Skip to main content

“สาละวินไม่มีคน” คือคำพูดของบรรดานักพัฒนาผู้แสวงหากำไรบนหนทางของการพัฒนาลุ่มน้ำแห่งนี้ได้ยกขึ้นมาบอกกล่าวจนชินหู แต่หากได้ลงมาล่องเรือเลียบเลาะสายน้ำชายแดนแห่งนี้ จะพบว่าแม่น้ำนานาชาติสายที่ยาวที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยังคงไหลอย่างอิสระแห่งนี้เป็นบ้าน เป็นชีวิตของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าตลอดสองฝั่งน้ำ

งานวิจัยปกากญอ “วิถีแม่น้ำและผืนป่าของปกากญอสาละวิน” ได้จัดทำโดยนักวิจัยชาวบ้าน ปกากญอ หรือชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจาก ๕๐ หย่อมบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า เขต อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าในลุ่มน้ำแห่งนี้มีคนเล็กๆ อาศัยอยู่ และรักษาทรัพยากรดุจดังชีวิตของตนเอง

การศึกษาครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินตลอดแนวพรมแดนไทย-พม่า โดยศึกษาข้อมูลฐานในประเด็นพันธุ์ปลา เครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน การเกษตร พรรณพืชในป่า และสังคมวัฒนธรรมของชาวปกากญอ เพื่อนำมาอธิบายความสลับซับซ้อนของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มน้ำสาละวิน และวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมของชุมชนที่ตั้งอยู่บนฐานของระบบนิเวศน์ดังกล่าว ตลอดจนพิธีกรรมและความเชื่อของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

งานวิจัยปกากญอสาละวินได้นำเอาวิธีการวิจัยไทบ้านที่ดำเนินการที่ปากมูนมาปรับใช้ แต่ยังคงตั้งบนฐานงานวิจัยไทบ้าน นั่นก็คือ ชาวบ้านเป็นนักวิจัยโดยใช้ความรู้พื้นบ้านในการอธิบายข้อมูลด้านต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมที่ช่วยประสานงานและช่วยจัดทำเอกสารในฐานะผู้ช่วยนักวิจัย

งานวิจัยปกากญอสาละวินได้ใช้วิธีการวิจัยผสมผสานกัน ทั้งการประชุมกลุ่มนักวิจัย การสำรวจภาคสนาม การสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลัก และการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม โดยดำเนินการรวมระยะเวลาทั้งสิ้น ๒ ปี ๗ เดือน โดยใช้ภาษาถิ่น คือภาษาปกากญอสะกอ เป็นภาษาหลักในการศึกษา

ผลการศึกษาพบว่า แม่น้ำสาละวินตลอดเส้นพรมแดน มีระบบนิเวศที่สลับซับซ้อน อาทิ แก่ง วังน้ำ หาดทราย และระบบนิเวศย่อยตามลำห้วยสาขาอีกมากมาย ความหลากหลายซับซ้อนทั้งหมดนี้ เป็นทั้งบ้านของปลานานาชนิด และแหล่งหาอยู่หากินของชาวบ้าน

ทีเซ คนขับเรือหนึ่งในนักวิจัยได้กล่าวว่า ขับเรือในแม่น้ำสาละวินมานานแล้ว ก็เห็นแก่งในน้ำสาละวินจำนวนมาก แก่งในหน้าฝนจะไม่โผล่ แต่พอหน้าแล้งนี่แก่งจะโผล่แล้ว แก่งบางแก่ก็อันตราย ถ้าคนไม่เคยมาแม่น้ำสาละวินพอมาเจอแก่งน้ำวนในช่วงหน้าแล้งก็จะกลัว ในหน้าแล้งคนขับเรือต้องระมัดระวังในการขับเรือ

การศึกษาพันธุ์ปลาในแม่น้ำสาละวินและลำห้วยสาขาพบพันธุ์ปลา ๗๐ ชนิด โดยชาวบ้านใช้เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านหลากหลายชนิด ซึ่งสอดคล้องกันกับระบบนิเวศที่สลับซับซ้อนและฤดูกาล เครื่องมือหาปลาบางชนิด มีไว้สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ เพราะผู้หญิงมีความสามารถในการใช้เครื่องมือได้ดีกว่า

วิธีการหาปลาบางชนิดแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนในชุมชน และความเชื่อของคนต่อธรรมชาติ เช่น การตึกแค หรือกั้นแควของลำห้วยเพื่อจับปลา ชาวบ้านเชื่อว่าถ้ามีการกั้นแควลำห้วยเพื่อจับปลาแล้วไม่ปล่อยน้ำให้เป็นอิสระดังเดิม ต่อไปก็จะไม่มีปลากินอีก

วิชัย อำพรนภา นักวิจัยเรื่องปลาได้เล่าถึงการทำวิจัยเรื่องพันธุ์ปลาในแม่น้ำสาละวินให้ฟังว่า คนในลุ่มน้ำสาละวินจะหาปลา ๒ ส่วนคือ หมู่บ้านตามริมห้วยสาขาก็จะหาปลาตามลำห้วย ใช้เครื่องมือหาปลาขนาดเล็ก เช่น เบ็ด มอง ไซ ส่วนมากก็จะได้ทั้งปลาตัวใหญ่และตัวเล็ก ปลาในลำห้วยเป็นปลาที่ขึ้นมาจากแม่น้ำสาละวินในช่วงหน้าฝน ปลามันจะเข้ามาวางไข่ตามลำห้วย ช่วงหน้าแล้งปลาก็จะอพยพลงไปในแม่น้ำสาละวิน บางช่วงของห้วยที่เป็นแก่งหินและน้ำลึกก็จะมีปลาหลงเหลือยู่ให้จับไปประกอบอาหารได้ ตอนนี้พอปลาลดน้อยลงที่บ้านโพซอก็มีการจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา เพื่อจะได้มีปลากินอีกหลายๆ ปีในอนาคตข้างหน้า

นอกจากจะได้ทำงานวิจัยในประเด็นที่กล่าวมาแล้วคณะนักวิจัยยังได้ร่วมกันทำงานวิจัยในประเด็นเรื่องการทำเกษตรของชาวปกากญอ ในการวิจัยพบว่า ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ในป่าสาละวินมีวิถีการทำเกษตรที่แตกต่างกันตามลักษณะภูมินิเวศ โดยสามารถแบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะคือ

๑.การทำเกษตรริมฝั่งน้ำสาละวิน ในทุกปีเมื่อแม่น้ำสาละวินเริ่มลดระดับลงหลังฤดูฝน ริมฝั่งของแม่น้ำสาละวินจะเกิดเป็นหาดทรายขาวยาวตลอดริมฝั่ง พื้นที่หาดทรายอันอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุที่สายน้ำพัดพามาเหล่านี้คือแปลงเกษตรของชาวบ้านริมฝั่งน้ำ

หลังจากน้ำลดแล้วชาวบ้านจะทำการจับจองพื้นที่ในการปลูกพืชต่างๆ กว่า ๓๐ ชนิด เช่น ถั่ว แตงโม ยาสูบ เพื่อบริโภคในครัวเรือนหรือนำไปแลกเปลี่ยนในชุมชน เกษตรริมน้ำสร้างความมั่นคงทางอาหารแก่ชุมชนริมฝั่งน้ำสาละวินตลอดฤดูแล้ง    

๒.การทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ถือเป็นหัวใจของการผลิตของชุมชนสาละวิน ชาวบ้านทุกครอบครัวทำไร่หมุนเวียนบนดอย โดยมีวงรอบของการหมุนเวียนไปประมาณ ๕-๘ ปี ในไร่ของชาวบ้านสาละวินมีพันธุ์ข้าวไร่พื้นเมืองถึง ๕๒ ชนิด และพืชอาหารปลูกผสมกันไปอีกกว่า ๑๓๐ ชนิด  

๓.การทำนา ชุมชนริมห้วยสาขาในป่าสาละวินจะทำนาบนที่ราบลุ่มริมฝั่งลำห้วย โดยมีการจัดการน้ำด้วยวิถีพื้นบ้านในระบบเหมืองฝาย เป็นการ “ขอยืมน้ำ” จากลำห้วยให้ไหลผ่านนาขั้นบันได หล่อเลี้ยงต้นข้าวและไหลกลับคืนสู่ลำห้วยดังเดิม ทุกปี ชาวบ้านที่ใช้ฝายจะร่วมกันทำพิธีเลี้ยงผีฝาย เพื่อขอบคุณสรรพสิ่งที่มอบความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนนา   

ตลอดรอบปีของการเกษตรทั้งไร่หมุนเวียนและนา พบว่าชาวบ้านมีพิธีกรรมจัดขึ้นในทุกช่วง เพื่อขออนุญาตผืนดิน แม่น้ำ และป่า ในการทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงครอบครัว พิธีกรรมเหล่านี้เป็นการแสดงความเคารพต่อสรรพสิ่งและธรรมชาติ ซึ่งแนวคิดที่เคารพในธรรมชาติถูกปลูกฝังอยู่ในทุกชีวิตแห่งป่าสาละวิน

พ่อหลวงธวัชชัย อมรไผ่ชนแดน หนึ่งในนักวิจัยเรื่องการทำเกษตรได้เล่าถึงผลการศึกษาว่า คนอยู่ในป่าก็หากินกับป่า ทำไร่บนดอย บางคนก็ทำนา พันธุ์ข้าวในไร่มีเยอะ ปลูกข้าวไร่ทีก็ปลูกผักอย่างอื่นไปด้วย ไม่มีอดกิน แต่ถ้าต่อไปไม่ให้ชาวบ้านทำไร่หมุนเวียนแล้ว ชาวบ้านคงอดตายกันแน่ เพราะไม่รู้จะเอาข้าวที่ไหนมากินจะให้ไปรับจ้างก็คงไม่ไหว เพราะพวกเราไม่คุ้นเคย อยู่กับไร่นี่แหละสบายดี ทำไร่ปีหนึ่งมีข้าวกินก็พอแล้ว

ส่วนพะตีสิริพอ จตุพรเวียรสกุล นักวิจัยเรื่องสมุนไพรและอาหารจากป่าได้กล่าวว่า ในป่าสาละวินมีพืชสมุนไพรเยอะ ป่าสาละวินอันอุดมสมบูรณ์มีพรรณพืชมากมายที่ชาวบ้านได้ใช้เป็นอาหารและยาสมุนไพรด้วยความรู้พื้นบ้าน โดยชาวบ้านสามารถเก็บพรรณพืชสมุนไพรได้กว่า ๑๓๐ ชนิด

ชาวบ้านก็จะไปเก็บเอามารักษาโรค เพราะกว่าจะเดินทางเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลในเมืองมันก็นาน ในป่านี่สมุนไพรมีความจำเป็น คนอยู่ป่าก็อาศัยป่า รักษาป่า บางคนอายุมากแล้วไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยหนักๆ เลยเพราะกินแต่สมุนไพร เดี๋ยวนี้คนในเมืองป่วยกันเยอะ เพราะกินสารเคมีมาก คนในป่าบางทีเป็นมาลาเรียเอาใบไม้มาต้มกินก็หาย พรรณพืชเหล่านี้จึงเป็นความมั่นคงของชุมชนในผืนป่าสาละวินที่มิต้องซื้อหา   

เนื่องจากพื้นที่ทำการศึกษาวิจัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  คณะนักวิจัยจึงได้เพิ่มประเด็นการศึกษาวิจัยเรื่องสัตว์ป่าเข้าด้วย นักวิจัยได้ระดมร่วมกันว่าการศึกษาวิจัยเรื่องสัตว์ป่านั้นก็เพื่อศึกษาถึงความรู้และความเชื่อของชุมชนในการรักษาป่าและสัตว์ป่า ไม่ได้หมายเอาการศึกษาเรื่องของตัวสัตว์ป่า

การศึกษาพบว่าในผืนป่าสาละวินมี โป่ง คือแหล่งแร่ธาตุที่สัตว์ป่านานาชนิดลงมากินจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ของหมู่บ้านต่างๆ ในผืนป่าสาละวิน พ่อหลวงประวิทย์  กมลวรรณหงส์ นักวิจัยเรื่องสัตว์ป่ากล่าวว่า โป่งในป่าสาละวินนี่มี ๒ ลักษณะคือ ม้อเค--โป่งแห้งกับม้อที้--โป่งน้ำ  ชาวบ้านเชื่อว่าสัตว์ที่ลงมากินโป่งจะเป็นสัตว์เลี้ยงของเจ้าของโป่งเหมินกับที่เราเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ชาวบ้านจะไม่ไปซุ่มยิงสัตว์ที่กำลังหากินบริเวณโป่งเป็นอันขาด  เพราะเชื่อว่าสัตว์ป่ามีเจ้าของดูแลปกป้อง  

นอกจากชาวบ้านจะไม่ไปซุ่มยิงสัตว์แล้วยังมีสัตว์ป่าบางชนิดที่ห้ามยิงด้วย เช่น โกยูปก่า-ชะนี เพราะชะนีไม่กินข้าวที่ชาวบ้านปลูกไว้ ชาวบ้านถือว่าชะนีเป็นเหมือนเจ้าป่า ถ้าหากยิงชะนีตายไป ๑ ตัวขุนห้วยจะเศร้าไป ๗ ขุนห้วย การห้ามลูกห้ามหลานของผู้เฒ่าสมัยก่อนมันก็เหมือนเป็นการบอกให้ลูกหลานได้อนุรักษ์สัตว์ป่าไว้นั่นแหละ

ว่ากันว่าถ้าหากเข้าไปในผืนป่าใดก็ตามหากได้ยินเสียงชะนีร้องแสดงว่าผาป่าผืนนั้นยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะความที่ผู้เฒ่าผู้แก่กลัวว่าสัตว์ป่าเหล่านี้จะหมดไปจากป่าผู้เฒ่าผู้แก่จึงได้คิดค้นคำทาขึ้นมากล่าวพร่ำสอนลูกหลานให้จำสืบต่อๆ กันมาว่า “ทุกสิ่งล้วนมีเจ้าของ เรากินเราใช้แค่พอเลี้ยงชีวิต ไม่ทำลาย เพื่อให้ลูกหลานได้มีกินสืบไป”

นอกจากนี้แต่ละชุมชนก็มีกฎเกณฑ์ในการห้ามล่าสัตว์บางชนิดอย่างชัดเจนแล้ว บางชุมชนยังมีการกำหนดโทษปรับ และหลายชุมชนยังได้มีการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์ปลา และเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนอีกด้วย

สังคมวัฒนธรรมของชาวปกากญอแห่งลุ่มน้ำสาละวิน ชุมชนในผืนป่าสาละวินเกี่ยวเนื่องถึงกันโดยเป็นเพื่อน เป็นเครือญาติ  ไปมาหาสู่  ช่วยเหลือกัน และร่วมในพิธีกรรมต่างๆ  สร้างความแน่นแฟ้นระหว่างคนและชุมชนในลุ่มน้ำ การศึกษาพบว่าชุมชนสองฝั่งสาละวิน เชื่อมโยงกันโดยไม่มีพรมแดนของรัฐชาติเป็นอุปสรรค แม้ในหลายชุมชนจะไม่มีสถานะบุคคล ไม่มีสัญชาติไทย แต่ก็ยังสัมพันธ์เหนียวแน่น  และสืบทอดคำสอนของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ว่า
“อ่อทีกะต่อที อ่อก่อกะต่อก่อ กินน้ำรักษาน้ำ อยู่ป่ารักษาป่า”

สายธารแห่งวัฒนธรรมและการอนุรักษ์ธรรมชาติของชาวปกากญอจึงยาวไกลเหมือนกับการไหลของแม่น้ำสาละวินนั่นเอง

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
 แม่น้ำโขงจากหลังคาโลกสู่ทะแลจีนใต้แม่น้ำโขงได้รับการจัดอันดับว่าเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับ ๑๐ ของโลกครอบคลุมพื้นที่ ๖ ประเทศคือ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม มีผู้คนมากกว่า ๖๐ ล้านคนได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ในด้านต่างๆ ทั้งทำการประมง ทำการเกษตร การขนส่ง และการคมนาคม แม่น้ำโขงตอนบนมีลักษณะลาดชันไหลผ่านช่องเขาที่แคบเป็นแนวยาว แม่น้ำโขงตอนบนได้รับน้ำจากการละหายของหิมะเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่แม่น้ำโขงตอนบนอยู่ในเขตปกครองตนเองของทิเบต และจีนแม่น้ำโขงในส่วนตอนกลางมีลักษณะเป็นแก่ง และมีหน้าผาสูงอยู่ในแม่น้ำและตามริมฝั่ง ระดับน้ำในฤดูน้ำหลากและฤดูแล้งจะมีความแตกต่างกันถึง ๒๐ เมตร…
สุมาตร ภูลายยาว
การเรียกชื่อของสถานที่ใดสถานที่หนึ่งในแม่น้ำสายใดสายหนึ่งล้วนแตกต่างกันออกไปตามแต่ภาษาของคนท้องถิ่นนั้นๆ แต่ชื่อหลักที่ผู้คนทั่วไปรู้จักคงไม่ผิดแปลกกันนัก แม้ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแม่น้ำจะแตกต่างกันไปตามภาษาถิ่น และความเชื่อของคนท้องถิ่น ในแม่น้ำโขงเองก็เช่นกัน มีสถานที่หลายแห่งที่ชาวบ้านทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงบนพรมแดนไทย-ลาวได้เรียกชื่อของสถานที่เหล่านั้นทั้งเหมือนกัน และแตกต่างกัน คอนผีหลงก็เช่นกัน คณะผู้สำรวจจากประเทศจีนอ้างอิงเอาตามคำเรียกชื่อของแก่งนี้ตามคนลาวท้องถิ่นในบริเวณนั้นว่า ‘คอนผีหลวง’ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนลาวเรียกว่า ‘คอนผีหลงไม่ใช่คอนผีหลวง’ คำว่า ‘คอน’ ในพจนานุกรม…
สุมาตร ภูลายยาว
ไม่ว่าจะในแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง หรือท้องทะเล ทุกหนแห่งที่กล่าวมาล้วนมีคนกลุ่มหนึ่งอาศัยพึ่งพามาตลอด เรียกได้ว่าเมื่อนึกถึงแม่น้ำ เราก็จะนึกถึงคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกๆ นอกจากนึกถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำ... เรากำลังกล่าวถึงคนกลุ่มหนึ่งที่ผู้คนทั่วไปรู้จักพวกเขาในนาม ‘คนหาปลา’ เมื่อกล่าวถึงคนกลุ่มนี้คงไม่ต้องอธิบายมากว่า พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำอาชีพอะไร แต่เมื่อเพ่งพิศลงไปในอาชีพ และวิถีทางแห่งการดำรงอยู่ของพวกเขา เราจะพบว่า การดำรงตนด้วยการหาปลานั้นเป็นสิ่งยากยิ่ง แน่ละ มันมีหลายเหตุผลที่จะกล่าวเช่นนี้ เหตุผลอย่างที่หนึ่ง เมื่อเราจะออกสู่แม่น้ำ ลำคลอง…
สุมาตร ภูลายยาว
คนทำเรือแห่งแม่น้ำมูนหากเปรียบ ปู ปลาคือผลผลิตจากนาน้ำของคนไม่มีนาโคก เรือก็คงไม่ต่างอะไรจากรถไถนา ‘เรือ’ คำสั้นๆ แต่ดูเปี่ยมด้วยความหมายยิ่งใหญ่สำหรับผู้คนริมฝั่งน้ำ นอกจากจะใช้เป็นพาหนะในการเดินทางแล้ว ยังใช้ในการหาปลาอีกด้วย เรือในแม่น้ำย่อมมีขนาดแตกต่างกันออกไป แม่น้ำใหญ่เรือก็ใหญ่ แม่น้ำเล็กเรือก็ลำเล็ก นอกจากขนาดของเรือในแต่ละแม่น้ำจะแตกต่างกันออกไปแล้ว ท้องเรือที่จมอยู่ในแม่น้ำยังแตกต่างกันออกไปด้วย เรือในแม่น้ำสาละวินท้องเรือมีลักษณะแบน แต่เรือในแม่น้ำโขงท้องเรือมีลักษณะเรียวแหลมคล้ายสิ่วเจาะไม้
สุมาตร ภูลายยาว
ในสมัยก่อนคนพื้นถิ่นแถบแม่น้ำของ หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันว่าน้ำโขง มีการใช้เรือในแม่น้ำของเพื่อการคมนาคมและขนส่งสินค้า ซึ่งสินค้าของคนพื้นถิ่นแถบอำเภอเชียงของและเวียงแก่นก็จะมีทั้ง เกลือ ข้าว และสินค้าอื่นๆ เพื่อค้าขายและเปลี่ยนกับฝั่งลาวและคนต่างถิ่น การค้าทางน้ำในแม่น้ำของนั้นมีมานานหลายชั่วคน นอกจากประโยชน์ในการบรรทุกสินค้าแล้ว คนท้องถิ่นยังใช้เรือในการหาปลา ซึ่งก่อนที่คนหาปลาจะหันมาใช้เรืออย่างทุกวันนี้ คนหาปลารุ่น ๗๐ ปีขึ้นไปที่หาปลาในแม่น้ำของในอดีตใช้แพไม้ไผ่เพื่อหาปลา พ่ออุ้ยผุย บุปผา อายุ ๗๖ ปี ชาวบ้านปากอิงใต้เล่าว่า “แต่ก่อนตอนพ่อเป็นหนุ่ม…
สุมาตร ภูลายยาว
ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคนไทยจำนวนไม่น้อยคงได้ดีใจกับเหรียญทองเหรียญแรกในกีฬาโอลิมปิก แต่ในความดีใจนั้นก็มีความเศร้าใจปะปนมาด้วย และความเศร้าใจก็เดินทางมาพร้อมกับความสูญเสียจำนวนมหาศาลที่คิดเป็นมูลค่าของเงินแล้วไม่ตำกว่า ๑๐๐ ล้านบาท ความเศร้าใจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำโขงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน และที่สวนไร่นาจำนวนมหาศาล ที่บอกว่าเหตุการณ์อันกำลังเกิดขึ้นเป็นความเศร้าใจนั้น เพราะพืชผลทางการเกษตรจำนวนไม่น้อยกำลังอยู่ในช่วงรอการเก็บเกี่ยวผลิต บ้างก็กำลังเริ่มให้ผลผลิต ในจำนวนผู้คนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ดูเหมือนว่าในส่วนของประเทศไทย…
สุมาตร ภูลายยาว
๑.แม่น้ำสาละวินและระบบนิเวศแม่น้ำ -บทพูด- -มีคนบรรยายเกิ่นนำเรื่องแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติสายหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำเนิดจากการละลายของหิมะในธิเบตแล้วไหลผ่านประเทศจีน,ไหลเข้าเขตรัฐฉาน,รัฐคะยาห์ และไหลเรื่อยมาเป็นเส้นแบ่งพรมแดนไทย-พม่ารวมระยะทาง ๑๑๘ กิโลเมตร ก่อนจะสิ้นสุดพรมแดนไทย-พม่าที่บ้านสบเมย หลังจากนั้นแม่น้ำสาละวินก็จะไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่อ่าวเมาะตะมะบริเวณเมืองเมาะลำเลิงหรือมะละแหม่งของรัฐมอญ รวมระยะทางทั้งสิ้น ๒,๘๐๐ กิโลเมตร แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับที่ ๒๖ ของโลก สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว…
สุมาตร ภูลายยาว
 ๑.ภาพเปิดก่อนนำเข้าสู่เรื่องราวทั้งหมด            -ภาพของเด็กๆ กำลังเล่นน้ำ            -ภาพของคนกำลังหาปลา            -ภาพของงานวัฒนธรรม            -ภาพของเรือจีน            -ภาพเรือหาปลาในลาว / ภาพเรือรับจ้างขนของ / เรือโดยสาร            -…
สุมาตร ภูลายยาว
เสียงไก่ขันสลับกับเสียงกลองจากวัดบนภูเขาดังกระชันถี่ขึ้น เหมือนเป็นสัญญาณบอกว่ายามเช้าใกล้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ในรอบหนึ่งเดือน เสียงกลองยามเช้าจากวัดจะดังอยู่ ๘ ครั้งต่อเดือน เพื่อเป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านรู้ว่า ‘วันนี้วันพระ’ เมื่อลองมาไล่เรียงตัวเลขบนปฏิทินก็รู้ว่า วันนี้เป็นวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ในทางพุทธศาสนาแล้ว วันนี้ถือเป็นวันก่อเกิดสิ่งมหัศจรรย์ ๓ อย่างพร้อมกัน คือวันนี้เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นปฐมบทแห่งศาสนาพุทธ ไก่ขันครั้งสุดท้ายล่วงเข้ามา หลายบ้านเริ่มตื่นขึ้นมาก่อไฟหนึ่งข้าว และทำอาหารเช้า พอพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าได้ไม่นาน…
สุมาตร ภูลายยาว
สุมาตร ภูลายยาว เฆมฝนสีดำทะมึนฉาบไปทั่วทิศทาง เรือหาปลาลำเล็กหนึ่งลำ และเรือลำใหญ่สองลำค่อยๆ เคลื่อนออกจากฝั่งริมแม่น้ำ เพื่อลอยลำไปยังเบื้องหน้าแท่งคอนกรีตอันเป็นสัญลักษ์ของความชั่วร้ายในนามการพัฒนามาหลายปี เมื่อเรือไปถึงกลางแม่น้ำ คนบนเรือค่อยๆ คลี่ผ้าขาวที่ห่อหุ้มถ่านเถ้าเบื้องหลังความตายแล้วปล่อยถ่านเถ้านั้นไหลลอยไปกับสายน้ำริมฝั่งดอกไม้ทั้งดอกจำปา ดอกเข็มแดง ดอกดาวเรือง ต่างเข้าแถวเรียงรายกันไหลไปตามแม่น้ำ หลังจากมันถูกปล่อยออกจากกรวยใบตองในมือคนริมฝั่ง ถัดออกไปจากริมฝั่งพ่อทองเจริญกับพ่อดำ ได้พาชาวบ้านจำนวนหนึ่งไปขอขมาแม่น้ำ…
สุมาตร ภูลายยาว
สำเนียงภาษาอีสานจากหนังเรื่อง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ฉุดให้ผมคิดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับหนังขึ้นมาอีกครั้ง ผมตั้งใจเอาไว้หลายครั้งแล้วว่า อยากจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ซ่อนอยู่ในเนื้อในหนังอันเป็นเรื่องราวที่ผู้กำกับหนังคนนั้นๆ ต้องการอยากให้เราเห็น ฉากทุกฉากที่ปรากฏอยู่ในหนังแทบทุกเรื่อง ล้วนไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มันคือความจงใจที่ผู้กำกับต้องการอยากให้เราเห็นในสิ่งที่เขาเห็น เขาจึงได้ใส่มันเข้าไปในหนัง หลังจากดู ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ จบ ผมก็มานั่งนึกว่าตัวเองได้ดูหนังอะไรบ้างที่พูดถึงแม่น้ำโขง หรือมีชาวโขงเข้าไปโลดเล่นอยู่บนจอสีขาวในโรงหนัง…
สุมาตร ภูลายยาว
‘นายน้ำ’ เป็นคำเรียกคนขับเรือที่คนลาวใช้เรียกกัน กี่ชั่วอายุคนมาแล้วก่อนที่เราจะมีถนนใช้ แม่น้ำคือถนนชนิดหนึ่งในระหว่างทางที่เรือล่องขึ้น-ลงในแม่น้ำ ยากจะคาดเดาได้ว่า บรรพบุรุษของนายน้ำคนแรกเป็นใคร บนนาวาชีวิตที่ล่องไปบนสายน้ำกว้างใหญ่ และไหลเชี่ยว ชีวิตของพวกเขาล้วนฝากไว้กับบางสิ่งบางอยางที่บางคนเรียกมันว่าชะตากรรมบ่อยครั้งที่ล่องเรือไปบนสายน้ำ เราล้วนแต่ต้องค้อมคารวะหัวใจอันยิ่งใหญ่ของพวกเขา เมื่อเดินทางสู่ฝั่ง หากมองทะลุลงไปถึงก้นบึ้งของหัวใจ อะไรคือหมุดหมายที่ฉุดรั้งพวกเขาให้มุ่งหน้าสู่เส้นทางที่มองทางไม่เห็นทางเช่นนี้ในบรรดานายน้ำที่มีอยู่มากมาย พวกเขาไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นนายของน้ำ…