สำเนียงภาษาอีสานจากหนังเรื่อง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ฉุดให้ผมคิดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับหนังขึ้นมาอีกครั้ง
ผมตั้งใจเอาไว้หลายครั้งแล้วว่า อยากจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ซ่อนอยู่ในเนื้อในหนังอันเป็นเรื่องราวที่ผู้กำกับหนังคนนั้นๆ ต้องการอยากให้เราเห็น ฉากทุกฉากที่ปรากฏอยู่ในหนังแทบทุกเรื่อง ล้วนไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มันคือความจงใจที่ผู้กำกับต้องการอยากให้เราเห็นในสิ่งที่เขาเห็น เขาจึงได้ใส่มันเข้าไปในหนัง
หลังจากดู ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ จบ ผมก็มานั่งนึกว่าตัวเองได้ดูหนังอะไรบ้างที่พูดถึงแม่น้ำโขง หรือมีชาวโขงเข้าไปโลดเล่นอยู่บนจอสีขาวในโรงหนัง หากเป็นหนังที่พูดถึงเรื่องราวแม่น้ำโขงโดยตรงนั้น เรื่องแรกคงหนีไม่พ้น ‘ทองปาน’ หนังกึ่งสารคดีที่ถูกจัดสร้างขึ้นมาเมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน
ในหนังเรื่องทองปานได้กล่าวถึงแม่น้ำโขง และชาวโขงเอาไว้บนบทบาทของผู้ถูกกระทำ หรือถ้าหากจะให้เข้ากับยุคสมัยในช่วงนั้นก็ต้องบอกว่า หนังเรื่องทองปานได้ฉายภาพของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ซ่อนอยู่ในซอกหลืบของสังคม และเขาเหล่านั้นก็คือผู้ได้รับความเจ็บช้ำ ได้รับการกดขี่ข่มเหงจากการกระทำของรัฐเป็นเบื้องต้น และเป็นเหตุผลใหญ่ที่หนังได้สื่อให้เราผู้ดูได้รู้ว่า รัฐได้กระทำอะไรกับคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้บ้าง
ผมเองหลังจากดูหนังเรื่องนี้จบรู้สึกถึงความอิ่มบางอย่างที่น่ายินดี ทองปานในฐานะหนังเมื่อ ๓๐ ปีก่อนกลับมาร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในยุคที่ผู้นำของรัฐปากไว และปาก_มาเอาการ
หนังเรื่องต่อมาคือเรื่อง ‘สตรีเหล็ก’ ภาพที่หนังได้สื่อสารกับเราคือ ภาพของทีมนักกีฬาวอลเล่ย์บอลกลุ่มหนึ่งเดินทางไปตามหาเพื่อนที่เมืองจีน โดยภาพที่ปรากฏออกมาอาจทำให้คนที่ไม่เคยไปเชียงแสน จังหวัดเชียงรายจินตนาการถึงการเดินทางของพวกเขาได้ยาก แต่หากคนที่เคยไปคงจินตนาการได้ไม่อยาก เมื่อดูหนังจบผมเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า อะไรที่หนังต้องการบอกเราเกี่ยวกับเรื่องนี้
ตัวหนังเองอาจไม่ได้เน้นหนักในเรื่องของการเดินทางของนักกีฬากลุ่มนี้เท่าที่ควร หากดูผ่านๆ แต่เมื่อลองคิดดู ผมก็พบว่า หนังได้พยายามบอกเราว่า ในโลกนี้เราต่างเดินทางไปหากันและกันได้ด้วยหลายเหตุผลในการเดินทาง และหลายวิธีการ แต่ทำไมนักกีฬากลุ่มนี้จึงเลือกที่จะเดินทางด้วยเรือ แล้วเรือไปถึงประเทศจีนมีอยู่จริงไหม
คำตอบของคำถามอาจไม่ตรงใจคนทำหนังมากนัก การเดินทางด้วยเรือไปสู่จีนตอนใต้เป็นเรื่องของการที่หนังพาเราเดินทางไปรู้จักประเทศจีนอย่างช้าๆ เพราะเรือไปได้ไม่เร็วนัก และที่สำคัญเรามักได้ยินคำว่าช้าๆ ได้พร่าเล่มงาม วลีนี้อาจเป็นจริงก็ได้ แต่ในมุมกลับที่หนังไม่ได้สื่อสารต่อคนดูคือ ทำไมนักกีฬากลุ่มนี้จึงเดินทางจากเชียงแสนด้วยเรือไปสู่ทางตอนใต้ของประเทศจีนได้ง่ายนัก ในเรื่องนี้เมื่อเรามองให้ถี่ถ้วน เราจะพบว่าแม่น้ำโขงในทางตอนบนได้มีการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำ เพื่อให้เรือขนาดระวางบรรทุก ๑๕๐ -๓๐๐ ตันวิ่งไปมาในแม่น้ำได้สะดวกแล้วนั่นเอง นักกีฬากลุ่มนี้จึงเดินทางไปสู่ตอนใต้ของประเทศจีนโดยไม่มีอุปสรรคทางน้ำมาขวางกั้น
แม้ว่าภาพของแม่น้ำโขงในหนังเรื่องนี้จะมีอยู่ไม่มาก แต่ตัวหนังเองก็ได้ฉายภาพให้เราได้เห็นอีกบ้างด้านของแม่น้ำโขงเช่นกัน
หนังอีกเรื่องที่ฉายภาพชาวโขง และแม่น้ำโขงบนแผ่นฟิล์มให้เราได้ตรึงตาตรึงใจคงหนีไม่พ้นหนังเรื่อง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หนังเรื่องนี้ได้ฉายภาพความเชื่อของผู้คนอันถือได้ว่าเป็นต้นธารของความเชื่อทั้งหมดของผู้คนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ความเชื่อที่ว่าคือเรื่องราวเกี่ยวกับพญานาค ผู้ทำลูกไฟประหลาดพุ่งขึ้นกลางลำน้ำในคืนวันเพ็ญ เดือน ๑๑ อะไรทำให้หนังเรื่องนี้น่าดู มองในมุมผมแล้ว สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้น่าดู อาจเป็นเพราะหนังได้สื่อสารกับเราด้วยเรื่องราวง่ายๆ แม้ว่าบ้างช่วงจะเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ แต่การทำวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องเข้าใจง่ายนั้นยากจริงๆ และการทำความยากให้ง่ายนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด แม้ว่าในตอนจบของหนังไม่ได้บอกกับเราว่า ลูกไฟประหลาดในคืนเพ็ญนั้นเกิดจากอะไรกันแน่ หนังจบด้วยการให้เราไปคิดต่อ การจบเช่นนี้อาจเป็นเรื่องทั่วไปที่หนังหลายๆ เรื่องมี แต่ในหนังเรื่องนี้ทางคนสร้างเองคงไม่อยากไปหลบหลู่ดูหมิ่นความเชื่อของผู้คนมากนัก เพราะคนสร้างหนังเองก็คงเข้าใจได้ดีในเรื่องนี้ เขาจึงได้ใส่วลีเด็ดที่เขาต้องการสื่อออกมาคือ ‘เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ’ ลงไปในหนังด้วย
หนังเรื่องล่าสุดที่ผมได้ดูมาคือ สบายดีหลวงพระบาง (สบายดีในภาษาลาวแปลเป็นไทยคือ สวัสดี) หนังเรือนี้ได้ฉายภาพหลายอย่างให้เราเห็นทั้งในแง่มิติความสัมพันธ์ของคนสองฝั่งน้ำ ทั้งในแง่ของศิลปวัฒนธรรม แต่ผมแปลกใจอยู่นิดหนึ่งวันที่ผมไปดูนั้นคนในโรงหนังบางตาจนน่าตกใจ แต่พอหนังจบหลายคนเดินออกมาด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม
ขณะดูหนังเรื่องนี้ผมเพิ่งกลับมาจากลาวใต้ ความรู้สึกอินอย่างประหลาดจึงเกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย หลายเรื่องที่หนังฉาพภาพให้เราเห็นคือการมีอยู่จริงแทบทั้งหมด ปลาที่คนหาปลาเก็บออกจากตาข่ายดักปลานั้นไม่ได้สร้างขึ้นมา แต่มันมีอยู่จริง เพราะลาวใต้คือบ้านปลาเมืองปลา
บางคนเมื่อดูแล้วอาจเกิดคำถามว่าทำไมฉากในหลวงพระบางจึงมีน้อย ผมเดาเอาว่านี่อาจเป็นจุดขายจุดหนึ่งที่ทางลาวอยากให้เราไปดูด้วยตาว่าหลวงพระบางนั้นเป็นอย่างไร เขาจึงไม่ได้ใส่สิ่งที่เราอยากจะเห็นทั้งหมดลงไปในเนื้อในหนังอย่างที่ควรจะเป็น
สบายดีหลวงพระบางบอกอะไรเราบ้าง สำหรับคนที่จะไปดู เผือใจเอาไว้สักนิดว่า ฉากบางฉากที่อยากจะเห็นเราอาจไม่ได้เห็น เพราะท่านต้องเดินทางไปดูด้วยตัวเองอย่างที่กล่าวมา
หนังที่ผมยกตัวอย่างมา และเรื่องเล่าที่ผมได้เล่ามาคงเป็นเพียงเรื่องราวที่ผมพอหาได้ แต่สิ่งสำคัญในหนังเหล่านี้ที่ผมสันนิษฐานเอาเองว่า ตัวหนังคงอยากจะบอกเราถึงเรื่องราวของแต่ละช่วงเวลาของผู้คนแห่งแม่น้ำโขง และเรื่องราวของแม่น้ำโขงบางช่วงบางตอน ชาวโขงในโรงหนังจึงไม่ใช่เรื่องราวของความเป็นมายาในโลกมายาเท่านั้น แต่หากว่าชาวโขงในโรงหนัง มันคือความจริงที่เกิดขึ้นบนสายน้ำที่มียาว ๔,๙๐๙ กิโลเมตรนั่นเอง