Skip to main content

การแสดงออกไม่ว่าจะในสื่อเก่าหรือสื่อใหม่ย่อมมีขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ดังนั้นรัฐจึงได้ขีดเส้นไว้ไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพจนไปถึงขั้นละเมิดสิทธิของผู้อื่นเอาไว้ในกรอบกฎหมายหลายฉบับ บทความนี้จะพาชาวเน็ตไปสำรวจเส้นพรมแดนที่มิอาจล่วงล้ำให้เห็นพอสังเขป

การใช้เสรีภาพในการแสดงออกมีขอบเขตบางประการ นั่นคือ การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยสิทธิของผู้อื่นสัมพันธ์กับเสรีภาพแสดงออก ก็คือ สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัวตามมาตรา 32 การแสดงออกที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวเกียรติยศชื่อเสียงของบุคคลอื่นจึงผิดกฎหมาย นำไปสู่นำโทษทางอาญาและความรับผิดทางแพ่ง หากรัฐจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคลบนพื้นฐานของการคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวเกียรติยศชื่อเสียงของบุคคลอื่น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย


โดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ซึ่งไทยเป็นภาคี ในข้อที่ 20 ได้วางข้อจำกัดเกี่ยวกับการแสดงว่าห้าม
1. การโฆษณาชวนเชื่อใด ๆ เพื่อการสงคราม เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย
2. การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนา ซึ่งยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเป็นปฏิปักษ์ หรือการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย

การแสดงออก 2 ประเภทที่พึงระมัดระวังประกอบด้วย การแสดงออกที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) และการกลั่นแกล้ง (Bullying) โดยการแสดงออกในสองลักษณะข้างต้นย่อมส่งผลกระทบทั้งกับบุคคลอื่นที่ตกเป็นเหยื่อการถูกกระทำ และยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวที่สะท้อนให้สังคมคลางแคลงสงสัยในความชอบธรรมรวมไปถึงเกรงที่จะต้องเข้าร่วมกับขบวนการที่ใช้ความรุนแรงกระทำต่อบุคคลอื่นอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งนำไปสู่ความรับผิดทางกฎหมาย

 

แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการแสดงออกที่ต้องห้าม

การแสดงออกที่สร้างความเกลียดชัง คือ การแสดงออกต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลโดยมีฐานอคติ เกี่ยวกับเชื้อชาติ ชนชั้น รสนิยมทางเพศ ถิ่นกำเนิด อุดมการณ์ทางการเมือง ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ศาสนา หรือ สถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมที่นำไปสู่การแบ่งแยกได้ เนื้อหาที่ถือว่าเป็นการแสดงออกแห่งความเกลียดชัง คือ การด่า บริภาษ ด้วยการใช้สารที่สื่อความหยาบคาย รุนแรง ดูถูก เหยียดหยาม การสร้างความเข้าใจผิด การโน้มน้าวใจชักจูงให้เชื่อถือ ด้วยข้อมูลผิดหรืออคติส่วนตัว การนิยามคนอื่นในเชิงลดคุณค่า ทำให้มีความหมายเชิงลบ กลายเป็นตัวตลก ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น การสื่อสารที่สร้างความรู้สึกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบ่งพวกเขาพวกเราแยก ออกชัดเจนไม่ใช่พวกเดียวกัน การสื่อความหมายปฏิเสธการอยู่ร่วมกัน การกีดกันออกจากสังคม การตีตรา ประทับภาพเหมารวมตายตัวในเชิงลบ การยุยง ปลุกปั่น ปลุกระดมให้ผู้อื่นร่วมเกลียดชัง สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่เห็นต่าง ไปจนถึงการระดมกำลังไล่ล่า ข่มขู่คุกคาม การลงทัณฑ์ทางสังคม รุมประณามอย่างรุนแรงด้วยกลุ่มบุคคล การเนรเทศหรือนำไปสู่การประกาศเข่นฆ่าอาฆาต นั่นคือ ต้องเป็นการแสดงออกที่ “ก่อให้เกิดความเกลียดชัง เหยียดหยาม ต่อบุคคลหรือกลุ่มชน อันอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง กีดกัน แบ่งแยก” (Incitement to Hatred)

การแสดงออกที่พึงระวังอีกประการ คือ การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) อันหมายถึง การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคน ใช้ข้อมูลและการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ในการล่วงละเมิดหรือคุกคามต่อบุคคลอื่นหรือทำให้เดือดร้อนรำคาญ โดยการส่งหรือโพสต์ข้อความหรือรูปภาพที่มีลักษณะโหดร้าย และเช่นเดียวกับการกลั่นแกล้งในรูปแบบอื่น ๆ การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์เป็นการใช้อำนาจควบคุมปัจเจกบุคคลอื่นที่อ่อนแอกว่า ความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ถูกกลั่นแกล้งไม่สามารถป้องกันตัวเองได้

การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ อาจปรากฏในหลายรูปแบบ ดังต่อไปนี้ 
1) การส่งข้อความซึ่งเต็มไปด้วยความโกรธ (Flaming) หรือข้อความที่มีลักษณะหยาบคาย
2) การคุกคาม (Harassment) หรือการส่งข้อความที่มีลักษณะน่ารังเกียจ สกปรก ดูถูกและหยาบคาย ซ้ำ ๆ
3) การใส่ร้าย (Denigration) คือการดูหมิ่นผู้อื่นทางออนไลน์โดยการส่งหรือโพสต์ข่าวลือเกี่ยวกับผู้อื่นในลักษณะที่ทำให้ชื่อเสียงหรือความสัมพันธ์ของผู้อื่นนั้นเสียหาย
4) การปลอมตัว (Impersonation) ทำให้เป้าหมายเข้าใจผิด และเจ้าของอัตลักษณ์เสื่อมเสีย
5) การเผยแพร่ความลับของผู้อื่นหรือข้อมูลหรือรูปภาพที่ทำให้ผู้นั้นอับอายสู่เครือข่ายออนไลน์ (Outing)
6) การใช้กลโกงหลอกลวงผู้อื่นให้เปิดเผยความลับหรือข้อมูลที่น่าอับอายแล้วเผยแพร่สู่เครือข่ายออนไลน์ (Trickery)
7) การตัดคนอื่นออกจากกลุ่มโดยตั้งใจและโหดร้าย (Exclusion)

จะเห็นว่าการแสดงออกในลักษณะสร้างความเกลียดชังดังกล่าวมีความเปราะบาง เพราะจะนำไปสู่การแทรกแซงเข้าควบคุมโดยรัฐบาลได้

 

กฎหมายของรัฐที่ให้เสรีภาพในการแสดงออกกว้างขวาง

หากลองศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายสหรัฐอเมริกาที่ให้น้ำหนักกับเสรีภาพในการแสดงออกมาก ในบทบัญญัติเพิ่มเติมที่ 1 ของรัฐธรรมนูญ (First Amendment of Constitution of the United States) ก็ยังอาจต้องคำนึงถึงการกระทำที่จะไม่อยู่ในความคุ้มครองของสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งผู้กระทำดังกล่าวจะต้องได้รับโทษ ได้แก่ 
1) Defamation คือ การหมิ่นประมาท ซึ่งการหมิ่นประมาทนั้น
2) Causing Panic คือ คำพูดที่สร้างความหวาดกลัวหรือทำให้ตื่นตระหนก
3) Fighting Words เป็นคำพูดที่ยั่วยุให้เกิดการทำร้ายร่างกายและจิตใจ หรือเป็นสาเหตุของการก่อให้เกิดการบาดเจ็บ การทุกข์ทรมาน
4) Incitement to Crime เป็นการกระทำที่ป่าวประกาศโฆษณากระตุ้นให้ไปก่ออาชญากรรม
5) Sedition คือ การปลุกระดมมวลชนให้ต่อต้านรัฐบาล ให้ก่อความไม่สงบ รวมไปถึงการก่อกบฏ
6) Obscenity คือ เรื่อง หยาบคาย ลามก อนาจาร รวมไปถึงการใช้คำพูด รูปภาพที่เป็นรูปภาพเปลือย
7) Perjury and Blackmail หมายถึงการโกหก หรือการหักหลัง หรือนำความลับมาเผย เพื่อผลประโยชน์
8) Offense การแสดงออกในเชิงก้าวร้าว ข่มขู่ คุกคาม
9) Establishment of Religion การประกาศศาสนา (ลัทธิความเชื่อ) เนื่องจากในรัฐฆราวาสเรื่องศาสนาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนส่วนตน หากกระทำในที่สาธารณะอาจกระทบต่อสาธารณชนได้

 

บทบัญญัติกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง

การสร้างความเกลียดชังและการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะเป็นการโพสต์ข้อความหรือรูปภาพ ที่ทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง กล่าวคือ เป็นการกระทำที่มีความใกล้เคียงกับความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หากกระทำผ่านเครือข่ายหรือสังคมออนไลน์สาธารณะ ยังถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามมาตรา 328 ได้ เพราะเครือข่ายออนไลน์หรือเว็ปไซต์ดังกล่าวสามารถข้อความหรือรูปภาพที่เป็นการกลั่นแกล้งเผยแพร่สู่สาธารณชนได้อันเป็นลักษณะของการโฆษณา


หากการสร้างความเกลียดชังหรือการกลั่นแกล้งออนไลน์ได้กระทำโดยการด่าด้วยถ้อยคำหยาบคายและการสบประมาทที่ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทอาจจะมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตามมาตรา 393 ได้ซึ่งความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า หรือด้วยการโฆษณาตามมาตรา 393 เป็นการกระทำเหยียดหยามเกียรติ โดยทำให้ผู้ถูกกระทำรู้ได้หรือทราบได้ขณะมีการกระทำในทันใดนั้นเอง กล่าวคือ เพียงแต่กล่าวถ้อยคำหรือแสดงถ้อยคำให้ผู้ถูกกระทำได้ยินหรือทราบในทันใดนั้นเองก็เป็นความผิดแล้ว ไม่จำต้องกระทำต่อหน้าหรือแม้จะ ไม่ได้กล่าวต่อหน้า แต่ผู้ถูกกระทำได้ยินถ้อยคำที่ผู้กระทำกล่าวหรือได้ทราบขณะมีการกระทำ ย่อมเป็นความผิด ดังนั้น การดูหมิ่นผู้อื่นผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่คู่สนทนาสามารถโต้ตอบกันได้ทันที จึงอาจเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ได้เช่นกัน


ถ้าเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม ซึ่งให้เหยื่อได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ก็ถือเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 397 หากเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคามที่มีลักษณะที่ทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ


หากการกลั่นแกล้งออนไลน์นั้นอยู่ในลักษณะเป็นโพสต์รูปภาพซึ่งเกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยมีพฤติการณ์ที่น่าจะทำให้ผู้อื่นซึ่งเป็นเป้าหมายจากการกลั่นแกล้งออนไลน์นั้นต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ผู้กลั่นแกล้งอาจต้องรับผิดตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และถ้าการกระทำมาตรา 16 ตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อภาพของผู้ตาย และนำมากลั่นแกล้งต่อบุคคลอื่น โดยมีพฤติการณ์ที่น่าจะทำให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ผู้กระทำต้องรับโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดในมาตรา 16 วรรคหนึ่ง


พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดในปี 2560 ได้เพิ่มบทบัญญัติมาตรา 16/1 ซึ่งเหมือนกับเป็นการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งออนไลน์ โดยมาตรา 16/1 นี้ได้กำหนดว่า หากมีคำพิพากษาว่าผู้กลั่นแกล้งทางออนไลน์มีความผิด ตามมาตรา 14 หรือมาตรา 16 ศาลอาจสั่ง (1) ให้ทำลายข้อมูลตามมาตราดังกล่าว (2) ให้โฆษณาหรือเผยแพร่คำพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ตามที่ศาลเห็นสมควร โดยให้ผู้กระทำเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาหรือเผยแพร่ (3) ให้ดำเนินการอื่นตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดนั้น ยิ่งไปกว่านั้น การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับนี้ได้จัดให้มีการนำบทบัญญัติมาตรา 16/2 มาใช้กับบุคคลซึ่งรู้อยู่แล้วว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ในความครอบครองของตนเป็นข้อมูลที่ศาลสั่งให้ทำลายตามมาตรา 16/1 โดยกำหนดให้ผู้นั้นต้องทำลายข้อมูลดังกล่าว หากฝ่าฝืนจะต้องรับโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 หรือมาตรา 16 แล้วแต่กรณี


ทั้งนี้การแสดงออกที่สร้างความเกลียดชังและการกลั่นแกล้งที่เป็นความผิดอาญาย่อมก่อให้เกิดความรับผิดทางแพ่งในมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 422 และหากเป็นการแสดงออกซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนความจริงก็เป็นความรับผิดตามมาตรา 423 ซึ่งนำไปสู่การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหายทั้งสิ้น รวมถึงได้สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐในการใช้มาตรการทางปกครองในการควบคุมการแสดงออกหรือรวมกลุ่มของบุคคลที่ร่วมกันกระทำการเช่นว่าได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
การพัฒนาสิทธิแรงงานรับจ้างอิสระ (Freelancer) ต้องยึดโยงกับหลักกฎหมายสำคัญเรื่องการประกันสิทธิของแรงงานอันมีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน (Human Rights-Based Approach – HRBA) ไว้ เพื่อเป็นรากฐานทางกฎหมายในการอ้างสิทธิและเสนอให้ภาครัฐสร้างมาตรการบังคับตามสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การประกันรายได้รูปแบบ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของปัจเจกชนจากการเก็บข้อมูลและประมวลผลโดยบรรษัทเอกชนจำต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลตามมาตรฐานที่กำหนดหน้าที่ของผู้ควบคุมระบบตามกฎหมายด้วย เนื่องจากบุคคลหรือกลุ่มองค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเจ้าของข้อมูลในหลายรูปแบบ อาทิ การให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพปั
ทศพล ทรรศนพรรณ
บุคคลแต่ละคนย่อมมีทุนที่แตกต่างกันไปทั้ง ทุนความรู้ ทุนทางเศรษฐกิจ ทำให้การตัดสินใจนั้นตั้งอยู่บนข้อจำกัดของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นการไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี ขาดความรู้ทางการเงิน ไปจนถึงขาดการตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพตนเองและผู้อื่นในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้นรัฐไทยยังมีนโยบายที่มิได้วางอยู่บนพื้นฐานข
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทบัญญัติกฎหมายที่ใช้เป็นรากฐานในการอ้างสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น จะพบว่ารัฐไทยได้วางบรรทัดฐานทางกฎหมายที่รับสิทธิของประชาชนในการรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากหลักการพื้นฐานสำคัญที่เชื่อมโยงเรื่องสิทธิม
ทศพล ทรรศนพรรณ
เทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เข้ามามีอิทธิพลแทบจะทุกมิติของชีวิต ส่งผลให้พฤติกรรมด้านการปฏิสัมพันธ์ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีประชาชนจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีในการหา “คู่” หรือแสวง “รัก” ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระทำความผิดที่เรียกว่า Romance Scam หรือ “พิศวาสอาชญากรรม”&
ทศพล ทรรศนพรรณ
เมื่อถามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนว่าอยากเห็นสังคมไทยเป็นเช่นไรในประเด็นการมีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ หรือมีความคาดหวังให้รัฐไทยปรับปรุงอะไรเพื่อส่งเสริมการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของกลุ่มเสี่ยง   นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยได้ฉายภาพความฝัน ออกมาดังต่อไปนี้
ทศพล ทรรศนพรรณ
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้คร่ำหวอดอยู่ในสนามมายาวนานได้วิเคราะห์สถานการณ์การคุกคามผ่านประสบการณ์ของตนและเครือข่ายแล้วแสดงทัศนะออกมาในหลากหลายมุมมอง ดังนี้
ทศพล ทรรศนพรรณ
สถานการณ์ในด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศนั้น มีความสัมพันธ์กับหลายปัจจัยที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการละเมิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศที่เกิดจากข้อค้นพบจากกรณีศึกษา มีปัจจัยดังต่อไปนี้1. สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับบริบทภายในประเทศ
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทวิเคราะห์ที่ได้จากการถอดบทสัมภาษณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากประสบการณ์ ในหลากหลายภูมิภาคไปจนถึงความแตกต่างของการทำงานกับกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสิทธิแตกต่างกันไป   เป็นที่ชัดเจนว่าเขาเหล่านั้นมีชีวิตและอยู่ในวัฒนธรรมแตกต่างไปจากมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและนิติรัฐที่ปรากฏในสังคมตะวันตก ซึ่งสะ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ถูกรับรองไว้โดยพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ให้ความสำคัญประกอบจนก่อให้เกิดอนุสัญญาเฉพาะสำหรับกลุ่มเสี่ยงนั้น ๆ ประกอบไปด้วย สตรี, เด็ก, เชื้อชาติ และ แรงงานอพยพ รวมถึง ผู้พิการ โดยกลุ่มเสี่ยงมีสิทธิที่ถูกระบุไว้ในปฏิญญาว่าด้วย
ทศพล ทรรศนพรรณ
แนวทางในการสร้างนโยบาย กฎหมาย และกลไกเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนจากการสอดส่องโดยรัฐมาจาการทบทวนมาตรฐานและแนวทางตามมาตรฐานสากลเพื่อสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายครอบคลุม 2 ประเด็นหลัก คือ
ทศพล ทรรศนพรรณ
ต้นปี 2563 หลังจากการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ถูกกดไว้มาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 ก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง เกิดการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลกระจายไปทั่วทุกจังหวัดในรัฐไทย จุดสำคัญและเป็นเรื่องที่ไม่ปรากฏขึ้นมาก่อนในหน้าประว