Skip to main content

 

เป็นเวลานานหลายสิบปีที่พื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตรซึ่งยังไม่มีการปักปันเขตแดนที่ชัดเจนนั้นไม่ได้ถูกให้ความสนใจ ประชาชนที่อาศัยอยู่ที่นั่น แม้ต่างตอบตัวเองได้ว่าตัวเองเป็นพลเมืองของชาติใดหากต้องติดต่อกับทางราชการแต่ก็อยู่ร่วมกันด้วยดี ถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกันและทำมาหากินร่วมกันมายาวนาน การเดินข้ามไปข้ามมาในบริเวณนั้นก็มิได้เป็นปัญหา มิได้คิดว่าใครจะเข้ามารุกล้ำดินแดนใคร และในการใช้ชีวิตนั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข ทว่า บัดนี้มาเกิดกรณีพิพาทอันเนื่องมาจากการอ้างสิทธิ์บนพื้นที่นี้เกิดขึ้นจากรัฐบาลทั้งสองประเทศและยังไม่อาจแน่ใจว่าข้อพิพาทนี้จะยุติลงได้เมื่อใด ที่น่าเศร้าคือปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่นั้นไม่ได้ถูกสร้างโดยคนในพื้นที่และคนในพื้นที่เองไม่ได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา>

ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หากพูดด้วยใจเป็นธรรมแล้วสามารถเรียกได้ว่า ขิงก็ราข่าก็แรงทั้งสองฝ่าย กล่าวคือทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างยึดจุดยืนของตนเองโดยไม่ได้เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ปัญหาถูกโยงไปด้วยเรื่องทางการเมืองของทั้งสองประเทศ เริ่มตั้งแต่ที่นายกรัฐมนตรีฮุน เซ็น ของกัมพูชาที่ต้องการแสดงแสนยานุภาพให้เทียบเท่ากษัตริย์สีหนุ ผู้เคยสามารถทำให้ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้การครอบครองของกัมพูชาได้สำเร็จ โดยฮุน เซ็นดำเนินการต่อด้วยการพยายามนำปราสาทพระวิหารไปจดทะเบียนเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว แม้ว่าพื้นที่รอบๆปราสาทประวิหารนั้นก็ยังไม่ได้รับการปักปันเขตแดนกันอย่างชัดเจน โดยการบริหารจัดการมรดกโลกนั้นจะต้องหมายรวมถึงพื้นที่รอบๆ ปราสาทพระวิหารด้วย จึงเป็นเหตุว่าไทยไม่สามารถให้กัมพูชาบริหารจัดการฝ่ายเดียวได้ เพราะยืนยันว่าพื้นที่บริเวณนั้นเป็นอาณาเขตของไทย

การเจรจาภายใต้ข้อตกลงระดับทวิภาคีจึงเกิดขึ้น ทว่า ในขณะเดียวกันฝ่ายไทยเอง ก็มีกลุ่มการเมืองที่เชื่อว่าการเจรจาและข้อตกลงระหว่างสองประเทศที่รู้จักกันดีในชื่อย่อว่า  MOU 43  นั้นฝ่ายไทยจะเสียเปรียบและอาจต้องเสียพื้นที่ทับซ้อนนั้นให้กับกัมพูชาไปทั้งหมด กลุ่มการเมืองกลุ่มนี้จึงสร้างกระแสรักชาติโดยอ้างวาทกรรม “ไม่ยอมเสียดินแดนแม้ตารางนิ้วเดียว” และใครก็ตามที่ทำให้เสียดินแดนก็กลายเป็น “คนขายชาติ” ไม่สมควรมีหน้าอยู่ในประเทศนี้ฐานที่ทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตย ฝ่ายรัฐบาลเอง เพื่อรักษาสถานภาพทางการเมืองและเพื่อแสดงให้เห็นรัฐบาลชุดปัจจุบันนั้นมีศักยภาพจึงไปติดกับดักวาทกรรมดังกล่าวโดยย้ำว่า “ไม่ยอมทำให้เราต้องเสียดินแดนเด็ดขาด” จึงทำให้การเจรจาในแต่ละครั้งล้มเหลวมาโดยตลอด เพราะเป้าหมายที่วางไว้นั้นอยู่คนละจุดกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วดินแดนของใครอยู่ตรงไหนกันแน่ก็ยังไม่แน่ชัดเพราะต่างก็รู้กันว่าการปักปันเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ ครั้นจะอ้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็คงยิ่งจะสับสนว่าจะให้อ้างไปถึงยุคไหน พ.ศ.ใด และต่างฝ่ายก็ถือหลักฐานทางประวัติศาสตร์คนละชุดกันในการเจรจา

ความตึงเครียดเกิดขึ้นหนักจนถึงขั้นต้องใช้กำลังทหาร ที่ฝ่ายไทยนั้นใช้คำว่า “การปะทะตามแนวชายแดน” เพื่อให้เห็นว่านี่เป็นเรื่องการกระทบกระทั่งกันเพียงเล้กน้อย แต่กัมพูชายกระดับโดยใช้คำว่า “เป็นสงครามระหว่างไทยกับกัมพูชา”  ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นว่าการจัดการกันเองโดยการเจรจานั้นเป็นไปไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยกองกำลังสหประชาชาติเข้ามาดูแลพื้นที่เพื่อความสงบสุขของประชาชนในพื้นที่ และที่เหนือกว่านั้นสิ่งที่รับรู้กันภายในก็คือ เป็นการเสริมบารมีให้กับบุตรชายของนายกรัฐมนตรีฮุน เซ็นเองที่ผู้เป็นพ่อเพิ่งแต่งตั้งให้ไปเป็นผู้บัญชาการทหาร โดยการก้าวข้ามลำดับอาวุโสของอีกหลายๆ คนไป การรบก็จะถือเป็นการประกาศศักดาได้ระดับหนึ่ง

ทั้งนี้  ในการแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนนั้นเกิดมาแล้วทั่วโลกและแม้กระทั่งของไทยเองกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่การแก้ไขปัญหานั้นยุติได้โดยไม่มีการรบด้วยอาวุธ เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่า ในโลกยุคใหม่นั้นการสู้รบกันจนสามารถไปยึดดินแดนกันได้นั้นเป็นไปได้น้อยมาก การสู้รบจะนำมาซึ่งการสูญเสียของทั้งสองฝ่าย ทั้งในเรื่องของงบประมาณ ทรัพยากร กำลังคน ความเสียหายทางเศรษฐกิจและที่สำคัญที่สุดคือ ภาวะทางจิตใจของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สู้รบ ที่อาจต้องใช้เวลานานในการเยียวยา

ดังนั้น การแก้ปัญหาในแนวทางอย่างประเทศในยุโรปหลังสงครามโลกนั้นก็มีหลายประเทศที่มีปัญหาเรื่องเขตแดนกันอยู่ อย่างเช่น เยอรมันกับฝรั่งเศสที่สู้รบกันมายาวนานเช่นกัน แต่ในที่สุดการเกิดขึ้นของสหภาพยุโรปก้าวพ้นเรื่องปัญหาทางการเมือง เน้นให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจ หาทางสร้างความมั่งคั่งร่วมกัน ทำการค้าร่วมกัน เมื่อมีผลประโยชน์ร่วมกัน สงครามก็ไม่เกิดอีก ในขณะเดียวกันกรณีปัญหาไทยกับมาเลเซียในอดีตก็เคยใช้การแลกที่ศาลเจ้ากับมัสยิดซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่ ประชาชนทั้งสองฝั่งก็มีความสุขดี และสามารถปักปันเขตแดนกันได้ชัดเจนกันไปว่าส่วนไหนเป็นของใคร  หรือในยุคใหม่ปัจจุบันที่มีพื้นที่ทับซ้อนกันเมื่อมองเห็นประโยชน์ร่วมกันเป็นที่ตั้งก็ใช้วิธีการจัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย (Thailand-Malaysia Committee on Joint Development Strategy for border areas–JDS) มาดูแลร่วมกัน

ในกรณีพื้นที่พระวิหารนั้นหากยืนอยู่ในความเป็นปัจจุบันและมุ่งไปยังอนาคตโดยมองเอาประโยชน์ระยะยาวของทั้งสองประเทศ และความสงบสุขของประชาชนเป็นที่ตั้งแล้ว แนวทางที่จะทำได้นั้นก็เป็นได้ทั้ง 3 แนวทาง ในแนวทางของสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งปัจจุบันเราก็มี ชุมชน ASEAN  ที่ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าภายในปี 2015 หรือ อีก 4 ปีต่อจากนี้ไปเราก็จะเป็นชุมชนเดียวกัน “One ASEAN, One Community”  ที่ประชาชนชาวอาเซียนนั้นสามารถไปมาหาสู่หรือทำมาหากินร่วมกันในฐานะคนในชุมชนเดียวกันอยู่แล้ว ดังนั้นควรจะหันมาสร้างความมั่งคั่งด้วยกันแทนที่จะรบหรือเอาชนะคะคานกันด้วยกำลังทหาร  สร้างจิตใจที่ผูกพันเป็นหนึ่งเดียว “Spirit of ASEAN” เช่นเดียวกับชุมชน EU  

ทว่า ในกรณีที่มองว่า จะอย่างไรเสีย เรายังไม่สามารถไปถึงขั้นเดียวกับ EU ได้และ spirit of ASEAN ไม่มีจริง ปัญหานี้ก็เป็นปัญหาของ 2 ประเทศที่จะต้องแก้กันเองนั้น จะใช้วิธีการแลกดินแดนกันแบบไทย –มาเลเซียก็ได้ เพราะบนพื้นที่ 800 กิโลเมตรที่เป็นชายแดนไทย-กัมพูชานี้ แน่นอนว่าพื้นที่ทับซ้อนไม่ได้มีเฉพาะพื้นที่ตรงบริเวณรอบเขาพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ก็ลองพิจารณาดูพื้นที่ๆ สมเหตุสมผลก็ได้

ถ้าวิธีนี้เป็นเรื่องที่ยังรับไม่ได้ วิธีการที่ดีที่สุดซึ่งคิดว่าคนส่วนใหญ่ก็ย่อมจะรับได้และมีใครต่อใครก็ออกมาเสนอแนวทางนี้แล้วและประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประชาชนทั้งสองฝั่ง รวมทั้งในระดับประเทศทั้งสองประเทศด้วยก็คือ การบริหารจัดการร่วมกัน โดยอาจเรียกว่า “พื้นที่พัฒนาวัฒนธรรมร่วมกัมพูชา-ไทย” หรือ ไทย-กัมพูชา ตามแต่สะดวกปาก จัดตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมาช่วยกันดูแล ให้ทางขึ้นเขาพระวิหารอยู่ทั้งสองทางทั้งในเขตไทยและเขตกัมพูชา ผู้คนทั้งสองฝั่งก็จะได้ทำมาหากินอยู่ในบริเวณนั้นและได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวจากทั้งสองฝั่ง อย่างนี้จึงจะเป็นได้กับได้ หรือ win-win กันทั้งสองฝ่าย

หากทั้งสองประเทศจะถอยไปตั้งหลักคิดเรื่องนี้เสียใหม่ ในฝ่ายไทยนั้น กลุ่มที่กล่าวอ้างวาทกรรม “เราจะไม่ยอมสูญเสียดินแดนอีกแม้แต่ตารางนิ้วเดียว” นั้น อาจต้องทบทวนใหม่ว่า จริงๆ แล้วอะไรควรเสียหรืออะไรไม่ควรเสีย และบางครั้งได้อย่างก็ต้องเสียอย่างก็ได้ มีบางกลุ่มถวายสัตย์ปฎิญาณต่อพระบรมรูปของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า ว่าจะไม่ยอมเสียดินแดน แต่หากพิจารณาให้ถ้วนถี่ การที่มีเอกราชอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะกุศโลบายหรือวีธีการแก้ปัญหาที่พระองค์ใช้ก็คือ “การยอมสูญเสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่” ดังนั้น การเสียจึงเท่ากับการได้ เช่นการยินยอมให้บริหารจัดการพื้นที่บริเวณรอบปราสาทพระวิหารร่วมกัน ที่บางกลุ่มมองว่าเท่ากับว่าไทยได้เสียดินแดนไปให้กับกัมพูชานั้นย่อมไม่จริง เพราะเป็นการยอมเพื่อให้ได้มาซึ่งความสงบสุขและยอมเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ทางเศรษฐกิจและอื่นๆ ต่างจากการที่ไม่ยอมสูญเสียในนั้นนี้แต่กลับยิ่งเสียไปแล้วอย่างมากทั้งชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร์ทั้งสองฝ่าย เช่นกัน กัมพูชาเองก็ควรที่จะยอมรับเงื่อนไขการบริหารจัดการร่วมกันของสองฝ่าย แทนที่จะเอาฝ่ายที่สาม สี่ ห้า เข้ามาเป็น “ตาอยู่” ในพื้นที่นี้ 

ในโลกปัจจุบันคงจะไม่มีใครสามารถตีใครเป็นเมืองขึ้นได้  และการอยู่ร่วมกันนั้นก็มีข้อตกลงมากมายในทุกระดับทั้งข้อตกลงระหว่างกันสองประเทศหรือทวิภาคี หรือ ระดับสากล ที่ทุกประเทศพึงต้องปฎิบัติ หากทั้งประเทศไทยและกัมพูชาจะยอมรับกันในหลักการและมีความจริงใจในการที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติแล้ว หลักการต่างๆ ที่ทำร่วมกันมาทั้งในระดับทวิภาคีและระดับสากลก็ควรที่จะได้รับความเคารพและปฎิบัติตาม ทว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเกิดขึ้นจากการมีวาระซ่อนเร้นของกลุ่มการเมือง และนักการเมืองทั้งของไทยและกัมพูชา โดยมีประชาชนเป็นเหยื่อและตัวประกัน หากผู้นำทั้งสองประเทศ กลุ่มการเมืองต่างๆ ที่อ้างความรักชาติ รักแผ่นดิน และสื่อมวลชนของทั้งสองประเทศมองเห็นประโยชน์ของส่วนรวมของชาติและเอาประชาชนในพื้นที่เป็นที่ตั้งแล้ว ปัญหานี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่จะใหญ่เกินกว่าจะแก้ไขไม่ได้

แม้จะรู้ว่า ทางออกในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันนั้น ควรจะต้องหลีกเลี่ยงการปะทะและหันหน้ามาพัฒนาพื้นที่ที่เป็นเขตทับซ้อนร่วมกันเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่ยังประโยชน์ให้กับทั้งสองประเทศ ทว่า ดูเหมือน เงื่อนไขที่รัฐบาลทั้งสองประเทศต้องเผชิญอยู่นั้นยิ่งหาทางแก้ก็ยิ่งข้ามพ้นเป้าหมายการอยู่ร่วมกันหรือได้ประโยชน์ร่วมกัน จากพื้นที่ปัญหาที่เป็นพื้นที่เดียวกันแต่รัฐบาลทั้งสองประเทศนั้นกลับ “หันหน้ากันคนละทาง สร้างดาวกันคนละดวงดู” ตั้งเป้าที่ต่างกัน ความระแวงที่มีให้แก่กันได้ทำให้บรรยากาศการเจรจาที่จะบริหารจัดการร่วมกันถูกละเลยไปจนดึงกลับมาไม่ได้อีก การอ้างความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองฝ่ายต่างก็กล่าวหากันไปมานั้นจึงไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ และดูเหมือนว่า ยิ่งนานวันเป้าหมายก็ไม่สามารถมาบรรจบกันได้ ความทุกข์หนักก็คงไม่พ้นต้องตกอยู่กับประชาชนตาดำๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พิพาทของสองประเทศที่ต้องแขวนชีวิตอยู่บนเส้นด้ายแห่งความไม่แน่นอนและไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเลย

ที่มา: http://www.vmekongmedia.com/content/view.php?code=anl16021118030162

 

 

บล็อกของ สุทธิดา มะลิแก้ว

สุทธิดา มะลิแก้ว
1 ทั้งๆที่มีทะเบียนบ้านและอาศัยอยู่ที่นนทบุรีมามากกว่า 10 ปี แล้ว และก่อนหน้านั้นก็อยู่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น อุบลฯ ชลบุรี และอื่นๆอีกหลายแห่ง แต่เวลาที่มีใครก็ตามมาถามว่าเป็นคนที่ไหน (ไม่ได้ต้องการคำตอบแบบมุขตลกว่า ที่ไหนๆ ก็เป็นคนนะ) ผู้เขียนก็ตอบว่า “เป็นคนปัตตานี” แม้ว่าจริงๆ แล้วไปปัตตานีไม่เคยเกิน 7 วันต่อปีเลยสักครั้ง และบางปีก็ไม่ได้ไปเลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าการใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีค่อนข้างน้อย มาถึงวันนี้ที่แม้มีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ในยามที่เดินทางไปปัตตานี ก็จะเรียกว่า “กลับบ้าน” อีกเช่นกัน เรื่องการบอกว่าเป็นคนที่ไหนของไทยนั้น เชื่อว่าคนอื่นๆ…
สุทธิดา มะลิแก้ว
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า โดยส่วนตัวแล้ว เห็นด้วยกับเรื่อง การไม่ขับรถหลังจากได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือที่ที่มีการรณรงค์ที่เรียกว่า “เมาไม่ขับ” และเห็นด้วยกับการรณรงค์ไม่ให้ดื่มเหล้าในวัด หรือศาสนสถานต่างๆ และยังเห็นด้วยอีกกับการรณรงค์ให้คนลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลงบ้าง เพื่อเห็นแก่สุขภาพและเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาล อันเนื่องมาจากโรคหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดื่มสุรา รวมทั้ง การเชิญชวนให้งดดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษา สำหรับประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชน เพื่อเป็นการถือศีลถือเป็นการสร้างมงคลให้กับชีวิตก็เป็นเรื่องที่เห็นด้วยเช่นกัน ทว่า…
สุทธิดา มะลิแก้ว
นับเป็นความสะเทือนใจอย่างยิ่งของคนทั่วโลกกับภาพความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวพม่า อันเนื่องมาจากพายุไซโคลนนาร์กิส ที่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตนั้นหลังจากเกิดพายุนั้นแม้ผ่านมาแล้วหลายวันก็ยังไม่นิ่ง องค์กรกาชาดสากลคาดว่าอยู่ระหว่าง 60,000 – 120,000 คน และมีผู้ได้รับผลกระทบสูงถึง 1.6-2.5 ล้านคน โดยคนเหล่านี้จะต้องเผชิญกับภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม ที่อยู่อาศัย และตลอดจนปัญหาสุขภาพที่จะตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้  ท่ามกลางภาพสะเทือนใจเหล่านั้น นานาประเทศได้พยายามที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยมาตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งวันนี้ก็ยังมีบรรดาหน่วยบรรเทาทุกข์ทั้งหลาย…
สุทธิดา มะลิแก้ว
     1ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ข่าว คงจะรับรู้กันแล้วถึงสถานการณ์ในพม่าที่บานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ  รัฐบาล ทหารพม่าออกมาปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ ที่ปกติแล้วเป็นที่เคารพยิ่งของ ประชาชนชาวพม่าซึ่งหมายรวมถึงบรรดาผู้คนในรัฐบาลด้วย  แต่การปราบปรามผู้ชุมนุมในครั้งนี้นั้นไม่ได้ทำให้ผู้คนหวาดกลัวไม่กล้าชุมนุมกันต่อ กลับยิ่งทำให้เหตุการณ์ในพม่าทวีความเลวร้าย และรุนแรงหนักขึ้นไปอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีประเด็นให้ขบคิดต่อได้หลายประการทีเดียว เริ่มตั้งแต่ว่าทำไมชาวพม่านับตั้งแต่ เดือนสิงหาคม ปี 1988 เป็นต้นมา หรือที่ เรียกกันว่า เหตุการณ์ 8888…