Skip to main content

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า โดยส่วนตัวแล้ว เห็นด้วยกับเรื่อง การไม่ขับรถหลังจากได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือที่ที่มีการรณรงค์ที่เรียกว่า “เมาไม่ขับ” และเห็นด้วยกับการรณรงค์ไม่ให้ดื่มเหล้าในวัด หรือศาสนสถานต่างๆ และยังเห็นด้วยอีกกับการรณรงค์ให้คนลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลงบ้าง เพื่อเห็นแก่สุขภาพและเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาล อันเนื่องมาจากโรคหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดื่มสุรา รวมทั้ง การเชิญชวนให้งดดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษา สำหรับประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชน เพื่อเป็นการถือศีลถือเป็นการสร้างมงคลให้กับชีวิตก็เป็นเรื่องที่เห็นด้วยเช่นกัน


ทว่า กลับรู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่งที่เห็นแคมเปญที่นำเสนอออกมาทางโทรทัศน์เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อให้คนเลิกดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษา ขออนุญาตเล่าให้ฟังในที่นี้สักเล็กน้อยเผื่อท่านที่ไม่ได้ชมโฆษณา คือ มีฉากที่เป็นร้านประมาณร้านข้าวต้ม หรือ ลาบ น้ำตก (อาจประมาณร้านข้างทาง) คนที่นั่งกันอยู่กลุ่มหนึ่งเป็นผู้ชายล้วนๆ ที่ดูก็รู้ว่าตั้งใจจะเสนอให้เป็นคนในชนชั้นผู้ใช้แรงงาน

ผู้ชายคนหนึ่งกำลังปรับทุกข์กับผู้ชายที่ท่าทางอาวุโสกว่า และคล้ายกับว่าเคยมีบุญคุณต่อกันยกมือไหว้พร้อมพูดว่า “ผมนับถือเหมือนพ่อผมเลย” ในขณะที่คนที่ถูกไหว้นั้นนั่งอยู่แสดงความเห็นใจ และขณะเดียวกันก็ตะโกนออกไปสั่งอาหารว่า “น้อง เอาเหมือนเดิม แบนนึง” คนทั้งร้านถึงกับชะงักหันมามองด้วยสายตาตำหนิ และคนที่นั่งร่วมโต๊ะเดียวกัน 2-3 คน รวมทั้งคนที่พูดว่านับถือก็ลุกขึ้นเดินหนี ในขณะเดียวกันก็มีเสียงบรรยาย “เอ้า เสียเลย” แล้ว ก็เป็นเสียงบรรยายต่อด้วยน้ำเสียงประชดประชันและเน้นๆ ว่า “คนที่กินเหล้าช่วงเข้าพรรษานี่ แย่ ต่อจากนั้นก็มีเบอร์โทรศัพท์สายด่วนเลิกเหล้าขึ้นมาโดยไม่มีเสียงบรรยายใดๆ


ไม่ได้ตั้งใจจะต่อต้านการรณรงค์ให้คนงดเหล้าช่วงเข้าพรรษา แต่ก็มีข้อสังเกตที่ชวนให้ไม่สบายใจและไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับโฆษณาชิ้นนี้อยู่สองประการด้วยกัน คือ

ประการแรก ดูเหมือนจะเป็นการโฆษณาที่ “ตัดสิน” คนไปแล้วอย่างทันทีทันใดว่า ใครก็ตามที่กินเหล้าในช่วงเข้าพรรษานั้นเป็นคนไม่ดี (ซึ่งในโฆษณาใช้คำว่า “แย่” แบบเน้นๆ) หากมาลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าคนๆ หนึ่งที่เคยทำดีมาชั่วชีวิต แต่ในช่วงนี้บังเอิญมีโอกาสได้สังสรรค์กับเพื่อนฝูงซึ่งบังเอิญในช่วงนั้นเป็นช่วงเข้าพรรษา ก็เลยกลายเป็นว่าคนๆ นั้นเป็นคนแย่ไปเลยหรือ ไม่ว่าจะโดยเหตุผลใดก็ตามที่คนๆ นั้นบังเอิญต้องดื่มเหล้า แต่ถ้าเป็นช่วงเข้าพรรษาแล้วกลายเป็นคน “แย่” ไปแล้วตามโฆษณาชิ้นนั้น


จากข้อกังวลข้อที่หนึ่งนี้ก็อยากจะเห็นแย้งกับโฆษณาดังกล่าวโดยอยากจะยืนยันว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ซึ่งส่วนใหญ่มักเรียกรวมว่า เหล้านั้น เป็นเรื่องส่วนตัว ที่ใครก็ตามหากประสงค์จะดื่มก็ควรจะดื่มได้ หากการดื่มนั้นไม่ได้สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับใคร และรวมทั้งงบประมาณในการดื่มนั้นก็เป็นเงินที่ผู้ที่ดื่มนั้นทำมาหาได้จากการประกอบอาชีพที่สุจริตหรือเรียกได้ว่าไม่ได้ไปโกงกินใครมา ทั้งนี้ การรณรงค์งดเหล้าอาจใช้เงื่อนไขการเข้าพรรษามาเชิญชวนได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า การเข้าพรรษานั้นเป็นกิจของสงฆ์โดยตรง สืบเนื่องมาจากที่พระพุทธองค์ต้องการการจัดระเบียบสงฆ์ในช่วงที่เป็นฤดูฝนที่ผู้คนเพาะปลูกกันเพื่อไม่ให้พระสงฆ์ไปย่ำข้าวกล้าของชาวนาสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านจึงให้จำพรรษา คือให้อยู่ในวัดในช่วงหน้าฝนเป็นเวลา 3 เดือน แต่ถ้าศาสนิกจะร่วมจะทำบุญเพื่ออนุโมธนากับสงฆ์ด้วยก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ผู้ที่ไม่ได้ปฎิบัติตนเป็นพิเศษในช่วงเข้าพรรษาก็ไม่ควรจะไปตัดสินว่าเขาเป็นคนชั่ว


อันที่จริงสำหรับฆราวาสในทางพุทธศาสนานั้นมีข้อห้ามดื่มเครื่องดองของเมา และผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนหากปฎิบัติตามศีลห้าอย่างเคร่งครัดก็ย่อมจะต้องไม่ดื่มอยู่แล้วไม่ว่าจะวันใดก็ตาม แต่เป็นเรื่องที่เถียงไม่ได้ว่ามีคนไทยจะอ้างตนว่าเป็นพุทธ ซึ่งมีศีลข้อห้า ห้ามการดื่มสุราและเครื่องดองของเมาอยู่นั้น แต่ในส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และแม้กระทั่งในพิธีกรรมต่างๆ นั้น มักมีการใช้สุราเข้ามาประกอบด้วยทุกครั้ง รวมทั้งเนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐศาสนา สุราก็ยังเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายสำหรับประเทศไทย ดังนั้น คงเป็นเรื่องยากที่จะตัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกจากสังคมไทย (รวมทั้ง สังคมโลกอีกหลายๆ สังคม)


การออกมารณรงค์การงดเหล้าช่วงเข้าพรรษาหากมองถึงวัตถุประสงค์แล้วก็ถือเป็นความปรารถนาดี แต่วิธีการนำเสนอนั้นกลับไม่ได้ส่งเสริมและไม่ได้ให้กำลังใจสำหรับคนที่คิดจะเลิกเหล้าเพราะสร้างภาพให้กลายเป็นคนที่ทุกคนควรรังเกียจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใครก็ตามดื่มเหล้าในวันเข้าพรรษา ซึ่งผลจากการโฆษณาในลักษณะนี้คงไม่ได้ทำให้ประชาชนมีความรู้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด จะมีแต่สร้างความรังเกียจเดียดฉันท์ให้กับคนบางกลุ่มเท่านั้น


ข้อสังเกตประการที่สอง ก็คือ น่าแปลกใจว่าในการโฆษณาเลิกเหล้าแต่ละครั้งฉากที่ใช้มักจะเป็นคนจน เริ่มตั้งแต่โฆษณายอดฮิตติดปากก่อนหน้านี้ที่ว่า “จน เครียด กินเหล้า” มาแล้ว หรือกระทั่ง “เลิกเหล้า เลิกจน เริ่มต้นพรรษานี้” ในโฆษณาชิ้นนี้ก็เช่นกัน แม้อย่างไม่ได้บอกตรงๆว่า เป็นคนจนแต่ดูจากภาพก็รู้ว่าคนที่นั่งกันอยู่นั้นเป็นระดับผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นชนชั้นที่มีรายได้น้อย และสถานที่ก็ร้านข้างถนนซึ่งเศรษฐีคงไม่ได้ไปใช้บริการ

 

จาก setting และถ้อยความในการนำเสนอดังตัวอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ก็ทำให้รู้สึกว่า การดื่มเหล้าเป็นเรื่องที่ไม่ดี สำหรับคนจนเท่านั้น แต่คนรวยๆ คงไม่เป็นไร และภาพที่ออกมาซ้ำๆ เช่นนี้ให้ความรู้สึกว่า เป็นการเจาะจงตีตราคนจนหรือผู้มีรายได้น้อย รวมทั้ง ทำให้ไม่ค่อยแน่ใจกับทัศนคติผู้สร้างสรรค์โฆษณารวมทั้งผู้อนุมัติในโฆษณาออกมาในลักษณะนี้ มีทัศนคติในทางลบกับคนจนอยู่หรือเปล่า เพราะภาพสะท้อนมาจากโฆษณาที่ออกมาแต่ละครั้งนั้นล้วนชวนให้มองว่า การทำเรื่องไม่ดีอันเนื่องจากการดื่มสุราทั้งหลายนั้นเกิดขึ้นเฉพาะกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเท่านั้นใช่หรือเปล่า


เคยเห็นคนที่เป็นแรงงานจำนวนไม่น้อยที่รู้จักการดื่มแบบมีสติ คือ หลายคนดื่มเพื่อสร้างความกระปรี้กระเปร่าให้กับตัวเองหลังจากทำงานหนักมาทั้งวันและไม่ได้สร้างปัญหาให้ทั้งกับครอบครัวและสังคม ในขณะเดียวกันก็มีคนรวยที่มีอำนาจในการซื้อและใช้บริการสถานที่กินดื่มที่หรูหราแต่กลับอาละวาดสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คน ที่ถึงขั้นซ้อมตำรวจหรือฆ่าคนตายก็มีมาแล้ว แต่ทำไม setting ของการรณรงค์ให้คนเลิกดื่มเหล้านั้นเป้าหมายกลับเจาะจงเฉพาะคนจนและไม่เคยมีภาพของการดื่มกินในที่หรูๆ เลย


ก็อย่างที่ว่าไว้แล้วว่าการเชิญชวน หรือการกระตุ้นให้ผู้คนหันมาทำความดี สร้างมงคลให้แก่ชีวิตนั้นสมควรกระทำอย่างยิ่ง ทว่า วิธีการที่ใช้นั้นก็ไม่ควรที่จะไปตีตราคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะแทนที่จะเป็นส่งเสริมให้คนทำความดีกลับกลายเป็นไปซ้ำเติมคนที่มีโอกาสทางสังคมน้อยอยู่แล้วให้ไม่มีที่ยืนมากขึ้น ก็น่าแปลกอยู่พอสมควรหากใครจะสังเกตเห็นว่า รณรงค์เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมนั้น วิธีการนำเสนอมักเป็นการ “ตำหนิ” และ “ตัดสิน” เอาไว้ก่อนโดยไม่ได้ให้ข้อมูลที่รอบด้านซึ่งผู้ชมไม่ได้ประโยชน์จากการการโฆษณาเลย แต่กลับยิ่งทำให้คนที่กระทำการตรงข้ามกับการรณรงค์ที่จะถูกซ้ำเติม หรือ ตีตรา ว่าเป็นคนไม่ดีไปแม้จะไม่เคยประกอบอาชญากรรมใดๆ เลย


บล็อกของ สุทธิดา มะลิแก้ว

สุทธิดา มะลิแก้ว
กลายเป็นเรื่องฮือฮาสำหรับการฉลองสงกรานต์ในปีนี้ (2554) เมื่อมีคนนำคลิปของเด็กสาวขึ้นเต้นโชว์เปลือยอกในการฉลองสงกรานต์ย่านสีลมที่มีผู้คนชมและเชียร์กันอย่างเมามันมาเผยแพร่กันอย่างแพร่หลายผ่านทางสังคมออนไลน์ รวมทั้งนักข่าวทุกสำนักก็ให้ความสนใจและนำเสนอกันอย่ากว้างขวาง มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมายว่า นี่เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมหรือการกระทำที่ทำลายวัฒนธรรม บางคนถึงขั้นกล่าวหาเด็กสาวเหล่านี้ว่าเป็นโรคจิตด้วยซ้ำ
สุทธิดา มะลิแก้ว
    ญี่ปุ่น นับเป็นประเทศที่มีพัฒนาการอย่างมากในเรื่องของเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าในทางวัตถุอย่างรวดเร็ว มีรถไฟหัวกระสุนที่มีความเร็วสูง มีตึกสูงๆที่สามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ หรือแม้แต่โรงปฎิกรณ์ปรมาณูนั้นก็ยืนยันว่ามีระบบความปลอดภัยเป็นเยี่ยม นอกจากนั้นยังเป็นประเทศที่มีประชากรที่มีระเบียบวินัยและคุณภาพที่พร้อมรับมือกับภัยร้ายๆได้อย่างดี ทว่า สุดท้ายแล้วเมื่อธรรมชาติพิโรธอย่างหนัก ประเทศระดับญี่ปุ่นเองก็ยังยากที่จะรับมือ ประสาอะไรกับประเทศที่ไร้ระเบียบและขาดการเตรียมการอีกหลายประเทศ เห็นภาพภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นแล้ว…
สุทธิดา มะลิแก้ว
  เป็นเวลานานหลายสิบปีที่พื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตรซึ่งยังไม่มีการปักปันเขตแดนที่ชัดเจนนั้นไม่ได้ถูกให้ความสนใจ ประชาชนที่อาศัยอยู่ที่นั่น แม้ต่างตอบตัวเองได้ว่าตัวเองเป็นพลเมืองของชาติใดหากต้องติดต่อกับทางราชการแต่ก็อยู่ร่วมกันด้วยดี ถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกันและทำมาหากินร่วมกันมายาวนาน การเดินข้ามไปข้ามมาในบริเวณนั้นก็มิได้เป็นปัญหา มิได้คิดว่าใครจะเข้ามารุกล้ำดินแดนใคร และในการใช้ชีวิตนั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข ทว่า บัดนี้มาเกิดกรณีพิพาทอันเนื่องมาจากการอ้างสิทธิ์บนพื้นที่นี้เกิดขึ้นจากรัฐบาลทั้งสองประเทศและยังไม่อาจแน่ใจว่าข้อพิพาทนี้จะยุติลงได้เมื่อใด…
สุทธิดา มะลิแก้ว
    “พี่รีบๆไปดูเถอะ ตอนนี้ยังดีอยู่ ได้ข่าวว่านายทุนเข้าไปซื้อที่ตรงนั้นไปเยอะแล้ว ไม่ช้าก็คงจะเปลี่ยนไปแน่นอน” ผู้จัดการเกสต์เฮาส์แห่งหนึ่งใน อ.ปาย บอก เมื่อถามว่า อำเภอใหม่เป็นไงบ้าง เพราะว่าดูจะไม่ไกลจากปายมากนัก และในอนาคตอาจไม่เห็นความเป็นธรรมชาติของที่นั่นแล้ว  
สุทธิดา มะลิแก้ว
“การย้ายถิ่นไม่ได้เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติทางประวัติศาสตร์แต่เป็นมิติของการพัฒนาที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน” ตอนหนึ่งในรายงานการพัฒนามนุษย์ปี 2552 (Human Development Report 2009) จัดทำขึ้นโดยโครงการการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Programme –UNDP) ที่เพิ่งจะเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้
สุทธิดา มะลิแก้ว
เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวว่า อินโดนีเซียมีความไม่พอใจมาเลเซียเป็นอย่างยิ่งที่มาเลเซียนำเพลง ราซา ซายัง เอห์ ( Rasa Sayang Eh) มาเป็นเพลงประกอบโฆษณาการท่องเที่ยว โดยระบุว่าเพลงนั้นเป็นเพลงของอินโดนีเซียและบอกว่าเนื้อเพลงที่ร้องนั้นเป็นภาษาท้องถิ่นของเกาะอัมบน
สุทธิดา มะลิแก้ว
ไม่ว่าการตัดสินคดีของอองซาน  ซูจีจะปรากฎออกมาเยี่ยงใดก็ตาม  มินท์ เมี้ยต รู้ดีว่า คงไม่ได้เป็นไปตามตัวบทกฎหมายใดๆหรอก แต่คำตัดสินนั้นจะขึ้นอยู่กับว่าผู้นำรัฐบาลทหารพม่าต้องการให้ออกมาเช่นไร ตัวเขาเองนั้นรู้ซึ้งในเรื่องนี้ดีเพราะเคยมีโอกาสได้เข้าไปสู่กระบวนการนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว และเขารู้ดีว่า ชะตากรรมของชาวพม่านั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ง่ายยิ่งกว่าพลิกฝ่ามือเสียอีก หากคนๆ นั้นบังเอิญไปทำอะไรขวางหูขวางตารัฐบาลเข้า เช่นเดียวกับตัวเขาและภรรยาที่เป็นวิศวกรอยู่ดีๆ ก็ต้องมากลายเป็นนักโทษ และสุดท้ายต้องมาลงเอยด้วยการเป็นแรงงานข้ามชาติอยู่ในประเทศไทย 
สุทธิดา มะลิแก้ว
ดูเหมือนเหตุการณ์จะประจวบเหมาะมากที่จู่ๆ ชายชาวอเมริกันคนหนึ่งได้เข้าไปบ้านพักของนางออง ซานซูจีจี ผู้นำพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ในช่วงที่นางจะหมดวาระการถูกกักบริเวณเพียงไม่กี่วัน และหากนางอองซาน ซูจีถูกตัดสินจำคุกก็เท่ากับว่านางและพรรคฝ่ายค้ายนั้นอาจไม่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมกับแผน แผนปรองดองแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (Road Map for Democracy) เป็นแน่แท้ซึ่งเรื่องนี้ชาวโลกต่างให้ความสนใจว่า จริงๆ แล้วพม่ามีความจริงใจที่จะดำเนินการให้เกิดประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน
สุทธิดา มะลิแก้ว
1   ในระหว่างที่เห็นการนำเสนอข่าวอย่างครึกโครมเรื่องเด็กชายเคอิโงะ ลูกครึ่งญี่ปุ่นที่ออกมาตามหาพ่อ ก็คิดต่อทันทีว่า ไม่นานก็จะมีเด็กแบบเดียวกับเคอิโงะออกกันมาอีกแน่ๆ เพราะรู้ดีว่าเด็กแบบนี้ไม่ได้มีคนเดียวในประเทศไทยและยังคิดต่ออีกว่า หลังจากสื่อสามารถทำเรื่องชีวิตเด็กคนหนึ่งให้ฮือฮาได้แล้ว เรื่องของเด็กคนอื่นก็ไม่น่าสนใจอีกต่อไป แล้วทั้งรัฐและเอกชนที่โหมกระหน่ำความช่วยเหลืออย่างเช่นกรณีเคอิโงะก็จะหายไปด้วย
สุทธิดา มะลิแก้ว
ท่ามกลางเปลวแดดที่แผดเผาจนผิวไหม้เกรียมแทบจะกลายเป็นเนื้อแดดเดียว  แม้จะสี่โมงเย็นแล้วก็ยังไม่มีวี่แววว่าแสงแดดในบ้านเราจะยอมอ่อนแรงลงเลย  ยังคงสาดแสงอย่างเกรี้ยวกราดทำให้คนที่กำลังเดินอยู่นั่นแหละอ่อนแรงลงไปก่อน และแล้วก็ตั้งใจจะเรียกแท๊กซี่ (อีกแล้ว) แต่ก็ต้องยอมทนอีกนิดข้ามสะพานลอยไปเรียกรถอีกฝั่งหนึ่งดีกว่า เพื่อความสะดวกให้กับแท๊กซี่ไม่ต้องกลับรถ
สุทธิดา มะลิแก้ว
ตอนที่ 1 สุข-ทุกข์อยู่บนท้องถนนเห็นจะต้องยอมรับเสียทีว่า ตัวเองนั้นเป็นที่ใช้รถเปลืองมากๆ ส่วนใหญ่ถ้าวันไหนต้องออกจากบ้านก็คงจะใช้อย่างน้อย 2 คันทีเดียว ทั้งหมดนี้ไม่ได้อวดโอ้แต่ประการใด เพียงแต่ว่า พาหนะหลักในการเดินทางของผู้เขียนเวลาที่อยู่กรุงเทพฯ นั้นก็คือแท็กซี่ แม้จะใช้รถไฟฟ้าหรือใต้ดินบ้างก็ยังต้องนั่งแท๊กซี่ไปที่สถานีรถไฟฟ้าหรือใต้ดินอยู่ดี   ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีมานี้จึงได้พบเรื่องราวหลากหลายในระหว่างการนั่งรถแท๊กซี่ และผ่านบทสนทนากับคนขับแท๊กซี่ที่ผู้เขียนได้ใช้บริการไม่ว่าสีไหนก็ตาม (อันนี้หมายถึงสีของรถแท๊กซี่ไม่เกี่ยวกับสีในอุดมการณ์ของคนขับ)…
สุทธิดา มะลิแก้ว
"It's your responsibility" หรือ "คุณนั่นแหละต้องรับผิดชอบ" เป็นคำพูดที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนพูดย้ำหลายครั้งต่อหน้าผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1 พันคนเมื่อบ่ายวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมมหิตลาธิเบศร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวทีมหกรรมภาคประชาชนอาเซียนครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 -22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวย้ำด้วยความภาคภูมิใจถึงการมีกฎบัตรอาเซียน โดยบอกว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาเซียนสามารถก้าวไปข้างหน้า เพราะถือเป็นกฎหมายสูงสุดที่ประเทศสมาชิกจะต้องปฎิบัติตาม การมีกฎบัตรจะทำให้อาเซียนมีฐานะเป็นนิติบุคคล และสิ่งที่ ดร.สุรินทร์…