Skip to main content

1

 

ทั้งๆที่มีทะเบียนบ้านและอาศัยอยู่ที่นนทบุรีมามากกว่า 10 ปี แล้ว และก่อนหน้านั้นก็อยู่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น อุบลฯ ชลบุรี และอื่นๆอีกหลายแห่ง แต่เวลาที่มีใครก็ตามมาถามว่าเป็นคนที่ไหน (ไม่ได้ต้องการคำตอบแบบมุขตลกว่า ที่ไหนๆ ก็เป็นคนนะ) ผู้เขียนก็ตอบว่า “เป็นคนปัตตานี” แม้ว่าจริงๆ แล้วไปปัตตานีไม่เคยเกิน 7 วันต่อปีเลยสักครั้ง และบางปีก็ไม่ได้ไปเลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าการใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีค่อนข้างน้อย มาถึงวันนี้ที่แม้มีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ในยามที่เดินทางไปปัตตานี ก็จะเรียกว่า “กลับบ้าน” อีกเช่นกัน


 

เรื่องการบอกว่าเป็นคนที่ไหนของไทยนั้น เชื่อว่าคนอื่นๆ ก็เช่นกันคงไม่พ้นต้องตอบตามที่เกิดของตนเอง หรือบ้านที่พ่อแม่อยู่ เพื่อนฝูง คนรู้จักส่วนใหญ่ หรือแม้แต่บุคคลสำคัญๆ ที่แม้ว่าจะอยู่กรุงเทพฯ มาตั้งแต่เด็กก็ยังบอกว่าตัวเองเป็นคนจากจังหวัดที่เป็นบ้านเกิด หรือคนกรุงเทพฯ ที่ย้ายไปอยู่ที่อื่นนานหลายสิบปีก็ยังเรียกตัวเองว่าเป็นคนกรุงเทพฯ อยู่นั่นเอง


 

พูดถึงที่ปัตตานีบ้านเกิด ในวันนั้นเผอิญได้แวะไปแบบไม่ได้ตั้งใจกลับบ้าน แล้วบังเอิญอีกเช่นกันว่ามาตรงกับที่รัฐบาลประกาศปรับคณะรัฐมนตรีพอดี นั่งชมข่าวอยู่กับครอบครัว หลังข่าวจบก็มีเสียงระเบิดดังขึ้น 1 ชุด แต่ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่ประการใดจากประสบการณ์หลายปีที่ผ่านมาของคนที่นั่นว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้น คนที่นั่นต่างเดาได้ว่า “นี่เป็นการระเบิดต้อนรับ ครม.ชุดใหม่” หมายถึงว่าหยั่งเชิงอำนาจดูว่า จะทำอะไรได้หรือไม่ (แล้วก็ไม่มีใครทำอะไรได้จริงๆ) 


 

ต่อมาในวันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ ซึ่งมาจากตำรวจ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่นั่นก็รู้ว่าวันนี้ต้องเตรียมตัวหวาดเสียวกันอีกแล้ว และต้องตั้งรับให้พร้อมเพราะคงจะต้องมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอีกแน่ๆ ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงตามคาด มีเหตุระเบิดขึ้นเพื่อต้อนรับ รมว.มหาดไทยคนใหม่ที่แสดงความกล้าหาญ ตบหน้า รมว.คนเก่าที่เพิ่งถูกปลดไปที่ไม่เคยกล้าไปถึงปัตตานีเลย แต่ก็ดีที่ไม่ไปเพราะการเดินทางเพื่อสร้างภาพของ “คนใหญ่คนโต” นั้นไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นสักเท่าไรนัก ตรงข้ามกลับสร้างภาระให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานหนักขึ้นมากกว่า


 

นี่คือสถานการณ์ที่คนปัตตานี ยะลา นราธิวาสและอีก 4 อำเภอในสงขลาเผชิญมาตลอดเป็นเวลานานถึง 6 ปีแล้ว โดยที่รัฐบาลไม่สามารถจัดการอะไรได้ จนทำให้ผู้คนอยู่กับความไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินอยู่อย่างนั้นเอง นอกจากรัฐบาลจะไม่จัดการให้เกิดความสงบแล้ว ยังเติมชนวนให้เกิดเหตุเพิ่มขึ้นอีก ดังตัวอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง


 

คงจำกันได้ เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้เอง จู่ๆ ก็มีข่าวว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายกลุ่มหนึ่งที่ก่อการอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะออกมาแถลงเรื่องขอหยุดยิง หรือเรียกว่ายุติปฎิบัติการและจะเข้าร่วมกับภาครัฐในการปราบปรามกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ ตัวผู้เขียนซึ่งในตอนนั้นกำลังไปร่วมประชุมเรื่องแรงงานข้ามชาติกับเพื่อนๆ ในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอีก 6 ประเทศอยู่ที่กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก็ได้รับโทรศัพท์มาจากฝั่งไทยตั้งแต่เช้าจากเพื่อนๆ ด้วยความตื่นเต้นยินดีว่าคน 3 จังหวัดจะได้อยู่อย่างสงบสุขกันเสียทีเพราะ “กลุ่มก่อการร้ายที่ภาคใต้ประกาศจะหยุดยิงวันนี้”


 

สิ่งแรกที่เป็นคำถามออกมาตอนนั้นก็คือ “กลุ่มไหน” เพราะใครๆ ก็รู้ว่า การปฎิบัติการก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้นั้นมีไม่รู้กี่กลุ่ม และการที่มีกลุ่มหนึ่งออกมาประกาศอย่างนั้น ถ้าไม่ได้มีอิทธิพลมากจริงๆ ก็คงไม่ช่วยอะไร และคำถามที่สองก็คือ จู่ๆ ทำไมถึงออกมาประกาศในวันนี้ ทำไมเรื่องใหญ่ๆ อย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยมาก่อน นำไปสู่ประเด็นความสงสัยว่า นี่จะเป็นการจัดฉากเพื่อเบี่ยงประเด็นหรือเปล่าหนอ เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่มีประเด็นเรื่องความสงบเรียบร้อยในภาคใต้ด้วย รวมทั้งรัฐบาลกำลังถูกตั้งคำถามเรื่องปราสาทพระวิหารอยู่ด้วย นี่คือข้อสงสงสัย แต่ไม่อยากจะมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป คนทั้งประเทศก็ออกมาตั้งหน้าตั้งตารออยากเห็นประเทศสงบสุข


 

ข่าวนี้มีการประกาศออกทางรายการเล่าข่าวอันลือลั่นของสรยุทธ สุทัศนจินดา ทางช่อง 3 ซึ่งน่าแปลกใจยิ่งว่า ตำรวจในพื้นที่ยังไม่มีใครรู้เรื่องนี้เลยสักคน เรื่องใหญ่ขนาดนี้ถ้าไม่ใช่การจัดฉากกันขึ้นมาแล้วก็ถือว่าฝ่ายการข่าวเจ้าหน้าที่พื้นที่นั้นตกต่ำสุดๆ แล้วกระมัง


 

แม้จะอยู่ที่ลาวและหลังจากสอบถามไปยังพื้นที่แล้วว่ายังไม่มีใครรู้เรื่องนี้เลย ก็เลยมานั่งตั้งใจดูโทรทัศน์ไทยที่ถ่ายทอดออกมาทางช่อง “กองทัพบกช่อง 5” ที่รับชมได้อย่างชัดเจนในเวียงจันทน์ ทันที่เห็นฉากจากประสบการณ์ในพื้นที่และประสบการณ์ในงานข่าวก็นึกอยู่ในใจว่า “ปาหี่ชัดๆ” รวมทั้งในใจก็คาดเดาได้อย่างประหวั่นพรั่นพรึงต่อไปว่า เหตุการณ์นี้จะโหมความรุนแรงเกิดขึ้นแน่ๆ มีอย่างที่ไหนเอากลุ่มใครก็ไม่รู้ที่ไม่มีใครรู้จักเลย แล้วมาแต่งตัวแต่งหน้า (คนหนึ่งมีติดเคราแพะแบบพี่เป้า สายันต์ สัญญา เสียด้วย) แล้วมาบอกว่าต่อไปนี้จะร่วมมือกับทางการช่วยปราบกลุ่มที่ยังก่อความไม่สงบอยู่


 

โทรศัพท์จากลาวไปปัตตานี ที่นั่นก็ประเมินกันเลยว่าแบบนี้ท้าทายกลุ่มที่ยังปฎิบัติการอยู่ และกลุ่มนี้ไม่ได้เพียงแค่ไม่ใหญ่พอที่คุมกลุ่มก่อการร้ายทั้งหมด แต่เป็นกลุ่มที่ไม่มีใครเคยรู้จักด้วยซ้ำ แต่พลเอกเชษฐา ตัวตั้งตัวตียืนยันว่านี่เป็นความคืบหน้าในทางที่ดีของปัญหาภาคใต้ ในขณะที่ใครต่อใครที่อ่านเกมภาคใต้ออกนั้นก็รู้ว่าการสร้างภาพแบบนี้มีผลเสียมากกว่าผลดี ข้อที่น่าสงสัยคือพลเอกเชษฐา ประเมินไม่ออกเลยหรือว่านี่จะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ในที่สุดก็เป็นไปตามคาด ความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ทันทีและเกิดขึ้นต่อเนื่องอีกมีคนเสียชีวิตไม่เว้นแต่ละวันโดยไม่มีใครออกมารับผิดชอบแม้แต่คนเดียว แต่ชีวิตคนที่นั่นก็ยังคงต้องอยู่กับความเสี่ยงต่อไป (ความจริงถ้าหากจะทำอะไรแบบนี้อยู่เฉยๆ ดีกว่าเยอะ)


 

2

 

แม่ ปัจจุบันอายุล่วงเข้าสู่วัย 70 ปี เกิดและเติบโตที่ปัตตานีเลี้ยงดูลูกๆ จนเติบใหญ่ มีการมีงานทำประกอบอาชีพสุจริตกันทุกคน และล้วนแต่ได้มีโอกาสทำตนเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติตามสมควร ชีวิตของแม่ในอดีตนั้นเมื่อก่อนก็เคยอยู่อย่างสงบและมีความสุขตามอัตภาพ และสามารถไปเดินตลาดซื้อผักซื้อปลาด้วยความสบายใจ แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นชีวิตบนความหวั่นไหว ทุกครั้งที่ลูกและหลานที่อยู่ด้วยกันที่ปัตตานี ออกไปทำงานและไปโรงเรียน แม่ก็ต้องไหว้พระสวดมนต์ให้ลูกกลับมาบ้านอย่างปลอดภัยทุกครั้ง การเดินทางออกไปข้างนอกไม่สะดวกเหมือนเก่า จำเป็นต้องเก็บตัวอยู่กับบ้านเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย


 

แต่ว่าในเมื่อชีวิตต้องเป็นไป แม้ว่าจะอยู่บนความไม่สงบในพื้นที่และระหว่างวันต้องอยู่บ้านเพียงลำพังนั้น กลับไม่ได้ทำให้ชีวิตหงอยเหงา ไม่ได้ต้องพึ่งพานักจิตวิทยามาช่วยให้คำปรึกษาให้จิตใจผ่อนคลาย หรือไม่ได้นั่งรอความหวังจากรัฐบาลมาให้ความเห็นใจใดๆ แม่หาทางที่จะทำให้ชีวิตมีความหมายและมีความเพลิดเพลินใจได้ 

แม่ตื่นเช้ามาใส่บาตรทำบุญตามปกติ และบอกว่า เห็นใจพระมากเลย เดินจากวัดมาเกือบถึงบ้านแม่นั้นมีคนใส่บาตรแค่ 3 คนเท่านั้น ดังนั้น แม้วันไหนจะมีธุระตั้งแต่เช้ามืดไม่อาจจะรอใส่บาตรอยู่ที่บ้านได้ แม่ก็จะไม่ลืมเตรียมของไว้ใส่บาตรในระหว่างทางที่พระจะบิณฑบาต ที่ทำอย่างนี้เพราะคิดว่าเป็นหนึ่งส่วนที่จะทำนุบำรุงศาสนาได้ 


 

หลังจากใส่บาตรแล้ว และทำภารกิจส่วนตัวรวมทั้งอาหารเช้าเสร็จสรรพ ก็เดินไปสำรวจดูรอบๆ บ้านว่าจะทำอะไรได้บ้าง และในที่สุดสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พื้นที่รอบๆ บ้านของเรานั้นคือ ต้นไม้ ดอกไม้ ที่แม่ปลูกไว้เต็มไปหมด การกลับไปคราวนี้ก็เห็นดอกไม้หลากสีนานาพันธุ์แข่งกันออกดอกบานแฉ่งอยู่ทั้งกับพื้นดินและกระถางหน้าบ้าน 

 

 
19_8_01

19_8_02


ส่วนหลังบ้านก็มีทั้งไม้ดอกและผักสวนครัวรั้วกินได้ ทั้งถั่วฝักยาว โหระพา สะระแหน่ ขิง ข่า ตะไคร้ พริกต่างๆ และมะกรูด มะนาว จนเรียกได้ว่าแทบไม่ต้องซื้อหาเครื่องปรุงอาหารบางส่วนกันอีกต่อไปด้วยฝีมือแม่นั่นเอง (หรือเรียกได้ว่าหลังบ้านของเรานั้น มีทั้งไม้ดอกและไม้แดกกันเลยทีเดียว) 
 


19_8_03  19_8_04

 

พื้นที่ว่างเปล่าหลังบ้านที่อยู่นอกบริเวณบ้านออกไป แม่ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง เพื่อนบ้านคนไหนอยากได้ก็มาถอนเอาไป บางคนก็ทิ้งเงินเอาไว้ให้บ้าง บางคนก็ขอไปกินกันบ้าง ต้นกล้วยก็มีทั้งได้กินลูก และบางครั้งมีคนที่ทำขนมขายแล้วมาขอซื้อใบตอง ทำรายได้ให้แม่ประมาณครั้งละ 30-40 บาท ก็ทำให้แม่รู้สึกภูมิใจว่าอยู่บ้านเฉยๆ      (ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ได้อยู่เฉย) ก็ได้เงิน

 

19_8_05  19_8_06


 

กลับบ้านคราวนี้แม่ภูมิใจเสนอผลงานบรรดาไม้ดอก ไม้แดก ทั้งหลายของแม่ ที่เห็นแล้วก็ทำให้ผู้เขียนได้คิดว่า นี่ก็เป็นอีกทางหนึ่งของการปรับตัวท่ามกลางความรุนแรงรอบๆ ตัวที่เกิดขึ้น แม่ได้นำเสนอรูปแบบของการพยายามหาความสงบสุขอย่างมีประโยชน์และไม่เป็นภาระของใคร สดชื่นไปกับผลิตผลของตนเอง แม้จิตใจจะหวั่นไหวทุกครั้งที่มีข่าวระเบิด ถ้าวันไหนลูกอยู่กันที่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตาแล้วไปหยิบเอาผักของแม่มาทำกับข้าวก็นับว่าเป็นสุขแล้ว เป็นความสุขเล็กๆ ที่พอจะหาได้จากดินแดนที่ไม่มีความสงบ


 

ที่พูดถึงเรื่องแม่นี้ไม่ได้หมายความถึงแม่ของผู้เขียนเพียงลำพังเท่านั้น แต่เพียงแต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า สำหรับคนธรรมดาๆ แล้วนั้นความต้องการคงไม่ใช่อำนาจวาสนาแต่ประการใด คงต้องการแต่ความสงบสขเท่านั้น และเมื่อไม่มีรัฐบาลไหนมารับประกันความปลอดภัยหรือความสงบให้ คงทำได้แค่เพียงหาสิ่งที่พอจะเป็นสุขทำไปแต่เพียงวันๆ 


 

ถึงตอนนี้แม้จะเฝ้าหวังว่าเหตุการณ์ในบ้านเราจะสงบสุขกันเสียที แต่แม่ก็ไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไหนมาช่วยหรอก เพราะว่า แม่เห็นเหตุการณ์มานานแล้วและรู้ว่า จะต้องอยู่กับปัจจุบัน และประชาชนจะต้องช่วยเหลือและดูแลตัวเองกันเอาเองเท่านั้น 


 

บล็อกของ สุทธิดา มะลิแก้ว

สุทธิดา มะลิแก้ว
กลายเป็นเรื่องฮือฮาสำหรับการฉลองสงกรานต์ในปีนี้ (2554) เมื่อมีคนนำคลิปของเด็กสาวขึ้นเต้นโชว์เปลือยอกในการฉลองสงกรานต์ย่านสีลมที่มีผู้คนชมและเชียร์กันอย่างเมามันมาเผยแพร่กันอย่างแพร่หลายผ่านทางสังคมออนไลน์ รวมทั้งนักข่าวทุกสำนักก็ให้ความสนใจและนำเสนอกันอย่ากว้างขวาง มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมายว่า นี่เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมหรือการกระทำที่ทำลายวัฒนธรรม บางคนถึงขั้นกล่าวหาเด็กสาวเหล่านี้ว่าเป็นโรคจิตด้วยซ้ำ
สุทธิดา มะลิแก้ว
    ญี่ปุ่น นับเป็นประเทศที่มีพัฒนาการอย่างมากในเรื่องของเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าในทางวัตถุอย่างรวดเร็ว มีรถไฟหัวกระสุนที่มีความเร็วสูง มีตึกสูงๆที่สามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ หรือแม้แต่โรงปฎิกรณ์ปรมาณูนั้นก็ยืนยันว่ามีระบบความปลอดภัยเป็นเยี่ยม นอกจากนั้นยังเป็นประเทศที่มีประชากรที่มีระเบียบวินัยและคุณภาพที่พร้อมรับมือกับภัยร้ายๆได้อย่างดี ทว่า สุดท้ายแล้วเมื่อธรรมชาติพิโรธอย่างหนัก ประเทศระดับญี่ปุ่นเองก็ยังยากที่จะรับมือ ประสาอะไรกับประเทศที่ไร้ระเบียบและขาดการเตรียมการอีกหลายประเทศ เห็นภาพภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นแล้ว…
สุทธิดา มะลิแก้ว
  เป็นเวลานานหลายสิบปีที่พื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตรซึ่งยังไม่มีการปักปันเขตแดนที่ชัดเจนนั้นไม่ได้ถูกให้ความสนใจ ประชาชนที่อาศัยอยู่ที่นั่น แม้ต่างตอบตัวเองได้ว่าตัวเองเป็นพลเมืองของชาติใดหากต้องติดต่อกับทางราชการแต่ก็อยู่ร่วมกันด้วยดี ถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกันและทำมาหากินร่วมกันมายาวนาน การเดินข้ามไปข้ามมาในบริเวณนั้นก็มิได้เป็นปัญหา มิได้คิดว่าใครจะเข้ามารุกล้ำดินแดนใคร และในการใช้ชีวิตนั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข ทว่า บัดนี้มาเกิดกรณีพิพาทอันเนื่องมาจากการอ้างสิทธิ์บนพื้นที่นี้เกิดขึ้นจากรัฐบาลทั้งสองประเทศและยังไม่อาจแน่ใจว่าข้อพิพาทนี้จะยุติลงได้เมื่อใด…
สุทธิดา มะลิแก้ว
    “พี่รีบๆไปดูเถอะ ตอนนี้ยังดีอยู่ ได้ข่าวว่านายทุนเข้าไปซื้อที่ตรงนั้นไปเยอะแล้ว ไม่ช้าก็คงจะเปลี่ยนไปแน่นอน” ผู้จัดการเกสต์เฮาส์แห่งหนึ่งใน อ.ปาย บอก เมื่อถามว่า อำเภอใหม่เป็นไงบ้าง เพราะว่าดูจะไม่ไกลจากปายมากนัก และในอนาคตอาจไม่เห็นความเป็นธรรมชาติของที่นั่นแล้ว  
สุทธิดา มะลิแก้ว
“การย้ายถิ่นไม่ได้เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติทางประวัติศาสตร์แต่เป็นมิติของการพัฒนาที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน” ตอนหนึ่งในรายงานการพัฒนามนุษย์ปี 2552 (Human Development Report 2009) จัดทำขึ้นโดยโครงการการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Programme –UNDP) ที่เพิ่งจะเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้
สุทธิดา มะลิแก้ว
เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวว่า อินโดนีเซียมีความไม่พอใจมาเลเซียเป็นอย่างยิ่งที่มาเลเซียนำเพลง ราซา ซายัง เอห์ ( Rasa Sayang Eh) มาเป็นเพลงประกอบโฆษณาการท่องเที่ยว โดยระบุว่าเพลงนั้นเป็นเพลงของอินโดนีเซียและบอกว่าเนื้อเพลงที่ร้องนั้นเป็นภาษาท้องถิ่นของเกาะอัมบน
สุทธิดา มะลิแก้ว
ไม่ว่าการตัดสินคดีของอองซาน  ซูจีจะปรากฎออกมาเยี่ยงใดก็ตาม  มินท์ เมี้ยต รู้ดีว่า คงไม่ได้เป็นไปตามตัวบทกฎหมายใดๆหรอก แต่คำตัดสินนั้นจะขึ้นอยู่กับว่าผู้นำรัฐบาลทหารพม่าต้องการให้ออกมาเช่นไร ตัวเขาเองนั้นรู้ซึ้งในเรื่องนี้ดีเพราะเคยมีโอกาสได้เข้าไปสู่กระบวนการนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว และเขารู้ดีว่า ชะตากรรมของชาวพม่านั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ง่ายยิ่งกว่าพลิกฝ่ามือเสียอีก หากคนๆ นั้นบังเอิญไปทำอะไรขวางหูขวางตารัฐบาลเข้า เช่นเดียวกับตัวเขาและภรรยาที่เป็นวิศวกรอยู่ดีๆ ก็ต้องมากลายเป็นนักโทษ และสุดท้ายต้องมาลงเอยด้วยการเป็นแรงงานข้ามชาติอยู่ในประเทศไทย 
สุทธิดา มะลิแก้ว
ดูเหมือนเหตุการณ์จะประจวบเหมาะมากที่จู่ๆ ชายชาวอเมริกันคนหนึ่งได้เข้าไปบ้านพักของนางออง ซานซูจีจี ผู้นำพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ในช่วงที่นางจะหมดวาระการถูกกักบริเวณเพียงไม่กี่วัน และหากนางอองซาน ซูจีถูกตัดสินจำคุกก็เท่ากับว่านางและพรรคฝ่ายค้ายนั้นอาจไม่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมกับแผน แผนปรองดองแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (Road Map for Democracy) เป็นแน่แท้ซึ่งเรื่องนี้ชาวโลกต่างให้ความสนใจว่า จริงๆ แล้วพม่ามีความจริงใจที่จะดำเนินการให้เกิดประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน
สุทธิดา มะลิแก้ว
1   ในระหว่างที่เห็นการนำเสนอข่าวอย่างครึกโครมเรื่องเด็กชายเคอิโงะ ลูกครึ่งญี่ปุ่นที่ออกมาตามหาพ่อ ก็คิดต่อทันทีว่า ไม่นานก็จะมีเด็กแบบเดียวกับเคอิโงะออกกันมาอีกแน่ๆ เพราะรู้ดีว่าเด็กแบบนี้ไม่ได้มีคนเดียวในประเทศไทยและยังคิดต่ออีกว่า หลังจากสื่อสามารถทำเรื่องชีวิตเด็กคนหนึ่งให้ฮือฮาได้แล้ว เรื่องของเด็กคนอื่นก็ไม่น่าสนใจอีกต่อไป แล้วทั้งรัฐและเอกชนที่โหมกระหน่ำความช่วยเหลืออย่างเช่นกรณีเคอิโงะก็จะหายไปด้วย
สุทธิดา มะลิแก้ว
ท่ามกลางเปลวแดดที่แผดเผาจนผิวไหม้เกรียมแทบจะกลายเป็นเนื้อแดดเดียว  แม้จะสี่โมงเย็นแล้วก็ยังไม่มีวี่แววว่าแสงแดดในบ้านเราจะยอมอ่อนแรงลงเลย  ยังคงสาดแสงอย่างเกรี้ยวกราดทำให้คนที่กำลังเดินอยู่นั่นแหละอ่อนแรงลงไปก่อน และแล้วก็ตั้งใจจะเรียกแท๊กซี่ (อีกแล้ว) แต่ก็ต้องยอมทนอีกนิดข้ามสะพานลอยไปเรียกรถอีกฝั่งหนึ่งดีกว่า เพื่อความสะดวกให้กับแท๊กซี่ไม่ต้องกลับรถ
สุทธิดา มะลิแก้ว
ตอนที่ 1 สุข-ทุกข์อยู่บนท้องถนนเห็นจะต้องยอมรับเสียทีว่า ตัวเองนั้นเป็นที่ใช้รถเปลืองมากๆ ส่วนใหญ่ถ้าวันไหนต้องออกจากบ้านก็คงจะใช้อย่างน้อย 2 คันทีเดียว ทั้งหมดนี้ไม่ได้อวดโอ้แต่ประการใด เพียงแต่ว่า พาหนะหลักในการเดินทางของผู้เขียนเวลาที่อยู่กรุงเทพฯ นั้นก็คือแท็กซี่ แม้จะใช้รถไฟฟ้าหรือใต้ดินบ้างก็ยังต้องนั่งแท๊กซี่ไปที่สถานีรถไฟฟ้าหรือใต้ดินอยู่ดี   ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีมานี้จึงได้พบเรื่องราวหลากหลายในระหว่างการนั่งรถแท๊กซี่ และผ่านบทสนทนากับคนขับแท๊กซี่ที่ผู้เขียนได้ใช้บริการไม่ว่าสีไหนก็ตาม (อันนี้หมายถึงสีของรถแท๊กซี่ไม่เกี่ยวกับสีในอุดมการณ์ของคนขับ)…
สุทธิดา มะลิแก้ว
"It's your responsibility" หรือ "คุณนั่นแหละต้องรับผิดชอบ" เป็นคำพูดที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนพูดย้ำหลายครั้งต่อหน้าผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1 พันคนเมื่อบ่ายวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมมหิตลาธิเบศร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวทีมหกรรมภาคประชาชนอาเซียนครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 -22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวย้ำด้วยความภาคภูมิใจถึงการมีกฎบัตรอาเซียน โดยบอกว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาเซียนสามารถก้าวไปข้างหน้า เพราะถือเป็นกฎหมายสูงสุดที่ประเทศสมาชิกจะต้องปฎิบัติตาม การมีกฎบัตรจะทำให้อาเซียนมีฐานะเป็นนิติบุคคล และสิ่งที่ ดร.สุรินทร์…