Skip to main content

การย้ายถิ่นไม่ได้เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติทางประวัติศาสตร์แต่เป็นมิติของการพัฒนาที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน” ตอนหนึ่งในรายงานการพัฒนามนุษย์ปี 2552 (Human Development Report 2009) จัดทำขึ้นโดยโครงการการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Programme –UNDP) ที่เพิ่งจะเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้

 

ในรายงานดังกล่าวมีข้อสรุปและข้อค้นพบที่น่าสนใจอยู่บางประการ โดยมีประการหนึ่งบอกว่า การย้ายถิ่นนั้นมีศักยภาพที่จะส่งเสริมการพัฒนาคนทั้งในกลุ่มคนย้ายถิ่นเอง คนที่ยังอยู่ในชุมชนเดิมที่จากมา และคนส่วนใหญ่ในชุมชนปลายทาง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะต้องข้ามพ้นข้อท้าทายแนวคิดที่ผิดๆ (Misconceptions) เรื่องการย้ายถิ่นไปให้ได้ก่อน

 

ประเด็นมุมมองที่ผิดๆ ต่อเรื่องการย้ายถิ่นนั้น รายงานฉบับดังกล่าวได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ส่วนใหญ่มักเชื่อว่า การย้ายถิ่นมักจะเป็นการย้ายจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว แต่ความจริงแล้ว ปัจจุบัน มีคนไม่ถึงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ย้ายจากประเทศกำลังพัฒนาไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว กล่าวคือ ในโลกนี้มีประชากรจำนวน 740 ล้านคนที่ย้ายถิ่นในประเทศ 200 ล้านคนย้ายถิ่นข้ามประเทศและในนี้มีเพียง 70 ล้านคนเท่านั้นที่ย้ายจากประเทศที่กำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว

 

นอกจากนั้นยังมีความเชื่อว่า คนย้ายถิ่นจะเข้ามาแย่งงานคนในท้องถิ่น เข้ามาเป็นภาระในเรื่องของบริการสาธารณะ บางคนก็เห็นว่า การหลั่งไหลเข้ามาของคนย้ายถิ่นจะนำไปสู่การเกิดอาชญากรรมสูงขึ้น เพิ่มภาระให้กับท้องถิ่นในเรื่องของการบริการสาธารณะ และบางคนกลัวว่าจะสูญเสียวัฒนธรรม หรือสังคมไป แต่ข้อกังวลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกินเหตุ เพราะจากการวิจัยพบว่า คนย้ายถิ่นในบางโอกาสอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อแรงงานท้องถิ่นที่อยู่ในระดับเดียวกันอยู่บ้างแต่จริงๆ แล้วน้อยมาก หรือในบางครั้งก็ไม่มีเลยด้วยซ้ำ ซึ่งรายงานนี้ได้แย้งว่า จริงๆแล้วแรงงานย้ายถิ่นนั้นช่วยเพิ่มผลทางเศรษฐกิจโดยที่ท้องถิ่นนั้นจ่ายน้อยที่สุดจนถึงขั้นไม่เสียอะไรเลย แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจว่าแนวคิดข้างต้นนั้นจะมีต่อคนย้ายถิ่นที่เข้ามาเป็นแรงงานระดับล่าง (Low Skilled Labour)

 

ในรายงานดังกล่าวยืนยันว่า ความกลัวหรือข้อสังเกตข้างต้นนั้นสวนทางกับความเป็นจริง เพราะคนย้ายถิ่นได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะการเข้ามานั้นเท่ากับมีการเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ ไม่ได้แย่งงานคนในพื้นที่ทำ

 

จากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ของผู้ย้ายถิ่นจะมีรายได้มากขึ้น มีโอกาสที่จะให้ลูกหลานได้เข้าถึงการศึกษาและสุขภาพที่ดีขึ้น และจากการสำรวจพบว่าคนย้ายถิ่นส่วนใหญ่มีความสุขในการอยู่ในชุมชนปลายทางที่ย้ายเข้าไปอยู่มากกว่าการอยู่ในชุมชนเดิม แม้ว่าจะพบกับอุปสรรคหรือจะต้องมีการปรับตัวเนื่องจากการเคลื่อนย้ายก็ตาม แต่เมื่อสามารถปรับตัวและลงหลักปักฐานได้แล้วคนย้ายถิ่นนั้นจะเข้าร่วมทำกิจกรรม เช่น การรวมกลุ่มหรือกิจกรรมทางศาสนามากกว่าคนท้องถิ่นด้วยซ้ำ

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้หรือเสียจากการเคลื่อนย้ายในแต่ละคนหรือกลุ่มคนนั้นอาจไม่เท่ากัน เช่น ผู้ลี้ภัย ที่ประมาณการว่าทั่วโลกในขณะนี้มีผู้ลี้ภัยอยู่ประมาณ 14 ล้านคนที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้กับประเทศที่ตนเองหนีมา และอยู่ในค่ายเพื่อรอที่จะกลับไปยังประเทศของตนเอง แต่ก็มีประมาณ 500,000 คนต่อปีที่ได้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในขณะที่อีกกว่า 26 ล้านคนที่เป็นคนพลัดถิ่นภายในประเทศที่แม้ไม่ได้ข้ามพรมแดนออกนอกประเทศไปแต่ก็ต้องพบกับความลำบากอันเนื่องมาจากการสู้รบภายในหรือจากภัยธรรมชาติ และกลุ่มที่มีความเปราะบางอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มวัยรุ่นหญิงที่ต้องตกอยู่ภายใต้การค้ามนุษย์ ที่ถูกล่อลวงว่าจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ทว่าการเคลื่อนย้ายของคนกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นอย่างเสรีแต่เป็นการบังคับหลายครั้งก็พ่วงด้วยความรุนแรงและการละเมิดทางเพศ

 

รายงานฉบับดังกล่าวชี้ว่า โดยปกติแล้วหากคนเคลื่อนย้ายตามความปรารถนาของตนเองแล้วก็จะไปยังที่ดีกว่า โดยระบุว่า กว่า 3 ใน 4 ของคนย้ายถิ่นข้ามชาตินั้นจะย้ายไปยังที่ๆ มีระดับการพัฒนาคนที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ในประเทศตัวเอง ตัวอย่างเช่นในประเทศไทยนั้น มีจำนวนปีของการศึกษาภาคบังคับเป็น 3 เท่าและมีรายได้ขั้นต่ำมากเป็น 8 เท่าของประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า แต่คนเหล่านี้ก็จะพบกับข้อจำกัดหลายๆ ด้านทั้งเรื่องของนโยบายที่ปิดกั้นการเข้าเมือง หรือเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะทำให้การเคลื่อนย้ายเป็นไปได้ ดังนั้น จริงๆแล้วคนในประเทศที่ยากจนมากๆ นั้นโอกาสการย้ายถิ่นน้อยลงไปด้วย ยกตัวอย่าง ชาวอัฟริกันที่มีน้อยกว่า1 % ที่ย้ายไปอยู่ในยุโรป ทั้งนี้ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และข้อมูลร่วมสมัยจะเห็นได้ว่า การย้ายถิ่นกับการพัฒนานั้นเป็นเรื่องสอดคล้องกัน เช่น อัตราเฉลี่ยของการย้ายถิ่นในประเทศที่มีการพัฒนาคนต่ำนั้นจะอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่า 4 % ในขณะที่ อัตราการย้ายถิ่นในประเทศที่มีระดับการพัฒนาคนสูงอยู่ในอัตราเฉลี่ย 8 %

 

น่าแปลกใจที่ว่า ตัวเลขประชากรที่ย้ายถิ่นตั้งแต่ 50 ปีที่แล้วคิดเป็น 3 % ของประชากรโลก แต่มาถึงวันนี้ตัวเลขก็ยังเท่าเดิม ทั้งๆ ที่หากดูตามหลักประชากรศาสตร์และการอพยพเคลื่อนย้ายน่าจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากตัวเลขผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วในขณะที่ประชากรหนุ่มสาวนั้นเพิ่มมากขึ้นในประเทศกำลังพัฒน เท่ากับว่าน่าจะมีความต้องการแรงงานย้ายถิ่นเพราะมีการจ้างงานสูง บวกกับค่าสื่อสารและค่าขนส่งก็ถูกลง น่าจะเป็นการทำให้มีการเคลื่อนย้ายสูงขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลได้ตั้งกำแพงที่ทำให้การเคลื่อนย้ายเป็นไปได้ยากขึ้น และกำแพงหรือสิ่งที่ขัดขวางการย้ายถิ่นนั้นส่วนใหญ่มักขัดขวางคนที่เป็นแรงงานฝีมือขั้นต่ำ ทั้งๆ ที่ในประเทศร่ำรวยนั้นต้องการแรงงาน นโยบายการเข้าเมืองส่วนใหญ่จะยินดีต้อนรับคนที่มีการศึกษาดีมากกว่า อย่างเช่นการให้นักศึกษาที่เรียนจบแล้วสามารถอยู่ต่อได้ หรือจ้างแพทย์ อาจารย์พิเศษจากต่างประเทศ เป็นต้น ในขณะที่หากเป็นแรงงานที่ความรู้น้อยกว่าก็มักจะให้มีการหมุนเวียนบ่อยๆ หรือบางครั้งก็ปฎิบัติต่อแรงงานที่เป็นแรงงานชั่วคราวหรือที่เป็นแรงงานที่เข้าเมืองโดยวิธีไม่ปกติ (irregular/undocumented migrants) เหมือนดั่งน้ำประปาจากท่อ ที่สามารถจะเปิดหรือปิดก๊อกก็ได้

 

โดยข้อจำกัดต่างๆ นั้นทำให้คนบางกลุ่มจึงต้องกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย ประมาณการว่าในโลกนี้มีคนประมาณ 50 ล้านคนที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศได้โดยไม่มีเอกสารทางกฎหมาย (irregular/undocumented migrants) ซึ่งมีบางประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกาและไทย ได้รองรับคนทำงานที่ไม่มีเอกสารทางการรับรองอยู่ในประเทศเป็นจำนวนมากซึ่งคนงานเหล่านี้อาจจะเข้ามาเนื่องจากว่าได้รับงานที่ดีกว่าหรือค่าจ้างที่มากกว่าประเทศตัวเอง แต่กลุ่มนี้ก็มีโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ ของประเทศปลายทางน้อยกว่าและเสี่ยงต่อการถูกจับและส่งกลับ

 

นอกเหนือจากการสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศปลายทางแล้ว ประเทศต้นทางก็ได้รับประโยชน์จากการส่งเงินกลับบ้านของแรงงานที่ย้ายถิ่นมา ซึ่งส่งผลให้คนที่อยู่สามารถเข้าถึงการศึกษา หรือ บริการด้านสุขภาพมากขึ้น นอกจากนั้นยังได้รับประโยชน์ในทางอื่นๆ เช่น ได้รับแนวคิดและมุมมองใหม่ๆ จากต่างประเทศ หรือผู้หญิงอาจมีอำนาจหรือเสรีภาพมากขึ้น

 

ดังนั้น การย้ายถิ่นจึงเป็นเส้นทางที่ส่งเสริมความพยายามที่จะขจัดความยากจนในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ และช่วยปรับปรุงเรื่องการพัฒนาคนได้ดีที่สุด และการพัฒนาคนนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์อีกมากมาย ดังนั้น ในรายงานฉบับดังกล่าวจึงได้เสนอแนวที่ควรปฎิบัติเพื่อให้สามารถพัฒนาคนได้มากขึ้นก็คือการลดอุปสรรคในการเคลื่อนย้าย และปรับปรุงการปฎิบัติต่อคนที่เคลื่อนย้าย ทั้งนี้ไม่เพียงเฉพาะประเทศปลายทางเท่านั้นแต่รวมในประเทศต้นทางด้วย โดยเสนอแนวทางในการปฎิรูปวิธีคิดและปฎิบัติ 6 ประการคือ

  • เปิดกว้างช่องทางการเข้าเมืองที่มีอยู่แล้วเพื่อให้คนสามารถเคลื่อนย้ายได้มากขึ้น

  • รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของคนย้ายถิ่น ลดค่าใช้จ่ายในการจัดการเพื่อการย้ายถิ่น

  • หาผลลัพท์ที่เป็นประโยชน์ที่ชุมชนปลายทาง ชุมชนเดิมที่จากมาและตัวผู้ย้ายถิ่นเองจะได้รับ

  • ทำให้การเดินทางเคลื่อนย้ายในประเทศเป็นไปอย่างสะดวก

  • นำเอาเรื่องการย้ายถิ่นเข้าไปอยู่ในยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ

 

ในรายงานสรุปว่า ทั้งหมดนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาคนได้ แต่ในทางปฎิบัติจริงนั้นเชื่อว่าข้อเสนอเหล่านี้อาจจะยังอยู่ในอุดมคติอย่างมาก แต่สิ่งที่ทำได้ในเบื้องแรกก็คือ สถานการณ์ของคนย้ายถิ่นในประเทศปลายทางอาจจะดีขึ้นหากคนในประเทศปลายทางนั้นสามารถลบแนวคิดที่ผิดๆ ดังกล่าวข้างต้นได้

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกประเด็นที่ควรคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของการย้ายถิ่นก็คือ การเคลื่อนย้ายของมนุษย์นั้น แน่นอนว่ามีผลกระทบอย่างมากต่อการเพิ่มรายได้ การเข้าถึงการศึกษา และบริการด้านสุขภาพที่ดีขึ้น แต่คุณค่าของการย้ายถิ่นที่มากกว่านั้นก็คือ การที่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะอยู่ที่ไหนซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของ “เสรีภาพของมนุษย์”

 

ที่มา: Mekong Review www.indochinapublishing.com

 

 

บล็อกของ สุทธิดา มะลิแก้ว

สุทธิดา มะลิแก้ว
1 ทั้งๆที่มีทะเบียนบ้านและอาศัยอยู่ที่นนทบุรีมามากกว่า 10 ปี แล้ว และก่อนหน้านั้นก็อยู่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น อุบลฯ ชลบุรี และอื่นๆอีกหลายแห่ง แต่เวลาที่มีใครก็ตามมาถามว่าเป็นคนที่ไหน (ไม่ได้ต้องการคำตอบแบบมุขตลกว่า ที่ไหนๆ ก็เป็นคนนะ) ผู้เขียนก็ตอบว่า “เป็นคนปัตตานี” แม้ว่าจริงๆ แล้วไปปัตตานีไม่เคยเกิน 7 วันต่อปีเลยสักครั้ง และบางปีก็ไม่ได้ไปเลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าการใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีค่อนข้างน้อย มาถึงวันนี้ที่แม้มีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ในยามที่เดินทางไปปัตตานี ก็จะเรียกว่า “กลับบ้าน” อีกเช่นกัน เรื่องการบอกว่าเป็นคนที่ไหนของไทยนั้น เชื่อว่าคนอื่นๆ…
สุทธิดา มะลิแก้ว
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า โดยส่วนตัวแล้ว เห็นด้วยกับเรื่อง การไม่ขับรถหลังจากได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือที่ที่มีการรณรงค์ที่เรียกว่า “เมาไม่ขับ” และเห็นด้วยกับการรณรงค์ไม่ให้ดื่มเหล้าในวัด หรือศาสนสถานต่างๆ และยังเห็นด้วยอีกกับการรณรงค์ให้คนลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลงบ้าง เพื่อเห็นแก่สุขภาพและเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาล อันเนื่องมาจากโรคหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดื่มสุรา รวมทั้ง การเชิญชวนให้งดดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษา สำหรับประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชน เพื่อเป็นการถือศีลถือเป็นการสร้างมงคลให้กับชีวิตก็เป็นเรื่องที่เห็นด้วยเช่นกัน ทว่า…
สุทธิดา มะลิแก้ว
นับเป็นความสะเทือนใจอย่างยิ่งของคนทั่วโลกกับภาพความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวพม่า อันเนื่องมาจากพายุไซโคลนนาร์กิส ที่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตนั้นหลังจากเกิดพายุนั้นแม้ผ่านมาแล้วหลายวันก็ยังไม่นิ่ง องค์กรกาชาดสากลคาดว่าอยู่ระหว่าง 60,000 – 120,000 คน และมีผู้ได้รับผลกระทบสูงถึง 1.6-2.5 ล้านคน โดยคนเหล่านี้จะต้องเผชิญกับภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม ที่อยู่อาศัย และตลอดจนปัญหาสุขภาพที่จะตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้  ท่ามกลางภาพสะเทือนใจเหล่านั้น นานาประเทศได้พยายามที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยมาตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งวันนี้ก็ยังมีบรรดาหน่วยบรรเทาทุกข์ทั้งหลาย…
สุทธิดา มะลิแก้ว
     1ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ข่าว คงจะรับรู้กันแล้วถึงสถานการณ์ในพม่าที่บานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ  รัฐบาล ทหารพม่าออกมาปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ ที่ปกติแล้วเป็นที่เคารพยิ่งของ ประชาชนชาวพม่าซึ่งหมายรวมถึงบรรดาผู้คนในรัฐบาลด้วย  แต่การปราบปรามผู้ชุมนุมในครั้งนี้นั้นไม่ได้ทำให้ผู้คนหวาดกลัวไม่กล้าชุมนุมกันต่อ กลับยิ่งทำให้เหตุการณ์ในพม่าทวีความเลวร้าย และรุนแรงหนักขึ้นไปอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีประเด็นให้ขบคิดต่อได้หลายประการทีเดียว เริ่มตั้งแต่ว่าทำไมชาวพม่านับตั้งแต่ เดือนสิงหาคม ปี 1988 เป็นต้นมา หรือที่ เรียกกันว่า เหตุการณ์ 8888…