Skip to main content
"It's your responsibility" หรือ "คุณนั่นแหละต้องรับผิดชอบ" เป็นคำพูดที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนพูดย้ำหลายครั้งต่อหน้าผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1 พันคนเมื่อบ่ายวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมมหิตลาธิเบศร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวทีมหกรรมภาคประชาชนอาเซียนครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 -22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวย้ำด้วยความภาคภูมิใจถึงการมีกฎบัตรอาเซียน โดยบอกว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาเซียนสามารถก้าวไปข้างหน้า เพราะถือเป็นกฎหมายสูงสุดที่ประเทศสมาชิกจะต้องปฎิบัติตาม การมีกฎบัตรจะทำให้อาเซียนมีฐานะเป็นนิติบุคคล และสิ่งที่ ดร.สุรินทร์ เน้นเรื่องความรับผิดชอบของประชาชนนั้นก็มาจากที่เขามองว่า อาเซียนโฉมใหม่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ดังนั้น ประชาชนจึงต้องเป็นหลักในการเข้ามาร่วมทำงานกับอาเซียน ช่วยกันผลักดันรัฐบาลของประเทศตัวเองให้ปฎิบัติให้เป็นไปตามกฎบัตรของอาเซียน

 

"อาเซียนมีพื้นที่ให้กับภาคประชาชนแล้ว ดังนั้นหากหลายๆ สิ่งไม่ได้ก้าวไปอย่างที่หวัง คงไม่ใช่เรื่องที่จะไปตำหนิรัฐบาล หรือผู้นำแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่พวกคุณประชาชนเองก็มีส่วนต้องรับผิดชอบ ที่จะเข้ามาทำงานร่วมกับอาเซียน คุณต้องเข้าไปผลักดันรัฐบาลของประเทศตัวเอง ...." ความตอนหนึ่งจากสุรินทร์ พิศสุวรรณ บนเวทีดังกล่าวพร้อมกับบอกด้วยว่า อย่าปล่อยให้เขาทำงานคนเดียว ประชาชนต้องมาร่วมกับเขาเพื่อทำงานนี้

ในฐานะของผู้ซึ่งเคยติดตามประเด็นเรื่องอาเซียนมาพอสมควร ตอนที่เห็นบรรดาผู้นำอาเซียนต่างภาคภูมิใจและฉลองความสำเร็จว่า กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้แล้วก็แอบพลอยยินดีไปด้วย คิดว่า ต่อไปนี้ประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียนอาจจะมีหลายอย่างที่ดีขึ้น อาเซียนจะเป็นหนึ่งเดียว โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้ก็คงจะดีขึ้น แต่พอมาศึกษาเข้าจริงก็พบว่า นอกจากเราจะได้ฟังคำใหม่ที่มาพร้อมกับกลไกใหม่ๆ ที่ตั้งขึ้นภายใต้กรอบ อาเซียน เช่น กฎบัตรอาเซียน หรือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียนแล้ว ก็ไม่พบว่าในทางปฎิบัติแล้ว อาเซียนจะตอบคำถามที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ว่าอย่างไร และ ตอบสนองต่อปัญหาที่มีอยู่ในภูมิภาคนี้ได้อย่างไร

 

ได้ไปนั่งฟังที่ดร.สุรินทร์ พูดแล้วก็ยืนยันได้ว่า ทักษะทางการพูด ในเชิงการทูตของเขายังใช้ได้ดี สำนวนโวหารก็เป็นเลิศเหมือนเดิมจนอดเคลิ้มตามไม่ได้ และเข้าใจได้ว่า การที่บอกว่า "ประชาชนต้องรับผิดชอบด้วย" นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการปัดภาระให้กับประชาชน แต่เป็นการกระตุ้น รวมทั้งให้กำลังใจให้ภาคประชาชนหันมาให้ความสำคัญ ให้ความสนใจที่จะใช้กลไกอาเซียนและให้ภาคประชาชนร่วมมือในการทำงานกับอาเซียนให้มากขึ้น

 

ทว่า ในขณะที่ฟังก็ได้คิดตามไปด้วย โดยไม่ได้ตั้งใจที่จะเห็นแย้งกับ ดร.สุรินทร์ แต่อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วประชาชนจะไปมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบได้อย่างไร ในเมื่อจริงๆ แล้ว "พื้นที่ของภาคประชาชนไม่มีจริง" ถึงดร.สุรินทร์จะบอกว่า ตอนนี้ "Space is open for peoples of ASEAN" หรือมีการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนแล้ว แต่คำถามก็คือ "อยู่ตรงไหนหรือ"

 

หากบอกว่า ก็กฎบัตรได้ระบุไว้ให้แล้วไงว่าประชาชนจะเป็นศูนย์กลาง แน่นอนในวัตถุประสงค์ที่ 13 ของกฎบัตรอาเซียนบอกว่า "ส่งเสริมการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง" แต่ขอโทษเถอะ หากดูกลไกการทำงานของอาเซียนแล้วก็เห็นว่า ในกลไกลการทำงานต่างๆ นั้นไม่มีภาคประชาชนอยู่เลย กลไกการทำงานทั่วไปตามแผนปฏิบัติการต่างๆ เป็นการผ่านกระบวนการของระบบราชการในแต่ละประเทศ แน่นอนรัฐสมาชิกแทบจะไม่มีการให้ข่าวสารของข้อตกลงกับอาเซียนสู่ภาคสาธารณะและการรับฟังความเห็นของประชาชนเกือบไม่เคยปรากฎ

 

เลขาธิการอาเซียนโน้มน้าวกระตุ้นผู้ฟังด้วยลีลาน่าเร้าใจว่า ต่อไปนี้แต่ละประเทศจะต้องแต่งตั้งผู้แทนถาวรให้ไปนั่งทำงานร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน ถ้าประเทศไหนที่ยังไม่ตั้ง นี่แหละบทบาทของภาคประชาชนที่มีหน้าที่ไปผลักดัน ไปทวงถามรัฐบาล ให้รัฐบาลให้แต่งตั้งผู้แทนถาวร แน่นอนนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่เนื่องจากการมีกฎบัตรอาเซียน ทว่า กระบวนเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนถาวรก็เป็นการดำเนินการโดยภาครัฐอยู่ดี เพราะผู้แทนถาวรนั้นคือตัวแทนของรัฐ รัฐบาลก็ต้องตั้งคนจากภาครัฐ และในกฎบัตรอาเซียนไม่ได้บอกเลยว่า ผู้แทนถาวรจะต้องมาจากภาคประชาชน หรือให้ประชาชนเลือกมา หรือหากคิดในแง่ดีว่า ในบางรัฐบาลอาจมีความก้าวหน้ายินยอมที่จะเลือกบุคคลที่ไม่ใช่ภาครัฐบาลให้เป็นผู้แทนถาวรประจำอาเซียน แต่ผู้แทนถาวรก็ทำงานภายใต้รัฐบาลนั้นๆ อยู่ดี ไม่ใช่ในนามประชาชนอาเซียน นี่คือส่วนที่อยู่ในโครงสร้างการทำงานของอาเซียนที่ยังหาไม่เจอว่า ประชาชนเป็นศูนย์กลางนั้น ที่ทางของภาคประชาชนอยู่ตรงไหนในกลไกอาเซียน

 

หากมองว่า การจัดเวทีภาคประชาชนนี่ไงที่เป็นการรับรองบทบาทของภาคประชาชน คำถามก็คือ เวทีภาคประชาชนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลนั้นเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน และให้ความสำคัญขนาดไหน ยกตัวอย่าง เวทีภาคประชาชนที่เพิ่งจัดกันไป เทียบกันได้หรือไม่กับการประชุมสุดยอดผู้นำที่ผ่านๆ มาและที่กำลังจะเกิดขึ้น การประชุมผู้นำนั้นจะต้องเกิดขึ้นในโรงแรมหรู มีอาหารชั้นเลิศแทบทุกมื้อ ดินเนอร์ เปิดแชมเปญ เดินทางด้วยเครื่องบินชั้นเฟิร์สคลาส นอกจากนั้นแล้วก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำ หรือ Summit ก็มีการประชุมอีกหลายระดับ ตั้งแต่ ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เป็นคณะทำงานชุดต่างๆ จนกระทั่งมาถึงระดับรัฐมนตรี มีเพื่อนนักข่าวผู้คร่ำหวอดในวงการและทำข่าวมาอาเซียนมานานเกิน 10 ปี ลองนั่งนับให้ดูเล่นๆ บอกว่า มีคณะทำงานงานในระดับเจ้าหน้าที่ชุดต่างๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะทำงาน เฉลี่ยแล้วปีละ 600 ครั้ง ที่ภาครัฐของแต่ละประเทศมาประชุมพูดคุยกันในนามของอาเซียน และการประชุมแต่ละครั้งก็หมายถึงการใช้จ่ายมากมายที่แน่นอนว่ามาจากภาษีประชาชนทั้งสิ้น หากเปลี่ยนมาเป็นงบประมาณให้ประชาชนได้นำมาดำเนินงานจะเป็นไปได้หรือไม่ จึงน่าจะเรียกว่าทำให้ภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วมกับอาเซียนได้มากขึ้น

 

สิ่งที่เห็นในการประชุมของภาคประชาชนที่เพิ่งจะผ่านไปกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะการประชุมภาคประชาชนเกิดขึ้นในพื้นที่เล็กๆ แคบๆ คล้ายแอบจัด เพราะการจัดงานเป็นไปแบบเงียบๆ อาหารการกินก็เป็นแบบสงบเสงี่ยมเจียมตนตามสไตล์ประชาชนที่ต้องอ่อนน้อมถ่อมตนเสมอ มีข้าวกล่อง กับข้าวสองอย่างให้กิน และมีอาหารว่างเล็กๆน้อย หรือส้มสักผล ซึ่งเป็นรูปแบบที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการประชุมภายใต้การจัดงานของภาครัฐบาล

 

จริงๆ แล้ว ถ้าให้ความสำคัญกับภาคประชาชนจริง ทำไมอาเซียนไม่สนับสนุนให้การประชุมภาคประชาชนนั้นอยู่ในระดับเดียวกันกับการประชุม summit รวมทั้งจัดให้ภาคประชาชนอยู่ร่วมในการประชุมผู้นำและมีวาระการประชุมอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่การประชุมคู่ขนาน แต่ต้องมีสถานะที่เท่าเทียมกัน หรือการประชุมหลักควรเป็นการประชุมภาคประชาชน โดยให้ผู้นำนั้นเข้ามาช้อปปิ้งปัญหาที่ภาคประชาชนมานำเสนอ เพื่อนำมาเป็นวาระในการทำงานของรัฐบาล ไม่ใช่ข้อเสนอของภาคประชาชนถูกมาวางไว้เป็นน้ำจิ้ม หรือเครื่องเคียงประจำโต๊ะอาหารเท่านั้น

 

แน่นอนว่า ในการจัดเวทีมหกรรมภาคประชาชนอาเซียนครั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศของไทยในฐานะประธานอาเซียนได้ให้งบประมาณมาด้วยส่วนหนึ่งซึ่งก็ไม่แน่ใจนักว่าจะเป็นเงินจำนวนเท่าไร แต่คาดว่า คงไม่มากเท่ากับที่ใช้จัดการประชุมผู้นำแน่ และคงไม่มีเงินมากพอที่จะสามารถจัดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริงได้รู้ว่า มีเวทีอาเซียนภาคประชาชนด้วย คงมีเฉพาะคนที่อยู่ในแวดวงเอ็นจีโอเท่านั้นที่รู้ว่ามีงานนี้เกิดขึ้น และแต่ละคนที่มาร่วมงานก็เดินทางกันมาเอง หาที่พักกันเอง เพื่อนำเสนอปัญหาที่เป็นของประชาชนแท้ๆมานำเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดผู้นำได้พิจารณา และก็คงไม่มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนกันมากเท่าที่ภาครัฐพบปะกันเป็นแน่ ซึ่งหากพูดว่าประชาชนเป็นศูนย์กลางจริงนั้นภาคประชาชนต้องยิ่งใหญ่กว่านี้

สุดท้าย เวทีภาคประชาชนคงไม่ได้ทำอะไรนอกเหนือไปจากการออกแถลงการณ์ นำเสนอผลจากการประชุม ส่วนที่ว่า อาเซียนจะนำไปเป็นประเด็นในการเจรจา หรือพิจารณาหรือไม่ ไม่อาจรับประกันได้

 

นอกจากนี้ จากการที่ดร. สุรินทร์ บอกว่า เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องออกมาผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการไปตามกฎบัตรอาเซียน ก็เกิดคำถามจากเวทีฯ เพิ่มเติมว่า แล้วในบางประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งพม่า ที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง จะให้ประชาชนพม่าทำอย่างไร อาเซียนจะนำความสงบสุข หรือความสมานฉันท์กลับคืนสู่พม่าได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ ดร. สุรินทร์ได้ใช้ทักษะทางการทูตในการตอบว่า ทุกประเด็นที่เป็นปัญหาจะถูกหยิบยกขึ้นมาบนโต๊ะเจรจา จากการที่มีกฎบัตรแล้ว แต่ละประเด็นที่เป็นกังวลจะต้องไม่เป็นความลับ และยกตัวอย่างที่อดีตประธานาธิบดี วาฮิด แห่งอินโดนีเซียได้ออกมาพูดถึงประเด็นอาเจะห์ เนื่องจากเป็นที่เคลือบแคลงของสมาชิก ทว่า กรณีการละเมิดสิทธินุษยชนที่เกิดขึ้นในพม่า ที่ทุกคนเป็นห่วงอยู่นั้น รัฐบาลพม่าจะยอมพูดหรือ?

 

การมีกฎบัตรอาเซียนไม่ได้เป็นคำตอบหรือไม่ได้รับประกันว่าประชาชนจะได้รับความสำคัญจริง และไม่ได้รับประกันว่าทุกประเทศจะต้องทำตามกฎบัตรอันนั้น เพราะในกฎบัตรเป็นเพียงแนวทางให้สมาชิกปฎิบัติเท่านั้น ทั้งนี้เพราะทั้ง 55 มาตราของกฎบัตรอาเซียนก็ไม่มีมาตราไหนเลยที่ระบุว่า ถ้าหากสมาชิกไม่ปฎิบัติตามกฎบัติอาเซียนแล้วจะต้องถูกลงโทษอย่างไร กล่าวคือไม่มีบทลงโทษใดๆ ดังนั้น จึงเป็นไปตามความสมัครใจ หรือบางคนเรียกว่า สัญญาสุภาพบุรุษ ที่ถ้าใครไม่เป็นสุภาพบุรุษก็ไม่มีใครว่าอะไร ปล่อยให้ขายหน้าเอาเอง (ประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกว่าวิธีนี้ไม่ได้ผล หรือภาษาสมัยใหม่เรียกว่า "ไม่เวิร์ก")

 

นอกจากนั้นแล้ว อาเซียนยังคงใช้ระบบ "ฉันทามติ" ที่หากมีปัญหาต้องตกลงร่วมกัน หมายความว่าสมาชิกทั้ง 10 ประเทศต้องเห็นด้วยกันหมด อาเซียนคงไม่สามารถก้าวไปไหนได้ เพราะแต่ละประเทศนั้นต่างมีวาระของตัวเอง ดังนั้นหากมีแค่ประเทศเดียวคัดค้านก็หมายความว่า ประเด็นนั้นๆ ต้องตกไป

 

อาจจะเป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงภาคประชาสังคม โดยที่กฎบัตรอาเซียนได้ยอมรับองค์กรภาคประชาสังคม แต่ดูในรายชื่อแล้วกลับพบว่าน่าสงสัย เช่นการยอมรับสมาพันธ์นายจ้าง แต่กลับไม่มีองค์กรแรงงานอยู่ในรายชื่อ มีคำถามเช่นนี้ไปยังเลขาธิการอาเซียนเช่นกัน ทว่า คำตอบคือ ถึงไม่มีชื่ออยู่ในนี้คุณก็ทำงานได้ หรือคุณอยากมีชื่ออยู่ในนี้จริงหรือ คำถามนี้ใช่เป็นคำถามที่องค์กรภาคประชาชนต้องถามกับตัวเองและถามไปยังอาเซียนด้วยว่าถึงจะมีชื่ออยู่ในนั้น แต่คุณสามารถออกเสียงหรือมีบทบาทได้แค่ไหน การประชุมในวาระต่างๆ ยังคงถูกครอบงำโดยรัฐบาลแต่ละประเทศอยู่ดี

 

แน่นอนว่ามีเวทีให้พูดดีกว่าไม่มี อย่างเช่น เวทีภาคประชาชนที่ผ่านมานี้ ตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ กลุ่มผู้พิการทางหู ทางสายตา นักศึกษา แรงงานข้ามชาติ กลุ่มเยาวชน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี เกษตรกร ชาวนา ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และอื่นๆอีกมาก ต่างได้โอกาสมาหยิบยกประเด็นที่เป็นปัญหาของประชาชนจริงๆ แม้รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย กษิต ภิรมย์ ในฐานะประธานอาเซียน และ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่เป็นเลขาธิการอาเซียนไปนั่งรับฟังปัญหาแล้วบอกว่าพร้อมจะนำปัญหาไปสู่บนโต๊ะ แต่ก็ยังอีกหลายประเด็นที่ไม่ได้ถูกบรรจุในวาระที่เป็นทางการของอาเซียน เช่น การเรียกร้องให้ยกเลิกการสร้างเขื่อนในพม่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ประเด็นโรฮิงญา เป็นต้น

 

ในขณะที่บางประเด็น เช่น แรงงานข้ามชาติ ซึ่งประมาณการว่ามีจำนวนประมาณเกือบ 6 ล้านคนในประเทศอาเซียนนั้น อาเซียนได้ออกปฎิญญาอาเซียนที่ว่าด้วยเรื่องของแรงงานข้ามชาติ หรือที่รู้จักกันในนามของปฎิญญาเซบูขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้ยืนอยู่บนฐานของความเป็นจริงและไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติที่แท้จริงได้ เพราะในปฎิญญาเป็นการคุ้มครองเฉพาะแรงงานที่เดินทางเข้าประเทศโดยมีเอกสารรับรองจากประเทศต้นทางเท่านั้น แต่เพิกเฉยต่อแรงงานที่ไม่มีเอกสารที่มีอยู่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของตัวเลขแรงงานย้ายถิ่นในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ พิจารณาจากตัวเลขแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาในประเทศไทย ที่มีอยู่ประมาณกว่า 2 ล้านคน หรือแรงงานอินโดนีเซียในมาเลเซียจำนวนมากที่เป็นแรงงานที่ไม่มีเอกสาร ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ว่าจะมีเอกสารหรือไม่ ต่างก็เป็นประชาชนอาเซียนเช่นกัน และการเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่มีเอกสารนั้นส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหาของแต่ละประเทศที่ไม่ยอมรับและออกเอกสารรับรองพวกเขาเหล่านั้น ประเด็นเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนชาวอาเซียนจริงๆ ทว่า การมีกฎบัตรอาเซียนไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาให้พวกเขาได้จริงๆ มีแต่เสียงจากรัฐบาลประเทศต่างๆ ตอบอึกๆ อักๆ ว่า มันก็คงไม่เสรีขนาดว่าใครจะเข้าไปประเทศไหนก็ได้

 

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว กฎบัตรอาเซียนจะมีคำขวัญว่า "One Caring and Sharing Community" ไปเพื่ออะไร ขณะที่มีการเปิดเสรีทางด้านการค้าและบริการเพื่อให้สินค้าเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก แต่ประชาชนที่เป็นแรงงานผลิตสินค้าและใช้บริการนั้นกลับไม่สามารถเดินทางเลื่อนไหลไปได้

 

ดังนั้น "อาเซียนเป็นหนึ่งเดียว ประชาชนเป็นศูนย์กลาง" คงเป็นเพียงคำที่ใส่เพิ่มเข้ามาให้ดูดี หรือเรียกเล่นๆ ว่าเป็น "กิมมิค" เท่านั้น และเมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ แล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าสิ่งที่คุณสุรินทร์ บอกว่า It's your responsibility นั้นก็เห็นจะจริง เพราะสามารถตีความได้ว่า "ประชาชนชาวอาเซียนทั้งหลาย คุณรับผิดชอบตัวเองเถอะ เพราะอาเซียนช่วยอะไรคุณไม่ได้หรอก"

 

บล็อกของ สุทธิดา มะลิแก้ว

สุทธิดา มะลิแก้ว
1 ทั้งๆที่มีทะเบียนบ้านและอาศัยอยู่ที่นนทบุรีมามากกว่า 10 ปี แล้ว และก่อนหน้านั้นก็อยู่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น อุบลฯ ชลบุรี และอื่นๆอีกหลายแห่ง แต่เวลาที่มีใครก็ตามมาถามว่าเป็นคนที่ไหน (ไม่ได้ต้องการคำตอบแบบมุขตลกว่า ที่ไหนๆ ก็เป็นคนนะ) ผู้เขียนก็ตอบว่า “เป็นคนปัตตานี” แม้ว่าจริงๆ แล้วไปปัตตานีไม่เคยเกิน 7 วันต่อปีเลยสักครั้ง และบางปีก็ไม่ได้ไปเลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าการใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีค่อนข้างน้อย มาถึงวันนี้ที่แม้มีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ในยามที่เดินทางไปปัตตานี ก็จะเรียกว่า “กลับบ้าน” อีกเช่นกัน เรื่องการบอกว่าเป็นคนที่ไหนของไทยนั้น เชื่อว่าคนอื่นๆ…
สุทธิดา มะลิแก้ว
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า โดยส่วนตัวแล้ว เห็นด้วยกับเรื่อง การไม่ขับรถหลังจากได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือที่ที่มีการรณรงค์ที่เรียกว่า “เมาไม่ขับ” และเห็นด้วยกับการรณรงค์ไม่ให้ดื่มเหล้าในวัด หรือศาสนสถานต่างๆ และยังเห็นด้วยอีกกับการรณรงค์ให้คนลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลงบ้าง เพื่อเห็นแก่สุขภาพและเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาล อันเนื่องมาจากโรคหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดื่มสุรา รวมทั้ง การเชิญชวนให้งดดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษา สำหรับประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชน เพื่อเป็นการถือศีลถือเป็นการสร้างมงคลให้กับชีวิตก็เป็นเรื่องที่เห็นด้วยเช่นกัน ทว่า…
สุทธิดา มะลิแก้ว
นับเป็นความสะเทือนใจอย่างยิ่งของคนทั่วโลกกับภาพความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวพม่า อันเนื่องมาจากพายุไซโคลนนาร์กิส ที่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตนั้นหลังจากเกิดพายุนั้นแม้ผ่านมาแล้วหลายวันก็ยังไม่นิ่ง องค์กรกาชาดสากลคาดว่าอยู่ระหว่าง 60,000 – 120,000 คน และมีผู้ได้รับผลกระทบสูงถึง 1.6-2.5 ล้านคน โดยคนเหล่านี้จะต้องเผชิญกับภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม ที่อยู่อาศัย และตลอดจนปัญหาสุขภาพที่จะตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้  ท่ามกลางภาพสะเทือนใจเหล่านั้น นานาประเทศได้พยายามที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยมาตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งวันนี้ก็ยังมีบรรดาหน่วยบรรเทาทุกข์ทั้งหลาย…
สุทธิดา มะลิแก้ว
     1ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ข่าว คงจะรับรู้กันแล้วถึงสถานการณ์ในพม่าที่บานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ  รัฐบาล ทหารพม่าออกมาปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ ที่ปกติแล้วเป็นที่เคารพยิ่งของ ประชาชนชาวพม่าซึ่งหมายรวมถึงบรรดาผู้คนในรัฐบาลด้วย  แต่การปราบปรามผู้ชุมนุมในครั้งนี้นั้นไม่ได้ทำให้ผู้คนหวาดกลัวไม่กล้าชุมนุมกันต่อ กลับยิ่งทำให้เหตุการณ์ในพม่าทวีความเลวร้าย และรุนแรงหนักขึ้นไปอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีประเด็นให้ขบคิดต่อได้หลายประการทีเดียว เริ่มตั้งแต่ว่าทำไมชาวพม่านับตั้งแต่ เดือนสิงหาคม ปี 1988 เป็นต้นมา หรือที่ เรียกกันว่า เหตุการณ์ 8888…