“ความเจ็บปวดเป็นเรื่องเฉพาะตัว”
ใครคนหนึ่งนิยามในเชิงสรุปเรื่องนี้ขึ้นมาลอยๆ หลังจากนั่งพูดคุยกันมามากมายหลายเรื่อง แล้วมาลงเอยที่เรื่องราวความเจ็บปวดในชีวิต ที่เราซึ่งต่างโตเป็นผู้ใหญ่ ต่างก็ได้ประสบกันมาคนละมิใช่น้อย จากประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านมาในชีวิต เช่น ความรัก ความหวัง ความฝัน ความทะเยอทะยาน หน้าที่การงาน อุบัติเหตุ การถูกทำร้าย ความเจ็บไข้ได้ป่วย หนี้สิน หรือแม้กระทั่งเรื่องราวบางเรื่อง ที่ทำให้เราขัดแย้งกับตัวเอง ฯลฯ
\\/--break--\>
ขณะนั่งดื่มและสนทนากันที่ร้านอาหาร สายหมอกกับดอกไม้ ถนนวงแหวน 700 ปี หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องในงานเปิดตัวหนังสือใหม่ของเพื่อนนักเขียนและเพื่อนนักแปล เมื่อตอนหัวค่ำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2533 ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทม์และวันตรุษจีน และถือโอกาสฉลองเทศกาลสองวันนี้ร่วมกันไปด้วย
ผมเป็นคนที่ผ่านความเจ็บปวดในชีวิตมามิใช่น้อย และเคยนิยามความหมายของคำว่าความเจ็บปวดมาอีกมิใช่น้อยเหมือนกัน แต่ไม่เคยรู้สึกว่า คำนิยามของตัวเอง มากมายหลายนิยาม มีนิยามใดที่ดีที่สุดและถูกต้องที่สุด และเป็นที่พอใจ จนไม่อาจหานิยามใดมาลบล้างได้ เหมือนอย่างที่เขานิยามว่า “ความเจ็บปวดเป็นเรื่องเฉพาะตัว”
ผมเข้าใจว่า ชีวิตของเขาจะต้องเคยผ่านความเจ็บปวดอย่างถึงที่สุดในชีวิตมาแล้ว จนถึงขั้นอาจจะเคยออกปากขอร้องให้คนมาช่วย - แบ่งเบาความเจ็บปวดที่เหลือจะทนของตัวเอง แต่ก็ไม่มีใครในโลกนี้มาช่วยแบ่งเบาได้ นั่นแหละ เขาจึงบรรลุสัจธรรมเกี่ยวกับความเจ็บปวด และนิยามออกมาได้ดีที่สุดและถูกต้องที่สุดว่า “ความเจ็บปวดเป็นเรื่องเฉพาะตัว” เหมือนอย่างที่ มิลตัน กวีอังกฤษเคยพูดเอาไว้ว่า “คนที่ทุกข์ที่สุดจะทำได้ดีที่สุด”
ใช่
ถึงแม้เราสามารถที่จะเข้าใจและเห็นใจใครสักคนหนึ่ง ที่กำลังได้รับความเจ็บปวดเพราะถูกคนรักทอดทิ้ง เพราะเคยผ่านประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน แต่เราไม่สามารถที่จะไปช่วยแบ่งปันความเจ็บปวดของเขามาเป็นของเรา เพื่อช่วยให้เขาบรรเทาความเจ็บปวดลงได้ ไม่ว่าเขาจะเจ็บเจียนตาย ไม่ว่าเขาจะเป็นญาติสนิทมิตรสหาย หรือคนที่เรารักมากที่สุด และเราอยากช่วยแบ่งปันมันมาจากเขาเจียนใจจะขาด แต่เราก็ไม่สามารถทำได้ เพราะความเจ็บปวดเป็นเรื่องเฉพาะตัว เป็นเรื่องส่วนตัว ที่แต่ละคนจะต้องเผชิญกับมันแต่เพียงผู้เดียวนั่นเอง
คุณเคยได้ยินบทเพลงเก่าๆของคนที่เจ็บปวดเพราะความรักของ จันทนี อูนากูล เพลงนี้ไหม เพลงที่ร้องว่า
ยอมฉันยอมเจ็บปวด
ยอมร้าวรวดอุรา
ยอมแม้รักจะพา
ไปเข่นฆ่าเย้ยหยันเล่น
อยากลองรักดูสักหน่อย
จะปล่อยให้ช้ำก็จำต้องเป็น
จะสุขหรือทุกข์ยากแค้นลำเค็ญ
จะลองให้เห็นรักเป็นฉันใด
เห็นโลกมาแล้วช่วงหนึ่ง
จะลองให้ซึ้งถึงช่วงต่อไป
ล้มลุกคลุกคลานเท่าใด
จะจำไว้สอนใจตัวเอง
แม้นเธอเมตตาปราณี
จะวอนคนดีนี้ด้วยบทเพลง
สงสารคนอ้างว้างวังเวง
อย่าข่มเหงหัวใจช้ำเลย
ครับ เพลงของความเจ็บปวดเพราะความรักเพลงนี้ เป็นเพลงที่เขาเขียนออกมาได้ดีที่สุดเพลงหนึ่ง เพลงนี้จึงยังมีคนฟังและชอบมาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะคนที่เคยผ่านประสบการณ์ความเจ็บปวดทำนองนี้มาก่อน ผมเข้าใจว่าคนเขียน เขาคงเขียนมันออกมาจากความรู้สึก ที่ผ่านความเจ็บปวดอย่างถึงที่สุดในเรื่องนี้มาแล้ว เขาจึงทำออกมาได้ดีจนเรารู้สึกได้ว่า มันมิใช่เป็นแค่เพลงและดนตรีเท่านั้น แต่มันคือหยาดน้ำตาและเสียงร่ำไห้จากหัวใจของใครคนหนึ่งที่กำลังเจ็บปวดเพราะพิษรัก ที่ไม่มีใครสามารถช่วยเหลือได้ เพราะ “ความเจ็บปวดเป็นเรื่องเฉพาะตัว” เป็นเรื่องส่วนตัวที่เขาจะต้องเจ็บปวดและโอดโอยโหยไห้แต่เพียงผู้เดียวนั่นเอง
และเป็นเพราะความเจ็บปวดของเขานี่เอง เราจึงได้ชื่นชมงานศิลปะแห่งเพลงและดนตรีจากความเจ็บปวดของเขา ที่ระบายมันออกมาเป็นบทเพลงที่งดงามราวกับไข่มุกอันแวววาว ที่เกิดจากความเจ็บปวดของหอยมุกที่ผลิตมันออกมา และนี่คือด้านบวกของความเจ็บปวด ที่เป็นเสมือนของขวัญอันล้ำค่า - ที่เราไม่ควรลืม ถ้าหากมันมิได้ทำความเจ็บปวดแก่ชีวิตเราจนบิดเบี้ยว...หรือย่อยยับดับชีพลง หลังจากคืนวันอันทุกข์ทรมานและโหดร้ายได้ผ่านพ้นไป...
ขอให้คุณจงโชคดี อย่าได้พบกับความเจ็บปวดในชีวิตที่มากเกินคนจะทนไหว เพราะความเจ็บปวดเป็นเรื่องเฉพาะตัว เป็นสิ่งที่น่ากลัว และเป็นเรื่องส่วนตัวที่เราแบ่งปันให้ใครไม่ได้จริงๆ.
สวัสดีฤดูร้อน.
17 กุมภาพันธ์ 2553