Skip to main content

นับเป็นความสะเทือนใจอย่างยิ่งของคนทั่วโลกกับภาพความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวพม่า อันเนื่องมาจากพายุไซโคลนนาร์กิส ที่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตนั้นหลังจากเกิดพายุนั้นแม้ผ่านมาแล้วหลายวันก็ยังไม่นิ่ง องค์กรกาชาดสากลคาดว่าอยู่ระหว่าง 60,000 – 120,000 คน และมีผู้ได้รับผลกระทบสูงถึง 1.6-2.5 ล้านคน โดยคนเหล่านี้จะต้องเผชิญกับภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม ที่อยู่อาศัย และตลอดจนปัญหาสุขภาพที่จะตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้  

ท่ามกลางภาพสะเทือนใจเหล่านั้น นานาประเทศได้พยายามที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยมาตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งวันนี้ก็ยังมีบรรดาหน่วยบรรเทาทุกข์ทั้งหลาย รวมทั้งหน่วยงานทางแพทย์ หน่วยกู้ภัย หรือแม้กระทั่งเครื่องยังชีพทั้งปวงที่พร้อมจะเข้าไปในพม่า  ทว่า รัฐบาลพม่ากลับไม่ยินดีที่จะสนองตอบต่อความช่วยเหลือเหล่านั้น แม้จะรู้ดีว่า หากให้ผู้เชี่ยวชาญในการกู้ภัยเข้าไป และการระดมสรรพกำลังจากการภายนอกเข้าไปได้อย่างทันท่วงทีแล้ว การสูญเสียชีวิตและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอาจจะน้อยลงกว่านี้แน่  แต่นั่นหมายความว่าพม่าจะต้องยอมอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานบรรเทาทุกข์ได้เข้าไปทำงานตามระบบที่ได้รับการฝึกฝนมา และเมื่อหลายๆ ฝ่ายมีพยายามมากเข้า สุดท้ายท่าทีที่อ่อนที่สุดของรัฐบาลทหารก็คือ ส่งสิ่งของหรือเงินมาก็ได้แต่ไม่เอาคน และข้อมูลที่ไม่เป็นที่เปิดเผยนักที่พม่าได้ส่งไปถึงสหประชาชาติก็คือ สำหรับหน่วยบรรเทาทุกข์ที่พม่าจะยอมรับให้เข้าไปในประเทศพม่าได้จะมีเพียง 4 ประเทศเท่านั้น คือ จีน อินเดีย บังคลาเทศ และ ไทย เป็นการแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่า “ไม่เอาตะวันตก”

เหตุผลของการไม่ยอมรับความช่วยเหลือนั้น นักวิเคราะห์หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านพม่าต่างรู้กันดีว่า รัฐบาลพม่านั้นเกรงว่าจะกระทบต่ออำนาจการปกครองที่มีมาอย่างมั่นคงและยาวนานนั่นเอง  ข้อพิสูจน์ในเรื่องที่ว่ารัฐบาลเห็นแก่ความมั่นคงทางอำนาจมากกว่าชีวิตของประชาชนนั้น ก็มีตั้งแต่เรื่องการที่ยังคงให้มีการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญแม้มีเหตุการณ์ภัยพิบัติอยู่ตรงหน้า แทนที่จะระดมกำลังไปช่วยเหลือผู้คน ซึ่งในขณะเดียวกันนี้เองหากให้ต่างชาติเข้าไปในประเทศก็เกรงว่าจะไปสอดแนมว่าการลงประชามตินั้นเป็นด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ หรือ ต่างชาติอาจเข้าไปรู้เห็นกิจการภายในของพม่ามากเกินไป  และ ประการที่สอง รัฐบาลทหารพม่าต้องการที่จะแสดงศักยภาพว่า มีกองทัพอันเข้มแข็งที่สามารถจัดการเรื่องภายในประเทศได้เอง โดยไม่ต้องไปง้อประเทศ อื่นๆ ส่วนจะจัดการได้ดีหรือไม่ก็ถือว่าเป็นการจัดการด้วยตนเองอย่างดีที่สุดแล้ว

ยังมีอีกประการหนึ่งของสาเหตุที่รัฐบาลทหารพม่าไม่ยินดีที่จะรับความช่วยเหลือจากต่างชาติและยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงนัก ก็คือ ความติดยึดต่ออำนาจมากๆที่ถึงกับเพิ่มความอหังการ์ให้กับรัฐบาลทหาร หรืออาจเรียกได้ว่าใช้ความหยิ่งยโสของปัจเจกที่นำมาซึ่งความเสียหายของประเทศ และปิดโอกาสการเข้าถึงความช่วยเหลือในการที่จะมีชีวิตรอดของประชาชน มีผู้ที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารพม่า เล่าให้ฟังว่า สาเหตุหนึ่งที่พม่าไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากนานาประเทศโดยเฉพาะจากตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา หรืออีกหลายๆ ประเทศ ก็เพราะว่า ประเทศเหล่านี้กล่าวประณามพม่าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งกดดัน ทั้งประกาศตัดความสัมพันธ์  เรียกง่ายๆว่า ถือรัฐบาลทหารพม่าเป็นศัตรู ในขณะเดียวกันรัฐบาลพม่าเองก็ถือว่าประเทศเหล่านั้นเป็นศัตรู แล้วจะให้รัฐบาลพม่าไปรับความช่วยเหลือจากประเทศเหล่านั้นได้อย่างไร  เรียกได้ว่า ยอมตายแต่ไม่ยอมรับความช่วยเหลือให้เสียศักดิ์ศรี

วิธีคิดเช่นนี้ หากนับเป็นเรื่องปัจเจกแล้วอาจคิดเช่นนั้นได้ แต่นับเป็นเรื่องเศร้าสำหรับประชาชนธรรมดาสามัญชาวพม่า ที่รัฐบาลที่ปกครองประเทศที่ควรจะเข้ามาดูแลประชาชนและควรจะให้ความสำคัญกับการมีชีวิตรอดของประชาชนเป็นอันดับแรก กลับยินดีแลกชีวิตคนนับแสน นับล้านของประชาชน เพื่ออำนาจของคนเพียงหยิบมือเดียว ที่สำคัญคนหนึ่งหยิบมือนั้นก็ไม่ได้รับความเดือดร้อนดังที่ประชาชนได้รับเสียด้วย  

เห็นการปฎิบัติของรัฐบาลทหารพม่าแล้ว ก็ทำให้ฉุกใจคิดขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่งว่า ในบางครั้งเวลาพูดถึงเรื่องความมั่นคงของชาตินั้น หลายๆ คนก็คิดถึงเรื่องความมั่นคงของรัฐบาล เคยมีโพลล์ต่างๆ สำรวจความน่าลงทุนในประเทศต่างๆ ว่าหนึ่งในปัจจัยของความน่าเชื่อถือในการลงทุนก็คือประเด็นที่ว่าประเทศนั้นๆ มีรัฐบาลที่มีความมั่นคง นี่นับเป็นเรื่องที่ตลกร้ายมากว่า รัฐบาลพม่านี่เองก็เป็นรัฐบาลที่มั่นคงมากๆ คือเป็นรัฐบาลที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2531 ซึ่งได้มาโดยการปฎิวัติรัฐประหารมาแล้วก็คงอยู่มาเรื่อยๆ แม้จะมีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีกันบ้างแต่ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มอำนาจเดิมๆและภายใต้อำนาจทหารมาโดยตลอด

ทว่า น่าเสียดายที่การปกครองโดยรัฐบาล (เผด็จการ) ที่มั่นคงแบบนี้ มีแต่ทำให้ประเทศแย่ลง ยากจนลง ใครเลยจะคิดว่า ประเทศพม่า ที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก ทุกวันนี้ผู้คนจะยากไร้แทบไม่มีอาหารกิน ประเทศที่ประชากรเคยมีมีการศึกษาอยู่ในลำดับต้นๆ ของเอเชียถึงวันนี้ลองไปดูกันสิว่าอัตราคนรู้หนังสืออยู่ที่เท่าไร  การคมนาคมขนส่งหรือ แม้กระทั่งเรื่องของสุขภาพอนามัยการเข้าถึงยา การเข้าถึงการดูแลรักษาเป็นอย่างไร และ เป็นไปได้อย่างไรที่ประเทศที่เคยมั่งคั่งกลับกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก

คำตอบของเรื่องนี้ก็คือ ผลพวงจากการมีรัฐบาลที่มีความมั่นคงมาก แต่เป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และกลายเป็นเผด็จการที่มั่นคงนั่นเอง   

หากย้อนกลับมามองประเทศไทย ถ้าหากว่าเราจะมีรัฐบาลที่ไม่มั่นคงไปบ้าง เปลี่ยนแปลงบ่อยเกินไปบ้างก็ขอให้เป็นการเปลี่ยนแปลงตามครรลองประชาธิปไตยก็น่าจะถือเป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะมีบทพิสูจน์มานักต่อนักแล้วว่า การปกครองโดยรัฐบาลทหารหรือการปกครองที่มั่นคงภายใต้เผด็จการนั้น ไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าและทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่เย็นเป็นสุขได้เลย...

บล็อกของ สุทธิดา มะลิแก้ว

สุทธิดา มะลิแก้ว
1 ทั้งๆที่มีทะเบียนบ้านและอาศัยอยู่ที่นนทบุรีมามากกว่า 10 ปี แล้ว และก่อนหน้านั้นก็อยู่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น อุบลฯ ชลบุรี และอื่นๆอีกหลายแห่ง แต่เวลาที่มีใครก็ตามมาถามว่าเป็นคนที่ไหน (ไม่ได้ต้องการคำตอบแบบมุขตลกว่า ที่ไหนๆ ก็เป็นคนนะ) ผู้เขียนก็ตอบว่า “เป็นคนปัตตานี” แม้ว่าจริงๆ แล้วไปปัตตานีไม่เคยเกิน 7 วันต่อปีเลยสักครั้ง และบางปีก็ไม่ได้ไปเลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าการใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีค่อนข้างน้อย มาถึงวันนี้ที่แม้มีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ในยามที่เดินทางไปปัตตานี ก็จะเรียกว่า “กลับบ้าน” อีกเช่นกัน เรื่องการบอกว่าเป็นคนที่ไหนของไทยนั้น เชื่อว่าคนอื่นๆ…
สุทธิดา มะลิแก้ว
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า โดยส่วนตัวแล้ว เห็นด้วยกับเรื่อง การไม่ขับรถหลังจากได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือที่ที่มีการรณรงค์ที่เรียกว่า “เมาไม่ขับ” และเห็นด้วยกับการรณรงค์ไม่ให้ดื่มเหล้าในวัด หรือศาสนสถานต่างๆ และยังเห็นด้วยอีกกับการรณรงค์ให้คนลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลงบ้าง เพื่อเห็นแก่สุขภาพและเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาล อันเนื่องมาจากโรคหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดื่มสุรา รวมทั้ง การเชิญชวนให้งดดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษา สำหรับประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชน เพื่อเป็นการถือศีลถือเป็นการสร้างมงคลให้กับชีวิตก็เป็นเรื่องที่เห็นด้วยเช่นกัน ทว่า…
สุทธิดา มะลิแก้ว
นับเป็นความสะเทือนใจอย่างยิ่งของคนทั่วโลกกับภาพความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวพม่า อันเนื่องมาจากพายุไซโคลนนาร์กิส ที่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตนั้นหลังจากเกิดพายุนั้นแม้ผ่านมาแล้วหลายวันก็ยังไม่นิ่ง องค์กรกาชาดสากลคาดว่าอยู่ระหว่าง 60,000 – 120,000 คน และมีผู้ได้รับผลกระทบสูงถึง 1.6-2.5 ล้านคน โดยคนเหล่านี้จะต้องเผชิญกับภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม ที่อยู่อาศัย และตลอดจนปัญหาสุขภาพที่จะตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้  ท่ามกลางภาพสะเทือนใจเหล่านั้น นานาประเทศได้พยายามที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยมาตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งวันนี้ก็ยังมีบรรดาหน่วยบรรเทาทุกข์ทั้งหลาย…
สุทธิดา มะลิแก้ว
     1ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ข่าว คงจะรับรู้กันแล้วถึงสถานการณ์ในพม่าที่บานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ  รัฐบาล ทหารพม่าออกมาปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ ที่ปกติแล้วเป็นที่เคารพยิ่งของ ประชาชนชาวพม่าซึ่งหมายรวมถึงบรรดาผู้คนในรัฐบาลด้วย  แต่การปราบปรามผู้ชุมนุมในครั้งนี้นั้นไม่ได้ทำให้ผู้คนหวาดกลัวไม่กล้าชุมนุมกันต่อ กลับยิ่งทำให้เหตุการณ์ในพม่าทวีความเลวร้าย และรุนแรงหนักขึ้นไปอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีประเด็นให้ขบคิดต่อได้หลายประการทีเดียว เริ่มตั้งแต่ว่าทำไมชาวพม่านับตั้งแต่ เดือนสิงหาคม ปี 1988 เป็นต้นมา หรือที่ เรียกกันว่า เหตุการณ์ 8888…