ้าหน้าที่ต่างๆ ถูกจ้างแบบชั่วคราว คนจำนวนมากอยู่ในสถานะ “ลูกจ้างชั่วคราว” ที่ไม่ได้รับบรรจุเป็นข้าราชาการ พนักงานประจำ หรือที่ร้ายแรงที่สุด คือ ถูกเปลี่ยนจากการ   “จ้างแรงงาน”   เป็น   “จ้างทำของ” เฉพาะสิ่ง   เหมือนบรรดา แรงงานเหมาช่วง หรือเกษตรกร ทั้งหลายที่รับจ้างเลี้ยงหรือปลูกให้บริษัทอีกต่อ   ปัญหาของแรงงานเหล่านี้ คือ อาจไม่อยู่ในระบบประกันสังคม และอาจถูกเลิกจ้าง หรือยุติการจ่ายงานได้ง่ายมาก 

เทคนิคการจ้างงานเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ ศาสตร์บริหารธุรกิจ หรือ นักเศรษฐศาสตร์ จำนวนไม่น้อย สดุดีว่าเป็นวิธีการ ลดต้นทุน หรือ ผลักภาระในการบริหารงานบุคคลให้พ้นไปจากบริษัท   ทำให้กำไรเพิ่มพูน และลดปัญหาที่จะต้องมาดูแลคนงาน   ใช่มันคือความสำเร็จของนายทุนจำนวนหนึ่ง บนความสั่นไหวและความเสี่ยงของแรงงานจำนวนมาก

แต่ตอนนี้สถานการณ์ได้เข้าขั้นวิกฤตหนัก เพราะหน่วยงานของรัฐ ในกำกับของรัฐ หรือองค์การมหาชนทั้งหลาย ได้เอาวิธีการบริหารงานบุคคลข้างต้นกับองค์กรรัฐ   สิ่งที่ปรากฏชัด คือ การเปลี่ยนจ้างแรงงานเหมา มาเป็น “การจัดซื้อพัสดุ”   นั่นคือ “การเปลี่ยนคนให้เป็นวัตถุ” เปลี่ยน “มนุษย์ให้เป็นเครื่องจักร”   โดยผลของสัญญาที่ออกแบบมาเพื่อหลีกเลี่ยงข้อผูกพันทางกฎหมายทั้งหลายที่นายจ้างไม่ต้องการ  

สถานการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นในสังคมทุนนิยมยุโรปช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นช่วง “วิกฤตของทุนนิยม”

รูปแบบของการจ้างแรงงานแบบ “พัสดุ” นี้ได้ลดภาระของฝ่ายจ้างงาน กล่าวคือ ไม่ต้องจ่ายสมทบในกองทุนประกันสังคมหรือกองทุนต่างๆ รวมถึงไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแรงงานหรือกฎเกี่ยวกับจ้างงานขององค์กรนั้นๆ เพราะคนเหล่านั้นไม่ใช่ “ลูกจ้าง” มิใช่แรงงาน   เป็นเพียง “วัตถุ” ที่ใช้แล้วหมดไปตามระยะเวลาที่สัญญากำหนด

รูปแบบสัญญานี้เป็นความสำเร็จสูงสุดของนายจ้างในการผลักภาระความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับองค์กรอีกเช่นกัน เพราะไม่ต้องมารับผลที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ความเจ็บป่วยไข้ของคนทำงาน หรือการมีบุตรมีครอบครัว เพราะผู้จ้างกับคนทำงาน ผูกพันกันด้วยวัตถุประสงค์ของ “ผลงาน” แต่ไม่มีหน้าที่-สิทธิ ต่อกันในฐานะ “ลูกจ้าง-นายจ้าง” อีกต่อไป

หากการบริหารงานเหล่านี้ขยายไปสู่การทำงานที่มีความอันตราย เช่น สารเคมี สารพิษ หรือเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ หรือโรคเรื้อรัง โรคติดเชื้อ ก็ย่อมเป็นผลดีกับผู้จ้างอีกเช่นกัน เพราะการทำสัญญา “พัสดุ” มิใช่ทำสัญญากับ “คน” ย่อมไม่ต้องมีการดูแลความปลอดภัยในการทำงานให้กับ “บุคคล” เหล่านั้น   หากจะติดเชื้อ ได้รับอุบัติเหตุ หรือเสื่อมสมรรถภาพ พิการ ก็เป็นเพียงเครื่องจักรที่พัง เปลี่ยนเครื่องใหม่เข้ามาแทน มิใช่ แรงงานมนุษย์ที่จะต้องมีรักษากันอย่างมีมนุษยธรรมอีกต่อไป

วิธีการจ้างงานแบบนี้ได้ประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงานเพราะไม่อยู่ในกรอบของกฎหมายใดๆ ที่จะต้องจัดสวัสดิการสังคมให้กับ “พัสดุ” เหล่านั้น เพราะมันเป็นเพียงเครื่องจักรในการผลิตผลงาน

 การบริหารงานแบบรีดไขมันส่วนเกิน (Lean Management) ที่ขจัดภาระและส่วนเกินต่างๆออกไปจากองค์กรให้หมด เหลือไว้เพียงกล้ามเนื้อแดงที่เป็นส่วนสำคัญของร่างกาย   แต่ลองมาดูองค์กรต่างๆที่ใช้การจ้างแบบพัสดุ คงเห็นแล้วว่ากล้ามเนื้อแดงที่รักษาไว้และปูนบำเหน็จมากมาย นั่นคือ เหล่าผู้อาวุโส และผู้ทรงบารมี หรือผู้บริหาร และอาจขยายไปยังผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ต้องรักษาเอาไว้ถ้าหาใครมาแทนไม่ได้ หรือแทนที่ยากเท่านั้น

คนที่เสี่ยงจากการจ้างงานแบบนี้ จึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของ เทคโนโลยีการบริหารงานแบบนี้  ซึ่งมีคนสดุดีและนำไปใช้ทั่วโลกทุนนิยม

ดังนั้นการที่คนทำงานออฟฟิศแต่ไม่ได้จ้างประจำ หรือที่ถูกเรียกใหม่ว่า “พัสดุ” นั้น จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชายขอบ ที่เสี่ยงมาก อีกกลุ่มหนึ่ง และรอวันประทุ ไม่ต่างอะไรกับที่เคยเกิดแล้วกับสังคมฟาสซิสต์ยุโรป เพียงแต่ยังไม่ระเบิดก็เพราะอาจถูกหล่อเลี้ยงไว้ด้วย “มายา” แห่งคนทำงานออฟฟิศ ซึ่งก่อสำนึกที่ผิดพลาด ว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกลางหรือชนชั้นนำ

สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ คนที่หวั่นไหวต่ออนาคตตนเองและสังคม ก็เกิดจากสำนึกเรื่องความเสี่ยง  เสี่ยงที่จะสูญเสียโอกาสหรือสวัสดิการที่ตนเคยได้รับจากกฎหมายแรงงานของรัฐ นั่นเอง

ดังนั้น การเอาตัวรอดไปวันๆ หรือการพยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับชนชั้นนำด้วยการประจบสอพลอ อาจเป็นยุทธวิธีที่ล้มเหลวของคนทำงาน   เป็นสำนึกที่ผิดพลาด เพราะอาจมีการต่ออายุราชการ/ทำงาน หรือให้มรดกแบบมีเงื่อนไข   การวางยุทธศาสตร์ไว้ว่าจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชนชั้นนำ/ผู้บริหาร จึงขัดแย้งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชีวิต

                ส่วนนายจ้างที่ไม่เข้าใจว่าทำไมแรงงานขาดแคลน หรือลูกจ้างลาออก หรือแรงงานไม่พัฒนาฝีมือ ก็ต้องย้อนมามองว่า การมีชีวิตแบบคนทำงานที่ไร้ความมั่นคง   เป็นชีวิตที่น่าปรารถนาหรือไม่

                รัฐก็ต้องสร้างกลไกรับประกันความมั่นคงในการทำงานเพื่อทำให้เครื่องจักรแห่งการผลิตเดินได้ไม่ติดขัด

 

ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์

 
 

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
จากข่าวที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์กำลังจะยกเลิกการใช้เงินกระดาษทุกแบบไปสู่การใช้เงินดิจิตัล หรือการประกาศใช้ระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และการระงับข้อพิพาทออนไลน์ ในหลายประเทศ มาจนถึงการผลักดันโครงการดิจิตัลอีโคโนมี่ในประเทศไทย ทำให้เห็นแนวโน้มว่าถนนทุกสายมุ่งสู่โลกไซเบอร์
ทศพล ทรรศนพรรณ
จากเหตุวินาศกรรมในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับพันคนในทันที และมีผู้บาดเจ็บและตกอยู่ในภาวะพิการ เจ็บป่วยทางจิตอีกจำนวนมาก รวมถึงการสูญเสียของญาติพี่น้องในเหตุการณ์ดังกล่าวยังความเสียใจอย่างรุนแรงให้เกิดขึ้นทั่วโลกมิใช่ในสหรัฐอเมริกา
ทศพล ทรรศนพรรณ
ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Citizen Four ที่สร้างโดยนักทำหนังต่อต้านสงครามและนโยบายลิดรอนสิทธิมนุษยชนชื่อดัง ได้เปิดโปงให้เห็นภัยของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ผู้ใช้ไม่รู้เท่าทัน จนมิอาจปกป้องตนเองให้พ้นจากการสอดส่องของเจ้าของเทคโนโลยี และฝ่ายความมั่นคงของรัฐ   โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตร Five Eyes อันได้แ
ทศพล ทรรศนพรรณ
นับแต่รัฐประหาร 2557 คณะผู้กุมอำนาจได้รุกไล่และปราบปรามการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดอนาคตประเทศเป็นอย่างมาก  ยุทธวิธีที่สำคัญ คือ การสอดส่องผู้พิทั
ทศพล ทรรศนพรรณ
ยุทธศาสตร์ของชนชั้นนำไทยที่ลักลั่นระหว่าง การผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล หรือไทยแลนด์ 4.0 กับ การมุ่งรักษาความมั่นคงของรัฐ(บาล) โดยการปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์รั
ทศพล ทรรศนพรรณ
รัฐสมัยใหม่สถาปนาขึ้นมาบนพื้นฐานของการเข้าใจร่วมกันในประเด็นพื้นฐานที่ว่า “รัฐมีหน้าที่ปกป้องชีวิตและคุ้มครองทรัพย์สินของประชาชน”  แต่ก็เกิดข้อกังขาเสมอมาในลักษณะที่ว่า หากรัฐเป็นผู้ละเมิดชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเสียเอง แล้วจะทำเช่นไร  หรือถ้ารัฐไม่ทำหน้าที่ปล่อยปละละเลยจนเกิดการละเม
ทศพล ทรรศนพรรณ
ประเด็นสำคัญของ EU-US Umbrella Agreement 20161.       ข้อตกลงระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในการควบคุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตั้งแต่ ตำรวจไปจนถึงศาล ลงนามเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559
ทศพล ทรรศนพรรณ
มีอะไรใหม่ใน กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสหภาพยุโรป EU General Data Protection Regulation 20161.       เป็นครั้งแรกที่ EU มีกฎหมายรวมกฎคุ้มครองข้อมูลต่างๆที่กระจัดกระจายมาอยู่ในกฎหมายเดียว (General Regulation)
ทศพล ทรรศนพรรณ
เวลาเราจะเดินทางไปไหนยิ่งรีบก็ยิ่งเหมือนะยิ่งช้าถ้าไม่ใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างดี   บางที่เราไม่ประมาทแต่คนอื่นก็ยังขับรถมาชนได้ก็มีนะครับ ซึ่งสองเรื่องที่จะเล่านี้ก็ตามวิถีไทยแท้บนท้องถนนครับ คือ รถชนกันไม่พอ แต่มีการขนญาติพี่น้องและใช้อิทธิพลมากดดันของฝ่ายหนึ่งหวังจะพึ่งกำลังภายในให้
ทศพล ทรรศนพรรณ
ต่อไปจะกล่าวถึงปัญหาที่เกิดจากวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ของคนในสังคมที่เปลี่ยนไปมากจากวันเวลาของพ่อแม่เรา   บางเรื่องอาจจะได้ยินซ้ำๆซากๆและเป็นปัญหาคาราคาซังในสังคมทุกยุคทุกสมันและมีวิธีจัดการต่างกันไปในแต่ละยุค  คือ เรื่องเด็กกำพร้าที่ในอดีตเป็นเรื่องที่ชุมชนหรือสถาบันทางศาสนาเข้ามา