กลายเป็นเรื่องฮือฮาสำหรับการฉลองสงกรานต์ในปีนี้ (2554) เมื่อมีคนนำคลิปของเด็กสาวขึ้นเต้นโชว์เปลือยอกในการฉลองสงกรานต์ย่านสีลมที่มีผู้คนชมและเชียร์กันอย่างเมามันมาเผยแพร่กันอย่างแพร่หลายผ่านทางสังคมออนไลน์ รวมทั้งนักข่าวทุกสำนักก็ให้ความสนใจและนำเสนอกันอย่ากว้างขวาง มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมายว่า นี่เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมหรือการกระทำที่ทำลายวัฒนธรรม บางคนถึงขั้นกล่าวหาเด็กสาวเหล่านี้ว่าเป็นโรคจิตด้วยซ้ำ
หลังเหตุการณ์ตำรวจก็มาควานหาเด็กสาวเหล่านี้กันให้วุ่นฐานที่กระทำผิดกฎหมาย การวิพากษ์วิจารณ์นั้นดูเหมือนจะมีความพยายามที่จะหาคนผิดและหาประเด็นการกระทำความผิดที่ปล่อยให้มีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น แน่นอนหากจะอ้างประเด็นกฎหมาย การกระทำดังกล่าวมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 388 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล โดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท ซึ่งการกระทำลักษณะนี้เป็นเพียงความผิดลหุโทษและเป็นความผิดเฉพาะตัวบุคคล อันที่จริง กรณีการเต้นเปลือยอกแบบนี้ มีเพื่อนที่คร่ำหวอดอยู่ในย่านสีลม พัฒน์พงศ์ มานานนับสิบๆ ปีบอกว่าก็มีการเต้นกันทุกปี นี่ไม่ได้หมายรวมถึงการเต้นโชว์ในพื้นที่ปิดซึ่งมีการเต้นอย่างเปิดเผยเช่นเดียวกันนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ก่อนหน้านั้นไม่มีคนมาถ่ายคลิปมาเผยแพร่และสื่อมวลชนไม่ได้เอามาทำเป็นเรื่องเป็นราวเป็นข่าวให้ใหญ่โตขึ้นมา เรียกได้ว่านี่ก็เป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งทางเทคโนโลยีที่ทำให้ใครๆ ก็สามารถกระจายข่าวได้ การที่คลิปถูกนำมาแพร่และกลายเป็นข่าว ทำให้ตำรวจในพื้นที่เสียหน้าเลยต้องเอากฎหมายมาบังคับใช้เสียหน่อย พอไม่ให้ถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ หรือทางเขตที่มาแจ้งความก็เกรงสังคมจะมาลงที่ตนเองในฐานะ ผู้รับผิดชอบในพื้นที่ ทั้งๆ ที่จริงก็อาจไม่ได้คิดอะไรมาก
สำหรับโทษทางกฎหมายนั้นดูจะไม่หนักหนา ปรับเพียงเบาๆ แต่ประเด็นที่มากกว่านั้นคือสื่อหรือสาธารณชนจำนวนหนึ่งออกมาประณามว่านี่เป็นเรื่องเสื่อมเสียโดยแท้ และเด็กเหล่านี้กำลังจะทำให้วัฒนธรรมอันดีงามของไทยที่เกี่ยวข้องกับวันสงกรานต์เสียหาย
พอแบบนี้จึงสงสัยว่าแล้วทุกวันนี้ที่คนจำนวนหนึ่งอ้างการเล่นน้ำสงกรานต์โดยเอาน้ำมาราดใส่ผู้คนได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือการเที่ยวเอากระบอกหรือปืนฉีดน้ำมายิงใส่ผู้คนที่กำลังสัญจรไปมา หรือว่าขับขี่รถอยู่ทำให้เกิดอันตราย หรือเอาแป้งเหนียวๆ มาทาหน้าทาตัวคนอื่นเล่นนั้นกำลังรักษาประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของไทยหรือไม่ ทำไมคนเหล่านี้ไม่ถูกประณามว่าทำลายวัฒนธรรมเท่ากับการไปเต้นเปลือยอก หรือหากการเปลือยอกเป็นการทำลายวัฒนธรรมอันดีของชาติจริงๆ ทำไมการถ่ายแบบนู้ด หรือเปลือย หรือมีเสื้อผ้าน้อยชิ้นของดาราทั้งหลายกลับถูกมองว่าเป็นงานศิลปะ ไม่เป็นการทำลายศีลธรรมวัฒนธรรมอันดี
มีคนไม่น้อยที่ออกมาตั้งตนเป็นไม้บรรทัดตรวจวัดศีลธรรมและวัฒนธรรมที่มาเถียงในประเด็นนี้ว่า ดาราที่ถ่ายนู้ดก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่า ต้องไปจับคนที่เปลื้องผ้าให้หมด แต่เป็นเพียงข้อสงสัยว่า อะไรคือมาตรฐานของคำว่าวัฒนธรรมอันดีงามของไทย หรืออะไรที่ถือเป็นการกระทำอันควรขายหน้า หรือลามกตามที่กฎหมายกำหนด และการโชว์เรือนร่างแค่ไหนที่รับได้หรือรับไม่ได้ในบริบทของวัฒนธรรมไทย
ในการออกสื่อสาธารณะ เวลามีภาพโป๊หรือเปลือย เรามักจะเห็นมีการทำภาพเบลอตรงส่วนที่เรียกว่าหัวนม ซึ่งหมายความว่าเห็นส่วนอื่นได้ทั้งหมด แต่ถ้าเห็นส่วนนั้นถือเป็นภาพลามก ในขณะเดียวกัน การวิพากษ์ วิจารณ์ เรื่องการแต่งกายของผู้หญิงในยุคนี้ที่เปิดเผยเนื้อตัวมากขึ้นว่าไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย ข้อกล่าวหานี้เท่ากับการผลักภาระให้ผู้หญิงนั้นเป็นฝ่ายที่จะต้องรักษาวัฒนธรรมอยู่เพียงฝ่ายเดียวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ว่ากันตามจริงแล้ว การแต่งกายมิดชิดใช่วัฒนธรรมไทยจริงหรือ
วัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นและปฎิบัติต่อๆ กันมา มีความเลื่อนไหล และการแต่งกายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่เสมอ การแต่งกายแบบมิดชิดในสังคมไทยในยุคปัจจุบันนั้นเป็นการรับเอาการแต่งกายยุควิคตอเรียนเข้ามาเป็นมาตรฐานเมื่อครั้งที่ไทยคิดจะพัฒนาประเทศไปสู่ความศิวิไลซ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นในเหล่าชาววังหรือชาวเมืองก่อน ในขณะที่ชาวบ้านก็ยังคงไม่ใส่เสื้อกันอยู่ และผู้คนในสมัยนั้นก็จะค่อนขอดคนที่แต่งกายแบบฝรั่งในยุคนั้นอยู่ไม่น้อย ต่อมาจึงแต่งกายกันแบบมิดชิด ปัจจุบันคนรุ่นใหม่หันกลับมาแต่งกายเปิดเผยเนื้อตัวกันอีกครั้งก็กลายเป็นว่า การแต่งกายแบบนี้ตามแบบฝรั่งและทำลายวัฒนธรรมไทยไปอีกครั้ง นี่คือความเลื่อนไหลของวัฒนธรรมและการแต่งกาย
"แม่ญิงลานนาเมื่อ 100 ปี ที่แล้ว ขัดใจผู้ตรวจการวัฒนธรรมไทยปั
เนื่องจากมีผู้คนจำนวนหนึ่งยังคงยึดถือหลักเกณฑ์ที่ผู้คนสมัยหนึ่งกำหนดเอาไว้ว่านี่คือวัฒนธรรมของไทย ดังนั้นการแต่งกายให้มิดชิดในระดับหนึ่งจึงถูกกำหนดว่าเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายของคนไทย เมื่อใครก็ตามไม่ปฎิบัติตามเกณฑ์ที่วางไว้ก็เท่ากับเป็นพวกทำลายวัฒนธรรม ซึ่งมักถูกตัดสินในทางสังคมว่าเป็นคนไม่ดีได้ทันที และการกระทำแบบนี้อาจเทียบเท่าหรือมากกว่าการก่ออาญชากรรมร้ายแรงด้วยซ้ำ
อันที่จริงหากจะดูให้ลึกซึ้งถึงประเด็นวัฒนธรรม จากกรณีเด็กสาวเต้นเปลือยอกโชว์ในครั้งนี้ก็จะพบว่ามีเรื่องที่น่าสนใจอยู่ประการหนึ่งคือ แม้ว่าจะมีการเชียร์ให้มีการเปลือยอก ผู้ที่อยู่บริเวณนั้นต่างดูสนุกสนานเหมือนกำลังดูโชว์ชนิดหนึ่งที่ผู้ชมได้ใกล้ชิดกับนักแสดงอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่เห็นว่ามีใครมีท่าทีที่จะเข้าไปจับต้องเนื้อตัวร่างกายหรือจับต้องของสงวนของเหล่าสาวๆ ที่กำลังโชว์อยู่ หากมองมุมบวก ถือเป็นความก้าวหน้าของบรรดาผู้ชมที่ยังคงเคารพในสิทธิในเนื้อตัวและร่างกายของผู้อื่น ซึ่งจุดนี้ควรจะถูกมาไฮไลท์ในการนำเสนอในสื่อหรือมาส่งเสริมให้จริงจังว่า ไม่ว่าเราจะแต่งตัวอย่างไร จะปิดอกหรือเปิดอกก็ไม่ควรจะมีใครมีสิทธิมาละเมิดในเนื้อตัวและร่างกายของเรา และตรงนี้ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล แน่นอนต้องแยกให้ออกจากประเด็นการกระทำผิดกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายต้องมาดำเนินการไปตามกฎหมายของแต่ละประเทศ แต่บุคคลอื่นไม่มีสิทธิไปละเมิดในเนื้อตัวร่างกายของเขา กลุ่มผู้ชมตรงนั้นก็ได้แสดงให้เห็นถึงการยอมรับในการแสดงเปลือยอกแบบนั้นในฐานะของการดูโชว์โดยที่ไม่ได้เข้าไปละเมิดในสิทธิส่วนตัวของผู้แสดง จุดนี้ควรส่งเสริมให้เป็นวัฒนธรรมประจำชาติ กล่าวคือ “วัฒนธรรมการเคารพในสิทธิในเนื้อตัวและร่างกายของผู้อื่น” และควรนำมาเป็นประเด็นที่นำมารณรงค์ในเกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง
การรณรงค์ให้เคารพในสิทธิในเนื้อตัวและร่างกายของบุคคลอื่นถือเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง เพราะในหลายประเทศในโลกนี้และแม้แต่ในประเทศไทยเองนั้นพบว่า ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยยังคงถูกลวนลามแม้จะแต่งตัวมิดชิดแล้วก็ตาม เนื่องจากบุคคลอื่นส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความเคารพในสิทธิในเนื้อตัวและร่างกายของผู้หญิง ในทางกลับกัน สำหรับประเทศไทยควรเลิกการณรงค์ที่บอกว่าห้ามผู้หญิงแต่งตัวเปิดเผยออกไปเล่นน้ำสงกรานต์ เพราะจะเป็นสาเหตุให้ถูกลวนลามได้ เพราะว่าการรณรงค์เช่นนั้นเท่ากับบอกว่า หากใครก็ตามไปลวนลามผู้หญิงที่แต่งตัวเช่นนั้นไม่ผิดแต่ผู้หญิงผิดเอง การรณรงค์เช่นนั้นจึงเป็นการรณรงค์เพื่อให้ร้ายผู้หญิงมากกว่าเพื่อป้องกันหรือ รับรองความปลอดภัยให้กับผู้หญิง ควรเปลี่ยนมาเป็นรณรงค์เรื่องการเคารพในสิทธิในเนื้อตัวและร่างกายของผู้อื่นแทน หวังอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะมีคนที่มีวัฒนธรรมในเรื่องของการเคารพในสิทธิในเนื้อตัวและ ร่างกายของบุคคลอื่น
ส่วนคำถามข้างต้นที่ว่า เปลือยอกโชว์ผิดตรงไหน กล่าวโดยสรุปก็คือ ผิดตรงความสับสนและไม่ลงตัวทางความคิดในการกำหนดมาตรฐานความถูกผิดทางศีลธรรมของสังคมไทยที่ทำให้มีพื้นที่ที่ยังเบลอๆ อยู่มากว่า อะไรคือ วัฒนธรรมไทยแท้จริงในโลกปัจจุบัน รวมทั้งเป็นความสับสนของสังคมไทยที่ไม่ยอมรับและไม่ยอมเข้าใจ ว่าโลกกำลังจะเปลี่ยนไปแล้ว ในขณะที่คนบางกลุ่มนั้นปรับตัวตามไม่ทันและไม่ยอมปรับวิธีคิดให้อยู่ในพื้นฐานของความเป็นจริงของปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้การเต้นเปลือยอกในวันสงกรานต์ จึงกลายเป็นความผิดใหญ่ในฐานทำลาย วัฒนธรรมไทยในสายตาของคนบางกลุ่มและผู้ที่กระทำการฝืนกฎที่วางไว้ในยุคสมัยหนึ่งก็ต้องกลายเป็นจำเลย ของสังคมไป
บล็อกของ สุทธิดา มะลิแก้ว
สุทธิดา มะลิแก้ว
1 ทั้งๆที่มีทะเบียนบ้านและอาศัยอยู่ที่นนทบุรีมามากกว่า 10 ปี แล้ว และก่อนหน้านั้นก็อยู่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น อุบลฯ ชลบุรี และอื่นๆอีกหลายแห่ง แต่เวลาที่มีใครก็ตามมาถามว่าเป็นคนที่ไหน (ไม่ได้ต้องการคำตอบแบบมุขตลกว่า ที่ไหนๆ ก็เป็นคนนะ) ผู้เขียนก็ตอบว่า “เป็นคนปัตตานี” แม้ว่าจริงๆ แล้วไปปัตตานีไม่เคยเกิน 7 วันต่อปีเลยสักครั้ง และบางปีก็ไม่ได้ไปเลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าการใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีค่อนข้างน้อย มาถึงวันนี้ที่แม้มีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ในยามที่เดินทางไปปัตตานี ก็จะเรียกว่า “กลับบ้าน” อีกเช่นกัน เรื่องการบอกว่าเป็นคนที่ไหนของไทยนั้น เชื่อว่าคนอื่นๆ…
สุทธิดา มะลิแก้ว
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า โดยส่วนตัวแล้ว เห็นด้วยกับเรื่อง การไม่ขับรถหลังจากได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือที่ที่มีการรณรงค์ที่เรียกว่า “เมาไม่ขับ” และเห็นด้วยกับการรณรงค์ไม่ให้ดื่มเหล้าในวัด หรือศาสนสถานต่างๆ และยังเห็นด้วยอีกกับการรณรงค์ให้คนลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลงบ้าง เพื่อเห็นแก่สุขภาพและเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาล อันเนื่องมาจากโรคหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดื่มสุรา รวมทั้ง การเชิญชวนให้งดดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษา สำหรับประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชน เพื่อเป็นการถือศีลถือเป็นการสร้างมงคลให้กับชีวิตก็เป็นเรื่องที่เห็นด้วยเช่นกัน ทว่า…
สุทธิดา มะลิแก้ว
นับเป็นความสะเทือนใจอย่างยิ่งของคนทั่วโลกกับภาพความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวพม่า อันเนื่องมาจากพายุไซโคลนนาร์กิส ที่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตนั้นหลังจากเกิดพายุนั้นแม้ผ่านมาแล้วหลายวันก็ยังไม่นิ่ง องค์กรกาชาดสากลคาดว่าอยู่ระหว่าง 60,000 – 120,000 คน และมีผู้ได้รับผลกระทบสูงถึง 1.6-2.5 ล้านคน โดยคนเหล่านี้จะต้องเผชิญกับภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม ที่อยู่อาศัย และตลอดจนปัญหาสุขภาพที่จะตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ท่ามกลางภาพสะเทือนใจเหล่านั้น นานาประเทศได้พยายามที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยมาตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งวันนี้ก็ยังมีบรรดาหน่วยบรรเทาทุกข์ทั้งหลาย…
สุทธิดา มะลิแก้ว
1ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ข่าว คงจะรับรู้กันแล้วถึงสถานการณ์ในพม่าที่บานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาล ทหารพม่าออกมาปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ ที่ปกติแล้วเป็นที่เคารพยิ่งของ ประชาชนชาวพม่าซึ่งหมายรวมถึงบรรดาผู้คนในรัฐบาลด้วย แต่การปราบปรามผู้ชุมนุมในครั้งนี้นั้นไม่ได้ทำให้ผู้คนหวาดกลัวไม่กล้าชุมนุมกันต่อ กลับยิ่งทำให้เหตุการณ์ในพม่าทวีความเลวร้าย และรุนแรงหนักขึ้นไปอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีประเด็นให้ขบคิดต่อได้หลายประการทีเดียว เริ่มตั้งแต่ว่าทำไมชาวพม่านับตั้งแต่ เดือนสิงหาคม ปี 1988 เป็นต้นมา หรือที่ เรียกกันว่า เหตุการณ์ 8888…