Skip to main content

รัฐชาติในโลกปัจจุบันไม่เปิดโอกาสให้บุคคลเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน ที่อยู่ แหล่งทำมาหากินได้อย่างอิสระ เสรีมาตั้งแต่การสถาปนารัฐสมัยใหม่ขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก   เช่นเดียวกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่าง ไทย พม่า ลาว หรือกัมพูชา   ก็ล้วนเกิดพรมแดนระหว่างรัฐในลักษณะที่เป็นขอบเขตพรมแดนเพื่อจำกัดอำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐมิให้ใช้อำนาจก้าวก่ายของรัฐอื่นโดยเฉพาะกิจกรรมที่อยู่เขตแดนรัฐอื่น   ดังนั้นรัฐจึงเข้ามาควบคุมการเคลื่อนไหวของคนที่มีลักษณะ “ข้ามพรมแดน” มากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในรูปแบบของการจัดกองกำลังรักษาความมั่นคงเข้าป้องกันแนวชายแดน การจับกุมคุมขังและเนรเทศคนที่หลบหนีข้ามพรมแดนมาอย่างผิดกฎหมาย   ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับดินแดน เขตแดน หรือพรมแดน ก็คือ “สัญชาติ” นั่นเอง   เพราะสัญชาติเป็นตัวชี้วัดว่าบุคคลใดผูกติดมีสิทธิหน้าที่อยู่กับรัฐผู้มีอำนาจเหนือดินแดนใด


หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ   มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเผ่าพันธุ์ใดก็ล้วนแต่ต้องแสวงหาทางรอดของตนเอง   ในอารยธรรมของทุกเผ่าพันธุ์ ล้วนมีประวัติศาสตร์ในการอพยพย้ายถิ่นเพื่อหลบหนีภัยพิบัติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ ภัยสงคราม ความอดอยากแร้นแค้นทั้งที่เกิดตามธรรมชาติหรือเกิดจากการกดขี่ขูดรีดโดยมนุษย์ด้วยกัน   ดังนั้นการอพยพย้ายถิ่นฐานจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของสัญชาตญาณการแสวงหาทางอยู่รอดของมนุษย์ในการอยู่รอดและไม่สูญเสียเผ่าพันธุ์ลงไปโดยการเปลี่ยน “พื้นที่”     ก่อนยุครัฐชาติ “สัญชาติ” และ “เขตแดน” มิได้เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการควบคุมการอพยพของคนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ


สถานการณ์ปัจจุบันพบว่าเกิด ปัญหาการพยายามข้ามพรมแดนของคนสัญชาติหนึ่งในเขตอำนาจรัฐหนึ่ง ไปสู่ เขตแดนของอีกรัฐหนึ่งที่ตนไม่มีสัญชาติ ย่อมเกิดปัญหาว่า รัฐผู้มีอำนาจเหนือเขตแดนปลายทางดังกล่าวต้องปกป้องดินแดนของตนมิให้บุคคลสัญชาติอื่นย้ายข้ามพรมแดนมา   เนื่องจากรัฐต่าง ๆ มีหน้าที่พื้นฐานในการรักษาความมั่นคงและสงบเรียบร้อยภายในเขตแดนของตนเป็นเบื้องต้น   การปล่อยให้คนที่รัฐไม่รู้จักไม่คุ้นเคย ไม่มีการตีตราทะเบียนราษฎร์ให้สังกัดไว้กับรัฐตน ก้าวข้ามพรมแดนเข้ามา รัฐย่อมวิตกกังวลว่ารัฐจะควบคุม ดูแลคนเหล่านั้นมิให้สร้างปัญหากระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐได้อย่างไร  

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐยังมีหน้าที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคลที่อยู่ในการปกครองของตน ผ่านการจัดงบประมาณเพื่อสร้างบริการสาธารณะมารองรับ อาทิ บริการสาธารณสุข อาหาร หรือที่พักพิง   หากมีบุคคลอื่นที่มิใช่ประชาชนของรัฐตน ก็มีความวิตกว่าจะเอางบประมาณที่ไหนมารองรับหากมีคนจากที่อื่นเข้ามาเยอะๆ     จากข้อกังวลของรัฐข้างต้นจะพบสิ่งที่เป็นปัจจัยต่อนโยบายรัฐ ในการห้ามคนอื่นข้ามพรมแดน ก็คือ
1. คนจากที่อื่นจะเข้ามาสร้างปัญหาต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย
2. คนจากที่อื่นจะเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรในการจัดบริการสาธารณะของรัฐ
การมองปัญหาการเข้าเมืองมาทำงานของแรงงานข้ามชาติในสายตารัฐไทยจึงมีความกังวล 2 ประการนี้ประกอบไปด้วยเสมอ ก็ด้วยความห่วงใยที่มีต่อความมั่นคงสงบเรียบร้อยของชาติ   และความกังวลในการจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างบริการสาธารณะให้ “ปวงชนชาวไทย” 

     
ปัญหาการอพยพของแรงงานข้ามชาติเมื่อมองจากสายตาของรัฐไทยจึงถือเป็น “ภัย” รูปแบบหนึ่งต่อการปกครองประเทศ    อย่างไรก็ดี “แรงงานข้ามชาติ” ซึ่งเป็นบุคคลที่มาจากที่อื่นย่อมมิใช่ทรัพย์สิ่งของที่จะกระทำอย่างไรก็ได้ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติ ก็ถือเป็นมนุษย์เฉกเช่นมนุษย์คนอื่น ย่อมสร้างประโยชน์และสร้างปัญหาได้ไม่ต่างกับมนุษย์ที่สังกัด “สัญชาติ” และ “เขตแดน” ของรัฐไทย   ต่างกันตรงที่ประชาชนชาวไทยผ่านกระบวนการต่างๆที่ทำให้รัฐพอเชื่อได้ว่าจะปกครองได้ ไม่ว่าจะเป็น การศึกษา กฎหมาย ทะเบียนราษฎร์ หรือที่ใหญ่กว่านั้นคือ วัฒนธรรมการเมืองการปกครองที่ครอบงำจิตใจคนไทยได้อย่างเข้มแข็ง


ปัญหาแรงงานข้ามชาติที่จะกล่าวถึงในบทความนี้จะเน้นไปที่แรงงานข้ามชาติซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายดังที่ทำกันอยู่ในช่วงกรกฎาคมที่ผ่านมา   แต่จะมุ่งไปที่กลุ่มแรงงานข้ามชาติซึ่งมิได้จดทะเบียน ตกเป็นกลุ่มที่อยู่นอกสำรวจอย่างเป็นทางการซึ่งมีตัวเลขที่ประกาศออกมาว่ามีประมาณ 2 ล้านคน   ซึ่งแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เองที่อาจอยู่ในความวิตกกังวลของรัฐไทย   และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจถูกกดขี่ละเมิดสิทธิจากนายจ้างหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย
คำถามสำคัญของเรื่องนี้จึงน่าจะอยู่ที่   “รัฐไทยจะจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายอย่างไร”   เมื่อจะตอบคำถามนี้ให้ได้จึงต้องหันมาดูสิ่งที่รัฐไทยยึดถือเป็นกรอบการใช้อำนาจอธิปไตยในการปกครองประเทศ    รัฐไทยประกาศตนเป็น “นิติรัฐ” ที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสูงสุดในการปกครองประเทศ และอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีกฎหมายระหว่างประเทศผูกพันรัฐไทยบางประการ   ชุดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาแรงงานข้ามชาติ นอกจากส่วนที่เป็นกฎหมายเรื่องการเข้าเมืองแล้ว ก็จะเป็นในส่วนของกฎหมายประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่อยู่ในรูปแบบของ กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ   กฎหมายรัฐธรรมนูญภายใน และกฎหมายที่มีลักษณะประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล อาทิ รัฐธรรมนูญ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น  

เมื่อนำกฎหมายสองชุดที่เกี่ยวข้องมาตอบปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ก็จะตอบเป็นแนวทางได้ดังต่อไปนี้
กรณีแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเมื่อดูตามนิยามสถานะของบุคคลตามกฎหมายแล้ว มิน่าจะใช่ผู้ลี้ภัย เนื่องจากแรงงานข้ามชาติมีการเคลื่อนย้ายพรมแดนอันเนื่องมาจากเหตุผลที่มิใช่ “การประหัตประหาร” โดยตรง จึงไม่ถือเป็น “ผู้ลี้ภัย” ที่สามารถอ้างสิทธิเพื่อลี้ภัยไปยังดินแดนอื่น   รัฐไทยที่เป็นปลายทางหรือระหว่างทางของการอพยพไม่จำเป็นต้องให้สิทธิใด ๆ แก่แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายในฐานะ “ผู้ลี้ภัย” และมิพักต้องให้สิทธิเสรีภาพบุคคลเทียบเท่าพลเมืองของรัฐตน     คำถามที่ตามมาจึงเป็นการแสวงหาขอบเขตว่ารัฐไทยมีกรอบหน้าที่ในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายอย่างไร   หากจะมองให้ง่ายกว่านั้นก็คือ   “สิทธิใดบ้างที่แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายต้องได้รับการคุ้มครอง”


แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายถือเป็นมนุษย์และบุคคลตามนิยามของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ตามที่กฎบัตรรับรองแน่นอน   รัฐไทยในฐานะที่มีพันธกรณีอยู่กับกฎบัตรสิทธิมนุษยชนย่อมมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและงดเว้นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ แต่กลุ่มดังกล่าวมิใช่พลเมืองสัญชาติไทย ดังนั้นจึงมีการถกเถียงกันว่าหากรัฐไทยต้องประกันสิทธิเสรีภาพทั้งหมดให้กับแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายอาจจะสร้างภาระและมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐไทย   

คำถามที่เฉพาะเจาะจงกับปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายมากขึ้นก็คือคือ “สิทธิใดบ้างที่แม้แต่คนต่างด้าวหรือไร้สัญชาติพึงได้รับการคุ้มครอง”   ไม่ว่าจะด้วยผลของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อาทิ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง   หรือผลของกฎหมายภายใน อาทิ รัฐธรรมนูญ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฯลฯ


สิทธิที่รับรองโดยกฎหมายนั้น มีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ


1. สิทธิที่จะไม่ถูกละเมิด (Passive Rights) คือ สิทธิเสรีภาพที่มีติดตัวบุคคลทั้งหลายอยู่แล้ว แม้รัฐมิได้ยื่นมือเข้ามาคุ้มครองบุคคลเหล่านั้นก็มีสิทธิอยู่แล้ว เช่น สิทธิในชีวิต เนื้อตัว ร่างกาย ปลอดจากการกระทำที่โหดร้าย ทรมาน สิทธิในการกระบวนการยุติธรรม กล่าวคือ หากรัฐจะจับบุคคลมาลงโทษจะต้องมีกระบวนการพิสูจน์ความผิดก่อนที่จะลงโทษ   ดังนั้นหน้าที่ของรัฐในสิทธิประเภทนี้จึงมีลักษณะเป็นการงดเว้นการละเมิดสิทธิ เช่น ไม่อุ้ม ฆ่า ทรมาน หรือขังลืมโดยไม่มีกระบวนการลงโทษตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด   ซึ่งสิทธิเหล่านี้มิได้สร้างภาระในเชิงงบประมาณหรือความรับผิดชอบมากนัก เพียงงดเว้นการใช้อำนาจโดยมิชอบและใช้กระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่แล้วจัดการกับคนที่ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด   ข้อสังเกตที่สำคัญต่อสิทธิประเภทนี้ คือ สิทธินี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานส่วนบุคคล หากบุคคลไม่ได้รับการคุ้มครองก็อาจตายได้ เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ จึงต้องงดเว้นการละเมิดสิทธิเหล่านี้ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนไทยหรือไม่ก็ตาม ดังเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ปรากฏอยู่ในตอนร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550
 

2. สิทธิก่อตั้ง (Active Rights) คือ สิทธิเสรีภาพที่บุคคลใช้แล้วอาจมีผลเปลี่ยนแปลงอนาคตของชุมชน สังคม หรือรัฐชาติ   เช่น   สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ประชามติ ประชาพิจารณ์ สิทธิในการจัดสรรทรัพยากรชุมชน/รัฐ   ดังนั้นหน้าที่ของรัฐในสิทธิประเภทนี้ คือ จัดหากระบวนการมารองรับการตัดสินอนาคตของบุคคลแล้วมีกระบวนการมารองรับผลการตัดสินใจให้เปลี่ยนไปเป็นนโยบาย กฎหมาย หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงรัฐบาล อาทิ การจัดเลือกตั้งและรับรองการเลือกตั้ง การจัดประชาพิจารณ์ การจัดลงประชามติ หรือกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ผลเปลี่ยนแปลงนโยบาย   ข้อสังเกตของสิทธิประเภทนี้คือ เป็นสิทธิในการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าสังคมหรือรัฐที่ผลต่อบุคคลอื่น ๆ หรือสังคมด้วย   ประเทศส่วนใหญ่ในโลกจึงไม่ให้สิทธิเหล่านี้แก่คนต่างด้าวหรือคนไร้สัญชาติเพราะไม่มีจุดเกาะเกี่ยวที่ต้องมารับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม

การจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายจึงจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน(Passive Rights) แต่มิต้องให้สิทธิก่อตั้ง(Active Rights) เนื่องจากแรงงานข้ามชาติมิใช่คนชาติที่ต้องมาร่วมรับชะตากรรมจากการใช้สิทธิก่อตั้งกำหนดอนาคตของสังคมอันมีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ   แนวทางในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายโดยไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐไทย ก็คือ การนำตัวผู้อพยพข้ามพรมแดนมาอย่างผิดกฎหมายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม   แล้วใช้กระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่พิสูจน์ความผิดและลงโทษตามกฎหมายการเข้าเมืองฯกำหนดไว้ ซึ่งมาตรการขั้นเด็ดขาดอาจนำไปสู่การเนรเทศก็ได้   หากเราพิสูจน์ได้ว่ากระบวนการทั้งหมดที่นำมาใช้จัดการปัญหานั้นได้ประกันสิทธิในชีวิต เนื้อตัว ร่าง กาย ไม่มีการทรมาน   อันเป็นแนวทางที่ถูกต้องสำหรับรัฐที่มีกฎหมายเป็นเครื่องมือสูงสุดในการปกครองประเทศตามหลัก “นิติรัฐ”   ที่จำต้องใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาโดยไม่ขัดกับหลักนิติธรรมนั่นเอง   แนวทางนี้ย่อมนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานในการจัดการปัญหาผู้ลักลอบอพยพข้ามพรมแดนของคนต่างด้าว คนไร้สัญชาติอย่างชัดเจนมั่นคงกว่าการปล่อยให้เป็นปัญหาคาราคาซังซุกซ่อนไว้ รอวันปะทุออกมาเป็นความรุนแรงที่ยากจะจัดการในอนาคต

ใครบ้างที่มีหน้าที่ดูแล   เมื่อแบ่งเรื่องที่คุ้มครองออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ จะเห็นว่า   รัฐมีหน้าที่ในการไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องไม่ละเมิด (Negative Rights) โดยประชาคมโลกเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิโดยรัฐ   ส่วนการส่งเสริมสิทธิให้ดียิ่งขึ้น (Positive Rights) เป็นหน้าที่ร่วมกันของทุกฝ่าย ในการแสวงหาทรัพยากรมีจัดสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตผู้อพยพให้ดียิ่งขึ้น


ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นจึงอยู่ในเรื่อง การส่งเสริมสิทธิให้ดียิ่งขึ้น (Positive Rights) เช่น การเข้าถึงบริการสาธารณสุขในโครงการที่รัฐจัด   การขอให้มีการประกันสิทธิแรงงานข้ามชาติตามระบบประกันสวัสดิการแรงงาน   ฯลฯ   เนื่องจากมีการตอกย้ำจากภาครัฐว่าต้องนำภาษีมาจัดคุ้มครองสิทธิเหล่านี้   แต่สิ่งที่ต้องตระหนักเสมอ คือ ภาษีที่ใช้อยู่ในรัฐไทย มาจากภาษีทางอ้อมโดยเฉพาะการบริโภค ซึ่งแรงงานข้ามชาติย่อมต้องบริโภคในรัฐไทยอยู่แล้ว   และมากกว่านั้นการไม่จัดการปัญหาอย่างจริงจังย่อมผลักให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบใต้ดินอีกด้วย

บทสรุปของแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ   ก็คือ   รัฐไทยต้องงดเว้นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติไม่ว่าจะเป็น สิทธิในชีวิต เนื้อตัว ร่างกาย และการลงโทษโดยปราศจากกระบวนการยุติธรรม      ส่วนการส่งเสริมสิทธิในคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับแรงงานข้ามชาติมิได้เป็นหน้าที่ของรัฐไทยเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ร่วมกันของทั้งรัฐไทย องค์การระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ รวมถึงองค์การในระดับภูมิภาค เช่น อาเซียน และที่สำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือของรัฐต่าง ๆ ที่เผชิญปัญหานี้ร่วมกัน เช่น สปป.ลาว กัมพูชา และพม่า ที่ต้องแสวงหาทรัพยากรและมาตรการต่าง ๆ มาส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติที่อพยพมา   เพื่อหาแนวทางในการจัดการปัญหาร่วมกันมิใช่การผลักภาระจนทำให้รัฐต่าง ๆ เพิกเฉยจนกลายเป็นการละเมิดสิทธิของแรงงานข้ามชาติ จนกลายเป็นปัญหาให้กับสังคมไทยในท้ายที่สุด   รวมทั้งประชาชนผู้เสียภาษีให้รัฐไทยทั้งหลาย(อาจไม่จำกัดเฉพาะชนชาวไทย) อาจต้องต่อสู้ช่วงชิงว่าจะนำเงินภาษีมาใช้แก้ไขปัญหาใดบ้างให้สังคมไทย มิใช่ปล่อยให้คนเพียงหยิบมือใช้จ่ายภาษีตามอำเภอใจ

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
การพัฒนาสิทธิแรงงานรับจ้างอิสระ (Freelancer) ต้องยึดโยงกับหลักกฎหมายสำคัญเรื่องการประกันสิทธิของแรงงานอันมีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน (Human Rights-Based Approach – HRBA) ไว้ เพื่อเป็นรากฐานทางกฎหมายในการอ้างสิทธิและเสนอให้ภาครัฐสร้างมาตรการบังคับตามสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การประกันรายได้รูปแบบ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของปัจเจกชนจากการเก็บข้อมูลและประมวลผลโดยบรรษัทเอกชนจำต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลตามมาตรฐานที่กำหนดหน้าที่ของผู้ควบคุมระบบตามกฎหมายด้วย เนื่องจากบุคคลหรือกลุ่มองค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเจ้าของข้อมูลในหลายรูปแบบ อาทิ การให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพปั
ทศพล ทรรศนพรรณ
บุคคลแต่ละคนย่อมมีทุนที่แตกต่างกันไปทั้ง ทุนความรู้ ทุนทางเศรษฐกิจ ทำให้การตัดสินใจนั้นตั้งอยู่บนข้อจำกัดของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นการไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี ขาดความรู้ทางการเงิน ไปจนถึงขาดการตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพตนเองและผู้อื่นในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้นรัฐไทยยังมีนโยบายที่มิได้วางอยู่บนพื้นฐานข
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทบัญญัติกฎหมายที่ใช้เป็นรากฐานในการอ้างสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น จะพบว่ารัฐไทยได้วางบรรทัดฐานทางกฎหมายที่รับสิทธิของประชาชนในการรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากหลักการพื้นฐานสำคัญที่เชื่อมโยงเรื่องสิทธิม
ทศพล ทรรศนพรรณ
เทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เข้ามามีอิทธิพลแทบจะทุกมิติของชีวิต ส่งผลให้พฤติกรรมด้านการปฏิสัมพันธ์ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีประชาชนจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีในการหา “คู่” หรือแสวง “รัก” ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระทำความผิดที่เรียกว่า Romance Scam หรือ “พิศวาสอาชญากรรม”&
ทศพล ทรรศนพรรณ
เมื่อถามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนว่าอยากเห็นสังคมไทยเป็นเช่นไรในประเด็นการมีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ หรือมีความคาดหวังให้รัฐไทยปรับปรุงอะไรเพื่อส่งเสริมการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของกลุ่มเสี่ยง   นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยได้ฉายภาพความฝัน ออกมาดังต่อไปนี้
ทศพล ทรรศนพรรณ
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้คร่ำหวอดอยู่ในสนามมายาวนานได้วิเคราะห์สถานการณ์การคุกคามผ่านประสบการณ์ของตนและเครือข่ายแล้วแสดงทัศนะออกมาในหลากหลายมุมมอง ดังนี้
ทศพล ทรรศนพรรณ
สถานการณ์ในด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศนั้น มีความสัมพันธ์กับหลายปัจจัยที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการละเมิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศที่เกิดจากข้อค้นพบจากกรณีศึกษา มีปัจจัยดังต่อไปนี้1. สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับบริบทภายในประเทศ
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทวิเคราะห์ที่ได้จากการถอดบทสัมภาษณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากประสบการณ์ ในหลากหลายภูมิภาคไปจนถึงความแตกต่างของการทำงานกับกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสิทธิแตกต่างกันไป   เป็นที่ชัดเจนว่าเขาเหล่านั้นมีชีวิตและอยู่ในวัฒนธรรมแตกต่างไปจากมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและนิติรัฐที่ปรากฏในสังคมตะวันตก ซึ่งสะ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ถูกรับรองไว้โดยพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ให้ความสำคัญประกอบจนก่อให้เกิดอนุสัญญาเฉพาะสำหรับกลุ่มเสี่ยงนั้น ๆ ประกอบไปด้วย สตรี, เด็ก, เชื้อชาติ และ แรงงานอพยพ รวมถึง ผู้พิการ โดยกลุ่มเสี่ยงมีสิทธิที่ถูกระบุไว้ในปฏิญญาว่าด้วย
ทศพล ทรรศนพรรณ
แนวทางในการสร้างนโยบาย กฎหมาย และกลไกเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนจากการสอดส่องโดยรัฐมาจาการทบทวนมาตรฐานและแนวทางตามมาตรฐานสากลเพื่อสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายครอบคลุม 2 ประเด็นหลัก คือ
ทศพล ทรรศนพรรณ
ต้นปี 2563 หลังจากการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ถูกกดไว้มาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 ก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง เกิดการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลกระจายไปทั่วทุกจังหวัดในรัฐไทย จุดสำคัญและเป็นเรื่องที่ไม่ปรากฏขึ้นมาก่อนในหน้าประว