Skip to main content

20080209 ภาพต้นไม้สีเขียวในป่า

บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์
นามนี้เป็นที่รู้จักกันมานาน และยังเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในวงการสื่อมวลชนภาคเหนือตอนบน ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอาวุโสของจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้จักเขามานาน ก่อนที่เขาจะเป็นนักหนังสือพิมพ์เสียอีก

นั่นคือ รู้จักเขาตั้งแต่เขายังเป็นเด็กหนุ่มเอวบางร่างน้อย จากดินแดนแห่งขุนเขาและม่านหมอกอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่เดินทางจากบ้านเกิดหน้าที่ว่าการอำเภอ ไปบวชเรียนเป็นเณรอยู่ที่วัดธรรมมงคล ถนนสุขุมวิท ต.บางจาก อ.พระโขนง กรุงเทพฯ ภายใต้ร่มเงาพุทธธรรมของท่านอาจารย์วิริยังค์ ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติชื่อเสียงโด่งดัง สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์สายอรัญญวาสี

ซึ่งวัดนี้ เป็นวัดที่ผมมักจะวนเวียนเข้า ๆ ออก ๆ ไปอาศัยซุกหัวนอนและกินข้าวอยู่กับพระที่มาจากจังหวัดเชียงใหม่ หลายกุฏิและหลายองค์ เวลาผมตกงาน ในช่วงวัยหนุ่มที่ผมร่อนเร่พเนจรจากภาคเหนือ ไปแสวงหาความหมายของชีวิตในเมืองหลวงของประเทศในขณะนั้น และเขาเป็นพระเณรองค์หนึ่งที่ผมสนิทสนมด้วย

โอ้ ความหลัง
แม้วันเวลาจะผ่านไปนานแสนนาน เมื่อหวนคิดคะนึงถึง ผมยังจำตัวตนของเขาในขณะนั้นได้อย่างแจ่มชัด สมัยที่เขาเป็นเณรอยู่ที่วัดธรรมมงคล นอกจากเขาจะเป็นคนที่แลดูเอาจริงเอาจังในการศึกษาตามหลักสูตรแล้ว เขายังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหนึ่งในการทำหนังสือวารสารของวัด และเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์แบบติดงอมแงม เพราะเขาเป็นคนที่สนใจติดตามอ่านข่าวสารเกี่ยวกับการบ้านการเมือง ถึงขั้นสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ความเป็นไปต่าง ๆ ให้มิตรสหายรับฟังได้  และเก่งกล้าถึงขนาดเคยเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไปให้หนังสือเกี่ยวกับการเมืองทื่ค่อนข้างใหญ่โตฉบับหนึ่ง และได้รับการตีพิมพ์หลายชิ้น ในขณะที่ยังครองผ้าเหลืองอยู่

ซึ่งเรื่องนี้ เขาได้เล่าให้ผมฟังด้วยความภาคภูมิใจและนึกขำตัวเองในภายหลังว่า หลังจากเขียนไปได้พักหนึ่ง เขาก็นุ่งห่มจีวรเรียบร้อยไปแสดงตัวกับบก.ถึงสำนักงาน และตั้งแต่นั้นมา พอส่งงานไปก็ไม่ได้ลงอีก เพราะบก.คงจะคาดไม่ถึงและยอมรับไม่ได้ ที่พระหน้าตาเด็ก ๆ องค์หนึ่ง ออกมาเขียนหนังสือวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในขณะนั้น

ผมจึงไม่รู้สึกแปลกใจ
เมื่อเขาบวชเรียนจบตามหลักสูตร และเลือกสิกขาบทกลับบ้านมาต่อสู้ชีวิตทางโลก เพื่อดูแลแม่และส่งเสียน้องสาวที่กำลังเรียนไล่กันมา เขาจึงไม่ลังเลใจที่จะเดินทางเป็นเส้นตรงจากบ้านเกิด อ.จอมทอง มุ่งตรงเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อสมัครงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่หลายฉบับในเชียงใหม่ และไม่เคยเปลี่ยนงานหนังสือพิมพ์ไปเป็นอย่างอื่น

พูดได้เลยว่า หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทุกฉบับในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ยุคที่เขาเริ่มต้นเข้าไปทำงานเป็นนักข่าว ตราบจนเท่าทุกวันนี้ แทบไม่มีฉบับใด ที่ไม่มีเขาเข้าไปร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนข่าวสารในท้องถิ่น  นับตั้งแต่ ถิ่นไทย ซึ่งเป็นก้าวแรกของเขา และติดตามมาด้วย นครพิงค์ เชียงใหม่เดลี่ ข่าวสยาม ระมิงค์ ประชากร ไทยนิวส์ ธุรกิจภาคเหนือ ฯลฯ

เขาเริ่มต้น และผ่านมาหมดทุกตำแหน่งงานของคนหนังสือพิมพ์ แม้กระทั่งในฐานะที่เป็นเจ้าของ เขาก็เป็นมาแล้ว นั่นคือหนังสือ “เม็งราย”รายปักษ์ ที่เขาทำควบคู่กับการเป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์รายวัน ก่อนจะปิดตัว เม็งราย หลังจากทำมานานได้สิบกว่าปี คงเหลือไว้แต่โรงพิมพ์บุณย์ศิริ ที่ยังรับงานพิมพ์อยู่จนถึงปัจจุบันที่ ต. หนองหอย อ.เมือง

แต่ผู้คนส่วนใหญ่มักรู้จัก บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์ และอีกนามหนึ่งที่เป็นนามปากกา นั่นคือ บุณย์ มหาฤทธิ์ จากคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์รายวัน ซึ่งเป็นคอลัมน์ที่คอยจับตาวิพากษ์วิจารณ์ระบบการทำงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับความทุกข์สุขของประชาชนในท้องถิ่น ด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน และเข้าใจระบบราชการอันซับซ้อนพร้อมด้วยข้อมูลที่แม่นยำ และเป็นปากเสียงให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อน เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง...

โดยส่วนตัวผมแล้ว
ผมเชื่อว่า ภาพบทบาทของนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาพนี้ของเขา เป็นภาพที่เป็นรูปธรรมที่แจ่มชัดและโดดเด่นที่สุด ทั้งในสายตาของผมและคนทั่ว ๆ ไปในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะเขายืนหยัดทำหน้าที่นี้ให้กับสังคมมานานเกินกว่า 20 ปี และผมคิดว่าเขาคงไม่เปลี่ยนไปเป็นอื่น...

แต่แล้วเขาก็ทำให้ผมแปลกใจ เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ว.ใน 2544 วันหนึ่ง จู่ ๆ เขาก็ฝากข่าวกับน้องชายของผมที่เป็นนายดาบตำรวจมาบอกว่า เลือกตั้ง ส.ว.คราวนี้เขาลงสมัครด้วยนะ และหลังจากตรวจสอบข่าวด้วยตัวเองจนแน่ใจ ผมก็บอกกับตัวเองว่า ไม่ว่าเขาจะเอ่ยปากให้ช่วยเหลือหรือไม่ ผมก็ยินดีที่จะสนับสนุนเขาตามอัตภาพ และไม่รู้สึกกระดากใจที่จะให้เครดิตเขากับสังคมอย่างเปิดเผย

แต่เขาก็ไม่ผ่าน อย่างที่ผมแอบคาดหมายเอาไว้ เพราะการเมืองในท้องถิ่นที่ระบบสังคมแบบอุปถัมภ์ยังแข็งแกร่งอยู่ มันยากแสนยากที่จะเปิดช่องทางให้คนใหม่ ๆ ที่ขาดอำนาจเงิน ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ในโลกนี้ ผ่านเข้าไปได้...

ผมรู้ผลแล้ว ก็ได้แต่บอกกับตัวเองว่า บุญญฤทธิ์ ไม่ได้ก็ดีเหมือนกัน เพราะภาพของคนที่เป็นนักหนังสือพิมพ์อันยาวนานของเขา เป็นภาพที่ได้รับความเชื่อถือและงดงามอยู่แล้ว บางที...ความโชคดีทางการเมือง ถ้าหากเขาได้รับ มันอาจจะกลายเป็นความเสี่ยงต่อความสูญเสียชื่อเสียง และเกียรติภูมิของนักหนังสือพิมพ์ ที่เขาสั่งสมมาตลอดชีวิตในภายหลังก็ได้

และผมคิดว่าเขาคงเลิกสนใจมันแล้ว...
    
ผ่านมาจนกระทั่งถึงปี 2551 ปีนี้
หลังการเลือกตั้ง ส.ส และการจัดตั้งรัฐบาลที่เราต้องทำใจยอมรับ ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว และถึงฤดูกาลเลือกตั้ง ส.ว.อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 2 มีนาคม ที่กำลังจะมาถึงภายในไม่กี่อาทิตย์ เมื่อวานนี้ ขณะผมกำลังอยู่เพียงลำพังในกระท่อมทุ่งเสี้ยว น้องชายของผมที่เคยมาบอกข่าวการลง ส.ว.ของเขาเมื่อปี 2544 ก็ขับรถเข้ามาตะโกนบอกผมว่า

“พี่ ๆ บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์ มิตรสหายของพี่ลง ส.ว.อีกแล้ว”
ก่อนจะลงจากรถ นำใบปลิวหาเสียงแผ่นขนาดฝ่ามือผู้ใหญ่ ซึ่งมีรูปครึ่งตัวของเขาใส่สูทและผูกเน็คไทร์เรียบร้อย พร้อมหมายเลขเบอร์ที่เขาลงสมัครพิมพ์อยู่ด้านหน้า และด้านหลังเป็นประวัติย่อ ยื่นให้ผมปึกหนึ่ง

ครับ เมื่อเขายังยืนยันที่จะเดินไปบนวิถีทางนี้ ผมจึงยังย่อมควรเอาใจช่วยเขา ถึงแม้โดยใจจริงของผมแล้ว ผมอยากจะเห็นภาพของ บุญญฤทธิ์ เป็นนักหนังสือพิมพ์อย่างที่เขาเป็นตลอดไปจนชั่วชีวิต แต่เมื่อหันหลังกลับไปมองจากมุมมองของส่วนรวม ผมก็ได้คิดขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งว่า ถ้าสังคมในท้องถิ่นของเรา ไม่ว่าจะเป็นที่นี่...หรือ ณ ที่แห่งใดในประเทศนี้ ได้นักการเมืองสักคนหนึ่งจากนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง ที่ทำงานด้วยจิตสำนึกเพื่อสาธารณะชนมาโดยตลอด ย่อมเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งกว่ามิใช่หรือ

ถ้าหากสังคมในวันนี้ ยังพอจะมีช่องทาง เปิดโอกาสให้คนที่เหมาะสมอย่างยิ่งคนหนึ่งเช่นเขา     ก้าวเข้าไปพิสูจน์ตัวเองสักครั้ง     

พื่ขอเอาใจช่วย บุญญฤทธิ์ คนดี.
            
7 กุมภาพันธ์ 2551
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ชีวิตเอย เหตุใดเล่า เจ้าจึงเศร้าโศกเสียใจร้องไห้คร่ำครวญ ให้กับบางสิ่งที่เจ้าได้สูญเสียมันไป เหมือนนมที่หกออกจากแก้วไปแล้ว...ตกลงบนพื้นดิน วันแล้ววันเล่า ไม่รู้จักจบสิ้น  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
12 เมษายน 2545 วันครบรอบวันเกิด...ที่แสนจะเจ็บปวด ขณะนั่งรถจักรยานยนต์ออกตรวจพื้นที่กับคู่หู ขับรถผ่านไปทางบ้านพ่อแม่ผู้พัน นายเก่าที่มาหยิบยืมเงินเราแล้วไม่ยอมใช้คืน เมื่อสองสามปีที่แล้ว พอเจอหน้า จอดรถจะเข้าไปถาม นายกลับรีบเดินหนี อนิจจา ! นายเอ๋ยนาย...ดอกไม่ต้องขอเพียงแค่ต้นคืนได้ไหม...
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  7   ครับ รายละเอียดเรื่องราวของเขา ที่ผมอยากรู้อยากเห็นเหลือเกิน เริ่มปรากฏอยู่ในบันทึกหน้านี้นี่เอง และเมื่อหยิบหน้าคอลัมน์ “ศาลาคลายร้อน” ที่เขาถ่ายสำเนาจากหนังสือนิตยสาร “ชีวิตรัก” มาให้ผม ซึ่งเป็นหน้า คอลัมน์ - ในช่วงที่เขาได้แบกเป้ออกไปตะลอนทัวร์ ช่วยคุณวนัสนันท์ ตามที่เขาตั้งปณิธานเอาไว้ออกมาอ่าน เพื่อทำความรู้จักทั้งคอลัมน์และตัวตนของคุณวนัสนันท์ ที่นำมือแห่งความเมตตาของคุณวรรณและคุณแขคนไทยในต่างประเทศ มาฉุดเขาขึ้นมาตจากขุมนรกอันลึกล้ำดำมืดแห่งหนี้สิน และมือแห่งความเมตตาอีกมากมายที่หลั่งไหลติดตามมา... ผมพบว่าคอลัมน์ “ศาลาคลายร้อน” ของคุณวนัสนันท์…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
6 หลังจากงานศพของพ่อแล้ว เขาก็เริ่มตกเข้าไปอยู่ในวังวน - ของการหมกมุ่นครุ่นคิด...เป็นทุกข์อยู่กับหนี้สินอีก และพยายามต่อสู้กับตัวเองอย่างถึงที่สุด ระหว่างการคิดทำลายตัวเองตามพ่อไป เพื่อหนีความทุกข์ปัญหาอันหนักหนาสาหัส และการพยายามคิดหาเหตุผลต่างๆนานาที่จะมีชีวิตอยู่อีกต่อไป...
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
30 ตุลาคม 2539 วันนี้ นายเรียกข้าราชการตำรวจทั้งโรงพักมาประชุม เพื่อร่ำลาไปรับตำแหน่งใหม่ เห็นพวงมาลัย...ที่นายดาบหัวหน้าสายแต่ละสาย เตรียมมาให้นายแล้ว ได้แต่นึกเสียดาย... ท่านมากอบโกย...แล้วก็ไป
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  3. เขากลับกรุงเทพฯไปได้หนึ่งอาทิตย์กว่าๆ ผมก็ได้รับกล่องพัสดุขนาดใหญ่ หนักเกือบสองกิโลกรัมจากเขา เมื่อแกะกล่องออกมา ผมก็พบแฟ้มเก็บต้นฉบับที่เขาถ่ายสำเนามาจากหน้าคอลัมน์ “สะพานบุญ” ที่เขาเคยเขียนในนิตยสาร “ย้อนรอยกรรม”และ จากหน้าคอลัมน์ “ศาลาแรงบุญ” ในนิตยสาร “แรงบุญแรงกรรม” ที่เขาเขียนอยู่ในปัจจุบัน นับรวมกันได้ 60 กว่าเรื่อง หนาประมาณ 200 กว่าหน้ากระดาษ A4 รวมทั้งสำเนาต้นฉบับที่เขาถ่ายจากหน้าคอลัมน์ “ศาลาคลายร้อน” ของคุณวนัสนันท์ จากหนังสือ “ ชีวิตรัก” 15 แผ่น และจากกรอบหน้าคอลัมน์หนังสือพิมพ์รายวันที่เขียนยกย่องชื่นชมเขา 3 - 4 แผ่น
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
 1.  จินตวีร์ เกียงมี หรือที่มีชื่อเต็มยศว่า จ.ส.ต.จินตวีร์ เกียงมี ซึ่งปัจจุบันรับราชการตำรวจ ตำแหน่ง งานธุรการอำนวยการกองวิจัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ที่ใครต่อใครต่างรู้จักกันทั่วไปทั้งประเทศ และเลื่องลือไปถึงเมืองนอกเมืองนาในวันนี้ ในฐานะ จ่าตำรวจใจบุญ ที่แบกเป้เที่ยวตะลอนๆ ไปช่วยเหลือคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก แทบทุกหนทุกแห่งในประเทศ ที่ส่งเสียงร้องทุกข์โอดโอยมาให้เขาได้ยิน ซึ่งเราได้รับรู้เรื่องราวของเขาจากสื่อต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นสื่อทางวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร อินเตอร์เน็ต ฯลฯ และที.วี.แทบทุกช่องที่นำเรื่องราวของเขา มาบอกเล่าแก่สาธารณะชน  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
 สมัยที่ผมยังทำงานเป็นนักดนตรีประจำร้าน สายหมอกกับดอกไม้ ของคุณอันยา โพธิวัฒน์ คู่ชีวิตของคุณจรัล มโนเพ็ชร ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา ผู้ล่วงลับไปแล้ว ก่อนจะออกมาทำงานเขียนและงานเกี่ยวกับหนังสืออย่างเต็มตัวในทุกวันนี้ ผมจำได้อย่างแม่นยำว่า ภายในร้านสายหมอกกับดอกไม้ นอกจากเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับตกแต่งภายใน ที่ประกอบด้วย โต๊ะ เก้าอี้ ที่เป็นเครื่องไม้ ภาพเขียน รูปปั้น และ ข้าวของเครื่องใช้ ผลงานเพลงของคุณจรัลในตู้โชว์ ตลอดจนรูปภาพของคุณจรัลตามฝาผนังห้องในอิริยาบถต่างๆแล้ว ยังมีกระจกเงาเก่าแก่บานหนึ่ง กว้างประมาณ สองฟุต สูงท่วมหัว ประดับอยู่ตรงมุมห้องโถงด้านขวามือใกล้ๆกับเวทีเล่นดนตรี…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  3 กันยายน 2552 ปีนี้ นอกจากจะเป็นวันรำลึกครบรอบการจากไปของ จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนาแล้ว วันนี้ยังมาตรงกับวันจัดงาน " แอ่วสันป่าตอง " ซึ่งเป็นงานของโครงการย้อนยุคอำเภอสันป่าตอง ที่มีเป้าหมายที่จะแนะนำอำเภอสันป่าตองเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีสภาวัฒนธรรมอำเภอเป็นตัวหลักในการจัดงาน ร่วมกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนอีกมากมายหลายองค์กร ฯลฯ
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  ก่อนอาทิตย์ตกในไร่ข้าวโพดสีส้มโชติโชนอยู่อีกครู่ใหญ่แผ่ร่มเงาความเวิ้งว้างกว้างออกไปอีกหนึ่งวันกลืนวันวัยในวันนี้
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  ฉันเอยฉันทลักษณ์ ยากยิ่งนักจะประดิษฐ์มาคิดเขียน เป็นบทกวีงามวิจิตรสนิทเนียน มิผิดเพี้ยนตามกำหนดแห่งกฎเกณฑ์
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
มิ่งมิตร เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม