Skip to main content

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า โดยส่วนตัวแล้ว เห็นด้วยกับเรื่อง การไม่ขับรถหลังจากได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือที่ที่มีการรณรงค์ที่เรียกว่า “เมาไม่ขับ” และเห็นด้วยกับการรณรงค์ไม่ให้ดื่มเหล้าในวัด หรือศาสนสถานต่างๆ และยังเห็นด้วยอีกกับการรณรงค์ให้คนลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลงบ้าง เพื่อเห็นแก่สุขภาพและเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาล อันเนื่องมาจากโรคหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดื่มสุรา รวมทั้ง การเชิญชวนให้งดดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษา สำหรับประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชน เพื่อเป็นการถือศีลถือเป็นการสร้างมงคลให้กับชีวิตก็เป็นเรื่องที่เห็นด้วยเช่นกัน


ทว่า กลับรู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่งที่เห็นแคมเปญที่นำเสนอออกมาทางโทรทัศน์เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อให้คนเลิกดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษา ขออนุญาตเล่าให้ฟังในที่นี้สักเล็กน้อยเผื่อท่านที่ไม่ได้ชมโฆษณา คือ มีฉากที่เป็นร้านประมาณร้านข้าวต้ม หรือ ลาบ น้ำตก (อาจประมาณร้านข้างทาง) คนที่นั่งกันอยู่กลุ่มหนึ่งเป็นผู้ชายล้วนๆ ที่ดูก็รู้ว่าตั้งใจจะเสนอให้เป็นคนในชนชั้นผู้ใช้แรงงาน

ผู้ชายคนหนึ่งกำลังปรับทุกข์กับผู้ชายที่ท่าทางอาวุโสกว่า และคล้ายกับว่าเคยมีบุญคุณต่อกันยกมือไหว้พร้อมพูดว่า “ผมนับถือเหมือนพ่อผมเลย” ในขณะที่คนที่ถูกไหว้นั้นนั่งอยู่แสดงความเห็นใจ และขณะเดียวกันก็ตะโกนออกไปสั่งอาหารว่า “น้อง เอาเหมือนเดิม แบนนึง” คนทั้งร้านถึงกับชะงักหันมามองด้วยสายตาตำหนิ และคนที่นั่งร่วมโต๊ะเดียวกัน 2-3 คน รวมทั้งคนที่พูดว่านับถือก็ลุกขึ้นเดินหนี ในขณะเดียวกันก็มีเสียงบรรยาย “เอ้า เสียเลย” แล้ว ก็เป็นเสียงบรรยายต่อด้วยน้ำเสียงประชดประชันและเน้นๆ ว่า “คนที่กินเหล้าช่วงเข้าพรรษานี่ แย่ ต่อจากนั้นก็มีเบอร์โทรศัพท์สายด่วนเลิกเหล้าขึ้นมาโดยไม่มีเสียงบรรยายใดๆ


ไม่ได้ตั้งใจจะต่อต้านการรณรงค์ให้คนงดเหล้าช่วงเข้าพรรษา แต่ก็มีข้อสังเกตที่ชวนให้ไม่สบายใจและไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับโฆษณาชิ้นนี้อยู่สองประการด้วยกัน คือ

ประการแรก ดูเหมือนจะเป็นการโฆษณาที่ “ตัดสิน” คนไปแล้วอย่างทันทีทันใดว่า ใครก็ตามที่กินเหล้าในช่วงเข้าพรรษานั้นเป็นคนไม่ดี (ซึ่งในโฆษณาใช้คำว่า “แย่” แบบเน้นๆ) หากมาลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าคนๆ หนึ่งที่เคยทำดีมาชั่วชีวิต แต่ในช่วงนี้บังเอิญมีโอกาสได้สังสรรค์กับเพื่อนฝูงซึ่งบังเอิญในช่วงนั้นเป็นช่วงเข้าพรรษา ก็เลยกลายเป็นว่าคนๆ นั้นเป็นคนแย่ไปเลยหรือ ไม่ว่าจะโดยเหตุผลใดก็ตามที่คนๆ นั้นบังเอิญต้องดื่มเหล้า แต่ถ้าเป็นช่วงเข้าพรรษาแล้วกลายเป็นคน “แย่” ไปแล้วตามโฆษณาชิ้นนั้น


จากข้อกังวลข้อที่หนึ่งนี้ก็อยากจะเห็นแย้งกับโฆษณาดังกล่าวโดยอยากจะยืนยันว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ซึ่งส่วนใหญ่มักเรียกรวมว่า เหล้านั้น เป็นเรื่องส่วนตัว ที่ใครก็ตามหากประสงค์จะดื่มก็ควรจะดื่มได้ หากการดื่มนั้นไม่ได้สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับใคร และรวมทั้งงบประมาณในการดื่มนั้นก็เป็นเงินที่ผู้ที่ดื่มนั้นทำมาหาได้จากการประกอบอาชีพที่สุจริตหรือเรียกได้ว่าไม่ได้ไปโกงกินใครมา ทั้งนี้ การรณรงค์งดเหล้าอาจใช้เงื่อนไขการเข้าพรรษามาเชิญชวนได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า การเข้าพรรษานั้นเป็นกิจของสงฆ์โดยตรง สืบเนื่องมาจากที่พระพุทธองค์ต้องการการจัดระเบียบสงฆ์ในช่วงที่เป็นฤดูฝนที่ผู้คนเพาะปลูกกันเพื่อไม่ให้พระสงฆ์ไปย่ำข้าวกล้าของชาวนาสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านจึงให้จำพรรษา คือให้อยู่ในวัดในช่วงหน้าฝนเป็นเวลา 3 เดือน แต่ถ้าศาสนิกจะร่วมจะทำบุญเพื่ออนุโมธนากับสงฆ์ด้วยก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ผู้ที่ไม่ได้ปฎิบัติตนเป็นพิเศษในช่วงเข้าพรรษาก็ไม่ควรจะไปตัดสินว่าเขาเป็นคนชั่ว


อันที่จริงสำหรับฆราวาสในทางพุทธศาสนานั้นมีข้อห้ามดื่มเครื่องดองของเมา และผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนหากปฎิบัติตามศีลห้าอย่างเคร่งครัดก็ย่อมจะต้องไม่ดื่มอยู่แล้วไม่ว่าจะวันใดก็ตาม แต่เป็นเรื่องที่เถียงไม่ได้ว่ามีคนไทยจะอ้างตนว่าเป็นพุทธ ซึ่งมีศีลข้อห้า ห้ามการดื่มสุราและเครื่องดองของเมาอยู่นั้น แต่ในส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และแม้กระทั่งในพิธีกรรมต่างๆ นั้น มักมีการใช้สุราเข้ามาประกอบด้วยทุกครั้ง รวมทั้งเนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐศาสนา สุราก็ยังเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายสำหรับประเทศไทย ดังนั้น คงเป็นเรื่องยากที่จะตัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกจากสังคมไทย (รวมทั้ง สังคมโลกอีกหลายๆ สังคม)


การออกมารณรงค์การงดเหล้าช่วงเข้าพรรษาหากมองถึงวัตถุประสงค์แล้วก็ถือเป็นความปรารถนาดี แต่วิธีการนำเสนอนั้นกลับไม่ได้ส่งเสริมและไม่ได้ให้กำลังใจสำหรับคนที่คิดจะเลิกเหล้าเพราะสร้างภาพให้กลายเป็นคนที่ทุกคนควรรังเกียจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใครก็ตามดื่มเหล้าในวันเข้าพรรษา ซึ่งผลจากการโฆษณาในลักษณะนี้คงไม่ได้ทำให้ประชาชนมีความรู้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด จะมีแต่สร้างความรังเกียจเดียดฉันท์ให้กับคนบางกลุ่มเท่านั้น


ข้อสังเกตประการที่สอง ก็คือ น่าแปลกใจว่าในการโฆษณาเลิกเหล้าแต่ละครั้งฉากที่ใช้มักจะเป็นคนจน เริ่มตั้งแต่โฆษณายอดฮิตติดปากก่อนหน้านี้ที่ว่า “จน เครียด กินเหล้า” มาแล้ว หรือกระทั่ง “เลิกเหล้า เลิกจน เริ่มต้นพรรษานี้” ในโฆษณาชิ้นนี้ก็เช่นกัน แม้อย่างไม่ได้บอกตรงๆว่า เป็นคนจนแต่ดูจากภาพก็รู้ว่าคนที่นั่งกันอยู่นั้นเป็นระดับผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นชนชั้นที่มีรายได้น้อย และสถานที่ก็ร้านข้างถนนซึ่งเศรษฐีคงไม่ได้ไปใช้บริการ

 

จาก setting และถ้อยความในการนำเสนอดังตัวอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ก็ทำให้รู้สึกว่า การดื่มเหล้าเป็นเรื่องที่ไม่ดี สำหรับคนจนเท่านั้น แต่คนรวยๆ คงไม่เป็นไร และภาพที่ออกมาซ้ำๆ เช่นนี้ให้ความรู้สึกว่า เป็นการเจาะจงตีตราคนจนหรือผู้มีรายได้น้อย รวมทั้ง ทำให้ไม่ค่อยแน่ใจกับทัศนคติผู้สร้างสรรค์โฆษณารวมทั้งผู้อนุมัติในโฆษณาออกมาในลักษณะนี้ มีทัศนคติในทางลบกับคนจนอยู่หรือเปล่า เพราะภาพสะท้อนมาจากโฆษณาที่ออกมาแต่ละครั้งนั้นล้วนชวนให้มองว่า การทำเรื่องไม่ดีอันเนื่องจากการดื่มสุราทั้งหลายนั้นเกิดขึ้นเฉพาะกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเท่านั้นใช่หรือเปล่า


เคยเห็นคนที่เป็นแรงงานจำนวนไม่น้อยที่รู้จักการดื่มแบบมีสติ คือ หลายคนดื่มเพื่อสร้างความกระปรี้กระเปร่าให้กับตัวเองหลังจากทำงานหนักมาทั้งวันและไม่ได้สร้างปัญหาให้ทั้งกับครอบครัวและสังคม ในขณะเดียวกันก็มีคนรวยที่มีอำนาจในการซื้อและใช้บริการสถานที่กินดื่มที่หรูหราแต่กลับอาละวาดสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คน ที่ถึงขั้นซ้อมตำรวจหรือฆ่าคนตายก็มีมาแล้ว แต่ทำไม setting ของการรณรงค์ให้คนเลิกดื่มเหล้านั้นเป้าหมายกลับเจาะจงเฉพาะคนจนและไม่เคยมีภาพของการดื่มกินในที่หรูๆ เลย


ก็อย่างที่ว่าไว้แล้วว่าการเชิญชวน หรือการกระตุ้นให้ผู้คนหันมาทำความดี สร้างมงคลให้แก่ชีวิตนั้นสมควรกระทำอย่างยิ่ง ทว่า วิธีการที่ใช้นั้นก็ไม่ควรที่จะไปตีตราคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะแทนที่จะเป็นส่งเสริมให้คนทำความดีกลับกลายเป็นไปซ้ำเติมคนที่มีโอกาสทางสังคมน้อยอยู่แล้วให้ไม่มีที่ยืนมากขึ้น ก็น่าแปลกอยู่พอสมควรหากใครจะสังเกตเห็นว่า รณรงค์เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมนั้น วิธีการนำเสนอมักเป็นการ “ตำหนิ” และ “ตัดสิน” เอาไว้ก่อนโดยไม่ได้ให้ข้อมูลที่รอบด้านซึ่งผู้ชมไม่ได้ประโยชน์จากการการโฆษณาเลย แต่กลับยิ่งทำให้คนที่กระทำการตรงข้ามกับการรณรงค์ที่จะถูกซ้ำเติม หรือ ตีตรา ว่าเป็นคนไม่ดีไปแม้จะไม่เคยประกอบอาชญากรรมใดๆ เลย


บล็อกของ สุทธิดา มะลิแก้ว

สุทธิดา มะลิแก้ว
1 ทั้งๆที่มีทะเบียนบ้านและอาศัยอยู่ที่นนทบุรีมามากกว่า 10 ปี แล้ว และก่อนหน้านั้นก็อยู่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น อุบลฯ ชลบุรี และอื่นๆอีกหลายแห่ง แต่เวลาที่มีใครก็ตามมาถามว่าเป็นคนที่ไหน (ไม่ได้ต้องการคำตอบแบบมุขตลกว่า ที่ไหนๆ ก็เป็นคนนะ) ผู้เขียนก็ตอบว่า “เป็นคนปัตตานี” แม้ว่าจริงๆ แล้วไปปัตตานีไม่เคยเกิน 7 วันต่อปีเลยสักครั้ง และบางปีก็ไม่ได้ไปเลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าการใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีค่อนข้างน้อย มาถึงวันนี้ที่แม้มีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ในยามที่เดินทางไปปัตตานี ก็จะเรียกว่า “กลับบ้าน” อีกเช่นกัน เรื่องการบอกว่าเป็นคนที่ไหนของไทยนั้น เชื่อว่าคนอื่นๆ…
สุทธิดา มะลิแก้ว
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า โดยส่วนตัวแล้ว เห็นด้วยกับเรื่อง การไม่ขับรถหลังจากได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือที่ที่มีการรณรงค์ที่เรียกว่า “เมาไม่ขับ” และเห็นด้วยกับการรณรงค์ไม่ให้ดื่มเหล้าในวัด หรือศาสนสถานต่างๆ และยังเห็นด้วยอีกกับการรณรงค์ให้คนลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลงบ้าง เพื่อเห็นแก่สุขภาพและเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาล อันเนื่องมาจากโรคหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดื่มสุรา รวมทั้ง การเชิญชวนให้งดดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษา สำหรับประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชน เพื่อเป็นการถือศีลถือเป็นการสร้างมงคลให้กับชีวิตก็เป็นเรื่องที่เห็นด้วยเช่นกัน ทว่า…
สุทธิดา มะลิแก้ว
นับเป็นความสะเทือนใจอย่างยิ่งของคนทั่วโลกกับภาพความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวพม่า อันเนื่องมาจากพายุไซโคลนนาร์กิส ที่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตนั้นหลังจากเกิดพายุนั้นแม้ผ่านมาแล้วหลายวันก็ยังไม่นิ่ง องค์กรกาชาดสากลคาดว่าอยู่ระหว่าง 60,000 – 120,000 คน และมีผู้ได้รับผลกระทบสูงถึง 1.6-2.5 ล้านคน โดยคนเหล่านี้จะต้องเผชิญกับภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม ที่อยู่อาศัย และตลอดจนปัญหาสุขภาพที่จะตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้  ท่ามกลางภาพสะเทือนใจเหล่านั้น นานาประเทศได้พยายามที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยมาตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งวันนี้ก็ยังมีบรรดาหน่วยบรรเทาทุกข์ทั้งหลาย…
สุทธิดา มะลิแก้ว
     1ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ข่าว คงจะรับรู้กันแล้วถึงสถานการณ์ในพม่าที่บานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ  รัฐบาล ทหารพม่าออกมาปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ ที่ปกติแล้วเป็นที่เคารพยิ่งของ ประชาชนชาวพม่าซึ่งหมายรวมถึงบรรดาผู้คนในรัฐบาลด้วย  แต่การปราบปรามผู้ชุมนุมในครั้งนี้นั้นไม่ได้ทำให้ผู้คนหวาดกลัวไม่กล้าชุมนุมกันต่อ กลับยิ่งทำให้เหตุการณ์ในพม่าทวีความเลวร้าย และรุนแรงหนักขึ้นไปอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีประเด็นให้ขบคิดต่อได้หลายประการทีเดียว เริ่มตั้งแต่ว่าทำไมชาวพม่านับตั้งแต่ เดือนสิงหาคม ปี 1988 เป็นต้นมา หรือที่ เรียกกันว่า เหตุการณ์ 8888…