Skip to main content

แล้วในที่สุดก็ถึงวันนี้
วันที่อดีตท่านนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางกลับเมืองไทยโดยสายการบินไทยเที่ยวที่ ที จี 603 ที่ร่อนลงบนรันเวย์ของสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อเวลา 09.40น.ของวันที่ 28 ก.พ. เพื่อกลับมาต่อสู้คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินถนนรัชดา ที่ท่านตกเป็นจำเลยที่หนึ่ง รวมทั้งข้อกล่าวหาอื่นๆในช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ท่ามกลางความดีอกดีใจของฝ่ายที่สนับสนุนที่พากันไปต้อนรับอย่างเอิกเกริก และท่ามกลางความตึงเครียดของฝ่ายคัดค้าน ที่เริ่มส่งเสียงคำรามฮึ่มๆ ออกมาประปราย

ถึงแม้การยอมรับกลับมาต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมในสังคมของอดีตท่านนายกฯ จะเป็นคำตอบเดียวที่ดีที่สุดที่สังคมทุกฝ่ายอยากจะเห็น แต่ก็ยังมีคนเกรงกลัวและหวาดระแวงอยู่

เพราะอดีตท่านนายกฯผู้นี้ เราต้องยอมรับความจริงกันว่า ท่านเป็นผู้นำของประเทศคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ( หรืออาจจะเป็นคนแรกของโลก ) ที่ถูกปฏิวัติรัฐประหาร และลี้ภัยอยู่นอกประเทศ นอกจากจะไม่มีใครสามารถทำลายท่านให้ย่อยยับแบบไม่ให้ผุดให้เกิดเหมือนคนอื่นๆ แล้ว  ท่านยังสามารถกลับคืนบ้านเมืองมาต่อสู้กับคดีความผิดและข้อกล่าวหาที่ท่านบอกกับสังคมว่า ตัวท่านและครอบครัวไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างสง่างาม และน่ามหัศจรรย์ราวกับปาฏิหาริย์

ปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่นี้
จึงเป็นที่ร้อนๆ หนาวๆ ของฝ่ายที่คัดค้าน ที่หวาดหวั่นว่าจะมีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมอย่างช่วยไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ คุณหมอประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสผู้ปรารถนาดีต่อบ้านเมืองเสมอมา ได้แสดงความเห็นในเชิงชี้นำให้กับสังคมทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรักหรือเกลียดคุณทักษิณ  ฝ่ายที่วางตัวเป็นกลางไม่รักไม่เกลียด รวมทั้งฝ่ายที่ไม่เอาไหนเลย หรือเอายังไงก็ได้ทั้งนั้น เพราะพวกเขาต่างปลงตกและคิดว่า...บ้านเมืองนี้ไม่ใช่ของพวกเขาเสียแล้ว-เอาไว้ว่า
“พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นบุคคลที่มีทั้งคนรักและไม่รักเป็นจำนวนมาก จนเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่ แบ่งแยกคนในสังคมไทย ดังนั้นสังคมจะต้องช่วยกันระมัดระวังไม่ให้ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน นำไปสู่ความแตกแยกที่รุนแรง แม้แต่ละฝ่ายจะทะเลาะกันก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย ใช้สันติวิธีแก้ปัญหา...”

ครับ ผมเห็นดีด้วยกับคุณหมอประเวศ
แต่อดสงสัยไม่ได้ว่า หลังจากคำตัดสินชี้ขาดของศาล ไม่ว่าจะออกหัวหรือก้อย โดยเฉพาะระหว่างคนรักและคนเกลียดคุณทักษิณ ซึ่งต่างก็มีพลังมากพอๆกัน ระหว่างผู้คนสองสังคมที่ขัดแย้งกันแบบนี้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่งย่อมที่จะต้องอกหัก เพราะไม่ได้ดังใจตัวเองอย่างแน่นอน ผมสงสัยว่าเมื่อพวกเขาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผิดหวังและอกหักตามกติกาเรียบร้อยแล้ว พวกเขาจะยอมรับความเป็นผู้แพ้ โดยไม่เอะอะโวยวาย และพาลหาเรื่องเอากับฝ่ายที่ชนะตามกฎกติกาของสังคมในภายหลัง และยุติกันแค่นี้หรือเปล่า

ที่ผมสงสัยก็เพราะมีคนบอกผมว่า เรื่องนี้จะไม่ยุติง่ายๆ เพียงแค่นี้ โดยให้เหตุผลที่น่าคิดกับผมว่า ลึกๆลงไปแล้วสังคมไทยยังเป็นสังคมของความเชื่อและความศรัทธาในตัวบุคคลและสถาบัน มากกว่าเหตุผล ข้อเท็จจริง และกฎกติกา ดังนั้นอะไรๆที่ผิดจากกรอบความเชื่อและความศรัทธาของเขา จึงเป็นเรื่องที่ยากที่เขาจะยอมรับ

ยิ่งเป็นความเชื่อที่เขายึดมั่นถือมั่นเป็นพรรคเป็นพวก และแห่แหนตามกันมากเท่าไหร่ พวกเขายิ่งยากที่จะยอมยุติให้กับสิ่งที่ขัดแย้งและแตะต้องความเชื่อของเขา

และคนที่บอกผมยังชี้ชัดให้ผมฟังอีกว่า สิ่งที่สะท้อนให้เห็นความคิดแบบนี้ในสังคมไทยก็คือ เวลาคนไทยทะเลาะกันในระดับชาติ ต่างฝ่ายต่างมักจะรีบอ้างเอาสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งคนไทยถือว่าเป็นของสูงที่ใครจะแตะต้องและลบหลู่ไม่ได้ มาปกป้องคุ้มครองตัวเองและทำลายคู่กรณี เพียงแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถพูดให้คนเชื่อว่าตัวเองจงรักภักดีต่อสถาบัน และคู่กรณีเป็นอันตรายต่อสถาบัน แถมมีสื่อบ้าจี้ช่วยประโคมโหมโรง เพียงแค่นี้คู่กรณีก็พินาศแล้ว

ครับ ฟังๆ ดูแล้วน่ากลัวจังเลย จริงหรือไม่จริง อีกไม่นานเราคงจะได้รู้กัน จากงานอันน่าระทึกใจนี้อย่างแน่นอน สวัสดีครับ.

1 มีนาคม  2551
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่


บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
"นางแบบภาพประกอบ สุธาทิพย์ โมราลาย คอลัมนิสต์วรรณกรรมกุลสตรี ถ่ายโดยผู้เขียน" สมัยหนึ่ง ขงจื๊อกับศิษยานุศิษย์เดินทางไปรัฐชี้ เส้นทางผ่านป่าใหญ่เชิงภูเขาไท้ซัว ได้ยินเสียงร่ำไห้ของสตรีนางหนึ่งแว่วมาแต่ไกล ขงจื๊อหยุดม้า นิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วพูดขึ้นว่า “เสียงร้องไห้ฟังโหยหวนน่าเวทนานัก หญิงผู้นั้นคงได้รับทุกข์แสนสาหัสเป็นแน่” จื๊อกุงศิษย์ผู้ใกล้ชิดรับอาสาไปถามเหตุ หญิงนั้นกล่าวแก่จื๊อกุงว่า “น้าชายของฉันถูกเสือขบตายไม่นานมานี้ ต่อมาสามีของฉันก็ถูกเสือกินอีก บัดนี้เจ้าวายร้ายก็คาบเอาลูกชายตัวเล็กๆของฉันไปอีก” จื๊อกุงถามว่า “ทำไมท่านไม่ย้ายไปอยู่เสียที่อื่นเล่า” เธอตอบสะอื้น “ฉันย้ายไม่ได้ดอก” “…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมเกาะติดสถานการณ์ ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้มาแบบวันต่อวัน ตั้งแต่นปช.คนเสื้อแดงเคลื่อนขบวนเข้ากรุงเทพมาเผชิญหน้ากับรัฐบาลเมื่อกลางเดือนมีนา และเป็นเสียงเล็กๆเสียงหนึ่งในหน้าบล็อกกาซีนของเว็บประชาไท ที่คอยประสานเสียงกับผู้คนอีกมากมายหลายฝ่ายในสังคม ที่พยายามตะโกนบอกทั้งฝ่ายคนเสื้อแดงและรัฐบาลให้หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง ที่จะทำให้ผู้คนล้มลงตายและบาดเจ็บ เพราะเชื่อกันว่า ยังมีทางเลือกที่สามารถตกลงกันได้ โดยไม่ทำให้ผู้คนต้องเสียชีวิตและเลือดเนื้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน... จนกระทั่งเว็บถูกฝ่ายควบคุมสื่อมวลชนของรัฐเข้ามาบล็อกเว็บ…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
หลังจากการเจรจากัน เรื่องการยุบสภาระหว่างรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ กลุ่ม นปช. - คนเสื้อแดง ที่ขัดแย้งกันเพราะตกลงกันไม่ได้ในเรื่องเงื่อนไขของเวลา ที่ฝ่ายคนเสื้อแดงยืนยันว่าจะต้องยุบสภาภายในเวลา 15 วัน และฝ่ายรัฐบาลบอกว่ายุบสภาก็ได้แต่ต้องรออีก 9 เดือน ผ่านไปสองครั้ง และยังไม่สามารถตกลงกันได้
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมเกาะติดสถานการณ์ การชุมนุมเรียกร้องของมวลชนคนเสื้อแดง ที่พยายามกดดันเรียกร้องให้รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 53 เรื่อยมาจนถึงวันนี้ (24 มีนา 53) ซึ่งทีแรก หลังจากที่รัฐบาลถูกราดเลือดตอบโต้คำปฏิเสธแล้ว ต่างฝ่ายต่างมีทีท่าว่า จะหันหน้ามาเจรจาตกลงกันด้วยสันติ แต่พอเอาเข้าจริงๆก็ล้มเหลว เพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่สามารถจะยอมรับกันได้ ด้วยเหตุผลที่เป็นหลักใหญ่ที่ขัดแย้งอย่างสุดๆ  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ใช่หรือมิใช่ นอกจากอำนาจนิติรัฐ และอำนาจจากกองทัพทหารตำรวจ ที่คอยแวดล้อมปกป้องครองรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังมีอำนาจที่น่ากลัวอีกอำนาจหนึ่ง ที่สามารถกำหนดชัยชนะและความพ่ายแพ้ของมวลชนคนเสื้อแดง นั่นคือ อำนาจ ของสื่อมวลชนกระแสหลัก ที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
เราไม่รู้ว่า รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คิดผิดหรือคิดถูก ที่ใช้อำนาจนิติรัฐสั่งยึดทรัพย์ ทักษิณ ชินวัตร แล้วยังหมายมาดจะใช้อำนาจนี้ ขย้ำขยี้ด้วยคดีอาญาอีกมายหลายคดี เพื่อทำลาย ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวแบบไม่ให้ได้ผุดได้เกิด ราวกับว่ารัฐบาลนี้จะยึดกุมอำนาจการบริหารประเทศแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่มีใครกล้าเข้าไปแตะต้อง ไปจนตราบชั่วฟ้าดินสลาย
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  อ่าน ดู และฟัง เรื่องราว ของ ทักษิณ ชินวัตร จากมุมมอง คนรัก ทักษิณ ชินวัตร สื่อสาร อ่าน ดู และฟังแล้ว ก็น่าเชื่อถือว่าเป็นความจริง ตามที่เขาว่า ทักษิณ ชินวัตร มิได้เป็นคนโกง แต่ถูกเขากลั่นแกล้งทำลาย
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  26 ก.พ. 53 พรุ่งนี้ พรุ่งนี้ พรุ่งนี้ พรุ่งนี้ พรุ่งนี้ ของ ทักษิณ ชินวัตร คน คน คน คน คนทั้งประเทศต่างเฝ้ารอดู ชะตากรรม ชะตากรรม ชะตากรรม ชะตากรรม ชะตากรรม ของ ทักษิณ ชินวัตร ภายใต้อำนาจศาลสถิตยุติธรรมของสังคมไทย ว่าเขาจะถูกศาลพิพากษาตัดสินอย่างไร ถูกยึดเอาทรัพย์ทั้งหมด ถูกยึดเอามากเหลือไว้แต่น้อย ถูกยึดเอาไปเพียงบางส่วน หรือไม่ถูกยึดเลยแม้แต่สลึงเดียว... คน คน คน คน คนทั้งประเทศต่างเฝ้ารอดู
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  “ความเจ็บปวดเป็นเรื่องเฉพาะตัว” ใครคนหนึ่งนิยามในเชิงสรุปเรื่องนี้ขึ้นมาลอยๆ หลังจากนั่งพูดคุยกันมามากมายหลายเรื่อง แล้วมาลงเอยที่เรื่องราวความเจ็บปวดในชีวิต ที่เราซึ่งต่างโตเป็นผู้ใหญ่ ต่างก็ได้ประสบกันมาคนละมิใช่น้อย จากประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านมาในชีวิต เช่น ความรัก ความหวัง ความฝัน ความทะเยอทะยาน หน้าที่การงาน อุบัติเหตุ การถูกทำร้าย ความเจ็บไข้ได้ป่วย หนี้สิน หรือแม้กระทั่งเรื่องราวบางเรื่อง ที่ทำให้เราขัดแย้งกับตัวเอง ฯลฯ
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมจำได้ว่า ผมเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับการ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ซึ่งเป็นเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ตามหลักของพุทธศาสนาในระดับศีลธรรม ด้วยความเชื่อว่ามันเป็นสัจธรรมของชีวิต แล้วมีผู้แย้งมาในทำนองที่ว่า ไม่อยากจะเชื่อว่ามันเป็นกฎอันเฉียบขาดของโลกและชีวิตมนุษย์ เพราะบ่อยครั้งที่เขาทำดี...แล้วไม่เห็นได้ดี จนเขานึกท้อที่จะทำความดี
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  คุณค่าผลงานวรรณกรรม 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นนักเขียนที่มีผลงานหลากหลายประเภท นับตั้งแต่ข้อเขียนบรรยายภาพ คอลัมน์ในนิตยสาร เรื่องสั้น นวนิยาย และงานเขียนปกิณกะอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีงานร้อยแก้วที่มีลักษณะลีลาของร้อยกรองปลอดฉันทลักษณ์ หรือร้อยกรองรูปแบบอิสระปรากฏอยู่ เป็นช่วงสั้นๆในนวนิยายบางเรื่องด้วย ผลงานหลากประเภทดังกล่าวมีจำนวนมากมาย เฉพาะงานเขียนที่รวมเล่มแล้วมีจำนวนประมาณ 100 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสั้น บทความ และข้อเขียนจากคอลัมน์ต่างๆ
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมนึกแปลกใจ ที่งานเขียนนวนิยายหลายเล่มของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่ว่าจะเป็นนักอ่าน นักเขียน นักวิเคราะห์วรรณกรรม หรือแม้กระทั่งคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่ประกาศยกย่องเชิดชูให้เขาเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณกรรม ปี 2538 ต่างมีความเห็นตรงกันว่า นวนิยายที่เป็นงานโดดเด่น หรือที่ภาษาทางศิลปะเรียกกันว่าเป็นงานมาสเตอร์พีซของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ คือ นวนิยายเรื่องสนิมสร้อย ใต้ถุนป่าคอนกรีท เสเพลบอยชาวไร่ ผู้มียี่เกในหัวใจ ฯลฯ โดยเฉพาะสนิมสร้อยนั้น ดูเหมือนจะถูกยกย่องไว้สูง จนไม่มีเรื่องใดมาเทียบได้ และหลงลืมหรืออาจจะจงใจหลงลืม นวนิยายเรื่องหนึ่งของเขาที่ชื่อว่า “คืนรัก”