Skip to main content

1

ผมเป็นคนที่วิตกกังวลกับทุกสิ่งทุกอย่าง ผมวิตกว่าตัวผมผอมไป วิตกว่าผมจะร่วงจนหมดศีรษะ กลัวไปว่าแต่งงานแล้วจะหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ไม่พอ กลัวว่าจะเป็นพ่อที่ดีของลูก ๆ ไม่ได้ และเพราะเหตุที่ตัวผมเองมีชีวิตไม่ค่อยเป็นสุขนัก ผมจึงวิตกกังวลเกี่ยวกับภาพพจน์ของตัวเองที่ปรากฏต่อคนอื่น

เพราะความวิตกกังวล ทำให้ผมเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ผมทำงานไม่ไหวอีกต่อไปต้องหยุดงานอยู่กับบ้าน ผมวิตกกังวลมากเกินไปจนเลยขีดขั้นจำกัด คล้ายกับหม้อน้ำเดือดที่ปราศจากวาล์วปิดกั้น จนทำให้ผมต้องเป็นโรคประสาทอย่างหนัก ผมไม่สามารถพูดกับใครได้เลย แม้แต่กับคนในครอบครัวของผมเอง ผมควบคุมความคิดของตัวเองไม่อยู่ และรู้สึกหวาดกลัวไปหมด ผมสะดุ้งสุดตัวแม้เพียงได้ยินเสียงเบาที่สุด และคอยหลบหลีกการเผชิญหน้ากับใคร ๆ ทุกคน

ในบางครั้ง ผมร้องไห้ออกมาโดยไม่มีเหตุผลใด ๆ เลย ผมรู้สึกราวกับถูกทุก ๆ คนทอดทิ้งให้อยู่คนเดียว และอยากจะจบชีวิตด้วยการกระโดดลงแม่น้ำให้จมหายไป...

วันหนึ่ง

ผมจึงตัดสินใจออกเดินทางไปฟลอริดา โดยหวังว่า การเปลี่ยนสถานที่จะทำให้ผมรู้สึกดีขึ้น ขณะที่กำลังจะขึ้นรถไฟ พ่อของผมได้ยื่นจดหมายให้ฉบับหนึ่ง และสั่งผมไม่ให้เปิดออกอ่านจนกว่าจะถึงฟลอริดา ผมมาถึงฟลอริดาในขณะที่กำลังเป็นหน้าท่องเที่ยว ผมจึงหาโรงแรมพักไม่ได้ ต้องอาศัยเช่าโรงรถแห่งหนึ่งอยู่

ผมพยายามหางานเป็นคนส่งของอยู่นอกเมืองไมอามี่ แต่ก็ไม่ได้งาน ดังนั้นผมจึงใช้เวลาอยู่ที่ชายหาด  ผมรู้สึกย่ำแย่มากกว่าอยู่ที่บ้านเสียอีก ดังนั้นผมจึงเปิดจดหมายพ่อออกอ่าน ข้อความในจดหมายมีว่า

“ลูกเอ๋ย ตอนนี้เจ้าอยู่ห่างจากบ้านถึง 1500 ไมล์ แต่เจ้าก็ยังไม่รู้สึกดีขึ้นเลยใช่ไหม พ่อรู้ว่าเจ้าจะต้องรู้สึกเช่นนั้นแน่ เพราะเจ้าได้นำเอาตัวการที่ทำให้เจ้าไม่สบายใจติดตัวไปด้วย นั่นก็คือตัวเจ้าเองยังไงละ ไม่มีอะไรผิดปรกติเกิดขึ้นกับร่างกายหรือจิตใจของเจ้าหรอก ไม่ใช่สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าเป็นเช่นนี้หรอก แต่ความคิดที่เจ้ามีต่อสถานการณ์พวกนั้นต่างหาก ที่ทำให้เจ้าต้องเป็นทุกข์ ดังนั้นเมื่อเจ้าได้ตระหนักถึงความจริงข้อนี้แล้ว พ่ออยากให้เจ้ากลับบ้าน แล้วหายจากอาการเหล่านั้นเสียที ”

จดหมายของพ่อทำให้ผมโกรธมาก เพราะผมหวังว่าจะมีใครสักคนสงสารผม ไม่ใช่มาสั่งสอน ผมโกรธมากจนตัดสินใจจะไม่กลับไปบ้านอีกเลย ในคืนนั้นเอง ขณะที่ผมกำลังเดินอยู่บนถนนในไมอามี่ ผมได้มาถึงโบสถ์ซึ่งกำลังมีการทำพิธีกันอยู่ เนื่องจากผมไม่มีที่จะไปอยู่แล้ว จึงแวะเข้าไปในโบสถ์นั้น เพื่อฟังบทเทศน์ในบทที่กล่าวว่า

“ผู้ที่เอาชนะใจตนเองได้นั้น ยิ่งใหญ่กว่าผู้รบชนะได้เมืองทั้งเมือง”

เมื่อเข้ามานั่งในโบสถ์และได้ยินคำสอน เช่นเดียวกับที่พ่อผมได้กล่าวไว้ในจดหมาย ทำให้ผมได้คิดอย่างมีเหตุผลเป็นครั้งแรกในชีวิต ผมช่างเป็นคนโง่เขลาอะไรเช่นนั้น ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงโลกและมนุษย์ทุกคน ในขณะที่มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่ต้องเปลี่ยน

นั่นคือทัศนคติการมองโลกของผมนั่นเอง

เช้าวันต่อมา

ผมจึงจัดของลงกระเป๋าเดินทางกลับมาบ้าน และอีกอาทิตย์หนึ่งต่อมา ผมก็ได้งานทำ ต่อมาอีกเดือนหนึ่ง ผมได้แต่งงานกับผู้หญิงที่ผมเคยหวาดกลัวว่าจะต้องสูญเสียเธอไป ซึ่งขณะนี้เรามีชีวิตครอบครัวที่ผาสุกร่วมกัน พร้อมกับลูก ๆ อีกห้าคน โลกดูสดใสและเป็นมิตรยิ่งขึ้น ผมมีความสุขกับชีวิตขณะนี้อย่างมาก และเมื่อใดก็ตามที่ผมเริ่มไม่รู้สึกสบายใจขึ้นมา ผมจะบอกกับตัวเองว่า ให้ปรับทัศนคติ เกี่ยวกับสิ่งนั้นเสียใหม่ และทุกอย่างก็จะกลับดีเช่นเดิม

ผมอยากจะบอกคุณตามตรงว่า ผมดีใจที่ได้เคยเป็นโรคประสาท เพราะสิ่งนี้ทำให้ผมได้ค้นพบว่า ความคิดและจิตใจของมนุษย์เรานั้นมีพลังเหนือร่างกาย ตอนนี้ผมสามารถใช้ความคิดทำประโยชน์ให้กับตัวเอง แทนที่จะทำให้มันต่อต้านผม พ่อพูดถูกที่ว่าสถานการณ์ภายนอกทั้งหลาย ไม่ได้เป็นต้นตอของความทุกข์ทรมานของผม และในทันทีที่ผมได้ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ ผมก็ได้หายจากอาการทุกข์ทรมาน และอยู่เป็นสุขมาจนบัดนี้

คุณผู้อ่านครับ

เรื่องจดหมายของพ่อ ที่คุณผู้อ่านได้อ่านนี้ ไม่ใช่เรื่องราวของผม ผู้เขียนคอลัมน์นี้หรอกครับ แต่เป็นเรื่องเล่าของลูกศิษย์คนหนึ่งในชั้นเรียนของ เดล คาร์เนกี นักเขียนเชิงจิตวิทยาที่เก่าแก่และโด่งดังคนหนึ่งของโลก ได้เล่าเอาไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งของ เดล คาร์เนกี ที่ชื่อว่า “วิธีกำจัด ความวิตกกังวลและมีชีวิตที่ผาสุก” ที่แปลและเรียบเรียงโดย เรณู สุเสวี ซึ่งตีพิมพ์ โดยสำนักพิมพ์ วลัยลักษณ์ เมื่อเดือน มีนาคม 2532 บรรณาธิการโดย แดนอรัญ แสงทอง ที่โปรยปก ถัดลงมาจากชื่อรวมเล่มเอาไว้ว่า “แบบฉบับของหนังสือคู่มือ ในการจัดการปัญหาชีวิต ขายไปแล้วกว่า หกล้านเล่ม”

ผมตัดทอนเรื่องนี้นำมาเผยแพร่ที่นี่ (และขออนุญาตคุณเรณูผู้แปลและเรียบเรียงในที่นี้ด้วยนะครับ) ก็เพราะเดือนเต็ม ๆ ที่ผ่านมา ผมมีเรื่องต้องวิ่งเข้า ๆ ออก ๆ ทั้งโรงพยาบาลและคลินิกเกี่ยวกับโรคจิตและประสาท เพื่อส่งพี่น้องของผมคนหนึ่งไปทำการบำบัดรักษา อาการป่วยทางจิตประสาท ที่มีอาการเช่นเดียวกับเจ้าของเรื่อง “จดหมายของพ่อ” ที่เนื่องมาจากความวิตกกังวลในชีวิตมากเกินไป จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ หวาดกลัวไปหมดทุกอย่าง แม้แต่ความคิดของตัวเอง จนต้องเอาปืนไปฝากเพื่อน เพราะกลัวว่าตัวเองจะคิดฆ่าตัวตาย แล้วลงมือทำจริง ๆ

ตอนนี้ หลังจากหอบหิ้วกันไปรักษาอย่างต่อเนื่องที่คลินิกเฉพาะทางแห่งหนึ่ง อาการของเขากลับคืนมาสู่สภาพปกติเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว คิดว่าอีกสองสามวันคงกลับไปทำงานได้ตามปกติ ที่ผมนำเรื่องจดหมายของพ่อมาลง ก็เพราะต้นเหตุแห่งความวิตกกังวลจนเกินเหตุของเขาที่ทำให้เขาเป็นเช่นนี้ ผมฟัง ๆ ดูจากการวิเคราะห์ของหมอ ผ่านคำบอกเล่าของเขา ก็คือเรื่องทัศนคติในการมองโลกแบบทำร้ายตัวเอง เช่นเดียวกับเจ้าของเรื่องจดหมายของพ่อนั่นเอง

ผมจึงนำเรื่องนี้มาลงเพื่อยังประโยชน์ประการใดประการหนึ่งแก่ท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบัน คุณหมอเจ้าของคลินิกที่ผมหอบหิ้วเขาไปบำบัดรักษาจนผมเกือบจะประสาทแดกไปกับเขาได้บอกว่า คนเป็นโรคนี้กันเยอะมาก และเผื่อถึงคิวของเราบ้าง เราจะไม่ได้เสียเวลาวิ่งเข้าไปหาหมอผิดที่ผิดทาง หรือก่นด่าตัวเองเหมือนลูกศิษย์ของ เดล คาร์เนกี ด่าตัวเองว่า

“ผมช่างเป็นคนโง่เขลาอะไรเช่นนี้ ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงโลกและมนุษย์ทุกคน ในขณะที่มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะต้องเปลี่ยน นั่นคือทัศนะคติในการมองโลกของผมนั่นเอง”                                                                     

5 ธันวาคม 2551
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

** ภาพประกอบจากหนังสือ ไม่รักไม่บอก 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ชีวิตเอย เหตุใดเล่า เจ้าจึงเศร้าโศกเสียใจร้องไห้คร่ำครวญ ให้กับบางสิ่งที่เจ้าได้สูญเสียมันไป เหมือนนมที่หกออกจากแก้วไปแล้ว...ตกลงบนพื้นดิน วันแล้ววันเล่า ไม่รู้จักจบสิ้น  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
12 เมษายน 2545 วันครบรอบวันเกิด...ที่แสนจะเจ็บปวด ขณะนั่งรถจักรยานยนต์ออกตรวจพื้นที่กับคู่หู ขับรถผ่านไปทางบ้านพ่อแม่ผู้พัน นายเก่าที่มาหยิบยืมเงินเราแล้วไม่ยอมใช้คืน เมื่อสองสามปีที่แล้ว พอเจอหน้า จอดรถจะเข้าไปถาม นายกลับรีบเดินหนี อนิจจา ! นายเอ๋ยนาย...ดอกไม่ต้องขอเพียงแค่ต้นคืนได้ไหม...
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  7   ครับ รายละเอียดเรื่องราวของเขา ที่ผมอยากรู้อยากเห็นเหลือเกิน เริ่มปรากฏอยู่ในบันทึกหน้านี้นี่เอง และเมื่อหยิบหน้าคอลัมน์ “ศาลาคลายร้อน” ที่เขาถ่ายสำเนาจากหนังสือนิตยสาร “ชีวิตรัก” มาให้ผม ซึ่งเป็นหน้า คอลัมน์ - ในช่วงที่เขาได้แบกเป้ออกไปตะลอนทัวร์ ช่วยคุณวนัสนันท์ ตามที่เขาตั้งปณิธานเอาไว้ออกมาอ่าน เพื่อทำความรู้จักทั้งคอลัมน์และตัวตนของคุณวนัสนันท์ ที่นำมือแห่งความเมตตาของคุณวรรณและคุณแขคนไทยในต่างประเทศ มาฉุดเขาขึ้นมาตจากขุมนรกอันลึกล้ำดำมืดแห่งหนี้สิน และมือแห่งความเมตตาอีกมากมายที่หลั่งไหลติดตามมา... ผมพบว่าคอลัมน์ “ศาลาคลายร้อน” ของคุณวนัสนันท์…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
6 หลังจากงานศพของพ่อแล้ว เขาก็เริ่มตกเข้าไปอยู่ในวังวน - ของการหมกมุ่นครุ่นคิด...เป็นทุกข์อยู่กับหนี้สินอีก และพยายามต่อสู้กับตัวเองอย่างถึงที่สุด ระหว่างการคิดทำลายตัวเองตามพ่อไป เพื่อหนีความทุกข์ปัญหาอันหนักหนาสาหัส และการพยายามคิดหาเหตุผลต่างๆนานาที่จะมีชีวิตอยู่อีกต่อไป...
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
30 ตุลาคม 2539 วันนี้ นายเรียกข้าราชการตำรวจทั้งโรงพักมาประชุม เพื่อร่ำลาไปรับตำแหน่งใหม่ เห็นพวงมาลัย...ที่นายดาบหัวหน้าสายแต่ละสาย เตรียมมาให้นายแล้ว ได้แต่นึกเสียดาย... ท่านมากอบโกย...แล้วก็ไป
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  3. เขากลับกรุงเทพฯไปได้หนึ่งอาทิตย์กว่าๆ ผมก็ได้รับกล่องพัสดุขนาดใหญ่ หนักเกือบสองกิโลกรัมจากเขา เมื่อแกะกล่องออกมา ผมก็พบแฟ้มเก็บต้นฉบับที่เขาถ่ายสำเนามาจากหน้าคอลัมน์ “สะพานบุญ” ที่เขาเคยเขียนในนิตยสาร “ย้อนรอยกรรม”และ จากหน้าคอลัมน์ “ศาลาแรงบุญ” ในนิตยสาร “แรงบุญแรงกรรม” ที่เขาเขียนอยู่ในปัจจุบัน นับรวมกันได้ 60 กว่าเรื่อง หนาประมาณ 200 กว่าหน้ากระดาษ A4 รวมทั้งสำเนาต้นฉบับที่เขาถ่ายจากหน้าคอลัมน์ “ศาลาคลายร้อน” ของคุณวนัสนันท์ จากหนังสือ “ ชีวิตรัก” 15 แผ่น และจากกรอบหน้าคอลัมน์หนังสือพิมพ์รายวันที่เขียนยกย่องชื่นชมเขา 3 - 4 แผ่น
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
 1.  จินตวีร์ เกียงมี หรือที่มีชื่อเต็มยศว่า จ.ส.ต.จินตวีร์ เกียงมี ซึ่งปัจจุบันรับราชการตำรวจ ตำแหน่ง งานธุรการอำนวยการกองวิจัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ที่ใครต่อใครต่างรู้จักกันทั่วไปทั้งประเทศ และเลื่องลือไปถึงเมืองนอกเมืองนาในวันนี้ ในฐานะ จ่าตำรวจใจบุญ ที่แบกเป้เที่ยวตะลอนๆ ไปช่วยเหลือคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก แทบทุกหนทุกแห่งในประเทศ ที่ส่งเสียงร้องทุกข์โอดโอยมาให้เขาได้ยิน ซึ่งเราได้รับรู้เรื่องราวของเขาจากสื่อต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นสื่อทางวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร อินเตอร์เน็ต ฯลฯ และที.วี.แทบทุกช่องที่นำเรื่องราวของเขา มาบอกเล่าแก่สาธารณะชน  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
 สมัยที่ผมยังทำงานเป็นนักดนตรีประจำร้าน สายหมอกกับดอกไม้ ของคุณอันยา โพธิวัฒน์ คู่ชีวิตของคุณจรัล มโนเพ็ชร ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา ผู้ล่วงลับไปแล้ว ก่อนจะออกมาทำงานเขียนและงานเกี่ยวกับหนังสืออย่างเต็มตัวในทุกวันนี้ ผมจำได้อย่างแม่นยำว่า ภายในร้านสายหมอกกับดอกไม้ นอกจากเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับตกแต่งภายใน ที่ประกอบด้วย โต๊ะ เก้าอี้ ที่เป็นเครื่องไม้ ภาพเขียน รูปปั้น และ ข้าวของเครื่องใช้ ผลงานเพลงของคุณจรัลในตู้โชว์ ตลอดจนรูปภาพของคุณจรัลตามฝาผนังห้องในอิริยาบถต่างๆแล้ว ยังมีกระจกเงาเก่าแก่บานหนึ่ง กว้างประมาณ สองฟุต สูงท่วมหัว ประดับอยู่ตรงมุมห้องโถงด้านขวามือใกล้ๆกับเวทีเล่นดนตรี…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  3 กันยายน 2552 ปีนี้ นอกจากจะเป็นวันรำลึกครบรอบการจากไปของ จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนาแล้ว วันนี้ยังมาตรงกับวันจัดงาน " แอ่วสันป่าตอง " ซึ่งเป็นงานของโครงการย้อนยุคอำเภอสันป่าตอง ที่มีเป้าหมายที่จะแนะนำอำเภอสันป่าตองเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีสภาวัฒนธรรมอำเภอเป็นตัวหลักในการจัดงาน ร่วมกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนอีกมากมายหลายองค์กร ฯลฯ
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  ก่อนอาทิตย์ตกในไร่ข้าวโพดสีส้มโชติโชนอยู่อีกครู่ใหญ่แผ่ร่มเงาความเวิ้งว้างกว้างออกไปอีกหนึ่งวันกลืนวันวัยในวันนี้
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  ฉันเอยฉันทลักษณ์ ยากยิ่งนักจะประดิษฐ์มาคิดเขียน เป็นบทกวีงามวิจิตรสนิทเนียน มิผิดเพี้ยนตามกำหนดแห่งกฎเกณฑ์
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
มิ่งมิตร เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม