Skip to main content

หลังสิ้นสุดยุคสมัยสงครามเย็น หนึ่งในมรดกตกทอดจากยุคนั้น ได้แก่ หน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทยที่มีอำนาจหน้าที่อย่างเข้มข้นในการเฝ้าระวัง สอดส่อง ควบคุมการสื่อสารและการกระทำต่าง ๆ ของประชาชนที่ผู้มีอำนาจเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง และส่งผลเสียต่อการยืนหยัดสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองช่วงนั้น อาทิ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ฯลฯ


ในช่วงสงครามเย็นเป็นช่วงที่ต้องมีการเฝ้าระวัง สอดส่อง ป้องกันประเทศจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่รัฐไทยมองว่าเป็น “ภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ” และมาพร้อมกับการแลกเปลี่ยนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รัฐไทยจึงทำการจัดตั้ง “กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์” ก่อนถูกเปลี่ยนให้มาใช้ชื่อ “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” ในปี 2516  โดยอดีตที่ผ่านมาถือเป็นหน่วยงานหลักที่มีความรับผิดชอบในภารกิจป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ ทบทวนวิเคราะห์เพื่อพัฒนานโยบาย ตลอดจนยุทธศาสตร์และยุทธวิธี เพื่อให้สามารถยุติสถานการณ์ก่อการร้ายให้สำเร็จลงโดยเร็ว


เมื่อสถานการณ์ความตึงเครียดช่วงสงครามเย็นคลี่คลายตัวลง รัฐไทยจึงปรับโครงสร้าง กอ. รมน. ไปในหลากหลายรูปแบบ เช่น ในปี 2525 มีหน้ารับผิดชอบดำเนินปฏิบัติภารกิจทางด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดการจัดระเบียบและเสริมความมั่นคงชายแดน การพัฒนาเพื่อความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ การแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยและผู้หลบหนีเข้าเมือง การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี (หน่วยสันตินิมิต) การปฏิบัติงานด้านการข่าวและปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.)  หรือในปี 2543 กับการเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากมีมติ คณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็น คอมมิวนิสต์ ต่อมาหน้าที่และงานรับผิดชอบของ กอ. รมน. กลายเป็นการถูกปรับโครงสร้างให้เน้นไปที่การแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งภายใต้คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 158/2545  และการรื้อโครงสร้างอีกครั้งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 205/2549 โดยส่วนหลังนี้เป็นการจัดตั้งให้มี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ. บต.)  และกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พตท. 43) ซึ่งเคยถูกยุบไปเมื่อสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร


กฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่แก่ กอ. รมน. เป็นหลัก ก่อนจะมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เพื่อให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นส่วนราชการที่มีรูปแบบเฉพาะ คือ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 205/2549 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังการรัฐประหาร โดยอำนาจหน้าที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการสอดส่องดูแล หรือเฝ้าระวังภัยคุกคาม อยู่ตรงข้อ 5 โดยเฉพาะข้อ 5.1 ที่กำหนดให้ กอ. รมน. มีอำนาจในการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินแนวโน้มภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายใน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึง ข้อ 5.3 ที่อาจตีความไปได้ในลักษณะเดียวกัน คือ หน้าที่ในการเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความรัก ความสามัคคีของคนในชาติด้วยการผนึกพลังมวลชน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในและความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ภายในประเทศ


อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ระบบเทคโนโลยีและการสื่อสารยังไม่ได้ถูกพัฒนาจนทำให้โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่หลักของผู้คนเฉกเช่นปัจจุบัน อำนาจหน้าที่หลักของ กอ. รมน. เกี่ยวกับการสอดส่อง เฝ้าระวัง การสื่อสารที่รัฐเห็นว่าเกี่ยวข้องกับการเป็นนภัยคุกคาม จึงดำเนินไปในพื้นที่ทางกายภาพเท่านั้น ซึ่งอาจมีปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหัวใจสำคัญ โดยรื้อฟื้นให้มี ศอ.บต. และ เป็นหน่วยงานใต้สังกัดในการจัดการปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว  ทั้งนี้ ด้วยปฏิบัติการด้านการข่าวขณะนั้น ครั้งหนึ่ง เคยมีการเตือนให้ “ทุกภาครับมือ ‘ก่อการร้าย’” ดังกรณี ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวไว้เมื่อ 15 มกราคม 2545 ว่า “มีข่าวจากประเทศสิงคโปร์ว่ามีการเตรียมก่อการร้าย แต่รัฐบาลได้ไหวตัวทันเสียก่อน ดังนั้น จึงขอให้มีการดูแลไม่เฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ทุกภาคที่เป็นที่ตั้งของสถานกงสุลของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องไม่ประมาท เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนเมื่อไหร่ จึงขอให้มีความพร้อมในเรื่องข่าวสารข้อมูล ไม่อยากให้เน้นเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ 76 จังหวัดเป็นเป้าหมายทั้งหมด โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดมีโอกาสเกิดสูงมาก เนื่องจากมีความอ่อนแอไม่มีความเตรียมพร้อม”
บทสัมภาษณ์ข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงความด้อยศักยภาพการสอดส่องของรัฐไทยเมื่อครั้งอดีตได้เป็นอย่างดี และนับเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐไทยเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพกลไกการสอดส่องให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


หน่วยงานสำคัญที่ทำหน้าที่สอดส่อง เป็นหูเป็นตาให้แก่รัฐ อีกหน่วยงานหนึ่ง ได้แก่ สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ หรือ สขช. ซึ่งเป็นหน่วยข่าวระดับชาติหน่วยเดียวของรัฐไทยที่เป็นหน่วยราชการพลเรือน และมีหัวหน้าส่วนราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ
แม้พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติฉบับแรกได้ประกาศใช้ก่อนที่จะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและระบบการสื่อสาร แต่บทบัญญัติ มาตรา 4 พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2528 ยังนับว่าเป็นกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติไว้กว้างขวางพอที่จะใช้ได้กับบริบททางการเมืองช่วงทศวรรษที่ 2540 และเป็นฐานอำนาจให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินกลไกการสอดส่องประชาชน และความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ที่เพิ่งถูกพัฒนาในระยะแรกเริ่มได้  ตัวอย่างเช่น ติดตามสถานการณ์ภายในประเทศและต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ และรายงานต่อนายกรัฐมนตรีและสภาความมั่นคงแห่งชาติ ศึกษา วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับกิจการการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน กระจายข่าวกรองที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติให้หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสม เป็นศูนย์กลางประสานกิจการการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนกับหน่วยข่าวกรองอื่นภายในประเทศ รวมไปถึงอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับกิจการการข่าวกรอง  การต่อต้านข่าวกรอง  การข่าวกรองทางการสื่อสาร  และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน  เป็นต้น


ตัวอย่างกรณีศึกษาการปฏิบัติหน้าที่สอดส่อง และการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารของสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ช่วงก่อนปี 2550 อาทิ กรณีการเข้าตรวจสอบติดตามการดำเนินงานของวัดพระธรรมกาย และพระไชยบูลย์ ธัมมชโย ในฐานะเจ้าอาวาส เมื่อต้นปี 2542 ซึ่งขณะนั้นถูกทางรัฐบาลดำเนินคดีเนื่องจากมีการยักยอกทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้วัดไปเป็นสมบัติส่วนตัวและบิดเบือนพระพุทธธรรม จากการติดตามของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ พบว่า “การดำเนินงานของวัดพระธรรมกายเบี่ยงเบนไป 2 ประเด็น คือ 1. ความเบี่ยงเบนทางหลักธรรมคำสอน 2. การเบี่ยงเบนไปในทางโลก คือ การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการระดมเงินเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งน่าสงสัยว่า การระดมเงินต่าง ๆ มีความโปร่งใสเพียงใดในการนำไปใช้สอยตามเจตนาของผู้บริจาค สำนักข่าวกรองฯเปิดข้อมูลลับสุดยอดธรรมกาย”  รวมทั้งยังสืบทราบมาว่า เมื่อปี 2534 มีการจัดหาสมาชิกโดยการจัดทำ “บัตรเศรษฐี” “...สืบเนื่องมาจากทางวัดได้กำหนดเป้าหมายหาเงินบริจาคเข้าวัดปีละ 300 ล้านบาท โดยกำหนดสมาชิกไว้ประมาณ 30,000 คน ซึ่งแต่ละคนต้องหาเงินเข้าวัดให้ได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ถ้าทำได้ตามที่กำหนดก็จะได้รับบัตรเศรษฐีและได้อานิสงส์ผลบุญตามที่ทำ...”
ในคดีนี้ สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ยืนยันว่า ข้อมูลที่ได้มาจากการปฏิบัติการข่าวกรองมีความแม่นยำและเป็นไปได้มากกว่าข่าวสารของสื่อมวลชนทั่วไป  กรณีนี้แสดงถึง ความพยายามในการใช้ปฏิบัติการข่าวกรอง ติดตามปัญหาภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่รัฐไทยเห็นว่า เป็นสิ่งที่กระทบต่อความมั่นคงและศีลธรรมอันดีของประชาชน ก่อนจะเข้าปฏิบัติการในพื้นที่โลกออนไลน์มากขึ้น


  ปฏิบัติการข่าวกรองที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคงและศีลธรรมอันดีของประชาชนอีกกรณีหนึ่ง คือ กรณีการเข้าสืบหา ติดตาม การดำเนินงานของ “มูลนิธิคริสตจักรความหวังกรุงเทพฯ” ซึ่งเข้าข่ายลักษณะการหลอกลวง ชักจูงให้สมาชิกบริจาคเงินและอุทิศตนเพื่อหารายได้แก่องค์กร จนทำให้สมาชิกมีปัญหาทางการเงิน การศึกษา และปัญหาภายในครอบครัว เนื่องจากต้องทุ่มเทในการจัดหาสมาชิก  พร้อมทั้งยังมีข้อมูลว่า “... อดีตผู้นำมูลนิธิคนหนึ่ง ใช้จ่ายเงินบริจาคในเรื่องส่วนตัว มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับสาวกหลายคน รวมทั้งอ้างหลักการศาสนาที่ผิดพลาดในการอบรมสั่งสอน สมาชิกบางรายที่มีฐานะดีบริจาคทรัพย์สินจนหมดตัว กลายเป็นโรคประสาท ...” ทั้งนี้ แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ปฏิบัติการของสำนักงานข่าวกรองได้ใช้วิธีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแฝงตัว คลุกคลี ตรวจสอบพฤติกรรมและกิจกรรมของมูลนิธิ สะท้อนถึงวิธีการและศักยภาพในอดีตที่ยังคงต้องใช้กลไกการสอดส่องที่ยึดโยงกับโลกทางกายภาพ


นอกจากนี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ และปฏิบัติงานเกี่ยวกับด้านความมั่นคงมามากกว่าหนึ่งร้อยปี หรือนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 อย่างสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)  นับเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีอำนาจหน้าที่ในการสอดส่อง เฝ้าระวัง และติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในประเทศ ซึ่งระหว่างปี 2540-2550 ลักษณะงานของ สมช. ไม่ต่างจากงานของ กอ. รมน. มากนัก เพราะต้องร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ การต่อต้าน “ก่อการร้าย” และร่วมจัดการปัญหายาเสพติดกับเจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นหลัก


เดือนกันยายนปี 2544 ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ เลขาธิการ สมช. ณ ขณะนั้น เคยกล่าวต่อสื่อมวลชนว่า จำเป็นต้องมีการจัดงบประมาณเพื่อจัดซื้อเครื่องมือที่ทันสมัยในการต่อต้านรับมือกับภัยก่อการร้าย พร้อมทั้งเน้นย้ำถึง การเตรียมการแก้ไขปัญหาด้านข้อมูลข่าวสารที่จะต้องติดตาม เพื่อเฝ้าระวังการก่อความไม่สงบ หรือก่อการร้าย เป็นเรื่องสำคัญ และหากได้รับความร่วมมือจากประชาชน ในการช่วยเหลือรัฐเฝ้าระวัง สอดส่อง สิ่งผิดปกติหรือ ความไม่ชอบมาพากลต่าง ๆ ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการป้องกันปัญหาที่จะเกิดปัญหาความไม่สงบในประเทศ ทั้งยังกล่าวต่ออีกว่า ในการเตรียมการป้องกันภัยก่อการร้าย ประเทศไทยใช้วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับมิตรประเทศในด้านความมั่นคงมาตลอด โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา


ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 9/11 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อระบบการป้องกันภัยก่อการร้ายของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เหตุการณ์การดังกล่าวกลายเป็นหมุดหมายที่ทำให้รัฐบาลไทยเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาศักยภาพกลไกการสอดส่องให้ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อป้องกันภัยจากต่างชาติรูปแบบใหม่


ต่อจากนั้น ในช่วงระหว่างปี 2547 - 2548 สมช. ก็หันมาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาคนข้ามชาติและคนไร้สัญชาติ ที่อยู่ในขอบเขตของการเป็นปัญหาความมั่นคงของรัฐ โดยมุ่งเน้นรวบรวม จัดทำประวัติ ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร เพื่อทราบแหล่งที่มาและสถานะการดำรงอยู่ของกลุ่มนี้ให้ชัดเจนนำไปสู่การพิจารณากำหนดสถานะที่เหมาะสม เป็นจุดเริ่มต้นของระบบการกำกับประชากรข้ามชาติด้วยเอกสารเกี่ยวกับสถานะจำนวนหลายประเภท  ซึ่งปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระบบเอกสารที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบออนไลน์เท่าใดนัก

 

อ้างอิง
“กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, ประวัติความเป็นมา,” เว็บไซต์ กอ.รมน., ISOC, (สืบค้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564), https://www.isoc.go.th/about.php
มติชน, 3 กรกฎาคม 2545: 45.
ประชาชาติธุรกิจ, 9 ตุลาคม 2549: 43.
มติชนสุดสัปดาห์, 27 ตุลาคม 2549: 25 – 26.
คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 205/2549
มติชน, 27 ตุลาคม 2549: 1,15.
มติชน, 15 มกราคม 2545: 20.
มาตรา 4  ให้มีสำนักข่าวกรองแห่งชาติ มีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ปฏิบัติงานเกี่ยวกับกิจการการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง การข่าวกรองทางการสื่อสาร และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
(2) ติดตามสถานการณ์ภายในประเทศและต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ และรายงานต่อนายกรัฐมนตรีและสภาความมั่นคงแห่งชาติ
(3) กระจายข่าวกรองที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติให้หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสม
(4) ศึกษา วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับกิจการการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน
(5) เป็นศูนย์กลางประสานกิจการการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนกับหน่วยข่าวกรองอื่นภายในประเทศ
(6) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานกิจการการข่าวกรองและการต่อต้านข่าวกรองกับหน่วยข่าวกรองของต่างประเทศในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ
(7) เสนอแนะนโยบายและมาตรการ ตลอดจนให้คำแนะนำและคำปรึกษาด้านการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน ต่อนายกรัฐมนตรีและสภาความมั่นคงแห่งชาติ
(8) ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสภาความมั่นคงแห่งชาติมอบหมาย
มาตรา 3 “การข่าวกรอง” หมายความว่า การดำเนินการเพื่อให้ทราบถึงความมุ่งหมายกำลังความสามารถ และความเคลื่อนไหว รวมทั้งวิถีทางของต่างชาติหรือองค์การก่อการร้ายที่อาจกระทำการอันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งชาติ  ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลนำมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายแห่งชาติ
“การต่อต้านข่าวกรอง” หมายความว่า การดำเนินการเพื่อต่อต้านการกระทำของต่างชาติหรือองค์การก่อการร้ายที่มุ่งหมายจะให้ได้ไปซึ่งความลับของชาติ หรือทำลายความมั่นคงแห่งชาติโดยการจารกรรม การบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรม และการก่อการร้าย
“การข่าวกรองทางการสื่อสาร” หมายความว่า การใช้เทคนิคและการดำเนินกรรมวิธีทางเครื่องมือสื่อสารด้วยการดักรับการติดต่อสื่อสารทางสัญญาณวิทยุ เพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของต่างชาติหรือองค์การก่อการร้าย อันอาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งชาติ
“การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน” หมายความว่า การให้คำแนะนำ ช่วยเหลือและกำกับดูแลส่วนราชการฝ่ายพลเรือน ราชการส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ ในการดำเนินการเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ สถานที่ เอกสารและสิ่งของอื่น ๆ ของทางราชการให้พ้นจากการจารกรรม การบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรม และการก่อการร้าย
มติชน, 21 มกราคม 2542: 2.
มติชน, 23 มกราคม 2542: 1, 24.
ข่าวสด, 31 สิงหาคม 2544: 29.
มติชน, 20 ตุลาคม 2544: 24.
มติชน 25 กันยายน 2544: 1,21.
มติชน 25 กันยายน 2544: 21.
มติชน, 10 มกราคม 2548: 2.


*การค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์โดย ภาสกร ญี่นาง อันเป็นส่วนหนึ่งของวิจัย การพัฒนามาตรการคุ้มครองพลเมืองจากการสอดส่องการสื่อสารโดยรัฐ, 2565. สนับสนุนทุนโดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
ตลอดระยะเวลาแห่งความขัดแย้งทางการเมือง ได้มีกลุ่มต่างๆ เสนอทางออกของปัญหาด้วยการใช้กฎหมายมากมายหลายมาตรา   แต่มาตราหนึ่งซึ่งเป็นข้อถกเถียงมาก คือ การใช้รัฐธรรมนูญ ม.7 ตั้งแต่เมื่อคราวที่ยังใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เรื่อยมาจนถึง ฉบับปี 2550   คนจำนวนไม่น้อยคงสงสัยมากว่า มาตรา 7
ทศพล ทรรศนพรรณ
เอาล่ะครับ พ่อแม่พี่น้อง เรื่องถัดไปนี่คงเป็นความสนใจของเพื่อนพ้องหลายๆพื้นที่นะครับ ผมได้รับแจ้งเข้ามาว่า  เจ้าพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่หนึ่งมีการเพิกเฉย ละเลย ดูแลปัญหาความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ แถมยังมีเรื่องราวกินสินบาทคาดสินบนทำให้ชาวบ้านจนปัญญาจะหาทางแก้ไขเข้าไปอีก&n
ทศพล ทรรศนพรรณ
พลังเหนือมนุษย์ ที่จะพูดถึงในครั้งนี้ประกอบไปด้วยสองส่วน คือ พลังธรรมชาติ และพลังลี้ลับ   ซึ่งกฎหมายก็ได้พูดถึงสองสิ่งนี้อยู่ไม่น้อยทีเดียว
ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องนี้เป็นสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานในยามที่เจอกับภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ด เราคงได้ยินเสียงผู้ประกอบการบ่นให้ฟังว่า ยอดสั่งซื้อตก กำไรหด ต้องลดกำลังการผลิตเพื่อให้บริษัทอยู่รอดกันใช่ไหมครับ  แต่ทราบไหมครับว่า ทุกครั้งที่บอกว่าขาดทุนและต้องลดต้นทุนหรือกำลังการผลิตนั้น มันหมายถึงการป
ทศพล ทรรศนพรรณ
             กฎหมายสมัยใหม่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ มีสิ่งที่ต้องเข้าใจร่วมกันว่า ได้ให้อำนาจเด็ดขาดแก่รัฐในการบีบบังคับประชาชนในรัฐ และลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายโดยการใช้ความรุนแรงนับตั้งแต่ การประหารชีวิต การจำคุก การควบคุมตัว ริบทรัพย์ ในระบบกฎหมายอาญา  ไ
ทศพล ทรรศนพรรณ
ทุกท่านคงทราบกันแล้วนะครับว่าปัจจุบันกฎหมายไทยเกี่ยวกับเรื่องข่มขืนได้มีการปรับปรุงแก้ไขไปให้ทันกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เพราะมิใช่เพียง
ทศพล ทรรศนพรรณ
คงมีหลายคนสงสัยว่าทำไมนักกฎหมายมักย้ำเสมอว่าปัญหาทางกฎหมายต้องตอบในลักษณะ “หนึ่งคำถาม หนึ่งคำตอบ”    กล่าวคือ ในปัญหาเรื่องนั้นจะต้องมีคำชี้ขาดขององค์กรตุลาการหรือองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดที่ชัดเจนแน่นอนเพียงหนึ่งเดียว   ห้ามมีคำตอบแตกต่างหลากหลาย   เช่น  
ทศพล ทรรศนพรรณ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งในเมืองและต่างจังหวัด เนื่องจากในบางเส้นทางจะมีด่านตรวจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อถูกกักตัวหรือขอตัวค้นรถตอนถึงด่าน   ทั้งยังสงสัยกับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตรงด่านว่าใช่ตำรวจหรือไม่ มีอำนาจหน้าที่อะไ
ทศพล ทรรศนพรรณ
       หลายครั้งที่เราสงสัยกันว่าทำไมเรื่องที่เค้าเถียงกันแทบเป็นแทบตายไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสักที ตำรวจก็บอกว่าต้องทำตามกฎหมายข้อนี้ นักกฎหมายก็อ้างว่าไม่ได้ต้องดูกฎหมายอีกฉบับด้วย แล้วพอไปออกรายการทีวีเถียงกันก็ยังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง เพราะปัญหาเดียวกันไหงมีกฎหมายมาเกี่ยวข้องต้อง
ทศพล ทรรศนพรรณ
ปัจจุบันมีคนจำนวนมากเข้าไปทำงานตามร้านอาหารหรือสถานบริการต่างๆมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ตามจำนวนร้านรวงที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด จุดไหนมีคนทำงานหรือเรียนหนังสือเยอะๆก็จะมีร้านตั้งมาดักไว้เต็มไปหมด ก็มีคนพูดไว้เยอะว่าร้านอาหารที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นแหล่งมั่วสุมของนักศึกษาหรือว่าคนทำงานในวัยหนุ่มสาว&
ทศพล ทรรศนพรรณ
ตอนนี้เราจะมาดูกันนะครับว่า ทำไมเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นมาในสังคม เราจึงต้องใช้กฎหมายมายุติความขัดแย้ง   เหตุผลของเรื่องนี้ก็ต่อมาจากตอนที่แล้วซึ่งเราบอกว่า กฎหมาย คือ กติกา ที่สังคมกำหนดขึ้นมาร่วมกัน เพื่อชี้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆขึ้น แล้วตกลงกันไม่ได้ จะ “ยุติ” ความขัดแย้งอย่างไรใ
ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องที่ผมจะเอามาเล่าสู่กันฟังเป็นความเดือดร้อนแสนสาหัสของน้องสองคนซึ่งได้รับผลกระทบจากการประกาศภาวะฉุกเฉิน เคอร์ฟิว ในช่วงที่มีการปราบปรามและสลายการชุมนุม   ซึ่งมันเกี่ยวพันกับชีวิตคนธรรมดาอย่างเราๆท่านๆมากขึ้น เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2