Skip to main content

 

คุณค่าผลงานวรรณกรรม

'รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นนักเขียนที่มีผลงานหลากหลายประเภท นับตั้งแต่ข้อเขียนบรรยายภาพ คอลัมน์ในนิตยสาร เรื่องสั้น นวนิยาย และงานเขียนปกิณกะอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีงานร้อยแก้วที่มีลักษณะลีลาของร้อยกรองปลอดฉันทลักษณ์ หรือร้อยกรองรูปแบบอิสระปรากฏอยู่ เป็นช่วงสั้นๆในนวนิยายบางเรื่องด้วย ผลงานหลากประเภทดังกล่าวมีจำนวนมากมาย เฉพาะงานเขียนที่รวมเล่มแล้วมีจำนวนประมาณ 100 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสั้น บทความ และข้อเขียนจากคอลัมน์ต่างๆ

\\/--break--\>

ชื่อเสียงของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์

เริ่มเป็นที่สนใจของผู้อ่าน เมื่อเขาเขียนคำบรรยายภาพชุด ขยากชีวิตจากกองขยะ ธารน้ำครำ และ เถ้าอารมณ์อันขุ่นมัว (2501) ซึ่งเป็นงานในหน้าที่ของเขาที่หนังสือ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ คำประกอบภาพชุดนี้ต่างไปจากงานเขียนทำนองเดียวกันอย่างเด่นชัด มีความจริงใจและความสะเทือนใจและความสะเทือนอารมณ์ของผู้เขียนในเรื่องที่เขาเขียน ซึ่งผู้อ่านสัมผัสได้และเกิดความ รับรู้ร่วมในอารมณ์นั้น จึงเกิดความประทับใจและซาบซึ้งในภาพถ้อยคำ และเรื่องราว คุณลักษณะประการสำคัญนี้ ยังสืบเนื่องต่อมาในงานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ จนถึงปัจจุบัน นั่นคือความจริงใจและความเข้าถึงอย่างลึกซึ้งในเนื้อหาเรื่องราวที่เขาเสนอต่อผู้อ่าน

 

โดยทั่วไป

ผู้อ่านและนักวิจารณ์วรรณกรรม มักจะกล่าวถึงลักษณะเด่นในเชิงภาษาของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ว่าเป็นการสร้างสรรค์ทางภาษาที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นพิเศษดังเช่นที่ ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ กล่าวว่า " 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ใช้ภาษาอย่างนักเลงภาษาจริงๆ จะใช้คำที่เคยใช้ในสภาพต่ำสุดในที่สูงก็ได้ จะใช้คำที่เคยใช้แต่โบราณในจังหวะที่เกี่ยวกับสมัยใหม่ก็ได้" (หัวเลี้ยววรรณคดีไทย, 2514)

ลักษณะเด่นดังกล่าวนี้เป็นที่ประจักษ์ชัด และมีอิทธิพลสูงต่อผู้อ่านและนักเขียนอื่นๆทั้งในรุ่นเดียวกันและรุ่นต่อมา จนกลับกลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ ว่าภาษาของ 'รงค์ วงษ์ สวรรค์ นั้นสามารถลอกเลียนแบบได้ไม่ยาก และกล่าวกันว่ามีนักเขียนบางคนสามารถเขียนได้เหมือนหรือคล้ายคลึงกับเขา แต่ในความเป็นจริงแล้ว คุณสมบัติของ'รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ใครไม่สามารถลอกเลียนได้คือ ประสบการณ์ชีวิตและความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในประสบการณ์ของคนอื่นๆที่เขาได้พานพบ ความจริงในการถ่ายทอดประสบการณ์ หรือการสะท้อนภาพชีวิตของเขาจึงโดดเด่นออกมาจากงานวรรณกรรมลักษณะเดียวกันของนักเขียนคนอื่นๆ ตัวอย่างแรกสุดคืองานชุด ขยากชีวิตจากกองขยะ ที่ทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงซอกมุมหนึ่งของสังคมเมืองหลวงที่เราละเลย เมินเฉยหรือทอดทิ้งมานาน และแม้ว่าเราอาจจะมิใช่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงในความทุกข์ยากนั้น แต่การละเลยเพิกเฉยต่อความทุกข์ยากคับแค้นของเพื่อนร่วมชาติร่วมสังคม ก็เหมือนต้องร่วมรับผิดในสภาพที่เกิดขึ้นด้วย ภาพที่เราอาจเคยเห็น แต่มองผ่านไป จึงถูกนำมาวางแผ่ ย้ำเตือนให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบในฐานะของเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก

 

แต่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์

ก็มิได้คาดคั้นหรือประณามว่าเป็นความผิดของผู้ใด เขาเพียงแต่เสนอความเป็นจริงในมุมมองที่เราไม่ได้คำนึงถึงมาก่อน และแม้ต่อตัวเขาเองก็อาจมิได้ตั้งใจจะทำหน้าที่นั้น ดังที่เขาเคยกล่าวว่า "ผมชอบร้องทุกข์แทนคนอื่น อย่างแมงดาก็ดี โสเภณีก็ดี เป็นคนไม่มีปากมีเสียงจนถูกประณามตลอดเวลา มีใครพยายามจะมองพวกนี้ในแง่ดีหรือในแง่ที่เป็นมนุษย์ เป็นคน" และ "เพราะผมรู้จักคนที่เป็นแมงดาจริงๆในชีวิตเป็นจำนวนไม่น้อย...การได้รู้จักแมงดาก็ดี โสเภณีก็ดี มากๆ ทำให้เราเข้าใจความเป็นคนของเขา ที่จะมาพูดประโยคเก่าๆว่าทุกคนไม่ได้มีเจตนากระทำชั่ว ผมว่ามันเป็นเรื่องแก้ตัวด้วยซ้ำไป แต่จริงๆโชคชะตาชีวิตที่มันกดดัน ที่มันถูกบังคับให้เคลื่อนไหวไปตามสภาพสังคมมันรุนแรงกว่านั้น แต่คนพวกนั้นไม่มีปาก หรือมีปากก็พูดไม่เป็น" (วานปีศาจตอบ), 2527)

 

งานเขียนในระยะต้นๆของ ‘'รงค์ วงษ์สวรรค์

ตัวละครของเขามักเป็นโสเภณี เด็กรับใช้ในซ่องโสเภณี แมงดาหรือนักเลงคุมซ่อง คนขี้เมา คนจรจัดเสเพล คนขายข้าวแกง คนขัดสนจนยาก คนขาดการศึกษา ฯลฯ ฉาก ภาษา บทสนทนา ตลอดจนน้ำเสียงของเรื่องจึงสอดคล้องกับบุคลิกของตัวละครที่เขานำเสนอ ทำให้ดูเหมือนกับว่านอกจากการที่เขาจะเขียนถึงเรื่อง หรือแง่มุมที่สังคมไม่อยากเปิดเผยหรือรับรู้แล้ว ภาษาของเขายังอยู่ห่างไกลจากมาตรฐานที่เคร่งครัดเรื่องแบบแผน ความสุภาพเรียบร้อย ไม่ขัดต่อศีลธรรมตามที่ยกย่องกัน ว่าเป็นเรื่องที่ดีและภาษาที่เหมาะสม

 

แต่ในแง่การสร้างสรรค์วรรณกรรมแล้ว

แน่นอนว่าการที่เขาแหวกวงล้อมของเนื้อหาและภาษาออกไปได้เช่นนั้น เช่น นวนิยายหรือเรื่องสั้นที่เน้นความสมจริงและความมีชีวิตชีวา ตัวละครของ 'รงค์ วงษ์ สวรรค์ จึงมีทั้งชีวิตและความลึกซึ้งจริงจังที่ทำให้ผู้อ่านจดจำ ประทับใจ และคุณลักษณะนี้ ยังปรากฏสืบเนื่องต่อมาในงานเขียนอื่นๆของเขาด้วยเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม

'รงค์ วงษ์สวรรค์ มิได้เขียนถึงเฉพาะตัวละครในกลุ่มบุคคลที่แปลกแยกไปจากคนกลุ่มใหญ่ในสังคมเท่านั้น แต่เขายังเขียนถึง"คน" ทั่วไปทั้งในสังคมเมืองและชนบท ดังเช่นงานชุด เสเพลบอยชาวไร่, ผู้มียี่เกในหัวใจ ฯลฯ ตัวละครในเรื่องเหล่านี้ของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ แม้จะมีกลิ่นอายของต่างประเทศอยู่บ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เขามิได้สร้างสรรค์ตัวละครเหล่านี้ให้มีชีวิตชีวา และมีบุคลิกอย่างที่เราพึงเห็นได้ไม่ยากในชนบทไทย อาจกล่าวได้ว่า 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนถึง "คน"อย่างที่เป็น มีชีวิตเลือดเนื้อจริงๆ มิใช่ตุ๊กตาหรือหุ่นที่ถูกเชิดชัก ตัวละครของเขาจึงเดินปะปนอยู่ทั่วไปและอยู่ใกล้ๆตัวเราเรานี่เอง

 

ความเป็นตัวของตัวเองในการสร้างสรรค์วรรณกรรมของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์

ปรากฏเด่นชัดมาก และปรากฏในงานเขียนทุกประเภทของเขา ดังเช่นเมื่อเขาเขียน ใต้ถุนป่าคอนกรีท อันเป็นเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตเมื่อเขาอยู่สหรัฐอเมริกา (2506 - 2510) ลักษณะงานที่เรียกว่าไพรัชนิยาย หรือการเล่าถึงชีวิตต่างแดน เขาก็มีเอกลักษณ์ที่ทำให้ผู้อ่านกล่าวขวัญถึง เพราะได้เปิดเผยถึงสภาพความเป็นจริงของชีวิตจากมุมมองและโลกทรรศน์ที่แปลกใหม่ ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ตัวละครทั้งที่มีมีจริงและสร้างขึ้น ตลอดจนฉากและบรรยากาศของเรื่อง จึงดึงดูดให้ผู้อ่านติดใจและติดตาม

 

 

งานของ ‘'รงค์ วงษ์สวรรค์

จึงให้ทั้งความเพลิดเพลิน ความอภิรมย์ ด้วยการใช้ถ้อยคำสำนวนภาษา ภาพพจน์ และการพรรณนาให้เห็นความงาม ความไม่งาม ความดีในความชั่ว ความไม่งามในความงาม โดยให้ความสำคัญแก่สิ่งที่เป็นนามธรรมซึ่งมักแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ เช่น ความบันเทิงใจ ความจริงใจ มิตรภาพ และซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น เช่น ความเมตตาปราณี และที่สำคัญที่สุดคือ ความสามารถในการรับรู้ความงามที่ลึกซึ้งมากกว่ารูปธรรมหรือวัตถุ เพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักว่า ชีวิตนั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่มีความหลากหลายซับซ้อน ชี้ให้เห็นว่า

คุณค่าของชีวิตอยู่ที่ความงามและความดี

อันเป็นสื่อทรรศนะทางความจริงที่ว่า ไม่มีความสมบูรณ์ในสรรพสิ่ง

 

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในการศึกษางานของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์

ก็คือความรับผิดชอบของผู้เขียน ทั้งในการสร้างสรรค์ในเชิงภาษาและเนื้อหาของงาน ข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้ในมุมกลับแสดงให้เห็นถึงความมีชีวิตของงานเขียนของเขา ทั้งๆที่เขาไม่เคยอ้างตนว่าสะท้อนภาพสังคมเพื่อแก้ไขสังคมหรือเพื่อประโยชน์อันใด หากแต่เป็นงานของเขาเองที่แสดงตัวเองออกมาอย่างชัดเจน ผ่านลีลาภาษาที่มีเอกลักษณ์ และขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความมั่นคง ความมั่นใจ และจริงใจของผู้เขียนในการที่ได้ต่อสู้และยืนยันในสิ่งที่เขาเขียน วิธีที่เขียน โดยไม่สะทกสะท้านต่อเสียงกล่าวหาวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ

 

แต่ในลักษณะเช่นนี้

เราจะกล่าวว่า ผู้เขียนไม่รับผิดชอบในงานของตนก็หาไม่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เองเคยกล่าวไว้ในครั้งหนึ่งว่า

"ยิ่งมีอายุมากขึ้น ยิ่งเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ก็ยิ่งมีพันธะกับสังคมมากขึ้น"

งานของเขาจึงมีลักษณะเป็นบันทึกสังคมที่เคลื่อนไหวและมีสีสันแพรวพราวสมดังที่ว่า

"หน้าที่ของวรรณกรรมคือ บันทึกสังคมตามพันธะกิจแห่งวรรณกรรม" (หัวเลี้ยววรรณคดี, 2514)

 

หากแต่ผู้อ่านของเขา

จะต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะตามสมควร จึงจะสามารถเข้าใจเนื้อที่บันทึกผ่านลีลาอันซับซ้อน และบางครั้งก็มีชั้นเชิงของการประชดเสียดสีที่ต้องตีความประกอบด้วย ดังที่เขาเคยกล่าวว่า

"หากใครก็ตามจะพูดถึงความจนบนหน้ากระดาษให้มันปวดร้าว จะต้องรู้จักชีวิตคนรวยให้มาก...คุณจะไม่ปวดร้าวเท่าที่ควรเลย ถ้าหากคุณพูดแต่ว่า คนจนกำลังหิว แต่คุณไม่บอกว่าคนรวยกำลังกินอะไร" (วานปีศาจตอบ, 2527)

 

'รงค์ วงษ์สวรรค์

ยังคงสร้างงานเขียนอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องมาเกือบ 4 ทศวรรษ ซึ่งยังคงเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์อยู่เป็นประจำ ปัจจุบัน 'รงค์ วงษ์สวรรค์ อยู่บ้านเลขที่ 139 สวนทูนอิน หมู่ที่ 3 ห้วยบวกเขียด ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 50180

จากประวัติชีวิตและผลงานดังกล่าว คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้นาย'รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2538

 

คำนิยม จากนักเขียนนักคิดและนักวิเคราะห์วิจารณ์วรรณกรรม

เขาทำงานประณีตอย่างที่ข้าพเจ้าไม่ค่อยเห็นความประณีตเช่นนี้ในคนอื่นบ่อยนัก เขาเขียนขึ้นก่อนแล้วลงมือพิมพ์ดีด มีสำเนาเรียบร้อย มีแฟ้มนับไม่ถ้วน เขาเอาจริงเอาจังกับวิชาชีพเขียนหนังสือขายนี้...ใน 100 ปี มี'รงค์ วงษ์สวรรค์ คนเดียว

อาจินต์ ปัญจพรรค์ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ สำเริง สำนักพิมพ์มติชน 2538

 

ไม่ว่าจะหยิบจับงานทำนองไหนของเขาขึ้นมาอ่าน ความเป็น'รงค์ วงษ์สวรรค์ จะกระโดดออกมาเต้น มาเด่น มาโด่งดัง ทั้งในความเงียบและความอึกทึกครึกโครม ไม่เว้นแต่ละรูปแบบ แนวเขียน รสนิยม และสำนวนลีลา ภาษาไทยในภาษาฝรั่ง ภาษาฝรั่งในภาษาไทย ถูกเขานำมาปนปรุงพลิกแพลงอย่างแจ้งจบเจนจัด อย่างที่ผู้อ่านสามรถและเห็นความเป็นศิลปินของเขาเด่นชัดเมื่อตวัดปากกาอย่างชำนิชำนาญในแบบอย่างที่เป็นตัวเขาเองมาแต่ต้น ทั้งมั่งคั่ง ยากไร้ สุข ทุกข์ จริงแท้ และจอมปลอม ทยอยกันออกมาเป็นขบวนตัวอักษรที่เป็นเขา

กฤษณา อโศกสิน 'รงค์ วงษ์สวรรค์ สำเริง สำนักพิมพ์มติชน 2539

 

คำของ'รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นคำกวี กวีที่หมายถึงภาษาของอารมณ์ ความรู้สึก การเขียนใบไม้ได้ทุกใบ กับการจับความรู้สึกใบไม้ได้นั้นต่างกัน 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่ได้เขียนหนังสือ แต่'รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนความรู้สึกนึกคิดด้วยตัวหนังสือ ภาพที่ได้จากตัวหนังสือจึงมีชีวิตชีวา

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ สำเริง สำนักพิมพ์มติชน 2539

 

นวนิยายเรื่อง สนิมสร้อย ไม่เป็นเพียงแต่วรรณกรรมอัตถนิยมที่เปี่ยมด้วยศิลปะการประพันธ์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นบันทึกทางสังคมที่มีคุณค่าในทางประวัตรศาสตร์ของกะหรี่เป็นอย่างยิ่ง...หากวันเวลาผ่านเลยไปอีกหลายสิบปี ใครก็ตามที่ต้องการรับรู้ภาพขอกะหรี่จะสามารถศึกษาได้จาก สนิมสร้อย

เสถียร จันทิมาธร คนอ่านหนังสือ สำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2525

 

เนื้อหากับรูปแบบกลวิธีการเขียนของ'รงค์เรื่องนี้ ควรเป็นคำตอบว่า เสเพลบอยชาวไร่ เป็นนวนินายหรือเรื่องสั้น ขึ้นอยู่กับการมองงานเขียนชุดหรือขบวนนี้อย่างไร ถ้ามองภาพรวมของเนื้อหา ฉาก ตัวละครที่มีปฏิสัมพันธ์กันแลร่วมสมัย เรื่องนี้ย่อมเป็นนวนิยาย แต่ถ้าแยกส่วนโดยอ่านเฉพาะบทที่ที่กลวิธีการเขียนที่กระชับ และจบในตอนเหมือนลูกชิ้นเด้งออกมาจากไม้เสียบเป็นอิสระลูกเดียว นี่เป็นเรื่องสั้น

ธรรมเกียรติ กันอริ สารานุกรมแนะนำหนังสือดี 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดพิมพ์ 2542

 

รงค์ วงษ์สวรรค์ สามารถกะเทาะเปลือกชีวิตที่เส็งเคร็งของคนเมืองกรุงและเมืองนอกได้อย่างถึงแก่น พอๆกับที่สามารถถ่ายทอดสีสันของชีวิตบ้านนอกได้อย่างเข้าถึงอารมณ์ชนบท...ในปีนตลิ่ง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ นำเสนอภาพสังคมชนบทในระยะผ่าน บันทึกความเปลี่ยนแปลงของชุมชนตำบลริมคลองเมื่อความเจริญของเมืองรุกล้ำไปถึงอย่างละเอียดลออ ด้วยน้ำเสียงเหน็บแนมระคนความอาลัย ชีวิตริมคลองที่เราพบใน ปีนตลิ่ง จึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับชีวิตในไร่นาและท้องทุ่งเช่นที่ปรากฏใน เสเพลบอยชาวไร่ ความเจริญซึงสำแดงตัวตนในรูปของถนน และ "นายหน้าขายที่ดิน" ทยอยตามมาด้วย "เซลส์แมน" ที่ขายตั้งแต่ลิปสติค ความฝัน (ลมๆแล้งๆ) ความสุขชั่วครู่ชั่วยาม แลความตาย สมทบด้วยหมอเถื่อน หัวคะแนน และนักการเมือง เหล่านี้ได้เปลี่ยนโฉมหน้าและวิ๔ชีวิตของชุมชนริมคลองอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังเท้า

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวนิชย์ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ สำเริง สำนักพิมพ์มติชน 2539

 

ประวัติสังเขป

ชื่อ - สกุล

'รงค์ วงษ์สวรรค์ (Rong Wong Savan)

 

เพศ

ชาย

 

วัน เดือน ปีเกิด

20 พฤษภาคม 2475

 

การศึกษา

ประถม โรงเรียนวัดโพธาวัฒนาเสรี

มัธยมต้นและกลาง โรงเรียนอำนวยศิลป์ กรุงเทพฯ

มัธยมปลาย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และหลังจากนั้น เรียนหลักสูตรวิชาการหนังสือพิมพ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทาลัย (ไม่จบ)

 

ตำแหน่งงาน

- ประจำกองบรรณาธิการ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

- ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2506 - 2511)

- ผู้บรรยายพิเศษนักศึกษาระดับปริญญาโท แขนงมานุษยวิทยา (Anthropoiogy) มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย University of Berkeley)

- และ ฯลฯ

 

ชีวิต บ้าน สังคม

เมีย นางสุมาลี วงษ์สวรรค์

ลูก นายวงดำเริง วงษ์สวรรค์ นายสเริงรงค์ วงษ์สวรรค์

เพื่อน มากมาย และไม่กำหนดชนชั้น

 

เกียรติยศ

- นักเขียนเรื่องสั้นดีเด่น เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีเรื่องสั้นไทย พ.ศ. 2528

- ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2538

 

ผลงาน

- คอลัมน์ เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี บทความ ตีพิมพ์รวมเล่มกว่า 100 เรื่อง

- ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีแห่งชีวิตการเขียนได้ชื่อว่าเป็นพญาอินทรีย์แห่งสวนอักษร

 

ลาโลก

15 มีนาคม 2552

 

สถานภาพปัจจุบัน

'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) นิรันดร์กาล

 

ผลงานรวมเล่ม

2503 หนาวผู้หญิง, เถ้าอารมณ์, ไฟอาย

2504 บนถนนของความเป็นหนุ่ม, สนิมสร้อย, สนิมกรุงเทพ,

2505 ปักเป้ากับจุฬา, บางลำพูสแควร์, คืนรัก

2506 เสเพลบอยบันทึก, พ่อบ้านหนีเที่ยว

2511 ใต้ถุนป่าคอนกรีท, หอมดอกประดวน, นิราศดิบ

2512 หัวใจที่มีตีน เสเพลบอยชาวไร่, หลงกลิ่นกัญชา

2514 น้ำค้างเปื้อนแดด, ไอ้แมลงวันที่รัก, หนามดอกไม้, แดง รวี, (00.00 น.)

2515 ปีนตลิ่ง, ดลใจภูมิริน, บ้านนี้มีห้องแบ่งให้เช่า

2516 นักเลงโกเมน, กรุงเทพรจนา, ตาคลี น้ำตาไม่มีเสียงร้องไห้, สัตหีบ ยังไม่มีลาก่อน, บันทึกเผยใจนางกระต่าย playboy, ชุมทางพลอยแดง, ชุมทางพลอยแดง

2517 แม่ม่ายบุษบง, อเมริกันตาย, ลมหายใจของสงคราม

2518 ดอกไม้ในถังขยะ, คึกฤทธิ์แสบสันต์, 28 ดีกรีเที่ยงวัน บรั่นดีเที่ยงคืน, 23 เรื่องสั้นของ'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม), มาเฟียก้นซอย, ไม่นานเกินรอ, ความหิวที่รัก, น้ำตาสองเม็ด

2519 ขี่ม้าชมดอกไม้, จากแชมเปญถึงกัญชา, จากโคนต้นไม้ริมคลอง, ถึงป่าคอนกรีท, 2 นาทีใต้แสงดาวแดง, กัญชาธิปไตย, ปักกิ่ง - กรุงเทพ, ซูสีไทเฮา ฉบับคอมพิวเตอร์

2520 ดอกไม้และงูพิษ, ยินโทนิก 28 ดีกรี

2521 แอลกอฮอลิเดย์, เบื้องข้างพันเอกณรงค์ กิติขจร (ผู้การไม่มีปืน), บนหลังหมาแดดสีทอง, ผู้ดีน้ำครำ, 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) แสบสันต์, แกงส้มผักบุ้ง 22.00 น.

2525 บักหำน้อย ซ้ายปลาร้า ขวาเนย, สาหร่ายปลายตะเกียบ

2527 บุหลันลบสุริยา - บรูไน, ระบำค้อนเคียว, นินทากรุงเทพฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ฯ, แมงบาร์

2528 ไส บาบา นักบุญในนรก

2529 สามเหลี่ยมในวงกลม

2531 สารคดีไฉไลคลาสสิก, ครูสีดา

2535 ผกานุช บุรีรำ, ระบำนกป่า

2536 ดอกไม้ดอลลาร์, พูดกับบ้าน, ขุนนางป่า, บาลีนีสทัดดอกลั่นทม

2538 / 2 นาทีบางลำพู, บูชาครูนักเลง, พรานล่าอารมณ์ขัน

2539 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในเงาเวลาฯ, บนถนนอากาศ

2540 กินหอม ดอมม่วน, นอนบ้านคืนนี้, ลมบาดหิน, ลาภปาก

2541 เมนูท้ายวัง, เงาของเวลา

2542 นินทานายกรัฐมนตรี, หงา คาราวาน เงา - - สีสันของแดด

2543 อเมริกา อเมริกู, โคบาล นักเลงปืน, นินทาฯสาก ส.ส.กระบือ (HA - HA)

2545 มาดเกี้ยว

2546 ฝนเหล็ก - ปืนไฟ '35, นาทีสุดท้าทับทิมดง

2547 บักสี อีจำปา, เทวีเทวา ศักดินาดอลลาร์ ดารา HOLLYWOOD

2548 CASINO ดอกไม้บาป

2549 เปลี่ยวคอนกรีท, ญาติน้ำหมึก, วานปีศาจเขียน

2552 สำเริงคดี 'รงค์ วงษ์สวรรค์, ยี่หวา ไชนาทาวน์, แฝงพวงองุ่น GRAPEVINE, แสงแดดเป็นไข้. ไฉไลเป็นบ้า.

 

หมายเหตุ ; ข้อมูลเกี่ยวกับงานและชีวิตของ'รงค์ วงษ์สวรรค์ ทั้งหมดนี้ ผมได้คัดลอกมาจากหนังสือของเขาที่ชื่อว่า 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) นิรันดร์กาล โดย แพรวสำนักพิมพ์ 2552 เป็นหนังสือที่รวมเรื่องที่วงการถือกันว่าเป็นเรื่องเอกของเขา ได้แก่ สนิมสร้อย เสเพลบอยชาวไร่ ปีนตลิ่ง มาเฟียก้นซอย มาดเกี้ยว ในขณะที่ความเห็นส่วนตัวของผม "คนเดียว" ถือว่า คืนรัก เป็นงานเขียนนวนิยายที่เหนือกว่านวนิยายทุกเรื่องของเขา ทั้งในแง่ของความเป็นวรรณกรรมและความเป็นสากล ดังที่ผมได้เขียนเอาไว้ในคอลัมน์นี้เมื่อพฤหัสที่แล้ว...

 

แต่ถึงอย่างไร หนังสือเล่มนี้ของเขา ที่พิมพ์ขึ้นมาภายหลังจากที่เขาได้ลาจากไปแล้ว คอวรรณกรรมควรซื้อเก็บไว้เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนที่ชอบอ่านงานที่ไม่หนักและลงลึกจนถึงขุมนรกแบบ คืนรัก ที่ผมยกให้เป็นเรื่องเอกเพียงหนึ่งเดียวของเขา ห้าเรื่องที่ แพรว นำมารวมไว้ด้วยกันนี่ ก็เป็นงานที่อ่านกันได้แบบสบายๆสนุก และไม่เครียด แถมยังได้ความรู้ที่เป็นเสมือนบันทึกทางสังคมหลายยุคที่ผ่านๆมา ( ซึ่งปรากฏในฉากแห่งยุคสมัยแทบทุกเรื่องของเขา) รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับ'รงค์ วงษ์สวรรค์ ทั้งตัวตน งานและชีวิต ที่เป็นภาพรวมทั้งหมดของเขา ตั้งแต่วันที่เขาเดินทางออกจากครรภ์ของมารดาและลับลาจากโลกนี้ไปชั่วนิรันดร์ ดังที่ผมคัดลอกมาให้คุณอ่านจากหนังสือเล่มนี้...

 

โดยเฉพาะคนที่ยังไม่เคยอ่านงานของเขา หรือเคยอ่านมาบ้างนิดหน่อย และสนใจอยากจะอ่านเพื่อเรียนรู้และศึกษาอย่างจริงจัง หนังสือ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) นิรันดร์กาล เล่มนี้ของเขาที่ แพรว edit และจัดพิมพ์อย่างประณีต (ราวกับจะทำเพื่อคารวะและรำลึกถึงเขา มากกว่าจะหวังผลในการตลาด...) จะเป็น GUDE LINE นำทางคุณไปสัมผัสกับมวลอันมหึมาแห่งงานเขียนของเขา (ตามรายการรวมเล่มที่น่าตกใจข้างบนนั่น) ได้เป็นอย่างดี

 

หนังสือหนา 936 หน้า หนาปึกพอๆกับพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปกแข็ง สันโค้ง เย็บกี่อย่างแน่นหนา พิมพ์ด้วยกระดาษถนอมสายตา น้ำหนักเบา ปกภาพเขียนรูป'รงค์ วงษ์สวรรค์ ทัดดอกไม้ ใส่ตุ้มหู และสวมประคำ ราคาเล่มละ 659 บาท เทียบกับจำนวนหน้า จำนวนเรื่อง คุณภาพ และความประณีตงดงามของหนังสือแล้ว ถือว่าเป็นหนังสือราคาถูกครับ ถูกกว่าเหล้าฝรั่งราคาแพงขวดหนึ่ง ที่เราซื้อกินกันหมดแล้วก็แล้วกันไปตั้งเยอะแน่ะ แถมซื้อไปอ่านแล้ว ยังเก็บไว้ให้คนอื่นได้อ่านสืบทอดกันไปได้ชั่วลูกชั่วหลาน สนใจติดต่อได้ที่ แพรวสำนักพิมพ์ โทร. 0 - 2422 - 9999 ต่อ 4964, 4969 ส่วนท่านที่อยากอ่าน คืนรัก ที่ผมถือว่าเป็นงานเขียนนวนิยายที่เจ๋งที่สุดของ'รงค์ วงษ์สวรรค์ พ่อมดแห่งภาษากวีมาดวิไล จากบ้านสวนทูนอิน ลองติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ โทร. 580 - 2978 เผื่อจะพอมีหนังสือเหลืออยู่บ้างในวันนี้.

 

3 กุมภาพันธ์ 2553
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

 

 

 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
แด่...คนเล็กๆทุกๆคนในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง ฯลฯ หรือมิได้เป็นคนเสื้อสีใดๆ ที่ตกเป็นเหยื่อกฎหมายหมิ่นฯ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอำนาจพิเศษกับคนเล็กๆ ที่ขาดอำนาจต่อรองที่เข้มแข็งในการปกป้องและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้แก่ตนเอง และไม่มีใครสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ แม้แต่รัฐบาลที่พวกเขาหลายคนได้เลือกเข้าไป นั่งอยู่ในรัฐสภา.
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
พุทธภาษิตที่กล่าวว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” และ “อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก” ประการแรกยังน่าสงสัยว่าเป็นความจริงโดยหรือไม่ แต่ประการที่สองที่กล่าวว่า อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก เป็นความจริงตามพุทธภาษิตได้กล่าวเอาไว้อย่างแน่แท้
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
อำนาจ ไม่ว่าอำนาจนั้น จะเป็นอำนาจที่ชอบธรรมหรือไม่ ตราบใดที่อำนาจนั้นยังมีอำนาจอยู่ อำนาจนั้น ย่อมมีอำนาจในการบังคับผู้อยู่ภายใต้อำนาจ ให้เชื่อฟังและปฏิบัติตาม
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ยามเช้า โอ้ ยามเช้าอันมืดมนของข้า ยามเช้าที่ข้ามองไม่เห็นหนทางใดๆ ที่จะนำชีวิตลุล่วงผ่านพ้นวันนี้ไปได้ เพราะข้าได้ใช้ตัวช่วยชีวิตทุกตัว