Skip to main content

หลังสิ้นสุดยุคสมัยสงครามเย็น หนึ่งในมรดกตกทอดจากยุคนั้น ได้แก่ หน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทยที่มีอำนาจหน้าที่อย่างเข้มข้นในการเฝ้าระวัง สอดส่อง ควบคุมการสื่อสารและการกระทำต่าง ๆ ของประชาชนที่ผู้มีอำนาจเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง และส่งผลเสียต่อการยืนหยัดสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองช่วงนั้น อาทิ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ฯลฯ


ในช่วงสงครามเย็นเป็นช่วงที่ต้องมีการเฝ้าระวัง สอดส่อง ป้องกันประเทศจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่รัฐไทยมองว่าเป็น “ภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ” และมาพร้อมกับการแลกเปลี่ยนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รัฐไทยจึงทำการจัดตั้ง “กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์” ก่อนถูกเปลี่ยนให้มาใช้ชื่อ “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” ในปี 2516  โดยอดีตที่ผ่านมาถือเป็นหน่วยงานหลักที่มีความรับผิดชอบในภารกิจป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ ทบทวนวิเคราะห์เพื่อพัฒนานโยบาย ตลอดจนยุทธศาสตร์และยุทธวิธี เพื่อให้สามารถยุติสถานการณ์ก่อการร้ายให้สำเร็จลงโดยเร็ว


เมื่อสถานการณ์ความตึงเครียดช่วงสงครามเย็นคลี่คลายตัวลง รัฐไทยจึงปรับโครงสร้าง กอ. รมน. ไปในหลากหลายรูปแบบ เช่น ในปี 2525 มีหน้ารับผิดชอบดำเนินปฏิบัติภารกิจทางด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดการจัดระเบียบและเสริมความมั่นคงชายแดน การพัฒนาเพื่อความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ การแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยและผู้หลบหนีเข้าเมือง การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี (หน่วยสันตินิมิต) การปฏิบัติงานด้านการข่าวและปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.)  หรือในปี 2543 กับการเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากมีมติ คณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็น คอมมิวนิสต์ ต่อมาหน้าที่และงานรับผิดชอบของ กอ. รมน. กลายเป็นการถูกปรับโครงสร้างให้เน้นไปที่การแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งภายใต้คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 158/2545  และการรื้อโครงสร้างอีกครั้งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 205/2549 โดยส่วนหลังนี้เป็นการจัดตั้งให้มี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ. บต.)  และกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พตท. 43) ซึ่งเคยถูกยุบไปเมื่อสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร


กฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่แก่ กอ. รมน. เป็นหลัก ก่อนจะมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เพื่อให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นส่วนราชการที่มีรูปแบบเฉพาะ คือ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 205/2549 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังการรัฐประหาร โดยอำนาจหน้าที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการสอดส่องดูแล หรือเฝ้าระวังภัยคุกคาม อยู่ตรงข้อ 5 โดยเฉพาะข้อ 5.1 ที่กำหนดให้ กอ. รมน. มีอำนาจในการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินแนวโน้มภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายใน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึง ข้อ 5.3 ที่อาจตีความไปได้ในลักษณะเดียวกัน คือ หน้าที่ในการเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความรัก ความสามัคคีของคนในชาติด้วยการผนึกพลังมวลชน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในและความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ภายในประเทศ


อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ระบบเทคโนโลยีและการสื่อสารยังไม่ได้ถูกพัฒนาจนทำให้โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่หลักของผู้คนเฉกเช่นปัจจุบัน อำนาจหน้าที่หลักของ กอ. รมน. เกี่ยวกับการสอดส่อง เฝ้าระวัง การสื่อสารที่รัฐเห็นว่าเกี่ยวข้องกับการเป็นนภัยคุกคาม จึงดำเนินไปในพื้นที่ทางกายภาพเท่านั้น ซึ่งอาจมีปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหัวใจสำคัญ โดยรื้อฟื้นให้มี ศอ.บต. และ เป็นหน่วยงานใต้สังกัดในการจัดการปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว  ทั้งนี้ ด้วยปฏิบัติการด้านการข่าวขณะนั้น ครั้งหนึ่ง เคยมีการเตือนให้ “ทุกภาครับมือ ‘ก่อการร้าย’” ดังกรณี ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวไว้เมื่อ 15 มกราคม 2545 ว่า “มีข่าวจากประเทศสิงคโปร์ว่ามีการเตรียมก่อการร้าย แต่รัฐบาลได้ไหวตัวทันเสียก่อน ดังนั้น จึงขอให้มีการดูแลไม่เฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ทุกภาคที่เป็นที่ตั้งของสถานกงสุลของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องไม่ประมาท เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนเมื่อไหร่ จึงขอให้มีความพร้อมในเรื่องข่าวสารข้อมูล ไม่อยากให้เน้นเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ 76 จังหวัดเป็นเป้าหมายทั้งหมด โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดมีโอกาสเกิดสูงมาก เนื่องจากมีความอ่อนแอไม่มีความเตรียมพร้อม”
บทสัมภาษณ์ข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงความด้อยศักยภาพการสอดส่องของรัฐไทยเมื่อครั้งอดีตได้เป็นอย่างดี และนับเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐไทยเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพกลไกการสอดส่องให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


หน่วยงานสำคัญที่ทำหน้าที่สอดส่อง เป็นหูเป็นตาให้แก่รัฐ อีกหน่วยงานหนึ่ง ได้แก่ สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ หรือ สขช. ซึ่งเป็นหน่วยข่าวระดับชาติหน่วยเดียวของรัฐไทยที่เป็นหน่วยราชการพลเรือน และมีหัวหน้าส่วนราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ
แม้พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติฉบับแรกได้ประกาศใช้ก่อนที่จะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและระบบการสื่อสาร แต่บทบัญญัติ มาตรา 4 พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2528 ยังนับว่าเป็นกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติไว้กว้างขวางพอที่จะใช้ได้กับบริบททางการเมืองช่วงทศวรรษที่ 2540 และเป็นฐานอำนาจให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินกลไกการสอดส่องประชาชน และความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ที่เพิ่งถูกพัฒนาในระยะแรกเริ่มได้  ตัวอย่างเช่น ติดตามสถานการณ์ภายในประเทศและต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ และรายงานต่อนายกรัฐมนตรีและสภาความมั่นคงแห่งชาติ ศึกษา วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับกิจการการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน กระจายข่าวกรองที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติให้หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสม เป็นศูนย์กลางประสานกิจการการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนกับหน่วยข่าวกรองอื่นภายในประเทศ รวมไปถึงอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับกิจการการข่าวกรอง  การต่อต้านข่าวกรอง  การข่าวกรองทางการสื่อสาร  และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน  เป็นต้น


ตัวอย่างกรณีศึกษาการปฏิบัติหน้าที่สอดส่อง และการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารของสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ช่วงก่อนปี 2550 อาทิ กรณีการเข้าตรวจสอบติดตามการดำเนินงานของวัดพระธรรมกาย และพระไชยบูลย์ ธัมมชโย ในฐานะเจ้าอาวาส เมื่อต้นปี 2542 ซึ่งขณะนั้นถูกทางรัฐบาลดำเนินคดีเนื่องจากมีการยักยอกทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้วัดไปเป็นสมบัติส่วนตัวและบิดเบือนพระพุทธธรรม จากการติดตามของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ พบว่า “การดำเนินงานของวัดพระธรรมกายเบี่ยงเบนไป 2 ประเด็น คือ 1. ความเบี่ยงเบนทางหลักธรรมคำสอน 2. การเบี่ยงเบนไปในทางโลก คือ การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการระดมเงินเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งน่าสงสัยว่า การระดมเงินต่าง ๆ มีความโปร่งใสเพียงใดในการนำไปใช้สอยตามเจตนาของผู้บริจาค สำนักข่าวกรองฯเปิดข้อมูลลับสุดยอดธรรมกาย”  รวมทั้งยังสืบทราบมาว่า เมื่อปี 2534 มีการจัดหาสมาชิกโดยการจัดทำ “บัตรเศรษฐี” “...สืบเนื่องมาจากทางวัดได้กำหนดเป้าหมายหาเงินบริจาคเข้าวัดปีละ 300 ล้านบาท โดยกำหนดสมาชิกไว้ประมาณ 30,000 คน ซึ่งแต่ละคนต้องหาเงินเข้าวัดให้ได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ถ้าทำได้ตามที่กำหนดก็จะได้รับบัตรเศรษฐีและได้อานิสงส์ผลบุญตามที่ทำ...”
ในคดีนี้ สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ยืนยันว่า ข้อมูลที่ได้มาจากการปฏิบัติการข่าวกรองมีความแม่นยำและเป็นไปได้มากกว่าข่าวสารของสื่อมวลชนทั่วไป  กรณีนี้แสดงถึง ความพยายามในการใช้ปฏิบัติการข่าวกรอง ติดตามปัญหาภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่รัฐไทยเห็นว่า เป็นสิ่งที่กระทบต่อความมั่นคงและศีลธรรมอันดีของประชาชน ก่อนจะเข้าปฏิบัติการในพื้นที่โลกออนไลน์มากขึ้น


  ปฏิบัติการข่าวกรองที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคงและศีลธรรมอันดีของประชาชนอีกกรณีหนึ่ง คือ กรณีการเข้าสืบหา ติดตาม การดำเนินงานของ “มูลนิธิคริสตจักรความหวังกรุงเทพฯ” ซึ่งเข้าข่ายลักษณะการหลอกลวง ชักจูงให้สมาชิกบริจาคเงินและอุทิศตนเพื่อหารายได้แก่องค์กร จนทำให้สมาชิกมีปัญหาทางการเงิน การศึกษา และปัญหาภายในครอบครัว เนื่องจากต้องทุ่มเทในการจัดหาสมาชิก  พร้อมทั้งยังมีข้อมูลว่า “... อดีตผู้นำมูลนิธิคนหนึ่ง ใช้จ่ายเงินบริจาคในเรื่องส่วนตัว มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับสาวกหลายคน รวมทั้งอ้างหลักการศาสนาที่ผิดพลาดในการอบรมสั่งสอน สมาชิกบางรายที่มีฐานะดีบริจาคทรัพย์สินจนหมดตัว กลายเป็นโรคประสาท ...” ทั้งนี้ แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ปฏิบัติการของสำนักงานข่าวกรองได้ใช้วิธีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแฝงตัว คลุกคลี ตรวจสอบพฤติกรรมและกิจกรรมของมูลนิธิ สะท้อนถึงวิธีการและศักยภาพในอดีตที่ยังคงต้องใช้กลไกการสอดส่องที่ยึดโยงกับโลกทางกายภาพ


นอกจากนี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ และปฏิบัติงานเกี่ยวกับด้านความมั่นคงมามากกว่าหนึ่งร้อยปี หรือนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 อย่างสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)  นับเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีอำนาจหน้าที่ในการสอดส่อง เฝ้าระวัง และติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในประเทศ ซึ่งระหว่างปี 2540-2550 ลักษณะงานของ สมช. ไม่ต่างจากงานของ กอ. รมน. มากนัก เพราะต้องร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ การต่อต้าน “ก่อการร้าย” และร่วมจัดการปัญหายาเสพติดกับเจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นหลัก


เดือนกันยายนปี 2544 ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ เลขาธิการ สมช. ณ ขณะนั้น เคยกล่าวต่อสื่อมวลชนว่า จำเป็นต้องมีการจัดงบประมาณเพื่อจัดซื้อเครื่องมือที่ทันสมัยในการต่อต้านรับมือกับภัยก่อการร้าย พร้อมทั้งเน้นย้ำถึง การเตรียมการแก้ไขปัญหาด้านข้อมูลข่าวสารที่จะต้องติดตาม เพื่อเฝ้าระวังการก่อความไม่สงบ หรือก่อการร้าย เป็นเรื่องสำคัญ และหากได้รับความร่วมมือจากประชาชน ในการช่วยเหลือรัฐเฝ้าระวัง สอดส่อง สิ่งผิดปกติหรือ ความไม่ชอบมาพากลต่าง ๆ ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการป้องกันปัญหาที่จะเกิดปัญหาความไม่สงบในประเทศ ทั้งยังกล่าวต่ออีกว่า ในการเตรียมการป้องกันภัยก่อการร้าย ประเทศไทยใช้วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับมิตรประเทศในด้านความมั่นคงมาตลอด โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา


ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 9/11 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อระบบการป้องกันภัยก่อการร้ายของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เหตุการณ์การดังกล่าวกลายเป็นหมุดหมายที่ทำให้รัฐบาลไทยเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาศักยภาพกลไกการสอดส่องให้ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อป้องกันภัยจากต่างชาติรูปแบบใหม่


ต่อจากนั้น ในช่วงระหว่างปี 2547 - 2548 สมช. ก็หันมาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาคนข้ามชาติและคนไร้สัญชาติ ที่อยู่ในขอบเขตของการเป็นปัญหาความมั่นคงของรัฐ โดยมุ่งเน้นรวบรวม จัดทำประวัติ ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร เพื่อทราบแหล่งที่มาและสถานะการดำรงอยู่ของกลุ่มนี้ให้ชัดเจนนำไปสู่การพิจารณากำหนดสถานะที่เหมาะสม เป็นจุดเริ่มต้นของระบบการกำกับประชากรข้ามชาติด้วยเอกสารเกี่ยวกับสถานะจำนวนหลายประเภท  ซึ่งปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระบบเอกสารที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบออนไลน์เท่าใดนัก

 

อ้างอิง
“กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, ประวัติความเป็นมา,” เว็บไซต์ กอ.รมน., ISOC, (สืบค้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564), https://www.isoc.go.th/about.php
มติชน, 3 กรกฎาคม 2545: 45.
ประชาชาติธุรกิจ, 9 ตุลาคม 2549: 43.
มติชนสุดสัปดาห์, 27 ตุลาคม 2549: 25 – 26.
คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 205/2549
มติชน, 27 ตุลาคม 2549: 1,15.
มติชน, 15 มกราคม 2545: 20.
มาตรา 4  ให้มีสำนักข่าวกรองแห่งชาติ มีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ปฏิบัติงานเกี่ยวกับกิจการการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง การข่าวกรองทางการสื่อสาร และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
(2) ติดตามสถานการณ์ภายในประเทศและต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ และรายงานต่อนายกรัฐมนตรีและสภาความมั่นคงแห่งชาติ
(3) กระจายข่าวกรองที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติให้หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสม
(4) ศึกษา วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับกิจการการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน
(5) เป็นศูนย์กลางประสานกิจการการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนกับหน่วยข่าวกรองอื่นภายในประเทศ
(6) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานกิจการการข่าวกรองและการต่อต้านข่าวกรองกับหน่วยข่าวกรองของต่างประเทศในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ
(7) เสนอแนะนโยบายและมาตรการ ตลอดจนให้คำแนะนำและคำปรึกษาด้านการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน ต่อนายกรัฐมนตรีและสภาความมั่นคงแห่งชาติ
(8) ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสภาความมั่นคงแห่งชาติมอบหมาย
มาตรา 3 “การข่าวกรอง” หมายความว่า การดำเนินการเพื่อให้ทราบถึงความมุ่งหมายกำลังความสามารถ และความเคลื่อนไหว รวมทั้งวิถีทางของต่างชาติหรือองค์การก่อการร้ายที่อาจกระทำการอันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งชาติ  ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลนำมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายแห่งชาติ
“การต่อต้านข่าวกรอง” หมายความว่า การดำเนินการเพื่อต่อต้านการกระทำของต่างชาติหรือองค์การก่อการร้ายที่มุ่งหมายจะให้ได้ไปซึ่งความลับของชาติ หรือทำลายความมั่นคงแห่งชาติโดยการจารกรรม การบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรม และการก่อการร้าย
“การข่าวกรองทางการสื่อสาร” หมายความว่า การใช้เทคนิคและการดำเนินกรรมวิธีทางเครื่องมือสื่อสารด้วยการดักรับการติดต่อสื่อสารทางสัญญาณวิทยุ เพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของต่างชาติหรือองค์การก่อการร้าย อันอาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งชาติ
“การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน” หมายความว่า การให้คำแนะนำ ช่วยเหลือและกำกับดูแลส่วนราชการฝ่ายพลเรือน ราชการส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ ในการดำเนินการเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ สถานที่ เอกสารและสิ่งของอื่น ๆ ของทางราชการให้พ้นจากการจารกรรม การบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรม และการก่อการร้าย
มติชน, 21 มกราคม 2542: 2.
มติชน, 23 มกราคม 2542: 1, 24.
ข่าวสด, 31 สิงหาคม 2544: 29.
มติชน, 20 ตุลาคม 2544: 24.
มติชน 25 กันยายน 2544: 1,21.
มติชน 25 กันยายน 2544: 21.
มติชน, 10 มกราคม 2548: 2.


*การค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์โดย ภาสกร ญี่นาง อันเป็นส่วนหนึ่งของวิจัย การพัฒนามาตรการคุ้มครองพลเมืองจากการสอดส่องการสื่อสารโดยรัฐ, 2565. สนับสนุนทุนโดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
คำถามที่สำคัญในเศรษฐกิจการเมืองยุคดิจิทัล ก็คือ บทบาทหน้าที่ของภาครัฐรัฐท่ามกลางการเติบโตของตลาดดิจิทัลที่ภาคเอกชนเป็นผู้ผลักดันและก่อร่างสร้างระบบมาตั้งแต่ต้น  ซึ่งสร้างผลกระทบต่อชีวิตผู้คนในรัฐให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง   อย่างไรก็ดีความเจริญก้าวหน้าของตลาดย่อมเกิดบนพื้น
ทศพล ทรรศนพรรณ
แนวทางในการส่งเสริมสิทธิคนทำงานในยุคดิจิทัลประกอบไปด้วย 2 แนวทางหลัก คือ1. การระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นภายในความสัมพันธ์ระหว่าง แพลตฟอร์ม กับ คนทำงาน2. การพัฒนารัฐให้รองรับสิทธิคนทำงานอย่างถ้วนหน้า
ทศพล ทรรศนพรรณ
เนื่องจากการทำงานของคนในแพลตฟอร์มดิจิทัลในช่วงก่อนหน้าสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดนั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นทำให้ปริมาณคนที่เข้ามาทำงานมีไม่มากนัก และเป็นช่วงทำการตลาดของเหล่าแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในการดึงคนเข้ามาร่วมงานกับแพลตฟอร์มตนยังผลให้สิทธิประโยชน์เกิดขึ้นมากมายเป็นที่พึงพอใจของผู้เข้าร่วมทำงานกับแพลตฟ
ทศพล ทรรศนพรรณ
รัฐชาติในโลกปัจจุบันไม่เปิดโอกาสให้บุคคลเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน ที่อยู่ แหล่งทำมาหากินได้อย่างอิสระ เสรีมาตั้งแต่การสถาปนารัฐสมัยใหม่ขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก   เช่นเดียวกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่าง ไทย พม่า ลาว หรือกัมพูชา   ก็ล้วนเกิดพรมแดนระหว่างรัฐในลักษณะที
ทศพล ทรรศนพรรณ
นับตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ “สีเสื้อ”   สื่อกลายเป็นประเด็นสำคัญที่เป็นตัวสะท้อนภาพของคนและสังคมเพื่อขับเน้นประเด็นเคลื่อนไหวทางสังคมให้ปรากฏเป็นขบวนการทางการเมืองที่มีผู้คนเข้าร่วมอย่างมากมายมหาศาล และมีกิจกรรมทางการเมืองหลากหลายรูปแบบ   ดังนั้นอำนาจในการสื่อสารและการมีส่วนร่วมใ
ทศพล ทรรศนพรรณ
สังคมไทยเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง แตกแยก และปะทะกันอย่างรุนแรงทั้งในด้านความคิด และกำลังประหัตประหารกัน ระหว่างการปะทะกันนั้นระบบรัฐ ระบบยุติธรรม ระบบคุณค่าเกียรติยศ และวัฒนธรรมถูกท้าทายอย่างหนัก จนสูญเสียอำนาจในการบริหารจัดการรัฐ   ในวันนี้ความตึงเครียดจากการเผชิญหน้าอาจเบาบางลง พร้อ
ทศพล ทรรศนพรรณ
เศรษฐกิจและการเมืองยุคดิจิทัล ใช้ข้อมูลของประชาชนและผู้บริโภคเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจตลาดการเมืองและเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีเจ้าของข้อมูลทั้งหลายได้รับประกันสิทธิในความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกนำไปใช้ตามอำเภอใจไม่ได้ เว้นแต่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กฎหมายยอมรับ หรือได้รับความยินยอมจากเจ
ทศพล ทรรศนพรรณ
หากรัฐไทยต้องการสร้างกรอบทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ มาบังคับกับการวิจัยในพันธุกรรมมนุษย์ ซึ่งถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวจำต้องมีมาตรการประกันสิทธิเจ้าของข้อมูลพันธุกรรมให้สอดคล้องกับมาตร
ทศพล ทรรศนพรรณ
กองทัพเป็นรากเหง้าที่สำคัญของความขัดแย้งเนื่องจากทหารเข้ามามีบทบาทแทรกแซงทางการเมืองมานาน โดยการข่มขู่ว่าจะใช้กำลัง การใช้อิทธิพลกดดันนโยบายของรัฐบาล กดดันเพื่อเปลี่ยนรัฐมนตรี และการยึดอำนาจโดยปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งทหารมักอ้างว่ารัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ระบบการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควรมีการฉ้อ
ทศพล ทรรศนพรรณ
 ปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเรียกร้องมาตลอด คือ การผูกขาด ซึ่งมีรากเหง้ามาจากการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจของกลุ่มผลประโยชน์ที่ทรงอำนาจ แล้วนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอันเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ขบวนการความเป็นธรรมทางสังคมเสนอให้แก้ไข   บทความนี้จะพยายามแสดงให
ทศพล ทรรศนพรรณ
การแสดงออกไม่ว่าจะในสื่อเก่าหรือสื่อใหม่ย่อมมีขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ดังนั้นรัฐจึงได้ขีดเส้นไว้ไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพจนไปถึงขั้นละเมิดสิทธิของผู้อื่นเอาไว้ในกรอบกฎหมายหลายฉบับ บทความนี้จะพาชาวเน็ตไปสำรวจเส้นพรมแดนที่มิอาจล่วงล้ำให้เห็นพอสังเขป
ทศพล ทรรศนพรรณ
การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติที่อดอยากหิวโหยที่นั้นดำเนินการได้โดยตรงด้วยมาตรการความช่วยเหลือด้านอาหารโดยตรง (Food Aid) ซึ่งมีทั้งมาตรการระหว่างประเทศ และมาตรการภายใน   ในบทความนี้จะนำเสนอมาตรการและกรณีศึกษาที่ใช้ในการช่วยเหลือด้านอาหารในสถานการณ์ฉุกเฉินเหล่านั้น แต่ความแตกต่างจากการสงเ