Skip to main content


"นางแบบภาพประกอบ สุธาทิพย์ โมราลาย คอลัมนิสต์วรรณกรรมกุลสตรี ถ่ายโดยผู้เขียน"

สมัยหนึ่ง
ขงจื๊อกับศิษยานุศิษย์เดินทางไปรัฐชี้ เส้นทางผ่านป่าใหญ่เชิงภูเขาไท้ซัว ได้ยินเสียงร่ำไห้ของสตรีนางหนึ่งแว่วมาแต่ไกล ขงจื๊อหยุดม้า นิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วพูดขึ้นว่า
“เสียงร้องไห้ฟังโหยหวนน่าเวทนานัก หญิงผู้นั้นคงได้รับทุกข์แสนสาหัสเป็นแน่”
จื๊อกุงศิษย์ผู้ใกล้ชิดรับอาสาไปถามเหตุ
หญิงนั้นกล่าวแก่จื๊อกุงว่า
“น้าชายของฉันถูกเสือขบตายไม่นานมานี้ ต่อมาสามีของฉันก็ถูกเสือกินอีก บัดนี้เจ้าวายร้ายก็คาบเอาลูกชายตัวเล็กๆของฉันไปอีก”
จื๊อกุงถามว่า
“ทำไมท่านไม่ย้ายไปอยู่เสียที่อื่นเล่า”
เธอตอบสะอื้น
“ฉันย้ายไม่ได้ดอก”
“ทำไมล่ะ”
“ก็ที่นี่...ไม่มีรัฐบาลที่กดขี่ข่มเหงน่ะซี”
เมื่อจื๊อกุงนำความมาเล่าให้ขงจื๊อฟัง ขงจื๊อกล่าวแก่คณะศิษย์ผู้ติดตามว่า
“พวกเธอจงจำไว้ รัฐบาลที่กดขี่ข่มเหงประชาชนนั้น ร้ายกว่าเสือเสียอีก”
 
ครับ นี่เป็นเรื่องสั้นๆ ที่ผมคัดมาจากหนังสือ “นิทานปรัชญาเต๋า” ของ เสถียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต พิมพ์ครั้งที่ 4 โดยสำนักพิมพ์มติชน 2539 อ่านแล้วก็ได้แต่นึกปลงตกว่า รัฐบาลที่ตั้งตัวเป็นศัตรูผู้กดขี่ข่มเหงประชาชน มิใช่ของที่แปลกใหม่แต่อย่างไร เพราะมันมีมานานนับเป็นพันกว่าปีแล้ว และน่าเกลียดน่ากลัวอย่างนี้นี่เอง ผู้หญิงคนนี้ถึงยอมตายอยู่กับเสือดีกว่า ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่เลวร้ายแบบนี้
 
 นอกจากเรื่องนี้แล้ว ยังมีเรื่องอื่นเกี่ยวกับรัฐในทัศนะของขงจื๊อที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง ที่ผมชอบมากที่สุดก็คือเรื่อง “กฎเกณฑ์ของการเป็นคนดี” เพราะเรื่องนี้มิได้มีความหมายเฉพาะเรื่องของรัฐ แต่ยังเป็นเรื่องจริยธรรมที่ครอบคลุมถึงสังคมของคนทั่วๆไป และปัจเจกชนทุกรูปแบบ (พึงตระหนักด้วย)  เรื่องนี้คุณเสถียรพงษ์เล่าเอาไว้ว่า
 
เมื่อขงจื๊ออายุ 52 ปี
ได้รับตำแหน่งเป็นนคราภิบาล นครซุงตู ภายในระยะเวลาไม่ถึงสามปี เมืองซุงตูก็มีชื่อเสียงไปทั่ว กิติศัพท์เล่าลือว่า ตั้งแต่ขงจื๊อมาเป็นนคราภิบาล จะหาชาวเมืองไหนที่ว่านอนสอนง่าย และมีความสุขเสมอชาวเมืองตุงซูเป็นไม่มี
เจ้าผู้ครองนครรัฐลู่ได้ทราบข่าว จึงส่งคนมาเชิญขงจื๊อไปเรียนถามว่า
“ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่าตั้งแต่ท่านได้รับหน้าที่ปกครอง ชาวเมืองมีความสุขความเจริญกันทั่วหน้า ท่านใช้วิธีการอย่างไรจึงสัมฤทธิ์ผลในระยะเวลาอันสั้นเช่นนั้น”
ขงจื๊อตอบว่า
“ข้าพเจ้าข่มผู้ควรข่ม ยกย่องผู้ควรยกย่อง เมื่อชาวเมืองเห็นว่า การทำดีได้ผลดี การทำชั่วได้รับผลชั่วจริง จึงพากันทำดี คนดีก็ย่อมซื่อสัตย์ต่อกันและต่อรัฐบาล”
เจ้าผู้ครองนครถามว่า
“จะปกครองรัฐด้วยวิธีเดียวกับที่ท่านปกครองนครได้หรือไม่”
ขงจื๊อตอบว่า
“วิธีการนี้แม้จะใช้ปกครองทั้งประเทศก็ได้”
เจ้าผู้ปกครองรัฐลู่จึงตั้งให้ขงจื๊อเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมของรัฐลู่ เมื่อได้รับตำแหน่ง ขงจื๊อก็เริ่มศึกษาคุกตะรางก่อน
หลังจากศึกษาข้อเท็จจริงอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วได้ความว่า นักโทษเกือบทั้งหมดเป็นคนจน ไร้การศึกษา ความจนและขาดการศึกษาเป็นสาเหตุก่ออาชญากรรม ถ้าเรากำจัดความโง่เขลาก็คือให้การศึกษาแก่ประชาชนทั่วๆไปโดยทั่วถึง และวิธีกำจัดความจนก็คือสนับสนุนประชาชนประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพลเมืองดีของชาติ
ผู้พิพากษาคนหนึ่งถามว่า
“เราจะเริ่มต้นตรงไหน ด้วยวิธีใด ที่จะให้ประชาชนซื่อสัตย์และเป็นพลเมืองดี”
ขงจื๊อตอบว่า
“เริ่มต้นที่ตัวท่านทั้งหลายนี่แหละ ท่านทั้งหลายเป็นผู้ปกครอง ถ้าผู้ปกครองเลว ประชาชนก็เลวตาม ถ้าผู้ปกครองดี ประชาชนก็ดีตาม กฎเกณฑ์หรือวิธีการข้อแรกของการเป็นคนดีก็คือ
อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตนอย่างไร จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างนั้น และอย่าปฏิบัติต่อผู้อื่นในสิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการ
 
ขอบคุณ คุณเสถียรพงษ์ ที่นำข้อคิดที่ดีๆจากเต๋ามาเผยแพร่ ผมถือว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ที่มีไว้อ่านเตือนสติตัวเองได้ตลอดชีวิต คืออ่านทีไรก็รู้สึกเหมือนนึกรู้ว่า...ความถูกต้องและแสงสว่างของชีวิตอยู่ ณ ที่ตรงไหน แม้ในวันที่ชีวิตตกอยู่ในความมืดแปดด้าน นี่...ผมยังหมายถึงข้อคิดดีๆจากหนังสือเล่มนี้อีกหลายชิ้น หลายเรื่องราว นอกเหนือจากทัศนะในเรื่องรัฐและประชาชน สมกับสโลแกนที่เขาโปรยไว้ที่หน้าปกด้านล่างว่า
“นิทานอ่านสนุก แต่ลุ่มลึกด้วยแง่คิดกับปรัชญาชีวิตแบบเต๋า”
 ขอบคุณครับ.
 
17 กรกฎาคม 2553
กระท่อมทุ่งเสี้ยว อ.สันป่าตอง เชียงใหม่
 
 

 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
แด่...คนเล็กๆทุกๆคนในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง ฯลฯ หรือมิได้เป็นคนเสื้อสีใดๆ ที่ตกเป็นเหยื่อกฎหมายหมิ่นฯ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอำนาจพิเศษกับคนเล็กๆ ที่ขาดอำนาจต่อรองที่เข้มแข็งในการปกป้องและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้แก่ตนเอง และไม่มีใครสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ แม้แต่รัฐบาลที่พวกเขาหลายคนได้เลือกเข้าไป นั่งอยู่ในรัฐสภา.
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
พุทธภาษิตที่กล่าวว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” และ “อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก” ประการแรกยังน่าสงสัยว่าเป็นความจริงโดยหรือไม่ แต่ประการที่สองที่กล่าวว่า อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก เป็นความจริงตามพุทธภาษิตได้กล่าวเอาไว้อย่างแน่แท้
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
อำนาจ ไม่ว่าอำนาจนั้น จะเป็นอำนาจที่ชอบธรรมหรือไม่ ตราบใดที่อำนาจนั้นยังมีอำนาจอยู่ อำนาจนั้น ย่อมมีอำนาจในการบังคับผู้อยู่ภายใต้อำนาจ ให้เชื่อฟังและปฏิบัติตาม
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ยามเช้า โอ้ ยามเช้าอันมืดมนของข้า ยามเช้าที่ข้ามองไม่เห็นหนทางใดๆ ที่จะนำชีวิตลุล่วงผ่านพ้นวันนี้ไปได้ เพราะข้าได้ใช้ตัวช่วยชีวิตทุกตัว